วันอาทิตย์ปัสกา
กิจการอัครสาวก 10:34, 37-43: โคโลสี 3:1-4; ยอห์น 20:1-9

บทรำพึงที่ 1
ผมรู้สึกว่ามีแรงกระตุก
เรารู้ว่าพระเยซูเจ้าทรงมีชีวิตอยู่จริง และกลับคืนพระชนมชีพแล้ว เพราะเรารู้สึกได้ว่าพลังของพระองค์กำลังทำงานในชีวิตของเรา

    เด็กชายเล็ก ๆ คนหนึ่งออกไปเล่นว่าวบนเนินเขาพร้อมกับปู่ของเขา ว่าวลอยสูงขึ้นไปบนท้องฟ้า แล้วก็มีเมฆก้อนหนึ่งลอยมาบังจนเขามองไม่เห็นว่าว เวลาผ่านไป 2-3 นาที ปู่จึงพูดกับเด็กชายว่า “บ๊อบบี้ บางทีขโมยที่อยู่บนก้อนเมฆนั้นอาจขโมยว่าวของหนูไปแล้ว” เด็กชายสั้นศีรษะแสดงว่าเขาไม่เห็นด้วย

    อีกสองสามนาทีต่อมา ปู่ก็พูดขึ้นอีกว่า “แต่บ๊อบบี้ หนูมั่นใจได้อย่างไรว่าว่าวตัวนั้นยังผูกติดอยู่ที่ปลายเชือกของหนู” เด็กชายตอบว่า “เพราะผมรู้สึกบางอย่างที่ปู่ไม่รู้สึก ผมรู้สึกว่ามีว่าวกำลังกระตุกเชือกของผม”

    เรื่องนี้ช่วยอธิบายว่าทำไมคนจำนวนมากที่ไม่ได้รับเอกสิทธิ์ให้พบเห็นพระเยซูเจ้าหลังจากพระองค์กลับคืนพระชนมชีพ ยังมั่นใจว่าพระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายแล้ว คนเหล่านี้มั่นใจด้วยเหตุผลเดียวกับที่ทำให้เด็กชายคนนี้มั่นใจว่าไม่มีใครขโมยว่าวของเขาไป คนเหล่านี้รู้สึกถึงแรงกระตุกของพระเยซูเจ้าในชีวิตของเขา หรืออาจกล่าวได้ว่าเขารับรู้ถึงพลังของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพที่ทำงานอยู่ในหัวใจของเขา

    ก่อนวันอาทิตย์ปัสกา คนจำนวนมากคลางแคลงใจ พวกเขาได้เห็นพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์อย่างสยดสยองในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เขาได้เห็นพระเยซูเจ้าทรงถูกตอกตะปูตรึงบนไม้กางเขน และเฝ้ามองความฝันของเขาสลายไปต่อหน้าต่อตา

    แต่เมื่อถึงเวลาเช้าตรู่วันอาทิตย์ปัสกา ก็มีข่าวแพร่สะพัดทั่วกรุงเยรูซาเล็มว่าหินที่ปิดปากพระคูหาได้ถูกกลิ้งออกไป และพระคูหานั้นว่างเปล่า

    บรรดาผู้อาวุโสชาวยิวบอกทหารยามที่เฝ้าคูหาให้พูดว่ามีคนมาขโมยพระศพไปในเวลากลางคืนขณะที่ทหารกำลังหลับ (มธ 28:13)

    ตอนแรกประชาชนสงสัย เรื่องที่ทหารยามพูดนั้นเป็นความจริงหรือ มีใครขโมยพระศพของพระเยซูเจ้าไปหรือ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ประชาชนก็เริ่มมั่นใจว่าพระศพไม่ได้ถูกขโมย พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจริง ๆ

    และเหตุผลที่ทำให้ประชาชนมั่นใจเช่นนี้ เป็นเหตุผลเดียวกันกับที่ทำให้เด็กชายคนนี้มั่นใจว่าไม่มีใครขโมยว่าวของเขาไป พวกเขารับรู้ได้ถึงแรงกระตุกของพระเยซูเจ้าในชีวิตของเขา พวกเขารับรู้ได้ถึงพลังของพระเยซูเจ้าที่กำลังทำงานในหัวใจของเขา พลังนี้เปลี่ยนแปลงหัวใจของเขา และประชาชนก็ออกไปประกาศข่าวดีให้แก่คนทั่วโลก

    การเบียดเบียนใด ๆ ก็ไม่สามารถหยุดยั้งเขาได้ ในที่สุด พวกเขาบางคนก็ถูกจับตรึงกางเขนเหมือนพระอาจารย์ของเขา บางคนถูกสัตว์ป่าฉีกทึ้งร่างในสนามกีฬาของชาวโรมัน บางคนถูกเผาทั้งเป็น แต่ความเชื่อของเขาในพระเยซูเจ้าไม่เคยสั่นคลอน

    ประวัติชีวิตของคริสตชนยุคแรกเหล่านี้เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไปโดยสิ้นเชิง ในวันนี้ เมื่อเวลาผ่านไปแล้วถึง 2,000 ปี คริสตชนยุคใหม่ยังรู้สึกได้ถึงแรงกระตุกของพระเยซูเจ้า เขายังรับรู้ถึงพลังของพระเยซูเจ้าที่กำลังทำงานในหัวใจของเขา

    ธรรมทูตชื่อ นอรีน ทาวเวอร์ส เป็นตัวอย่างหนึ่ง เธอทำงานช่วยเหลือคนยากจนมานานหลายปี แต่ไม่ว่าเธอจะทุ่มเทกำลังทำงานหนักเพียงไร เธอก็ไม่เห็นความก้าวหน้าเลย เธอบอกว่า

    “ฉันหมดกำลังใจ ... แล้วคืนหนึ่งฉันก็มาถึงจุดแตกหัก ... ฉันยอมแพ้ ... เมื่อฉันเข้านอน ฉันไม่รู้ว่าฉันจะทำงานต่อไปได้อย่างไร”

    เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากเธอตื่นนอน มีบางสิ่งบางอย่างที่แปลกประหลาดเกิดขึ้นกับนอรีน มันเหมือนกับพระเยซูเจ้าเองตรัสกับเธอว่า “ลูกจะวางใจในแผนการที่เรากำหนดไว้สำหรับลูกไม่ได้หรือ”

    นอรีนเขียนว่า “เมื่อนั้นฉันจึงตระหนักว่าฉันไม่จำเป็นต้องมองเห็นแผนการ ฉันเพียงแต่ต้องวางใจในพระองค์ ฉันลุกขึ้นจากเตียงเหมือนกับเป็นคนใหม่ ... การพบกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงชีวิตของฉัน เปลี่ยนฉันจากคนที่หมดหวังและยอมแพ้ ให้กลายเป็นบุคคลที่มีความหวัง และความเชื่อที่ไม่อาจสั่นคลอนได้”

    ในปัจจุบัน งานของสตรีคนนี้ในหมู่คนยากจนกำลังบังเกิดผลอย่างอัศจรรย์

    ประสบการณ์ของนอรีนช่วยให้เราเข้าใจความหมายของปัสกา นี่คือข่าวดีว่าพระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว และพระองค์ประทับอยู่ท่ามกลางเรา

    นี่คือข่าวดีที่บอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงมีแผนการสำหรับเราแต่ละคน และไม่มีสิ่งใดขัดขวางแผนการนั้นได้ ถ้าเราไม่ยินยอม – ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความเจ็บปวด ความเศร้าเสียใจ การถูกปฏิเสธ บาป และแม้แต่ความตาย

    ปัสกายื่นคำเชิญให้เราแต่ละคนในวัดแห่งนี้ในเช้าวันนี้ เป็นคำเชิญให้เรายอมให้พระเยซูเจ้าทรงกระทำต่อเราอย่างที่พระองค์ทรงกระทำต่อ นอรีน ทาวเวอร์ส

    เป็นคำเชิญให้เรายินยอมให้พระเยซูเจ้าทรงช่วยเราให้กลับมารักอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เราสูญเสียความสามารถที่จะรัก

    เป็นคำเชิญให้เรายินยอมให้พระเยซูเจ้าทรงช่วยเราให้กลับมามีความหวังอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เราสูญเสียความสามารถที่จะหวัง

    เป็นคำเชิญให้เรายินยอมให้พระเยซูเจ้าทรงช่วยเรารวบรวมเศษซากชีวิตของเราที่แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และกลับมาเริ่มต้นใหม่ หลังจากที่เราเคยยอมแพ้

    นี่คือความหมายของปัสกา เป็นข่าวดีว่าพระเยซูเจ้าทรงชนะบาปและความชั่ว และเราจะได้รับชัยชนะเช่นกัน ถ้าเพียงแต่เราจะเปิดใจให้พลังปัสกาของพระองค์ทำงานในตัวเรา

    เป็นข่าวดีว่าพระเยซูเจ้าทรงพร้อมจะทำอัศจรรย์เพื่อเรา ถ้าเพียงแต่เราจะเปิดใจให้พลังปัสกาของพระองค์ทำงานในตัวเรา

    เป็นข่าวดีว่าวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ทุกครั้งในชีวิตของเรา สามารถกลายเป็นวันอาทิตย์ปัสกาได้ ถ้าเพียงแต่เราเปิดใจให้พลังปัสกาของพระองค์ทำงานในตัวเรา

    เป็นข่าวดีว่าเราไม่จำเป็นต้องรอจนถึงวันที่เราตาย เพื่อจะเข้าร่วมในชีวิตที่กลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า เราสามารถเข้าร่วมในชีวิตของพระองค์ได้ตั้งแต่บัดนี้ ในพิธีมิสซานี้ ในวันฉลองปัสกานี้

    เป็นข่าวดีว่าไม่มีสิ่งใดจะทำให้เราพ่ายแพ้ได้อีกแล้ว – ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวด ความเศร้า การถูกปฏิเสธ และแม้แต่ความตาย

    นี่คือข่าวดีที่เราเฉลิมฉลองกันในเช้าวันปัสกาอันสวยงามนี้

บทรำพึงที่ 2
ยอห์น 20:1-9

เช้าตรู่วันต้นสัปดาห์...

    พระวรสารทั้งสี่ฉบับบอกเล่าเหตุการณ์ตรงกันในประเด็นนี้...

    ดังนั้น การกลับคืนพระชนมชีพจึงเกิดขึ้นในวันถัดจากวันสับบาโตในเทศกาลปัสกาของชาวยิว ... นักบุญยอห์น ผู้มักมองสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นสัญลักษณ์ มองว่านี่คือ “วันแรก” ... เป็นจุดเริ่มต้นของโลกใหม่ – การเนรมิตสร้างครั้งใหม่ ... เป็นสัปดาห์แห่งปฐมกาลครั้งใหม่...

    ความทุกข์ทรมาน และความตาย เป็นเหตุผลที่มนุษย์ใช้อ้างเพื่อจะไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่จริง เพราะพระเจ้าจะทรงสร้างโลกที่มีความทุกข์มากมายเช่นนี้ขึ้นมาได้อย่างไร...
    ถ้าเราไม่ยอมเชื่อเรื่องการกลับคืนพระชนมชีพ คำถามข้อนี้ก็จะไร้คำตอบต่อไป ปิตาจารย์ยุคโบราณในพระศาสนจักร รวมทั้งคนทั้งหลายที่รำพึงภาวนาอย่างลึกซึ้งตามข้อความในพระคัมภีร์ คิดว่าพระเจ้าคงไม่ทำการ “เนรมิตสร้างครั้งแรก” (ซึ่งรวมถึงสภาวะที่รู้จักตายของเราด้วย) ถ้าพระองค์ไม่ทรงมองเห็น “การเนรมิตสร้างครั้งที่สอง” นี้ล่วงหน้าตลอดนิรันดรกาลมาแล้ว ซึ่งการเนรมิตสร้างครั้งหลังนี้ “จะไม่มีความตายอีกต่อไป จะไม่มีการคร่ำครวญ การร้องไห้ และความทุกข์อีกต่อไป เพราะโลกเดิมผ่านพ้นไปแล้ว” (วว 21:4)...

เช้าตรู่วันต้นสัปดาห์ ขณะที่ยังมืด มารีย์ ชาวมักดาลา ออกไปที่พระคูหา

    นี่เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ซึ่งผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสี่คนบอกเล่าไว้ตรงกัน คือ สตรีเป็นคนกลุ่มแรกที่ค้นพบ “เหตุการณ์” ... แต่ในธรรมประเพณีสายนี้ ยอห์นเลือกให้ความสนใจกับสตรีเพียงคนเดียว คือ มารีย์ ชาวมักดาลา เขาถึงกับบอกว่านางเป็นคนแรกที่พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์ให้เห็น (ยน 20:11-18)

นางเห็นหินถูกเคลื่อนออกไปจากพระคูหาแล้ว นางจึงวิ่งไปหาซีโมนเปโตร กับศิษย์อีกคนหนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงรัก

    นาง “วิ่ง” รายละเอียดนี้มีนัยสำคัญ

    นางยังไม่เห็นพระเยซูเจ้า ... ในเวลานั้นนางยังไม่เชื่อ ... นางเพียงแต่ตกใจ ... และนางก็วิ่งไปเตือน “หัวหน้าที่รับผิดชอบ”...

    เราสังเกตคำที่ใช้เรียกศิษย์ที่พระวรสารไม่ระบุชื่อคนนี้ “ศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” ... ธรรมประเพณีสายนี้ยอมรับว่าศิษย์คนนี้คือยอห์น ผู้ประพันธ์คำบอกเล่านี้ ในบรรดาศิษย์สิบสองคน ยอห์นดูเหมือนว่าได้รับความเอาใจใส่เป็นพิเศษจากพระเยซูเจ้า – ซึ่งแน่นอนเป็นสาเหตุให้ศิษย์คนอื่นอิจฉาเขา...

    รายละเอียดข้อนี้มีนัยสำคัญเช่นเดียวกัน ดังที่เราจะได้เห็นต่อไป สำหรับเวลานี้ ขอให้เราพักเรื่องนี้ไว้ก่อน

    ในเวลาฉุกละหุกเช่นนี้ มารีย์ คิดได้เพียงอย่างเดียวว่าต้องมีใครขโมยพระศพไป

    เหตุการณ์นี้ช่างแตกต่างจาก “คำอธิบายตามหลักเหตุผล” ซึ่งบอกว่าบรรดาศิษย์อยากเห็นพระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพมาก จนพวกเขาเห็นภาพหลอน ... อันที่จริง พระวรสารทุกฉบับบรรยายเหตุการณ์นี้แบบตรงกันข้ามกับคำอธิบายนี้...

    เห็นได้ชัดว่าคำบอกเล่านี้เขียนขึ้นเพื่อช่วยให้เราตระหนักว่า “พระคูหาที่ว่างเปล่า” ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ซึ่งนำเราไปสู่ความเชื่อ ... แต่พระคูหาว่างเปล่านี้เป็นคำท้าทาย ซึ่งหลายคนไม่สามารถเผชิญหน้าได้ ... เราพบคำว่า “พระคูหา” ในพระวรสารหน้าเดียวนี้ถึงเจ็ดครั้ง

เปโตรกับศิษย์คนนั้นจึงออกไป มุ่งไปยังพระคูหา ทั้งสองคนวิ่งไปด้วยกัน แต่ศิษย์คนนั้นวิ่งเร็วกว่าเปโตร จึงมาถึงพระคูหาก่อน

    ยอห์นจำเหตุการณ์ได้ดี เพราะเขาอยู่ที่นั่น แต่การอ้างเหตุผลว่า เพราะยอห์นหนุ่มกว่าเปโตร ยอห์นย่อมวิ่งได้เร็วกว่า เป็นเหตุผลที่ไร้น้ำหนัก ... ในสถานการณ์นี้อีกเช่นกันที่ยอห์นมองว่าเป็นสัญลักษณ์ กล่าวคือ เปโตร สามารถถูกแซงหน้าได้ – อันที่จริง ศิษย์ที่มีใจร้อนรนมากกว่า ย่อมสามารถแซงหน้าเขาได้ ... นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “คนที่สอง” แซงหน้า “คนที่หนึ่ง” (ยน 13:34, 18:15-16, 21:20, 23)...

    ทำไมยอห์นจึงเน้นย้ำความผิดปกตินี้...

เขาก้มลงมองเห็นผ้าพันพระศพวางอยู่บนพื้น แต่ไม่ได้เข้าไปข้างใน ซีโมนเปโตร ซึ่งตามไปติด ๆ ก็มาถึง เข้าไปในพระคูหา และเห็นผ้าพันพระศพวางอยู่ที่พื้น รวมทั้งผ้าพันพระเศียรซึ่งไม่ได้วางอยู่กับผ้าพันพระศพ แต่พับแยกวางไว้อีกทีหนึ่ง

    ข้อความที่เขียนขึ้นโดยยอห์น ผู้เป็นประจักษ์พยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ดูเหมือนจะตีความให้ถูกต้องที่สุดได้ดังนี้ “เขาเห็นผ้าที่ใช้พันพระศพวาง ‘กองอยู่’ และผ้าชิ้นที่ใช้พันพระเศียร ไม่ได้วางกองรวมกับผ้าชิ้นอื่น ๆ แต่กองอยู่ในลักษณะที่ม้วนไว้ในตำแหน่งเดิม”...

    สรุปสั้น ๆ ว่า ไม่มีสิ่งใดถูกเคลื่อนย้ายด้วยมือใคร ... พระศพเพียงแต่อันตรธานไป – และผ้าห่อพระศพก็ยุบตัวลงมากองอยู่ในตำแหน่งเดิม ในลักษณะที่พันพระศพไว้ ... ยอห์นถึงกับย้ำว่า “ผ้าพันพระเศียร” (เป็นผ้าชิ้นยาวที่ใช้พันรอบศีรษะ และใต้คางเมื่อประคองขากรรไกร ตามธรรมเนียมการฝังศพของชาวยิว) ยังคงวางม้วนอยู่ในตำแหน่งเดิม...

ศิษย์คนที่มาถึงพระคูหาก่อนก็เข้าไปข้างในด้วย...

    ผู้นิพนธ์ย้ำรายละเอียดนี้อีกครั้งหนึ่ง ... ดังนั้น รายละเอียดนี้จึงต้องมีความสำคัญ...

เขาเห็น และมีความเชื่อ

    เปโตรยังไม่เข้าใจ ในพระวรสารของนักบุญลูกา เมื่อเขาบอกเล่าเหตุการณ์เดียวกันที่เปโตรเข้าไปดูพระคูหา ลูกา บอกว่าเปโตรสังเกตเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เขากลับไปด้วยความ “ประหลาดใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” (ลก 24:12)...

-    มารีย์ ชาวมักดาลา เสนอคำอธิบายตามความเข้าใจของมนุษย์คนหนึ่งว่า “เขานำองค์พระผู้เป็นเจ้าไปจากพระคูหาแล้ว”
-    เปโตร ไม่เข้าใจอะไรเลย
-    แต่ ยอห์น เข้าใจมากกว่า เขา “เห็น และมีความเชื่อ” ... เขาเห็นอะไร ... เขาเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เปโตรเห็น – แต่เปโตรไม่รู้ว่าควรตีความสิ่งที่เขาเห็นอย่างไร...
    เพื่อจะเชื่อ เราจำเป็นต้องใช้ดวงตาของหัวใจ – ดวงตาที่รู้จักรัก ... บัดนี้ เราจึงเข้าใจว่าเหตุใดยอห์นจึงพูดย้ำเรื่อง “ศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” เพราะความรักนี้ ยอห์นจึงวิ่งเร็วกว่า ... บนชายฝั่งทะเลสาบอีกเช่นกันที่ศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรักจะเป็นคนแรกที่จำพระเยซูเจ้าได้ – ก่อนที่เปโตร จะจำพระองค์ได้ (ยน 21:7)...

    เราเรียนรู้อีกครั้งหนึ่งว่า ความรักเป็นแรงกระตุ้นความเชื่อ บุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในพระศาสนจักรไม่มีสิทธิพิเศษในแง่นี้ แทนที่จะอิจฉาบุคคลที่มีอำนาจในพระศาสนจักร เราทุกคนได้รับเชิญให้เป็นผู้นำในด้านความรัก...

    นี่คือสิ่งที่สำคัญมากกว่าสิ่งอื่นใด...

เขาเห็น และมีความเชื่อ

    ตำแหน่งที่ผ้าพันพระศพวางกองอยู่ดูเหมือนจะเป็น “เครื่องหมาย” สำหรับยอห์น ที่มีความหมายมากยิ่งกว่าพระคูหาที่ว่างเปล่า เมื่อเขาเห็นผ้าพันพระศพ “วางอยู่บนพื้น” และผ้าพันพระเศียร “พับแยกวางไว้อีกที่หนึ่ง” ยอห์นเข้าใจได้ทันที (ราวกับแสงฟ้าแลบจากการหยั่งรู้) ว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่พระศพจะถูกเคลื่อนย้ายโดยมือมนุษย์ พระศพเพียงแต่หายไปจากภายในผ้าที่พันอยู่ และผ้านั้นก็ตกลงมากองอยู่ในตำแหน่งเดิมของมัน...

    แต่เครื่องหมายเดียวกันทั้งหมดนี้ ไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับเปโตร...

    เครื่องหมาย – ด้วยตัวของมันเอง - ไม่สามารถ “ให้ความเชื่อ” แก่ใครได้ ... ไม่มีเครื่องหมายใดที่มีอำนาจบังคับใจคนได้เช่นนั้น ... เพื่อจะเชื่อ เราต้องมองให้ไกลกว่าเครื่องหมาย ... ในไม่ช้า พระเยซูเจ้าเองจะทรงแสดงความคิดเห็นแบบเดียวกันนี้ว่า “ผู้ที่เชื่อ แม้ไม่ได้เห็น ก็เป็นสุข” (ยน 20:29) ดังนั้น จึงถือได้ว่ายอห์นเป็นแบบฉบับของศิษย์แท้ – เขาเป็นศิษย์ที่เชื่อ ... โดยไม่ต้องเห็น!

    ความเชื่อมีบางสิ่งบางอย่างที่เหมือนกับความรัก ซึ่งเป็นความจริงที่ลึกล้ำที่สุดของมนุษย์ คือ เราไม่เคยมองเห็นความรักของบุคคลที่รักเรา เราเพียงแต่เห็นเครื่องหมายของความรักของเขาเท่านั้น แต่เครื่องหมายเหล่านี้ก็แสดงนัยสำคัญของมันให้แก่บุคคลที่รู้ว่าจะถอดรหัสมันอย่างไรเท่านั้น ... เครื่องหมายเหล่านี้อาจเป็นกิริยาท่าทาง คำพูด ของขวัญ ... ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องหมายที่ไม่ชัดเจน และเปราะบาง และจำเป็นต้องตีความ แม้ว่ามีความเสี่ยงที่เราจะตีความผิดก็ตาม “เขาต้องการบอกอะไรกับฉัน ... ฉันจะเข้าใจกิริยาท่าทางนี้อย่างไร”...

    ด้วยเหตุนี้ การพบกันอย่างแท้จริงของมนุษย์จึงสร้างความประทับใจได้เสมอ เพราะทำให้ทั้งสองฝ่ายมีพันธะที่จะต้องเปิดเผยความจริงต่อกัน และใส่ใจกันและกัน ... เราทุกคนเคยมีประสบการณ์อันเจ็บปวดที่เราแสดงเครื่องหมายให้ผู้อื่นเข้าใจผิด ที่เรากล่าวคำที่ผู้อื่นไม่อยากได้ยิน ที่เราแสดงท่าทางที่ทำให้ผู้อื่นตีความผิด ๆ ... ความรักอันไร้ขอบเขตเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยให้คนสองคนมองเห็นนัยสำคัญทั้งหมดของสารที่เขาสื่อให้แก่กัน...

    ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เข้าใจเหตุการณ์ “พระคูหาว่างเปล่า” และ “ผ้าพันพระศพที่วางอยู่ในที่เดิม” มากกว่าผู้อื่น จึงเป็นผู้ที่รักมากกว่าเท่านั้น...
    การอ่านเครื่องหมายของศีลศักดิ์สิทธิ์ก็เช่นเดียวกัน...

เขาทั้งสองคนยังไม่เข้าใจพระคัมภีร์ที่ว่าพระองค์ต้องทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย

    ข้อเท็จจริง หรือเหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็น ยังไม่เพียงพอ...

    สำหรับยอห์น พระคูหาว่างเปล่ากลายเป็น “เครื่องหมายพูดได้” ตั้งแต่ก่อนเขาจะพบพระเยซูเจ้าเมื่อพระองค์สำแดงพระองค์ ... เพียงเพราะยอห์นยินยอมให้พระจิตเจ้าเจาะเข้าไปในตัวเขาเพื่อเปิดเผยความหมายของเครื่องหมาย ... เมื่อสังเกตเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยอห์นระลึกถึงข้อความจากพระคัมภีร์ที่พระเยซูเจ้าทรงเคยอ้างถึง (ฮชย 6:2, สดด 2:7, 15:8, ยนา 2:1)...

    เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ... เราจะเข้าใจเหตุการณ์เหล่านี้ในเชิงลึกเพียงเมื่อเราพิจารณาด้วยแสงสว่างที่เราได้รับจากการรำพึงไตร่ตรองตามพระวาจาของพระเจ้า ในองค์พระจิตเจ้า อยู่เสมอ...

    ความรักทำให้เราเห็นความจริง...

    ความรักเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความเชื่อ...