แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

แนวปฏิบัติเมื่อจะเกิดปัญหาการหย่าร้าง


custody เนื่องจากพระคัมภีร์เป็นหนังสือแห่งชีวิต ไม่ใช่หนังสือกฎหมาย  ทุกคำสอนในพระคัมภีร์จึงไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นเพียง “หลักการ” (Principle) ที่เราแต่ละคนต้องตีความและปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในชีวิตของเราแต่ละคน ทั้งนี้โดยอาศัยความช่วยเหลือและคำแนะนำทั้งของพระเยซูเจ้าและของพระจิตเจ้า
ตัวอย่างเช่น บัญญัติสิบประการกล่าวไว้ว่า “วันที่เจ็ดเป็นวันพักผ่อนที่ถวายแด่พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน ในวันนั้น ท่านต้องไม่ทำงานใด ๆ” (อพย 20:10) ข้อเท็จจริงคือเราไม่มีทางหยุดงานโดยสิ้นเชิงในวันสับบาโตได้  ไหนบางคนจะต้องเลี้ยงเด็ก ให้อาหารสัตว์ เก็บไข่ไก่ รีดนมวัว บางคนต้องคอยควบคุมน้ำ ไฟ การจราจรทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ฯลฯ
เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามเข้าใจ “หลักการ” ในพระคัมภีร์ และประยุกต์ใช้ให้เข้ากับชีวิตของเราแต่ละคน
คำสอนเรื่องการหย่าร้างของพระเยซูเจ้าก็เช่นเดียวกัน พระองค์ไม่ได้ออกเป็นกฎหมายตายตัวที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามเหมือนกันทั้งหมด แต่พระองค์ทรงสอนเป็น “หลักการ” ที่เราต้องนำมาปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของเราแต่ละคน
เพราะฉะนั้น แนวปฏิบัติในชีวิตจริงจึงควรเป็นดังนี้
1.    ก่อนอื่นใดหมด ต้องพยายามรักษาอุดมการณ์อันสูงส่งของการแต่งงานไว้ให้ได้ กล่าวคือ การแต่งงานต้องผูกพันชายและหญิงให้เป็นหนึ่งเดียวกันชนิดแยกจากกันไม่ได้  การแต่งงานต้องเป็นการรวมสองบุคลิกภาพเข้าด้วยกัน ทำทุกสิ่งร่วมกัน เผชิญกับทุกสถานการณ์ร่วมกัน จนว่าพวกเขากลายเป็น “เนื้อเดียวกัน” ที่มีความสมบูรณ์มากกว่าและมีความยินดีมากกว่า
2.    ทั้ง ๆ ที่ได้ดูใจกันมานาน ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างดี มีความตั้งใจเต็มเปี่ยมที่จะเข้าสู่ชีวิตแต่งงาน แต่ชีวิตแต่งงานก็ใช่ว่าจะราบรื่นไปหมด หลายครั้งสิ่งที่ไม่ได้คาดหวัง ไม่ได้อยู่ในแผนการชีวิตก็เกิดขึ้น แล้วกลายเป็นปัญหาหรือเป็นอุปสรรคของชีวิตแต่งงาน เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น เราต้องพยายามเยียวยาอย่างสุด ๆ
ก) ถ้าเป็นปัญหาด้านร่างกาย ให้ไปพบแพทย์
ข) ถ้าเป็นปัญหาด้านจิตใจ ให้ไปพบจิตแพทย์
ค) ถ้าเป็นปัญหาด้านวิญญาณ ให้ไปพบพระสงฆ์
ฯลฯ
3.    เมื่อได้พยายามเยียวยาสุด ๆ แล้ว แต่ชีวิตแต่งงานก็ไม่อาจดำเนินต่อไปได้ ในกรณีเช่นนี้ เราคิดว่าพระเยซูเจ้าเสด็จมาในโลกนี้ เพื่อตรากฎหมายออกมาตีตรวนล่ามโซ่สามีและภรรยาให้จมอยู่ในสถานการณ์อันเลวร้ายและน่าสงสารนี้ตลอดชีวิตกระนั้นหรือ ?  นี่เป็นจิตตารมณ์ของคริสตชนจริง ๆ หรือ ?
แทนที่เราจะตีตราพวกเขาที่น่าสงสารเหล่านี้ว่าเป็นคนบาปที่หมดหวัง เราต้องพยายามสุดความสามารถที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือพวกเขา ตามจิตตารมณ์ของพระเยซูเจ้า
น่าเสียดายที่กฎหมายเข้าไม่ถึงสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้การแต่งงานล้มเหลว เช่น การมีชู้  การมีสองโลก กล่าวคือสังคมยอมรับคนหนึ่งว่าเป็นคนดีน่านับถือ แต่คน ๆ เดียวกันนี้เอง เมื่ออยู่บ้านกลับเย็นชา โหดร้าย เห็นแก่ตัว วิพากษ์วิจารณ์หรือเย้ยหยันอีกฝ่ายตลอดเวลา  ปรากฏการณ์เช่นนี้พบบ่อย ๆ แต่ใช้เป็นข้ออ้างทางกฎหมายไม่ได้เลย
ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเผชิญหน้ากับการแต่งงานที่ล้มเหลวโดย
-    ใช้กฎหมายให้น้อยลง และใช้ความรักให้มากขึ้น
-    ประณามให้น้อยลง และเห็นอกเห็นใจให้มากขึ้น
และต้องระลึกอยู่เสมอว่า สิ่งที่ต้องรักษาไว้ให้ได้ ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นจิตใจและวิญญาณของมนุษย์
“วันสับบาโตมีไว้เพื่อมนุษย์ มิใช่มนุษย์มีไว้เพื่อวันสับบาโต ดังนั้น บุตรแห่งมนุษย์จึงเป็นนายเหนือแม้กระทั่งวันสับบาโตด้วย” (มก 2:27-28)