แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

“การปรับปรุงแก้ไขและส่งเสริมพิธีกรรมต้องมีจุดประสงค์ก่อนอื่นหมด ที่จะให้ประชากรทั้งหมดร่วมพิธีกรรมอย่างเต็มที่และอย่างแข็งขัน” (SC14)
    สภาสังคายนาฯ ใช้มาตรการนี้อย่างกว้างขวาง เพื่อตัดสินว่าจารีตพิธีหรือบทภาวนาใดต้องรับการปฏิรูป และต้องปฏิรูปอย่างไร ให้เราพิจารณาบางตัวอย่างจากพิธีกรรมของมิสซา
    “ให้ตรวจชำระบทประจำมิสซา เพื่อให้เห็นชัดยิ่งขึ้นว่าแต่ละภาคในมิสซามีลักษณะเฉพาะและเกี่ยวข้องกันอย่างไรเพื่อให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมอย่างเลื่อมใสศรัทธาและแข็งขันได้ง่ายขึ้น โดยเหตุนี้จารีตพิธีต่างๆจะต้องเรียบง่ายขึ้น แต่ยังรักษาสาระสำคัญไว้อย่างเคร่งครัด จารีตพิธีใดที่ซ้ำซ้อนหรือเพิ่มเติมโดยไม่สู้จะมีประโยชน์นักในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็ให้ตัดทิ้งเสีย ส่วนจารีตพิธีใดที่สูญหายไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็ให้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ตามธรรมประเพณีของบรรดาปิตาจารย์เท่าที่เห็นว่าสมควรและจำเป็น” (SC 50)

    บทประจำมิสซาแบบใหม่ (Novus Ordo Missae) ที่ได้รับการรับรองและประกาศใช้โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 เมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ.1969 ได้เรียบเรียงขึ้นตามข้อกำหนดจากธรรมนูญเรื่องพิธีกรรมอย่างซื่อสัตย์ พวกเราจงอ่านบทประจำมิสซานี้อย่างผ่านๆไป และสังเกตว่ามิสซาของสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ได้รับการปฏิรูปอย่างไร
    - ภาคเริ่มพิธี (เพลงเริ่มพิธีและพิธีสารภาพผิด) ได้เปลี่ยนให้ซับซ้อนน้อยลงและทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนชัดเจนขึ้น เมื่อประชาชนทุกคนขับร้องเพลงเริ่มพิธีเสร็จ พระสงฆ์ก็เดินมาถึงพระแท่นแล้ว พระสงฆ์ไม่จำเป็นต้องสวดบทลำนำที่เชิงพระแท่น “ข้าพเจ้าจะขึ้นไปยังพระแท่นของพระเจ้า...”(เหมือนกับในมิสซาของสภาสังคายนาเมืองเตร็นท์) ตามด้วยเพลงสดุดีบทที่ 2 แล้วจึงขึ้นบันไดของพระแท่น แล้วอ่านบทเพลงเริ่มพิธีบนพระแท่นอีกครั้งหนึ่ง
    - มีพิธีสารภาพผิดซ้ำกันสองครั้งในมิสซาของเตร็นท์ พระสงฆ์สวด “ข้าพเจ้าขอสารภาพ...” ก่อน แล้วศาสนบริกร (หรือผู้ช่วยมิสซาสวดซ้ำอีก ในมิสซาใหม่ทั้งบทเพลงเริ่มพิธีและพิธีสารภาพผิดเป็นกิจการร่วมกันที่สัตบุรุษทำพร้อมกับพระสงฆ์
    - ในมิสซาของเตร็นท์อาจมีบทภาวนาของประธาน 2 หรือ 3 บท ในมิสซาใหม่มีบทภาวนาของประธานเพียงบทเดียวซึ่งทำหน้าที่สรุปภาคเริ่มพิธี และเตรียมจิตใจของทุกคนให้พร้อมจะฟังพระวาจาของพระเจ้า นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการทำให้จารีตพิธีเรียบง่ายขึ้น
    ดังที่เห็นแล้ว ช่วงเริ่มพิธีได้ถูกทำให้เรียบง่ายขึ้น ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่และรู้สำนึก และยังรักษาสาระสำคัญของพิธีไว้
    - ในมิสซาของเตร็นท์ มิสซาแบ่งเป็นสองภาค คือภาคมิสซาของคริสตังสำรอง และมิสซาของผู้มีความเชื่อ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่สัตบุรุษจะเข้าใจความหมายของส่วนสำคัญของมิสซาทั้งสองส่วน ผลตามมาก็คือ การมีส่วนร่วมพิธีกรรมของสัตบุรุษจึงเป็นเพียงผู้รับเท่านั้น ในสมัยนั้นในยุโรปไม่มีคริสตังสำรองที่เป็นผู้ใหญ่อีกแล้ว ทุกคนได้รับศีลล้างบาปตั้งแต่เป็นทารก สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้นำพิธีรับผู้ใหญ่มาเป็นคริสตังสำรองเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง
    บรรดาพระสังฆราชผู้เข้าร่วมประชุมสภาสังคายนาฯ แสดงให้เห็นจิตใจของผู้อภิบาลเมื่อเขียนว่า
    “สองภาคที่ประกอบเป็นมิสซา คือ ภาควจนพิธีกรรมและภาคพิธีขอบพระคุณ มีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นจนทำให้ทั้งสองภาครวมเป็นการถวายคารวกิจเดียวกัน ดังนั้น สภาสังคายนาศักดิ์สิทธิ์จึงเตือนผู้อภิบาลสัตบุรุษอย่างแข็งขันให้เอาใจใส่สอนสัตบุรุษว่า ต้องร่วมพิธีมิสซาแต่ต้นจนจบ เฉพาะอย่างยิ่งในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับ” (SC 56)
    ขณะนี้เป็นการง่ายกว่าที่จะสอนบรรดาผู้มีความเชื่อเกี่ยวกับสองภาคของมิสซา “ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดจนรวมกันเป็นคารวกิจหนึ่งเดียวเท่านั้น” บรรดาผู้มีความเชื่อได้รับการเลี้ยงดูทั้ง “ที่โต๊ะพระวาจาของพระเจ้า” และที่ “โต๊ะศีลมหาสนิท”
    บทอ่านจากพระคัมภีร์ในหนังสือบทอ่านของเตร็นท์มีปริมาณน้อยมาก ตามสถิติแล้ว มีการอ่านเพียง 1%  ของพันธสัญญาเดิม และ 16.5% ของพันธสัญญาใหม่ในมิสซา และเนื่องจากบทอ่านถูกจัดเป็นชุดประจำเพียงหนึ่งปี จึงอ่านบทอ่านชุดเดียวกันทุกปี ชาวคาทอลิกไม่คุ้นเคยกับพระคัมภีร์ สภาสังคายนาฯจึงเน้นว่าดังนี้
    “เพื่อให้สัตบุรุษได้รับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจาของพระเจ้ามากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องเปิดขุมทรัพย์ของพระคัมภีร์ให้กว้างยิ่งขึ้น เพื่อประชากรจะได้รับฟังเนื้อหาส่วนใหญ่ของพระคัมภีร์ภายในจำนวนที่กำหนด “ (SC 51)
    มื้ออาหารที่อัตคัดและจืดชืดได้ถูกทดแทนด้วยการเลี้ยงอย่างฟุ่มเฟือย บทอ่านจากพระคัมภีร์ถึงสี่บท (บทอ่านแรกที่มักจะคัดมาจากพันธสัญญาเดิม เพลงสดุดีบทหนึ่ง บทอ่านที่สองจากพันธสัญญาใหม่ และพระวรสาร) ถูกจัดไว้อย่างดีเป็นชุดสำหรับช่วงเวลาสามปีสำหรับวันอาทิตย์ และช่วงเวลาสองปีสำหรับวันธรรมดาอย่างที่ว่าการจัดเช่นนี้ช่วยบรรดาผู้มีความเชื่อให้เข้าใจและมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้นที่พระเจ้าประทานให้ ประวัติศาสตร์นี้มาถึงจุดยอดในพระธรรมล้ำลึกปัสกาพระทรมาน การสิ้นพระชนม์ การกลับคืนพระชนมชีพ และเสด็จสู่สวรรค์ของพระเยซูเจ้า หนังสือบทอ่านคาทอลิกของจารีตโรมันที่สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ทรงประกาศรับรองในปี ค.ศ.1969 นี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเพชรของการปฏิรูปพิธีกรรมของพิธีมิสซา นักวิชาการพระคัมภีร์บางท่านได้ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องเล็กน้อยบางประการ แต่บรรดาผู้มีความเชื่อส่วนใหญ่พอใจกับหนังสือบทอ่านฉบับนี้ หนังสือฉบับนี้ยังเป็นรากฐานที่คริสตจักรอื่นๆหลายแห่งใช้รองรับหนังสือบทอ่านของตนด้วย
    - การปฏิรูปที่กล้าหาญอีกประการหนึ่งสำหรับภาคนี้ของมิสซาก็คือ การยอมให้ผู้อ่านที่เป็นฆราวาสอ่านพระคัมภีร์เป็นภาษาของประชาชนจากบรรณฐานซึ่งอยู่ในบริเวณเนื้อที่ประกอบพิธีกรรม (the sanctuary) ในเอกสารทุกฉบับของวาติกันที่ 2 คำว่า “ฆราวาส” หมายรวมทั้งหญิงและชายทุกครั้ง ผู้อ่าน (ทั้งหญิงและชาย) จึงปฏิบัติหน้าที่ในพิธีกรรมโดยแท้จริง (SC 29) น่าจะกล่าวที่นี่ด้วยว่า แม้กระทั่งสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 เมื่อปี ค.ศ.1903 ในพระสมณสาสน์ ‘Tra le sollecitudini’ ที่ทรงสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมพิธีกรรมอย่างเข้มแข็ง  (actuosa partecipatio) ก็ยังทรงห้ามสตรี รวมทั้งนักบวชหญิงและนวกชนไม่ให้อ่านพระคัมภีร์จากบรรณฐานหรือเข้าร่วมคณะนักขับร้อง เพราะกิจเหล่านี้เป็นศาสนบริการที่สงวนไว้สำหรับผู้ชายเท่านั้น
    - การให้การอบรมสัตบุรุษอย่างต่อเนื่อง จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้เขาได้มีส่วนร่วมพิธีกรรมอย่างแข็งขันและได้รับประโยชน์ บทเทศน์อธิบายพระคัมภีร์ (Homily) และบทภาวนาของมวลชน (prayer of the faithful) เป็นสองตัวอย่างของ ‘ส่วนจารีตพิธีใดที่สูญหายไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็ให้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ตามธรรมประเพณีของบรรดาปิตาจารย์ เท่าที่เห็นว่าสมควรหรือจำเป็น’ (SC 50)
    “สภาสังคายนาส่งเสริมอย่างยิ่งให้เทศน์อธิบายพระคัมภีร์เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม การเทศน์นี้จะต้องใช้ตัวพระคัมภีร์อธิบายธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ และกฎชีวิตคริสตชนตลอดปีพิธีกรรม ดังนั้น อย่าได้ละเว้นการเทศน์อธิบายพระคัมภีร์เช่นนี้ในมิสซาวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับ ที่ถวายร่วมกับสัตบุรุษ นอกจากมีเหตุผลขัดข้องที่สำคัญกว่า” (SC 52)
    “ให้รื้อฟื้น ‘บทภาวนาส่วนรวม’ หรือที่เรียกว่า ‘บทภาวนาของมวลชน’ หลังพระวรสารและการเทศน์ขึ้นมาใหม่ เฉพาะอย่างยิ่งในวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับ เพื่อประชาสัตบุรุษจะได้มีส่วนร่วมอธิษฐานภาวนาสำหรับพระศาสนจักร ผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง ผู้มีความต้องการต่างๆ ตลอดจนมนุษย์ทุกคนและความรอดพ้นของโลกทั้งโลก” (SC 53)
    - การปฏิรูปพิธีกรรมภาคมิสซาของผู้มีความเชื่อ (พิธีกรรมภาคบูชาขอบพระคุณ) ก่อนอื่นหมดเกี่ยวข้องกับพิธีเตรียมเครื่องบูชา พิธีกรรมส่วนนี้ได้รับการปฏิรูปเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า พิธีตอนนี้ยังไม่ใช่การถวายพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า แต่เป็นการถวายขนมปังและเหล้าองุ่นที่ประชาชนนำมาที่พระแท่น ในมิสซาของสภาสังคายนาเมืองเตร็นท์ ผู้ช่วยมิสซานำขนมปังและเหล้าองุ่นมาที่พระแท่น และพระสงฆ์ภาวนาว่า “ข้าแต่พระบิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ โปรดทรงรับแผ่นปังไร้ตำหนินี้ ซึ่งข้าพเจ้า ผู้รับใช้ไม่เหมาะสม ขอถวายแด่พระองค์เพื่อชดเชยบาป ความผิดพลาดและความเลินเล่อนับไม่ถ้วนของข้าพเจ้า เพื่อทุกคนซึ่งอยู่ที่นี่ รวมทั้งเพื่อคริสตชนผู้มีความเชื่อทุกคนทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และสิ้นชีพแล้ว ... ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายถ้วยกาลิกส์แห่งความรอดพ้นแด่พระองค์ วอนขอพระกรุณาให้การถวายบูชาของข้าพเจ้าทั้งหลายนี้เป็นดังกลิ่นหอมขึ้นไปยังพระมหิทธานุภาพของพระองค์เพื่อความรอดพ้นของข้าพเจ้าทั้งหลายและของทั่วทั้งโลกด้วย อาแมน”
    - ในมิสซาแบบใหม่ เมื่อพระสงฆ์รับขนมปังและเหล้าองุ่นที่ประชาชนนำมาที่พระแท่นแล้ว ท่านกล่าวในนามของทุกคนว่า “ข้าแต่พระเจ้าแห่งสกลโลก ขอถวายพระพร พระองค์มีพระทัยเมตตาประทานปัง ซึ่งข้าพเจ้ากำลังถวายอยู่นี้ อันเป็นผลมาจากแผ่นดินและน้ำพักน้ำแรงของมนุษย์ และจะเปลี่ยนเป็นอาหารบันดาลให้ข้าพเจ้าทั้งหลายมีชีวิต”
    ประชาชนตอบว่า “ขอถวายพระพรแด่พระเจ้าตลอดนิรันดร”เมื่อถวายเหล้าองุ่น พระสงฆ์กล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้าแห่งสกลโลก ขอถวายพระพร พระองค์มีพระทัยเมตตาประทานเหล้าองุ่นซึ่งข้าพเจ้าทั้งหลายกำลังถวายอยู่นี้ อันเป็นผลมาจากต้นองุ่นและน้ำพักน้ำแรงของมนุษย์ และจะเปลี่ยนเป็นเครื่องดื่มชุบเลี้ยงจิตใจข้าพเจ้าทั้งหลาย”
    บทภาวนาที่ใช้ในพิธีเตรียมเครื่องบูชานี้เป็นบทภาวนาที่โบราณมากด้วย และแสดงให้เห็นสาระสำคัญของ “พิธีเตรียมเครื่องบูชา” (the ‘offertory’) อย่างดีมาก ว่าเป็นการถวายพรแด่พระเจ้าสำหรับสิ่งสร้างน่าพิศวงของพระองค์ และเหมาะสมกว่าเพื่อช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมพิธีกรรม ในเวลาเดียวกัน “การถวายพระพร” ยังคล้ายกันมากกับ “การขอบพระคุณ” ซึ่งเป็นสาระสำคัญของบทภาวนาขอบพระคุณ โดยวิธีนี้ “พิธีเตรียมเครื่องบูชา” (offertory) กำลังนำการประกอบพิธีไปยัง “บทภาวนาขอบพระคุณ” (the Eucharistic Prayer)
    -  ในมิสซาของสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ บทภาวนาขอบพระคุณ (หรือ Canon) เริ่มขึ้นหลังจากที่พระสงฆ์สวดบท “บทนำขอบพระคุณ” (Perface) และบท “ศักดิ์สิทธิ์” (Sanctus) ด้วยเสียงดัง และพระสงฆ์สวดบทภาวนาขอบพระคุณนี้เงียบๆ ไม่ให้ผู้ใดได้ยินเสียงส่วนหนังสือมิสซาใหม่ใช้ถ้อยคำดังนี้ กล่าวถึงบทภาวนาขอบพระคุณ (the Eucharistic Prayer)
    “บทภาวนาขอบพระคุณซึ่งเป็นการขอบพระคุณพระเจ้า และเป็นการบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ คือการเริ่มต้นจุดยอดและศูนย์กลางของพิธีถวายบูชามิสซาทั้งหมด พระสงฆ์เชิญประชาชนให้ยกจิตใจขึ้นหาพระเจ้าโดยการภาวนาและการขอบพระคุณ รวมประชาชนเป็นหนึ่งเดียวกับตนในการภาวนา ซึ่งเขาถวายในนามของประชาชนทุกคนแด่พระบิดาเจ้า ผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้าในองค์พระจิตเจ้า บทภาวนาขอบพระคุณนี้มีใจความว่า ผู้มีความเชื่อทุกคนที่มาชุมนุมกันร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า ในการประกาศกิจกรรมยิ่งใหญ่ของพระเจ้า และในการถวายบูชาบทขอบพระคุณจึงเรียกร้องให้ทุกคนฟังเงียบๆ ด้วยความเคารพ (RM 78)
    Roman Canon หรือ   “บทขอบพระคุณ” ของมิสซาแห่งสังคายนาเมืองเตร็นท์ เนื่องจากเป็นตัวบทที่โบราณมาก ถูกปล่อยไว้แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเลย แต่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สุดคือ บทขอบพระคุณ หรือ Canon บทนี้ได้สูญเสียอภิสิทธิ์ที่ได้รับจากสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ให้เป็นบทขอบพระคุณเพียงบทเดียวสำหรับจารีตโรมัน อันที่จริงก่อนสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์นั้นเคยมี “บทขอบพระคุณ” (Canon) หลายแบบในจารีตโรมัน สภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ได้เลือกและบังคับให้ใช้บทนี้เพียงบทเดียว มาตรการนี้จำเป็นในสมัยนั้น ที่มีความสับสนวุ่นวายอย่างมากหลังการปฏิรูปทางศาสนาของชาวโปรเตสแตนท์
    เป็นความจริงว่า the Roman Canon เป็นบทภาวนาขอบพระคุณที่เก่าแก่มาก ดังนั้น ในมิสซาที่สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ทรงรับรองเมื่อปี ค.ศ.1969 จึงยังเก็บรักษาไว้ และจัดให้เป็นบทขอบพระคุณบทที่ 1 ยังได้มีการเพิ่มบทขอบพระคุณอื่นๆเข้ามาอีก (และยังอาจจะมีเพิ่มได้อีก) ซึ่งมีโครงสร้างที่ชัดเจนกว่าและเหมาะสมกว่าสำหรับการเฉลิมฉลองร่วมกัน
    หลังสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ พระสงฆ์สวดบทขอบพระคุณที่ 1 หรือ The Roman Canon เงียบๆ เป็นภาษษละติน สัตบุรุษจึงรู้จักบทภาวนานี้น้อยมาก (นอกจากคนที่มีหนังสือมิสซาส่วนตัวที่มีคำแปลเป็นภาษาท้องถิ่น) แต่เมื่ออนุญาตให้สวดบทขอบพระคุณเสียงดังเป็นภาษาของประชาชนได้ พระสงฆ์หลายองค์จึงเลือกบทขอบพระคุณอื่นๆ ที่เหมาะกว่าสำหรับการประกอบพิธีร่วมกัน แต่การนี้ก็ทำให้พระสงฆ์บางองค์ที่คุ้นเคยกับบทขอบพระคุณที่ 1 รู้สึกไม่สบายใจ
    - ให้เราพิจารณาสั้นๆ ถึงโครงสร้างและลำดับความคิดใน Roman Canon เพื่อจะได้เห็นว่าบทขอบพระคุณบทนี้เข้าใจได้ยาก ถ้ามีการสวดบทนี้เป็นเสียงดังให้ทุกคนได้ยิน
    เรามีความรู้สึกว่า บทขอบพระคุณบทนี้เป็นการนำบทภาวนาหลายๆบทที่เป็นเอกเทศเข้ามารวมกันไว้ด้วยกันโดยไม่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันเลย บทขอบพระคุณ หรือ Canon บทนี้ดูเหมือนจะขาดเอกภาพที่สัตบุรุษจะเข้าใจได้ง่ายๆ ความรู้สึกเช่นนี้เห็นชัดขึ้นจากข้อความสรุปตอนปลายของบทภาวนาเหล่านี้ว่า “ทั้งนี้ ขอพึ่งพระบารมีพระคริสตเจ้า อาแมน” ถึงสี่ครั้ง ลักษณะประการนี้ปรากฏชัดทันทีเมื่อเราเปรียบ Roman Canon กับบทขอบพระคุณโบราณบทอื่น หรือ บทขอบพระคุณต่างๆที่เรามีเดี๋ยวนี้ในหนังสือมิสซาแบบใหม่ ข้อความเริ่มต้น ‘Te igitur rogamus’ (ดังนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงกราบวอนขอพระองค์) ก็ทำให้เรารู้สึกสับสนแล้ว ถึงอย่างไร บทภาวนาของ Canon ก็ไม่ต่อเนื่องกับ “บทนำขอบพระคุณ” (Perface) และบท “ศักดิ์สิทธิ์” (Sanctus) ก่อนหน้านั้น พระสงฆ์กล่าวว่า “(ดังนั้น) ข้าแต่พระบิดาผู้พระทัยดีอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าทั้งหลายกราบวอนขอ ... ได้ทรงรับและบันดาลให้สิ่งของที่ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายนี้ศักดิ์สิทธิ์...  ของถวาย เครื่องบูชาศักดิ์สิทธิ์ไร้ตำหนิเหล่านี้ ที่ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายแด่พระองค์ ก่อนอื่นหมด เพื่อพระศาสนจักรคาทอลิกศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์...” คำว่า “ดังนั้น” ต่อเนื่องกับคำใดก่อนหน้านั้น? บทขอบพระคุณอื่นๆมีความชัดเจนกว่าในการเชื่อมบท “ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์” ก่อนหน้านั้นกับข้อความว่า “ข้าแต่พระบิดาเจ้า พระองค์ทรงเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง และทรงเป็นบ่อเกิดแห่งความศักดืสิทธิ์ทุกประการ...”
    บทขอบพระคุณที่ 1 หรือ The Roman Canon ดำเนินต่อไปด้วย “บทระลึกถึง” – ข้าแต่พระเจ้า โปรดระลึกถึงข้ารับใช้... “ข้าพเจ้าพร้อมใจกันระลึกถึงพระนางมารีย์ผู้ทรงเป็นพรหมจารีย์เสมอ พระชนนีของพระเจ้า... ทั้งนี้ ขอพึ่งพระบารมีพระคริสตเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย อาแมน” “ข้าแต่พระเจ้า โปรดกรุณารับเครื่องบูชานี้ที่ข้าพเจ้าทั้งหลายถวายร่วมกับข้ารับใช้ทั้งมวล... ทั้งนี้ ขอพึ่งพระบารมีพระคริสตเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย อาแมน” “โปรดเถิดพระเจ้าข้า โปรดประทานพร เห็นชอบ และรับรองของถวายเหล่านี้ โปรดบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พอพระทัย...”
    ต่อจากนั้นก็มาถึงการเล่าเรื่องการตั้งศีลมหาสนิท และถ้อยคำเสกศีลที่พระเยซูเจ้าตรัสในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย เป็นการแปลกนิดหน่อยที่ใน Roman Canon (แต่ไม่ใช่ในบทขอบพระคุณอื่นๆ) มีถ้อยคำที่ไม่ถูกบันทึกไว้ในพระวรสารฉบับใดเลยทั้งสี่ฉบับ The Roman Canon กล่าวว่า “พระองค์ทรงหยิบปังไว้ในพระหัตถ์ศักดิ์สิทธิ์ เงยพระพักตร์ขึ้นหาพระองค์...” ข้อความนี้ไม่พบในพระวรสารฉบับใดเลย
    แล้วข้อกำหนดจารีตพิธี (the rubric) จึงกำหนดให้พระสงฆ์กล่าวคำเสกศีลว่า “เพราะนี่เป็นกายของเรา” มีแต่คำเหล่านี้เท่านั้น ได้รับการเน้นว่าเป็นสูตรการเสกขนมปัง ธรรมประเพณีพิธีกรรมของทุกจารีตปฏิบัติตามการเล่าในพระวรสารของนักบุญลูกา และนักบุญเปาโลที่เน้นว่าข้อความทั้งหมดต้องกล่าวว่า “นี่เป็นกายของเราที่จะมอบเพื่อท่าน” และนี่เป็นถ้วยโลหิตของเรา... ซึ่งจะหลั่งออกเพื่ออภัยบาปสำหรับท่านและมนุษย์ทั้งหลาย...” บรรดาผู้มีความเชื่อก็จะเข้าใจว่าพระเยซูเจ้าทรงเชิญเราให้กินเนื้อและดื่มโลหิตของพระองค์เพื่อมีส่วนร่วมในการถวายบูชาของพระองค์บนไม้กางเขน
    ที่สำคัญมากกว่านั้นคือการนำข้อความว่า “พระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ” (The Mystery of Faith) มาแทรกไว้ตรงกลางข้อความที่พระเยซูเจ้าตรัสเหนือถ้วยกาลิกส์ในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายว่า “นี่เป็นถ้วยโลหิตของเรา (โลหิต)แห่งพันธสัญญาใหม่อันยืนยง – พระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ – (โลหิต)ซึ่งจะหลั่งออกสำหรับท่านและมนุษย์ทั้งหลาย” ไม่มีการกล่าวถึงข้อความนี้เลยทั้งในหนังสือฉบับใดของพันธสัญญาใหม่ หรือในบทขอบพระคุณในสมัยแรกๆ (รวมทั้งบทขอบพระคุณ หรือ Canon อื่นๆของจารีตโรมัน) ในด้านประวัติศาสตร์ จึงไม่แน่ว่าวลี “พระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ” นี้ถูกนำมาแทรกใน Canon เมื่อใด และยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า ความหมายที่ถูกต้องคืออะไรกันแน่ หนังสือมิสซาฉบับใหม่ยังคงเก็บรักษาวลีนี้ไว้ แต่จัดไว้หลังการเสกศีล เป็นคำเชิญชวนประชาชนให้ประกาศยืนยันพระธรรมล้ำลึกปัสกา การสิ้นพระชนม์ การกลับคืนพระชนมชีพ และการเสด็จกลับมาในยุคสุดท้ายเมื่อสิ้นพิภพว่าเป็นสาระสำคัญของธรรมล้ำลึกในความเชื่อของเรา พระสงฆ์กล่าวเชิญประชาชนว่า “ให้เราประกาศพระธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ” และประชาชนตอบว่า “พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์ พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง” หรือ “ข้าแต่พระเยซูเจ้า ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าทั้งหลายรับประทานปังและดื่มจากถ้วยนี้ ก็เป็นการประกาศว่าพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ ทั้งนี้ จนกว่าจะเสด็จกลับมาอีก” หรือ คำประกาศยืนยันความเชื่อที่มีข้อความคล้ายๆกัน ข้าพเจ้าเห็นว่า การจัดลำดับใหม่นี้ฉลาดเฉียบแหลมมาก เพราะเป็นการช่วยประชาชนให้เข้าใจและมีส่วนร่วมในพิธีกรรมได้เป็นอย่างดี
    จุดอ่อนอีกข้อหนึ่งใน Roman Canon ก็คือการไม่เน้นชัดเจนถึงบทบาทของพระจิตเจ้าในพิธีกรรมมิสซา บทบาทของ ‘epiclesis’ (บทภาวนาอัญเชิญพระจิตเจ้า) ในบทขอบพระคุณมีประวัติศาสตร์ยาวนานมาก บทขอบพระคุณอื่นในหนังสือมิสซาฉบับใหม่มีบท epiclesis สองบท บทหนึ่งสำหรับการเสกขนมปังและเหล้าองุ่นซึ่งมีความว่า “โปรดทรงพระกรุณาส่งพระจิตเจ้ามาบันดาลให้ปังและเหล้าองุ่นนี้ศักดิ์สิทธิ์ เปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูคริสตเจ้าสำหรับข้าพเจ้าทั้งหลาย” พระสงฆ์สวด epiclesis อีกบทหนึ่งก่อนที่ประชาชนจะรับศีลมหาสนิท ความว่า “โปรดให้พระจิตเจ้าทรงรวบรวมทุกคนที่รับพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าแล้วให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน”
    มีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งยังอาจเป็นที่ถกเถียงกันได้ ในมิสซาเราถวายบูชาไม่ใช่ของเรา แต่ถวายบูชาของพระเยซูเจ้า บูชานี้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้าตลอดเวลา ในบทขอบพระคุณ เราระลึกถึงและขอบพระคุณสำหรับพระราชกิจน่าพิศวงที่พระเจ้าทรงกระทำสำหรับพวกเราในประวัติศาสตร์ความรอดพ้น ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญน้อยกว่า เมื่อข้าพเจ้ายังเป็นเด็กช่วยมิสซาในหมู่บ้านของข้าพเจ้าที่ประเทศอิตาลี ข้าพเจ้าพบว่ามีเครื่องหมายกางเขนที่ (ดูเหมือนจะ) ไม่มีวันจบสิ้น ที่พระสงฆ์ทำเหนือแผ่นปังและถ้วยกาลิกส์อยู่อย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องน่าฉงนและน่าขำในเวลาเดียวกัน เครื่องหมายกางเขน 25 ครั้งที่พระสงฆ์เคยทำเหนือแผ่นปังและถ้วยกาลิกษ์ในช่วงเวลาสวดบท Canon (15 ครั้งหลังจากเสกศีลแล้ว) เวลานี้ถูกลดจำนวนลงเหลือเพียงครั้งเดียวก่อนการเสกศีล
    ข้าพเจ้าต้องการสรุปข้อสังเกตสั้นๆเหล่านี้เกี่ยวกับ The Roman Canon โดยยกข้อความจากหนังสือมิสซาฉบับใหม่ บรรยายถึงองค์ประกอบสำคัญในการเรียบเรียงบทขอบพระคุณดังต่อไปนี้ ซึ่งได้แก่ การขอบพระคุณซึ่งแสดงออกโดยเฉพาะใน “บทนำขอบพระคุณ” , การโห่ร้องถวายพระพร (เมื่อผู้มาชุมนุมทุกคนมาร่วมใจกับบรรดาทูตสวรรค์ขับร้องบท “ศักดิ์สิทธิ์”), บทอัญเชิญพระจิตเจ้า, การเล่าเรื่องการตั้งศีลมหาสนิทและเสกศีล, การระลึกถึง (ในพิธีนี้พระศาสนจักรปฏิบัติตามพระบัญชาที่ได้รับจากพระคริสตเจ้า), การถวาย (เมื่อระลึกถึงเหตุการณ์เหล่านี้ พระศาสนจักร โดยเฉพาะที่มาชุมนุมกันที่นี่และขณะนี้ ถวายเครื่องบูชานิรมลแด่พระบิดาในองค์พระจิตเจ้า พระศาสนจักรต้องการให้สัตบุรุษไม่เพียงแต่ถวายเครื่องบูชาเท่านั้น แต่ให้รู้จักถวายตนเป็นเครื่องบูชายิ่งวันยิ่งสมบูรณ์ขึ้น), บทภาวนาอ้อนวอน (เพื่อตนเองและเพื่อสมาชิกทุกคนทั้งที่ยังมีชีวิตและที่ล่วงลับไปแล้ว) บทยอพระเกียรติตอนปลาย (RM 79)
    พระศาสนจักรปฏิรูปพิธีกรรม แต่พิธีกรรมก็ปฏิรูปพระศาสนจักรด้วย พระสงฆ์ทุกองค์ที่ถวายมิสซาพร้อมกับประชาชนรู้ดีว่า มิสซามีอิทธิพลอย่างมากในการอบรมคริสตชนอย่างต่อเนื่อง ทุกๆสัปดาห์ แบบอย่างคำภาวนาของคริสตชนค่อยๆถูกปลูกฝังไว้ในจิตใจของประชาชนอย่างช้าๆ อยู่ตลอดเวลา ให้อธิษฐานภาวนาพร้อมกับพระเยซูเจ้า ในพระจิตเจ้า ต่อพระบิดาของพระองค์และพระบิดาของเรา
    - ในพิธีภาครับศีลมหาสนิทของ The Roman Canon หลังจากที่พระสงฆ์และประชาชนได้สวดหรือขับร้องบทข้าแต่พระบิดาแล้ว มีการเสริมบทเทิดพระเกียรติว่า “เหตุว่า พระอาณาจักร พระอานุภาพ และพระสิริรุ่งโรจน์เป็นของพระองค์ตลอดนิรันดร” ข้อความนี้ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางพระคัมภีร์จากต้นฉบับคัดลอกโบราณบางฉบับ เห็นได้ชัดว่าถูกเสริมเข้ามาเพราะเหตุผลด้านคริสตศาสนิกสัมพันธ์แสดงให้เห็นการเปิดกว้างของพิธีกรรมคาทอลิกโดยยินดีรับองค์ประกอบจากคริสตจักรอื่นๆด้วย ตราบใดที่องค์ประกอบเหล่านี้ ไม่ขัดกับสาระสำคัญของความเชื่อของเรา
    - องค์ประกอบใหม่อีกประการหนึ่งก็คือพิธีแสดงความเป็นมิตร (sign of peace) ต่อกัน (ซึ่งจะทำหรือไม่ทำก็ได้) พิธีนี้เป็นพิธีคืนดีหรือการจุมพิตแห่งสันติที่โบราณมาก เป็นเครื่องหมายการคืนดีในหมู่ผู้จะรับศีลมหาสนิท นับเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเตรียมตัวรับศีลมหาสนิท พิธีนี้ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่สำหรับผู้มีความเชื่อทุกคน และไม่ถูกจำกัดอยู่สำหรับคณะสงฆ์ในมิสซาใหญ่เท่านั้นอย่างที่เคยปฏิบัติกันในมิสซาของสภาสังคายนาเมืองเตร็นท์ บัดนี้ สัตบุรุษก็อาจรับศีลมหาสนิทภายใต้รูปปรากฏทั้งสองได้ และฆราวาสก็อาจทำหน้าที่เป็นศาสนบริกรแจกศีลมหาสนิทได้ด้วย
    - ในมิสซาของสภาสังคายนาเมืองเตร็นท์ พระสงฆ์แจกศีลมหาสนิทโดยใช้แผ่นศีลทำเครื่องหมายกางเขนเหนือผู้รับศีลแต่ละคน พูดว่า “ขอให้พระกายของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงรักษาวิญญาณของท่านสำหรับชีวิตนิรันดร อาแมน” ในมิสซาใหม่ พระสงฆ์หรือศาสนบริกรศีลมหาสนิท ถือแผ่นศีลหรือถ้วยกาลิกษ์ต่อหน้าผู้รับศีล กล่าวว่า “พระกายพระคริสตเจ้า” “พระโลหิตพระคริสตเจ้า” และผู้รับศีลฯตอบเป็นแสดงความเชื่อว่า “อาแมน”
    - จารีตภาคปิดพิธีก็ถูกทำให้เรียบง่ายขึ้นด้วย ในมิสซาของสภาสังคายนาเมืองเตร็นท์ หลังจากที่พระสงฆ์กล่าวคำอำลาประชาชนแล้ว (ite, Missa est หรือ “มิสซาจบแล้ว จงไปในสันติเถิด”) ท่านยังกล่าวบทภาวนาส่วนตัวเงียบๆ แล้วจึงอวยพรประชาชน ต่อจากนั้น (โดยปกติ) ยังอ่านพระวรสารของยอห์น และสวดบทภาวนาอื่นๆที่เชิงพระแท่นอีกก่อนจะจากไป
    ในมิสซาใหม่ จารีตปิดพิธีถูกทำให้เรียบง่ายขึ้น พระสงฆ์อวยพรประชาชนแล้วจึงส่งเขากลับไปถวายมิสซาของตนต่อไปในชีวิตประจำวัน
    - ข้าพเจ้าได้กล่าวทบทวนอย่างเร็วๆ ถึงการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆที่สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 นำเข้ามาในมิสซาของสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ บัดนี้ให้เราพิจารณาดูการปฏิรูปศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีล (Sacramentals) อื่นๆ
    สภาสังคายนาฯย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า มาตรการที่สภาสังคายนาฯใช้เพื่อตรวจตราแก้ไขพิธีกรรมของศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีลก็คือ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างแข็งขันเต็มที่
    ก่อนอื่น สภาสังคายนาฯให้คำอธิบายทางเทววิทยาสั้นๆ ถึงจุดประสงค์และธรรมชาติของศีลศักดิ์สิทธิ์ แล้วจึงตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีปฏิรูปศีลศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นเพื่อช่วยให้ประชาชน “เข้าใจเครื่องหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นได้โดยง่าย”
    “ศีลศักดิ์สิทธิ์มีไว้เพื่อบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่มนุษย์ เพื่อเสริมสร้างพระกายของพระคริสตเจ้าและเพื่อถวายคารวกิจแด่พระเจ้า ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายยังมีจุดประสงค์เพื่อให้การสั่งสอนอบรมด้วย ผู้รับศีลต้องมีความเชื่ออยู่ก่อนแล้ว แต่ถ้อยคำและจารีตพิธีของศีลศักดิ์สิทธิ์ก็ยังหล่อเลี้ยง เสริมพลังและแสดงความเชื่อให้ปรากฏด้วย เพราะเหตุนี้ ศีลศักดิ์สิทธิ์จึงได้ชื่อว่า “ศีลแห่งความเชื่อ” ศีลศักดิ์สิทธิ์ประทานพระหรรษทานก็จริง แต่การประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ยังจัดเตรียมสัตบุรุษอย่างดีให้รับพระหรรษทานอย่างมีประสิทธิผล เพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้าอย่างเหมาะสม และปฏิบัติความรัก ดังนั้นจึงสำคัญอย่างยิ่งยวดที่สัตบุรุษจะต้องเข้าใจเครื่องหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์โดยง่าย และเอาใจใส่ไปรับศีลศักดิ์สิทธิ์บ่อยๆ เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์ตั้งขึ้นไว้ก็เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตคริสตชน” (SC 59)
    “ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รายละเอียดบางประการของพิธีได้แทรกเข้าไปในการประกอบศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีล ทำให้คนในสมัยนี้เข้าใจลักษณะและจุดหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์และสิ่งคล้ายศีลได้น้อยลง จึงจำเป็นต้องปรับปรุงบางสิ่งบางอย่างให้เหมาะสมกับสภาพในสมัยของเรา สภาสังคายนาจึงกำหนดให้ปรับปรุงแก้ไขพิธีต่างๆดังต่อไปนี้” (SC 62)
    “ให้รื้อฟื้นกระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน ซึ่งแบ่งเป็นหลายขั้นตอน และจะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของสมณะประมุขท้องถิ่น...” (SC 64)
    “ให้ปรับปรุงแก้ไขจารีตพิธีสำหรับศีลล้างบาปเด็กทารก ให้สอดคล้องกับสภาพจริงของเด็กอ่อน นอกจากนั้น บทบาทและหน้าที่ของบิดามารดาและพ่อแม่อุปถัมภ์ จะต้องปรากฏชัดในจารีตพิธีด้วย” (SC 67)
    “ให้ปรับปรุงแก้ไขจารีตพิธีศีลกำลังด้วย เพื่อแสดงให้เห็นขัดยิ่งขึ้นว่า ศีลศักดิ์สิทธิ์นี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกระบวนการรับผู้ใหญ่เข้าเป็นคริสตชน” (SC 71)
    “ให้ปรับปรุงแก้ไขจารีตพิธีและสูตรของศีลอภัยบาป เพื่อแสดงลักษณะและผลของศีลนี้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น” (SC 72)
    “ศีลทาสุดท้าย” หรือที่ถูกกว่านั้น ควรเรียกว่า “ศีลเจิมคนไข้” ไม่เป็นเพียงศีลสำหรับผู้ที่ใกล้จะตายเท่านั้น ดังนั้น เวลาเหมาะที่จะรับศีลนี้จึงเริ่มตั้งแต่สัตบุรุษอยู่ในอันตรายจะตายเพราะความเจ็บป่วยหรือเพราะวัยชรา” (SC 73)
    “ให้ปรับปรุงแก้ไขพิธีศีลบวชขั้นต่างๆ ทั้งจารีตพิธีและตัวบทที่ใช้” (SC 76)
    “ให้ปรับปรุงแก้ไขพิธีศีลสมรสซึ่งมีอยู่ในหนังสือจารีตพิธีโรมัน และทำให้สมบูรณ์ เพื่อแสดงให้เห็นพระหรรษทานของศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเน้นถึงหน้าที่ของคู่บ่าวสาว” (SC 77)
    “ให้ปรับปรุงแก้ไขสิ่งคล้ายศีล โดยคำนึงถึงหลักการพื้นฐานให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมโดยรู้ตัวแข็งขันและเข้าใจง่าย จะเพิ่มสิ่งคล้ายศีลใหม่ขึ้นอีกก็ได้ถ้าจำเป็น” (SC 79)
    “ให้ปรับปรุงแก้ไขจารีตพิธีถวายตนของหญิงพรหมจารีตามที่มีอยู่แล้วในหนังสือจารีตพิธีโรมันของพระสังฆราช...” (SC 80)
    “จารีตพิธีปลงศพ จะต้องแสดงให้เห็นลักษณะธรรมล้ำลึกปัสกาของความตายแบบคริสตชนอย่างเด่นชัดยิ่งขึ้น และจะต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและประเพณีของแต่ละท้องถิ่นยิ่งขึ้น แม้ในการใช้สีของอาภรณ์ในพิธีกรรมด้วย” (SC 81)
    มติของสภาสังคายนาฯถูกนำมาปฏิบัติและหนังสือพิธีกรรมฉบับใหม่ก็ได้รับการรับรองและประกาศใช้โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 เราอาจกล่าวได้อย่างมั่นใจว่าการปฏิรูปที่สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 เกี่ยวกับพิธีกรรมตามแบบสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ทุกๆด้าน คือ มิสซา ศีลศักดิ์สิทธิ์ สิ่งคล้ายศีล (sacramentals) และหนังสือทำวัตร บรรดาผู้มีความเชื่อส่วนใหญ่ยินดีรับการปฏิรูปนี้ และจากมุมมองด้านอภิบาล พิธีกรรมแบบใหม่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมพิธีกรรม ได้รับความศักดิ์สิทธิ์จากพิธีกรรม และใช้พิธีกรรมถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าได้เป็นอย่างดี ทุกคนที่มีบทบาทในงานอบรมประชาชนในด้านพิธีกรรม ซึ่งเป็นงานที่เรียกร้องความรับผิดชอบอย่างมากนี้ทราบดีว่าเราได้รับพระพรอย่างมากมาย เราอาจถามว่า “งานปฏิรูปนี้รุนแรงเกินไปหรือเปล่า?” “นี่ไม่ใช่การแยกตัวจากธรรมประเพณีที่เคยปฏิบัติมาโดยสิ้นเชิงหรือ?” โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้ามิได้เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นเลย ข้าพเจ้ารู้สึกเช่นนั้นทุกครั้งที่กำลังประกอบพิธีพร้อมกับประชาชน ข้าพเจ้ามีความรู้สึกมั่นใจว่าพระเยซูเจ้าประทับอยู่ในหมู่เรา พวกเรามีความสัมพันธ์กับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทุกองค์นับตั้งแต่สมัยของบรรดาอัครสาวกจนถึงสมัยของเราในวันนี้... เราอธิษฐานภาวนาและประกอบกิจการในธรรมประเพณีของพระศาสนจักรหนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ สากล และสืบเนื่องจากอัครสาวก ซึ่งแสดงตนเป็นปัจจุบันในแต่ละชุมชนเล็กๆที่มาชุมนุมกัน ถึงกระนั้น ถ้าบ่างคนย้ำว่า การปฏิรูปพิธีกรรมของวาติกันที่ 2 เป็นการถอนรากถอนโคนเกินไปและแยกตัวออกไปจากธรรมประเพณี ก็ขอให้เขามีความจริงใจอย่าไปซ่อนตัวอยู่หลัง “การทดลองอย่างยุ่งเหยิงที่ถูกทำขึ้นโดยบรรดาพระสงฆ์ที่สับสน” ให้เราเผชิญหน้ากับผู้ผิดจริงๆ... วาติกันที่ 2 และสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ซึ่งทรงเป็นผู้นำการประชุมนี้ ข้าพเจ้าไม่อยากจะกล่าวซ้ำข้อความที่ถูกใช้มามากเกินไปแล้วว่า “วาติกันที่ 2 ก็ดีอยู่หรอก แต่...” ข้าพเจ้าอยากจะเห็นในการปฏิรูปพิธีกรรมโดยวาติกันที่ 2 เหมือนกับที่บรรดาพระสังฆราชที่เข้าประชุมได้เห็น นั่นคือ “เป็นการถูกต้องที่จะถือว่า ความกระตือรือร้นในการส่งเสริมและฟื้นฟูพิธีกรรมเป็นเสมือนเครื่องหมายแสดงว่า พระเจ้าทรงพระทัยเอื้ออาทรต่อสมัยของเรา และเป็นเสมือนว่าพระจิตเจ้าทรงทำงานในพระศาสนจักร ความกระตือรือร้นนี้ประทับตราคุณลักษณะเฉพาะแก่ชีวิตพระศาสนจักร แก่วิธีคิดและปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาในสมัยปัจจุบันด้วย” (SC 43)