พยศชั่ว 7 ประการ
7 sins    มนุษย์เราแต่ละคนต่างก็มีปีศาจร้ายเจ็ดหัวที่จะต้องต่อสู้ในการดำเนินชีวิตของเรา    ปีศาจร้ายนี้คือ “การมุ่งหาเพียงตนเอง” (Self-Seeking) และ “การรักเพียงตนเอง” (Self-Love)     หัวทั้งเจ็ดของปีศาจร้ายนี้ คือ ทะนงตัว, โลภ, ตัณหา, โมโห, ริษยา, ตะกละ และ เกียจคร้าน    พระสังฆราชฟูลตัน  ชีนเรียกหัวทั้งเจ็ดของปีศาจร้ายนี้ว่า “ผ้าคลุมศพเจ็ดผืนของวิญญาณ” (The Seven Pall-bearers of The Soul) และให้ชื่อเรียกแก่พวกมันว่า : การรักตนเอง, การหลงเมามัวในเงินตรา, การมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส, ความเกลียด, ความอิจฉาริษยา, การทำตามใจตนเองเกินไป และ ความเกียจคร้าน

    จากผลของพยศชั่ว (Vices) 7 ประการนั้น มนุษย์เราแต่ละคนต่างมีความโน้มเอียงตั้งแต่เกิดที่จะอ้างว่าเขาหรือเธอมีสิทธิ์ที่จะเป็น “ศูนย์กลาง” ของทุกๆ สิ่ง    ทั้งนี้เพื่อทำให้เขาหรือเธอนั้นเหนือกว่าผู้อื่น    กิเสสที่สำคัญของเราก็คือ เราจะต้องดีที่สุด    แต่บ่อยครั้งที่เรามิได้เข้าใจความหมายอย่างแท้จริงว่า “สิ่งที่ดีที่สุด” นี้คืออะไร และเรามักจะแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดนี้ในทางที่ผิดๆ    เราต้องเข้าใจก่อนว่า “ดีที่สุด” ของเรานั้น คือ พระเจ้า    พระเจ้าเท่านั้น คือ จุดสุดท้ายและรางวัลของเราพระเจ้าทรงแสดงให้เรารับรู้ถึงหนทางสู่พระองค์ผ่านทางพระคริสตเจ้าผู้ทรงเรียกพระองค์เองว่า “หนทาง”

    เราต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ของเราต่อพระเจ้าพระผู้สร้าง    โดยมนุษย์เรานั้นมีหน้าที่ที่จะรักและรับใช้พระองค์อย่างที่พระองค์ต้องการ เพื่อที่มนุษย์เราจะพบพระองค์ในสวรรค์ หรือ รักษาจิตวิญญาณของเราไว้ได้ดังที่เรามักแสดงออก    ทุกวันนี้ มนุษย์เราผูกมัดห่อหุ้มตัวเองไว้ด้วย “อัตตา” ของเราเอง    ถึงแม้ว่าเราจะไม่ตระหนักถึงความจริงที่ว่าทุกๆ สิ่งที่เราคิด พูด และทำนั้นต่างวนเวียนอยู่ที่ตัวตนของเราเองทั้งสิ้น    ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์เรา “มุ่งหาแต่ตนเอง”เท่านั้น ถึงแม้ว่าเราอาจจะพยายามที่จะนึกเชื่อว่าเรากำลังติดตามพระคริสตเจ้าและแสวงหาพระเจ้าอยู่ก็ตาม

    ดังนั้น    พูดง่ายๆ ก็คือ การต่อสู้กับ “การมุ่งหาเพียงตนเอง”     นั้นก็คือการต่อสู้ภายในความมีตัวตนของเรานั่นเอง    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความ “ต้องการ” (will) ของเราเอง    แหล่งกำเนิดของ “การรักเพียงตนเอง”และ “ความต้องการเพียงตนเอง” การทะนงตนและพยศชั่วอื่นๆ นั้นต่างก็มีจุดกำเนิดของพวกมันเองและนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่มากบ้างน้อยบ้าง    หากว่ามนุษย์เราถูกชักจูงอย่างแรงกล้าจาก “การรักเพียงตนเอง” แล้ว เราก็มักจะไม่ “ปฏิเสธ” ตัวของเราเองต่อกิจการกุศลใดๆ, ต่อความรัก, ต่อความเมตตา หรือ ต่อการเรียกร้องให้ทำหน้าที่ใดๆ หรือคุณธรรมใดๆ     ที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงสอนไว้    ในทางกลับกัน “การรักเพียงตนเอง”ของเราจะสนับสนุนที่จะทำแต่สิ่งชั่วร้ายต่างๆ และเราจะยิ่งติดอยู่กับสิ่งชั่วร้ายนั้นมากขึ้นๆ
การที่จะมุ่งไปยังหนทางของ “การรักเพียงตนเอง” นั้นก็คือการที่เราปฏิเสธความรักต่อพระเจ้าอยู่เรื่อยไปและก่อให้เกิดอันตรายที่ใหญ่หลวงต่อการไถ่กู้ให้รอดพ้น    ไม่มีดวงวิญญาณใดสามารถเข้าสู่สวรรค์ได้จนกว่าดวงวิญญาณนั้นจะได้ชำระล้าง “การรักเพียงตนเอง” และ “การต้องการเพียงตนเอง” ทั้งสิ้นแล้ว และมีแต่เพียงการรักและต้องการพระเจ้าเท่านั้น    หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า จนกว่าดวงวิญญาณนั้นจะถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์แล้วเท่านั้นนั่นเอง    สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ได้รับความรอดพ้นนั้นการชำระล้างส่วนใหญ่นั้นจะถูกกระทำในไฟชำระ    เพราะว่าดวงวิญญาณเหล่านั้นไม่สามารถกระทำการชำระล้างตนเองได้ในโลกนี้      แต่ดวงวิญญาณ หรือ บุคคลใด หรือ เรา ควรที่จะปฏิเสธพระประสงค์ของพระเจ้าเพื่อแลกกับ “การต้องการเพื่อตนเอง” และ “การรักเพียงตนเอง” จนกว่าเราจะเสียชีวิตหรือ?    หากเป็นเช่นนั้น พระเจ้าก็ทรงถูกบีบบังคับให้ปฏิเสธที่จะประทานสวรรค์นิรันดรแก่เรา    เพราะว่าเราเองได้ปฏิเสธพระองค์ก่อน    การปฏิเสธนี้หมายถึง เราตัดสินใจเลือกการลงโทษในนรกนิรันดร        หากเป็นเช่นนี้แล้วสภาวะของเราจะถูกยึดติดกับ “การรักเพียงตนเอง” และความเกลียดต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างมิอาจเปลี่ยนแปลงได้เลย    และในนรกนิรันดรนั้นเราก็จะเป็น “การคลั่งไคล้เพียงตนเอง” หรือ อัตตาที่คงอยู่นิรันดร การถูกพรากจากพระเจ้านี้จะเป็นการทรมานนิรันดรและไม่มีวันสิ้นสุดเลย        อีกทั้งยังเป็นกำแพงปิดกั้นตนเองไว้ในความเกลียดชังตัวเองชั่วนิรันดร์ด้วย

การที่เราทำความรู้จักหลุมพรางอันนับไม่ถ้วนที่พยศชั่ว 7 ประการนั้นจะเป็น ความสามารถที่จะทำให้เรารู้จักตัวเองและช่วยให้เราทำการสู้รบกับพยศชั่วได้โดยการหมั่นทำคุณธรรมที่ตรงข้ามกับพยศชั่วเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง    มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสู้รบกับศัตรูที่เราไม่รู้จัก มองไม่เห็น หรือ ศัตรูที่เราคิดว่าเป็นเพื่อนของเราคนหนึ่ง    ความชั่วร้ายต่างๆ ก็มักเป็นเช่นนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทะนงตน และความเกียจคร้าน

นั่นคือวัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้นั่นเอง คือ การให้ความกระจ่างเกี่ยวกับลักษณะธรรมชาติของพยศชั่วเหล่านั้นอย่างน้อยก็เป็นการระบุถึงการกระทำที่เป็นรากเหง้าของความชั่วร้ายเหล่านี้  เราหวังว่าความรู้เกี่ยวกับลักษณะ, ระดับความร้ายแรง, การกระทำ และ ความเกี่ยวเนื่องของความชั่วร้ายทั้งเจ็ดประการนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ที่ได้ประสบเหตุการณ์ใดที่รู้สึกว่ายากจะพิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับพยศชั่วเหล่านี้    เพราะการพิจารณามโนธรรมมักจะยึดติดกับชื่อของพยศชั่วเหล่านี้เท่านั้น

ในยุคต้นๆ ของงานเขียนที่จะรักษาดวงวิญญาณจากความชั่วร้ายของพยศชั่วเหล่านี้มักพรรณาออกมาในรูปของสัตว์ต่างๆ   


“ทะนงตัว”     มักถูกกำหนดลักษณะเป็นสัตว์ คือ สิงโต
“โลภ”        มักถูกกำหนดลักษณะเป็นสัตว์ คือ สุนัขจิ้งจอก
“ตัณหา”    มักถูกกำหนดลักษณะเป็นสัตว์ คือ แมงป่อง
“โมโห”        มักถูกกำหนดลักษณะเป็นสัตว์ คือ ยูนิคอร์น (ม้ามีเขางอกขึ้นมาตรงจมูก)   
“ริษยา”        มักถูกกำหนดลักษณะเป็นสัตว์ คือ งู
“ตะกละ”    มักถูกกำหนดลักษณะเป็นสัตว์ คือ หมู
“เกียจคร้าน”    มักถูกกำหนดลักษณะเป็นสัตว์ คือ หมี

ผู้ประพันธ์งานเขียนนี้ยังกล่าวอีกว่า ปีศาจเป็นผู้ที่ล่อลวงอยู่ภายในตัวเราให้ลุ่มหลงต่อบาปผิดต่างๆ ด้วยความมุ่งร้าย เช่น ทะนงตัว ความหยิ่งยโส (haughtiness) ริษยา และโมโห        และลุ่มหลงต่อบาปอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนที่จะเติบโตขึ้นจากพยศชั่วเหล่านี้        เพราะว่าบาปต่างๆ ของความมุ่งร้ายนั้นจะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบาปต่างๆ ในความคิด หรือ บาป “ด้านจิตใจ” ที่มีลักษณะร้ายแรงอย่างมาก

ผู้ประพันธ์งานเขียนนี้กล่าวว่า โดยธรรมชาติแล้วร่างกายฝ่ายเนื้อหนังนั้นทำให้เราโน้มเอียงสู่ “ตัณหา” และ “ตะกละ” อยู่แล้วโดยการทำตามใจตัว ชอบทำอะไรง่ายๆ อันเป็นบาปฝ่ายเนื้อหนัง หรือ บาปโลกียะ (carnal sins) และมนุษย์เรามักมองว่าเป็นเรื่องน่าอาย อัปยศอดสู

ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องราวทางโลกต่างก็กระตุ้นมนุษย์เราให้อยากได้อยากมีทรัพย์สินเงินทอง ฐานะร่ำรวย ชื่อเสียงเกียรติยศและมองหาแต่ความพึงพอใจ    ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างลวงเราให้หลงผิดและชักนำเราให้ลุ่มหลงอยู่ในความมืด

เมื่อพระเยซูเจ้าทรงสอนว่าปีศาจเมื่อออกจากมนุษย์แล้ว มันท่องเที่ยวไปในที่แห้งแล้งเพื่อหาที่พัก เมื่อไม่พบมันมันจะกลับมาพร้อมกับ “ปีศาจอีกเจ็ดตนที่ร้ายกว่ามัน” ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิวบทที่ 12 ข้อ 45 นั้น พระองค์คงอาจหมายถึงพยศชั่ว (Vices) ทั้งเจ็ดนี้

โดยธรรมชาติมนุษย์นั้น เรามักโอนอ่อนตามสิ่งยั่วยวนที่ปลุกเร้าขึ้นโดยพยศชั่วใดๆ ได้ง่าย    เมื่อพยศชั่วนั้นหยั่งรากลึกลงในจิตใจเรามากเพียงใด ความเคยชินต่อบาปก็จะเริ่มก่อตัวขึ้นและยากยิ่งนักที่จะลบล้างได้โดยง่าย    ดังนั้น มนุษย์เราต้องหมั่นตื่นตัวเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลาในการต่อสู้กับพยศชั่วต่างๆ แม้เป็นเพียงบาปเล็กน้อย หากเราต้องการที่จะได้ชัยชนะในการต่อสู้กับบาปที่หนักหนายิ่งขึ้นกว่านี้