แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ศีลเจิมผู้ป่วย (Anointing of the Sick)
สำหรับคนป่วยแล้ว การเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ช่วยบรรเทา
เพื่อนำสันติภาพมาสู่วิญญาณของพวกเขา

พระวรสารเล่าให้ฟังว่าพระคริสต์ทรงรักษาคนป่วยและทำให้พวกเขาเดินได้ด้วยการปกมือ (มก.6:5 มธ.8:3-15) พระองค์ทรงสอนพวกอัครสาวกปฏิบัติตามด้วยพร้อมกับทรงเสริมให้มีการเจิมด้วย (มก.6:13) นี่เป็นการแสดงออกของการเป็นมนุษย์และความอ่อนโยนของพระ เหนืออื่นใดท่าทางภายนอกที่เป็นสัญลักษณ์เป็นส่วนประกอบของศีลเจิมคนไข้ พระเจ้าและพระศาสนจักรสนับสนุนและให้การดูแลอย่างทะนุถนอมแก่ผู้ที่ทนทุกข์ทางกาย คนชราและผู้ที่กำลังจะตาย เครื่องหมายที่สัมผัสได้ของการห่วงใยนี้เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ประการสุดท้ายของศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้งเจ็ดประการ ซึ่งตามเราไปตลอดชีวิต

นับตั้งแต่สมัยอัครสาวกมาแล้ว (ศตวรรษแรก) การปกมือเหนือคนป่วยเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง “ใครในพวกท่านที่เจ็บป่วย” นักบุญยากอบเขียนในจดหมายของท่าน “ควรไปเชิญบรรดาผู้อาวุโส (Presbuteroi ในภาษากรีกซึ่งก็หมายความถึง “พระสงฆ์”) ของกลุ่มคริสตชน ให้ท่านเหล่านั้นอธิษฐานภาวนาเพื่อคนป่วย เอาน้ำมันเจิมผู้นั้นในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า คำอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อจะช่วยคนป่วยให้รอดชีวิต อาศัยพระเจ้าจะทรงโปรดให้ผู้ป่วยลุกขึ้นได้ และถ้าเขาได้กระทำบาป เขาก็จะได้รับการอภัย” (ยก.5:14-15) ดังนั้น ศีลเจิมคนไข้เป็นเครื่องหมายของการรักษาทั้งฝ่ายกายและฝ่ายวิญญาณซึ่งจบลงด้วยการให้อภัยบาป การประกอบพิธีกรรมการเจิมคนไข้โดยพระสงฆ์นั้นประกอบด้วยการปกมืออย่างเงียบๆ การเจิมด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนป่วย (ซึ่งพระสังฆราชเสกในวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ในมิสซาเสกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์)ที่หน้าผากและที่มือทั้งสองข้างพลางกล่าวว่า “...(ชื่อ) อาศัยการเจิมอันศักดิ์สิทธิ์นี้และอาศัยพระเมตตาอันล้นพ้นของพระเจ้า+ ขอพระองค์ทรงช่วยท่านด้วยพระหรรษทานของพระจิตเจ้า + ช่วยให้ท่านพ้นบาปอีกทั้งบรรเทาและช่วยให้รอด”
คำว่า “ศีลทาสุดท้าย” เป็นที่รู้จักกันดีกว่าคำว่า “ศีลเจิมคนไข้” แม้ว่าคำที่สองนี้จะตรงกับความจริงมากกว่าก็ตาม ศีลทาสุดท้ายจะโปรดก็ต่อเมื่อคนๆนั้นกำลังจะตาย เมื่อถึงตอนสุดท้ายของคนป่วยด้วยการเชื่อถึงลาง ครอบครัวบางครอบครัวมักจะรอจนถึงตอนสุดท้ายจริงๆ ก่อนที่จะเชิญพระสงฆ์ให้มาเจิมให้คนป่วยพร้อมกับส่งศีลเสบียง(รับศีลมหาสนิทเป็นครั้งสุดท้าย) ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าการมาแบบนี้ของพระสงฆ์ก็คือเครื่องหมายของความตาย พระสังคายนาวาติกันที่ 2 รื้อฟื้นธรรมเนียมการเจิมคนไข้เสียใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับตอนแรกเริ่ม
ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะรอจนถึงตอนสุดท้ายก่อนที่จะเชิญพระสงฆ์ให้ไปเจิมให้ ความเจ็บป่วยหนัก การรับการผ่าตัดใหญ่ หรือแม้กระทั่งการเข้าสู่วัยชราก็เป็นสาเหตุเพียงพอที่จะรับศีลเจิมคนไข้ด้วยความเชื่อ เพื่อจะได้รับความบรรเทาทั้งใจและกาย ซึ่งศีลนี้นำมาเสมอ