แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

red-rose-p1-loveความรักมีใจเอื้อเฟื้อ ไม่อิจฉา ไม่โอ้อวดตนเอง ไม่จองหอง ไม่หยาบคาย ไม่เห็นแก่ตัว ความรักไม่ฉุนเฉียว ไม่จดจำความผิดที่ได้รับ ไม่ยินดีในความชั่วแต่ร่วมยินดีในความถูกต้อง ความรักให้อภัยทุกอย่าง เชื่อทุกอย่าง หวังทุกอย่าง อดทนทุกอย่าง  (1คร.  13:4-7)

          “ความรักย่อมอดทน” คุณลักษณ์ประการหนึ่งของความรักคือ เต็มใจยอมรับคนอื่นอย่างที่เขาเป็นอยู่ ด้วยความผ่อนปรน ไม่ระคายเคืองกับสิ่งบกพร่องและจุดอ่อนต่าง ๆ ของเขา ยอมรับรู้ว่า “ตัวเราเองก็ยังไม่ได้รับความรอด” (รม 8:25) เราจึงความมานะพากเพียรรอคอยการแก้ไขข้อผิดพลาด

          นักบุญเปโตรอธิบายว่า  พระเจ้าเอง  “ทรงอดทนกับพวกท่าน เพราะไม่ต้องการให้ผู้ใดถูกทำลาย แต่ต้องการให้ทุกคนเลิกทำบาป” (2  ปต  3:9)  ความอดกลั้นของคริสตชนไม่ใช่การนิ่งอยู่เฉย  แต่เป็นการสร้างมนุษยสัมพันธ์ด้วยความจริงและด้วยการมองโลกในแง่ดี

          กิริยาท่าทีเอาการเอางานที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรนั้นมักขาดความอดทน  ความกระตือรือร้นของคนหนุ่มสาวที่ทนความเหลวไหลไม่ได้ หรือบางครั้งคนสูงอายุที่มักคิดว่าตนเองถูกเสมอ  ก็เป็นความไม่อดทนเช่นกัน  คือทนความอ่อนแอ ทนสิ่งบกพร่องของผู้อื่นไม่ได้  ไม่ให้โอกาสผู้อื่นเข้าใจความคิดอ่านของตน  พระคริสตเจ้าทรงหวังให้ได้กำไรห้าตะลันต์จากคนที่ลงทุนไว้ห้าตะลันต์  แต่คนที่ได้รับเพียงหนึ่งตะลันต์ พระองค์ก็ไม่หวังให้ได้คืนมากกว่าหนึ่งตะลันต์  (มธ  25:14-30)

          “ความรักมีความกรุณาอยู่เสมอ” เมื่อเราอดทน เราจะยอมรับอย่างที่เขาเป็นอยู่  ใจที่กรุณาก็ทำให้เกิดการยอมรับได้อย่างนุ่มนวลและเต็มใจ ดังนั้น ความกรุณาจึงเหมือนสิ่งหล่อลื่นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นไปราบ รื่น  ความกรุณาคำนึงถึงความต้องการและความรู้สึกของผู้อื่น

          “ความรักไม่อิจฉาริษยา” ความอิจฉาริษยาเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อความรัก คนที่อิจฉาต้องการความรัก แต่เวลาเดียวกันก็ทำให้รักเกิดขึ้นไม่ได้ นักบุญเปาโลชี้ให้เห็นว่านี่เป็นอุปสรรคแรกต่อความรัก ความรักนำมาซึ่งความสุข ความร่วมมือและความบริบูรณ์  ความอิจฉาริษยามีแต่ความมืดมน ความสงสัย ความเป็นศัตรูกันลับ ๆ และการบ่นว่า  คนอิจฉามักกล่าวโทษผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็หาว่าผู้อื่นกล่าวโทษตน  ถึงจะได้รับดีอย่างไร เขาก็ไม่นิยมชมชื่นกับสิ่งที่ได้รับ

          “ความรักไม่โอ้อวดหรือถือดี” ถือดีคือถือว่าตัวเองดี แม้จะไม่ดีกว่า แต่อย่างน้อยก็มีความสำคัญกว่าคนอื่น ท่าทีภายนอกที่แสดงออกให้เห็นคือ อาการโอ้อวด ความพยายามให้ตนเองเด่นหรือมีความสำคัญนั้นมีอยู่ในธรรมชาติมนุษย์  และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์พังกันไปมากแล้ว
          พระเยซูเจ้าเองทรงกล่าวถึงความโง่เขลาของอาการโอ้อวดว่า “การทำเช่นนั้นก็เพื่อดึงดูดความสนใจ เหมือนใช้กลักพระธรรมใหญ่ สวมเสื้อที่มีพู่ห้อยยาว ชอบอยู่ในที่อันมีเกียรติในงานเลี้ยงและในธรรมศาลา ชอบรับการคำนับที่กลางตลาดและชอบให้เขาเรียกว่า ท่านอาจารย์”
พระเยซูสรุปเป็นทำนองหักมุมกลับว่า “ผู้ใดถ่อมตัวลง ผู้นั้นจะได้รับการยกขึ้น” (มธ  23:5-13)

          “ความรักไม่หยาบคายหรือเห็นแก่ตัว” ความกรุณาเป็นอากัปกิริยาภายนอกที่สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับเพื่อนมนุษย์ ความหยาบคายก็เป็นอาการของความเห็นแก่ตัว  แสดงถึงความเหยียดหยามแทนความห่วงใย  ดังนั้น จึงมีแต่การกระทบกระทั่งกัน  แทนที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีอย่างเช่นความกรุณา       ความหยาบคายมักอยู่ในผู้ที่เลือกกรุณาคน บางคน ทำให้คนที่เห็นแก่ตัวหลงคิดไปว่าตนเองนั้นดีและใจบุญ  เจ้าของบ้านที่ให้ความอารีอารอบกับแขกที่มา  แต่ตะคอกใส่ผู้ที่ช่วยเหลือรับใช้เขา  หรือพ่อค้านักธุรกิจที่ยิ้มแย้มตลอดเวลาต้อนรับลูกค้าที่มาอุดหนุน  แต่กลับคำรามตะโกนใส่ภรรยาหรือลูกจ้าง หน้ากากความยิ้มแย้มที่เขาสวมอยู่เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ของตนก็คือความเห็นแก่ตัวและการเป็นทาสวัตถุนั่นเอง

          “ความรักไม่โกรธแค้น ไม่ขุ่นเคืองใจ”  ความหวั่นไหว  (ความรู้สึกรับเร็ว)  อาจทำให้ดูเหมือนเป็นข้อดีที่แสดงถึงการมีโลกทัศน์พิเศษต่อสถานการณ์และความรู้สึกของมนุษย์  แต่ความรู้สึกหวั่นไหวง่ายหรือมักน้อยใจเสียใจง่ายแสดงว่า ผู้นั้นเอาแต่ความรู้สึกของตนเองมากไป  ขณะเดียวกันก็ไม่คิดถึงความรู้สึกของผู้อื่นเลย ในความรู้สึกไหวง่ายนี้เอง มีกลไกการป้องกันตัวเองตามธรรมชาติอยู่ด้วย  คือการปฏิเสธว่า
ไม่ใช่เป็นความผิดของตัว  และพยายามโยนความผิดให้ผู้อื่น เพราะกลัวว่าความผิดนั้นจะย้อนกลับมาหาตัวเอง  ผู้ที่รู้สึกหวั่นไหวง่ายเช่นนี้พร้อมที่จะพาลโกรธ หากใครพูดจาสะกิจใจให้คนอื่นรู้ถึงความผิดที่ซ่อนอยู่  นักบุญยอห์นเขียนไว้ว่า “ถ้าเราไม่ยอมรับว่ามีบาป  เราก็หลอกตนเองและเราก็ไม่ยอมรับความจริง”  (ยอห์น  1:1-8) อาการใจน้อยไม่เพียงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันคลอนแคลนเท่านั้น 
แต่ยังทำให้คนเราพยายามอย่างยิ่งเพื่อพิสูจน์ว่าตนเป็นฝ่ายถูก  การโต้เถียง  ทะเลาะวิวาทกัน  ไม่ว่าจะโดยเปิดเผยหรือโดยเล่ห์เหลี่ยมย่อมมีผลตามมา ผลนั้นคือความโกรธขุ่นเคือง  ก่อให้เกิดความเป็นศัตรูแบบฟาริสีที่พระเยซูเจ้าทรงตำหนิอย่างรุนแรง

          พระคริสตเจ้าทรงกล่าวลึกลงไปถึงเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกโกรธง่ายนั้นว่า “ทำไมท่านจึงมองหาผงในตาของผู้อื่น และไม่เอาใจใส่ถึงซุงทั้งท่อนที่อยู่ในตาของตน” (มธ  7:3)เหตุผลในเชิงตรรกวิทยานี้ฟังง่ายและชัดเจนในความหมายแต่ความรู้สึกหวั่น ไหวง่ายหรือโกรธง่ายทำให้มองข้ามเหตุผลไปเสีย

          ความขึ้งเคียดบึ้งตึง ความสงสัย การทะเลาะวิวาท  และความเป็นศัตรู  มีอยู่ในตัวผู้ที่หวั่นไหวง่าย ใจน้อยและเต็มไปด้วยความแค้นเคือง แต่ “ถ้าเราสารภาพต่อพระเจ้าว่าเรามีบาป  พระองค์ก็จะทรงกระทำสิ่งที่ถูกต้อง  คือทรงยกโทษบาปให้เราและชำระให้เราหมดมลทินอันเกิดจากการทำผิดทุกอย่างที่เคยทำ”  (1  ยน  1:9)

          ส่วนผู้ที่อดกลั้นทนต่อความขมขื่น  ขุ่นเคืองจากความโกรธที่มีอยู่  ก็มีผู้แนะนำว่าให้คายพิษร้ายที่หมักหมมอยู่ในใจทิ้งเสีย โดยพูดระบายความขุ่นแค้นนั้นออกมา  แต่แท้จริงนั้นการระเบิดความเกลียดชัง  ความเป็นศัตรูออกมาทางคำพูด ก็เป็นการผ่อนเพลาความอัดอั้นได้ชั่วขณะเท่านั้นเอง 
การระบายความขมขื่นของตัวเองใส่ผู้อื่น คือลักษณะของความพยาบาทแก้แค้นที่มีแต่จะเพิ่มความตึงเครียดให้เกิดขึ้น ระหว่างกัน  นักบุญเปาโลเพ่งเล็งเรื่องนี้เป็นพิเศษ “เพื่อนเอ๋ย อย่าคิดแก้แค้นเลย ปล่อยให้พระเจ้าลงโทษเขาตามพระทัยของพระองค์เถิด” แต่คำแนะนำของนักบุญเปาโลที่ตรงกับจิตตารมณ์ของพระเยซูเจ้าคือ “อย่าให้ความชั่วชนะท่านได้  แต่จงชนะความชั่วด้วยความดี”  (รม  12:9,21)

          “ความรักไม่ยินดีกับความชั่วร้ายของผู้อื่น” แทบไม่น่าเชื่อ แต่ก็เกิดขึ้นจริงที่เราอาจรู้สึกพอใจที่เราเด่นขึ้นมาจากความพังพินาศของผู้อื่น ยินดีที่เราดูเหมือนจะดีเด่นตรงกันข้ามกับคนอื่นที่ความไม่ดีของเขาเห็นชัดยิ่งนัก

          “ความรักพร้อมที่จะให้อภัย เชื่อ  หวัง  และอดทน  ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น”  ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรักของพระเจ้า “ผู้ทรงรักผู้ที่เป็นของพระองค์ในโลกนี้เสมอ  และทรงรักพวกเขาตลอดไป”  (ยน  13:1) พระเยซูทรงยกโทษให้ผู้ที่ตรึงกางเขนพระองค์ ไว้วางใจเปโตรผู้ปฏิเสธพระองค์  ให้ความหวังแก่โจรผู้ด่าว่าพระองค์  ทรงทนรับสภาพบนไม้กางเขนและความตาย  และเพราะสิ่งเหล่านี้เอง  พระองค์ทรงคืนพระชนม์กลับเป็นขึ้นมา
         “สามอย่างนี้ที่ยังอยู่คือ ความเชื่อ ความหวัง  และความรัก  แต่ที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดคือความรัก”  (1คร  13:13)

ที่มา เรื่องเล่าชวนศรัทธา แม่พระยุคใหม่