วันอังคาร สัปดาห์ที่ 2
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 2:23-28)
วันสับบาโตวันหนึ่ง พระเยซูเจ้าเสด็จผ่านนาข้าวสาลี บรรดาศิษย์ที่เดินทางอยู่ด้วยเด็ดรวงข้าว ชาวฟาริสีทูลถามพระองค์ว่า “ทำไมศิษย์ของท่านทำสิ่งต้องห้ามในวันสับบาโตเล่า” พระองค์ตรัสตอบว่า “ท่านไม่ได้อ่านพระคัมภีร์หรือว่า กษัตริย์ดาวิดและผู้ติดตามได้ทำสิ่งใดขณะที่มีความยากลำบากและหิวโหย พระองค์เสด็จเข้าไปในพระนิเวศของพระเจ้าเมื่ออาบียาธาร์เป็นมหาสมณะ ได้เสวยขนมปังที่ตั้งถวาย ซึ่งใครจะกินไม่ได้นอกจากบรรดาสมณะเท่านั้น พระองค์ยังทรงให้ผู้ติดตามกินอีกด้วย”
แล้วพระเยซูเจ้าทรงเสริมว่า “วันสับบาโตมีไว้เพื่อมนุษย์ มิใช่มนุษย์มีไว้เพื่อวันสับบาโต ดังนั้น บุตรแห่งมนุษย์จึงเป็นนายเหนือแม้กระทั่งวันสับบาโตด้วย”
มก 2:23-28 พระคริสตเจ้าทรงแนะนำบรรดาฟาริสีถึงความหมายทั้งครบของกฎของวันสับบาโต โดยยืนยันว่าการถวายเกียรติแด่พระเจ้าต้องรวมไปถึงการรับใช้ช่วยเหลือบุคคลที่อยู่ในความต้องการด้วย
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
19 มกราคม
“พระบิดาเจ้าข้า ถ้าพระองค์มีพระประสงค์ โปรดทรงนำถ้วยนี้ไปจากข้าพเจ้าเถิด แต่อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” (ลก 22:42)
ปล่อยวางเถิด
บทไตร่ตรอง
ไม่นานก่อนที่พระคาร์ดินัล โยเซฟ เบอร์นาดิน (Joseph Bernadin) อัครบิชอปแห่งเมืองชิคาโกจะสิ้นใจ ท่านได้บันทึกเรื่องราวการต่อสู้กับโรคมะเร็งของท่านไว้ในสมุดเล่มเล็กที่ชื่อว่า พระพรแห่งสันติ
คำแนะนำของท่านในการรับความยากลำบากทุกอย่างก็คือ “การปล่อยวาง” คือ ให้หลุดพ้นจากการยึดครองทุกสิ่ง ที่ขวางกั้นเราจากความก้าวหน้าในความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า
พระวาจาหนุนใจ - ความสงบ สันติ
มธ. 5:9 ผู้สร้างสันติ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า
สภษ. 12:20 ความหลอกลวงอยู่ในใจของผู้คิดแผนการชั่วร้าย ความชื่นชมยินดีอยู่ในใจของผู้แนะนำสันติภาพ
ยก. 3:18 ผู้ที่สร้างสันติย่อมเป็นผู้หว่านในสันติ และจะเก็บเกี่ยวผลเป็นความชอบธรรม
อฟ. 4:3 พยายามรักษาเอกภาพแห่งพระจิตเจ้าด้วยสายสัมพันธ์แห่งสันติ
ลก. 2:14 พระสิริรุ่งโรจน์จงมีแด่พระเจ้าในสวรรค์สูงสุด และบนแผ่นดิน สันติจงมีแก่มนุษย์ที่พระองค์โปรดปราน
รม. 12:18 ในส่วนของท่าน จงอยู่อย่างสันติกับทุกคนถ้าเป็นไปได้
2ทธ. 2:22 จงหลีกหนีอารมณ์และความรู้สึกของคนหนุ่ม แต่จงมุ่งหาความชอบธรรม ความเชื่อ ความรักและสันติพร้อมกับทุกคนที่เรียกขานองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยใจบริสุทธิ์
การอดอาหาร
การอดอาหาร หมายถึง การที่ไม่รับประทานอาหาร หรือรับประทานเพียงเล็กน้อย ในช่วงเวลาหนึ่ง สำหรับคาทอลิกจะอดอาหารในช่วงเทศกาลมหาพรต เพื่อให้รู้สึกและเข้าใจถึงความยากจนและความหิวโหย
คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 1038 การกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตาย “ทั้งผู้ชอบธรรมและคนอธรรม” (กจ 24:15) จะมาถึงก่อนการพิพากษาครั้งสุดท้าย แล้วจะถึง “เวลาที่ทุกคนในหลุมศพจะได้ยินพระสุรเสียง […] [ของบุตรแห่งมนุษย์] และจะออกมา ผู้ที่ได้ทำความดีจะกลับคืนชีพมารับชีวิตนิรันดร ส่วนผู้ที่ทำความชั่วก็จะกลับคืนชีวิตมารับโทษทัณฑ์” (ยน 5:28-29) แล้วพระคริสตเจ้า “จะเสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์พร้อมกับบรรดาทูตสวรรค์ […] บรรดาประชาชาติจะมาชุมนุมกันเฉพาะพระพักตร์ พระองค์จะทรงแยกเขาออกเป็นสองพวกดังคนเลี้ยงแกะแยกแกะออกจากแพะ ให้แกะอยู่เบื้องขวา ส่วนแพะอยู่เบื้องซ้าย […] แล้วพวกนี้ก็จะไปรับโทษนิรันดร ส่วนผู้ชอบธรมจะไปรับชีวิตนิรันดร” (มธ 25:31-33,46)
วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 2
บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 2:18-22)
เวลานั้น บรรดาศิษย์ของยอห์นและชาวฟาริสีกำลังจำศีลอดอาหาร มีผู้ทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “ทำไมศิษย์ของยอห์นและศิษย์ของชาวฟาริสีจำศีลอดอาหาร แต่ศิษย์ของท่านไม่จำศีลเลย” พระองค์ตรัสตอบว่า “ผู้รับเชิญมาในงานแต่งงานจะจำศีลอดอาหารได้หรือขณะที่เจ้าบ่าวยังอยู่กับเขา ตราบใดที่เจ้าบ่าวยังอยู่ด้วย เขาย่อมไม่จำศีลอดอาหาร แต่จะมีวันหนึ่งที่เจ้าบ่าวจะถูกพรากไป ในวันนั้น เขาจะจำศีลอดอาหาร ไม่มีใครนำผ้าใหม่ไปปะเสื้อเก่า เพราะผ้าใหม่ที่นำมาปะเสื้อเก่านั้นจะหดตัวมากกว่า ทำให้รอยขาดมากกว่าเดิม ไม่มีใครใส่เหล้าองุ่นใหม่ลงในถุงหนังเก่า เพราะเหล้าจะทำให้ถุงหนังขาด ทั้งเหล้า ทั้งถุงก็จะเสียไป แต่ต้องใส่เหล้าใหม่ลงในถุงหนังใหม่”
มก 2:19 เจ้าบ่าว : เพื่อเป็นการอธิบายถึงการที่พระองค์ได้มอบตนเองให้กับสมาชิกทุกคนในพระ ศาสนจักร พระคริสตเจ้าทรงใช้ภาพของความรักแบบคู่สมรสที่เจ้าบ่าวมีต่อเจ้าสาวของเขา ซึ่งเป็นการพูดเปรียบเทียบถึงพระศาสนจักร จำศีลอดอาหาร : พระคริสตเจ้าไม่ได้ทรงกล่าวโทษการจำศีลอดอาหารที่นี่ แต่พระองค์ทรงเน้นย้ำว่าบรรดาศิษย์ของพระองค์ควรจะมีความชื่นชมยินดีที่พระองค์ประทับอยู่กับพวกเขาฝ่ายเนื้อหนัง คริสตชนมีการจำศีลอดอาหารเพื่อเป็นการเตรียมตัวรับศีลมหาสนิท และในเทศกาลมหาพรต ก่อนการเฉลิมฉลองการกลับคืนพระชนม์ชีพในวันปัสกา คำสอนพระศาสนจักรได้เรียกร้องให้เราอดอาหารอย่างน้อยที่สุด 1 ชั่วโมงก่อนการรับศีลมหาสนิท และให้จำศีลอดอาหารในวันพุธรับเถ้าและวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
18 มกราคม
“พระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงดำรงอยู่ในปัจจุบัน ผู้ทรงดำรงอยู่ในอดีต และผู้เสด็จมา พระผู้ทรงสรรพานุภาพตรัสว่า ‘เราคืออัลฟาและโอเมก้า’” (วว 1:8)
พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ
บทไตร่ตรอง
นักพรตคณะแทรปปิสต์ถือเงียบ เดินเข้าวัดวันละเจ็ดครั้ง เพื่อสรรเสริญพระเจ้าด้วยบทเพลง บทภาวนาที่ขับร้องเป็นเพลงของพวกเขา ส่วนใหญ่เน้นบทเพลงสดุดี ในตอนท้ายของแต่ละบท พวกเขาจะโค้งคำนับอย่างลึกซึ้ง พร้อมกับขับร้องเป็นเพลงสรรเสริญพระเจ้าว่า
“พระสิริรุ่งโรจน์แด่พระบิดา และพระบุตร และพระจิต พระเจ้าผู้ทรงดำรงอยู่ในปัจจุบัน ผู้ทรงดำรงอยู่ในอดีต และผู้จะเสด็จมา จวบจนกัลปาวสาน”
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
17 มกราคม
“โยเซฟจึงลุกขึ้น พาพระกุมารและพระมารดาออกเดินทางไปอียิปต์ในคืนนั้น และอยู่ที่นั่นจนกระทั่งกษัตริย์เฮโรดสิ้นพระชนม์” (มธ 2:14)
อ่อนน้อมและซื่อสัตย์
บทไตร่ตรอง
ไม่น่าแปลกใจเลย ที่บทร่ำวิงวอน น.โยเซฟขานเรียกท่านว่าผู้ “อ่อนน้อมและซื่อสัตย์อย่างยิ่ง”
จากเหตุการณ์ต่อไปนี้
* ท่านลุกขึ้นจากหลับ กระทำตามที่ทูตสวรรค์ได้สั่งไว้ และรับมารีย์มาเป็นภรรยาของท่าน
* ท่านตื่นขึ้นจากอีกฝันหนึ่ง และในคืนนั้นเองได้ออกเดินทางไปประเทศอียิปต์
* ท่านพาพระกุมารและพระมารดาของพระองค์กลับไปแผ่นดินอิสราเอล หลังจากที่ได้รับข่าวสารจากฝันทั้งสองนี้
ข้อคิดข้อรำพึง
อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลธรรมดา ปี B
บทอ่านแรกจากหนังสือซามูเอล ฉบับที่หนึ่ง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นราวศตวรรษที่ 11 ก่อนคริสตกาล เป็นเรื่องของประกาศกซามูเอล ตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มน้อย คอยปรนนิบัติรับใช้ประกาศกเอลี ซึ่งขณะนั้นมีอายุมากแล้ว และดวงตาทั้งสองข้างของท่านก็ดับสนิทมองไม่เห็นแล้ว หนุ่มน้อยซามูเอล นอนอยู่ในสักการสถานที่มีหีบพันธสัญญาของพระเจ้าประดิษฐานอยู่ องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียก “ซามูเอล” เขาทูลตอบว่า “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่” แล้ววิ่งไปหาเอลี เพราะคิดว่าท่านเรียกให้ไปรับใช้ แต่ท่านเอลีบอกว่าไม่ได้เรียกให้กลับไปนอน แล้วซามูเอลก็ได้ยินเสียงเรียกอีก เป็นเช่นนี้ถึงสามครั้ง เอลีจึงเข้าใจว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสเรียกเด็กนั้น จึงสอนซามูเอลให้ตอบว่า “ข้าแต่พระองค์พระผู้เป็นเจ้า ตรัสมาเถิด ผู้รับใช้ของพระองค์กำลังฟังอยู่” จะเห็นได้ชัดเจนในที่นี้ว่าท่านเอลีสอนซามูเอลให้ปฏิบัติตนอย่างไรต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้า
ในพระวรสารของนักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสาร ประจำวันอาทิตย์นี้ จะชี้ให้เราเห็นชัดแจ้งถึงบทบาทที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งนี้ คือบทบาทของการนำผู้อื่นให้รู้จักพระเยซูเจ้า เริ่มจากท่านยอห์น บัปติสต์ ได้ชี้ให้ศิษย์ทั้งสองของท่านดู เมื่อเห็นพระเยซูเจ้าเสด็จผ่านไป ท่านกล่าวว่า “นี่คือลูกแกะของพระเจ้า” ศิษย์สองคนจึงติดตามพระเยซูเจ้าไป
วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 2
บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 1:35-42)
วันรุ่งขึ้น ยอห์นกำลังยืนอยู่ที่นั่นกับศิษย์สองคน และเห็นพระเยซูเจ้าเสด็จผ่านไป จึงกล่าวว่า “นี่คือลูกแกะของพระเจ้า” เมื่อศิษย์ทั้งสองคนได้ยินยอห์นกล่าวดังนี้จึงติดตามพระเยซูเจ้าไป พระเยซูเจ้าทรงผิน พระพักตร์มาทอดพระเนตรเห็นเขากำลังติดตามพระองค์ จึงตรัสถามว่า “ท่านแสวงหาอะไร?” เขาทูลตอบว่า “รับบี” ซึ่งแปลว่า พระอาจารย์ “พระองค์ทรงพำนักอยู่ที่ไหน?” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “มาดูเถิด” เขาจึงไป เห็นที่ประทับของพระองค์ และพักอยู่กับพระองค์ในวันนั้น ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณบ่ายสี่โมง
อันดรูว์น้องชายของซีโมนเป็นคนหนึ่งในสองคนที่ได้ยินคำพูดของยอห์น และตามพระเยซูเจ้าไป อันดรูว์พบซีโมนพี่ชายเป็นคนแรก จึงกล่าวว่า “เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว” (พระเมสสิยาห์ หรือพระคริสตเจ้า แปลว่า ผู้รับเจิม) เขาพาพี่ชายไปเฝ้าพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นเขา จึงตรัสว่า “ท่านคือซีโมน บุตรของยอห์น ท่านจะมีชื่อว่า เคฟาส” ซึ่งแปลว่า “เปโตร” หรือ “ศิลา”
ยน 1:31-36 พระคริสตเจ้าคือลูกแกะของพระเจ้า ดังนั้นพระองค์จึงไม่จำเป็นต้องกลับใจ แต่พระองค์มาเพื่อรับพิธีล้างพร้อมกับคนบาป เพื่อร่วมในเอกลักษณ์ของมนุษยชาติที่ตกในบาป ยอห์น บัปติสต์ เป็นพยานถึงการประทับอยู่ของพระจิตเจ้าเหนือพระคริสตเจ้า โดยร่วมในเรื่องราวของการรับพิธีล้าง ในพระวรสารสหทรรศน์ การเสด็จมาของพระจิตเจ้าสำหรับยอห์น (และสำหรับเรา) เป็นการยืนยันว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์ พระบุตรของพระเจ้าที่รับเจิมโดยพระจิตเจ้า
คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 653 การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าเป็นการยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า พระองค์เคยตรัสไว้ว่า “เมื่อใดที่ท่านยกบุตรแห่งมนุษย์ขึ้น เมื่อนั้นท่านจะรู้ว่า ‘เราเป็น’ (ยน 8:28) การ กลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ผู้ทรงถูกตรึงกางเขนแสดงให้เห็นว่าพระองค์คือพระเจ้าผู้เคยตรัส(แก่โมเสส)ว่า “เราเป็น” ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าและทรงเป็นพระเจ้าเอง นักบุญเปาโลประกาศแก่ชาวยิวได้ว่า “เราขอประกาศข่าวดีให้ท่านทั้งหลายรู้ว่าพระสัญญาที่ประทานแก่บรรดาบรรพบุรุษนั้น พระเจ้าทรงกระทำให้เป็นจริงสำหรับเราทั้งหลายผู้เป็นลูกหลาน โดยทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย ดังที่มีเขียนไว้ในเพลงสดุดีบทที่สองว่า ท่านเป็นบุตรของเรา เราให้กำเนิดท่านในวันนี้” (กจ 13:32-33) การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้ามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพระธรรมล้ำลึกการรับสภาพมนุษย์ของพระบุตรของพระเจ้า การกลับคืนพระชนมชีพเป็นการทำให้แผนการนิรันดรของพระเจ้าสำเร็จเป็นจริง
วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 1
บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 2:13-17)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จออกไปริมฝั่งทะเลสาบอีก ประชาชนต่างมาเฝ้าพระองค์ พระองค์จึงทรงสั่งสอนเขา ขณะที่ทรงพระดำเนินไป พระองค์ทรงเห็นชายคนหนึ่งชื่อเลวี บุตรของอัลเฟอัสกำลังนั่งอยู่ที่ด่านภาษี จึงตรัสสั่งเขาว่า “จงตามเรามาเถิด” เขาก็ลุกขึ้นตามพระองค์ไป
ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารที่บ้านของเลวี คนเก็บภาษีและคนบาปหลายคนมาร่วมโต๊ะกับพระองค์และบรรดาศิษย์ เพราะมีหลายคนติดตามพระองค์มา บรรดาธรรมาจารย์ที่เป็นฟาริสีเห็นพระองค์เสวยร่วมกับคนบาปและคนเก็บภาษี จึงถามศิษย์ของพระองค์ว่า “ทำไมอาจารย์ของท่านกินอาหารกับคนเก็บภาษีและคนบาปเล่า” พระเยซูเจ้าทรงได้ยินดังนั้นจึงตรัสตอบว่า “คนสบายดีไม่ต้องการหมอ แต่คนเจ็บไข้ต้องการ เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่เรามาเพื่อเรียกคนบาป”
มก 2:13-17 พวกคนเก็บภาษีเป็นชาวยิวที่ชาวโรมันจ้างให้เก็บภาษีจากประชาชน พวกเขาเป็นที่เกลียดชังเนื่องจากทำงานกับชาวโรมันและเป็นที่รู้จักว่าไม่ซื่อสัตย์ ด้วยเหตุนี้ชาวยิวที่เคร่งครัดจึงไม่ติดต่อกับพวกเขา ในฐานะที่พระคริสตเจ้าทรงเป็นแพทย์สวรรค์ พระองค์ ทรงต้อนรับคนบาป เหตุว่าภารกิจของพระองค์คือการกำจัดความเจ็บป่วยของพวกเขาจากบาป และประทานชีวิตนิรันดร์ให้แก่พวกเขา
Day by Day with St. Joseph (วันละหนึ่งนาทีกับนักบุญโยเซฟ)
16 มกราคม
“ท่านทั้งหลายเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า แต่ละคนต่างก็เป็นอวัยวะของพระกายนั้น” (1คร 12:27)
การภาวนาเพื่อพระศาสนจักร
บทไตร่ตรอง
รายงานข่าวเหตุการณ์อื้อฉาวทางเพศในพระศาสนจักรคาทอลิกทั้งที่นี่และต่างประเทศ ทำให้เราได้รับบาดแผลสาหัส เรื่องนี้เตือนใจเราว่า แม้พระคริสตเจ้าทรงเป็นศีรษะที่รุ่งโรจน์ เป็นพระเจ้า และศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร แต่บรรดาสมาชิกยังเป็นมนุษย์ ที่อ่อนแอ และมีความเปราะบาง
การสำนึกนี้ควรผลักดันเราให้ภาวนาเพื่อพระศาสนจักร และยังต้องขอบคุณ นักบุญโยเซฟ ที่ท่านยังคงภาวนาและปกป้องพระศาสนจักรอยู่เสมอ
วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 1
บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 2:1-12)
ต่อมาอีกสองสามวัน พระเยซูเจ้าเสด็จกลับมาที่เมืองคาเปอรนาอุม เมื่อเป็นที่รู้กันว่าพระองค์ประทับอยู่ในบ้าน ประชาชนจำนวนมากจึงมาชุมนุมกันจนไม่มีที่ว่างแม้กระทั่งที่ประตู พระองค์ประทานพระโอวาทสอนประชาชนเหล่านั้น ชายสี่คนหามคนอัมพาตคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์ แต่เขานำคนอัมพาตนั้นฝ่าฝูงชนเข้าไปถึงพระองค์ไม่ได้ เขาจึงเปิดหลังคาบ้านตรงที่พระองค์ประทับอยู่ แล้วหย่อนแคร่ที่คนอัมพาตนอนอยู่ลงมาทางช่องนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเห็นความเชื่อของคนเหล่านี้จึงตรัสแก่คนอัมพาตว่า “ลูกเอ๋ย บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว” ที่นั่นมีธรรมาจารย์บางคนนั่งอยู่ด้วย เขาคิดในใจว่า “ทำไมคนนี้จึงพูดเช่นนี้เล่า เขากล่าวดูหมิ่นพระเจ้า ใครเล่าอภัยบาปได้นอกจากพระเจ้าเท่านั้น” ทันใดนั้น พระเยซูเจ้าทรงทราบความคิดของเขาด้วยพระจิตของพระองค์ จึงตรัสว่า “ท่านทั้งหลายคิดเช่นนี้ในใจทำไม อย่างใดง่ายกว่ากัน การบอกคนอัมพาตว่า ‘บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว’ หรือบอกว่า ‘ลุกขึ้น แบกแคร่เดินไปเถิด’ แต่เพื่อให้ท่านรู้ว่า บุตรแห่งมนุษย์มีอำนาจอภัยบาปได้บนแผ่นดินนี้” พระองค์ตรัสแก่คนอัมพาตว่า “เราสั่งท่าน จงลุกขึ้น แบกแคร่ กลับไปบ้านเถิด” เขาก็ลุกขึ้นแบกแคร่ออกเดินไปทันทีต่อหน้าคนทั้งปวง ทุกคนต่างประหลาดใจ ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าและพูดว่า “พวกเรายังไม่เคยเห็นอะไรเช่นนี้มาก่อนเลย”
มก 2:1-12 เป็นความเชื่อโดยทั่วไปในช่วงเวลานั้นว่า ความเจ็บป่วยหรือความพิการนั้นเป็นผลมาจากบาป ไม่ว่าจากบาปส่วนตัวของผู้ที่กำลังทนทรมานหรือจากครอบครัวของเขาก็ตาม เพื่อแก้ไขความเข้าใจที่ผิดนี้พระคริสตเจ้าทรงสอนเราถึงพลังแห่งการไถ่กู้ของความทุกข์ทรมาน ซึ่งเมื่อร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระมหาทรมานของพระองค์แล้ว ก็จะกลับกลายเป็นหนทางสู่การกลับใจและความศักดิ์สิทธิ์ เรื่องราวนี้ยังยืนยันถึงพระเทวภาพของพระคริสตเจ้าอีกด้วย เนื่องจากมีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่สามารถอภัยบาป และพระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถรักษาผู้ป่วยอัมพาตนั้นได้ในทันที การที่พระคริสตเจ้า(ทรงรักษาผู้ป่วยอัมพาตนี้เป็นการพิสูจน์ถึงอำนาจแห่งพระเทวภาพของพระองค์ในการอภัยบาป มีความเจ็บป่วยอยู่สองประเภท คือ ทางด้านจิตใจและด้านร่างกาย ซึ่งนำสู่ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการรักษาสองประการคือ ศีลแห่งการคืนดีและอภัยบาป และศีลเจิมคนไข้ พึงสังเกตว่ามีความแตกต่างกับคนโรคเรื้อนในบทที่แล้วตรงที่ว่า “คำภาวนา” สำหรับคนอัมพาตนั้นถูกแสดงออกอย่างเงียบๆ ด้วยการการะทำของผู้ที่แบกเขามา ผู้ซึ่งแสดงออกถึงความเชื่อด้วยความเพียรพยายามของพวกเขา
แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
122/8 อาคารแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ซ.นนทรี 14 ถ.นนทรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
โทร. 095-953-3070, 02-681-3850 Email: ccbkk@catholic.or.th Line_ID: kamsonbkk