แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

บทที่ 2 : โลภ (AVARICE OR GREEDY)
    “ความละโมบโลภมากอยากได้” หรือ “ความตระหนี่ งก” นั้นเป็นความรักต่อสิ่งของทางโลกมากมายเลยเถิดเกินไป    พยศชั่ว “โลภ” นี้เป็นความปรารถนาที่จะสะสมและเป็นเจ้าของครอบครองวัตถุสิ่งของต่างๆ พยศชั่วนี้จะจูงใจเราให้ใช้ทุกวิถีทางไม่ว่าจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ก็ตามเพื่อให้ได้ครอบครองสิ่งของต่างๆ เหล่านั้น    จริงๆ แล้วพยศชั่วนี้เป็นสัญญาณถึงการไม่ไว้วางใจในพระเจ้าและพระญาณเอื้ออาทรของพระองค์

    ถ้าเราโลภโมโทสัน เราก็ไม่รักพระเจ้า เพื่อนบ้านของเราหรือตัวเราเอง        แต่เราจะรักทรัพย์สินเงินทองและการอยากเป็นเจ้าของ (possessions)    เรามิได้รักและรับใช้พระเจ้าเพราะว่าไม่มีใครเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายได้; พระเจ้าและทรัพย์สมบัติ        เราทราบเรื่องนี้ได้จากพระดำรัสของพระเยซูเจ้าในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิวบทที่ 6 ข้อ 24   เราไม่อาจที่จะรักเพื่อนบ้านของเราได้ถ้าเราเคยปฏิบัติต่อเขาอย่างไม่เป็นธรรมมาแล้วหรือกำลังทำอยู่ก็ตาม  ในการที่จะหาทางให้ตัวเองได้ผลประโยชน์    เรามิได้รักตัวของเราเองเลยแม้แต่จิตวิญญาณของเราเองก็ตาม    ด้วยว่าเรามิได้ใช้ “ความเป็นเจ้าของ” ของเราในการเพิ่มทรัพย์สมบัติด้านจิตวิญญาณเลย   แต่เรากลับขายจิตวิญญาณของเราให้กับปีศาจ    ถ้าเรามิได้รักพระเจ้า เพื่อนบ้านของเรา หรือ ตัวเราเอง เราไม่มีจิตกุศลเลย    หากปราศจากจิตกุศลแล้ว เราจะทำให้ข้อผูกพันของเราต่อพระเจ้าสำเร็จสมบูรณ์ได้อย่างไร?    เราได้ปฏิเสธและตัดขาดจากพระองค์    พระคัมภีร์เตือนเราว่า “ความรักเงินตราเป็นรากเหง้าของความชั่วร้ายทุกประการ” (1 ทธ 6 : 10)
    ความรักที่มากเกินไป หรือ ความละโมบโลภมาก    ที่อาจมิใช่เพียงแต่เงินทองแต่โลภมากต่อสิ่งต่างๆ ก็เป็นเช่นเดียวกัน เช่น หนังสือ รูปภาพ เครื่องลายคราม เพชรนิลจินดา รถยนต์ บ้าน ฯลฯ    ไม่ว่าเราจะร่ำรวยหรือยากจนเราก็อาจมีพยศชั่วโลภ ละโมบโลภมากได้    และในกรณีของสิ่งอื่นๆ นั้น พยศชั่วนี้ก็เพิ่มมากขึ้นเมื่อเราพอใจสิ่งของนั้นมากขึ้นๆ
    เราอาจพบพยศชั่วความโลภในตัวเราได้ในความใจแข็งของเราต่อคนยากจน หรือต่อญาติสนิทมิตรสหายของเรา หรือในความไม่เต็มใจของเราในการช่วยเหลือสนับสนุนพระศาสนจักร    เราอาจมีพยศชั่วความโลภด้วยความขี้เหนียวในการใช้ทรัพย์สินของเราเอง หรือ ในการที่เรามัธยัสถ์เกินไปในสิ่งที่เราควรจะใช้ให้เกิดประโยชน์        เราอาจพบพยศชั่วนี้ได้ในการเฉยเมยไม่แยแสกับกิจการสาธารณะกุศล หรือในการที่สนใจแต่เพียงสิ่งที่อาจเกิดประโยชน์แก่ตนเองเท่านั้น     หรือในการสะสมเงินทองหรือเก็บสะสมสิ่งใดที่เรายึดติดไว้มากๆ  หรือการไม่ค่อยยอมจ่ายชำระหนี้สินของเราที่มี  หรือการเกรงกลัวที่จะเสียหายขาดทุนเล็กน้อยๆ จนกระทั่งปฏิเสธการให้หรือการให้ยืม
    ความมุ่งร้ายของคนขี้เหนียวที่แท้จริงนั้นคือปีศาจที่ชัดเจนและน่าขยะแขยง    ผู้ที่มีพยศชั่วนี้จะไม่ยอมเสียโอกาสในการเพิ่มทรัพย์สินของเขาเลย    เขาจะพยายามหาและทำทุกวิถึทางในการที่จะเพิ่มความมั่งคั่งของเขาโดยไม่สนใจว่าการกระทำนั้นจะมีความถูกต้องหรือไม่ก็ตาม    เขามีชีวิตอยู่อย่างขัดสนและยากไร้    เขาคร่ำครวญในความโชคร้ายหรือการขาดทุนของเขา    เขามีเพียงความคิดเดียวคือเงินทองของเขาเท่านั้น    และบ่อยครั้งที่เขาเสียชีวิตในความสกปรกและยากจนถึงแม้ว่าเขาจะได้รับโอกาสที่ดีเข้ามาบ้างก็ตาม
    บางครั้งเราจะไม่สามารถจัดกลุ่มเราเป็นคนขี้เหนียวได้ แต่แม้เรามีพยศชั่วนี้เพียงน้อยนิดในชีวิตฝ่ายจิตของเรา    พยศชั่วนี้ก็จะทำให้เราตามืดบอดต่อคุณค่าเรื่องราวฝ่ายจิตใดๆ ไป    เราจะไม่มีทั้งเวลาหรือความคิดที่จะแสวงหาพระเจ้าเลยในเมื่อเรามัวแต่มองหาสิ่งของฝ่ายโลกที่ไม่จีรังยั่งยืน    พระเยซูเจ้าทรงตรัสเตือนเราในนิทานอุปมาเรื่องหนึ่งว่า ถ้าเราไม่ระมัดระวังตัวแล้ว ความสนใจและเสน่ห์ของทรัพย์สินเงินทองฝ่ายโลกจะท่วมท้นจิตวิญญาณเมล็ดพันธุ์ของความเชื่อและศรัทธาในศาสนาของเรา        การที่เรายึดติดในความอยากเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ นั้นอาจส่งผลเพียงแค่บาปเบาเท่านั้น    แต่ความโลภที่แท้จริงนั้นถูกจัดกลุ่มโดยนักบุญเปาโลว่าเป็นบาปหนักหนาที่สุดในงานเขียนของท่านถึงบรรดาผู้คนที่ “จมอยู่ในความอธรรมทุกชนิด ควาเลวทราม ความโลภและความชั่ว มีแต่ความอิจฉาริษยา การฆาตกรรม การทะเลาะวิวาท การทรยศและการอาฆาต การใส่ร้าย การนินทา การเป็นศัตรูกับพระเจ้า การเป็นคนหยาบคาย ความหยิ่งยโสและโอหัง การทำความชั่วอยู่เสมอ การไม่เชื่อฟังบิดามารดา ความไม่มีสติ ไม่มีเกียรติ ไม่มีความรัก ไม่มีความสงสาร” (รม 1 : 29-31)
    ความปรารถนาต้องการที่จะเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ นั้นหยั่งรากลึกในธรรมชาติของมนุษย์เรา    มันเป็นความอยากที่ทั้งยากจะควบคุมและยากในการระงับความอยากนั้น    ภายใต้แรงกระตุ้นของมันนั้น เราพบข้ออ้างแก้ตัวต่างๆ นานาในการที่จะเข้าครอบครองเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ    ครอบครัวของเราต้องจัดหาสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้เราสิ    หรือเราต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้เพื่อเก็บไว้ใช้ยามแก่ชรา    หรือเพื่อสุขภาพของเรา หรือเพื่อความปลอดภัยของเรา หรือเพื่อชื่อเสียงเกียรติยศของเรา    เราต้องมีทรัพย์สมบัติเก็บไว้บ้างสิ!    เราอาจถูกชักนำโดยความโลภในการพยายามใช้วิธีการต่างๆ มากมาย ทั้งที่ถูกกฎหมายและที่ไม่ถูกกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้เราได้ครอบครองและประกันคุ้มครองการเป็นเจ้าของเงินทอง ทรัพย์สิน ตำแหน่งหน้าที่การงานที่เราต้องการ    เราอาจต้องพูดปดโกหก, คดโกง, ลักขโมย, ให้สินบน, ให้การเท็จ หรือกระทั่งทรยศหักหลังเพื่อนก็ตาม     เราอาจทำการขู่กรรโชก, ใช้ความรุนแรงบังคับ และฆาตกรรม    หรือใช้ความโหดร้ายและใจดำต่อคนยากจนเพราะว่าเราตั้งใจเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เราต้องการให้มากขึ้นๆ หรือ อย่างน้อยก็สงวนเก็บรักษาสิ่งที่เรามีไว้ให้มากที่สุดนั่นเอง
    นักบุญโทมัส  อไควนัสได้ชี้ให้เห็นว่า บุคคลหนึ่งๆ ไม่สามารถครอบครองสิ่งของฝ่ายโลกอย่างมั่งคั่งได้โดยไม่ทำให้ผู้อื่นขาดแคลนสิ่งที่จำเป็นได้ เราได้เห็นข้อพิสูจน์นี้ได้ทุกหนทุกแห่ง    เมื่อหลายๆ คนมั่งคั่งด้วยทรัพย์สินฝ่ายโลก ก็จะเกิดความอยุติธรรมกับผู้อื่นเกิดขึ้น    ความโลภนั้นก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากและการต่อต้าน    มันจะก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างคนรวยและคนจน

การปรับปรุงแก้ไขสำหรับความโลภ
    เราต่อสู้กับพยศชั่วความโลภด้วยความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อโอบอ้อมอารี ความมีน้ำใจ ความเมตตา “ผู้มีใจเมตตาย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา” (มธ 5 : 7)    ความมีน้ำใจนั้นบ่งบอกถึงหัวใจที่มีสุขภาพดี    เป็นการเปิดประตูสู่ความรักที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า  สู่ความมีสันติในจิตใจ  สู่การคิดถึงผู้อื่นรอบข้าง พระคัมภีร์บอกเราว่า “การให้ย่อมเป็นสุขกว่าการรับ” (กจ 20 : 35)
    แม้ว่าเราจะไม่ร่ำรวย, เราก็สามารถละทิ้งจิตใจของเราออกจากสิ่งของฝ่ายโลกและใช้จ่ายเงินทองให้น้อยลงเพื่อตัวเองเพื่อที่เราจะสามารถที่จะให้บางสิ่งบางอย่างแก่คนยากจน หรือให้แก่งานเผยแผ่ศาสนา หรือให้แก่งานการกุศลอื่นใดได้    เราจำต้องปฏิบัติกิจการงานกุศลและการบริจาคสิ่งของทางโลกในการที่จะไม่เป็นคนยึดติดกับสิ่งของฝ่ายโลกมากเกินไป    เราต้องอย่าให้ความกังวลในชีวิตที่มั่งคั่งร่ำรวย  ในชีวิตที่ทะนงตนด้วยเกียรติยศชื่อเสียง และในชีวิตที่เอาแต่สนุกสนานไปวันๆเหล่านี้มากีดกัน หรือ กวนใจเราจากการแสวงหาความมั่งคั่งในชีวิตที่แท้จริงที่จะเข้ามาในชีวิตของเราให้ได้
    โดยสรุปแล้วมันอาจเป็นการดีที่จะเพิ่มเติมว่า    ความละโมบโลภมากนั้นอาจเป็นสิ่งที่มาคู่กับการฝึกฝนความศรัทธาของเราเมื่อเราแสวงหาความปีติยินดีด้านจิตใจใน พวกมันเพื่อตัวของเราเอง    เราอาจจะฝึกฝนความศรัทธาด้วยความต้องการที่จะแสดงออกถึงความรักที่เรามีต่อพระเจ้าและความต้องการที่จะเติมเต็มพระประสงค์ของพระองค์ให้สำเร็จสมบูรณ์ซึ่งในการนี้เราก็รับรู้ได้จากหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (Catechism of The Catholic Church) บทที่ 1 “มนุษย์สามารถที่จะรับพระเจ้า” ที่เป็นวัตถุประสงค์ของการดำเนินชีวิตของเราบนโลกนี้