แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

บทบาทของครอบครัวในด้านสังคมและการเมือง
44. บทบาทของครอบครัวในด้านสังคม ไม่อาจจะถูกกำจัดเฉพาะการมีลูกและการอบรมเลี้ยงดูเท่านั้น  ถึงแม้ว่าบทบาท 2 ประการหลังนี้จะปรากฏออกมาในรูปแบบพื้นฐานซึ่งจำเป็นสำหรับสังคม
    ครอบครัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแต่ละครอบครัวหรือสมาคมครอบครัวก็ตาม  ควรสนใจและยิ่งกว่านั้นควรต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในกิจกรรมสาธารณะประโยชน์หลายๆ รูปแบบ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมเพื่อคนยากจนและกิจกรรมเพื่อประชาชน  ตลอดจนกรณีอื่นๆ มากมายที่องค์การสังคมสงเคราะห์หรือองค์การป้องกันภัยสังคมยื่นมือเข้าไปไม่ถึง
    การที่ครอบครัวมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมนั้น  มีคุณค่าเป็นพิเศษซึ่งควรเผยแผ่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นและส่งเสริมกันอย่างจริงจังขึ้น  เป็นต้นว่า  ในระยะเวลาที่ลูกๆ กำลังเจริญเติบโต  เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนมีโอกาสร่วมมือในการช่วยเหลือสังคมเท่าที่จะทำได้
    ในที่นี้ควรจะเน้นคุณงามความดีประเภทหนึ่งเป็นพิเศษซึ่งนับวันจะมีความสำคัญยิ่งขึ้นในสังคมของเรา  นั่นคือ  การต้อนรับคนอื่นในทุกรูปแบบ  ตั้งแต่พร้อมที่จะเปิดประตูบ้านหรือยิ่งกว่านั้นเปิดประตูหัวใจต้อนรับพี่น้องที่ร้องทุกข์  ไปจนถึงการทุ่มเทกำลังรับผิดชอบและจัดการให้ทุกครอบครัวได้ที่อยู่อาศัยซึ่งเขาต้องการตามธรรมชาติเพื่อจะป้องกันตัวเองและเจริญก้าวหน้าได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ครอบครัวคริสตชนได้รับการเรียกร้องให้รับคำเตือนของอัครธรรมทูต (นักบุญเปาโล)  ที่ว่า  “ท่านต้องยินดีให้ที่พักอาศัยแก่ผู้ที่ไร้ที่อยู่”   ฉะนั้น  ครอบครัวต้องกางแขนต้อนรับพี่น้องผู้ขัดสนของพระคริสตเจ้าเอง  และโดยมีส่วนร่วมในความรักของพระองค์  ผู้ตรัสว่า  “ผู้ใดที่ให้น้ำเย็นแม้เพียงหนึ่งแก้วแก่คนใดคนหนึ่งในบรรดาคนธรรมดาๆเหล่านี้ เพราะเขาเป็นศิษย์ของเรา เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้นั้นจะได้รับบำเหน็จรางวัลอย่างแน่นอน”
    ครอบครัวควรจะมีบทบาททางสังคมแม้กระทั่งการมีส่วนร่วมในทางการเมืองด้วย  ครอบครัวทั้งหลายเป็นหน่วยแรกที่ต้องพยายามทำให้กฎหมายและสถาบันของรัฐ  ไม่เพียงแต่ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของครอบครัวเท่านั้น  แต่ต้องทะนุถนอมและปกป้องสิ่งเหล่านี้อีกด้วย  เพราะฉะนั้น  ครอบครัวต่างๆ จึงควรคำนึงถึงบทบาทของตนมากขึ้น  เป็นต้นว่า  ครอบครัวต้องเป็นผู้ริเริ่มในกระบวนการทางการเมืองเกี่ยวกับครอบครัว  และต้องมีส่วนรับผิดชอบในการฟื้นฟูสังคมใหม่  มิฉะนั้น  ครอบครัวเองจะต้องตกเป็นเหยื่อรายแรกของความชั่วร้ายซึ่งครอบครัวได้แต่มองดูด้วยการวางเฉย  คำตักเตือนของสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ที่ว่า ควรมีทัศนะที่สูงกว่าจริยธรรมแบบปัจเจกบุคคลนั้น  ก็ยังเกี่ยวข้องกับครอบครัวด้วย