แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ส่วนที่  2  :  คำชี้แจงเกี่ยวกับการแปล

คณะผู้แปลได้ประสบความยากลำบากไม่น้อยในการแปลพระสมณสารฉบับนี้เพราะต้นฉบับนั้นก็เข้าใจยากพอสมควร  ดังนั้นในการแปลเป็นภาษาไทย  เราจึงต้องระวังให้ความหมายของแต่ละประโยคสอดคล้องกับทัศนะทั่วไปของพระสมณสาร
    อนึ่ง  พระสมณสารนี้ได้สะท้อนให้เห็นความสามารถพิเศษของผู้เขียนเช่นเดียวกันกับบทความอื่นๆ ที่ทรงคุณค่า  และเนื่องจากว่าเอกสารฉบับนี้เป็นผลงานเขียนที่มาจากวัฒนธรรมยุโรป  มีสำนวนวลี  แนวความคิด  และการเปรียบเทียบต่างๆ  ที่มักใช้กันในวัฒนธรรมดังกล่าว  ดังนั้น  จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้อ่านซึ่งเป็นคนไทยจะต้องรู้สึกแปลกใจไม่มากก็น้อยในวิธีแสดงความคิดที่แตกต่างจากคนไทย
    มีข้อความที่เข้าใจยากอีกประเภทหนึ่งซึ่งผู้อ่านจะต้องพบไม่ว่าจะอ่านในต้นฉบับ  หรือในฉบับที่แปลออกเป็นภาษาต่างๆ แล้วก็ตาม  นั่นก็คือ  ข้อความที่เข้าใจยากอันเนื่องมาจากว่าเป็นแนวคิดใหม่  สิ่งนี้อาจจะกระทบต่อทัศนะหรือแนวคิดที่เคยชินกันมาแต่เดิม  ฉะนั้น  ผู้อ่านจึงไม่ควรมองหาแต่แนวความคิดหรือวิธีการเสนอปัญหาตามแบบที่ตนเองคุ้นเคย  ตรงกันข้าม  ควรถ่อมตัวและเปิดใจต่อความคิดใหม่ๆ   และควรตั้งคำถามต่อตนเองเพื่อจะได้สามารถเข้าใจแผนการของพระเจ้าเกี่ยวกับตนเอง  ความรัก  และครอบครัวได้ดียิ่ง
    เป็นที่แน่นอนว่า  วิธีการฟันฝ่าอุปสรรคที่ถูกต้องนั้น  มักไม่อยู่ที่ว่า  จะสามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างไร  หรือจะสามารถบิดเบือนอุปสรรคให้แปรเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่ไม่เป็นอุปสรรคได้อย่างไร  แต่จะเป็นสิ่งที่ดี  ถ้าหากว่าพระสมณสารนี้ให้แรงบันดาลใจแก่คนจำนวนมากให้ลงมือเขียนบทความที่จะเป็นการอธิบาย  การวิจัยหรือแม้แต่คำถาม  ไม่ว่าผู้เขียนนั้นจะเป็นผู้ที่สมรสแล้ว  พระสงฆ์  นักบวช  ผู้สอนคำสอน  จนถึง “ผู้ที่ห่วงใยต่อวิวัฒนาการของการสมรสและสถาบันครอบครัว”  (ข้อ 1)  ก็ตาม
    ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่อาจช่วยให้เข้าถึงพระสมณสารนี้ได้มากขึ้นก็คือ  การอ่านพระสมณสารนี้หลายๆ ครั้ง  เพราะการอ่านครั้งเดียว  บางครั้งดูเหมือนว่าจะไม่พอ  และเมื่อได้อ่านใหม่ครั้งใดก็ตาม  จะพบแนวความคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกครั้ง  พระสมณสารนี้ควรมีไว้ประจำทุกครอบครัวที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตตามแผนการของพระเจ้า  และผู้อ่านจะอ่านข้อความต่างๆ  ที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ในชีวิตจริงที่ผู้อ่านก็กำลังประสบอยู่ เช่น เมื่อกำลังเตรียมการสมรส เมื่อสภาพแวดล้อมสร้างปัญหาให้กับความรัก  เมื่อให้การอบรมสั่งสอนแก่ลูกๆ  เมื่อลังเลใจว่าจะใช้วิธีการคุมกำเนิดดีหรือไม่  เมื่อต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม  เมื่อแสวงหาวิธีการสวดภาวนาที่ถูกต้อง  เมื่อต้องการอุทิศตัวให้แก่บุคคลผู้เป็นที่รักอย่างสุจริตใจมากขึ้น ฯลฯ
    พร้อมกันนี้  คณะผู้แปลขอแสดงความขอบคุณ  รศ. กีรติ  บุญเจือ  และ  รศ. เสรี  พงศ์พิศ  ผู้ให้คำแนะนำ และช่วยในการตรวจทาน ตลอดจนทุกท่านที่ได้มีส่วนช่วยให้โครงการแปลนี้สำเร็จลุล่วงไป  โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพระสมณสารฉบับนี้คงจะเป็นคู่มือของทุกๆ คน  ที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของครอบครัวอย่างแท้จริง

คณะผู้แปล