1. เมื่อมีสุข ขอให้มองความสุข รู้สึกกับความสุข แต่ให้เว้นที่ว่างเอาไว้บ้างว่า ความสุขนั้นย่อมมีวันจากเราไป ไม่ช้า ก็เร็ว
2. เมื่อมีทุกข์ ขอให้มองความทุกข์ แล้ววางจิตใจไว้เหนือทุกข์ ทุกข์ส่วนทุกข์ เราส่วนเรา ยกจิตยกใจของเราขึ้นจากความทุกข์ให้ได้ด้วยการกำหนดความเป็นกลาง มองความทุกข์ เหมือนเราไม่ได้เป็นผู้ทุกข์
3. ทำปัจจุบันตรงหน้า ระหว่างการใช้ชีวิต ควรมีสติระลึกรู้ว่า ขณะนี้ตนเองกำลังทำอะไรอยู่ กำลังทำงานก็อยู่กับงาน กำลังเดินก็อยู่กับการเดิน มองต้นไม้ให้เห็นต้นไม้ มองฟ้าให้เห็นฟ้า ฟังเสียงนกร้องก็ขอให้ได้ยินเสียงนั้น เหล่านี้คือการกำหนดใจลงสู่ปัจจุบันทั้งสิ้น

4. ความเลวที่ทำอยู่ควรละ ลด และเลิก แต่ไม่ต้องโทษโกรธเคืองตนเอง พยายามควบคุมคำพูด การกระทำของเราให้อยู่ในคุณงามความดี เพื่อไม่ให้สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่น
5. ความดีที่มีอยู่ ควรเพิ่มพูน ส่งเสริมให้งอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป ภูมิใจในความเป็นคนดีของตน แม้มันจะเป็นเพียงความดีเล็กๆ แต่ต้นไม้ใหญ่ ก็เคยเป็นต้นกล้ามาก่อนเช่นกัน ควรสร้างเหตุปัจจัยให้ความดีของตนได้เติบโตต่อไป
6. รักผู้อื่นให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่อาจรักตนเองอย่างถูกต้องได้ ความรักนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านการรักผู้อื่น จงรักผู้อื่นอย่างไม่เห็นแก่ตัว จงให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ฝึกตนเองให้เป็นผู้ให้ที่ให้เป็น แล้วความรักที่เรางงๆอยู่ ก็จะเดินไปสู่ความเป็นรักที่แท้จริงได้
7. ความคิดโหยหาอดีต และความกังวลในอนาคตนั้น เป็นความคิดที่สูญเปล่า และเป็นโทษเสียเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเป็นไปได้ ควรคิดให้น้อย แทนที่ความคิดไร้ประโยชน์เหล่านั้นด้วยการทำสมาธิ กำหนดลมหายใจ หรือการพิจารณาชีวิตในมุมที่สร้างสรรค์ เราต้องตระหนักว่า ความทุกข์คือก้อนความคิดที่สร้างมาจากเวลาที่นอกเหนือจากปัจจุบัน เมื่อเรารวมใจของเราลงสู่ปัจจุบันได้เมื่อไหร่ ทั้งอดีต และอนาคต ก็จะไม่สามารถทำร้ายเราได้
8. ทำลายวงจรอุบาทของชีวิตด้วยการใส่กิจกรรมดีๆ เข้าไป เช่นการตื่นให้เช้าขึ้น กำหนดเวลากิน อยู่ หลับ นอน ขับถ่ายให้เป็นเวลา ใส่ตารางการออกกำลังกายลงไปบ้าง ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้จิตวิญญาณของตนตระหนักถึงความเป็นระบบระเบียบของชีวิต อย่าใช้ชีวิตแบบเดิมๆ เพราะนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า และปัญหาทางใจอื่นๆ ที่จะตามมา
9. จงรักในหน้าที่ของตน และพยายามเชื่อมโยงหน้าที่ของตนไว้กับประโยชน์ของผู้อื่น หรือประโยชน์ของสังคม คิดให้ออกว่าหน้าที่ของเรา สามารถช่วยอะไรสังคม หรือผู้อื่นได้บ้าง และขยายความรู้สึกนึกคิดตรงนั้นให้งอกงามในใจ การงานของเราก็จะเปลี่ยนจากการทำงาน เป็นการทำบุญ กลายเป็นคนที่มีใจและหน้าที่อันเป็นกุศลอยู่ตลอดเวลา
10. ย้ำเตือนตนเองอยู่เสมอว่า สิ่งต่างๆ นั้นอยู่ด้วยเหตุปัจจัย อย่าคาดหวังในผล แต่จงสร้างเหตุ อย่าคาดหวังในรักที่ดี แต่จงสร้างเหตุแห่งรักที่ดี อย่าคาดหวังในความร่ำรวยให้มากเกินไป แต่จงสร้างเหตุแห่งความร่ำรวยให้เกิดขึ้น สิ่งนี้เองคือการทำทุกอย่างด้วยจิตว่าง เมื่อทำทุกอย่างด้วยจิตว่างได้แล้ว ชีวิตก็จะพบกับหนทางแห่งความดีงามและความสุขได้ง่ายขึ้น
11. มองไปรอบข้าง ถามตนเองว่า มีใครบ้างที่มีความหมายกับชีวิตของเรา มีใครบ้างที่มีบุญคุณกับชีวิตของเรา บุคคลเหล่านี้คือบุคคลที่เราต้องดูแล ไม่อาจละเลย ขอให้มองไปยังเขาเหล่านั้น แล้วถามตนเองว่า เราจะทำอะไรเพื่อเขาได้บ้าง และลงมือทำทันที อย่าได้รีรอ เพราะเวลาไม่อาจย้อนคืนได้ใหม่
12. อย่าพูดในสิ่งไม่ดี อย่าพูดโกหก อย่าพูดความจริงที่ไร้ประโยชน์ อย่าพูดจาทำลายน้ำใจบุคคลอื่น อย่าพูดจาดูถูกตนเอง และอย่าพูดอะไรที่ทำลายสังคม บุคคล และศาสนาที่ตนนับถือ
13. จงฝึกจิตใจของตน ขัดเกลาจิตใจของตนด้วยการกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ ฝึกคิดอย่างเท่าทัน ฝึกสมาธิ ฝึกกำหนดรู้ตามจริง เพราะชีวิตคือสิ่งไม่แน่นอน และไม่อาจคาดเดาได้ ดังนั้น เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เราต้องเตรียมความแข็งแรงของจิตใจไว้ เพราะการทำใจไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับผู้ไม่เคยฝึกฝน
14. ของขวัญที่ดีที่สุดคือ รอยยิ้ม กำลังใจ และความจริงใจ จงแจกจ่ายของขวัญเหล่านี้ไปยังผู้คนที่พบเห็น ทำให้เป็นนิสัย แล้วมิตรภาพดีๆ จะเกิดขึ้นในชีวิตของเราทุกวัน
15. ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จงบอกตัวเองว่า สิ่งนั้นจะผ่านเราไปเสมอ ไม่ว่าสุข ทุกข์ ดีใจ เสียใจ จงมองดูเวลา ให้เวลาได้ทำหน้าที่ของมัน จงอดทน เข้มแข็ง อย่ายอมแพ้ในสิ่งใดก็ตาม

จงขอบคุณตัวเองที่พาชีวิตมาจนถึงวันนี้ ขอบคุณลมหายใจ และสรรพสิ่งทั้งหลายที่ให้โอกาสเราได้เรียนรู้ชีวิตและสร้างสติปัญญาให้เจริญงอกงามในจิตวิญญาณของเรา

ขอให้บอกกับตนเองเสมอว่า เราคือบุคคลที่โชคดีที่สุดในโลกแล้วที่ได้เป็นเจ้าของชีวิตของเราเอง จงใช้มัน จงใช้ชีวิต ทำชีวิตของตนเองให้มีคุณค่าที่สุด สมดังที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐในชาตินี้...

 (พศิน อินทรวงค์ )