ศีลบวช (Holy Orders)
ศีลบวชบวชเสกผู้ที่ได้รับเรียกให้มาถ่ายทอดพระพรของพระเจ้าด้วยการให้บริการเพื่อนพี่น้อง

    เพื่อประกันความเที่ยงแท้ถาวรของความสนิทสัมพันธ์แห่งความรัก ซึ่งแสดงออกมาจากพระกายทิพย์ของพระองค์ พระคริสต์เองจึงทรงจัดหาเครื่องหมายแสดงถึงการประทับอยู่และพระภารกิจของพระองค์หลังจากพระเยซูทรงกลับคืนชีพแล้ว พระองค์ทรงประจักษ์แก่บรรดาอัครสาวกพร้อมทั้งประทานพันธกิจให้พวกเขาออกไปทำให้โลกกลับใจ (๑) ดังนั้น พวกเขาจึงเป็นพยานที่สำคัญถึงต่อมวลมนุษย์ในขณะที่พระคุณของพระจิตในวันเปนเตกอสเตทำให้พวกเขาเต็มไปด้วยพลังจากเบื้องบน(๒)

    ในท่ามกลางพวกอัครสาวกเหล่านี้มีซีโมนซึ่งมีสมญานามว่าเปโตรที่พระเยซูทรงเตรียมไว้เป็นรากฐานของพระศาสนจักรของพระองค์ แม้กระทั่งทรงถือว่าเป็นหนึ่งเดียวกับเขาแบบเร้นลับในฐานะเป็นผู้จ่าย
    ค่าบำรุงพระวิหารเป็นจำนวนเงินหนึ่งเชเคล(๓) บุคคลซื่อๆและใจกว้างผู้นี้ถือกำเนิดที่แคว้นกาลิลีเคยมีความอ่อนแอถึงกับปฏิเสธพระคริสต์ถึงสามครั้งในคืนก่อนที่พระเยซูจะรับทรมาน แต่เมื่อพระองค์ทรงรับการยืนยันถึงความรักที่เขามีต่อพระองค์ถึงสามครั้ง องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้กลับคืนชีพทรงเลือกเขาให้เป็นผู้ดูแลฝูงแกะทั้งหมดของพระองค์ (๔)
    ดังนั้น เปโตรและบรรดาอัครสาวกได้วางโครงสร้างพระศาสนจักร ซึ่งเป็นกายทรงชีวิตให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระคริสต์ พวกท่านเองก็ได้ถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่ได้รับสรรด้วยการปกมือซึ่งเป็นศักดิ์ศรีของการเป็นตัวแทนของพระคริสต์พร้อมด้วยพลังของพระจิตที่พวกท่านปรารถนา ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา พันธกิจนี้ได้ดำเนินต่อไปในศาสนบริการของบรรดาพระสังฆราช ในฐานะผู้สืบตำแหน่งจากบรรดาอัครสาวก พวกเขาเป็นเครื่องหมายแสดงและเครื่องมือของพระคริสต์ภายในสังฆมณฑลและวัดของตน นักบุญออกัสตินถือว่าท่านเป็นทั้งสมาชิกของพระศาสนจักรเหมือนกับสัตบุรุษของเมืองฮิปโปและทั้งเป็นเครื่องหมายที่มีชีวิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาได้รับมอบอำนาจทำให้พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระองค์ เช่นเดียวกันในกฤษฏีกาว่าด้วยพระศาสนจักรของพระสังคายนาวาติกันที่ 2 พูดถึงประชากรของพระเจ้าก่อนที่จะพูดถึงฐานันดรของพระศาสนจักรมีพระสังฆราชเป็นพื้นฐาน
    บรรดาพระสังฆราชต้องขึ้นตรงกับพระสังฆราชแห่งกรุงโรม ผู้สืบตำแหน่งของเปโตรซึ่งเป็นประธานเหนือพันธกิจของพระศาสนจักร “ผู้รับใช้ของบรรดาผู้รับใช้ของพระเจ้า” ตัวแทนพระคริสต์ มีแต่พระองค์ท่านผู้เดียวเท่านั้นที่ได้รับเกียรติในตำแหน่ง “พระสันตะปาปา” (จากคำว่า Pappas ในภาษากรีกอันเป็นคำที่ลูกๆเรียก “บิดา” ของตน) ในฐานะเครื่องหมายแสดงและข้ออ้างอิงของการเป็นหนึ่งเดียว พระองค์ทรงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์หลักของพระศาสนจักรคาทอลิก โดยปกติจะมีสังฆมนตรีเพื่อช่วยงานพระองค์และทรงรวบรวมเอาบรรดาพระสังฆราชเข้ากับพระองค์ได้ด้วยการเรียกประชุมสังคายนาหรือ ประชุมสมัชชาพระสังฆราช สำหรับสัตบุรุษในแต่ละสังฆมณฑล พระสังฆราชมีหน้าที่เป็นนายชุมพา พระสงฆ์และแพทย์ และดังนี้ก็มีส่วนร่วมในศาสนบริการของพระคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า นับตั้งแต่สมัยแรกเริ่มของพระศาสนจักรมาแล้ว พระสันตะปาปามีพระสงฆ์ไว้ช่วยเหลือพระองค์ท่าน พระสงฆ์ซึ่งท่านโปรดศีลบวชให้และเป็นผู้ร่วมศาสนบริการและสามารถที่จะถวายมิสซา In persona Christi (ในพระบุคคลของพระคริสต์) เช่นเดียวกันกับท่าน มีบรรดาสังฆานุกร (จากคำว่า diakonos ในภาษากรีกซึ่งแปลว่า “ผู้บริการรับใช้”) มาช่วยงานท่าน ซึ่งเขาก็ให้มีส่วนร่วมในสังฆภาพแต่ไม่ใช่การปฏิบัติศาสนบริการเองหากแต่เพื่อ “ให้บริการรับใช้” เรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์บางประการเท่านั้น นับเป็นเวลานานแล้วที่ตำแหน่งสังฆานุกรเป็นเพียงแต่เตรียมการเพื่อเป็นพระสงฆ์เท่านั้น แต่นับตั้งแต่พระสังคายนาวาติกันที่ 2 เป็นต้นมาได้รับการรื้อฟื้นให้เป็นตำแหน่งถาวรอีกด้วย
    ดังนั้นพระสังฆราช พระสงฆ์และสังฆานุกรจึงเป็นสามขั้นนของศีลบวชซึ่งถ่ายทอดด้วยการปกมือ ตามด้วยบทภาวนาของการบวช พระสังฆราชแต่ผู้เดียวเท่านั้นที่เป็นศาสนบริกร (คำว่า minister ในภาษาละตินนั้นหมายถึง “ผู้บริการรับใช้”) ของศีลบวช แต่ระหว่างในพิธีบวชพระสงฆ์ พระสงฆ์ทุกองค์ที่ร่วมพิธีก็ปกมือด้วยการเจิมน้ำมันที่ศรีษะสำหรับพิธีอภิเษกพระสังฆราชและเจิมมือสำหรับพิธีบวชพระสงฆ์ เป็นพิธีที่สัมพันธ์ซึ่งกัน พระสังฆราชได้รับเครื่องหมายประจำตำแหน่งพระสังฆราช อันได้แก่มาลาสูงและไม้เท้า พระสงฆ์รับผ้าคล้องคอและอาภรณ์(มิสซา)พร้อมทั้งปังและเหล้าองุ่นเพื่อถวายมิสซา สังฆานุกรได้รับหนังสือพระวรสารแล้วห่มด้วยผ้าคล้องคอและอาภรณ์ที่มีชื่อว่า ดาลมาตีกา เมื่อพวกท่านมิได้ประกอบพิธีกรรม ซึ่งพวกท่านจำเป็นต้องสวมอาภรณ์สำหรับพิธีกรรม (ซึ่งจะอธิบายในตอนต่อไป) พวกท่านก็สวมเสื้อหล่อพร้อมกับผ้าคาดเอว หรือนับตั้งแต่ปี 1963 เป็นต้น พวกท่านสวมชุดของผู้ได้รับศีลบวช ที่เรียกกันว่า “เคลอยี่แมน” (Clergyman)  คือสูทสีดำหรือสีเทาพร้อมกับติดกางเขนเล็กๆที่ปกเสื้อทับเสื้อเชิร์ทสีคล้ำพร้อมกับปลอกคอสีขาว
    พระสันตะปาปา แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่สวมเสื้อหล่อสีขาวพร้อมผ้าคลุมไหล่ ที่นิ้วพระหัตถ์ทรงสวม “แหวนชาวประมง” เพื่อเป็นการรำลึกถึงต้นตอของนักบุญเปโตร ซึ่งมักใช้ประทับจดหมาย (Sub annulo piscatoris) ทรงสวมหมวกเล็กๆสีขาวบนพระเศียร สวมสร้อยห้อยกางเขน
    พระคาร์ดินัล - พระสังฆราชที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพระสันตะปาปา – ในตอนแรกนั้นพวกท่านปฏิบัติศาสนบริการในส่วนต่างๆของกรุงโรม (ตามคำว่า cardines ในภาษาละติน) รวมกันเป็นสภาพระสันตะปาปาก็ว่าได้ ท่านรับหมวกสี่เหลี่ยมสีแดง (biretta) เครื่องแต่งกายเป็นสีแดง (ทั้งเสื้อหล่อ ผ้าคลุมไหล่และหมวกเล็กๆ) ท่านสวมแหวนที่นิ้วมือและแขวนกางเขนด้วยด้ายสีแดง สีแดง (ยังเรียกอีกว่า “สีเลือดหมูของคาร์ดินัล”) เป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ที่ท่านสัญญาต่อพระสันตะปาปาจนกระทั่งพร้อมที่จะหลั่งเลือดเพื่อพระคริสต์และพระศาสนจักร สีของอัครสังฆราชและสังฆราชนั้นเป็นสีม่วง (เสื้อหล่อ ผ้าคลุมไหล่และ หมวกใบเล็ก) ท่านยังสวมแหวนอันเป็นสัญลักษณ์ถึงการแต่งงานกับพระศาสนจักร (อันเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ของ “พระคริสต์องค์เจ้าบ่าว”) ท่านแขวนกางเขนที่หน้าอกด้วยสายสีเขียวที่ห้อยจากคอ สีม่วงในเทศกาลรับเสด็จพระคริสตเจ้า ผู้ใหญ่บางท่านในพระศาสนจักรเช่นผู้แทนของพระศาสนจักรก็สวมเสื้อสีม่วงด้วย เช่นกัน

การปฏิญาณของนักบวช
    คำว่า “รับศีลบวช” นั้นเป็นที่รู้จักกันดีซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการรับศีลบวชเสมอไปแต่จะเป็นการเลือก “การปฏิญาณของนักบวช” มากกว่าก็ได้ นอกเหนือไปจากผู้รับศีล ธรรมดา (Secular ทั้งนี้เพราะว่าท่านบริการศีลศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ Saecularia (ซึ่งก็หมายถึงสัตบุรุษประชากรของพระเจ้า “ที่อยู่ในโลก”) พระศาสนจักรยังมีคณะนักบวช “ธรรมดา” (regular) เพราะพวกเขาถือตาม regula (พระวินัยที่ปกครองชีวิตเขา) สมาชิกของคณะต่างๆ ที่กล่าวมานี้ไม่เกี่ยวกับฐานันดรที่เราได้กล่าวมาแล้ว แม้ว่าสมาชิกบางคนของพวกเขาอาจเป็นพระสังฆราช พระสงฆ์หรือสังฆานุกร (แม้กระทั่งพระสันตะปาปาก็มีหลายท่าน) แต่เป็นสัญลักษณ์ที่มีชีวิตของความศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร (๕)
    ชีวิตนักบวชไม่ได้เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นสภาพของการถวายตัวแด่พระเจ้าซึ่งเริ่มด้วยการเตรียมฝึกตัวในนวกสถาน ก่อนที่พระศาสนจักรจะรับพวกเขาในนามของพระเจ้า ผู้สมัครจะปฏิญาณว่าจะถือความยากจน พรหมจรรย์ และความนอบน้อมเชื่อฟังตลอดชีวิต (บางคณะนักบวชอาจมีคำปฏิญาณปลีกย่อยอีก) ที่เราเรียกกันว่าข้อปฏิญาณนักบวช
    นี่เป็นการกระทำโดยธรรมชาติ “ทำสัญญาต่อพระเจ้า” ตามที่นักบุญโทมัส อาควีนัสเรียกว่า เป็นการอุทิศตนตลอดชีวิตบนหนทางสู่ความศักดิ์สิทธิ์ครบครัน ศีลล้างบาปทำให้คริสตชนเป็นบุตรของพระเจ้าและศีลกำลังทำให้เขาเต็มไปด้วยพระจิต แต่ ณ ตรงนี้เขาได้รับเรียกให้เข้าสู่ความศักดิ์สิทธิ์หรืออีกนัยหนึ่งคือเขาต้องเปิดตัวอย่างเต็มที่เพื่อรับการเคลื่อนไหวของพระจิตเจ้าแห่งความรักภายในตัวเขา จากการหยิบยื่นตนเองที่เป็นการส่วนตัว ที่ใกล้ชิดอันนี้ของคริสตชนนั้นไปเกี่ยวข้องกับความบริสุทธิ์ของกลุ่มคริสตชนทั้งครบซึ่งเป็นองค์เจ้าบ่าวที่นักบุญเปาโลเรียกว่า “ศักดิ์สิทธิ์และปราศจากมลทิน” (อฟ.5:27)
    พระหรรษทานของพระเจ้าดลบันดาลให้เกิดกระแสเรียกพิเศษในบางคนให้ละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อติดตามพระองค์ด้วยการชักนำศิษย์หลายคนให้ตามพวกเขาไปด้วยนั้น เหนือกว่าสิ่งอื่นใดหมดก็คือประชากรของพระเจ้า นี่คือต้นกำเนิดของคณะฤาษีและคณะนักบวชซึ่งเป็นผู้สืบตำแหน่งของฤาษีที่ถือสันโดษในพระศาสนจักรสมัยแรกเริ่ม นอกนั้นยังมีคณะที่ถวายตนเพื่อพิศเพ่งภาวนาซึ่งส่วนใหญ่จะได้แบบมาจากนักบุญเบเนดิก อันได้แก่คณะเบเนดิกติน คณะซิสเตอร์เซียและคาร์ทูเซียน ต่อมาก็มีคณะนักบวชอื่นๆที่รวมการสวดภาวนาเข้ากับงานแพร่ธรรม เช่นคณะดอมินีกัน (ของนักบุญดอมินิก) คณะฟรังซิสกันและคณะ คาปูชินผู้ยากจน(ของนักบุญฟรังซิสและนักบุญกลาราแห่งอัสซีซี) คณะภราดาขาว และคณะคาร์เมไลท์ (ได้รับการปฏิรูปโดยนักบุญยวงแห่งกางเขนและนักบุญเทเรซาแห่งอาวีลา) คณะเมตตาธรรมหรือคณะที่สอนเรียนต่างๆยังเกิดขึ้นในทุกวันนี้
    อธิการของอารามฤาษีก็เรียกว่า Abbot ซึ่งก็หมายความว่า “พ่ออธิการ” เป็นสองต่อ เนื่องจากคำว่า Abba ในภาษาอาเมเนียนหมายความว่า “papa” (“พ่อ”) อธิการสวมแหวนและแขวนกางเขน (ด้วยด้ายสีเขียวหรือสีม่วง) แต่สวมชุดนักบวช ถ้าเป็นพวกเบเนดิกตินจะเป็นสีดำ พวกซิสเตอร์เชียน จะเป็นสีขาว (จึงกลายเป็น “ภราดาดำ” และ “ภราดาขาว”) กฎแห่งการภาวนาและการปฏิเสธตนเองด้วยความยินดีซึ่งนักบวชคณะเหล่านี้ได้เลือก ที่จะดำเนินชีวิตตามความเชื่อของพวกเขาอย่างเต็มที่เตือนใจ คริสตชนที่ได้รับศีลล้างบาปทุกคนว่าพวกเขาก็ต้อง “ไม่รักอะไรไปมากกว่าความรักต่อพระคริสต์” ตามที่พระวินัยของนักบุญเบเนดิกเรียกร้อง (๖)


(๑)    “เพราะฉะนั้นท่านจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขา เดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิตเจ้า” (มธ.28:19)
(๒)    กจ.1:8
(๓)    “เราขอประกาศแก่ท่านว่าท่านคือศิลาและบนศิลานี้เราจะสร้างพระศาสนจักรของเรา” (มธ.16:18) และมธ.17:27 เรื่องเงินบำรุงพระวิหาร
(๔)    พระเยซูตรัสกับเขาว่า “จงเลี้ยงลูกแกะของเรา” (ยน.21:15-17)
(๕)    กฤษฏีกาว่าด้วยพระศาสนจักรของพระสังคายนาวาติกัน 2 ข้อ 44
(๖)    “ผู้ที่รักบิดาหรือมารดามากกว่ารักเราก็ไม่คู่ควรกับเรา และผู้ที่รักบุตรชายหญิงมากกว่ารักเราผู้นั้นไม่คู่ควรกับเรา” (มธ.10:37)