แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

9-8-55 01

1. ที่มาของหลักสูตร
    สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปโรงเรียนคาทอลิกอย่างจริงจัง และสร้างความชัดเจนในอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิก (อ้างอิงแผนอภิบาลฯ ค.ศ. 2010 -2015)

สภาการศึกษาคาทอลิกได้ขานรับความต้องการของผู้นำพระศาสนจักรท้องถิ่นด้วยการเริ่มต้นดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม  ค.ศ. 2010 และต่อเนื่องอย่างเป็นขั้นตอนด้วยความร่วมมือของสังฆมณฑล และคณะนักบวชต่างๆ จนสามารถกำหนดอัตลักษณ์ของการศึกษาคาทอลิกได้ว่าโรงเรียนคาทอลิกเป็นทางเลือกของสังคมไทย โดย
     1. จัดการศึกษาแบบคาทอลิก ที่มุ่งเน้นงานอภิบาล และการอบรม หล่อหลอมนักเรียนสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย สติปัญญา จิตใจและจิตวิญญาณ ด้วยจิตตารมณ์แห่งพระวรสาร เพื่อให้นักเรียนดำเนินชีวิตในหนทางของความเป็นหนึ่งเดียวกัน กับผู้อื่นและสร้างสันติสุขในสังคมไทยและสังคมโลก
     2. เป็นฐานการประกาศข่าวดีแห่งความรักของพระเจ้า ซึ่งนำไปสู่ความรอด
     3. เป็นสนามเผยแผ่ธรรม ด้วยกระบวนการศึกษาที่สร้างนักเรียนให้มีจิตอาสา และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคม

นอจากนี้ยังได้จัดลำดับความสำคัญของคุณลักษณะของนักเรียนโรงเรียนคาทอลิก ดังนี้
     1. รัก เมตตา รับใช้ - รักองค์ความดี รักและเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของตนเองและผู้อื่น เป็นบุคคลเพื่อผู้อื่น เสียสละ มีน้ำใจ  พร้อมแบ่งปันและช่วยเหลือผู้อื่น โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน รู้จักให้อภัยและคืนดี รักและทนุถนอมสิ่งสร้างทั้งหลาย
     2. ซื่อตรง/ซื่อสัตย์ - มีปรีชาญาณในการดำรงตนอยู่ในความจริง รู้จักแสวงหาความจริง แยกแยะดี-ชั่ว จริง-เท็จ และให้คุณค่าสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง กล้าหาญที่จะทำสิ่งที่ถูกต้องและเที่ยงตรง จริงใจ มีสัจจะ โปร่งใส ไม่คดโกงหรือเบียดเบียนผู้อื่น
     3. กตัญญูรู้คุณ - รู้คุณต่อพระเจ้า สิ่งสร้าง และผู้มีพระคุณ และตระหนักในความดีที่ผู้อื่นมอบให้ตน พร้อมตอบแทนคุณในทุกโอกาส นบนอบ เคารพ เชื่อฟัง ให้เกียรติบิดามารดาและผู้มีพระคุณ รู้คุณสถาบันและแผ่นดิน
    4. พอเพียง มีภูมิคุ้มกัน - เฉลียวและฉลาด รอบคอบ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง พอใจในสิ่งที่ตนเป็นและมี ประหยัดอดออม มีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายและมีความสุข รักและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
    5. รักกันฉันพี่น้อง - ดำเนินชีวิตเป็นหนึ่งเดียว ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน บนพื้นฐานของความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน เคารพในความแตกต่างทางความเชื่อศาสนา และวัฒนธรรม
    6. มุ่งความเป็นเลิศ - ใฝ่รู้ใฝ่เรียน รู้รอบ และมุ่งพัฒนาสู่ความเป็นเลิศเต็มตามศักยภาพแห่งตน

    จะเห็นได้ว่า จริยศึกษา เป็น หนึ่งในพันธกิจสำคัญของโรงเรียนคาทอลิก จึงได้มีการรวมพลังผู้บริหารและครูโรงเรียนคาทอลิกเพื่อจัดทำหลักสูตรจริยศึกษาสำหรับโรงเรียนคาทอลิก
โดยนิยามความหมายของหลักสูตรนี้ว่า เป็น หลักสูตรจริยศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก ระดับชาติ อันเป็นแผนแม่บทของการกำหนดโครงการจัดการเรียนการสอนจริยศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนในโรงเรียนคาทอลิกให้มีความรู้  ความสามารถ ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะ สอดคล้องกับอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิก

2. ลักษณะเฉพาะของ หลักสูตร จริยศึกษาสำหรับโรงเรียนคาทอลิก 50 ปี หลังสังคายนา วาติกันที่ 2
    หลักสูตร จริยศึกษาสำหรับโรงเรียนคาทอลิก 50 ปี หลังสังคายนา วาติกันที่ 2 มีลักษณะพิเศษเพิ่มเติมจากความเป็นหลักสูตรจริยศึกษาโดยทั่วไป ดังนี้
    2.1 ความเชื่อ :  พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาตามฉายาลักษณ์ของพระองค์ มนุษย์จึงมีศักยภาพที่จะพัฒนาสู่ความสมบูรณ์ของความดีงามและความจริง แต่มนุษย์ได้ตกอยู่ในความผิดบาป และด้วยรัก พระเจ้าได้ส่งพระบุตรแต่พระองค์เดียวของพระองค์มาไถ่กู้มนุษย์ให้รอดพ้น มนุษย์จึงได้รับโอกาสใหม่ที่จะเรียนรู้ความหมายที่แท้จริงของชีวิต และดำเนินชีวิตใหม่ตามแบบของพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า ผู้เป็นหนทาง ความจริง และชีวิต (ยอห์น 14: 6)
    2.2 เป้าประสงค์ของหลักสูตร:  ทำให้โรงเรียนคาทอลิกเป็นฐานการประกาศข่าวดีแห่งความรักของ
พระเจ้า ซึ่งนำไปสู่ความรอด ด้วยการสร้างเครื่องมือแห่งการจัดการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนตระหนักในคุณค่าของตน ได้สัมผัสกับความรัก และเสรีภาพที่จะเติบโตอย่างอบอุ่น มั่นคง และพัฒนามโนธรรมในบรรยากาศที่สนับสนุนการรู้จักคิด ตัดสินใจ และเลือกที่จะกระทำความดีเพื่อผู้อื่นด้วยความสุขและเต็มใจ
    2.3 จุดหมายปลายทางของหลักสูตร : พัฒนาผู้เรียนให้ได้ถึงในระดับจิตวิญญาณ โดยมิได้มุ่งหวัง
เพียงสร้างพลเมืองดีให้ประเทศชาติเท่านั้น แต่ให้เป็นมนุษย์แท้ที่มีอิสระจากการพะวงแต่ความต้องการของตน แต่สามารถรักผู้อื่นได้ เสียสละเพื่อผู้อื่นได้ รักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง ซึ่งทำให้เป็นพลเมืองดีของชาติและขงประชาคมโลก
    2.4 ผู้ร่วมสร้างหลักสูตร : หลักสูตรจริยศึกษาสำหรับโรงเรียนคาทอลิกนี้วางรากฐานโดยชุมชนที่มี
ความเชื่อเดียวกัน และมีความมุ่งมั่นในการจัดการศึกษาที่ครบสมบูรณ์ของการพัฒนาบุคคลในทุกมิติ ทั้งร่างกาย สติปัญญา จิตใจ และจิตวิญญาณ และจำนวนหนึ่งเป็นพระสงฆ์ – นักบวช ที่มีมรดกของการให้การอบรมจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชนมาแบ่งปัน โดยมิได้มีเจตนาที่จะจัดทำหลักสูตรคริสตศาสตร์  แต่นำคุณค่าแห่งพระวรสารซึ่งเป็นคุณธรรมสากลมาปลูกฝังให้เป็นคุณค่าชีวิตแก่ผู้เรียน