แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

สัญลักษณ์และความเป็นหนึ่งเดียว
“แด่ลูกสุดที่รัก”

๑. คริสตศาสนากับวัฒนธรรมตะวันตก
    ถ้าไม่มีความรู้บ้างเกี่ยวกับคริสตศาสนาแล้ว ก็ยากที่จะเข้าใจประวัติศาสตร์ยุโรป ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนมากของประวัติศาสตร์โลกด้วย ใครๆก็ทราบว่าพระสันตะปาปาเป็นใคร แต่มีสักกี่คนที่ทราบถึงบทบาทของพระองค์ ในฐานะประมุขของพระศาสนจักร ใครๆ ก็พูดถึงคริสต์มาสและปัสกา แต่มีสักกี่คนที่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของวันสองวันนี้ที่มีการฉลองกันอย่างแพร่หลาย ศิลปะของยุโรปเป็นศิลปะที่มีพื้นฐานมาจากคริสต์ศาสนาตลอดเวลาสองพันปีที่ผ่านมา

เพื่อจะเข้าใจงานชิ้นเอกนับไม่ถ้วนได้ก็จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ เกี่ยวกับวัฒนธรรมของคริสตชนบ้าง ไม่ว่าภาพวาด รูปแกะสลักดนตรี สถาปัตยกรรมหรืองานของช่างทองต่างก็มีความเกี่ยวข้องกับ “เรื่องราวศักดิ์สิทธิ์” ที่เล่ากันในพระคัมภีร์ด้วยกันทั้งนั้นซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นหนังสือที่มียอดขายสูงสุดของโลก
    งานของไมเกิ้ล แองเจโลที่มีชื่อเสียงเช่น รูปแกะสลัก โมเสส ที่กรุงโรม หรือ ดาวิด ที่ฟลอเรนส์สอดคล้องกับพันธสัญญาเดิมอย่างไร ถ้าไม่มีความรู้พระคัมภีร์สักนิดหนึ่งใครจะสามารถเข้าใจภาพสักตอนหนึ่งของกระจกสีในอาสนวิหารแห่งชาตร์ หรือของ แซงต์ ชาแปลที่กรุงปารีสได้ จะเข้าใจพระมหาทรมาน โดยนักบุญมัทธิว ของโจฮาน เซบาสเตียน บาก ได้อย่างไร ถ้าอย่างน้อยที่สุดไม่มีความรู้เกี่ยวกับพระวรสารสักเล็กน้อย
    ในขณะที่เรากำลังจะเข้าสู่สหัสวรรษที่สามอยู่นี้ เยาวชนรุ่นหลังต่างรู้สึกถึงความต้องการที่จะค้นหารากเหง้าของพวกเขาเพื่อจะได้สูดอากาศที่บริสุทธิ์ หลังจากความล้มเหลวของระบบเผด็จการต่างๆซึ่งมุ่งหวังที่จะทำลาย ศาสนาพวกเขาก็มีประสบการณ์ด้านชีวิตจิตอย่างลึกซึ้งอีกครั้ง
    ความปรารถนาอันนี้สะท้อนถึงความสำเร็จของหนังสือที่ผลิตออกเป็นชุดๆ ของ Editions Assouline เล่มแรกชื่อ สัญลักษณ์ในศาสนายิว เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับศาสนายิวอย่างดีและชัดเจน หนังสือเล่มนี้เขียนโดยท่าน Rabbi Marc-Alain 1. Quaknin เป็นหนังสือที่อ่านง่ายและชัดเจน
    บทนำของท่านซึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจารีตพิธีกับตำนานธรรมนั้น มีความคล้ายคลึงกับการวิเคราะห์หัวข้อนี้ (๑) เป็นการดีที่หนังสือเกี่ยวกับศาสนายิวออกมาก่อน ทั้งนี้เพราะว่าคริสต์ศาสนานั้นมีความใกล้ชิดกับศาสนายิวมาก ไม่เฉพาะโดยทางพระคัมภีร์เท่านั้นแต่โดยทางพิธีกรรมด้วย รูปภาพที่ยอดเยี่ยมของ LazizHamani นั้นไม่เฉพาะแต่งดงามผ่านทางสายตาเท่านั้น แต่คล้ายกับมิติที่สามจนทำให้เราต้องการที่จะสัมผัสด้วยมือ ภาพเต็มไปด้วยความสว่างและความมีชีวิตชีวา และดังนี้ก็บรรลุความสมบูรณ์แบบที่ภาพเหล่านั้นไม่เพียงเป็นภาพประกอบเท่านั้น แต่ยังทำให้สัญลักษณ์ของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกด้วย

๒. เนื้อหนังและจิต : สัญลักษณ์
    เป็นธรรมชาติที่แท้จริงของสัญลักษณ์ทุกอัน สัญลักษณ์เป็นทั้งวัตถุและจิต ความเป็นจริงที่ชัดเจนจะอธิบายความจริงที่มองไม่เห็น ตัวอย่างเช่น สิงโตเป็นสัญลักษณ์ของพลัง เช่นเดียวกันงูเป็นสัญลักษณ์ของความฉลาดแกมโกง หรือนกพิราบเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ คำกริยา sym-ballo ในภาษากรีกนั้นหมายความว่า “ขว้างไปหรือรวมเข้าด้วยกัน”  คำ symbolon ดั้งเดิมนั้นเป็นเครื่องหมายของการยอมรับหรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนขึ้นไปอีก มันเป็นเครื่องหมายของสองสิ่งเหมาะสมกันเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางสายโลหิตหรือมิตรภาพระหว่างบุคคลสองคนทีมีมิตรภาพต่อกัน ดังนั้นบทบาทของ “symbolic” ก็คือการนำมาด้วยกันและรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ส่วนคำว่า “diabolic” นั้น เมื่อแยกคำเป็น (dia-bolos มาจากdia-ballo แปลว่า “ขว้างออกไป แยกออกหรือแบ่งออก”) สัญลักษณ์เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการเสมอเพราะมนุษย์ประกอบด้วยร่างกายและวิญญาณ เราเรียนรู้จากสัญลักษณ์หนึ่งไปสู่อีกอันหนึ่งโดยทางรูปภาพหรือโดยทางหนังสือ การโฆษณา และการสื่อสารมักจะใช้สัญลักษณ์อยู่ตลอดเวลา ในฐานะที่เป็นมนุษย์เราก็มีทั้งเนื้อหนังและจิต จิตที่เข้ามาอยู่ในกาย และเราดำเนินชีวิตทั้งสองระดับ เนื้อหนังเมื่อปล่อยให้มันอยู่ตามลำพังก็จะอ่อนแรง แต่เมื่อกลายเป็นสัญลักษณ์ไปพร้อมๆกับจิต เนื้อหนังจะเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสวยงามตรงกันข้ามจิตจะเป็นแต่ปัญญาที่เย็นชา เมื่ออยู่ตามลำพัง แต่เมื่อเอาเนื้อหนังและจิตรวมเข้าด้วยกันสัญลักษณ์ก็จะทำให้ปัจเจกบุคคลของเราครบถ้วนและทำให้เราสัมพันธ์กับคนอื่นได้ จิตและกายจะทำหน้าที่เป็นหมุด เป็นบานพับซึ่งมีความจำเป็นสำหรับเรา เครื่องหมายและสัญลักษณ์หมายถึงความเป็นจริงที่อยู่เหนือธรรมชาติ ความแตกต่างระหว่างทั้งสองก็คือเครื่องหมายนั้นเจาะจง แต่สัญลักษณ์นั้นมั่งคั่งกว่า

๓.    สัญลักษณ์และการรับธรรมชาติมนุษย์
    คริสต์ศาสนาเป็นศาสนาที่ตั้งอยูบนรากฐานของการรับธรรมชาติมนุษย์ พระคริสต์ซึ่งทรงเป็นพระเจ้าและมนุษย์ ในขณะเดียวกันทรงเป็นคนกลางสำหรับความรอดของเรา ทรงรับเอาสภาพมนุษย์เพื่อทรงเปิดโอกาสให้เราเข้าไปในชีวิตของพระเจ้า (๒) กุญแจเข้าสู่สัญลักษณ์แบบคริสต์ดอกนี้ถูกสรุปลักษณะในศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ กลุ่มคำพูดกับเครื่องหมายที่มองเห็นได้ซึ่งปรากฏแก่ประสาทสัมผัสทั้งห้า นอกจากคำพูดที่เราได้ยินและท่าทางที่เรามองเห็นแล้ว พิธีกรรมยังให้เราได้กลิ่นกำยานหรือธูป การลิ้มรสของปังและเหล้าองุ่นซึ่งได้กลายเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า (ดังเช่นศีลมหาสนิท ซึ่งเป็นมากกว่าสัญลักษณ์เสียอีก เป็นการรำลึกถึงการถวายบูชาของพระคริสต์ที่ได้รับการรื้อฟื้นอยู่เสมอ) ปรากฏแก่ประสาทสัมผัสด้วยการปกมือและการเจิมด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการเอาใจใส่ต่อคนเจ็บคนป่วย การช่วยเหลือคนจนและการรักษาความสัมพันธ์กับผู้ใกล้ตาย พระเจ้าทรงเผยแสดงและประทานพระองค์แก่เราในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของชีวิตเราและในขณะเดียวกันศาสนาของพระองค์ยังคงเป็นแบบมนุษย์อย่างลึกซึ้งอีกด้วย

๔.    สัญลักษณ์แบบคริสต์กับความเป็นหนึ่งเดียว
           สัญลักษณ์รวมเราเข้าเป็นหนึ่งเดียว แม้ว่าคริสตชนจะไม่ได้เจริญชีวิตในความเป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดตามที่พระคริสต์ทรงวอนขอจากพระเจ้า สำหรับบรรดาศิษย์ของพระองค์ก่อนพระมหาทรมานของพระองค์ก็ตาม (๓)  แม้ว่าจะมีการไม่ลงรอยกันและการแตกแยกกันมากมายก็ตาม พระศาสนจักรยังสามารถรักษาความเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ไว้ได้เป็นเวลานับพันปีเพราะว่า การแยกตัวออกจากกันกับพระศาสนจักรตะวันออกครั้งสำคัญนั้นเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1054 เท่านั้น  และอีกห้าร้อยปีต่อมาในศตวรรษที่สิบหก การปฏิรูปศาสนาของลูเธอร์ได้แยกคริสตชนของศาสนจักรตะวันตก และนำไปสู่สงครามศาสนา
    แต่ทว่าในศตวรรษที่ยี่สิบนี้มีการเริ่มคริสตสัมพันธ์ (Ecumenism) และความพยายามที่จะคืนดีกันหลายครั้งขึ้น นี่เป็นเรื่องที่พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงเขียนในตอนต้นของสมณสาสน์สากล เรื่องขอให้พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกัน (Ut unum sint) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ.1995 ว่า “การเรียกร้องให้คริสตชนเป็นหนึ่งเดียวกันของพระสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง ด้วยความสำนึกในพันธกิจความจริงใจอย่างมากได้ก่อให้เกิดเสียงสะท้อนขึ้นในใจของบรรดาคริสตชนเป็นพิเศษในโอกาสที่จะถึงปีค.ศ. 2000 นี้ อันเป็นปีที่คริสตชนจะฉลองเป็นปีปิติมหาการุญ เป็นการรำลึกถึงการรับเอากายของพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงมาบังเกิดเป็นมนุษย์เพื่อทรงช่วยมนุษยชาติให้รอด” (๔) หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นโดยฤาษีคณะเบเนดิกตินและเสนอสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์คาทอลิก กระนั้นก็ดีคริสตชนส่วนใหญ่เห็นว่าสัญลักษณ์เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพวกเขา พระศาสนจักรทางตะวันออกซึ่งเรียกกันว่า “ออร์ธอดอกซ์” (“ความถูกต้องของข้อความเชื่อ แปลตรงตัวอักษรในภาษากรีก) มีความเชื่ออันเดียวกันและศีลศักดิ์สิทธิ์อันเดียวกันกับพระศาสนจักรคาทอลิกนั้นแสดงออกต่างกันแต่เป็นวิธีที่เสริมกันและกันได้ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงด้านพิธีกรรมที่ตามคำประกาศของสังคายนาวาติกันที่ 2 พร้อมกับความประสงค์ที่จะกลับคืนสู่ความเรียบง่ายที่น่านับถือในศาสนาบริการ (๕)ได้ทำให้เครื่องหมายที่เราใช้นั้นเสื่อมลงไปบ้างอย่างน่าเสียดาย แต่ในศาสนบริการทางตะวันออกยังคงรักษาสัญลักษณ์ไว้อย่างเต็มที่เช่นเดิม
    พิธีกรรมโรมันได้ใช้ความไตร่ตรองเป็นอย่างมากทั้งในตำราโดยเฉพาะในพระคัมภีร์เป็นส่วนใหญ่ และในท่าทางภายนอกหรืออาภรณ์ แต่เป็นการแสดงออกที่ทรงพลังถึงความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นการประทับอยู่และพระภารกิจของพระองค์ พระศาสนจักรฝ่ายตะวันตก เช่น พิธีกรรมของลัทธิแองกลิกันและลูเธอร์เรนมีความคล้ายคลึงกับฝ่ายโรมันคาทอลิก ขณะที่พระศาสนจักรที่ได้รับการปฏิรูปเกี่ยวโยงกัน ลัทธิคาลแวงที่เน้นพระวาจาของพระเจ้า ในบทอื่นของหนังสือเล่มนี้จะกล่าวถึงความสำคัญและความหมายของสัญลักษณ์ของนิกายต่างๆในคริสตศาสนา
๕.    พระสันตะปาปา: สัญลักษณ์ของหลักคำสอนและความเป็นหนึ่งเดียว
การเป็นเอกของพระสังฆราชแห่งโรมและเป็นต้น ปัญหาของศาสนบริการดูเหมือนว่าเป็นเครื่องสะดุดสำหรับหนทางการรวมกันเข้าเป็นหนึ่งเดียว ประสบการณ์แบบคริสต์คือความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าเป็นสิ่งแรกและเหนือกว่าสิ่งใด เป็นการติดยึดอย่างน่ารักกับพระวาจาและพระประสงค์ของพระองค์จากหนังสือปฐมกาลถึงหนังสือวิวรณ์ (๗) พระคัมภีร์ยืนยันถึงพระประสงค์ของพระเจ้าซึ่งเป็นองค์เจ้าบ่าวในการที่รวมพระองค์กับประชากรของพระองค์ซึ่งเป็นเจ้าสาวของพระเจ้า และบทกวีรักใน “บทเพลงซาโลมอน” แสดงออกซึ่งความอ่อนหวานทั้งมวลที่ดึงดูดทั้งสองเข้าด้วยกัน เมื่อเป็นเช่นนี้เหตุใดเล่าตัวกลางที่เป็นมนุษย์จึงบังอาจเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนที่ซาบซึ้งเช่นนี้ได้ ณ ตรงนี้มีแต่ธรรมล้ำลึกของการรับเอากายเท่านั้นที่จะให้ความสว่างแก่เราได้ พระคริสต์ผู้เสด็จมาเพื่อจะประทับอยู่ท่ามกลางมนุษยชาติ เสด็จกลบไปหาพระบิดาเพื่อประทับเบื้องขวาของพระบิดา ในวันเสด็จขึ้นสวรรค์โดยทรงปล่อยให้พระศาสนจักรที่ทรงสถาปนาขึ้นกระทำภารกิจของพระองค์ต่อไปเพื่อว่าเจ้าสาวของพระองค์จะได้พบกับมิติที่เต็มเปี่ยมของตนในกาลเวลาและสถานที่ พระเยซูทรงแต่งตั้งให้เปโตรและอัครสาวกอีกสิบเอ็ดท่านเป็นหัวหน้าของพระศาสนจักร เพื่อพวกเขาจะได้สืบต่อพระวาจาและพระพรของพระเจ้า
พระสังคายนาวาติกันที่ 2 ชี้ให้เห็นชัดว่าฐานันดรของพระศาสนจักรคาทอลิกเป็นส่วนที่ขาดเสียมิได้ของประชากรของพระเจ้าในการรับใช้ประชากร (๘) ถ้าพระสันตะปาปา พระสังฆราช พระสงฆ์และสังฆานุกรต่างก็เป็นตัวแทนขององค์เจ้าบ่าวและนายชุมพาด้วยวิธีการต่างๆ กระนั้นก็ดีพวกเขาก็มิได้แทนที่พระคริสต์ หากแต่เพื่อเป็นประกันถึงการสนิทสัมพันธ์ที่แท้จริงและที่สมบูรณ์แบบกับพระองค์เท่านั้น
พระสันตะปาปาทรงเป็นสัญลักษณ์ที่เด่นชัดสำหรับคริสตชน และสำหรับคริสตชนร่วมสมัย เช่นเดียวกันพระคริสต์ทรงเป็นเครื่งหมายที่จะถูกโต้แย้ง (ลก.2:34) พระเยซูทรงตัดสินพระทัยที่จะสร้างพระศาสนจักรของพระองค์บนศิลาแห่งเปโตร (๙) และเป็นหน้าที่ของท่านที่จะ “ช่วยค้ำจุนพี่น้องของท่าน” (ลก.22:32)ในฐานะที่เป็นผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตรในศาสนจักรแห่งโรม พระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ตรัสในบทเทศน์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ.1987 ต่อหน้า ฯพณฯ ดีมีตรีออสที่ 1 อัครสังฆราชแห่งคอนสแตนตินโนเปิลและอัยกาแห่ง
คริสตสัมพันธ์ว่า “ข้าพเจ้าวิงวอนพระจิตอย่างไม่หยุดหย่อนให้ทรงฉายแสงของพระองค์ลงมาเหนือชาวเราและ ส่องสว่างแด่บรรดานายชุมพาและนักเทววิทยาของศาสนจักรต่างๆของเรา เพื่อให้เราแสวงหาด้วยกัน ซึ่งศาสนบริการแบบนี้จะได้บรรลุถึงการรับใช้แห่งความรักอันเป็นที่ยอมรับของทุกคนที่เกี่ยวข้อง” (๑๐)
พระสันตะปาปามิได้ทรงเป็นเพียงเครื่องหมาย สัญลักษณ์และข้อหลักของความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระศาสนจักรเท่านั้น ทรงเป็นหลักในเรื่องเมตตารักพร้อมกับบรรดาพี่น้องพระสังฆราชซึ่งมีบรรดาสงฆ์และสังฆานุกรของท่านคอยช่วยเหลือ สังฆานุกรเป็นผู้รับใช้พี่น้องฆราวาสของพวกท่านอีกต่อหนึ่งในฐานะที่เป็นสมาชิกของประชากรของพระเจ้า ทุกคนเป็นผู้เหมาะสมต่อหน้าธรรมล้ำลึกแห่งพระศาสนจักร คนยากจน ในทุกความหมายของคำๆนี้ (ด้านกาย ด้านชีวิตจิต ด้านจิตวิทยา และด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม) เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่บรรดาคริสตชนยกย่อง เพราะพวกเขาเป็นเสมือนพระคริสต์ผู้ถ่อมองค์ลงจนกระทั่งทรงยอมสิ้นพระชนม์บนกางเขน
ความหมายของสัญลักษณ์นี้ยืดหยุ่นเกี่ยวกับความเป็นจริงทุกอย่างที่ให้ “อาหารใจ” แก่เราสัญลักษณ์ของคาทอลิกรวมเอาทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับศาสนาคาทอลิก ไม่ใช่เพียงแต่สิ่งที่เกี่ยวกับพิธีกรรมเท่านั้น พระคริสต์ซึ่งทรงเป็นมนุษย์-พระ คนกลางของชาวเรา แบบฉบับที่เลอเลิศที่สุดของความเป็นจริงที่ครบถ้วน ทรงเป็นสัญลักษณ์ที่แตกออก เป็นภาพลักษณ์จำนวนมากมาย (ลูกแกะ นายชุมพาแสนดี ฯลฯ) สัญลักษณ์อื่นๆ อาจเป็นสิ่งของที่จับต้องได้ เช่น กางเขน ขนมปังหรือหอคอย แต่บ่อยครั้งอาจเป็นบุคคลเช่นสามพระบุคคลในพระตรีเอกภาพ พระนางพรหมจารีมารีย์ บรรดานักบุญ พระสงฆ์ ผู้ที่อยู่ในฐานันดรและฆราวาส สัญลักษณ์มีไว้สำหรับมนุษยชาติ สำหรับเราทุกคน เพื่อเราจะสามารถเข้าใจความสมบูรณ์และการเป็นหนึ่งเดียวของความรักที่พระคริสต์ทรงแสดงออก ขณะที่ภาวนาต่อพระบิดาเป็นครั้งสุดท้ายบนโลกนี้ว่า “ข้าพเจ้าได้บอกให้เขารู้จักพระนามของพระองค์และจะบอกให้รู้ต่อไป เพื่อความรักที่พระองค์ทรงรักข้าพเจ้าจะได้อยู่ในเขาและข้าพเจ้าจะได้อยู่ในเขาด้วยเช่นกัน” (ยน.17:26)


(๑)    เทียบ Le Gall Associes a l’oeuvre de dieu: C.L.D. Chambray-les-Tours: 1981: pp.103-107
(๒)    “และพระวจนาตถ์ทรงรับเอาธรรมชาติมนุษย์ และมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา” (ยน 1:14)
(๓)    “...เพื่อให้เขาเป็นหนึ่งเดียวกันเช่นเดียวกับพระองค์และข้าพเจ้าเป็นหนึ่งเดียวกัน ข้าพเจ้าอยู่ในเขาและพระองค์ทรงอยู่ในข้าพเจ้า เพื่อเขาจะได้เป็นหนึ่งเดียวกันโดยสมบูรณ์ โลกจะได้รู้ว่า พระองค์ทรงส่งข้าพเจ้า เพื่อเขาจะได้เป็นหนึ่งเดียวกันโดยสมบูรณ์ โลกจะได้รู้ว่า พระองค์ทรงส่งข้าพเจ้าและพระองค์ทรงเขาเช่นเดียวกับทรงรักข้าพเจ้า” (ยน 17:22-23)
(๔)    สมณสาสน์สากล “เพื่อให้พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกัน” ของพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ข้อ 1
(๕)    กฤษฎีกาว่าด้วย “พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์” ของสังคายนาวาติกัน 2 พิมพ์วันที่ 4 ธันวาคม 1963 ข้อที่ 66
(๖)    สมณสาสน์สากล “เพื่อให้พวกเขาเห็นหนึ่งเดียวกัน” ของพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ข้อ 66
(๗)    หนังสือเล่มแรกและเล่มสุดท้ายของพระคัมภีร์
(๘)    บทที่ 2 ของสังฆธรรมนูญว่าด้วยเรื่องข้อความเชื่อของพระศาสนจักร Lumen Gentium เกี่ยวกับประชากรของพระเจ้า
บทที่ 3 เกี่ยวกับ “สังฆธรรมนูญว่าด้วยเรื่องฐานานุกรมของพระศาสนจักร พร้อมด้วยข้ออ้างพิเศษสำหรับพระสังฆราช
(๙)    มธ. 16:18
(๑๐)    อ้างใน “เพื่อให้พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกัน” ข้อ 95