แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 3 เทศกาลปัสกา
กิจการอัครสาวก 3:13-15, 17-19; 1 ยอห์น 2:1-5; ลูกา 24:35-48

บทรำพึงที่ 1
ถ้วยชา
ความเจ็บปวดย่อมมีวันผ่านพ้นไป แต่ความงามจะคงอยู่ตลอดไป

    ครั้งต่อไปที่คุณต้องการผ่อนคลายหลังจากผ่านวันที่ยุ่งเหยิง ลองหยิบหนังสือสำหรับเด็กขึ้นมาอ่าน แต่ขอให้เลือกหนังสือสำหรับเด็กวัยสี่ขวบ

    คุณจะแปลกใจว่าคุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง เช่น คุณจะพบว่าสัตว์พูดได้ ดอกไม้พูดได้ และแม้แต่ถ้วยชาก็ยังพูดได้

    คุณจะค้นพบสิ่งที่น่าทึ่งกว่านั้นอีก คุณจะค้นพบว่าถ้วยชาสามารถเล่าเรื่องที่อาจเปลี่ยนชีวิตของคุณได้ด้วย ผมจะเล่าเรื่องหนึ่งจากหนังสือสำหรับเด็ก โดยใช้คำพูดของผมเอง

    คุณตาคุณยายคู่หนึ่งไปที่ร้านจำหน่ายของเบ็ดเตล็ดเพื่อหาซื้อของขวัญวันเกิดให้หลานสาวของเขา แล้วคุณยายก็เห็นถ้วยชาที่สวยมากถ้วยหนึ่ง เธอบอกคุณตาว่า “ดูถ้วยชาน่ารักนี้ซิ” คุณตาหยิบถ้วยชาขึ้นมาดู และพูดว่า “จริงของคุณ นี่เป็นถ้วยชาที่สวยที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็น"

    แล้วก็มีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เฉพาะในหนังสือสำหรับเด็กเท่านั้น ถ้วยชาพูดกับคุณตาคุณยายว่า “ขอบคุณที่ชมฉัน แต่เมื่อก่อนฉันไม่ได้สวยอย่างนี้หรอกนะ”

    แทนที่คุณตาคุณยายจะแปลกใจที่ถ้วยชาพูดได้ เขากลับถามว่า “เธอหมายความว่าอะไรเมื่อเธอบอกว่าเมื่อก่อนเธอไม่ได้สวยอย่างนี้”

    ถ้วยชาตอบว่า “ครั้งหนึ่งฉันเป็นเพียงก้อนดินเหนียวแฉะ ๆ ที่น่าเกลียด แล้ววันหนึ่ง ชายคนหนึ่งได้ใช้มือที่เปียกและสกปรกของเขา โยนฉันเข้าไปบนแป้นหมุน เขาหมุนฉันไปรอบ ๆ จนฉันเวียนหัว ตาลายไปหมด

    ฉันร้องบอกเขาว่า “หยุด หยุด” แต่ชายมือเปียกคนนั้นพูดว่า “ยังหยุดไม่ได้” แล้วเขาก็ทิ่มฉัน และทุบฉัน จนฉันเจ็บไปหมด ฉันร้องว่า “หยุด หยุด” แต่ชายคนนั้นก็บอกว่า “ยังหยุดไม่ได้”

    ในที่สุด เขาก็หยุด แต่เขาทำอะไรที่ร้ายยิ่งกว่า เขาเอาฉันใส่เข้าไปในเตาไฟ ฉันร้อนขึ้น ร้อนขึ้น จนทนไม่ไหว ฉันร้องว่า “หยุด หยุด” แต่ชายคนนั้นก็บอกว่า “ยังหยุดไม่ได้”

    ในที่สุด เมื่อฉันคิดว่าฉันคงต้องถูกเผาจนเกรียมไปทั้งตัวแล้ว ชายคนนั้นก็นำฉันออกมาจากเตา จากนั้น หญิงร่างเตี้ยคนหนึ่งก็เริ่มทาสีบนตัวฉัน กลิ่นสีฉุนมาก จนทำให้ฉันคลื่นไส้ ฉันร้องว่า “หยุด หยุด” หญิงคนนั้นบอกว่า “ยังหยุดไม่ได้”

    ในที่สุดเธอก็หยุด แต่เธอส่งฉันกลับไปให้ชายคนนั้นอีกครั้งหนึ่ง และเขาก็ใส่ฉันกลับเข้าไปในเตาเผา ครั้งนี้มันร้อนยิ่งกว่าครั้งแรก ฉันร้องว่า “หยุด หยุด” ชายคนนั้นตอบว่า “ยังหยุดไม่ได้”

    ในที่สุด เขาก็นำฉันออกมาจากเตาเผา ทิ้งฉันไว้จนเย็น เมื่อฉันเย็นแล้ว ผู้หญิงสวยคนหนึ่งหยิบฉันขึ้นไปวางบนชั้นวางของนี้ใกล้กระจกเงา

    เมื่อฉันเห็นตนเองในกระจกเงา ฉันแปลกใจมาก ฉันไม่เชื่อสายตาตนเอง ฉันไม่น่าเกลียด และสกปรกอีกต่อไป แต่ฉันสวย แกร่ง และสะอาด ฉันน้ำตาไหลด้วยความยินดี

    เมื่อนั้นเองที่ฉันรู้ว่าความเจ็บปวดทั้งหมดนั้นคุ้มค่า ถ้าฉันไม่เจ็บปวด ฉันก็ยังคงน่าเกลียด แฉะ และสกปรก เมื่อนั้นเองที่ความเจ็บปวดมีความหมายสำหรับฉัน มันผ่านไปแล้ว แต่ความงามที่เกิดจากความเจ็บปวดนั้นยังคงอยู่"

    เรื่องของถ้วยชาในหนังสือสำหรับเด็กต้องการสื่อสารเกี่ยวกับบทอ่านจากพระวรสารวันนี้ สารนั้นบอกเราว่าก่อนพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพอย่างรุ่งเรืองในวันปัสกา พระองค์ทรงต้องรับทนความเจ็บปวด และสิ้นพระชนม์ เปโตร กล่าวไว้ในบทอ่านที่หนึ่งของวันนี้ว่า “พระเจ้าตรัสไว้ล่วงหน้าโดยทางประกาศก ว่าพระคริสตเจ้าของพระองค์จะต้องทรงรับทรมาน (ก่อนจะทรงกลับคืนพระชนมชีพอย่างรุ่งเรือง)” (กจ 3:18)

    และพระวรสารก็ย้ำความคิดเดียวกันว่า     “แล้วพระองค์ทรงทำให้เขาเกิดปัญญาเข้าใจพระคัมภีร์ ตรัสว่า ‘มีเขียนไว้ดังนี้ว่า พระคริสตเจ้าจะต้องรับทนทรมาน (ก่อนจะทรงกลับคืนพระชนมชีพอย่างรุ่งเรือง)’ ” (ลก 24:45-46)

    พระเยซูเจ้าตรัสไว้ในพระวรสารด้วยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระองค์นี้ จะต้องเกิดขึ้นกับเราด้วยว่า “ผู้รับใช้ย่อมไม่เป็นใหญ่กว่านายของตน ถ้าเขาเบียดเบียนข่มเหงเรา เขาก็เบียดเบียนข่มเหงท่านทั้งหลายด้วย” (ยน 15:20)

    พระวรสารกำลังบอกเราว่า ถ้าเราต้องการได้รับสิริรุ่งโรจน์อย่างที่พระเยซูเจ้าได้รับ เราต้องยอมรับทนทรมานเหมือนพระองค์ เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เราอาจตะโกนว่า “หยุด หยุด” แต่ในที่สุด เราจะน้ำตาไหลด้วยความยินดี เหมือนกับถ้วยชา และเหมือนกับพระเยซูเจ้า นี่คือสารจากบทอ่านพระวรสารวันนี้

    สารนี้บอกเราว่าก่อนที่เราจะมีประโยชน์และสวยงามสำหรับพระเจ้า เราต้องผ่านความเจ็บปวดในระดับหนึ่งมาก่อน

    สารนี้บอกเราว่า ถ้าเราจะกลับคืนชีพพร้อมกับพระเยซูเจ้า เราต้องตายก่อนเหมือนกับพระองค์ นักบุญออกัสติน อธิบายในบทเทศน์ของท่านที่สั่งสอนคริสตชนเมื่อ 1,500 ปีก่อนว่า “ท่านเป็นเหมือนเครื่องปั้นดินเผาชิ้นหนึ่ง ที่ขึ้นรูปด้วยคำสั่งสอน เผาด้วยความทุกข์ยาก ดังนั้น เมื่อท่านถูกใส่ไว้ในเตาอบ จงคิดถึงเวลาที่เขาจะนำท่านออกจากเตานั้น เพราะพระเจ้าทรงซื่อสัตย์ และพระองค์จะพิทักษ์รักษาท่านทั้งในเวลาที่ท่านเข้าไป และเมื่อท่านออกมาจากเตาอบ”

    เราจะสรุปบทรำพึงนี้ด้วยเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง

    เมื่อปี 1954 จิตรกรชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงชื่อ อองรี มาติส เสียชีวิตด้วยวัย 86 ปี

    ระหว่างช่วงท้ายในชีวิต โรคข้อต่ออักเสบทำให้มือของเขาเจ็บปวดและบิดเบี้ยว จนทำให้เจ็บปวดมากเมื่อเขาจับพู่กัน

    แต่มาติสยังวาดภาพต่อไป เขาใช้ผ้าหุ้มนิ้วมือของเขาเพื่อไม่ให้พู่กันเลื่อนหลุด วันหนึ่ง มีคนมาถามเขาว่าทำไมเขาจึงยอมให้ร่างกายของเขาต้องทนกับความเจ็บปวดเช่นนี้ ทำไมเขาจึงวาดภาพต่อไปทั้งที่มันทำให้เขาต้องเจ็บปวดมาก

    มาติสตอบว่า “ความเจ็บปวดย่อมมีวันผ่านพ้นไป เหลืออยู่แต่ความงาม”

    ในทำนองเดียวกัน ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับคุณ และผม เพื่อปรับแต่งตัวเราให้กลายเป็นบุคคลที่มีประโยชน์ และงดงามสำหรับพระเจ้านั้น ย่อมมีวันผ่านพ้นไป

    แต่เมื่อเราผ่านกระบวนการนี้แล้ว ความงามของเราจะคงอยู่ตลอดไป

บทรำพึงที่ 2
ลูกา 24:35-48

    วันนี้ เราอ่าน “เหตุการณ์ปัสกา” ตามการตีความของลูกา ในพระวรสารของเขา มีห้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันปัสกาเดียวกัน คือ
-    พวกสตรีไปที่พระคูหาฝังศพเวลาเช้าตรู่ และทูตสวรรค์แจ้งแก่พวกนางว่าพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว (24:1-10)
-    เปโตรไปที่พระคูหา แต่เขาไม่เข้าใจอะไรเลย (24:11-12)
-    พระเยซูทรงสำแดงพระองค์แก่ศิษย์สองคนจากเอมมาอูส (24:13-35)
-    พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่อัครสาวกสิบเอ็ดคน ตอนค่ำวันเดียวกัน (24:36-49)
-    พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ (24:50-53)

ศิษย์ทั้งสองคน (จากเอมมาอูส) เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นตามทาง และเล่าว่าตนจำพระองค์ได้ เมื่อทรงบิขนมปัง ขณะที่บรรดาศิษย์สนทนากันอยู่นั้น พระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่ในหมู่เขา
    กลุ่มบุคคลที่น่าสงสารเหล่านี้ประสบกับเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นตกใจมากมายระหว่างสามวันที่ผ่านมา ...

    การกินอาหารมื้อสุดท้ายร่วมกับพระเยซูเจ้าเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ... การจับกุมพระองค์ในสวนเกทเสมนี ... การหลบหนีของพวกเขา ... การปฏิเสธของเปโตร ... การตัดสินลงโทษพระเยซูเจ้าอย่างไม่เป็นธรรมด้วยข้อกล่าวหาว่าพระองค์เป็นคนนอกรีต และดูหมิ่นพระเจ้า ... การสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนนอกกำแพงเมือง ... ยูดาส ซึ่งเป็นเพื่อนคนหนึ่งของเขา ได้แขวนคอตาย ... อัครสาวกสิบสองคนบัดนี้เหลืออยู่สิบเอ็ดคน เพราะคนหนึ่งในพวกเขาได้ทรยศและเสียชีวิตไปแล้ว ...

    การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าเกิดขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์เหล่านี้ – อย่างกะทันหัน และไม่คาดฝัน ...

ตรัสว่า “สันติสุขจงดำรงอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด”

    นี่คือคำทักทายปกติของชาวยิว “ชาลอม” ... “สันติสุข” ...

    แต่เราอดคิดไม่ได้ว่าในคืนนั้น คำทักทายตามธรรมเนียมนี้มีความหมายพิเศษ ขณะที่พวกเขากำลังจมอยู่กับความทุกข์ พระองค์เสด็จมาเพื่อบอกเขาว่า “อย่ากลัวเลย จงมีสันติสุขเถิด” ...

    ยอห์นบอกเราว่าในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ก่อนสิ้นพระชนม์ พระเยซูเจ้าทรงสัญญาว่าพวกเขาจะพบกับสันติสุขอีกครั้งหนึ่งหลังจากผ่านช่วงเวลาของการทดลอง “เรามอบสันติสุขไว้ให้ท่านทั้งหลาย เราให้สันติสุขของเรากับท่าน” (ยน 14:27) ... “ท่านทั้งหลายจะกระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง และจะทิ้งเราไว้คนเดียว ... เราบอกเรื่องเหล่านี้กับท่านแล้ว เพื่อท่านจะได้มีสันติสุขในเรา ... อย่าท้อแท้ เราชนะโลกแล้ว” (ยน 16:32-33) ...

    วันนี้ ในคืนปัสกานี้ คำสัญญาของพระองค์เป็นความจริงแล้ว ...

เขาต่างตกใจกลัว คิดว่าได้เห็นผี

    คำบอกเล่าฉบับอื่นบอกเราว่าอัครสาวกทั้งสิบเอ็ดคนเริ่มต้นด้วยความรู้สึกกลัว และสงสัย ... ลูกาต้องย้ำหลังจากนั้นว่าพระเยซูเจ้าทรงต้อง “ทำให้เขาเกิดปัญญา” เพราะเขายังไม่เข้าใจอะไรเลย

    การ “เห็น” เท่านั้นยังไม่พอ – แต่ต้องเปิดใจต่อธรรมล้ำลึกด้วย ...

พระองค์ตรัสว่า “ท่านวุ่นวายใจทำไม เพราะเหตุใดท่านจึงมีความสงสัยในใจ จงดูมือ และเท้าของเราซิ เป็นเราเองจริง ๆ จงคลำตัวเราดูเถิด ผีไม่มีเนื้อ ไม่มีกระดูก อย่างที่ท่านเห็นว่าเรามี”

    ในคำบอกเล่าของยอห์นเกี่ยวกับเหตุการณ์เดียวกันนี้ พระเยซูเจ้าทรงให้ศิษย์ของพระองค์ดู “พระหัตถ์และด้านข้างพระวรกาย” เรารู้ว่า “ด้านข้างพระวรกายที่เปิดออกนี้” สำคัญสำหรับยอห์นมากเพียงไร เพราะเป็นสัญลักษณ์ของน้ำทรงชีวิตที่ไหลรินออกมาจากพระวิหารใหม่ ตามคำทำนายของเอเสเคียล

    แต่คำบอกเล่าทั้งสองฉบับเสนอสาระสำคัญเดียวกัน คือ ต้องการแสดงให้เห็นว่านี่คือพระเยซูเจ้าองค์เดียวกับที่ทรงถูกตรึงกางเขน และบัดนี้ พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ... ชาวเซมิติกไม่เชื่อเรื่อง “การแยกตัวของร่างกายและวิญญาณ” ดังนั้น ถ้าพระเยซูเจ้ามีชีวิต พระองค์จะต้องมีชีวิตทั้งตัวตนอย่างสมบูรณ์ พระเยซูเจ้าทรงต้องการย้ำให้เขามั่นใจว่าพระองค์ไม่ใช่ผี ... และเพื่อยืนยันข้อนี้ พระองค์ต้องมีร่างกาย การกลับคืนพระชนมชีพไม่อาจกลายเป็นเพียงเรื่องของ “ความเป็นอมตะของวิญญาณ” ดังนั้น จึงมีรายละเอียดที่ชัดเจนต่อไปนี้ “จงคลำตัวเราดูเถิด ... ดูมือ และเท้าของเรา ... มีอะไรกินบ้าง ...”

    แต่เราไม่ควรเข้าใจผิด เราต้องมองให้ลึกกว่าความหมายของคำพูด ถ้าเราต้องการเข้าใจความหมายลึก ๆ ของการกลับคืนพระชนมชีพ นักบุญเปาโลจะกล่าวความจริงข้อนี้เช่นกันว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระจิต” (2 คร 3:17-18) และจะกล่าวถึงพระกายของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพว่าเป็น “ร่างกายที่มีพระจิตเจ้าเป็นชีวิต” (1 คร 15:44) ...

เขายินดี และแปลกใจจนไม่อยากเชื่อ พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “ท่านมีอะไรกินบ้าง” เขาถวายปลาย่างชิ้นหนึ่งแด่พระองค์ พระองค์ทรงรับมาเสวยต่อหน้าเขา

    การกล่าวถึง “อาหาร” ในที่นี้ ชวนให้คิดถึงกิริยาอันเป็นสัญลักษณ์ที่เอมมาอูส เปโตรก็จะประกาศเช่นกันว่า “เราทั้งหลายได้กิน และได้ดื่มร่วมกับพระองค์ หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย” (กจ 10:41)

    ในคำบอกเล่าของลูกา ไม่มีการอ้างถึงพิธีบูชาขอบพระคุณ แต่บรรยากาศนั้นเป็นบรรยากาศของ “อาหารมื้อศักดิ์สิทธิ์” โดยแท้ และระหว่างนี้ ศิษย์ทั้งหลายจะค้นพบการประทับอยู่ในลักษณะใหม่ขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ...

หลังจากนั้น พระองค์ตรัสกับเขาว่า “นี่คือความหมายของถ้อยคำที่เรากล่าวไว้ขณะที่ยังอยู่กับท่าน” ...

    เราไม่สามารถทำความเข้าใจเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพเหมือนกับว่าเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่แยกจากเหตุการณ์อื่น ๆ พระเยซูเจ้าทรงยืนยันว่าเราควรทำความเข้าใจด้วยการไตร่ตรองเหตุการณ์นี้

    และวิธีแรกที่ทรงเสนอให้เขาใช้เพื่อทำความเข้าใจ คือ ความทรงจำ พระเยซูเจ้าทรงบอกเรื่องการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์มาก่อนหน้านั้นแล้ว พระองค์ทรงปรารถนาให้เราตระหนักว่ามีความต่อเนื่องกันระหว่าง “พระเยซูเจ้าก่อนปัสกา” และ “พระเยซูเจ้าภายหลังปัสกา” ... พระเยซูเจ้าในประวัติศาสตร์ และพระเยซูเจ้าผู้ก้าวข้ามประวัติศาสตร์ ... พระเยซูเจ้าผู้ทรงมีร่างกาย และพระคริสตเจ้าในความเชื่อ ...

    ณ จุดนี้ ขอให้เราสังเกตพระวาจาว่า “ขณะที่ยังอยู่กับท่าน” ... พระองค์ทรงใช้อดีตกาล แต่ศิษย์น่าจะตอบโต้ว่า แต่พระเจ้าข้า พระองค์ยังประทับอยู่กับเราในเวลานี้ ...

    แน่นอน พระองค์ยังประทับอยู่กับเรา แต่ไม่ใช่ในลักษณะเดียวกัน พระองค์ยังทรงเป็นพระเยซูเจ้าพระองค์เดิม ... แต่ไม่ทรงเหมือนเดิม ...

    นี่คือธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ ...

“... ทุกสิ่งที่เขียนไว้เกี่ยวกับเราในธรรมบัญญัติของโมเสส บรรดาประกาศก และเพลงสดุดี จะต้องเป็นความจริง” แล้วพระองค์ทรงทำให้เขาเกิดปัญญาเข้าใจพระคัมภีร์ ...

    พระคัมภีร์ฉบับใดหรือ ... พระองค์ทรงหมายถึงพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมทั้งฉบับ :
-    ธรรมบัญญัติ : ปัญจบรรพ ทั้ง 5 เล่ม
-    หนังสือประกาศก รวมถึง หนังสือประวัติศาสตร์ ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า “ประกาศกดั้งเดิม”
-    เพลงสดุดี และหนังสือปรีชาญาณต่าง ๆ

    เราควรตระหนักว่าพระเยซูเจ้าทรงรู้พระคัมภีร์เป็นอย่างดี พระองค์ทรงอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า และทรงยกบางข้อความมาอธิบายชะตากรรมของพระองค์เอง “พระคัมภีร์เขียนไว้เกี่ยวกับเรา” ... ลองอ่านข้อความนี้ซ้ำอีกครั้ง และท่านจะเข้าใจ ... เรานึกภาพได้เลยว่าพระเยซูเจ้าทรงกำลังอธิบายเรื่องการตีความพระคัมภีร์ให้มิตรสหายของพระองค์ฟัง ...

    สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 สนับสนุนให้ปฏิรูปพิธีกรรม โดยให้สัตบุรุษได้ฟังบทอ่านมากมายจากพระคัมภีร์ คือสามบทอ่านทุกวันอาทิตย์แทนที่จะเป็นสองบท – และตลอดระยะเวลาสามปี เพื่อให้เรามีบทอ่านให้เลือกได้อย่างครบถ้วน ... เราสังเกตเห็นได้ว่าการทำเช่นนี้ตรงกับเจตนารมณ์ของพระเยซูเจ้า ...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยคริสตชนทุกคน ให้มีความหิวกระหายพระคัมภีร์ ขอให้เราอย่าได้เป็น “ผู้มาสาย” ที่มาไม่ทันฟังพระวาจาของพระเจ้า เพราะไม่ได้มาร่วมพิธีมิสซาตั้งแต่ต้น เมื่อพระองค์ทรง “ทำให้เราเกิดปัญญาเข้าใจพระคัมภีร์”

... ตรัสว่า “มีเขียนไว้ดังนี้ว่า พระคริสตเจ้าจะต้องรับทนทรมาน และจะกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายในวันที่สาม ...

    เราอยากอยู่ที่นั่น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงอธิบายข้อความในหนังสืออิสยาห์ บุตรสิรา และเพลงสดุดี! ... เรารู้จากหนังสือกิจการอัครสาวกว่ามีข้อความใดบ้างที่พระเยซูเจ้า “ทรงมองเห็นพระองค์เอง” และพระองค์ตรัสว่าข้อความเหล่านี้ “กล่าวถึงพระองค์” (ข้อความที่อ้างถึงบ่อย ๆ คือ ฉธบ 18:16-19, 21:23; ฮชย 6:1; อสย 52:13; สดด 2 ถึง 22) ...

    หนังสือพันธสัญญาเดิมเกี่ยวข้องกับพระเยซูเจ้า แผนการทั้งหมดของพระเจ้าที่ถูกเตรียมการไว้ ... และกำลังจะสำเร็จเป็นจริง – การถวายพระองค์ของพระเยซูเจ้าเป็นเครื่องบูชาด้วยความรักของพระองค์ ... โดยเฉพาะบทกวีเกี่ยวกับผู้รับใช้พระยาห์เวห์ และเพลงสดุดีหลายบท ที่แสดงว่า “ความทุกข์ทรมานของผู้ชอบธรรม แทนที่จะไร้ประโยชน์ กลับจะมีผลอย่างอุดม” ข้อความเหล่านี้กล่าวถึงความทุกข์ทรมาน จนถึงการขอบพระคุณ และการประกาศถึงผลงานอัศจรรย์ของพระเจ้าที่ทรงกระทำเพื่อประชาชน พันธกิจ – คือการเผยแผ่ข่าวดี – อาจปรากฏอยู่แล้วในข้อความเหล่านี้ (เทียบ อสย 49-50) ...

... พระคริสตเจ้าจะต้องรับทนทรมาน และจะกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายในวันที่สาม จะต้องประกาศในพระนามของพระองค์ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาป

    พระหฤทัยของพระเยซูเจ้ามีแต่ความห่วงใยเรื่องการแพร่ธรรม พระองค์ทรงมองเห็นล่วงหน้าแล้วว่าจะมีชายหญิงนับพันล้านคนที่จะติดตามพระองค์ และรักพระองค์ พระองค์ทรงเห็นคนบาปนับพันล้านคนที่จะจุ่มตัวลงใน “ศีลล้างบาปเพื่อรับอภัยบาป” – เขาจะจุ่มตัวลงในความรักอันเปี่ยมด้วยความเมตตาของพระเจ้า ... จุ่มตัวลงในพระจิตเจ้าผู้ทรงให้อภัยและ “ประทานชีวิต” ... พระเจ้าคือความรัก ... ข้อความนี้บอกเราเหมือนกับที่นักบุญยอห์นได้บอกเราเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คือ ลมหายใจ (พระจิต) ของพระเยซูเจ้า เพื่อการอภัยบาป ...

    เรายินดีที่ได้ยินคำสั่งสอนเกี่ยวกับการกลับคืนพระชนมชีพ แต่เราอาจถามว่า “อะไรคือจุดประสงค์ของการกลับคืนพระชนมชีพ” คำตอบคือ เพื่อ “ประกาศให้เราเปลี่ยนชีวิต” ให้เราเปลี่ยนวิถีชีวิต (กลับใจ “metanoia”) กลับคืนชีพ และมีชีวิตอย่างแท้จริง

    การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า คือ พลวัตของชีวิตที่กระตุ้นให้เราเดินไปข้างหน้า

... ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาป โดยเริ่มจากกรุงเยรูซาเล็ม ท่านทั้งหลายเป็นพยานถึงเรื่องทั้งหมดนี้

    พันธกิจของพระศาสนจักรเริ่มต้นจากการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าหลังจากปัสกา โดยพระเยซูเจ้าทรงดำรงชีพอยู่ท่ามกลางประจักษ์พยานของพระองค์ ... โดยเริ่มต้นจากกรุงเยรูซาเล็ม ...

    พระเจ้าข้า โปรดประทานพละกำลังแก่ข้าพเจ้าจากเบื้องบน (ลก 24:49) เพื่อให้ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงพระองค์ เชิญเสด็จมา พระจิตเจ้าข้า ...