แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ทำอย่างไรให้เท้าติดดิน
    การภาวนาเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน และควรทำให้เราเป็นมนุษย์มากขึ้น มิใช่เป็นมนุษย์น้อยลง การภาวนาควรช่วยเราให้มีกำลังดำเนินชีวิตของเราอย่างเต็มที่มากขึ้น และมีส่วนร่วมมากขึ้นในชีวิตของผู้อื่นและในชุมชนของเรา คริสตชนคนหนึ่งในพระศาสนจักรยุคต้น ๆ กล่าวว่า “พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าก็คือมนุษย์ที่มีชีวิตอย่างบริบูรณ์” ดังนั้น เราจึงไม่ควรมองว่าการภาวนาเป็นกิจกรรมที่ดึงเราออกจากชีวิตจริง การภาวนาควรทำสิ่งที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ ทำให้เราเข้าสู่ความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของเราได้ในระดับลึกมากขึ้น
•    การภาวนาเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และติดดิน การภาวนาจะนำเราไปสู่ชีวิต มิใช่หลบหนีชีวิต
•    การภาวนาเป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่มนุษย์พึงกระทำได้ และต้องกระทำอย่างซื่อสัตย์ เราภาวนาได้แม้ในขณะที่เรากำลังโกรธ หงุดหงิด เหนื่อยล้า และล้มเหลว ในขณะที่เรากำลังมีความสุข มีอารมณ์ร้อนแรง ชื่นชมยินดี และประสบความสำเร็จ

•    การภาวนาเป็นการใช้สมอง หัวใจ และมือของเราอย่างสมดุล เราควรภาวนาด้วยสติปัญญา ด้วยความรู้สึก และด้วยเจตนารมณ์ที่จะทำบางสิ่งบางอย่างที่เหมาะสมเพื่อตอบสนอง
•    ทุกคนสามารถภาวนาได้ การภาวนาไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ชอบภาวนาเท่านั้น แต่เป็นสิทธิแต่กำเนิดของคริสตชน และเป็นสิทธิพิเศษอย่างยิ่งอีกด้วย แนวทางชีวิตภาวนาในแบบที่รวดเร็วทันใจเหมือนใช้เตาไมโครเวฟ เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการภาวนา และไม่ช่วยเราได้มากนัก การแสวงหาความศักดิ์สิทธิ์เป็นงานที่ต้องออกแรง

คำถาม
    ประสบการณ์ความเชื่อของคุณ (ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อที่หนักแน่น หรือเปราะบาง) ทำให้คุณเป็นมนุษย์เต็มตัวมากขึ้น มีชีวิตที่บริบูรณ์มากขึ้น และอยู่กับความเป็นจริงของชีวิตได้ดียิ่งขึ้นในทางใดบ้าง ถ้าประสบการณ์ของคุณทำเช่นนี้ไม่ได้ มีอะไรที่ผิดทิศทาง

การวางแผน
    การภาวนาเป็นการสำรวจความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า และไม่ใช่ความพยายามเรียนรู้เทคนิคอันลึกลับ ดังนั้น จึงอาจช่วยได้ถ้าจะเปรียบเทียบการภาวนาว่าเหมือนกับความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งอีกประเภทหนึ่ง คือความสัมพันธ์ระหว่างสามี และภรรยา ชีวิตสมรสที่ประสบความสำเร็จ จะต้องประกอบด้วยความสัมพันธ์ในสี่ระดับ
1.    อยู่กันไป – คู่สมรสส่วนใหญ่อยู่กินกันตามปกติ โดยไม่คอยคิดว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ เราไม่พูดพล่ามถึงความสัมพันธ์ เพียงแต่อยู่กับความสัมพันธ์นั้นเหมือนเป็นฉากหลัง ในทำนองเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าก็คือการดำเนินชีวิตอยู่กับความสุข และปัญหาต่าง ๆ โดยตระหนักว่ามีพระเจ้าประทับอยู่กับเราเหมือนเป็นฉากหลังในชีวิต และเราทุกคนสามารถหันไปยิ้มให้พระเจ้าเป็นครั้งคราวได้
2.    พูดคุย – ส่วนสำคัญของชีวิตสมรส คือ การพูดคุยกันทุกวันในเรื่องสัพเพเหระที่ไม่สลักสำคัญ “จำได้ใช่ไหมว่าคุณมีนัดกับหมอฟัน” “คุณช่วยไปธนาคารให้ฉันวันนี้หน่อยได้ไหม” “ฉันคิดว่าคุณจะเปลี่ยนโปสเตอร์รูปเดเมียน เฮิร์ส ในครัวนั่นเสียอีก" ในทำนองเดียวกัน เราก็สื่อสารกับพระเจ้าทุกวันด้วยการพูดคุย ด้วยสิ่งที่เราเรียกว่า “ลูกศรภาวนา” เป็นบทภาวนาสั้น ๆ ที่สื่อสารอย่างรวดเร็ว
3.    ปรึกษาหารือ – ในชีวิตสมรสจำเป็นต้องมีการสนทนาเพื่อตกลงกันในเรื่องที่สำคัญ เราจำเป็นต้องเผยให้คู่สมรสรับรู้ความคิด ความรู้สึก และบางเรื่องที่ลึกซึ้ง ความสัมพันธ์กับพระเจ้าก็เช่นเดียวกัน บางครั้ง เราจำเป็นต้องมีพื้นที่ และความตั้งใจว่าจะอยู่กับพระเจ้าเท่านั้น เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับพระองค์ และนี่คือส่วนที่ยาก
4.    ความสนิทสนม – คู่สมรสต้อง “ติดต่อ” กันเสมอ ทั้งสองฝ่ายต้องก้าวออกจากคำพูด เข้าสู่การกระทำ และเข้าสู่โลกของประสาทสัมผัส ในที่นั้น การสัมผัสตัว ความรัก และความใกล้ชิดไม่ต้องใช้คำพูด ในการภาวนาก็เช่นเดียวกัน มีบางเวลาที่เราไม่อยากพูด แต่ต้องการอยู่ท่ามกลางความเงียบ เวลาเช่นนั้นจึงเหมาะสมสำหรับจิตภาวนา และการชื่นชมยินดีในพระเจ้า

ลองทำดู
•    ใช้ระดับความสัมพันธ์ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้เป็นรายการตรวจสอบ และเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับพระเจ้า คุณอยากปรับเปลี่ยนวิธีการภาวนาของคุณไปใช้วิธีอื่นหรือยัง หรือคุณต้องการเก็บรายการนี้ไว้ตรวจสอบในอนาคต
•    คนสมัยก่อนเคยกล่าวว่า “การทำงานคือการภาวนา” ลองพิจารณากิจวัตรประจำวันของคุณ ว่าคุณทำไปเพื่อพระเจ้าหรือเปล่า จงถวายกิจวัตรเหล่านี้แด่พระองค์ ในฐานะเป็นงานที่ดีที่สุดที่คุณสามารถทำได้ และถ้าทำได้ ให้มองว่ากิจวัตรของคุณเป็นส่วนหนึ่งในงานของพระเจ้าอันยิ่งใหญ่ซับซ้อน เพื่อค้ำจุนโลกนี้ และทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้น
•    เมื่อคุณพบกับปัญหาในระหว่างวัน ลองถามตนเองด้วยคำถามสองข้อ (1) พระเจ้าอยู่ที่ไหนในสถานการณ์นั้น (2) ถ้าฉันเป็นพระคริสตเจ้า ฉันจะทำอย่างไร ในครั้งแรก ๆ คุณอาจไม่ทันคิดว่าจะถามคำถามเหล่านี้ แต่ถ้าคุณฝึกตนเองให้ถามเช่นนี้ คุณจะมีเครื่องมือที่มีประโยชน์มากในเวลาประสบปัญหา
•    ใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันเป็นวัตถุดิบในการภาวนา เมื่อคุณดูข่าว หรืออ่านหนังสือพิมพ์ ให้ยกประเด็นและวิกฤติการณ์เหล่านั้นถวายแด่พระเจ้าโดยตรง เช่นเดียวกับปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้อื่นบอกเล่าให้คุณฟัง ถ้าคุณเก็บเรื่องเหล่านี้ไว้ในใจ คุณจะรู้สึกหนักใจ ถ้าไม่ต้องการหนักใจ คุณก็ต้องไม่สนใจ แต่ถ้าคุณถวายแด่พระเจ้า ปัญหาเหล่านี้จะอยู่ในมือของผู้มีอำนาจจัดการได้ดีที่สุดทันที
•    วิธีต่อไปนี้ค่อนข้างยาก – เมื่อเราคิดว่าพระคริสตเจ้าประทับอยู่ในตัวมนุษย์แต่ละคน คุณควรพยายามต้อนรับบุคคลต่อไปที่คุณจะพบ เสมือนว่าเขาเป็นพระพรจากพระเจ้า และทำเช่นนี้กับคนต่อ ๆ ไปด้วย

บทภาวนา
    ข้าแต่พระบิดา องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา
    ผู้ทรงใช้ไม้กางเขน และตะปู
    เป็นเครื่องมือช่วงชิงความรอดพ้นอันบริบูรณ์มาให้เรา
    โปรดทรงใช้เครื่องมือในโรงงานแห่งโลกของพระองค์นี้
    เพื่อให้เรา ผู้มาหาพระองค์ในสภาพที่แกะสลักไว้อย่างหยาบ ๆ
    จะได้ถูกปรับแต่งให้เหมือนพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระองค์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา มากยิ่งขึ้น

ป้ายบอกทาง
1.  ต้นแบบของบทภาวนา
    เมื่อพูดถึงการภาวนา เราควรถามบุคคลที่รู้ดีที่สุด ขอให้เราถามพระเยซูเจ้าว่าเราควรภาวนาอย่างไร ศิษย์ของพระองค์เคยถามเช่นนี้ (ลูกา 11:1-4) คำตอบที่พวกเขาได้รับคือบทภาวนาของพระเยซูเจ้า (บทข้าแต่พระบิดา) ถ้าเราอยากภาวนาอย่างจริงจัง เราก็ควรใช้บทภาวนานี้ซึ่งเป็นบทภาวนาที่รู้จักกันดีที่สุดในโลก มีคนสวดบทภาวนานี้เป็นล้าน ๆ ครั้งในแต่ละวัน บทภาวนานี้นำเราเข้าไปอยู่ในหัวใจของธรรมล้ำลึกของการภาวนา ขอเพียงให้เราสงบนิ่งนานพอ เราก็จะสังเกตเห็น นายทหารเรือคนหนึ่งสวดบทข้าแต่พระบิดานี้กับเพื่อนคนหนึ่งในพื้นที่ห่างไกลชุมชนในประเทศไอซ์แลนด์ เขาบอกเพื่อนของเขาว่า “สวดให้ช้า ๆ แต่ละวลีหนักเป็นตัน” ดังนั้น เราจะมาพิจารณากันทีละตัน
    ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย พระองค์สถิตในสวรรค์ พระเยซูเจ้าทรงมีสิทธิแน่นอนที่จะเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา” สิ่งที่พิเศษคือพระองค์ทรงบอกเราว่าเราก็สามารถเรียกพระเจ้าเช่นนี้ได้ คำในภาษาอาราเมอิก เป็นคำที่สนิทสนมมาก “อับบา” แปลว่าพ่อจ๋า เมื่อเราอ้างสิทธิที่จะมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระเจ้า เพื่อเราจะเป็นเหมือนพระเยซูเจ้า ผู้เป็นพี่ชายคนโตของเรา ให้มากขึ้น เพราะพระองค์ทรงเป็นบุตรที่เหมาะสมที่สุดในความสัมพันธ์ระหว่างบิดาและบุตรนี้ เมื่อเราฝึกพูดว่า “อับบา” บางทีการฝึกจะทำให้เราชำนาญ และเราจะเหมือนพระคริสตเจ้ามากขึ้นทีละน้อย
    พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ – “ขอให้พระนามพระองค์ศักดิ์สิทธิ์” ขอให้ทุกคน ในทุกสถานที่ ยอมรับว่าพระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์ โลกของเรามักยกย่องสิ่งต่าง ๆ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งผิด – เช่น บูชาเงินทอง เพศ และอำนาจ – ขอให้โลกมองเห็นและยอมรับความศักดิ์สิทธิ์เที่ยงแท้ และขอให้คนแรกที่เห็น คือ ข้าพเจ้า ขอให้ดวงตาของข้าพเจ้ามองเห็นแต่ความงาม และความอ่อนโยนของพระเจ้า
    พระอาณาจักรจงมาถึง  พระประสงค์จงสำเร็จไปในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์ – นี่คือประโยคที่น่าตื่นเต้นที่สุดในบทภาวนานี้ เราต้องปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างบนโลก ก่อนที่พระอาณาจักรของ
พระเจ้าจะมาถึงโลกนี้ได้ นี่ไม่ใช่ประโยคที่ท่องกันง่าย ๆ ในวัดวันอาทิตย์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย และเตรียมเครื่องมือปฐมพยาบาลให้พร้อมเสียก่อน เพราะนี่คือคำวิงวอนอย่างจริงจังให้พระเจ้าทรงโจมตี
ทุกสิ่งที่ขัดขวางพระประสงค์ที่ดี และเต็มเปี่ยมด้วยความรักของพระองค์ เราพร้อมจะเข้าร่วมโจมตีพร้อมกับพระองค์หรือยัง และให้พระองค์ทรงเริ่มโจมตีด้วยการทำงานในตัวเราก่อน
    โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้  ในพระอาณาจักร หรือพระราชัยของพระเจ้า มนุษย์แต่ละคนจะมีทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็น เราคาดหวังว่าจะได้เข้าร่วมในงานเลี้ยงในพระอาณาจักรด้วยการวิงวอนขอ “อาหาร” ที่จำเป็นสำหรับเราโดยเฉพาะในวันนี้ แต่เราไม่สามารถภาวนาเช่นนี้ได้โดยที่เราไม่นำผู้หิวโหยในโลกนี้มาสู่โต๊ะอาหารเดียวกันนี้ และสิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการก็คืออาหาร ถ้าเช่นนั้น เราจะทำอะไรเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น (บทภาวนานี้เริ่มทำให้เรารู้สึกเจ็บแล้วใช่ไหม)
    โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย เหมือนข้าพเจ้าทั้งหลายให้อภัยแก่ผู้อื่น – การให้อภัยเป็นหัวใจของคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า ซึ่งไม่ได้หมายถึงการยอมทนอย่างที่ทำกันง่าย ๆ ในยุคของเรา แต่เป็นการให้อภัยอย่างเต็มที่ซึ่งทำได้ยาก น่าตกใจ และถึงกับให้อภัยโดยไม่ยั้งคิดอย่างที่พระเจ้าทรงให้อภัยเรา ถ้าเรารู้ว่าพระองค์เคยให้อภัยเรามาแล้วมากมายเพียงใด แต่เราจะมองไม่เห็นการให้อภัยของพระเจ้า เว้นแต่ว่าเราพร้อมจะให้อภัยผู้อื่นเช่นเดียวกัน คุณคิดว่าบทภาวนานี้ยังสวดได้ง่าย ๆ อีกหรือเปล่า
    โปรดช่วยเราไม่ให้แพ้การประจญ – การประจญนี้ไม่ได้หมายถึงบาปเล็กน้อยส่วนตัว แต่หมายความว่าขออย่าให้เราต้องตกอยู่ในเงื้อมมือของความมืดที่ต่อต้านพระราชัยแห่งความรักของพระเจ้าอยู่ทั่วโลก ซึ่งเป็นบาปที่ร้ายแรงกว่า เราจำเป็นต้องขอให้พระเจ้าทรงช่วยเราให้พ้นจากความชั่วร้าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ในการช่วยโลกที่ล้ำค่าและบอบบางของพระองค์ให้หลุดพ้นจากความสิ้นหวัง เราต้องต่อสู้ความชั่วร้ายด้วยอานุภาพของไม้างเขน  และไม้กางเขนคือจุดยืนของเรา เมื่อเราต่อสู้กับการประจญของเรา
    เพราะพระอาณาจักร พระอานุภาพ และพระสิริรุ่งโรจน์เป็นของพระองค์ตลอดนิรันดร

ลองทำดู
•    เมื่อคุณสวดบทข้าแต่พระบิดา ให้คิดถึงสถานการณ์หนึ่งโดยเฉพาะขณะที่คุณวิงวอนขอแต่ละข้อ เช่น เมื่อสวดว่า “พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ” ให้คิดถึงสำนักงาน หรือโรงเรียน ที่บ่อยครั้งพระนามของพระเจ้าถูกใช้เป็นคำสบถในสถานที่เหล่านั้น เมื่อสวดว่า “พระอาณาจักรจงมาถึง” ให้คิดถึงสถานที่ใดที่กำลังมีผู้ต่อต้านอาณาจักรแห่งสันติภาพของพระเจ้าอย่างรุนแรง เมื่อสวดว่า “โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้” ให้คิดถึงความจำเป็นอันเร่งด่วนของสมาชิกบางคนในครอบครัวของคุณ
•    คุณสามารถเลือกวลีหนึ่งในแต่ละวัน และใช้วลีนั้นเป็นศูนย์กลางการภาวนาที่คุณจะใช้ภาวนาซ้ำไปมา หรือ “เคี้ยวเอื้อง” ได้ตลอดวัน เช่น “พระประสงค์จงสำเร็จไป” จะมีความหมายอย่างไรได้บ้าง ถ้าคุณนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ ตลอดวันนั้น เช่น การสนทนาตามปกติ การทำธุรกรรมบางอย่าง หรือการใช้เวลาอยู่กับเพื่อนฝูง
•    เมื่อคุณสวดบทข้าแต่พระบิดาร่วมกับผู้อื่น คุณอาจหยุดพักที่บางวลี เงียบสักครู่หนึ่ง และไตร่ตรองวลีนั้นก่อนจะสวดต่อไปจนจบ
•    อย่างน้อยที่สุด เราสามารถสวดบทภาวนานี้ให้ช้ากว่าปกติ และคิดจริง ๆ ว่าเรากำลังพูดอะไร