คนไทยส่วนมากมักจะรู้จักแต่วันคริสต์มาสมากกว่าวันฉลองปัสกา (หรือบางครั้งเรียกว่า วันอีสเตอร์)     ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว วันฉลองปัสกามีความหมายและความสำคัญมากกว่าวันคริสต์มาสเสียอีก    บทความนี้จะพยายามให้ภาพและความหมายของวันฉลองปัสกา เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจและร่วมยินดีกับพี่น้องคริสตชน
ความหมายของปัสกา (Pasqua)

    “ปัสกา” เป็นคำศัพท์มาจากภาษาฮีบรู ในประวัติศาสตร์ของชาวยิว (คือ บรรพบุรุษของคริสตชนในปัจจุบัน)     ตามหนังสือ อพยพในพระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม ปัสกาเป็นเทศกาลขนมปังไร้เชื้อของชาวยิว    ในวันนี้เขาจะนำแกะมาฆ่า แล้วเอาเลือดมาทาที่วงกบประตูเพื่อว่าทูตสวรรค์ที่ผ่านมาเพื่อประหารลูกคนหัวปีของชาวอียิปต์ จะผ่านบ้านที่ทาวงกบด้วยเลือดของลูกแกะไป    ทั้งนี้เพื่อให้ชาวอียิปต์ยอมให้อิสรภาพแก่ชาวยิว  วันนี้กลายเป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่มีการรำลึกถึงทุกปี โดยกำหนดเป็นวันที่ 14 เดือนนิชาน ตามปฏิทินยิว แต่ปฏิทินนี้ใช้เดือนตามจันทรคติ ทำให้วันนี้กำหนดไม่แน่นอนในแต่ละปี
    สำหรับการฉลองของคริสตชน    ปัสกา มีความหมายว่า เป็นการผ่านความทุกข์สู่ความยินดีโดยอาศัยการทนทุกข์ทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือ การฉลองการได้รับชีวิตที่เป็นอิสระจากบาปและความตายนั่นเอง มีคนเปรียบเทียบว่า โลหิตของพระเยซูคริสต์ที่หลั่งออกมาในขณะถูกตรึงกางเขนก็เช่นเดียวกับเลือดของลูกแกะปัสกาที่ทำให้ทุกคนที่เชื่อในองค์พระคริสต์ ก็จะได้รับชีวิตใหม่ที่เป็นอิสระจากบาปทั้งปวงด้วย
    ตามที่กล่าวมา การฉลองปัสกาจึงมีส่วนประกอบอยู่ 3 เหตุการณ์ คือ การทนทรมานของพระเยซูคริสต์ ตั้งแต่ทรงทราบว่าจะต้องถูกตรึงกางเขนจนกระทั่งพระองค์ถูกจับและถูกตรึงกางเขนให้สิ้นพระชนม์พร้อมกับนักโทษประหารอีก 2 คน    ส่วนที่สองคือ การสิ้นพระชนม์ของพระองค์    เพื่อเป็นการพิสูจน์ถึงความรักที่ทรงมีต่อมนุษย์ทุกคนว่า ทรงรักมนุษย์มากจนกระทั่งยอมสละพระชนม์ชีพเพื่อให้มนุษย์ได้รอดพ้นจากกิเลสบาปต่างๆ
    ส่วนที่สาม อันเป็นหัวใจของการฉลองและเป็นหัวใจของคริสต์ศาสนาด้วยคือ การกลับคืนพระชนม์ชีพ ของพระเยซูคริสต์    ซึ่งคริสตชนถือว่าเป็นทั้งความจริงทางศาสนา (ข้อความเชื่อทางศาสนา) และเป็นสัญลักษณ์แห่งการมีชัยชนะเหนือบาปและความตาย    ซึ่งจะหมายถึง “ชีวิตใหม่” ที่คริสตชนได้รับโดยอาศัยความเชื่อในองค์พระเยซูคริสต์ของคริสตชน

 

หนังสือ ปัสกากับคริสตชน
บาทหลวง มิเกล กาไรซาบาล, SJ.