แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระธรรมล้ำลึกของการสวดสายประคำ

การสวดสายประคำประกอบด้วย “พระธรรมล้ำลึก” ยี่สิบประการ (หมายถึงเหตุการณ์ในชีวิตของพระเยซูเจ้า และพระนางมารีย์) พระสมณสาสน์ เรื่องการสวดสายประคำ ได้รวมกลุ่มเป็น 4 ตอนติดต่อกัน

ตอนที่ 1 พระธรรมล้ำลึกน่ายินดี
(สวดวันจันทร์และวันเสาร์)

ข้อรำพึงเกี่ยวกับการบังเกิดของพระเยซูเจ้า

1. ทูตสวรรค์แจ้งข่าวแก่พระนางมารีย์

01“พระเจ้าทรงส่งทูตสวรรค์กาเบรียลมายังเมืองหนึ่งในแคว้นกาลิลี ชื่อเมืองนาซาเร็ธ มาพบหญิงพรหมจารีคนหนึ่งซึ่งหมั้นอยู่กับชายชื่อโยเซฟ ในราชวงศ์ของกษัตริย์ดาวิด หญิงพรหมจารีผู้นั้นชื่อมารีย์” (ลก 1:26-27)

“การที่ทูตสวรรค์แจ้งข่าวแก่พระนางมารีย์ เป็นการเริ่ม “เวลาที่กำหนดไว้” (กท 4:4) เป็นการกระทำให้พระสัญญาของพระเจ้า และการเตรียมกิจการต่างๆ ให้สำเร็จไป” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ  484)

 


2. พระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบธ


02“หลังจากนั้นไม่นาน พระนางมารีย์ทรงรีบออกเดินทางไปยังเมืองหนึ่งในแถบภูเขาแคว้นยูเดีย  พระนางเสด็จเข้าไปในบ้านของเศคาริยาห์และทรงทักทายนางเอลีซาเบธ  เมื่อนางเอลีซาเบธได้ยินคำทักทายของพระนางมารีย์ บุตรในครรภ์ก็ดิ้น  นางเอลีซาเบธได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม  ร้องเสียงดังว่า “เธอได้รับพระพรยิ่งกว่าหญิงใด ๆ และลูกของเธอก็ได้รับพระพรด้วย (ลก 1: 39-42 )

“พระนางมารีย์เสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบธ ได้กลายเป็นการเสด็จเยี่ยมของพระเจ้าแก่ประชากรของพระองค์” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 717)


3. พระเยซูเจ้าประสูติ ณ เมืองเบธเลเฮม

03“ครั้งนั้น พระจักรพรรดิออกัสตัส  ทรงออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วจักรวรรดิโรมัน  การสำรวจสำมะโนประชากรครั้งแรกนี้ มีขึ้นเมื่อคีรินีอัสเป็นผู้ว่าราชการแคว้นซีเรีย  ทุกคนต่างไปลงทะเบียนในเมืองของตน      โยเซฟออกเดินทางจากเมืองนาซาเร็ธในแคว้นกาลิลีไปยังเมืองของกษัตริย์ดาวิดชื่อเบธเลเฮมในแคว้นยูเดีย เพราะโยเซฟสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์กษัตริย์ดาวิด ท่านไปลงทะเบียนพร้อมกับพระนางมารีย์ ซึ่งกำลังทรงพระครรภ์  ขณะที่อยู่ที่นั่น ก็ถึงกำหนดเวลาที่พระนางมารีย์จะมีพระประสูติกาล  พระนางประสูติพระโอรสองค์แรก ทรงใช้ผ้าพันพระวรกายพระกุมารนั้น แล้วทรงวางไว้ในรางหญ้า เนื่องจากไม่มีที่ในห้องพักแรมเลย (ลก 2:1-7)
“พระเยซูเจ้าทรงบังเกิดในถ้ำเลี้ยงสัตว์ต่ำต้อย ในครอบครัวที่ยากจน คนเลี้ยงแกะธรรมดาๆ คือประจักษ์พยานกลุ่มแรกของเหตุการณ์ครั้งนั้น ในความยากจนนั้นเองซึ่งสิริโรจนาแห่งสวรรค์ได้ปรากฏให้เห็น” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 525)


4. พระนางมารีย์ถวายพระกุมารในพระวิหาร

04“เมื่อครบกำหนดแปดวัน ถึงเวลาที่พระกุมารจะต้องทรงเข้าสุหนัต เขาถวายพระนามพระองค์ว่าเยซู เป็นพระนามที่ทูตสวรรค์ให้ไว้ก่อนที่พระองค์จะทรงปฏิสนธิ์ในพระครรภ์ของพระมารดา เมื่อครบกำหนดเวลาที่มารดาและบุตรจะต้องทำพิธีชำระมลทิน ตามธรรมบัญญัติของโมเสส โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์นำพระกุมารไปที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อถวายแด่พระเจ้า มีเขียนไว้ในธรรมบัญญัติของพระเจ้าว่า จะต้องถวายบุตรชายคนแรกแด่พระเจ้า และถวายเครื่องบูชาคือนกเขาหนึ่งคู่หรือนกพิราบสองตัวตามที่มีกำหนดไว้ในธรรมบัญญัติของพระเจ้า (ลก 2:21-24)

“พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีเข้าสุหนัต ในวันที่แปดหลังการบังเกิดของพระองค์ เป็นเครื่องหมายของการรวมเข้าในตำแหน่งผู้สืบเชื้อสายของอับราฮัม ในประชากรแห่งพันธสัญญา เครื่องหมายของการยอมอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ”
(คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 527)


5. พระนางมารีย์พบพระเยซูเจ้าในพระวิหาร

05โยเซฟพร้อมกับพระมารดาของพระเยซูเจ้าเคยขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็มในเทศกาลปัสกาทุกปี  เมื่อพระองค์มีพระชนมายุสิบสองพรรษา โยเซฟพร้อมกับพระมารดาก็ขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มตามธรรมเนียมของเทศกาลนั้น  เมื่อวันฉลองสิ้นสุดลง ทุกคนก็เดินทางกลับ แต่พระเยซูเจ้ายังประทับอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มโดยที่บิดามารดาไม่รู้  เพราะคิดว่า พระองค์ทรงอยู่ในหมู่ผู้ร่วมเดินทาง  เมื่อเดินทางไปได้หนึ่งวันแล้ว โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์ตามหาพระองค์ในหมู่ญาติและคนรู้จัก  เมื่อไม่พบจึงกลับไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อตามหาพระองค์ที่นั่น ในวันที่สาม  โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์พบพระองค์ในพระวิหารประทับนั่งอยู่ในหมู่อาจารย์ ทรงฟังและทรงไต่ถามพวกเขา ทุกคนที่ได้ฟังพระองค์ต่างประหลาดใจในพระปรีชาที่ทรงแสดงในการตอบคำถาม (ลก 2:41-47)

“การได้พบพระเยซูในพระวิหาร เป็นเหตุการณ์อันเดียว   ซึ่งเข้ามาทำลายความเงียบของพระวรสารเกี่ยวกับปีที่เร้นอยู่เหล่านั้นของพระเยซูเจ้า ในเหตุการณ์นี้พระเยซูเจ้าทรงปล่อยให้เราพอมองเห็นธรรมล้ำลึกแห่งการถวายองค์โดยสิ้นเชิงให้แก่พันธกิจอันเนื่องมาจากการเป็นบุตรพระเจ้า” พ่อแม่ไม่รู้หรือว่า ลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 534)

ตอนที่ 2 พระธรรมล้ำลึกแห่งความสว่าง

(สวดวันพฤหัสบดี)
ข้อรำพึงเกี่ยวกับชีวิตเปิดเผยและภารกิจของพระเยซูเจ้า

1. พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง ณ แม่น้ำจอร์แดน
06
“เมื่อพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างแล้ว เสด็จขึ้นจากน้ำ ทันใดนั้นท้องฟ้าเปิดออก พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระจิตของพระเจ้าเสด็จลงมา เหนือพระองค์ดุจนกพิราบ และมีเสียงจากสวรรค์กล่าวว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา (มธ 3 : 16-17)

“การเริ่มต้นชีวิตท่ามกลางสาธารณชนของพระเยซูเจ้า อยู่ที่พิธีล้างซึ่งพระองค์ได้รับจากยอห์นในแม่น้ำจอร์แดน ยอห์นเทศน์สอนเรื่องพิธีล้าง ซึ่งแสดงการเป็นทุกข์กลับใจ เพื่อจะได้รับการอภัยบาป” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 535)


2. พระเยซูเจ้าทรงเผยพระองค์เองในงานมงคลสมรส ณ หมู่บ้านคานา
07
“สามวันต่อมา มีงานสมรสที่หมู่บ้านคานาในแคว้นกาลิลี    พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงอยู่ในงานนั้น พระเยซูเจ้าทรงได้รับเชิญพร้อมกับบรรดาศิษย์มาในงานนั้นด้วย  เมื่อเหล้าองุ่นหมด พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงมาทูลพระองค์ว่า “เขาไม่มีเหล้าองุ่นแล้ว” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “หญิงเอ๋ย  ท่านต้องการสิ่งใด เวลาของเรายังมาไม่ถึง” พระมารดาของพระเยซูเจ้าจึงกล่าวแก่บรรดาคนรับใช้ว่า “เขาบอกให้ท่านทำอะไร ก็จงทำเถิด” (ยน 2:1-5)

“เมื่อพระเยซูเจ้าเริ่มเทศน์สอน พระองค์ทรงกระทำเครื่องหมายแรก ตามคำขอของพระมารดาของพระองค์ ระหว่างงานเลี้ยงสมรส พระศาสนจักรให้ความสำคัญยิ่งใหญ่ต่อการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าในงานเลี้ยงแต่งงานที่คานา พระศาสนจักรยืนยันความดีของการแต่งงาน และประกาศว่า นับจากนั้นเป็นต้นมา การแต่งงานจะเป็นเครื่องหมายที่มีประสิทธิผลแห่งการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 1613)

3. พระเยซูเจ้าทรงประกาศพระอาณาจักรของพระเจ้า และทรงเรียกผู้คนให้กลับใจ

08“เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจและเชื่อข่าวดีเถิด” (มก 1:15)

“มนุษย์ทุกคนได้รับเรียกให้เข้าสู่พระอาณาจักร ซึ่งแรกทีเดียวได้ประกาศแก่ลูกหลานชาวอิสราเอลนั้น     อาณาจักรของพระเมสิยาห์นี้ ได้รับการกำหนดไว้ให้ต้อนรับมนุษย์ทุกชาติ” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 543)




4. พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระกายอย่างรุ่งโรจน์ ณ ภูเขาทาบอร์

09“ต่อมาอีกหกวัน พระเยซูเจ้าทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์นน้องชายไปบนภูเขาสูง ที่ปราศจากผู้คน แล้วพระวรกายของพระองค์ก็เปลี่ยนไปต่อหน้าเขา พระพักตร์เปล่งรัศมีดุจดวงอาทิตย์ ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวดุจแสงสว่าง” (มธ 17:1-2)

“ชั่วขณะหนึ่งพระเยซูเจ้าได้ทรงแสดงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้า เป็นการยืนยันการประกาศยอมรับของเปโตร พระองค์ยังทรงแสดงให้เห็นด้วยว่า พระองค์จะต้องผ่านการถูกตรึงกางเขน ณ กรุงเยรูซาเล็ม “เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริ-รุ่งโรจน์ของพระองค์” (ลก 24:26) (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 555)


5. พระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลมหาสนิท เพื่อเป็นเครื่องหมายของธรรมล้ำลึกปัสกา

10“ขณะที่ทุกคนกำลังกินอาหารอยู่นั้น พระเยซูเจ้าทรงหยิบขนมปังตรัสถวายพระพร ทรงบิขนมปังประทานให้บรรดาศิษย์ตรัสว่า “จงรับไปกินเถิด นี่เป็นกายของเรา” (มธ 26:26)

“โดยการรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้ายกับบรรดาอัครสาวกของพระองค์ในระหว่างงานเลี้ยงปัสกานั้น พระเยซูเจ้าได้ทรงให้ความหมายที่แน่นอนถึงปัสกาของชาวฮีบรู การที่พระเยซูเจ้าทรงผ่านข้ามไปหาพระบิดาด้วยการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพเป็นปัสกาใหม่ เป็นการกระทำล่วงหน้าในมื้ออาหารค่ำ และในการฉลองศีลมหาสนิท ซึ่งนำปัสกาของชาวฮีบรูไปสู่ความสมบูรณ์  และฉลองปัสกาสุดท้ายของพระศาสนจักรในพระสิริรุ่งโรจน์แห่งพระอาณาจักร (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 1340)

ตอนที่ 3 พระธรรมล้ำลึกพระมหาทรมาน
(สวดวันอังคาร และวันศุกร์)
ข้อรำพึงเกี่ยวกับความทุกข์ของพระเยซูเจ้า

1. พระเยซูเจ้าทรงเข้าตรีทูตในสวนเกทเสมนี
11
เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาพร้อมกับบรรดาศิษย์ถึงสถานที่แห่งหนึ่งชื่อเกทเสมนี พระองค์ตรัสแก่เขาเหล่านั้นว่า “จงนั่งอยู่ที่นี่ ขณะที่เราไปอธิษฐานภาวนาที่โน่น”  แล้วทรงพาเปโตรและบุตรทั้งสองของเศเบดีไปด้วย พระองค์ทรงรู้สึกเศร้าและสลดพระทัยอย่างยิ่ง  จึงตรัสแก่เขาทั้งสามคนว่า “ใจเราเป็นทุกข์แทบสิ้นชีวิต  จงอยู่ที่นี่และตื่นเฝ้ากับเราเถิด”  แล้วพระองค์ทรงพระดำเนินไปข้างหน้าอีกเล็กน้อย ทรงซบพระพักตร์ลงกับพื้นดิน อธิษฐานภาวนาว่า “พระบิดาเจ้าข้า ถ้าเป็นไปได้ ขอให้ถ้วยนี้พ้นข้าพเจ้าไปเถิด ถ้าเป็นไปไม่ได้ ก็ขออย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า แต่ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” (มธ 26:36-39)

“การต่อสู้และชัยชนะนั้นเป็นไปได้อาศัยการภาวนาเท่านั้น การที่พระเยซูเจ้าทรงชนะการทดลองและในการต่อสู้ครั้งสุดท้ายตอนที่ทรงเข้าตรีทูต ก็โดยอาศัยการภาวนาของพระองค์” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 2849)


2. พระเยซูเจ้าทรงถูกเฆี่ยน
12
“ปีลาตสั่งให้นำพระเยซูเจ้าไปเฆี่ยน บรรดาทหารนำหนามมาสานเป็นมงกุฎสวมพระเศียร ให้พระองค์ทรงเสื้อคลุมสีแดง ทหารเข้ามาหาพระองค์ และพูดว่า “กษัตริย์ของชาวยิว ขอทรงพระเจริญ” แล้วตบพระพักตร์พระองค์” (ยน 19:1-3)

“การรับทรมานของพระเยซูเจ้าในเชิงประวัติศาสตร์ ที่เป็นรูปธรรมจากความจริงที่ว่าพระองค์จะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ ปฏิเสธไม่ยอมรับ” (มก 8:31) ซึ่ง “จะถูกมอบให้คนต่างชาติสบประมาณ เยาะเย้ย โบยตี และนำไปตรึงกางเขน” (มธ 20:19)    (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 572)

3. พระเยซูเจ้าทรงถูกสวมมงกุฎหนาม

13บรรดาทหารของผู้ว่าราชการนำพระเยซูเจ้าเข้าไปในจวน และเรียกทหารทั้งกองมาพร้อมกัน เขาเปลื้องฉลองพระองค์ออก นำเสื้อคลุมสีม่วงแดงมาคลุมให้ นำหนามมาสานเป็นมงกุฎสวมพระเศียร ให้พระองค์ถือไม้อ้อในพระหัตถ์ขวา แล้วคุกเข่าลงเฉพาะพระพักตร์ เยาะเย้ยพระองค์ว่า “ข้าแต่กษัตริย์ของชาวยิว ขอทรงพระเจริญเทอญ” (มธ 27:27-29)

“ทรงรักเขาจนถึงที่สุด” (ยน 13:1) นี้เองที่ทรงประทานให้การถวายบูชาของพระคริสตเจ้า มีคุณค่าในการไถ่กู้ การชดเชยบาป และการชดใช้บาป     พระองค์ทรงรู้จัก และรักเราทุกคนในการถวายชีวิตของพระองค์” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 616)

4. พระเยซูเจ้าทรงแบกไม้กางเขน

14 “ชายคนหนึ่งชื่อ ซีโมน ชาวไซรีน เป็นบิดาของอเล็กซานเดอร์และรูฟัส  กำลังเดินทางจากชนบทผ่านมาทางนั้น บรรดาทหารจึงเกณฑ์ให้เขาแบกไม้กางเขนของพระองค์ไป  ทหารนำพระองค์มาถึงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเรียกว่า “กลโกธา” แปลว่า “เนินหัวกระโหลก”
(มก 15:21-22)

“ด้วยการยอมรับไว้ในเจตจำนงแบบมนุษย์ของพระองค์ ให้ทุกสิ่งเป็นไปตามน้ำพระ-ทัยของพระบิดา พระองค์จึงทรงยอมรับความตายของพระองค์ในฐานะเป็นค่าไถ่บาป เพื่อ “แบกบาปของเราไว้ในพระวรกายบนไม้กางเขน” (1ปต 2:24) (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 612)


5. พระเยซูเจ้าทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน


15เมื่อมาถึงสถานที่ที่เรียกว่าเนินหัวกระโหลก  บรรดาทหารตรึงพระองค์ที่นั่นพร้อมกับผู้ร้ายสองคน คนหนึ่งอยู่ข้างขวาและอีกคนหนึ่งอยู่ข้างซ้าย  พระเยซูเจ้าตรัสว่า พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร (ลก 23:33-34)
ขณะนั้น เป็นเวลาประมาณเที่ยงวัน ทั่วแผ่นดินมืดไปจนถึงเวลาบ่ายสามโมง  เพราะดวงอาทิตย์มืดลง ม่านในพระวิหารฉีกขาดตรงกลาง  พระเยซูเจ้าทรงร้องเสียงดังว่า พระบิดาเจ้าข้า ข้าพเจ้ามอบจิตของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ก็สิ้นพระชนม์ (ลก 23:33-34, 44-46)
“พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพราะบาปของเรา ตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์”
(1คร 15:3) (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 619)

ตอนที่ 4 พระธรรมล้ำลึกพระสิริรุ่งโรจน์
(สวดวันพุธ และวันอาทิตย์)
ข้อรำพึงเกี่ยวกับการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า

1. พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพ

16ตั้งแต่เช้าตรู่วันต้นสัปดาห์บรรดาสตรีนำเครื่องหอมที่เตรียมไว้มาที่พระคูหา เขาพบว่าก้อนหินถูกกลิ้งออกไปจากพระคูหาแล้ว เมื่อเข้าไปในพระคูหาก็ไม่พบพระศพของพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้า  ขณะที่บรรดาสตรีประหลาดใจกับเหตุการณ์นี้ บุรุษสองคนสวมเสื้อที่เป็นประกายรุ่งโรจน์ยืนอยู่ใกล้ๆ สตรีเหล่านั้นตกใจกลัวและก้มหน้าลงมองพื้นดิน แต่บุรุษทั้งสองคนพูดว่า ทำไมท่านมองหาผู้เป็นในหมู่ผู้ตายเล่า  พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่นี่ พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว (ลก 24:1-5)

“ถ้าพระคริสตเจ้ามิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพการเทศน์สอนของเราก็ไร้ประโยชน์ และความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์” (1คร 15:14) การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าเป็นการยืนยันถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ได้ทรงกระทำ และได้ทรงสั่งสอน” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 651)


2. พระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์

17“เมื่อพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้แล้ว พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ให้ประทับ ณ เบื้องขวา” (มก 16:19)

“ขั้นตอนสุดท้ายที่ยังคงเชื่อมต่ออย่างใกล้ชิดกับขั้นตอนแรกคือ การที่พระคริสตเจ้าเสด็จจากสวรรค์มารับสภาพมนุษย์ พระองค์เดียวเท่านั้นที่ “มาจากพระบิดา” สามารถกลับไปหาพระบิดา คือพระเยซูคริสตเจ้า” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 661)




3. พระจิตเสด็จมา

18เมื่อวันเปนเตกอสเตมาถึง บรรดาศิษย์ทุกคนมาชุมนุมในสถานที่เดียวกัน ทันใดนั้นมีเสียงจากฟ้าเหมือนเสียงลมพัดแรงกล้า ทุกคนที่อยู่ในบ้านได้ยิน  เขาเห็นเปลวไฟลักษณะเหมือนลิ้น  แยกไปอยู่เหนือศีรษะของเขาแต่ละคน  ทุกคนได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม และเริ่มพูดภาษาอื่น ๆ ตามที่พระจิตเจ้าประทานให้พูด (กจ 2:1-4)

“พระจิตเจ้า คือพระนามเฉพาะขององค์พระผู้ซึ่งเราสักการบูชา และถวายพระสิริรุ่ง-โรจน์ร่วมกับพระบิดาและพระบุตร พระศาสนจักรได้รับพระจิตเจ้ามาจากองค์พระผู้เป็น-เจ้า และประกาศยืนยันในการที่โปรดศีลล้างบาปให้แก่ลูกๆ คนใหม่ของพระศาสนจักร”
(คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 691)


4. พระนางมารีย์ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์

19“ตั้งแต่นี้ไปชนทุกสมัยจะกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นสุข พระผู้ทรงสรรพานุภาพทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่สำหรับข้าพเจ้า” (ลก 1:48-49)

“พระนางพรหมจารีมารีย์ เมื่อจบครรลองชีวิตของพระนางบนแผ่นดินแล้ว ก็ได้รับการยกทั้งกายและวิญญาณขึ้นสู่สิริรุ่งโรจน์แห่งสวรรค์ ซึ่ง ณ ที่นั้น พระนางได้มีส่วนในพระสิริรุ่งโรจน์แห่งการกลับคืนพระชนมชีพของพระบุตรแล้ว ระหว่างรอคอยการกลับคืนชีพของสมาชิกทั้งหมดแห่งพระกายของพระองค์” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 974)



5. พระนางมารีย์ได้รับมงกุฎในสวรรค์

20“เครื่องหมายยิ่งใหญ่ปรากฏในสวรรค์ คือสตรีผู้หนึ่ง มีดวงอาทิตย์เป็นอาภรณ์ มีดวงจันทร์อยู่ใต้เท้า มีมงกุฎดาวสิบสองดวงประดับศีรษะ” (วว 12:1)

“ในที่สุด พระนางพรหมจารีนิรมล ผู้ได้รับการอารักขาไว้โดยพระเจ้าให้พ้นจากโทษบาปกำเนิด  และเมื่อได้ดำเนินชีวิตอยู่บนแผ่นดินจนครบบริบูรณ์แล้ว ก็ได้รับการยกขึ้นสู่สิริรุ่งโรจน์แห่งสวรรค์ ทั้งกายและวิญญาณ และได้รับการเชิดชูจากองค์พระผู้เป็นเจ้า ให้เป็นราชินีแห่งจักรวาล เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นกับพระบุตรของพระนาง ผู้เป็นเจ้าแห่งเจ้านายทั้งหลาย ผู้พิชิตบาปและความตาย” (คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก ข้อ 966)