แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

 เทววิทยาของพิธีกรรมวันพระเจ้า


การไปวัดวันพระเจ้า

173วันพระเจ้าหรือวันอาทิตย์มีบทบาทสำคัญมากในชีวิตจิตของคริสตชน เป็นวันที่สัตบุรุษจะได้สัมผัสลึกๆ ว่าการเป็นพระศาสนจักรนั้นหมายถึงอะไร หลายๆ ศาสนาต่างพากันอุทิศวันหนึ่งในรอบสัปดาห์ให้บรรดาศาสนิกชนของตนมาร่วมกันทำพิธีนมัสการและเป็นหนึ่งเดียวกันในฐานะที่เป็นชุมชนแห่งความเชื่อเดียวกัน  ชาวยิวถือวันเสาร์ และชาวมุสลิมเอาวันศุกร์  แต่บรรดาคริสตชนทั่วโลกถือเอาวันอาทิตย์เป็นวันของพระเจ้า การถือวันอาทิตย์เป็นวันพระเจ้านี้ทำให้พวกเขาแตกต่างจากผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ในสมัยแรกๆพวกคนนอกศาสนาจึงพูดถึงพวก คริสตชนว่าเป็น “พวกวันอาทิตย์” วันอาทิตย์ในบริบทนี้มีอะไรบางอย่างที่จะต้องนำเอามาพูดว่าพวกเขาปฏิบัติกันอย่างไรในวันนี้ คือการเฉลิมฉลอง Dominicum ซึ่งเป็นนามที่ใช้แทนคำศีลมหาสนิท เพราะว่า Dominicum  ทำการฉลองกันในวันแรกของสัปดาห์ วันอาทิตย์จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นวันของพระเจ้า (dies dominica) เพราะฉะนั้นจึงมีการเรียกวันอาทิตย์ในหลายๆภาษาว่าเป็นวัน domenica, domingo, demanche  วันของพระเจ้า (dies dominica) จึงเป็นวันสำหรับศีลมหาสนิท (Dominicum)

เป็นที่น่าเสียดายว่าสัญลักษณ์ของวันอาทิตย์ได้หายสาบสูญไปในหลายๆประเทศที่เคยเป็นคาทอลิกมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปยุโรป เสียงระฆังโบสถ์เงียบหายไป วัดเหลือสัตบุรุษแค่ครึ่งเดียว เสื้อผ้าอาภรณ์ที่เคยสวมใส่กันอย่างสวยหรูในวันอาทิตย์ไม่มีให้เห็นกันอีกแล้ว และการรับประทานพร้อมหน้ากันภายในครอบครัววันอาทิตย์ก็ไม่มีให้เห็นอีกเช่นกัน สำหรับประเทศฟิลิปปินส์พระศาสนจักรยังสามารถที่จะภูมิใจได้และก็ต้องขอบคุณพระเจ้ารวมถึงพระสงฆ์ผู้ให้การอภิบาลด้วย ขนบธรรมเนียมคาทอลิกยังมีชีวิตและปฏิบัติกันดีอยู่ ถึงแม้จะไม่เข้มแข็งอย่างที่เราอยากให้มันเป็นก็ตามที ประสบการณ์ของข้าพเจ้าในวันอาทิตย์ในช่วงราวๆ ปี 1990 ในแถบหมู่เกาะแปซิฟิกตอนใต้ยังเป็นสิ่งที่ฝังจารึกอยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้าจนยากที่จะลืมเลือน อย่างเช่นในเกาะซามัวตะวันตกสัตบุรุษแต่งตัวสีขาวแต่ละคนถือหนังสือพระคัมภีร์ (ปกแดงสำหรับคาทอลิกและปกดำสำหรับโปรเตสแตนต์นิกายเปรสไบเตเรียน) เดินเป็นแถวไปวัดเพื่อทำพิธีนมัสการในวันอาทิตย์ การเตรียมอาหารนั้นเขาทำกันในวันเสาร์และมีการจำกัดกันในเรื่องของการเดินทาง  การทานอาหารพร้อมหน้ากันในครอบครัวและการพักผ่อนตอนบ่ายคือส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตนในวันพระเจ้า  แล้วในตอนเย็นยังมีการไปวัดกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อการทำวัตร  มีครั้งหนึ่งที่ต้องปิดสนามบินในวันพระเจ้า  และสิ่งที่ไม่น่าเชื่อก็คือ  บรรดานักโทษได้รับอนุญาตให้กลับไปเยี่ยมครอบครัวได้ในวันพระเจ้าอีกด้วย


วันอาทิตย์มีความสำคัญอะไรกันนักหนา และการปฏิบัติตนในวันอาทิตย์มีบทบาทสำคัญอะไรในชีวิตฝ่ายจิตของเราในฐานะที่เป็นคริสตชน? ธรรมนูญของพระศาสนจักรว่าด้วยจารีตพิธีกรรม (มาตรา 106) เตือนว่าวันอาทิตย์ วันพระเจ้า “ควรส่งเสริมสัตบุรุษให้มีความศรัทธา”  เหตุว่าในวันนี้  ตามธรรมเนียมปฏิบัติของคริสตชน พระคริสตเจ้าได้ทรงเสด็จกลับฟื้นชีพจากความตาย  ปรากฏพระองค์แก่บรรดาอัครสาวก และยังคงกระทำเช่นนี้เรื่อยมาในทุกๆ วันอาทิตย์  เมื่อคริสตชนพากันมานมัสการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าวันอาทิตย์เป็นวันที่พระสงฆ์มีงานมากที่สุด  และคงจะเป็นวันที่พวกเขาไม่มีโอกาสพักผ่อนเลย (ศัพท์ลาตินใช้คำว่า otium ซึ่งข้าพเจ้าตั้งใจหมายถึง ณ ที่นี้) และพวกเขาจะต้องเผชิญหน้ากับพระผู้ทรงเสด็จกลับฟื้นชีพด้วยการสวดภาวนาส่วนตัว สิ่งที่ค่อยยังชั่วหน่อยก็คือ คุณพ่อเจ้าอาวาสในบางภูมิภาคของโลกได้รับการชดเชยแทนการไม่ได้หยุดพักในวันอาทิตย์ ด้วยวันจันทร์ซึ่งพวกเขาจะได้พักผ่อนกันอย่างเต็มคราบ  ซึ่งก็อาจเป็นคำอธิบายได้ว่าเหตุในจึงไม่มีการโปรดศีลใดๆ หรือพิธีปลงศพในวันจันทร์สำหรับประเทศฟิลิปปินส์


คงจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยหากจะตั้งข้อสังเกตว่า ระหว่างที่มีการประชุมสังคายนา  ผู้เข้าร่วมประชุมบางท่านเสนอว่า  วันนมัสการประจำสัปดาห์ควรจะเปลี่ยนเป็นวันอื่นที่เหมาะสมกว่า  อย่างเช่นหากเป็นวันศุกร์ก็น่าจะเหมาะสมดีสำหรับประเทศที่เป็นมุสลิม ซึ่งไม่ถือเอาวันอาทิตย์ว่าเป็นวันห้ามทำงาน ส่วนในพระศาสนจักรที่ยังเป็นสภาพมิสซังอยู่นั้น หากพระสงฆ์ว่างวันไหนวันนั้นก็น่าจะเหมาะสมดีสำหรับการนมัสการพระเจ้า แต่คณะกรรมาธิการแห่งสมัชชาตอบว่า ข้อบังคับให้ต้องไป “ร่วมมิสซา” อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งเป็นเรื่องกฎหมายของพระศาสนจักรซึ่งสังคายนาไม่ควรที่จะไปต้องแตะ จะอย่างไรก็ดี วันอาทิตย์ยังคงจะต้องเป็นวันของพระเจ้าอยู่ดี  เพราะเหตุว่าเป็นวันที่พระคริสตเจ้าทรงเสด็จกลับฟื้นชีพจากความตาย ด้านหนึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายพระศาสนจักร  ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องเทวศาสตร์ของวันอาทิตย์


วันอาทิตย์ในฐานะที่เป็นวันพระเจ้า

พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่บันทึกไว้ว่าพระคริสตเจ้าทรงเสด็จกลับคืนชีพในวันอาทิตย์  วันแรกของสัปดาห์ และเป็นวันที่ 3 หลังจากวันที่พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ หลังจากที่ได้เสด็จกลับคืนชีพแล้ว พระองค์ได้ทรงปรากฏองค์มาเยี่ยมบรรดาอัครสาวกตามคำบอกเล่าโดยพระวรสารของนักบุญลูกาบทที่ 24  และของนักบุญยวง บทที่ 21  โดยมีการกล่าวว่าพระองค์ทรงประจักษ์มาในวันแรกของสัปดาห์ ดูเหมือนจะเป็นความรู้สึกของอัครสาวกว่าวันอาทิตย์ไม่ใช่เป็นเพียงวันที่จะต้องระลึกถึงการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้าเท่านั้น แต่ยังจะต้องเป็นวันที่เราได้พบปะสัมผัสกับพระองค์ด้วย ในศตวรรษที่ 2 นักบุญจัสตินผู้เป็นมรณสักขีรายงานไว้ว่า  ในวันอาทิตย์ “เราทุกคนต่างพากันไปร่วมประชุมกัน  เพราะว่ามันเป็นวันที่พระเยซูคริสตเจ้าพระผู้ไถ่ของเราทรงฟื้นคืนชีพจากความตาย...และพระองค์ได้ทรงปรากฏให้บรรดาอัครสาวกและสานุศิษย์เห็น”  (Apology I, c. 67) ปกติเรามักถือกันว่าวันอาทิตย์คือวันแห่งการกลับฟื้นพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้า และเรามักจะเตือนบรรดาสัตบุรุษให้ไปวัดเพื่อทำการฉลองศีลมหาสนิทเพื่อเป็นการระลึกถึงการเสด็จกลับคืนชีพของพระคริสต์เจ้า แต่สำหรับเชิงอภิบาลคงจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยเลย หากเราจะอธิบายว่าวันอาทิตย์ยังเป็นวันแห่งการปรากฏองค์ของพระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงกลับฟื้นชีพจากความตาย ในวันอาทิตย์พระคริสตเจ้าทรงปรากฏองค์ต่อบรรดาสัตบุรุษที่มาชุมนุมกันโดยอาศัยการประกาศพระวาจาและการบิปัง ศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์จึงมิได้เป็นแต่เพียงการระลึกถึงการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้าเท่านั้น มันยังเป็นประสบการณ์แห่งการปรากฏองค์เสมอมาของพระคริสตเจ้าท่ามกลางสัตบุรุษที่มาชุมนุมกันอีกด้วย


พระคริสตเจ้าทรงปรากฏองค์มาหาศิษย์ของพระองค์อย่างไร? พระวรสารบอกเราว่า พระองค์ทรงปรากฏมาในพระวรกายที่ทรงกลับคืนชีพ พระองค์ทรงเดินผ่านประตูที่ปิดอยู่  และทันทีทันใดพระองค์ก็ทรงประทับอยู่ท่ามกลางพวกเขา พระองค์ทรงแสดงให้พวกเขาเห็นถึงเครื่องหมายแห่งการถูกตรึงบนไม้กางเขนของพระองค์ แล้วพระองค์ก็ทรงบอกโทมัสให้เอานิ้วมาสัมผัสกับรอยแผลที่ฝ่าพระหัตถ์และสีข้างของพระองค์ ความสำคัญแห่งการปรากฏองค์ในร่างกายของพระคริสตเจ้าไม่อาจที่จะมองข้ามหรือเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไปได้ คำคมของแตร์ตุลเลี่ยนช่างเหมาะสมเสียจริงๆ  caro, salutis cardo (กายกลายเป็นหลักประกันแห่งความรอด) การประจักษ์ด้วยพระวรกายของพระองค์ในเวลาต่อมาคือรูปแบบของการชุมนุมกันในวันอาทิตย์  มีการประกาศพระวาจา และมีการบิปัง


แต่การประจักษ์ของพระคริสตเจ้าที่มีผลต่อเนื่องกับการนมัสการพระเจ้าของเราในวันอาทิตย์นั้นถูกบันทึกโดยพระวรสารของนักบุญลูกาในบทที่ 24 วรรค 13-15 ศิษย์สองคนหมดกำลังใจ เพราะเหตุการณ์ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์จึงออกเดินทางจากนครเยรูซาเล็มโดยมุ่งหน้าไปยังเมืองเอมมาอุสเพื่อที่จะกลับบ้าน  วันนั้นเป็นวันอาทิตย์วันแรกของสัปดาห์และเป็นวันที่สามหลังจากวันที่พระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าทรงร่วมเดินทางไปกับพวกเขาโดยที่พวกเขาจำพระองค์ไม่ได้ พอตกเย็นเมื่อเดินทางไปถึงเอมมาอุสศิษย์ทั้งสองจึงเชิญหรืออาจขอร้องให้พระองค์ร่วมรับประทานอาหารเย็นกับพวกเขา เมื่อนั่งที่โต๊ะเรียบร้อยแล้วพระองค์ทรงหยิบปังขึ้น ทรงอธิษฐาน บิออก และมอบปังให้แก่เขาทั้งสอง ณ บัดดลนั้นตาเขาก็สว่างขึ้นมาทันที  พวกเขาจำพระองค์ได้เพราะการหักปังนั่นเอง พวกเขาจึงเข้าใจอำนาจแห่งคำพูดของพระองค์ที่ทรงมีต่อพวกเขา “เราไม่รู้สึกว่าดวงใจของเราลุกเป็นไฟดอกหรือในขณะที่พระองค์ทรงสนทนากับเราระหว่างทางและทรงอธิบายพระคัมภีร์ให้เรา?” ศิษย์ทั้งสองคุ้นเคยกับสไตล์ส่วนตัวที่พระเยซูทรงใช้เมื่อพระองค์ทรงเทศนาและบิปังในอาหารมื้อค่ำ พระเยซูทรงปฏิบัติเช่นเดียวกันครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นเวลา 3 ปี ก่อนที่พวกเขาจะได้ทำการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ความคุ้นเคยทำให้พวกเขาจำพระคริสตเจ้าได้  และสำหรับสัตบุรุษของเราทุกวันนี้จะให้มันแตกต่างไปจากสิ่งนี้ได้อย่างไร? คำพูดที่ชินหูและสัญลักษณ์ที่ชินตาในพิธีบูชาขอบพระคุณควรไหมที่จะเป็นเครื่องหมายที่แน่นอน เพื่อที่พวกเราจะได้ตระหนักดีถึงการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าท่ามกลางเรา?   


เรื่องราวเอมมาอุสคือภาพลักษณ์ของการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์สำหรับศิษย์รุ่นแรกของพระคริสตเจ้า พิธีประกอบด้วยการอ่านพระคัมภีร์และการบิปัง เมื่อผู้ประกอบพิธีอ่านและอธิบายพระวาจาต่อที่ชุมนุม พวกเขาก็จะเห็นด้วยสายตาแห่งความเชื่อว่าเป็นพระคริสตเจ้าเองที่ทรงประกาศพระวรสารแก่พวกเขา เฉกเช่นที่พระองค์ทรงได้กระทำในระหว่างการเดินทางไปเมืองเอมมาอุส และเมื่อพระสงฆ์หยิบปังและถ้วยเหล้าองุ่นขึ้นมา กล่าวขอบพระคุณ และแจกจ่ายให้กับสัตบุรุษ พวกเขาก็เข้าใจด้วยความเชื่อเช่นเดียวกันว่าพระคริสตเจ้าเองเป็นผู้ที่บิปัง เหมือนกับที่พระองค์ทรงกระทำในบ้านของศิษย์สองคนนั้น เรื่องราวเอมมาอุสดูเหมือนจะบอกเราว่า การเฉลิมฉลองของบรรดาคริสตชนที่เป็นหลักของวันอาทิตย์คือศีลมหาสนิท ในขณะที่พระคริสตเจ้าผู้ทรงฟื้นชีพทรงตรัสกับพวกเขาโดยอาศัยการประกาศพระวาจาของพระเจ้า และประทานพระองค์แก่พวกเขาในศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า


นับตั้งแต่โบราณกาลมาแล้วการถือวันอาทิตย์เป็นวันของพระเจ้าจะควบคู่กันเสมอกับการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท สำหรับคริสตชนยุคต้นๆ วันอาทิตย์เป็นวันของพระเจ้าและจะถือว่าวันนั้นไม่ได้ปฏิบัติกันอย่างถูกต้องหากไม่มีการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท พูดอีกอย่างหนึ่งคือ การเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทนั่นเองที่ทำให้วันอาทิตย์เป็นวันของพระเจ้า  ศีลมหาสนิทคือเอกลักษณ์หนึ่งเดียวและหนทางเดียวของพระศาสนจักร ในการำลึกถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าในวันอาทิตย์ รวมถึงการที่จะมีประสบการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่ากับการประทับอยู่ของพระองค์ในพระวาจาและในศีลศักดิ์สิทธิ์ เราได้รับการบอกกล่าวว่าในศตวรรษที่ 2 บรรดามรณสักขีชาวอาบีธีเนียนได้ทำการขอร้องผู้คุมอนุญาตพวกเขาให้ทำการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์ในคุก มิฉะนั้นแล้วพวกเขาจะใช้วันของพระเจ้าอย่างไรโดยที่ไม่ได้รับประสบการณ์กับการประทับอยู่ของพระองค์ในศีลศักดิ์สิทธิ์? บรรดาคริสตชนจะพากันยึดถือเอาวันของพระเจ้าเป็นวันที่มีความสำคัญสูงสุดเสมอ  จนว่าพวกเขาไม่มีทางที่จะจงใจละเลยมันไปได้  นั่นคือการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท  แม้จะเป็นช่วงเวลาแห่งการเบียดเบียน หรือแม้พวกเขาจะอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมหรือสังคมต่างด้าวชาวต่างแดนที่เป็นศัตรูกับความเชื่อของตน มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับคริสตชนที่ถูกเบียดเบียนแต่ก็แอบรวมตัวกันอย่างลับๆ ในวันอาทิตย์เพื่อที่จะทำการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิททั้งที่ต้องเสี่ยงกับชีวิต  พวกเขาเหล่านี้คือประจักษ์พยานที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับเรา


ดังนั้นจึงพอที่จะทำให้เราเข้าใจได้ว่าเหตุใดธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรม (มาตรา 106) จึงยืนยันว่า “ในวันนี้สัตบุรุษของพระคริสตเจ้าต้องมารวมตัวกัน เพื่ออาศัยการฟังพระวาจาของพระและมีส่วนร่วมในศีลมหาสนิท พวกเขาจะได้รำลึกถึงมหาทรมาน การเสด็จกลับคืนพระชนมชีพ  และพระสิริมงคลของพระเยซูคริสตเจ้า” ขออนุญาตหยิบยกเอาคำพูดในย่อหน้าที่ 180 แห่งเอกสารของการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 2 ของสภาพระสังฆราชฟิลิปปินส์ที่เน้นเรื่องความสำคัญของการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์สักหน่อย เอกสารดังกล่าวระบุว่า “สำหรับสัตบุรุษส่วนใหญ่ มันคือโอกาสสำคัญ (คงจะเป็นโอกาสเดียวกระมัง) ที่พวกเขาจะได้มีประสบการณ์กับพระศาสนจักร มันยังเป็นโอกาสเดียวในรอบสัปดาห์ที่สัตบุรุษส่วนใหญ่จะได้รับอาหารบำรุงชีวิตจิตบ้าง”  การไปวัดวันอาทิตย์ไม่เป็นเพียงแต่การรำลึกถึงการกลับฟื้นพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้าเท่านั้น ไม่ได้เป็นโอกาสที่จะทำให้สัตบุรุษได้มีโอกาสพบกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงเสด็จกลับเป็นขึ้นมาเท่านั้น  มันยังเป็นโอกาสให้สัตบุรุษได้มีประสบการณ์แห่งการเป็นพระศาสนจักรอีกด้วย  วันอาทิตย์เป็นวันหนึ่งในรอบสัปดาห์ที่บรรดาสัตบุรุษต่างพากันมาชุมนุมกันที่วัดในฐานะที่เป็นพระศาสนจักร  เพื่อที่จะฟังพระวาจาของพระเจ้าและมีส่วนร่วมในการบิปัง ซึ่งยังผลให้พวกเขามีประสบการณ์ร่วมกันในฐานะที่เป็นชุมชนแห่งผู้มีความเชื่อถึงการประจักษ์ของพระคริสตเจ้าโดยอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์

วันอาทิตย์ในฐานะที่เป็นวันแรกและวันที่แปด

วรรณกรรมของปิตาจารย์ (ธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรมก็เช่นเดียวกัน) เรียกวันอาทิตย์ว่าเป็นวันที่แปด  ถึงแม้ว่าจะมีเพียง 7 วันในหนึ่งสัปดาห์โดยมีวันอาทิตย์เป็นวันแรก ธรรมเนียมประเพณีของคริสตชนตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 ก็เรียกวันอาทิตย์ว่าเป็นวันที่แปดของสัปดาห์เช่นกัน นี่หมายความว่าในรอบหนึ่งสัปดาห์ วันอาทิตย์เป็นทั้งวันเริ่มต้น (วันแรก) ของสัปดาห์และวันที่ถัดไปจากวันเสาร์ ซึ่งวันเสาร์เป็นวันที่เจ็ด วันที่แปดยังอาจหมายถึงการต่อรอบสัปดาห์ให้อยู่นอกระบบของเวลา ในมิติของการเสด็จกลับฟื้นพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้า  เราอาจเข้าใจได้ว่าวันที่หนึ่งและวันที่แปดหมายความว่ารอบสัปดาห์เริ่มและปิดลงด้วยวันของพระ เราอาจกล่าวในรูปของสัญลักษณ์ด้วยก็ได้ว่า รอบสัปดาห์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิตของเราในโลกนี้เริ่มและจบลงด้วยธรรมล้ำลึกปัสกา ข้าพเจ้าก็รู้ตัวดีเหมือนกันว่าการกล่าวของข้าพเจ้าในครั้งนี้อาจสร้างความสับสนมากขึ้นแทนที่จะช่วยทำให้มันกระจ่างขึ้น จึงคิดว่าการบอกกล่าวสัตบุรุษเกี่ยวกับเทววิทยาของวันอาทิตย์ในฐานะที่เป็นวันแรกและวันที่แปด อาจจะยังเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมที่จะเทศน์บนธรรมาสน์ในวันอาทิตย์ แต่ก็ควรระมัดระวังอย่าปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกระแสของโลกธุรกิจที่ถือว่าวันอาทิตย์เป็นวันที่เจ็ดของสัปดาห์ เพราะเหตุว่าวันทำงานเริ่มกันที่วันจันทร์และวันอาทิตย์ก็คือส่วนหนึ่งของวันสุดสัปดาห์  อย่างน้อยปฏิทินญี่ปุ่นเขาก็ถือปฏิบัติกันเช่นนี้ สำหรับประเด็นนี้เทววิทยาแห่งวันอาทิตย์มีเรื่องที่จะต้องพูดกันมากเกี่ยวกับความเชื่อของคาทอลิกในการเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพและความหวังของเราที่จะได้ชีวิตนิรันดร


เทววิทยาสำคัญที่อยู่เบื้องหลังของวันอาทิตย์ในฐานะที่เป็นวันแรกของสัปดาห์ก็คือ เราเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยการสารภาพความเชื่อของเราในรหัสธรรมแห่งการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้า ในฐานะที่เป็นคริสตชน เราตระหนักดีว่าการกลับฟื้นชีพของพระคริสตเจ้าให้ความหมายและแรงบันดาลใจสำหรับการดำเนินชีวิตในแต่ละสัปดาห์ของเรา การเสด็จฟื้นพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าคือกุญแจดอกสำคัญสำหรับความเข้าใจชีวิตของคริสตชน นักบุญเปาโลเขียนไว้ว่า “ถ้าพระคริสตเจ้ามิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ การเทศน์สอนของเราก็ไร้ประโยชน์และความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์เช่นเดียวกัน... ถ้าเรามีความหวังในพระคริสตเจ้าเพียงเพื่อชีวิตนี้เท่านั้น เราก็เป็นมนุษย์ที่น่าสงสารที่สุด” (1 คร 15: 14)  ความสัมพันธ์ระหว่างวันแรกของสัปดาห์กับการเสด็จคืนพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้า จะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นหากเรานำเอามาเปรียบเทียบกับการทำวัตรที่เริ่มด้วยการปฏิบัติไปตามอันดับวงจรของแต่ละวัน โดยเริ่มจากการเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพ เราเริ่มฉลองการเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้ากันแต่เช้าตรู่ก่อนที่เราจะเริ่มงานใดๆ ในวันนั้น เพื่อความคิดและการกระทำของเราตลอดสัปดาห์จะได้รับหล่อเลี้ยงและเชื่อมโยงกันกับธรรมล้ำลึกอันยิ่งใหญ่แห่งความเชื่อ เช่นเดียวกัน ทุกวันแรกของสัปดาห์ นั่นคือทุกวันอาทิตย์  เราทำการระลึกถึงการกลับเป็นขึ้นมาจากความตายของพระคริสตเจ้าเพื่อที่เหตุการณ์นั้นจะได้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับเราตลอดทั้งสัปดาห์


ในอีกมุมมองหนึ่ง เทวศาสตร์สำคัญที่อยู่เบื้องหลังของวันอาทิตย์ในฐานะที่เป็นวันที่แปดก็คือว่า  ในวันนี้เรามีโอกาสที่จะเปลี่ยนวัฎจักรชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะย่างเข้าสู่โลกแห่งความเป็นนิรันดร์ พระคริสตเจ้าผู้ทรงเสด็จฟื้นพระชนม์ชีพทรงปรากฏมายังเราในวันอาทิตย์ และทรงยกระดับการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ให้เห็นการเฉลิมฉลองที่น่าชื่นชมยินดีแห่งการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระองค์ วันอาทิตย์ทำให้เราได้ลิ้มรสของสิ่งที่กำลังรอคอยเราอยู่ในภพที่เป็นนิรันดร์ ดังนั้นการไปวัดวันอาทิตย์จึงเป็นการลิ้มรสล่วงหน้าแห่งความชื่นชมยินดีชั่วนิรันดร  และเป็นการแสดงออกซึ่งความเชื่อของเราในชีวิตที่จะดำรงอยู่ต่อไปหลังชีวิตในโลกนี้ ในขณะเดียวกันเราก็พร้อมใจกันยืนยันว่า เราที่เป็นคริสตชนไม่ได้ตกเป็นทาสแห่งความชั่วช้าอีกแล้ว  เราคือบุตรที่มีอิสระเสรีของพระเจ้า และเราต้องลอยตัวขึ้นที่สูงเหนือความบาปทั้งหลายของมวลมนุษย์   วันอาทิตย์จึงกลายเป็นเครื่องหมายแห่งความหวังของคริสตชนท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยอำนาจแห่งความชั่วร้ายต่างๆนานา


ด้วยเหตุที่คริสตชนเรามักจะมัวแต่กังวลอยู่กับสิ่งเลวร้ายต่างๆ ของโลก (สงคราม การก่อการร้าย  ความยากจน การเจ็บไข้ได้ป่วย ความอยุติธรรม การกดขี่ข่มเหงกัน ฯลฯ)  ทำให้ความสนใจของเราบ่อยครั้งถูกผลักให้ไปสู่สิ่งที่ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นความจริงที่สิ้นหวัง ดังนั้นเราจึงมักจะมีแนวโน้มที่จะละเลยกับปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของความเป็นคริสตนชนไป นั่นคือ ความหวัง หวังที่จะเห็นโลกที่ดีกว่า หวังที่จะได้ลิ้มรสล่วงหน้าถึงความสุขนิรันดรแม้ในโลกนี้ นี่คือสิ่งที่วันอาทิตย์ในฐานะเป็นวันที่แปดของสัปดาห์สามารถที่จะเป็นหลักประกันให้แก่เรา กล่าวคือ สำหรับผู้ที่เชื่อในพระคริสตเจ้าแล้วจะมีชีวิตมากกว่าที่จะมีแต่ความทุกข์เวทนา

วันอาทิตย์ในฐานะที่เป็นวันพักผ่อน

จักรพรรดิคอนสแตนตินเป็นผู้ริเริ่มให้มีการหยุดพักผ่อนในวันอาทิตย์เพื่อสนับสนุนให้บรรดาสัตบุรุษพากันไปมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทอย่างสง่า ก่อนหน้านั้นจักรวรรดิโรมันถือวันเสาร์เป็นวันหยุดพัก  บรรดาคริสตชนและคนอื่นๆ ทั่วไปจึงต้องทำงานกันในวันอาทิตย์ แม้ว่าพวกเขาจะจัดเวลาเช้าตรู่ไว้สำหรับการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์ก็ตาม เราทราบว่าชาวยิวที่บังเอิญได้รับส่วนกุศลจากอาณาจักรโรมันที่จัดให้วันเสาร์เป็นวันหยุดราชการนั้น ต่างไม่พอใจกับการเปลี่ยนวันหยุดซึ่งเท่ากับเป็นการเอาใจพวกคริสตชน แต่ก็น่าที่จะจำใส่ใจไว้ว่าจุดประสงค์แรกที่คอนสแตนตินประกาศวันอาทิตย์ให้เป็นวันหยุดก็เพื่อที่จะส่งเสริมการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์ เรื่องความคิดที่จะทำให้การเฉลิมฉลองมีความสง่างามยิ่งขึ้นนั้นหมายถึงการฉลองศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์เป็นอันดับแรก  ซึ่งเป็นวันที่สัตบุรุษหยุดงานกันเพื่อจะได้มีเวลามากขึ้นในการทำการนมัสการพระเจ้าอย่างสง่า


ที่ว่าความคิดที่จะทำให้การเฉลิมฉลองมีความสง่างามยิ่งขึ้นนั้น ข้าพเจ้าหมายถึงการจัดอันดับความสง่างามของจารีตพิธี มีบางชุมชนที่จัดพิธีบูชาขอบพระคุณในวันธรรมดาราวกับว่าเป็นมิสซาวันอาทิตย์ จะเป็นประโยชน์มากในการระลึกว่าการจัดการเฉลิมฉลองอย่างสง่านั้นมิได้หมายถึงการนำเอาสัญลักษณ์ใหม่ๆหรือการกระทำอะไรใหม่ๆ เข้ามาหรือยืดพิธีกรรมให้ยาวออกไปเกินความจำเป็น สิ่งที่ข้าพเจ้าหมายถึงก็คือทำให้จารีตพิธีเดิมที่มีอยู่แล้วเกิดความสมบูรณ์ เช่น ขับร้องบทที่ควรจะเอามาร้อง ใช้หนังสือพระวรสาร  การใช้อาภรณ์และภาชนะที่ถูกต้อง  การแต่งวัดอย่างเหมาะสม  รวมถึงลั่นระฆังหากเป็นไปได้


สังฆธรรมนูญของพระศาสนจักรว่าด้วยพิธีกรรม (มาตรา 106) เตือนว่า วันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันสำคัญที่สุดในบรรดาวันหยุดทั้งหลายควรที่จะ “เป็นวันแห่งความชื่นชมยินดีและเป็นอิสระจากการทำงาน”  ข้าพเจ้าขอตั้งข้อสังเกตไว้ ณ ที่นี้ว่า สังคายนาไม่ต้องการที่จะให้การพักผ่อนในวันอาทิตย์เป็นกฎที่ต้องปฏิบัติกันอย่างเด็ดขาด เรามักจะได้ยินสัตบุรุษบางคนสารภาพบาปเพราะทำงานที่ได้รับค่าจ้างในวันอาทิตย์ และก็มีกรณีอีกเช่นเดียวกันที่ผู้ฟังแก้บาปถือว่าการกระทำเช่นนี้เป็นบาปหนัก แต่จากการอภิปรายของสังคายนาเราทราบมาว่าบรรดาผู้เข้าร่วมประชุมสังคายนา ถือการพักผ่อนในวันอาทิตย์ว่าเป็นเรื่องรองหากจะนำมาเปรียบกับการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในวันนั้น ซึ่งประเด็นหลังนี้เป็นการทำวันอาทิตย์ให้เป็นวันของพระเจ้า จะอย่างไรก็ตาม เป็นต้นหากเกี่ยวกับความยากจนที่จำเป็นจะต้องทำงานในวันอาทิตย์เพื่อหาเลี้ยงท้อง ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องถือให้ทั้ง 24 ชั่วโมง เป็นเวลาสำหรับการพักผ่อนเพื่อที่จะมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท ที่เห็นชัดคงได้แก่คำเตือนจากหนังสือคำสอนของพระศาสนจักรข้อ 2186 ที่บอกว่า “คริสตชนที่มีโอกาศพักผ่อนควรคิดถึงบรรดาพี่น้องชายหญิงของตนผู้ที่มีความต้องการและสิทธิเดียวกัน แต่ไม่สามารถหยุดพักผ่อนจากการทำงานเพราะความยากจนและความจำเป็น”


ในประเทศฟิลิปปินส์กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์กันที่ห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่างๆ เพื่อประโยชน์ของลูกจ้างที่ต้องทำงาน แต่ก็ไม่ดีอยู่อย่างหนึ่ง ที่กุศลนี้แผ่ไปถึงคนอื่นๆ ที่แห่กันไปยังห้างสรรพสินค้าในวันอาทิตย์ด้วย ซึ่งทำให้มีผลเสียต่อการมีส่วนร่วมในชีวิตของชุมชนวัด ข้าพเจ้าเห็นใจคุณพ่อเจ้าวัดที่พากันบ่นถึงสัตบุรุษของตนที่ชอบไปฟังมิสซาในวัดที่มีแอร์หรือตามห้างสรรพสินค้าที่เย็นฉ่ำ แต่ก็ยังมากวนใจพระสงฆ์เพื่อขอให้ทำพิธีโปรดศีลล้างบาป พิธีแต่งงาน โปรดศีลเจิม และพิธีปลงศพ  


ปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้วและระหว่างชนชั้นกลาง วันอาทิตย์กลายเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกกันว่า “วันสุดสัปดาห์” วันสุดสัปดาห์ที่กำลังเพี้ยนไปจากการพักผ่อนในวันอาทิตย์มักจะมีคุณสมบัติของการท่องเที่ยวและการพักผ่อนสำหรับคนที่มีสตางค์  รูปแบบใหม่ของการใช้วันหยุดสุดสัปดาห์นี้เป็นเหตุของการไม่ไปฟังมิสซาในวัดที่ตนสังกัด  และในหลายๆ กรณีทำให้การมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทถดถอยน้อยลง  หากฟิลิปินส์มีมิสซาวันอาทิตย์ที่ห้างสรรพสินค้า อีกหน่อยวัดบางวัดในยุโรปก็อาจต้องมีมิสซาที่ชายหาดในฤดูร้อนเพื่อประโยชน์ของผู้ที่ไปเล่นน้ำทะเลกัน


สำหรับกรณีของความยากจน  การหยุดพักผ่อนในวันอาทิตย์อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก คนจนไม่มีทางเลือกหรือโอกาสที่จะหยุดงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นงานตามข้อตกลงที่พวกเขาจะได้รับค่าแรงตามจำนวนชั่วโมงที่เขาทำงาน ไม่ทำงานก็ไม่มีเงิน สำหรับคนจำพวกนี้ไม่มีคำว่า “หยุดวันสุดสัปดาห์” การอยู่ไกลจากวัดอาจเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มีเหตุมีผลทำให้ไปวัดไม่ได้  ส่วนการที่มีพระสงฆ์ไม่เพียงพอก็ทำให้ปัญหามันใหญ่ขึ้นไปอีก  แรกเริ่มเดิมทีการแนะนำให้สัตบุรุษมารวมชุมนุมกันในวันอาทิตย์ในกรณีที่ไม่มีพระสงฆ์ ถูกถือว่าเป็นทางเลือกแทนการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์แบบชั่วคราว ครั้นเวลาผ่านไปมันกลับกลายเป็นทางออกถาวรไปเสียแล้ว แน่นอนที่สุดว่าความคิดนี้น่าชมและมีผลดีในเชิงอภิบาล ชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางที่มีพระสงฆ์ อย่างน้อยก็สามารถที่รับฟังพระวาจาของพระเจ้าและรับศีลมหาสนิทได้  จึงไม่มากก็น้อยเท่ากับได้ทำการเฉลิมฉลองการเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพ ได้พบกับพระคริสตเจ้าผู้เสด็จกลับคืนชีพ  และมีประสบการณ์กับการที่เป็นชุมชนคริสตนชนที่ได้มาทำการนมัสการร่วมกัน


แต่สำหรับชุมชนวัด การหยุดพักวันอาทิตย์ไม่ควรหมายถึงการหยุดพักจากงานแห่งความรักและปัญหาของสังคมไปด้วย การรับใช้ที่เป็นมืออาชีพของแพทย์ ทนายความ และครูที่มอบให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่คนยากไร้ของชุมชน ควรที่จะเป็นจุดเด่นแห่งการรักษาวันอาทิตย์ให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ การชุมนุมกันในวันอาทิตย์ไม่ได้จบลงเพียงที่วัด แต่ยังจะต้องดำเนินต่อไปในคลีนิคและห้องเรียนของวัด ผู้นำฆราวาสออกเยี่ยมคนเจ็บคนไข้ ผู้สูงอายุ และผู้พิการที่ออกจากบ้านไม่ได้ เพื่อที่จะนำเอาพระวาจา ศีลมหาสนิท และความบรรเทาฝ่ายจิตของชุมชนมายังพวกเขา ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว นักบุญจัสตินผู้เป็นมรณสักขีบอกว่า การเก็บถุงทานในวัดไม่ว่าจะเป็นเงินหรือวัสดุสิ่งของได้ถูกนำมาแบ่งสันปันส่วนเพื่อคนจน แม่หม้าย และเด็กกำพร้า  สิ่งที่เรื่องนี้บอกเราก็คือ การเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทวันอาทิตย์จะยังไม่สมบูรณ์ หากไม่มีการเลื่อนไหลไปสู่การบริการชุมชน คำประกาศแห่งสังคายนาครั้งที่ 2 ของสภาพระสังฆราชฟิลิปปินส์เตือนว่า “การบริการรับใช้ทำให้การนมัสการเกิดความสมบูรณ์ในการทำให้วันอาทิตย์อันเป็นวันของพระเจ้านั้นศักดิ์สิทธิ์”

การชุมนุมวันอาทิตย์โดยไม่มีพระสงฆ์

ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะพูดถึงกฎระเบียบของจารีตพิธีและกฎหมายของพระศาสนจักรที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของสัตบุรุษในวันอาทิตย์เมื่อขาดพระสงฆ์  จุดประสงค์ของข้าพเจ้าก็เพื่อที่จะเอาการปฏิบัติที่เกี่ยวกับเทวศาสตร์มาแจ้งให้ทราบเท่านั้น เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 1988 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้เห็นชอบคู่มือคำแนะนำในการชุมนุมของสัตบุรุษในวันอาทิตย์โดยที่ไม่มีพระสงฆ์ ขออนุญาตนำเอาประเด็นที่เกี่ยวข้องจากเอกสารดังกล่าวมาเรียนให้ท่านทราบดังต่อไปนี้
11.    นักบุญอิกญาซีอุสแห่งอันทิโอค ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเฉลิมฉลองวันอาทิตย์สำหรับชีวิตคริสตชนว่า  “คริสตชนมิได้ถือวันสับบาโตอีกแล้ว  แต่จะเจริญชีวิตตามวันของพระเจ้า  ซึ่งเป็นวันที่ชีวิตของเราได้รับการไถ่กู้โดยอาศัยพระเยซู คริสตเจ้าและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์”  (To the Magnesians, 9)  ใน “จิตสำนึกแห่งความเชื่อ” ของพวกเขา  บรรดาสัตบุรุษทั้งในขณะนี้และในอดีตถือวันของพระเจ้าเป็นชีวิตจิตใจจนว่าพวกเขาไม่เคยที่จะพลาดโอกาสในการถือปฏิบัติแม้ในยามที่มีการเบียดเบียนหรือท่ามกลางวัฒนธรรมที่แตกต่างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อความเชื่อของพวกเขา
12.    ต่อไปนี้คือสิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติในการชุมนุมของสัตบุรุษในวันอาทิตย์
•    การชุมนุมของสัตบุรุษเพื่อแสดงถึงความเป็นพระศาสนจักร ไม่ใช่เป็นความคิดของพวกเขาเอง แต่เป็นการที่พระเจ้าทรงเรียกร้องพวกเขาให้มาชุมนุมกัน กล่าวคือในฐานะที่เป็นประชากรของพระเจ้าตามโครงสร้างของมนุษย์ มีพระสงฆ์ทำหน้าที่เป็นประธานในการชุมนุม และพระสงฆ์กระทำการในฐานะที่เป็นผู้แทนของพระคริสตเจ้า มีการอบรมรหัสธรรมปัสกา โดยอาศัยพระคัมภีร์ที่ถูกประกาศและได้รับการอธิบายโดยพระสงฆ์หรืออนุสงฆ์
•    การเฉลิมฉลองบูชาศีลมหาสนิทซึ่งรหัสธรรมปัสกาถูกนำมาเผยแสดง กระทำการโดยพระสงฆ์ในนามของพระคริสตเจ้า และถูกนำมาถวายในนามของคริสตชนทั่วโลก
13.    ในการอภิบาลควรที่จะมีเป้าประสงค์นี้เหนือสิ่งใด  กล่าวคือการบูชามิสซาวันอาทิตย์ต้องถือว่าเป็นการเกิดใหม่อีกครั้งอย่างแท้จริงซึ่งธรรมล้ำลึกปัสกาของพระคริสตเจ้า และเป็นการแสดงออกอย่างครบถ้วนของพระศาสนจักร “ดังนั้นวันของพระเจ้าจึงเป็นวันศักดิ์สิทธิ์วันแรกและควรที่จะเสนอให้เป็นศรัทธาของสัตบุรุษและให้มีการอบรมสอนสัตบุรุษด้วย ...  ส่วนการเฉลิมฉลองอื่นๆ นั้น นอกจากจะมีความสำคัญจริงๆ  จะต้องไม่ถือว่ามีความสำคัญเหนือวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นรากฐานและแก่นของปีจารีตพิธีทั้งหมด” (SC 106)
14.    หลักการดังกล่าวควรนำมาแจ้งและอบรมสัตบุรุษตั้งแต่แรกเริ่มที่มีการอบรม  เพื่อที่พวกเขาจะได้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ เพื่อที่จะทำให้วันอาทิตย์เป็นวันศักดิ์สิทธิ์  และเข้าใจว่าเหตุใดพระศาสนจักรจึงเรียกร้องพวกเขาให้ต้องมาชุมนุมกันเพื่อเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทและไม่ใช่มาด้วยศรัทธาส่วนตัว  อาศัยวิธีนี้สัตบุรุษจะเรียนรู้ถึงประสบการณ์ของวันพระเจ้าดุจเป็นเครื่องหมายแห่งความล้ำเลิศของพระเจ้าเหนือการกระทำทั้งปวงของมนุษย์  และไม่ใช่เป็นเพียงวันที่ห้ามทำงาน   โดยอาศัยการมาร่วมชุมนุมกันในวันอาทิตย์ พวกเขาจะเข้าใจได้อย่างล้ำลึกว่าพวกเขาเป็นสมาชิกของพระศาสนจักรและจะทำการแสดงสิ่งนี้ออกมาอย่างเปิดเผย
15.    ในการมาชุมนุมกันในวันอาทิตย์  เฉกเช่นในชีวิตของชุมชนคริสตชน สัตบุรุษควรที่จะต้องมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งและมีจิตตารมย์แห่งการเป็นชุมชน  รวมถึงเป็นโอกาสที่จะได้รับการรื้อฟื้นชีวิตจิตภายใต้การนำของพระจิต อาศัยวิธีนี้ พวกเขาจะได้รับการคุ้มครองให้พ้นจากนิกายต่างๆ ที่ให้สัญญาว่าจะหลุดพ้นจากความเจ็บปวดแห่งความสันโดษและจะได้รับความสมหวังอย่างบริบูรณ์ในการปฏิบัติศาสนกิจ
16.    ที่สุด  การอภิบาลควรที่จะมุ่งไปยังมาตรการและขั้นตอนต่างๆ ซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะ “ทำวันพระให้เป็นวันแห่งความชื่นชมยินดีและเป็นอิสระจากการทำงาน” (SC 106)  อาศัยวิธีนี้ วันอาทิตย์จะกลายเป็นจุดเด่นของวัฒนธรรมปัจจุบันในฐานะที่เป็นเครื่องหมายของเสรีภาพ และเป็นผลในฐานะที่เป็นวันที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อความดีของมนุษย์แต่ละคน ซึ่งแน่นอนว่ามีคุณค่าเหนือการค้าหรือผลผลิตแห่งอุตสาหกรรมใดๆ
17.    พระวาจาของพระเจ้า ศีลมหาสนิท และพันธกิจของพระสงฆ์ล้วนเป็นของขวัญที่พระเจ้าทรงมอบให้แก่พระศาสนจักร ผู้ทรงเป็นพระชายาของพระองค์ และของขวัญเหล่านี้เราจะต้องรับและสวดภาวนาเพื่อพระหรรษทานของพระเจ้า พระ ศาสนจักรซึ่งเป็นเจ้าของแห่งของขวัญเหล่านี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการมาร่วมชุมนุมกันในวันอาทิตย์ โมทนาคุณพระเจ้าทำนองเดียวกันกับสัตบุรุษที่มาชุมนุมกันโดยรอคอยความชื่นชมยินดีแห่งการพักผ่อนที่สมบูรณ์ในวันของพระเจ้า “ต่อหน้าพระบัลลังก์และต่อหน้าพระชุมภาของพระเจ้า”  (วว 7: 9)
32.    วันอาทิตย์ใดที่การเฉลิมฉลองพระวาจาและการรับศีลมหาสนิทไม่อาจกระทำได้ สัตบุรุษถูกขอร้องให้ทำการสวดภาวนา “โดยหาเวลาที่เหมาะสมทั้งเป็นการส่วนตัวหรือพร้อมกันกับครอบครัว หรือหากเป็นได้ ก็รวมกันเป็นหลายครอบครัวแล้วทำพร้อมกัน”  (CIC, can. 1248, 2)  ในกรณีเช่นนี้การถ่ายทอดโทรทัศน์เกี่ยวกับพิธีกรรมสามารถช่วยเหลือได้เป็นอย่างมาก
33.    ที่ควรจำใส่ใจเป็นพิเศษได้แก่ความเป็นไปได้ที่จะทำวัตรเป็นบางส่วน  เช่นการสวดภาวนาเช้าค่ำ  ซึ่งในช่วงแห่งการสวดภาวนาดังกล่าวอาจแทรกบทอ่านประจำวันอาทิตย์เข้าไปด้วย เพราะว่า  “เมื่อประชากรได้รับเชิญให้ทำวัตรและพากันมาร่วมใจและร่วมเป็นเสียงเดียวกัน พวกเขาก็ได้แสดงออกให้เห็นถึงพระศาสนจักรที่กำลังทำการเฉลิมฉลองรหัสธรรมแห่งพระคริสตเจ้า”  (GILH 22)  เมื่อพิธีเฉลิมฉลองจบลงอาจแจกศีลมหาสนิทได้ (no. 46)
34.     “พระหรรษทานของพระผู้ไถ่จะไม่มีวันขาดหายไปสำหรับทั้งปัจเจกชนและชุมชนที่เป็นเพราะการเบียดเบียนศาสนาหรือขาดพระสงฆ์ไม่มีโอกาสได้ทำการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทเป็นเวลาระยะสั้นหรือระยะยาว พวกเขาสามารถสร้างความปรารถนาที่จะรับศีลศักดิ์สิทธิ์และเป็นหนึ่งในสายสัมพันธ์กับพระศาสนจักรทั้งปวงโดยอาศัยการสวดภาวนา ดังนั้นเมื่อพวกเขาเรียกหาพระคริสตเจ้าพร้อมกับยกจิตใจขึ้นหาพระองค์โดยอาศัยเดชานุภาพแห่งพระจิต พวกเขาก็จะเข้าไปอยู่ในสายสัมพันธ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรซึ่งเป็นกายทรงชีวิตของพระองค์ ...  ดังนั้นพวกเขาจึงได้รับผลแห่งศีลมหาสนิท”  (CDF, Epistle, 6 August 1983)
50.     “จะให้ความสำคัญเพียงใดก็ไม่เพียงพอสำหรับการชุมนุมกันในวันอาทิตย์  ไม่ว่าจะเป็นมิติของแหล่งต้นตอแห่งชีวิตคริสตชนของปัจเจกชนหรือของชุมชน หรือในมิติของเครื่องหมายแห่งการตั้งใจของพระเจ้าที่รวมมนุษยชาติเข้าไว้ด้วยกันในพระคริสตเจ้า  คริสตชนทุกคนจะต้องเชื่อมั่นว่า  พวกเขาไม่อาจที่จะเจริญชีวิตในความเชื่อหรือมีส่วนร่วมในพันธกิจสากลของพระศาสนจักรได้  นอกเสียจากว่าพวกเขาได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยศีลมหาสนิท  พวกเขาต้องมีความเชื่อมั่นเช่นเดียวกันด้วยว่า  การไปร่วมชุมนุมกันในวันอาทิตย์คือเครื่องหมายต่อโลกถึงรหัสธรรมแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งได้แก่ศีลมหาสนิท”  (John Paul II, Address, 27 March 1987)
สรุป


เอกสารชิ้นนี้เป็นการทบทวนเทววิทยาและขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับวันของพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองคำสอนของสังคายนาวาติกัน 2 ในเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมนูญว่าด้วยจารีตพิธี  ที่สำคัญที่สุดคือคำจำกัดความวันอาทิตย์ว่าเป็นวันของพระเจ้าเนื่องมาจากศีลมหาสนิท มิติแห่งสวรรค์และมิติแห่งปาสกาของวันอาทิตย์ หรือ วันแรกและวันที่แปด  วันพักผ่อนและวันแห่งการเฉลิมฉลอง และการชุมนุมกันในวันอาทิตย์ในกรณีที่ขาดพระสงฆ์


ทว่าเทววิทยาและธรรมเนียมประเพณีต้องมีการปรับให้เป็นความจริงในมิติของวัฒนธรรม และการอภิบาลของพระศาสนจักรในแต่ละท้องที่ ในขณะที่เทววิทยามีคุณสมบัติและเชิงปฏิบัติที่เป็นสากล  วัฒนธรรมมีจุดยืนที่ธรรมเนียมและการปฏิบัติที่พัฒนาขึ้นเกี่ยวกับการนมัสการในวันอาทิตย์  วันอาทิตย์เป็นวันหยุดนั้นถือกันแทบทุกประเทศ  ถึงแม้ว่าจะไม่ถือกันว่าเป็นวันหยุดทางศาสนากันทั้งหมดก็ตาม  การแสดงออกมาภายนอกที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติควบคู่กันไปกับการเฉลิมฉลองวันอาทิตย์บ่อยครั้งถูกกำหนดขึ้นจากศาสนาอื่น หรือกฎระเบียบของทางราชการ  ความหมายที่ลึกลงไปของการมาชุมนุมกันในวันอาทิตย์ในฐานะที่เป็นชุมชนเพื่อพบกับพระเจ้าโดยอาศัยพระวาจาและศีลศักดิ์สิทธิ์บางครั้งถูกบิดเบือนด้วยความตั้งใจเพียงที่จะปฏิบัติไปตามกฎข้อบังคับเท่านั้น  วันอาทิตย์ในฐานะที่เป็นวันแห่งการพักผ่อนหย่อนใจและการเฉลิมฉลอง อาจถือว่าเป็นอภิสิทธิ์ของชนชั้นกลางที่ไม่สามารถจะนำไปใช้กับคนจนที่ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องทำงาน  การชุมนุมกันในวันอาทิตย์ที่ขาดพระสงฆ์มีจุดประสงค์ที่จะแก้ปัญหาด้านเทววิทยาเป็นการชั่วคราว   แต่ชุมชนคริสตชนหลายแห่งก็ยังประสบกับปัญหาของการขาดพระสงฆ์อยู่ดี


ประเด็นต่างๆที่นำมากล่าวข้างต้นน่าจะทำให้เราชื่นชอบกับวันหนึ่งของสัปดาห์ที่มีความสำคัญยิ่งนี้  และเราต้องเฉลิมฉลองวันอาทิตย์ในบริบทของพระศาสนจักรท้องถิ่นที่ทำการเฉลิมฉลอง


ขอให้พระเจ้าจงได้รับพระสิริมงคลในทุกสิ่ง

ที่มา เอกสารประกอบสอนปีพิธีกรรม คุณพ่อเชษฐา ไชยเดช