แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

17.    อยู่ในความเงียบ
    หลายคนรู้สึกได้ในบางครั้งว่าในการเดินทางฝ่ายจิตของเขา เขาอยากอยู่เงียบ ๆ มากขึ้น เมื่อเขาพบบ่อน้อย ๆ แห่งความเงียบระหว่างวันที่วุ่นวาย เขาก็พร้อมจะกระโจนลงไปทั้งที่ยังสวมเสื้อผ้า ระหว่างพิธีกรรมช่วงเช้า เมื่อผู้นำสวดให้เวลาอยู่เงียบ ๆ 30 วินาที คนเหล่านี้แทบจะร้องไห้ออกมาด้วยความยินดี ความเงียบเป็นของหายากอย่างยิ่ง และหลายคนในยุคปัจจุบัน มีความกระหายหาความเงียบอย่างลึกล้ำ

    หน้าหนังสือที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้มีทั้งตัวอักษรสีดำและกระดาษสีขาว เพื่อช่วยให้เราสื่อสารกันได้ฉันใด ในการภาวนา เราก็ต้องการทั้ง “พื้นที่สีดำ” ของคำพูด และ “พื้นที่สีขาว” ของความเงียบฉันนั้น ความเงียบทำให้เกิดสภาพแวดล้อมของการภาวนา ซึ่งคำพูดอาจจำเป็นหรือไม่ก็ได้ บางครั้ง เราจำเป็นต้องกั้นหัวใจของเราให้พ้นจากเสียง เพื่อจะได้ยินเสียงกระซิบของพระเจ้าในโลกที่อึกทึก
    ความเงียบดูเหมือนเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับพระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงบังเกิดท่ามกลางความเงียบภายในคอกสัตว์ในเวลากลางคืน การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าเกิดขึ้นท่ามกลางความเงียบ และความมืดของไม้กางเขน การกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้าเกิดขึ้นท่ามกลางความเงียบก่อนรุ่งอรุณ เหตุการณ์ยิ่งใหญ่สามเหตุการณ์เกิดขึ้นท่ามกลางความเงียบ
    ดังนั้น เราจึงไม่ควรแปลกใจที่การสนทนาอันลึกล้ำที่สุดระหว่างเรา และพระเจ้าจะเกิดขึ้นในความเงียบ ถ้าเรารู้สึกว่าอยากลองสัมผัสกับความเงียบ เราต้องหาสถานที่เงียบ ๆ และมีเวลามากพอ เราอาจเริ่มต้นด้วยเวลาห้า หรือสิบนาที และแม้แต่ช่วงเวลาสั้น ๆ นี้ ก็อาจดูเหมือนยาวนานมากครั้งแรก แต่กฎข้อสำคัญคือ “อย่าตื่นตระหนก” คุณควรอยู่กับความเงียบ และในไม่ช้า คุณจะรู้สึกว่าเวลานั้นสั้นมาก คุณอาจยังรู้สึกว่ายากที่จะสำรวมจิตใจ แต่เวลาจะกลายเป็นอ่างน้ำฝ่ายจิตที่ขาดไม่ได้ ที่คุณจะลงไปแช่ และอาบความสดชื่น
    เรายังใช้น้ำเป็นภาพเปรียบเทียบได้มากกว่านั้นอีก เมื่อเรากำลังภาวนาในความเงียบ เราเหมือนกับกำลังดำลงใต้ผิวน้ำในทะเล ที่ซึ่งแม้จะอยู่ที่ความลึกเพียงสองสามฟุต คุณก็หลุดพ้นจากความปั่นป่วนของคลื่น และอยู่ในความนิ่งอันอ่อนโยนได้แล้ว เช่นเดียวกับคลื่นในทะเลที่ปั่นป่วน ชีวิตของเราอาจยังวุ่นวายบนพื้นผิว แต่ภายใต้พื้นผิวนี้เราสามารถเข้าสู่อาณาจักรแห่งความสงบของจิตใจและจิตวิญญาณ ที่ซึ่งความกระวนกระวายของเราได้รับการแก้ไข และพระเจ้าทรงสามารถย่องเข้ามาในชีวิตของเราได้
    ในการภาวนาประเภทนี้ เราไม่ได้กำลังทำอะไรให้สำเร็จ ไม่มีอะไรให้เรา “ฟันฝ่า” เราเพียงเปิดตนเองต้อนรับพระเจ้า และรอคอย
มีสิ่งต่าง ๆ ที่ช่วยเราได้แน่นอน (ดู “ลองทำดู”) แต่เนื้อแท้ของการภาวนาประเภทนี้ คือการรอรับใช้พระเจ้า และคอยฟังเสียงฟ้าคำรณอันเงียบสงัดจากพระเจ้า ผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ หลายครั้งที่เราออกจากการภาวนาโดยไม่มั่นใจเลยว่าได้เกิดอะไรขึ้น ถ้ามีอะไรบางอย่างเกิดขึ้น แต่ก็ไม่เป็นไร มันเหมือนกับการกินอาหารเย็นส่วนใหญ่ในชีวิตของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าข้าพเจ้ากินอะไรเมื่อสัปดาห์ก่อน อย่าว่าแต่เมื่อสิบปีก่อนเลย แต่ถ้าปราศจากอาหารเหล่านี้ และปราศจากการภาวนาในความเงียบ ชีวิตและสุขภาพของข้าพเจ้าต้องมีสภาพแย่กว่านี้แน่นอน

คำถาม
    คุณรู้สึกว่าอยากอยู่เงียบ ๆ กับพระเจ้าหรือไม่ เมื่อคุณพบกับความเงียบ คุณรู้สึกว่าความเงียบนั้นน่ากลัวน้อยลง และกลายเป็นคำเชิญมากขึ้นหรือไม่

ลองทำดู
    ต่อไปนี้เป็นวิธีใช้ความเงียบ ซึ่งแบ่งออกเป็นสามขั้นตอน คือ สำรวมจิต (centering) พินิจ (focusing) และรอ (waiting)
•    สำรวมจิต – จุดเทียนหนึ่งเล่ม และเฝ้าดูเปลวเทียนที่พลิ้วไหว
นั่งนิ่ง ๆ คลายกล้ามเนื้อที่ไหล่ และปล่อยความตึงเครียดให้ไหลออกไปจากที่ใดก็ตามที่มีความเครียดอยู่ในตัวคุณ (สำหรับข้าพเจ้า บ่อยครั้งที่ความเครียดอยู่ที่ดวงตา และไหล่) อย่าเร่งรัดกระบวนการนี้ กาย และจิตของเราสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น และเราจำเป็นต้องทำให้ร่างกายตื่นตัว แต่ผ่อนคลาย เก้าอี้ภาวนาจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี คุณอาจใช้เก้าอี้นวมก็ได้ (เพียงแต่อย่างให้นุ่มมากเกินไป) เราไม่จำเป็นต้องนั่งในท่าที่ยากเพื่อจะรำพึงภาวนา แต่ร่างกายของเราควรอยู่ในท่าที่สบาย จากนั้น ลองวาดจินตนาการว่าคุณกำลังอยู่ในลิฟท์ที่เลื่อนลงข้างล่างช้า ๆ ลงไปยังระดับที่ลึกกว่าในตัวคุณ และสงบนิ่ง
•    พินิจ – จากนั้น ให้ใช้ข้อความสั้น ๆ หรือคำใดคำหนึ่งจากพระคัมภีร์ที่คุณพบว่าช่วยให้คุณมีจุดศูนย์กลางในการรำพึงภาวนาของคุณ เช่น “พระเจ้าทรงเป็นพละกำลัง และบทเพลงของข้าพเจ้า และทรงเป็นความรอดของข้าพเจ้า” “มิใช่ข้าพเจ้าที่มีชีวิต แต่พระคริสตเจ้าทรงมีชีวิตอยู่ในตัวข้าพเจ้า” หรือข้อความที่สั้นกว่านั้น เช่น “เชิญเสด็จมาพระจิตเจ้าข้า” “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” “ในพระหัตถ์ของพระองค์ ...”
•    รอ – จากนั้นให้รอ เมื่อใดที่คุณจำเป็นต้องดึงตนเองกลับไป
เพ่งพินิจพระเจ้า ให้ทวนประโยค หรือคำที่คุณเลือกไว้ซ้ำไปมาช้า ๆ และด้วยความรัก ไม่สำคัญว่าใจคุณล่องลอยไปคิดเรื่องอื่นบ่อยเพียงไร เพียงแต่ต้องกลับมาที่จุดเดิมเท่านั้น และให้ฟังหัวใจของคุณที่มีพระเจ้าประทับอยู่ คุณอาจปิดท้ายเวลารำพึงภาวนาด้วยบทข้าแต่พระบิดา เพื่อประสานตนเองให้เป็นหนึ่งเดียวกับครอบครัวของพระเจ้า


ลองทำดู
    ลองใช้ข้อความจากบทสดุดี 46 “จงนิ่ง และรู้เถิดว่าเราเป็นพระเจ้า” ทวนข้อความนี้ช้า ๆ ด้วยจิตใจสำรวม และสงบนิ่ง จากนั้น ให้ตัดคำสุดท้ายออกไป บัดนี้ ข้อความที่คุณพูดจะกลายเป็น “จงนิ่ง และรู้เถิดว่าเราเป็น” ลิ้มรสชาติของข้อความนี้ ชื่นชมกับความเรียบง่ายของห้วงเวลานี้ อย่าเร่งรีบ จากนั้น ให้ทวนข้อความเดิม แต่ตัดคำสุดท้ายออกไปอีกครั้งหนึ่ง “จงนิ่ง และรู้เถิด” ทำตามขั้นตอนเดิม จากนั้น ให้ตัดคำสุดท้ายออกไปอีก เหลือเพียง “จงนิ่ง”

สิ่งรบกวนสมาธิ
    เมื่อคุณภาวนา เคยหรือไม่ที่ใจของคุณล่องลอยไปคิดถึงผลการ
แข่งฟุตบอล หรือความจำเป็นต้องซื้อยาสีฟันหลอดใหม่ จากนั้น คุณก็ต้องเสียพลังงานไปกับความพยายามผลักความคิดฟุ้งซ่านเหล่านี้ออกไป คนศักดิ์สิทธิ์เขาไม่คิดเรื่องยาสีฟันไม่ใช่หรือ ถ้าคุณมีปัญหาเช่นนี้ ควรทำดังต่อไปนี้
•    อย่าต่อสู้กับความคิดฟุ้งซ่าน เพราะมันจะชนะคุณ แต่ให้จดคำว่า “ยาสีฟัน” ในเศษกระดาษเพื่อจัดการในภายหลัง
•    หันกลับไปหาคำพูด ภาพลักษณ์ เทียน กางเขน หรืออะไรก็ตามที่คุณกำลังใช้รำพึงภาวนา ถ้าคุณกำลังขับรถยนต์ และเริ่มสังเกตเห็นสิ่งที่น่าสนใจที่ข้างถนน คุณย่อมหันกลับมามองถนนตามเดิมในไม่ช้า มิฉะนั้น คุณคงต้องไปนอนสังเกตสิ่งที่น่าสนใจในโรงพยาบาล คุณเพียงต้องหันไปสนใจกับสิ่งที่สำคัญในเวลานั้น
•    บางครั้ง คุณอาจรู้ตัวว่าบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญกำลังถูกดึงขึ้นมาจากจิตใต้สำนึกของคุณในเวลาเงียบ ๆ นี้ การภาวนากำลังทำให้สิ่งเหล่านี้เผยตัวออกมา และนี่คือสิ่งที่เราควรใส่ใจ และภาวนาให้ ดังนั้น อย่าเพิกเฉย นี่คือการทำงานในระดับลึกของพระเจ้าเพื่อเยียวยารักษา และทำให้เราเจริญเติบโต