แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

อาทิตย์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา

ข่าวดี    ลูกา 16:19-31
    (19)‘เศรษฐีผู้หนึ่ง แต่งกายหรูหราด้วยเสื้อผ้าเนื้อดีราคาแพง จัดงานเลี้ยงใหญ่ทุกวัน  (20)คนยากจนผู้หนึ่งชื่อลาซารัส นอนอยู่ที่ประตูบ้านของเศรษฐีผู้นั้น เขามีบาดแผลเต็มตัว  (21)อยากจะกินเศษอาหารที่ตกจากโต๊ะของเศรษฐี  ((22))มีแต่สุนัขมาเลียแผลของเขา  (22)วันหนึ่ง คนยากจนผู้นี้ตาย ทูตสวรรค์นำเขาไปอยู่ในอ้อมอกของอับราฮัม  เศรษฐีคนนั้นก็ตายเช่นเดียวกัน และถูกฝังไว้ (23)‘เศรษฐีซึ่งกำลังถูกทรมานอยู่ในแดนผู้ตาย แหงนหน้าขึ้น มองเห็นอับราฮัมแต่ไกล และเห็นลาซารัสอยู่ในอ้อมอก  (24)จึงร้องตะโกนว่า “ท่านพ่ออับราฮัม จงสงสารลูกด้วย กรุณาส่งลาซารัสให้ใช้ปลายนิ้วจุ่มน้ำมาแตะลิ้นให้ลูกสดชื่นขึ้นบ้าง เพราะลูกกำลังทุกข์ทรมานอย่างสาหัสในเปลวไฟนี้”  (25)แต่อับราฮัมตอบว่า “ลูกเอ๋ย จงจำไว้ว่า เมื่อยังมีชีวิต ลูกได้รับแต่สิ่งดี ๆ ส่วนลาซารัสได้รับแต่สิ่งเลว ๆ  บัดนี้เขาได้รับการบรรเทาใจที่นี่ ส่วนลูกต้องรับทรมาน  (26)ยิ่งกว่านั้น ยังมีเหวใหญ่ขวางอยู่ระหว่างเราทั้งสอง จนใครที่ต้องการจะข้ามจากที่นี่ไปหาลูก ก็ข้ามไปไม่ได้ และผู้ที่ต้องการจะข้ามจากด้านโน้นมาหาเรา ก็ข้ามมาไม่ได้ด้วย”  (27)‘เศรษฐีจึงพูดว่า “ท่านพ่อ ลูกอ้อนวอนให้ท่านส่งลาซารัสไปยังบ้านบิดาของลูก  (28)เพราะลูกยังมีพี่น้องอีกห้าคน ขอให้ลาซารัสเตือนเขาอย่าให้มายังสถานที่ทรมานแห่งนี้เลย”  (29)อับราฮัมตอบว่า “พี่น้องของลูกมีโมเสสและบรรดาประกาศกอยู่แล้ว ให้เขาเชื่อฟังท่านเหล่านั้นเถิด” (30)แต่เศรษฐีพูดว่า “มิใช่เช่นนั้น ท่านพ่ออับราฮัม ถ้าใครคนหนึ่งจากบรรดาผู้ตายไปหาเขา เขาจึงจะกลับใจ”  (31)อับราฮัมตอบว่า “ถ้าเขาไม่เชื่อฟังโมเสสและบรรดาประกาศก แม้ใครที่กลับคืนชีวิตจากบรรดาผู้ตายเตือนเขา เขาก็จะไม่เชื่อ”



นักบุญลูกาบรรจงใช้ถ้อยคำอย่างพิถีพิถันในอุปมาเรื่องนี้ เพื่อขับเน้นความแตกต่างระหว่างสองสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันอย่างสุดขั้ว
    ขั้วแรกคือ “เศรษฐี”
มีคนตั้งชื่อให้เศรษฐีคนนี้ว่าดีแวส (Dives เป็นคำละตินแปลว่า “รวย”)  เขาเจริญชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยราวกับพิมพ์ธนบัตรได้เอง
    ตามต้นฉบับ ลูกาบรรยายถึงความหรูหราฟุ่มเฟือยของดีแวสว่า เขาแต่งกายด้วยผ้าลินินชั้นดี สีม่วง
ชุดผ้าลินินสีม่วงเป็นเครื่องแต่งกายของมหาสมณะ ซึ่งมีราคาเทียบเท่าค่าแรงงานของคนสมัยนั้นประมาณสองถึงสามปี
หากคิดค่าแรงงานขั้นต่ำในปัจจุบันที่ 180 บาทต่อวัน เครื่องแต่งกายของดีแวสจะมีราคาประมาณแสนสามหมื่นถึงเกือบสองแสนบาทต่อชุด !

    นอกจากแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเนื้อดีราคาแพงแล้ว เขายังชอบจัด “งานเลี้ยงใหญ่” (ลก 16:19)
“งานเลี้ยงใหญ่” ตรงกับคำกรีก eúphraínō (เอวฟรายโน) ซึ่งบ่งบอกว่าเป็น “งานช้าง” ที่นาน ๆ จะได้จัดสักทีอย่างเช่นโอกาสอภิเษก ครองราชย์ หรือสมรสครบรอบ 25 และ 50 ปี  เพราะงานระดับนี้ต้องใช้อาหารชั้นดี ราคาแพง
ในฐานะเศรษฐี คงไม่น่าเกลียดหากจะจัด “งานช้าง” เป็นครั้งคราว แต่คุณดีแวสของเราเล่นจัดงานช้าง “ทุกวัน” กันเลย (ลก 16:19)
แปลว่าวันสับบาโตซึ่งห้ามทำงาน ห้ามปรุงอาหาร และห้ามแม้กระทั้งอุ่นอาหาร ดีแวสก็ละเมิดบัญญัติเพื่อจัดงานเลี้ยงใหญ่
ส่วนวันธรรมดาอีกหกวันซึ่งบัญญัติกำหนดไว้ว่า “ท่านจะต้องออกแรงทำงานทั้งหมดในหกวัน” (อพย 20:9) เขาก็ละเมิดด้วยการไม่ทำงาน แต่ร่วมงานเลี้ยงใหญ่แทน
    สรุปว่า ท่ามกลางสภาพสังคมที่ชาวยิวต้องทำงานหนักอาทิตย์ละหกวัน แต่มีโอกาสกินเนื้ออาทิตย์ละครั้งเดียว  เศรษฐีดีแวสจึงเป็นตำนานของคนเกียจคร้าน ไม่ทำงานทำการ ปล่อยเนื้อปล่อยตัว ทำทุกสิ่งทุกอย่างตามใจตัวเอง ไม่สนใจพระเจ้า อีกทั้งไม่รู้จักเหลียวแลผู้อื่นอย่างสิ้นเชิง
    ขั้วที่สองคือ “ลาซารัส”
Lazarus เป็นภาษาละตินจากคำฮีบรู Eleazar ซึ่งแปลว่า “พระเจ้าคือความช่วยเหลือของข้าพเจ้า” และเป็นตัวละครเพียงคนเดียวในบรรดานิทานเปรียบเทียบที่ได้รับการตั้งชื่อ ไม่ใช่เอ่ยลอย ๆ ว่า “ขอทานคนหนึ่ง”
    ใช่ ลาซารัสเป็นขอทานที่นอกจากจะยากจนแล้ว ทั้งเนื้อทั้งตัวยังเต็มไปด้วยแผลพุพองเป็นหนอง นอนทรมานอยู่หน้าบ้านของดีแวส ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แม้จะไล่สุนัขข้างถนนไม่ให้เลียแผลของเขายังไม่ได้เลย
    เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีช้อน ไม่มีซ่อม ไม่มีผ้าเช็ดปาก  ผู้คนจึงใช้มือหยิบอาหารกิน แล้วเช็ดด้วยขนมปังก้อนใหญ่ก่อนโยนทิ้ง
    ขนมปังที่ดีแวสใช้เช็ดมือแล้วโยนทิ้งนี่แหละที่ลาซารัสรอเก็บ เพื่อใช้ยังชีพ !
    นี่คือฉากเหตุการณ์บนโลกนี้….

    ทันทีทันใด ฉากเปลี่ยนไปเป็นเหตุการณ์ในโลกหน้า
คราวนี้ลาซารัสได้รับความบรรเทาในอ้อมอกของอับราฮัม  ส่วนดีแวสต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสในเปลวไฟ
ถามว่าดีแวสทำอะไรผิดจึงต้องรับโทษทัณฑ์เช่นนี้ ?
    มีครั้งใดบ้างที่เขาไล่ลาซารัสออกจากบ้าน ? หรือเขาเคยห้ามลาซารัสเก็บขนมปังที่เขาโยนทิ้งเมื่อใด ? หรือเคยบ้างไหมที่ลาซารัสถูกเขารังแก ?
    เปล่าเลย ดีแวสไม่ได้ทำอะไรผิดต่อลาซารัส !
แต่เขา “ผิดเพราะไม่ได้ทำอะไร” !
เขาไม่ได้ไล่ลาซารัสไปจากประตูบ้านของเขาก็จริง  แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็ไม่เคยเหลียวแลเอาใจใส่ลาซารัส  เขามองลาซารัสนอนซมด้วยความเจ็บปวดและหิวโหยโดยไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจแต่อย่างใด
    ความผิดของเขาคือ เขาสามารถมองความทุกข์ยากและขัดสนของผู้อื่นได้ โดยที่หัวจิตหัวใจของเขาไม่รู้สึกอะไรทั้งสิ้น
    เมื่อไม่รู้สึก เขาก็ไม่ทำอะไร....
    บาปของเขาคือ การไม่เอาใจใส่เพื่อนมนุษย์ !!

    เมื่อต้องทนทรมานแสนสาหัสในแดนผู้ตาย เศรษฐีจึงอ้อนวอนอับราฮัมให้ส่งลาซารัสไปเตือนพี่น้องของเขาอีกห้าคน จะได้ไม่ต้องมาทนทรมานอย่างเขา (ลก 16:27-28)
    อับราฮัมปฏิเสธพร้อมกับตอบว่า “ถ้าเขาไม่เชื่อฟังโมเสสและบรรดาประกาศก แม้ใครที่กลับคืนชีวิตจากบรรดาผู้ตายเตือนเขา เขาก็จะไม่เชื่อ” (ลก 16:31)
    ฟังดูเหมือนอับราฮัมใจดำ
    แต่อับราฮัมมีเหตุผล เพราะทั้งโมเสสและบรรดาประกาศกคือผู้ที่ประกาศความจริงของพระเจ้า   
    หากรู้จักความจริงว่าพระเจ้าทรงรักมนุษย์ทุกคนมากเพียงใดแล้ว  แต่ผู้นั้นยังทนดูผู้อื่นเจ็บปวด ทรมาน โศกเศร้า หรือขัดสนได้โดยไม่รู้สึกและไม่ทำอะไร  ก็แสดงว่าจิตใจของเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว
ไม่มีใครช่วยเขาได้อีกแล้ว ต่อให้ผู้นั้นฟื้นขึ้นมาจากความตายก็ตาม !!
เมื่อได้ฟังเหตุผลของอับราฮัมแล้ว เรายิ่งต้องคิดให้จงหนัก ด้วยว่าความรับผิดชอบของเราใหญ่หลวงกว่าของเศรษฐีและพี่น้องของเขามากมายนัก
เพราะนอกจากโมเสสและบรรดาประกาศกแล้ว เรายังมีพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็น “หนทาง ความจริง และชีวิต” (ยน 14:5) ได้เสด็จมาตอกย้ำความจริงด้วยชีวิตของพระองค์เองว่า “พระเจ้าทรงรักเรา”
    เพราะฉะนั้น หากรู้สึกและคิดจะทำอะไร ก็จงรีบทำเถิด !!!