แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

สถานการณ์ของครอบครัวในโลกปัจจุบัน
6.  สถานการณ์ที่ครอบครัวอาศัยอยู่นั้นมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ  ในแง่บวกหมายถึง  สิ่งที่แสดงให้เห็นความรอดที่พระคริสต์ผู้ทรงกำลังไถ่กู้โลกประทานให้แก่มนุษย์  ในแง่ลบหมายถึง  สิ่งที่แสดงให้เห็นความดื้อกระด้างของมนุษย์ผู้ต่อต้านความรักของพระเจ้า
    ในแง่หนึ่ง  ปรากฏมีความสำนึกที่หลักแหลมยิ่งขึ้นต่ออิสรภาพของมนุษย์และการให้ความสนใจต่อคุณภาพของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในชีวิตสมรส  ต่อการส่งเสริมศักดิ์ศรีของสตรี  ต่อการเป็นพ่อแม่ที่รับผิดชอบ  และต่อการอบรมดูแลลูกๆ  นอกจากนั้น  ยังเกิดความสำนึกถึงความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวต่างๆ เพื่อจะได้ช่วยเหลือกันและกันทั้งทางจิตใจและวัตถุ  รวมทั้งการตระหนักถึงภารกิจเฉพาะของครอบครัวในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักรและความรับผิดชอบต่อการสร้างสังคมที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  ในทางตรงกันข้าม  ยังมีร่องรอยไม่น้อยที่แสดงถึงการลดคุณค่าพื้นฐานบางประการที่น่าเป็นห่วง  เช่น  แนวความคิดทางทฤษฎีและทางปฏิบัติที่ไม่ค่อยถูกต้องที่ว่าสามีภรรยาไม่ต้องพึ่งพากันและกันก็ได้ ความสับสนที่เป็นปัญหาหนักเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในแง่อำนาจระหว่างพ่อแม่และลูกๆ  ความยากลำบากที่ครอบครัวประสบจริงๆ ในการถ่ายทอดค่านิยม  การหย่าร้างที่เพิ่มมากขึ้น  ความหายนะของการทำแท้ง  การทำหมันที่เพิ่มขึ้น  การยอมรับทัศนะที่มุ่งการคุมกำเนิดโดยตรง
    บ่อเกิดของปรากฏการณ์ในแง่ลบนี้มีพื้นฐานสำคัญอยู่ที่ความคิดและประสบการณ์ที่ผิดๆ  เกี่ยวกับอิสรภาพ  ซึ่งบ่อยครั้งถือกันว่าอิสรภาพมิใช่ความสามารถในการนำความจริงของพระเจ้าเกี่ยวกับการสมรสและครอบครัวมาปฏิบัติ  แต่เป็นอำนาจที่มาจากตัวเองเพื่อสร้างตัวเองโดยปกป้องความสะดวกส่วนตัว  แม้จะต้องขัดแย้งกับคนอื่น
    สภาพความเป็นจริงอีกอย่างที่เราควรให้ความสนใจก็คือ  ในประเทศที่ได้ชื่อว่าโลกที่สามนั้นครอบครัวมักขาดปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพ เช่น  อาหาร  งาน  ที่อยู่อาศัย  และยารักษาโรค  แม้แต่เสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สุด  แต่ว่าในประเทศที่ค่อนข้างร่ำรวย  สามีภรรยามักขาดความมีน้ำใจและความกล้าหาญที่จะให้กำเนิดชีวิตใหม่เนื่องจากขาดความอุดมสมบูรณ์เกินควรและทัศนะบริโภคนิยม  ซึ่งเป็นที่น่าแปลกว่าสาเหตุหลังนี้สร้างความกระวนกระวายใจและความเป็นห่วงในอนาคตให้แก่ผู้มีทัศนะนี้เสียเอง  ดังนั้น  จึงไม่เห็นว่าชีวิตคือพระพรแต่ถือกันว่าเป็นภัยซึ่งจะต้องปัดไปให้พ้นมากกว่า
    เพราะฉะนั้นตามที่เป็นจริง  ครอบครัวตัองดำรงอยู่ในสภาพซึ่งปรากฏว่ามีทั้งแสงสว่างและความมืดปนเปกันไป
    การปนเปนี้ส่อให้เห็นว่า  กระแสประวัติศาสตร์มิใช่เป็นสิ่งที่อาจเข้าใจกันอย่างง่ายๆ ว่า  เป็นความก้าวหน้าซึ่งถูกกำหนดไว้แล้วไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่กระแสประวัติศาสตร์นี้เป็นขบวนการของอิสรภาพและยิ่งกว่านั้นยังเป็นการต่อสู้กันระหว่างอิสรภาพสองประเภทที่ขัดแย้งกัน  นั่นคือ  ความขัดแย้งระหว่างความรักสองชนิดดังที่นักบุญออกัสตินได้กล่าวไว้ว่า  “ความรักพระเจ้าจนลืมตัวเองกับความรักตัวเองจนลืมพระเจ้า”
    ดังนั้นมีแต่การฝึกสอนความรักที่หยั่งลึกในความเชื่อเท่านั้นที่จะช่วยมนุษย์ให้สามารถตีความ  “เครื่องหมายแห่งกาลเวลา”* ซึ่งเป็นการแสดงออกของความรักสองชนิดนี้ในประวัติศาสตร์ได้