แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

“บรรดาผู้อภิบาลจึงต้องพยายามสุดความสามารถในงานอภิบาลทั้งหมด ที่จะให้ผู้มีความเชื่อได้รับการอบรมอย่างเหมาะสม  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความสำคัญอันดับแรกแก่การอบรมเรื่องพิธีกรรม” (SC 14)
    สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ทรงปรารถนาให้สภาสังคายนาเกี่ยวกับการอภิบาล และวาติกันที่ 2 ยังคงรักษาสาระสำคัญของคุณสมบัติประการนี้จนถึงที่สุด บรรดาพระสังฆราชผู้เข้าร่วมประชุมทราบดีถึงสภาพแท้จริงของบรรดาผู้มีความเชื่อในสังฆมณฑลของตน และเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องให้การอบรมด้านพิธีกรรมที่ถูกต้องแก่ประชาชน ในข้อ 14 ถึง 20 ของธรรมนูญ SC บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมจึงเสนอแผนการอบรมด้านพิธีกรรมทั้งสำหรับประชาชนและสำหรับคณะสงฆ์ ซึ่งก็ต้องได้รับการอบรมก่อนที่จะไปอบรมผู้อื่นได้ สภาสังคายนาฯกล่าวไว้ดังนี้ว่า

    “จุดประสงค์นี้จะบรรลุถึงไม่ได้ ถ้าบรรดาผู้อภิบาลเองไม่เป็นคนแรกที่มุ่งมั่นจะซึมซับจิตตารมณ์และพลังของพิธีกรรม และกลับเป็นครูสอนผู้อื่นในเรื่องนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความสำคัญอันดับแรกแก่การอบรมเรื่องพิธีกรรมสำหรับบรรดาบรรพชิต” (SC 14)
    ใครจะเป็นผู้ให้ความรู้แก่บรรดาผู้อภิบาล?
    ดังนั้น สภาสังคายนาจึงกำหนดข้อปฏิบัติไว้ดังต่อไปนี้ (SC 14)
    “บรรดาพระสงฆ์ทั้งที่สังกัดสังฆมณฑลและในสถาบันนักบวช ซึ่งทำงานในสวนองุ่นของพระเจ้าแล้ว ต้องได้รับความช่วยเหลือด้วยวิธีการเหมาะสมทุกอย่างเพื่อจะได้เข้าใจความหมายของพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่เขาประกอบให้สมบูรณ์ยิ่งๆขึ้น เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตตามพิธีกรรมและถ่ายทอดชีวิตนี้แก่บรรดาผู้มีความเชื่อที่เขาได้รับมอบหมายให้ดูแล” (SC 18)
    เรื่องนี้เป็นความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติโดยเร่งด่วนทันที แต่สภาสังคายนาฯ ก็พิจารณาถึงรากของปัญหา นั่นคือการให้การอบรมพิธีกรรมในระดับสามเณราลัย การปฏิรูปพิธีกรรมของวาติกันที่ 2 เป็นโครงการระยะยาว บรรดาพระสงฆ์รุ่นใหม่จะเป็นพลังสำคัญเบื้องหลังการใช้พิธีกรรมเพื่อฟื้นฟูพระศาสนจักร
    “ในสามเณราลัยและบ้านนักบวช บรรดาบรรพชิตจะต้องได้รับการอบรมด้านพิธีกรรมในชีวิตจิต ดังนั้น เขาจะต้องได้รับความรู้อย่างเหมาะสมให้เข้าใจจารีตพิธีเป็นอย่างดี และร่วมพิธีกรรมอย่างสุดจิตใจ เขาจะต้องประกอบพิธีเฉลิมฉลองธรรมล้ำลึกศักดิ์สิทธิ์ และปฏิบัติกิจศรัทธาอื่นๆที่ซึมซับจิตตารมณ์ของพิธีกรรม ยิ่งกว่านั้น เขาต้องเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตามกฎพิธีกรรม เพื่อชีวิตในสามเณราลัยและสถาบันนักบวชจะได้ซึมซับจิตตารมณ์พิธีกรรมอย่างลึกซึ้ง” (SC 17)
    “ผู้ได้รับมอบหมายให้สอนพิธีกรรมในสามเณราลัย สำนักศึกษาของนักบวช และคณะเทววิทยาของมหาวิทยาลัย ต้องได้รับการอบรมเป็นพิเศษในวิชานี้ เพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างดีในสถาบันที่ได้รับมอบหมายให้สอน” (SC 15)
    “วิชาพิธีกรรมในสามเณราลัยและในสำนักศึกษาของนักบวช ต้องถือว่าเป็นวิชาหนึ่งในกลุ่มวิชาที่จำเป็นและมีความสำคัญเป็นอันดับแรก ส่วนในคณะเทววิทยาของมหาวิทยาลัย ต้องถือว่าเป็นวิชาเอกวิชาหนึ่ง ที่จะต้องสอนทั้งในด้านเทววิทยาและประวัติศาสตร์ ทั้งด้านชีวิตจิต ด้านการอภิบาลและด้านกฎหมาย ยิ่งกว่านั้น อาจารย์ที่สอนวิชาอื่นๆ โดยเฉพาะเทววิทยาด้านพระสัจธรรม พระคัมภีร์ เทววิทยาด้านชีวิตจิต และการอภิบาล ต้องพยายามอธิบายพระธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้าและประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้นตามทัศนะเฉพาะของแต่ละวิชา ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิชาที่ตนสอนกับพิธีกรรม และดังนี้เอกภาพของการอบรมพระสงฆ์จะปรากฏแจ้งชัด” (SC 16)
    บรรดาพระสังฆราชผู้เข้าร่วมประชุมก้าวหน้าลึกลงไปอีกก้าว หนึ่งในวิธีการให้การอบรมด้านพิธีกรรม โดยยืนยันถึงหลักการให้การอบรมที่สำคัญยิ่งข้อหนึ่งว่า “ครูสอนที่ให้การอบรมเรื่องพิธีกรรมได้ดีที่สุดก็คือพิธีกรรมเอง”
    “แม้พิธีกรรมเป็นการนมัสการพระเดชานุภาพของพระเจ้าโดยเฉพาะ แต่ก็ยังมีคุณค่ายิ่งใหญ่ในการอบรมประชากรผู้มีความเชื่ออีกด้วย ในพิธีกรรม พระเจ้าตรัสกับประชากรของพระองค์ พระคริสตเจ้ายังทรงประกาศข่าวดี ประชากรก็ยังตอบพระเต้าด้วยการขับร้องและอธิษฐานภาวนา ยิ่งกว่านั้น คำอธิษฐานภาวนาที่พระสงฆ์ผู้เป็นประธานของผู้ชุมนุมในฐานะที่เป็นองค์พระคริสตเจ้าทูลถวายแด่พระเจ้านั้น กล่าวในนามของประชากรศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด และในนามของผู้ที่ร่วมชุมนุมทุกคน ในที่สุด เครื่องหมายที่แลเห็นได้ซึ่งพิธีกรรมใช้เพื่อหมายถึงสิ่งที่แลเห็นไม่ได้ของพระเจ้านั้น ก็เป็นเครื่องหมายที่พระคริสตเจ้าทรงเลือกหรือพระศาสนจักรเลือก ดังนั้น มิใช่เฉพาะเมื่อเราอ่าน “สิ่งที่เขียนไว้สำหรับสั่งสอนเรา” (รม 15:4) เท่านั้น แต่เมื่อพระศาสนจักรอธิษฐานภาวนา ขับร้อง หรือประกอบกิจกรรม ความเชื่อของบรรดาผู้ที่มาร่วมพิธีก็ได้รับการหล่อเลี้ยง จิตใจของเขาถูกยกขึ้นไปหาพระเจ้าเพื่อถวายคารวกิจฝ่ายจิต และได้รับพระหรรษทานของพระองค์อย่างอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น”  (SC 33)
    การประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ก็มีการสั่งสอนสำหรับผู้ร่วมพิธีได้อย่างมากด้วย จุดประสงค์ของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ก็คือเพื่อบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่เราและเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า แต่ว่า “ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายยังมีจุดประสงค์เพื่อให้การสั่งสอนอบรมด้วย ผู้รับศีลต้องมีความเชื่ออยู่ก่อนแล้ว แต่ถ้อยคำและจารีตพิธีของศีลศักดิ์สิทธิ์ก็ยังหล่อเลี้ยง  เสริมพลังและแสดงความเชื่อให้ปรากฏด้วย เพราะเหตุนี้ ศีลศักดิ์สิทธิ์จึงได้ชื่อว่า “ศีลแห่งความเชื่อ” (SC 59)
    สภาสังคายนาฯ ยังเสนอการปรับปรุงที่มีเจตนาด้านอภิบาล เพื่อหล่อเลี้ยงการที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและได้รับการอบรมด้านพิธีกรรมอีกด้วย
    “ควรใช้วิธีการต่างๆ ให้การอบรมสัตบุรุษเกี่ยวกับพิธีกรรมโดยเฉพาะ และถ้าจำเป็น พระสงฆ์หรือศาสน บริกรที่มีความรู้อาจให้คำอธิบายสั้นๆ ในเวลาที่เหมาะสมระหว่างการประกอบพิธีก็ได้ แต่จะต้องใช้ถ้อยคำที่กำหนดไว้แล้วหรือที่คล้ายกัน”  (SC 35,3)
    ที่นี่น่าสังเกตข้อความที่ถูกใช้บ่อยๆ ในหนังสือพิธีกรรมฉบับใหม่ คือข้อความที่ว่า “โดยใช้ถ้อยคำที่กำหนดไว้หรือที่คล้ายกัน” ซึ่งหมายความว่า พระสงฆ์หรือศาสนบริกรเฉพาะอาจอ่านถ้อยคำที่พิมพ์ไว้ในหนังสือ หรืออาจใช้คำพูดของตนเองกล่าวแสดงความคิดเดียวกัน
    อันที่จริง เจตนาของการปฏิรูปพิธีกรรมของสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ก็คือ เพื่อทำให้จารีตพิธีเรียบง่ายและชัดเจนจนสอนผู้ร่วมพิธีได้
    “จารีตพิธีต้องมีลักษณะสง่างามและเรียบง่ายน่าเลื่อมใสและกะทัดรัด ชัดเจนและไม่ซ้ำซากโดยไร้ประโยชน์ จารีตพิธีจะต้องปรับให้เหมาะกับความเข้าใจของสัตบุรุษ และโดยทั่วไปไม่ต้องการคำอธิบายมากนัก” (SC 34)
    “บรรดาผู้อภิบาลต้องมีความกระตือรือร้นและพากเพียรที่จะให้การอบรมด้านพิธีกรรมแก่ผู้มีความเชื่อ เพื่อเขาจะร่วมพิธีกรรมได้อย่างแข็งขันทั้งในด้านจิตใจและภายนอก โดยคำนึงถึงอายุ สภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิต และระดับความรู้ทางศาสนาของผู้ได้รับการอบรม ถ้าบรรดาผู้อภิบาลทำเช่นนี้ได้  เขาก็จะปฏิบัติหน้าที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งให้สำเร็จในฐานะเป็นผู้แจกจ่ายธรรมล้ำลึกของพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์ ในเรื่องนี้เขาจะต้องนำประชากรที่เขาอภิบาลดูแล ไม่ใช่ด้วยคำพูดเท่านั้น แต่โดยแบบอย่างที่ดีด้วย” (SC 19)