แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์  สมโภชพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 6:51-58)                            

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์ ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป และปังที่เราจะให้นี้ คือเนื้อของเรา เพื่อให้โลกมีชีวิต ชาวยิวจึงเถียงกันว่า “คนนี้เอาเนื้อของตนให้เรากินได้อย่างไร” พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่กินเนื้อของบุตรแห่งมนุษย์ และไม่ดื่มโลหิตของเขา ท่านจะไม่มีชีวิตในตนเอง ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเรา ก็มีชีวิตนิรันดร เราจะทำให้เขากลับคืนชีพในวันสุดท้าย เพราะเนื้อของเราเป็นอาหารแท้ และโลหิตของเราเป็นเครื่องดื่มแท้ ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเรา ก็ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา พระบิดาผู้ทรงชีวิตทรงส่งเรามา และเรามีชีวิตเพราะพระบิดาฉันใด ผู้ที่กินเนื้อของเราจะมีชีวิตเพราะเราฉันนั้น นี่คือปังที่ลงมาจากสวรรค์ ไม่เหมือนปังที่บรรดาบรรพบุรุษได้กินแล้วยังตาย ผู้ที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป”


ยน 6:51  ปังที่เราจะให้ : การที่พระคริสตเจ้าทรงกล่าวโดยใช้รูปอนาคตนี้ บ่งชี้ถึงการไถ่กู้แห่งกางเขนและการตั้งศีลมหาสนิท  เพื่อให้โลกมีชีวิต : อาศัยการทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพ พระคริสตเจ้าทรงมอบการไถ่กู้แก่มนุษยชาติทั้งมวล ยิ่งกว่านั้น ความศักดิ์สิทธิ์อันเป็นผลของศีลมหาสนิทนั้นนำชีวิตมาสู่โลก ใน บทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า ที่เราภาวนาว่า “โปรดประทานอาหารประจำวันให้แก่เรา” นั้นไม่เพียงหมายถึงความต้องการฝ่ายวัตถุของเราเท่านั้น แต่เน้นโดยเฉพาะถึงศีลมหาสนิทมากกว่า     

พระเยซูคริสตเจ้า

CCC ข้อ 728 พระเยซูเจ้ามิได้ทรงเปิดเผยเรื่องพระจิตเจ้าเต็มที่จนกระทั่งพระองค์ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์โดยการสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วเท่านั้น ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงกล่าวพาดพิงถึงพระจิตเจ้าบ้างแล้วเมื่อตรัสสอนประชาชน เมื่อทรงเปิดเผยว่าพระกายของพระองค์เป็นอาหารเพื่อชีวิตในอนาคตของโลก พระองค์ยังตรัสพาดพิงถึงพระจิตเจ้าด้วยกับนิโคเดมัส กับหญิงชาวสะมาเรีย และกับประชาชนที่มาร่วมฉลองเทศกาลอยู่เพิงพร้อมกับพระองค์ พระองค์ตรัสอย่างเปิดเผยแก่บรรดาศิษย์เมื่อตรัสเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนา และการเป็นพยานที่พวกเขาจะต้องแสดงถึงพระองค์    

ลำดับการประกอบพิธี

CCC ข้อ 1355 ในการรับศีล ซึ่งมีบท “ข้าแต่พระบิดา” และการบิขนมปังนำหน้านั้น บรรดาผู้มีความเชื่อรับ “อาหารจากสวรรค์” และ “ถ้วยแห่งความรอดพ้น” คือพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าผู้ทรงมอบพระองค์ “เพื่อให้โลกมีชีวิต” (ยน 6:51)

เนื่องจากว่าขนมปังและเหล้าองุ่นนี้ “ได้กลับเป็นศีลมหาสนิท” (หรือ “eucharistizata” ตามวลีที่ใช้มาแต่โบราณ) “อาหารนี้ที่เราเรียกว่า ‘ศีลมหาสนิท’ ซึ่งไม่มีใครอื่นได้รับอนุญาตให้รับได้นอกจากผู้ที่เชื่อว่าคำสอนของเรานั้นจริง และผู้ที่ได้รับการล้างเพื่อรับอภัยบาปและบังเกิดใหม่แล้ว และดังนี้เขาจึงมีชีวิตดังที่พระคริสตเจ้าได้ประทานให้เขา”    

ปังทรงชีวิต

CCC ข้อ 1406 พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์ ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป […] ผู้ที่กินเนื้อของเราและดื่มโลหิตของเราก็มีชีวิตนิรันดร […] ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา” (ยน 6:51, 54, 56)    

CCC ข้อ 1407 ศีลมหาสนิทเป็นหัวใจและจุดยอดชีวิตของพระศาสนจักร เพราะว่าในศีลนี้ พระคริสตเจ้าทรงถวายพระศาสนจักรของพระองค์และนำสมาชิกทุกคนของพระศาสนจักรเข้ามารวมกับการถวายบูชาเพื่อถวายเกียรติและขอบพระคุณของพระองค์ที่ทรงถวายเพียงครั้งเดียวสำหรับตลอดไปบนไม้กางเขนแด่พระบิดา เดชะการถวายบูชานี้พระองค์ทรงหลั่งพระหรรษทานที่นำความรอดพ้นลงมาเหนือพระวรกายของพระองค์ซึ่งก็คือพระศาสนจักรนั่นเอง    

CCC ข้อ 2837 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ยน 6:26-71)    


ยน 6:52-59 ประชาชนหลายคนได้ยินว่าพระคริสตเจ้าตรัสถึงการรับประทานเนื้อของพระองค์ จึงถือว่าพระวาจาของพระองค์เป็นเสมือนคำเชื้อเชิญให้กินเนื้อมนุษย์ พระคริสตเจ้ามิได้ทรงต้องการหมายความว่าเป็นการกินเนื้อและการดื่มพระโลหิตของพระองค์ทางกายภาพ แต่ทรงหมายถึงในเชิงศีลศักดิ์สิทธิ์มากกว่า พระองค์ทรงสถาปนาศีลมหาสนิทขึ้นในงานเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ปังและเหล้าองุ่นได้เปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระองค์เพื่อการหล่อเลี้ยงฝ่ายจิตของผู้มีความเชื่อ โดยการตั้งศีลบวช พระคริสตเจ้าทรงมอบอำนาจแก่บรรดาอัครสาวกและผู้สืบทอดตำแหน่งของพวกท่านให้กระทำเช่นเดียวกัน ในเรื่องนี้ พระองค์ทรงสอนเกี่ยวกับเรื่องการประทับอยู่จริงของพระองค์ในศีลมหาสนิท  การแปลสาร เป็นคำที่พระศาสนจักรใช้เพื่ออธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อพระสงฆ์เสกปังและเหล้าองุ่นในพิธีบูชาของพระคุณ สารัตถะของปังและเหล้าองุ่นเปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า แต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปภายนอกที่ปรากฏ ศีลมหาสนิทมอบชีวิตเหนือธรรมชาติแก่ผู้รับ ผูกพันเราให้ใกล้ชิดกับพระคริสตเจ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ และเตรียมเราเข้าสู่ชีวิตนิรันดรในสวรรค์ 

พระศาสนจักรเป็นการร่วมชีวิตกับพระเยซูเจ้า

CCC ข้อ 787 ตั้งแต่เริ่มแรก พระเยซูเจ้าทรงเรียกบรรดาศิษย์ให้มาอยู่กับพระองค์ทรงเปิดเผยพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรแก่เขา ทรงทำให้เขามีส่วนร่วมพันธกิจและความยินดี และร่วมพระทรมานกับพระองค์ พระเยซูเจ้ายังตรัสถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกว่านี้ระหว่างพระองค์กับผู้ที่ติดตามพระองค์ว่า “จงดำรงอยู่ในเราเถิด ดังที่เราดำรงอยู่ในท่าน […] เราเป็นเถาองุ่น ท่านทั้งหลายเป็นกิ่งก้าน” (ยน 15:4-5) และยังตรัสถึงความสัมพันธ์ล้ำลึกแท้จริงระหว่าง พระกายของพระองค์กับของเราด้วย “ผู้ที่กินเนื้อของเราและดื่มโลหิตของเรา ก็ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา” (ยน 6:56)

งานเลี้ยงปัสกา

CCC ข้อ 1382 พิธีมิสซา ในเวลาเดียวกันอย่างแยกกันไม่ได้ เป็นทั้งการถวายบูชาและการระลึกถึงที่ทำให้การถวายบูชาบนไม้กางเขนและการเลี้ยงอาหารมื้อค่ำเพื่อรับพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าดำรงอยู่ตลอดไป แต่ก่อนอื่นหมดการประกอบพิธีถวายบูชาขอบพระคุณมุ่งไปยังการร่วมสนิทของบรรดาผู้มีความเชื่อกับพระคริสตเจ้าโดยการรับศีลมหาสนท การรับศีลมหาสนิทเป็นการรับพระคริสตเจ้าผู้ทรงถวายพระองค์เพื่อพวกเรานั่นเอง

CCC ข้อ 1383 พระแท่นบูชาที่พระศาสนจักรมาชุมนุมอยู่โดยรอบเพื่อประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณแสดงถึงเหตุผลสองด้านของพระธรรมล้ำลึกเดียวกัน คือเป็นพระแท่นบูชาและเป็นโต๊ะการเลี้ยงขององค์พระผู้เป็นเจ้า ยังมีความหมายมากกว่านี้อีกเพราะพระแท่นบูชาของคริสตชนเป็นสัญลักษณ์ของพระคริสตเจ้าเองซึ่งประทับอยู่ในการชุมนุมกันของบรรดาผู้มีความเชื่อของพระองค์ ในเวลาเดียวกันยังประทับอยู่เป็นเครื่องบูชาซึ่งถวายเพื่อการคืนดีของเรา (กับพระเจ้า) และเป็นอาหารจากสวรรค์ที่พระองค์ประทานพระองค์ให้แก่พวกเรา นักบุญอัมโบรสกล่าวไว้ว่า “พระแท่นบูชาของพระคริสตเจ้าเป็นอะไรถ้าไม่ใช่ภาพพระกายของพระคริสตเจ้า” ท่านยังกล่าวอีกว่า “พระแท่นบูชาเป็นภาพของพระกายและพระกายของพระคริสตเจ้าอยู่บนพระแท่นบูชา” พิธีกรรมกล่าวถึงเอกภาพนี้ของการถวายบูชาและการรับศีลมหาสนิทในบทภาวนาหลายบท พระศาสนจักรโรมันกล่าวดังนี้ในบทภาวนาถวาย (anaphora) ของตนว่า “ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ ข้าพเจ้าทั้งหลายกราบวอนขอ โปรดบัญชาให้ทูตสวรรค์นำเครื่องบูชาเหล่านี้ขึ้นถวายพระเดชานุภาพ ณ แท่นบูชาในสวรรค์ เพื่อข้าพเจ้าทุกคนที่รับพระกายและพระโลหิตของพระบุตรจากแท่นบูชานี้แล้ว จะได้รับพระพรและพระหรรษทานอย่างบริบูรณ์”

“ท่านทั้งหลายจงรับไปกินเถิด” – การรับศีลมหาสนิท

CCC ข้อ 1384 องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเชิญชวนเราอย่างแข็งขันให้เรารับพระองค์ในศีลมหาสนิท “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่กินเนื้อของบุตรแห่งมนุษย์ และไม่ดื่มโลหิตของเขา ท่านจะไม่มีชีวิตในตนเอง” (ยน 6:53)

ผลของการรับศีลมหาสนิท

CCC ข้อ 1391 การรับศีลมหาสนิทเสริมความสัมพันธ์ของเรากับพระคริสตเจ้า ผลสำคัญของการรับศีลมหาสนิทคือการทำให้เรามีความสัมพันธ์แนบแน่นกับพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าเองก็เคยตรัสว่า “ผู้ที่กินเนื้อของเราและดื่มโลหิตของเราก็ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา” (ยน 6:56) ชีวิตในพระคริสตเจ้าตั้งรากฐานอยู่ในงานเลี้ยงศีลมหาสนิท “พระบิดาผู้ทรงชีวิตทรงส่งเรามา และเรามีชีวิตเพราะพระบิดาฉันใด ผู้ที่กินเนื้อของเราจะมีชีวิตเพราะเราฉันนั้น” (ยน 6:57) “เมื่อในวันฉลอง [ขององค์พระผู้เป็นเจ้า] ประชาชนรับพระกายของพระบุตร เขาก็ประกาศข่าวดีแก่กันว่าพระเจ้าประทานประกันแห่งชีวิตนิรันดรให้แล้ว เหมือนกับเมื่อทูตสวรรค์กล่าวแก่มารีย์ [ชาวมักดาลา] ว่า ‘พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว’ บัดนี้พระเจ้าก็ประทานชีวิตและการกลับคืนชีพแก่ผู้ที่รับพระคริสตเจ้าด้วย”

CCC ข้อ 1392 วัตถุที่เป็นอาหารบำรุงเลี้ยงชีวิตร่างกายฉันใด การรับศีลมหาสนิทก็บังเกิดผลในชีวิตจิตของเราอย่างน่าพิศวงฉันนั้น การรับพระกายของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ “ (พระกาย) ที่พระจิตเจ้าประทานชีวิตและทรงบันดาลให้ประทานชีวิตแก่เราได้นี้” บำรุงรักษา เพิ่มพูนและฟื้นฟูชีวิตพระหรรษทานที่เราได้รับในศีลล้างบาป การเจริญเติบโตนี้ของชีวิตคริสตชนต้องได้รับการหล่อเลี้ยงจากการรับศีลมหาสนิทซึ่งเป็นอาหารสำหรับการเดินทางในโลกนี้ของเราไปจนถึงเวลาใกล้จะตาย ในเวลานั้นเราจะรับศีลมหาสนิทเป็นเสมือนเสบียงสำหรับการเดินทาง (ไปสู่อาณาจักรสวรรค์)

ปังทรงชีวิต

CCC ข้อ 1406 พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์ ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป […] ผู้ที่กินเนื้อของเราและดื่มโลหิตของเราก็มีชีวิตนิรันดร […] ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา” (ยน 6:51, 54, 56)

“ท่านทั้งหลายจงบำบัดรักษาคนเจ็บป่วย...”

CCC ข้อ 1509 “จงรักษาคนเจ็บไข้” (มธ 10:8) พระศาสนจักรได้รับหน้าที่นี้มาจากองค์พระผู้เป็นเจ้าและให้ปฏิบัติทั้งโดยการบำบัดรักษาที่นำไปให้แก่คนเจ็บป่วยและโดยการอธิษฐานภาวนาวอนขอพร้อมกับคนเจ็บป่วยเหล่านั้น พระศาสนจักรเชื่อว่าการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้านั้นนำชีวิตมาให้ ในฐานะนายแพทย์ผู้บำบัดรักษาวิญญาณและร่างกาย การประทับอยู่นี้แสดงพลังเป็นพิเศษโดยทางศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางศีลมหาสนิท อาหารที่นำชีวิตนิรันดรมาให้ และนักบุญเปาโลยังกล่าวพาดพิงว่าศีลนี้ยังความสัมพันธ์กับการบำบัดรักษาร่างกายด้วย

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)