แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

สมณโองการปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม
วันเสาร์ที่ 11 เมษายน ค.ศ. 2015 ก่อนวันอาทิตย์ฉลองพระเมตตา โป๊ปฟรังซิสได้ประกาศโองการ Misericordiae Vultus (พระพักตร์แห่งเมตตาธรรม) เกี่ยวกับ ปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรม 25 ข้อ สรุปดังนี้
1. พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นพระพักตร์แห่งเมตตาธรรมของพระบิดา วลีนี้สรุปพระธรรมล้ำลึกของความเชื่อคริสตชน ความเมตตา กลายเป็นชีวิตและแลเห็นได้ในพระเยซูเจ้าแห่งนาซาเร็ธ ถึงจุดสูงสุดในพระองค์
2. เราจำเป็นต้องไตร่ตรองบ่อยๆ ถึงธรรมล้ำลึกแห่งเมตตาธรรม เพื่อเราจะได้เป็นเครื่องหมายแห่งเมตตาธรรมในชีวิตของเรา เป็นพยานแห่งความยินดี ความสงบและสันติ ความรอดพ้นของเราขึ้นกับธรรมล้ำลึกแห่งความเมตตา

3. ปีศักดิ์สิทธิ์จะเริ่มในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2015 สมโภชแม่พระปฏิสนธินิรมล โป๊ปฟรังซิสจะทรงเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์
อาทิตย์ที่ 3 เตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า (13 ธันวาคม) พระองค์จะทำพิธีเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ที่มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน อาสนวิหารของกรุงโรม และอาทิตย์เดียวกันนี้ โป๊ปจะประกาศว่าให้ทุกสังฆมณฑล ที่อาสนวิหารหรือวัดที่มีความหมายพิเศษ จะมีพิธีเปิดประตูแห่งเมตตาธรรม ตลอดระยะเวลาฉลองปีศักดิ์สิทธิ์ ด้วยความเห็นชอบของพระสังฆราชท้องถิ่น ประตูเหมือนกันอาจถูกเปิดที่สักการะสถานใดๆ ให้มีกลุ่มจาริกแสวงบุญ ค้นพบการกลับใจ ดังนั้นทุกสังฆมณฑลดำเนินการปีศักดิ์สิทธิ์นี้ ให้เป็นโอกาสพิเศษแห่งพระหรรษทาน และการฟื้นฟูจิตวิญญาณ การฉลองนี้จึงกระทำทั้งที่กรุงโรมและในพระศาสนจักรท้องถิ่นต่างๆ เป็นเครื่องหมายเห็นชัดถึงความสัมพันธ์สากลของพระศาสนจักร
4. พ่อเลือกวันที่ 8 ธันวาคม เพราะมีความหมาย ครบ 50 ปี ปิดสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 เพื่อให้เจตนาของสภามีชีวิตชีวาในพระศาสนจักร เพื่อประกาศพระวรสารใหม่
5. เราจะปิดปีศักดิ์สิทธิ์วันสมโภชพระคริสต์กษัตริย์ วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 เป็นเครื่องหมายว่าพระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ท่ามกลางเราแล้ว
6. พระเมตตาของพระเจ้ามิได้เป็นเพียงความคิดลอยๆ แต่เป็นจริงได้ซึ่งพระองค์ทรงเปิดเผยความรักมั่นคงของพระองค์ เหมือนพ่อแม่ที่รักลูก เปี่ยมด้วยความอ่อนโยนและเมตตาธรรม
7. “ความรักมั่นคงของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิตย์” มีกล่าวซ้ำทุกวรรคในเพลงสดุดีที่ 136 บรรยายประวัติศาสตร์การเปิดเผย (ความจริง) ของพระเจ้า ก่อนพระมหาทรมาน พระเยซูเจ้าได้อธิษฐานเพลงสดุดี และตั้งศีลมหาสนิท (มธ 26:30) คริสตชนทุกคนสามารถภาวนาสรรเสริญได้ทุกวันว่า “เพราะความรักมั่นคงของพระองค์ดำรงอยู่เป็นนิตย์”
8. พันธกิจที่พระเยซูเจ้าได้รับจากพระบิดา คือ เผยแสดงว่า “พระเจ้าทรงเป็นความรัก” (1 ยน 4:8, 16) ทรงทำงานเป็นพิเศษเพื่อคนบาป คนจน คนชายขอบ ผู้ป่วยและทนทุกข์ เพื่อสอนเมตตาธรรม
พระเยซูเจ้าทรงเรียกนักบุญมัทธิวให้เป็นอัครสาวก ด้วยสายตาแห่งความเมตตา พ่อเองได้เลือกเป็นคติพจน์ “Miserando atque eligendo” (แม้น่าสงสารแต่พระองค์ทรงเลือก)
9. ในอุปมาเรื่องพระเมตตา พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยธรรมชาติของพระเจ้า ดังบิดาผู้ให้อภัยด้วยความเมตตา เป็นพิเศษ 3 เรื่อง คือ แกะที่พลัดหลง เงินเหรียญที่หายไป และลูกล้างผลาญและลูกที่คิดว่าตนทำดีแล้ว (ลก 15:1-32) พระเจ้าทรงอภัยด้วยความยินดี ความเมตตาเป็นพลังชนะทุกสิ่ง ทำให้หัวใจเต็มไปด้วยความรัก และนำความบรรเทาใจ โดยอาศัยการให้อภัย
10. เมตตาธรรมเป็นรากฐานของชีวิตพระศาสนจักร กิจการด้านอภิบาลควรช่วยให้สัตบุรุษสัมผัสความอ่อนหวาน ทั้งการเทศน์สอน และประจักษ์พยานชีวิต มีความยุติธรรม แต่ต้องมีเมตตาธรรมด้วย... เพื่อช่วยผู้อ่อนแอให้มีชีวิตใหม่ สู่อนาคตด้วยความหวัง
11. นักบุญพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้เขียนสมณสาส์น “พระเมตตาของพระเป็นเจ้า” มี 2 ตอนที่น่าสนใจ
“มากกว่ามนุษย์ในอดีต ความคิดของมนุษย์ในปัจจุบันดูเหมือนจะต่อต้านพระเป็นเจ้าแห่งความเมตตา อันที่จริง ดูเหมือนว่าเขาจะขจัดความคิดเรื่องความเมตตาให้พ้นไปจากชีวิต” (ข้อ 2)
“พระศาสนจักรดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง เมื่อได้สำแดงออกและป่าวประกาศพระเมตตา อันเป็นคุณลักษณะน่าพิศวงขององค์พระผู้สร้าง และขององค์พระผู้ไถ่” (ข้อ 13)
12. พระศาสนจักรได้รับมอบหมายให้ประกาศพระเมตตาของพระเจ้า ความจริงของพระศาสนจักร คือ ความรักของพระคริสตเจ้า เราเป็นผู้รับใช้ความรัก เราต้องทำให้วัด ชุมชน สมาคม และองค์กร ให้คริสตชนและทุกคนพบโอเอซิสแห่งเมตตาธรรม
13. เราต้องดำเนินชีวิตในปีศักดิ์สิทธิ์ โดยไตร่ตรองพระวาจา “จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด” (ลก 6:36) เราต้องมีเวลาเงียบเพื่อไตร่ตรองพระวาจา
14. จาริกแสวงบุญ เราทุกคนต้องเดินทางในชีวิต เราเป็นผู้เดินทางไปตามถนนแบบมีจุดมุ่งหมายที่ปรารถนาของแต่ละคนตามความสามารถ ให้แสวงบุญด้วยการอุทิศตนและเสียสละ เพื่อไปสู่ประตูศักดิ์สิทธิ์
ขั้นตอนการจาริกให้บรรลุจุดหมาย “อย่าตัดสินเขา แล้วพระเจ้าจะไม่ทรงตัดสินท่าน” (ลก 6:37-38) เมตตากรุณาดังพระบิดา เป็นคติพจน์ของปีศักดิ์สิทธิ์
15. ในระหว่างปีศักดิ์สิทธิ์นี้ พ่อปรารถนาให้คริสตชนพิจารณาเรื่องกิจเมตตาฝ่ายกาย และฝ่ายวิญญาณ
กิจเมตตาฝ่ายกาย คือ ให้อาหารแก่ผู้หิวโหย ให้น้ำแก่ผู้กระหาย ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ไม่มีนุ่งห่ม ให้ที่พักแก่ผู้ไร้ที่อยู่ เยี่ยมผู้ป่วย เยี่ยมคนติดคุก และฝังศพผู้ล่วงลับ
กิจเมตตาฝ่ายจิต คือ ให้คำแนะนำแก่ผู้สงสัย สอนคนที่ไม่รู้ ตักเตือนคนบาป บรรเทาใจผู้ทุกข์ยาก ให้อภัยแก่ผู้กระทำผิด อดทนความผิดต่อผู้ทำไม่ดีกับเรา ภาวนาสำหรับผู้เป็นและผู้ตาย
16. พระเยซูเจ้าทรงอ่าน อสย 61:1-2 ดังที่นักบุญลูกากล่าวถึงพระเยซูเจ้าที่เมืองนาซาเร็ธ “ประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า” (ลก 4:18-19) ให้เราไปเป็นพยาน “แสดงความเมตตากรุณาด้วยใจยินดี” (รม 12:8)
17. เทศกาลมหาพรต เป็นช่วงเวลาฉลองและมีประสบการณ์พระเมตตาของพระเจ้า รำพึงพระวาจาที่เหมาะสมกับเรื่องนี้ เช่น มีคาห์ 7:18-19 ; อสย 58:6-11 เกี่ยวกับการภาวนา จำศีลอดอาหาร และกิจเมตตา
ริเริ่ม 24 ชั่วโมงเพื่อพระเจ้า ในวันศุกร์และเสาร์ก่อนสัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต ในทุกสังฆมณฑล เพื่อให้เยาวชนมารับศีลอภัยบาป
ขอพระสงฆ์ผู้โปรดศีลอภัยบาปเป็นเครื่องหมายแท้ของพระเมตตาเสมอ ทุกหนแห่ง และในทุกสถานการณ์
18. ระหว่างมหาพรตปีศักดิ์สิทธิ์ พ่อตั้งใจส่งธรรมทูตแห่งเมตตาธรรม มีพระสงฆ์ที่พ่อจะอนุญาตให้อภัยบาปที่สงวนไว้ต่อสันตะสำนัก มีธรรมทูตแห่งเมตตาธรรมเป็นผู้ประสานงาน รับผิดชอบ
ขอพี่น้องพระสังฆราชเชื้อเชิญและต้อนรับบรรดาธรรมทูตเหล่านี้ ให้เป็นผู้เทศน์เรื่องพระเมตตา ขอให้พระสังฆราชจัดพิธีศีลอภัยบาปให้สัตบุรุษกลับบ้านของพระบิดา ขอให้บรรดาผู้อภิบาลช่วยสัตบุรุษให้รับพระเมตตาและพบพระหรรษทาน (ฮบ 4:16)
19. ขอให้สารพระเมตตาไปถึงทุกคน อย่าเย็นเฉยต่อการเรียกนี้ พ่อคิดถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม อย่าเห็นแก่เงิน
ผู้ที่เกี่ยวข้องการทุจริตคอร์รัปชั่น เราต้องรอบคอบ ระมัดระวัง โปร่งใส ร่วมมือด้วยความกล้าหาญ ปฏิเสธการทำผิดทุกชนิด
20. ความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมและเมตตาธรรม เป็นสิ่งไม่ขัดแย้งกัน ความยุติธรรมเป็นความคิดพื้นฐานของสังคมบ้านเมือง พระเยซูเจ้าตรัสหลายครั้งว่า “เราปรารถนาความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา” (มธ 9:13) ทรงรับประทานอาหารร่วมกับคนบาป ทรงเรียกนักบุญเปาโลให้กลับใจ ทำให้เข้าใจความรอดมิใช่ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ แต่เชื่อในพระเยซูเจ้า ผู้ทรงพระเมตตา ทำให้เราบรรลุความรอด
21. เมตตาธรรมไม่ขัดแย้งกับความยุติธรรม แต่เป็นการแสดงวิถีทางของพระเจ้าช่วยคนบาป เปิดโอกาสให้เขากลับใจ ประสบการณ์ของประกาศกโฮเชยาช่วยเราให้เห็นวิถีแห่งความเมตตาอยู่เหนือความยุติธรรม (ฮชย 11:5-9)
22. การรับพระคุณการุณ แม้เราได้รับการอภัยบาป แต่ผลขัดแย้งของบาปยังมีอยู่ พระเจ้าทรงอภัยบาปโดยศีลอภัยบาป แต่ยังมีผล พระศาสนจักรประทานพระคุณการุณเพื่อยกโทษบาป เพื่อให้เราเติบโตในความรักมากกว่ากลับไปทำบาปอีก
23. ศาสนายิวและศาสนาอิสลาม พ่อขอให้ปีนี้ส่งเสริมการพบปะกันระหว่างศาสนา เสวนาเพื่อเข้าใจกันและกันยิ่งขึ้น
24. พระมารดาแห่งความเมตตา โปรดช่วยเราในปีศักดิ์สิทธิ์นี้ให้พบความปีติยินดีของพระเจ้า ขอนักบุญโฟสตีน่า โควาลสก้า ธรรมทูตแห่งพระเมตตาช่วยวิงวอนเพื่อเรา
25. พ่อขอให้ปีศักดิ์สิทธิ์ช่วยเราในการเจริญชีวิตมีเมตตากรุณา ดังที่พระบิดาเมตตากรุณาเราทุกคน ให้พระศาสนจักรเป็นพยานชีวิตและประกาศพระเมตตา
“โปรดทรงระลึกถึงพระกรุณา และความรักมั่นคงที่ทรงมีตลอดมา” (สดด 25:6)

พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ แปลสรุป
11 มิถุนายน ค.ศ. 2015