แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การสร้างโบสถ์ใหม่ และบูรณะปรับปรุงโบสถ์ที่มีอยู่แล้ว
    ตั้งแต่สมัยเริ่มแรกของคริสต์ศาสนาแล้ว ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของความเชื่อแบบคริสตชน ก็คือการประกอบคารวกิจจึงสะท้อนทั้งสภาพการณ์ปัจจุบันของบรรดาคริสตชนในช่วงเวลานั้นของประวัติศาสตร์ในดินแดนแถบนั้นและความหมายที่เขาให้แก่สถานที่นั้นด้วย เป็นความจริงว่าความเชื่อและการภาวนามีอิทธิพลต่อกันอยู่ตลอดเวลา ประชาชนอธิษฐานภาวนาตามความเชื่อที่เขามี และคำอธิษฐานภาวนาก็ชำระและทำให้ความเชื่อของเขาชัดเจนยิ่งขึ้น ให้เรายกตัวอย่างสักตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องการสร้างโบสถ์ของคริสต์ศาสนา

โดยทั่วไปแล้วโบสถ์วิหารทางศาสนาจำนวนมากมักมีขนาดเล็ก ผู้คนส่วนใหญ่มักคิดว่าโบสถ์วิหารเป็นบ้านของเทพเจ้าที่เขาเคารพบูชา โดยทั่วไปโบสถ์วิหารมักจะบรรจุฝูงชนที่มาอธิษฐานภาวนาจำนวนมากไม่ได้ ประชาชนมักจะยืนอยู่ในลานกว้างเบื้องหน้าวิหารที่เขาถวายบูชาและอธิษฐานภาวนา พระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มก็สร้างขึ้นในแบบนี้ บ้านที่ประทับจริงของพระยาห์เวห์นั้นเป็นห้องเล็กมาก บรรดาสมณะประชาชนก็มีลานกว้างของตน บรรดาคริสตชนเชื่อว่า พระเจ้ามิได้ประทับอยู่ในวิหารที่สร้างด้วยก้อนหิน พระเจ้าประทับอยู่ในพระเยซูเจ้าและทุกแห่งที่ชุมชนเล็กๆของบรรดาคริสตชนมาชุมนุมกัน พระเยซูเจ้าก็ประทับอยู่ในหมู่เขา และพระเจ้าก็ประทับอยู่ที่นั่นด้วย บรรดาคริสตชนมีความสำนึกว่าตนเป็นเสมือนก้อนหินมีชีวิตที่ก่อสร้างขึ้นเป็นพระวิหารทรงชีวิตของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต ไม่ว่าเขาจะมาชุมนุมกันที่ใด ในบ้านของพี่น้องคริสตชนคนหนึ่ง ในสถานที่ที่ใหญ่กว่านั้นที่อาจบรรจุผู้คนได้จำนวนมากกว่า หรือในท้องพระโรงแบบโรมัน (Roman Basilica) ที่อาจบรรจุฝูงชนจำนวนมากได้ ความเชื่อของคริสตชนก็ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง สถานที่ที่เขามาชุมนุมกันเพื่อถวายคารวะแด่พระเจ้าก็เป็นบ้านของประชากรของพระเจ้า สถานที่นี้อาจเรียกว่าเป็นบ้านของพระเจ้าก็เพราะว่าพระเจ้าประทับอยู่ในหมู่ประชากรของพระองค์ที่มาชุมนุมกันที่นี่และเวลานี้ในสถานที่นี้ ดังนั้น จึงเป็นการถูกต้องที่ตั้งแต่แรกเริ่ม “โบสถ์” (‘church’) จึงเป็นชื่อที่ใช้เรียกทั้งชุมชนคริสตชนที่มาชุมนุมกันและเรียกอาคารที่ชุมชนคริสตชนมาชุมนุมกันเพื่อฟังพระวาจาของพระเจ้า, อธิษฐานภาวนาร่วมกัน, รับศีลศักดิ์สิทธิ์ และเฉลิมฉลองพิธีบูชาขอบพระคุณ
    หนังสือกิจการของอัครสาวกกล่าวถึงสถานที่แรกที่คริสตชนกลุ่มแรก ซึ่งในขณะนั้นส่วนใหญ่ประกอบด้วยชาวยิวที่กลับใจ มาชุมนุมกันว่า “ทุกๆวัน เขาพร้อมใจกันไปที่พระวิหารและไปตามบ้านเพื่อทำพิธีบิขนมปัง ร่วมกินอาหารด้วยความยินดี” (กจ 2: 46)
    หนังสือกิจการฯยังบอกด้วยว่า เมื่อเปโตรได้รับการปลดปล่อยอย่างอัศจรรย์จากคุกที่กรุงเยรูซาเล็มแล้วว่า “เปโตรเข้าไปยังบ้านของมารีย์มารดาของยอห์น ที่รู้จักในนามว่ามาระโก ที่นั่นหลายคนมาชุมนุมอธิษฐานภาวนา” (กจ 12:12)
    ในจดหมายของเปาโล การที่คริสตชนมาชุมนุมกันตามบ้านเพื่อประกอบพิธีกรรมเป็นปรากฏการณ์ที่       เกิดขึ้นทั่วไป ในเวลานั้น คำว่า ‘church’ (หรือในภาษากรีกว่า “ekklesia”) หมายถึงการที่บรรดาคริสตชนมาชุมนุมกันมากกว่าหมายถึงตัวอาคารที่เขามาชุมนุมกัน หลายครั้งถ้าสถานการณ์ทางการเมืองอนุญาต บ้านขนาดใหญ่เหล่านี้บางแห่งก็ได้รับการซ่อมแซมขึ้นใหม่ทั้งหมดและเปลี่ยนเป็นสถานที่สำหรับประกอบคารวกิจโดยเฉพาะ จุดเปลี่ยนจริงๆในการสร้างโบสถ์ของคริสตชนเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 4 ในรัชสมัยของพระจักรพรรดิคอนสแตนติน พระจักรพรรดิคริสตชนพระองค์แรกที่ประทานเสรีภาพการนับถือศาสนาแก่คริสตชน และทรงส่งเสริมการก่อสร้างโบสถ์คริสต์ขนานใหญ่ทั้งทางตะวันตกและตะวันออกของจักรวรรดิ มหาวิหารในคริสต์ศาสนา (Christian Basilica) ซึ่งสร้างขึ้นตามแบบของท้องพระโรงโรมันสมัยโบราณได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของคริสต์ศาสนาที่มีชัยชนะและทรงอำนาจ ทั้งยังมีบทบาทและที่อยู่ชัดเจนในสังคม ศตวรรษต่อๆมาจึงได้เห็นการก่อสร้างโบสถ์ในรูปแบบต่างๆอย่างต่อเนื่อง  เช่น โบสถ์ประจำอารามนักพรต โบสถ์สไตล์โรมาเนสก์และโกธิค ฯลฯ และแต่ละรูปแบบก็สะท้อนสภาพความเป็นอยู่ของบรรดาคริสตชนในสมัยนั้น สไตล์การก่อสร้างแบบยุโรปเหล่านี้ถูกส่งออกไปยังดินแดนมิสซังในแอฟริกา เอเชีย ฯลฯ ช่วยทำให้คริสต์ศาสนามีหน้าตาเป็นยุโรปในดินแดนเหล่านี้ด้วย ปรากฏการณ์เดียวกันก็เกิดขึ้นในพระศาสนจักรจารีตตะวันออกด้วย เช่นเดียวกัน ไม่ว่าบรรดามิชชันนารีจากจารีตตะวันออกไปถึงที่ใด เขาก็สร้างโบสถ์ตามรูปแบบของจารีตตะวันออกด้วย ประเทศจีนเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศที่เราพบโบสถ์คริสต์ที่สร้างขึ้นได้ทั้งตามรูปแบบของ (จารีต) ตะวันออกและตะวันตก
    หลังจากได้รู้จักภูมิหลังด้านประวัติศาสตร์อย่างย่อๆมาแล้ว ให้เราอ่านข้อ 123 ของธรรมนูญ SC อีกครั้งหนึ่ง ข้อนี้แสดงจิตตารมณ์ของวาติกันที่ 2 ให้เห็นอย่างชัดเจน เพื่อจะได้เปิดหน้าต่างให้ลมสดชื่นพัดเข้ามาในพระศาสนจักรได้
    “พระศาสนจักรไม่เคยมีรูปแบบศิลปะใดเป็นของตนโดยเฉพาะ แต่ยอมรับรูปแบบศิลปะของแต่ละยุคสมัยมาใช้ตามลักษณะเฉพาะ และสภาพแวดล้อมของชนชาติต่างๆ และตามความต้องการของจารีตพิธี ดังนี้ จึงได้สร้างขุมทรัพย์ด้านศิลปะขึ้นมากมายในระยะเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องเอาใจใส่รักษาไว้อย่างดีที่สุด ศิลปะในยุคสมัยของเราและของชนทุกชาติทุกถิ่นก็ควรมีอิสระที่จะแสดงผลงานในพระศาสนจักรได้เช่นเดียวกัน ขอแต่ให้ศิลปะนั้นช่วยส่งเสริมทั้งความน่าเคารพและศักดิ์ศรีที่สอดคล้องกับอาคารสถานที่และจารีตพิธีศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ  ดังนี้ ศิลปะร่วมสมัยก็จะร่วมเสียงกับศิลปินยิ่งใหญ่ในอดีต ที่ได้เปล่งเสียงเป็นเกียรติแก่ความเชื่อคาทอลิกในหลายศตวรรษที่ผ่านมา” (SC 123)
    ถ้อยคำเหล่านี้ยังสะท้อนในคำแนะนำของหนังสือมิสซาจารีตโรมันดังนี้
    “เพราะฉะนั้น พระศาสนจักรจึงประสงค์ให้โบสถ์มีศิลปะตกแต่งอย่างมีคุณค่า แต่ไม่หรูหราจนเกินไปและยังอนุญาตให้นำศิลปะของทุกชนชาติหรือท้องถิ่นมาใช้ได้ด้วย ยิ่งกว่านั้น ยังควรรักษางานศิลปะมีค่าที่ได้รับตกทอดมาจากศตวรรษก่อนๆไว้ และถ้าจำเป็นยังส่งเสริมให้ปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่างๆตามความต้องการใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับลักษณะของสมัยปัจจุบันได้ด้วย ดังนั้นในการกำหนดตัวนายช่างและเลือกผลงานศิลปะสำหรับโบสถ์ จึงขอให้เป็นศิลปะเด่นจริงๆ ที่จะหล่อเลี้ยงความเชื่อและความศรัทธา ตรงกับความหมายและเจตนาแท้จริงของผลงานนั้น” (RM 289)
    เมื่อกล่าวถึงการสร้างโบสถ์ใหม่ บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมเพียงแต่เน้นความคิดหลักของธรรมนูญ SC เท่านั้น “ในการสร้างอาคารศักดิ์สิทธิ์บรรดาพระสังฆราชจะต้องเอาใจใส่อย่างพิถีพิถันให้อาคารสถานที่เหล่านี้เหมาะสำหรับประกอบพิธีกรรม และส่งเสริมให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมพิธีกรรมได้อย่างแข็งขัน” (SC 124) คำแนะนำทั่วไปของหนังสือมิสซาจารีตโรมันยังขยายความต่อไปโดยใช้ถ้อยคำเหล่านี้ว่า “ดังนั้นโบสถ์หรือสถานที่อื่นจะต้องเหมาะสำหรับประกอบกิจกรรมศักดิ์สิทธิ์ และช่วยให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมได้อย่างแข็งขัน” (RM 288) สถาปัตยกรรมและรูปแบบของพื้นที่ภายในอาคารโบสถ์ซึ่งประชาชนมาชุมนุมควรปลุกสำนึกของประชาชนให้รู้สึกถึงการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าในหมู่ของเขาและพระประสงค์ของพระองค์ที่จะร่วมอยู่ในที่ชุมชนนี้ในการปฏิบัติพระภารกิจของพระองค์ในการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าและบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่มนุษย์ (SC 7) ในเวลาเดียวกัน การจัดระเบียบอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ในพิธีกรรมควรแสดงให้ประชาชนแลเห็นภาพของพระศาสนจักรในฐานะที่เป็นประชากรของพระเจ้าที่มีศาสนบริการต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นโครงสร้างพระฐานานุกรมต่างๆ ที่มีความต่อเนื่องกันของพระศาสนจักร คำแนะนำของหนังสือมิสซาจารีตโรมันกล่าวไว้ดังนี้ว่า
    “ประชากรของพระเจ้าซึ่งมาชุมนุมกันเพื่อร่วมพิธีมิสซามีระเบียบความสัมพันธ์กันตามลำดับขั้น ลำดับขั้นเช่นนี้แสดงออกในหน้าที่และกิจกรรมส่วนต่างๆ ของการประกอบพิธีแต่ละครั้ง ดังนั้น แบบแปลนของโบสถ์  จึงต้องแสดงภาพของชุมชนที่มาประชุมกันนี้ให้ปรากฏได้อย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องเอื้ออำนวยให้จัดระเบียบสิ่งของและปฏิบัติหน้าที่ต่างๆได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม พระสงฆ์ประธาน สังฆานุกรและผู้ช่วยอื่นๆ จะอยู่ภายในสถานที่ประกอบพิธีกรรม (presbyterium) จะต้องเตรียมที่นั่งไว้สำหรับพระสงฆ์ผู้ร่วมถวายสหบูชาภายในสถานที่ประกอบพิธีกรรมด้วย ถ้าพระสงฆ์ผู้ร่วมถวายสหบูชามีจำนวนมาก ก็ให้จัดที่นั่งไว้ในส่วนอื่นของโบสถ์ แต่ให้ใกล้กับพระแท่นบูชา” (RM 294)
    โครงสร้างที่เป็นสัญลักษณ์ถาวรของพื้นที่ภายในอาคารโบสถ์ ได้แก่ พระแท่นบูชา บรรณฐาน สถานที่ประกอบพิธีศีลล้างบาปและอ่างล้างบาป พื้นที่สำหรับศีลอภัยบาป ตู้ศีล ที่นั่งของพระสงฆ์ประธาน ที่นั่งสำหรับสัตบุรุษ และสถานที่สำหรับคณะนักขับร้อง และที่จัดวางรูปศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ
    “องค์ประกอบเหล่านี้ แม้จะต้องแสดงให้เห็นลำดับชั้นและหน้าที่ต่างกัน แต่ก็ทำให้เกิดเอกภาพลึกซึ้งที่แท้จริง ที่แสดงให้เห็นชัดว่าประชากรของพระเจ้าทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน ลักษณะและความงดงามของสถานที่และเครื่องใช้ทั้งหมดต้องส่งเสริมความศรัทธา และแสดงความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมล้ำลึกที่พระศาสนจักรกำลังเฉลิมฉลองอยู่นั้น” (RM 294)
    องค์ประกอบเหล่านี้ทั้งหมดต้องไม่ถูกจัดไว้ให้เป็นเหมือนห้องแสดงนิทรรศการที่มีผู้เข้ามาชมวัตถุที่ตั้งแสดงไว้ตามลำดับ ทุกสิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของการประทับอยู่ของพระเยซูคริสตเจ้าในการประกอบพิธีกรรม ในระหว่างการประกอบพิธีกรรม พระเยซูเจ้าทรงใช้เครื่องหมายต่างๆ เพื่อทรงเรียกพวกเรามารวมเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อตรัสกับเรา เพื่อทรงเลี้ยงดูเราหรืออธิษฐานภาวนาพร้อมกับเรา
    บทภาวนาสำหรับพิธีมอบถวายโบสถ์ใหม่วอนขอให้อาคารโบสถ์หลังนี้ “ได้เป็นเครื่องหมายของพระศาสนจักรซึ่งกำลังเดินทางอยู่ในโลกนี้ และเป็นภาพของพระศาสนจักรที่บรรลุถึงจุดหมายปลายทางแล้วในสวรรค์” ธรรมนูญ SC กล่าวสั้นๆว่า “ในพิธีกรรมที่ประกอบบนแผ่นดินนี้ เรามีส่วนลิ้มรสล่วงหน้าพิธีกรรมในสวรรค์” (SC 8)
    ในสังคมทุกวันนี้ เมื่อพิจารณาถึงมาตรฐานการดำเนินชีวิตในระดับต่างๆ ของแต่ละประเทศ ตามปกติแล้วในสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมากมาชุมนุมกัน มักจะจัดให้มีความสะดวกสบายพอควรไว้สำหรับทุกคน รวมทั้งผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ ฯลฯ ความสะดวกสบายเหล่านี้ได้แก่ บรรยากาศเงียบสงบ ทางเข้าถึงโบสถ์ได้โดยง่าย ที่นั่ง แสงสว่าง ระบบเสียง การระบายอากาศและเครื่องปรับอากาศ ความปลอดภัย ห้องสุขา สถานที่จอดรถ และบริการอื่นๆ คำแนะนำของหนังสือมิสซาจารีตโรมันกล่าวไว้ดังนี้
    “เพื่อที่จะจัดโบสถ์และเครื่องใช้อย่างเหมาะสมให้ตอบสนองความจำเป็นของสมัยปัจจุบันจริงๆ จำเป็นต้องเอาใจใส่ไม่จำเพาะแต่สิ่งของที่จำเป็นสำหรับการประกอบพิธีกรรมโดยตรงเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆแก่สัตบุรุษ ซึ่งตามปกติมักจะจัดไว้ในสถานที่ที่ประชาชนย่อมมาชุมนุมกันด้วย” (RM 293)
    เมื่อได้กล่าวถึงเรื่องทั้งหมดนี้แล้ว เราต้องไม่ลืมคำเตือนของธรรมนูญ SC ที่ว่า “บรรดาประมุขผู้ปกครองท้องถิ่น ควรสนับสนุนและส่งเสริมศิลปะศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริง โดยเอาใจใส่เสาะหาความงดงามชนิดที่ยกจิตใจให้สูงขึ้น ยิ่งกว่าจะแสวงหาเพียงความโอ่อ่าหรูหราแต่อย่างเดียว ควรใช้หลักการนี้สำหรับอาภรณ์และเครื่องประดับศักดิ์สิทธิ์ด้วย” (SC 124)
    คำแนะนำทั่วไปของหนังสือมิสซาจารีตโรมันยังเสริมอีกว่า
    “เครื่องประดับโบสถ์จะต้องแสดงให้เห็นความเรียบง่าย แต่ไม่ไร้คุณค่าของโบสถ์ มากกว่าจะแสดงความหรูหราเท่านั้น ในการเลือกสิ่งของต่างๆเพื่อใช้ประดับ จะต้องเอาใจใส่ใช้สิ่งที่เป็นของจริง และ ต้องพยายามให้เป็นการเพิ่มความรู้แก่สัตบุรุษและเพิ่มเกียรติแก่สถานที่เป็นส่วนรวมด้วย” (RM 292)
    พื้นที่ภายในโบสถ์ส่วนใหญ่มักจะเป็นชุมนุมของผู้ที่รับศีลล้างบาปและคริสตังสำรอง กระนั้นก็ดีเราต้องไม่ลืมว่าบ่อยๆเช่น ในฮ่องกงและประเทศจีนโดยทั่วไป (รวมทั้งประเทศไทยด้วย) แม้แต่ผู้ที่ยังไม่ได้รับศีลล้างบาปก็มักจะมาร่วมพิธีด้วย เช่น พิธีมิสซา พิธีรับศีลล้างบาป งานแต่งงาน งานศพ ฯลฯ มีสามีหลายคนที่พาภรรยาและบุตรมาโบสถ์มาเป็นเวลาหลายๆปี ก่อนจะตัดสินใจว่าตนเองก็ปรารถนาจะรับศีลล้างบาปด้วย มีผู้ที่เป็นเพื่อนกันทั้งชายหญิง ผู้ที่เคยเป็นนักเรียนในโรงเรียนคาทอลิกระดับต่างๆและคนอื่นอีกจำนวนมากที่มาร่วมมิสซาวันอาทิตย์เป็นประจำโดยที่ยังไม่พร้อมจะรับศีลล้างบาป พิธีกรรมและบรรยากาศภายในโบสถ์จึงควรแสดงให้เขารู้ลึกถึงการเชิญชวนที่เขารู้สึกว่าอบอุ่นและเป็นกันเอง
    สิ่งที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งของการออกแบบโบสถ์ก็คือพื้นที่ประกอบพิธีกรรมภายนอก พื้นที่ภายนอกรอบๆโบสถ์
    การก่อสร้างโบสถ์เป็นศิลาในสถานที่เฉพาะเจาะจงแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าพระศาสนจักรได้ฝังรากลงแล้วในสถานที่นั้น และในวัฒนธรรมนั้น อาคารของโบสถ์จึงต้องกลมกลืนกับแบบแปลนของเมืองที่อยู่โดยรอบและกับวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นด้วย ในประเทศที่คริสตชนเป็นส่วนน้อย อาคารโบสถ์เป็นวิธีการสำคัญมากของการประกาศข่าวดี อาคารโบสถ์ต้องแสดงท่าทีต้อนรับทุกคนและเป็นเสมือนโอเอซิสที่ให้ความร่มเย็นและความสงบสุขแก่ทุกคน พื้นที่ประกอบพิธีกรรมภายนอกต้องกลมกลืนกับพื้นที่ภายในซึ่งแสดงให้เห็นภาพของชุมชนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและรับใช้กัน อาคารโบสถ์หลังใหม่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หมายความว่าที่นั่นมีชุมชนที่ต้องการโบสถ์ และในสังฆมณฑลนั้นยังมีโบสถ์แม่ หรืออาสนวิหารของพระสังฆราช มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างโบสถ์ประจำตำบลกับอาสนวิหารของสังฆมณฑล ดังที่ธรรมนูญ SC กล่าวไว้ว่า “ทุกคนต้องตระหนักว่า พระศาสนจักรแสดงตนเด่นชัด เมื่อประชากรศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดของพระเจ้ามาร่วมพิธีกรรมอย่างเต็มที่และแข็งขันในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในพิธีบูชาขอบพระคุณหนึ่งเดียว ในการภาวนาอธิษฐานหนึ่งเดียว ณ พระแท่นบูชาหนึ่งเดียวที่พระสังฆราชเป็นประธาน โดยมีคณะสงฆ์และผู้ช่วยอื่นๆร่วมพิธีด้วย” (SC 41)
    ถึงกระนั้น เป็นที่น่าเสียดาย โดยเฉพาะในประเทศที่คริสตชนเป็นชนส่วนน้อย แล้วยังมีโบสถ์คริสต์ที่สร้างขึ้นโดยชาวคาทอลิกและคริสตชนนิกายอื่นๆ ในท้องที่เดียวกัน เรื่องนี้ทำให้ประชาชนมีความสับสน เป็นพยานขัดแย้งกันสำหรับเอกภาพของพระศาสนจักร และเรื่องนี้ยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่ของการประกาศข่าวดี