แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ประชากรทั้งหมดร่วมพิธีกรรมอย่างเต็มที่และอย่างแข็งขัน เพราะพิธีกรรมเป็นบ่อเกิดแรกและจำเป็นที่ผู้มีความเชื่อจะตักตวงชีวิตจิตแบบคริสตชนอย่างแท้จริง (SC 14)
    ความสำคัญของการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของประชาชนทุกคนในพิธีกรรมอาจมองได้ที่นี่จากอีกมุมมองหนึ่ง นั่นคือ ประชาชนได้รับจิตตารมณ์แท้จริงของพระคริสตเจ้าโดยการมีส่วนร่วมพิธีกรรมอย่างแข็งขัน
    พระเยซูคริสตเจ้าเองทรงเป็นผู้ประทาน ‘ชีวิตจิตคริสตชนอย่างแท้จริง’ เพียงพระองค์เดียวอาศัยธรรมล้ำลึกปัสกา คือการรับทรมาน การกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย และการเสด็จสู่สวรรค์อย่างรุ่งโรจน์ โดยธรรมล้ำลึกนี้  ‘พระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อทำลายความตายของเรา และทรงกลับคืนพระชนมชีพเพื่อคืนชีวิตแก่เรา’ พระองค์ทรงทำให้พระภารกิจการไถ่กู้และประทานความศักดิ์สิทธิ์แก่พวกเรา และทำให้เราถวายพระเกียรติพร้อมกับพระองค์แด่พระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ (SC 5)

    ในพิธีกรรม พระเยซูคริสตเจ้ายังคงปฏิบัติพระภารกิจการประทานความศักดิ์สิทธิ์แก่พวกเราและการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ อาศัยพิธีกรรม บรรดาผู้มีความเชื่ออาจมีส่วนร่วมในพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระเยซูเจ้า ตายพร้อมกับพระองค์ และกลับคืนชีพมารับชีวิตใหม่พร้อมกับพระองค์ได้ ประสิทธิผลของพิธีกรรมของคริสตศาสนาขึ้นอยู่กับ พระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระเยซูเจ้า
    “พิธีกรรมก็ส่งเสริมให้ผู้มีความเชื่อ ซึ่งได้รับการหล่อเลี้ยงจากศีลศักดิ์สิทธิ์ปัสกาแล้วนั้นดำเนินชีวิต  เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเลื่อมใสศรัทธา” พิธีกรรมยังวอนขอให้คริสตชน “ดำเนินชีวิตตามความเชื่อที่เขาได้รับมา” การรื้อฟื้นพันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ในพิธีบูชาขอบพระคุณย่อมดึงดูดผู้มีความเชื่อให้มารับความรักที่เร่งเร้าของพระคริสตเจ้า และจุดไฟความรักในใจของเขา” (SC 10)
    สภาสังคายนาฯเตือนพวกเราว่า “ชีวิตจิตไม่จำกัดอยู่เพียงในการร่วมพิธีกรรมเท่านั้น คริสตชนได้รับเชิญให้อธิษฐานภาวนาร่วมกับพี่น้องก็จริง  แต่เขายังต้องเข้าไปในห้องของตนเพื่ออธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาเป็นการส่วนตัวอีกด้วย ยิ่งกว่านั้นนักบุญเปาโลอัครสาวกยังสอนคริสตชนว่าต้องอธิษฐานภาวนาอย่างสม่ำเสมอ” (SC 12) และ “กิจกรรมทั้งหมดของพระศาสนจักรไม่มีแต่เพียงพิธีกรรมเท่านั้น ก่อนที่มนุษย์จะเข้ามาร่วมพิธีกรรมได้ เข่าจำเป็นต้องได้รับเรียกให้มีความเชื่อและกลับใจก่อน” (SC 9)
    แต่สภาสังคายนาฯก็ยังย้ำว่า
    “พิธีกรรมก็เป็นจุดยอดที่กิจกรรมของพระศาสนจักรมุ่งไปหา และในเวลาเดียวกันก็เป็นบ่อเกิดที่พลังทั้งหมดของพระศาสนจักรหลั่งไหลออกมา” (SC 10)
    “ก่อนที่มนุษย์จะเข้ามาร่วมพิธีกรรมได้ เขาจำเป็นต้องได้รับเรียกให้มีความเชื่อและกลับใจก่อน” (SC 9)
    การประกาศข่าวดีเป็นกิจกรรมเอกของพระศาสนจักร แต่การประกาศข่าวดีก็มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพิธีกรรมซึ่งเป็นจุดยอดที่การประกาศข่าวดีนำผู้กลับใจใหม่เข้าไปหาและเป็นพุน้ำที่หล่อเลี้ยงการประกาศข่าวดีให้ดำเนินไปได้ ในทำนองเดียวกัน คำภาวนาทุกบท การศึกษาและไตร่ตรองพระวาจาของพระเจ้า งานเมตตาธรรม กิจศรัทธาและงานแพร่ธรรมที่ผู้มีความเชื่อได้รับเรียกจากพระคริสตเจ้าให้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  ย่อมนำเขาทั้งหลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปหาพิธีบูชาขอบพระคุณที่ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันของเขากลายเป็นเครื่องบูชามีชีวิตที่เขาถวายแด่พระเจ้า พร้อมกับการถวายบูชาของพระเยซูเจ้า สภาสังคายนายังสนับสนุนกิจศรัทธาแบบชาวบ้านด้วย “ควรจัดกิจศรัทธาเหล่านี้โดยคำนึงถึงเทศกาลทางพิธีกรรม ให้สอดคล้องกับพิธีกรรม ได้รับอิทธิพลจากพิธีกรรม และนำประชากรเข้าหาพิธีกรรม เพราะพิธีกรรมในตัวเองก็มีความสำคัญเหนือกิจศรัทธาใดๆอยู่แล้ว” (SC 13)
    “พิธีกรรมก็เป็นจุดยอดที่กิจกรรมของพระศาสนจักรมุ่งไปหาและในเวลาเดียวกัน ก็เป็นบ่อเกิดที่พลังทั้งหมดของพระศาสนจักรหลั่งไหลออกมา พิธีกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีบูชาขอบพระคุณ จึงเป็นบ่อเกิดให้เราได้รับพระหรรษทาน และประสิทธิผลยิ่งใหญ่บันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่มนุษย์ เป็นการถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระเจ้าในองค์พระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นจุดหมายที่กิจกรรมอื่นๆทั้งปวงของพระศาสนจักรมุ่งไปหา” (SC 10)