แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ในพิธีกรรม พระเจ้าทรงได้รับการถวายพระสิริรุ่งโรจน์อย่างสมบูรณ์ และทรงบันดาลความศักดิ์สิทธิ์แก่มนุษย์ (SC7)
    พิธีกรรมมิได้เป็นเพียงคารวกิจต่อพระเจ้า แต่ก่อนอื่นหมด พิธีกรรมเป็นการกระทำของพระเจ้าต่อเรา ผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้า พระเจ้าทรงกอบกู้ บันดาลให้เราศักดิ์สิทธิ์และตรัสกับเรา และดังนี้ เราจึงอาจถวายคารวกิจต่อพระเจ้าได้ ในบทขอบพระคุณแบบที่ 2  พระสงฆ์ภาวนาในนามของผู้ร่วมพิธีทุกคน ขอบพระคุณพระเจ้าด้วยถ้อยคำดังนี้ “ข้าแต่พระบิดาเจ้า ข้าพเจ้าทั้งหลายกำลังระลึกถึงการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า ขอน้อมถวายปังอันบันดาลชีวิต กับถ้วยโลหิตอันบันดาลความรอดนี้แด่พระองค์ ขอขอบพระคุณที่ทรงเลือกสรรข้าพเจ้าทั้งหลาย ให้มารับใช้เฉพาะพระพักตร์พระองค์”

ก่อนที่เราจะมายืนที่พระแท่นเพื่อรับใช้พระเจ้าได้ พระองค์ทรงเลือกสรรและทำให้เราเหมาะสมที่จะรับใช้พระองค์
    การที่ทรงบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ให้เราเป็นพระสิริรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระเจ้า คำว่า “คารวกิจ” หรือ “การนมัสการ” เป็นคำที่ไม่เหมาะนักเพื่อแสดงถึงสาระสำคัญของการนมัสการและถวายคารวะแบบคริสตชนแด่พระเจ้า คำว่า “Liturgy” (ที่เราแปลว่า “พิธีกรรม”) เป็นคำที่เหมาะกว่าเพื่อบรรยายถึง “คารวกิจของคริสตชน” ที่มีลักษณะเป็น “การไหลสองทาง” คือจากพระเจ้าถึงเรา และจากเราไปหาพระเจ้า คำว่า “Liturgy” เป็นคำจากภาษากรีกว่า “leitourgia” ซึ่งแปลว่า “กิจกรรมของประชาชน” จึงอาจหมายถึง ทั้งกิจกรรมที่ทำเพื่อประชาชนหรือทำโดยประชาชน พิธีกรรมจึงมีความหมายทั้ง “งานของพระเจ้าเพื่อบันดาลให้เราศักดิ์สิทธิ์ และ งานของเราเพื่อถวายคารวกิจแด่พระเจ้า”
    พิธีกรรมของคริสตชนจึงมีลักษณะทั้งสองประการนี้ของพระภารกิจกอบกู้ของพระเยซูเจ้า ในพระเยซูเจ้า พระเจ้าตรัสกับเรา และทรงรักเราก่อน และในพระเยซูเจ้าเราสนทนากับพระเจ้าและได้รับความช่วยเหลือให้รักพระเจ้าได้ ตัวอย่างดีที่สุดของเรื่องนี้คือ “วจนพิธีกรรม” ในมิสซา ซึ่งมีโครงสร้างตามแนวทางการสนทนาโต้ตอบกันเช่นนี้ การอ่านพระคัมภีร์ในมิสซาเป็นการที่ผู้มีความเชื่อทำให้การสนทนาโต้ตอบระหว่างพระเจ้าและประชากรของพระองค์ ซึ่งเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ความรอดพ้นที่ยาวนานนี้เป็นปัจจุบันขึ้นมาอีก พระเจ้าตรัสกับที่ประชุมโดยบทอ่านบทแรก และที่ประชุมตอบพระเจ้าโดยเพลงสดุดีตอบรับ ที่ประชุมตอบรับพระวาจาของพระเจ้าที่ประกาศในบทอ่านที่สองโดยขับร้อง “อัลเลลูยา” ที่ในขณะเดียวกัน เป็นการต้อนรับพระวาจาของพระเยซูเจ้าที่บันทึกไว้ในพระวรสาร พระวาจาของพระเยซูเจ้าได้รับการประกาศโดยการอ่านพระวรสารและบทเทศน์อธิบายพระคัมภีร์ (Homily) บท “ข้าพเจ้าเชื่อ” และบทภาวนาของผู้มีความเชื่อเป็นคำตอบของประชากร
    การที่เราจะร่วมมิสซาอย่างแข็งขันและตื่นตัวโดยสนทนาโต้ตอบกับพระเจ้าในพระเยซูเจ้า หรือ การที่เราจะเป็นเพียงผู้รับฟังบทอ่านละคำอธิบายตัวบทโบราณเหล่านี้เท่านั้น... จึงมีความแตกต่างกัน พิธีมิสซาเป็นประสบการณ์ที่งดงาม ลึกซึ้ง มีผลด้านจิตใจและเป็นการเดินทางไปพบพระเจ้าโดยมีพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้นำ และพระจิตเจ้าทรงคอยช่วยเหลือ แต่ก็อาจเปลี่ยนไปเป็นเพียงความรู้สึกส่วนตัวทางศาสนาถึง “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” อย่างเลือนราง หรือเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงของชั้นเรียนที่น่าเบื่อ การปฏิรูปพิธีกรรมโดยสภาสังคายนาฯ มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงประสบการณ์สุดขั้วทั้งสองนี้ เพื่อจะเข้าใจการปฏิรูปเหล่านี้ได้ จึงจำเป็นต้องเข้าใจก่อนอื่นหมดถึงหลักการทางเทววิทยา ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจบรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมให้ตัดสินใจเรื่องที่ท้าทายนี้อย่างที่ท่านได้ทำ การทำเพียงแต่ปฏิบัติตามจารีตพิธีหรือกฎเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับจารีตพิธีคงจะเป็นเรื่องไร้สาระและผิวเผิน การอบรมบรรดาฆราวาสเกี่ยวกับเรื่องพิธีกรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สภาสังคายนาฯจึงกล่าวว่า
    “การปรับปรุงแก้ไขและส่งเสริมพิธีกรรมต้องมีจุดประสงค์ก่อนอื่นหมด ที่จะให้ประชากรทั้งหมดร่วมพิธีกรรมอย่างเต็มที่และอย่างแข็งขัน เพราะพิธีกรรมเป็นบ่อเกิดแรกและจำเป็นที่ผู้มีความเชื่อจะตักตวงชีวิตจิตแบบคริสตชนอย่างแท้จริง ดังนั้น บรรดาผู้อภิบาลจึงต้องพยายามสุดความสามารถในงานอภิบาลทั้งหมด ที่จะให้ผู้มีความเชื่อได้รับการอบรมอย่างเหมาะสม กระนั้นก็ดี จุดประสงค์นี้จะบรรลุถึงไม่ได้ ถ้าบรรดาผู้อภิบาลเองไม่เป็นคนแรกที่มุ่งมั่นจะซึมซับจิตตารมณ์และพลังของพิธีกรรม และกลับเป็นครูสอนผู้อื่นในเรื่องนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความสำคัญอันดับแรกแก่การอบรมเรื่องพิธีกรรมสำหรับบรรดาบรรพชิต ดังนั้น สภาสังคายนาฯจึงกำหนดข้อปฏิบัติไว้ดังต่อไปนี้...(SC14)