แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การอบรมคริสตศาสนธรรม (Catechetics)


คำว่า “สอนคำสอน” Catechize มาจากภาษากรีก   Katechizein  หมายความว่า เสียงสะท้อน  (to  resound  หรือ  to  sound  forth) รวมความถึง การมอบบางสิ่งจากข้างบนลงข้างล่าง  ศัพท์คำนี้จึงมีสองความคิดคือ (1) ข่าวสารที่กระจายไป  (2)  การสอนด้วยอำนาจ

คริสตชนจึงค่อยๆใช้คำนี้ เป็นศัพท์เทคนิคสำหรับการสอนแบบทางการของพระศาสนจักร  มีคำศัพท์ที่น่าทำความเข้าใจกันคือ
Catechesis       =    การสอนคำสอน
Catechist         =    ครูคำสอน
Catechetics      =    (วิชา) การอบรมคริสตศาสนธรรม
Catechism       =    หนังสือคำสอน
Catechumen    =    ผู้เรียนคำสอนเพื่อจะเป็นคริสตชน ผู้เตรียมเป็นคริสตชน คริสตชนสำรอง
Catechumenate =    ช่วงเวลาเรียนคำสอน ก่อนรับศีลล้างบาป
ในพระศาสนจักรยุคแรก และแม้แต่ยุคกลาง โดยทั่วไป   มีการสอนคำสอนสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น

1. การสอนและการเจริญชีวิตความเชื่อ

  • การสอนคำสอน  มีความเกี่ยวพันกับการสอน  2 แบบ  ในพระศาสนจักร  คือ เทววิทยาและการเทศน์ เทววิทยา  เป็นศาสตร์แห่งการศึกษาเกี่ยวกับพระเป็นเจ้า เป็นการพิจารณาเนื้อหา การเผยแสดง (ความจริง)  ของพระเป็นเจ้า        การเทศน์  เป็นการเสนอเนื้อหาของความรอดแก่ประชาชนโดยปกติเทศน์ในวัด
  • อย่างไรก็ดี การสอนคำสอนเป็นศาสตร์แห่งการสอนเนื้อหาความรอดที่มีรูปแบบเป็นระบบ แต่ไม่ใช้ภาษาเทคนิคทางเทววิทยา  แน่นอนว่าการสอนคำสอนขึ้นอยู่กับศาสตร์แห่งเทววิทยา และเรานำความจริงจากเทววิทยามาเสนอแก่คริสตชน  เพื่อเป็นการอบรมให้พวกเขาดำเนินชีวิตในพระคริสตเจ้า
  • เราอาจกล่าวได้ว่า  พระเป็นเจ้าเป็นครูคำสอนคนแรก  เพราะพระองค์สอนความจริงแห่งความรอดแก่ประชาชน  โดยอาศัยการเผยแสดงในพันธสัญญาเดิม  พระคัมภีร์ได้ชี้ให้เห็นถึงวิธีการสอนของพระเจ้าแบบเรื่องเล่า  หรือเป็นเรื่องราว  เรามักอ้างว่าพระคริสตเจ้า  เป็นครูคำสอนยอดเยี่ยม  เพราะพระองค์สอนความจริงแห่งความรอด  เน้นข่าวดีแห่งการไถ่กู้มนุษยชาติเป็นพิเศษ   พระองค์ใช้การเล่าเรื่องเช่นกัน  เช่น  นิทานเปรียบเทียบ  เรื่องราวสอนคุณธรรม  เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจสารที่พระองค์ต้องการสอน  การสอนคำสอนจึงต้องเลียนแบบและพัฒนาการสอนของพระเยซูเจ้า

1.1 การสอนคำสอนของอัครสาวก (Apostolic Teaching)

  • บรรดาอัครสาวกได้เริ่มการสอนคำสอน  มีเอกสารอ้างอิงในสมัยแรก  พูดถึงเรื่องนี้ว่า  เนื้อหาหลักของการสอนคำสอนของบรรดาอัครสาวก  คือ สิ่งที่พระคริสตเจ้าได้กล่าวและกระทำ  เพื่อแสดงว่า พระคริสตเจ้าเป็นผู้ทำให้คำทำนายในพันธสัญญาเดิมสมบูรณ์  บรรดาอัครสาวกอธิบายความหมายเหตุการณ์ในชีวิตของพระองค์  ภายใต้การดลใจของพระจิตเจ้า  การเทศน์ของอัครสาวกมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงว่าพันธกิจของพระคริสตเจ้าเผยแสดงพระองค์ว่าเป็นบุตรของพระเป็นเจ้า  พระผู้ไถ่กู้โลก บรรดาอัครสาวกที่เน้นว่า ความสุขอยู่ที่การยอมรับพระคริสตเจ้าอย่างอิสระ  เชื่อพระองค์และปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ เนื้อหาคำสอนของบรรดาอัครสาวก  คือ  พระคริสตเจ้า   “เราไม่ได้ประกาศตัวเราเอง  แต่ประกาศพระเยซูคริสตเจ้า  ว่าทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า” (2คร  4:5)  เราพบการเผยแสดงความจริงของพระเจ้าขั้นสุดท้ายในพระคริสตเจ้า
  • จดหมายและพระวรสารเจริญเติบโตขึ้นด้วยการสอนด้วยปาก สืบต่อกันมาจากบรรดาอัครสาวกและยึดหลักบนความจริงพื้นฐาน  ซึ่งพระเป็นเจ้าได้เผยแสดงให้ประกาศ

1.2 เนื้อหาของพระวรสาร

  • เพื่อให้เข้าใจพระวรสารอย่างถูกต้อง เราต้องสำนึกว่าก่อนจะมีการบันทึกพระวรสาร     พระคริสตเจ้าสอนบรรดาอัครสาวก และจากอัครสาวกถ่ายทอดสู่ชุมชนคริสตชนด้วยปากเปล่า  เล่าต่อกันมา  (orally)
  • ดังนั้น การสอนด้วยปากเปล่าเรื่องข่าวดี   เน้นรูปแบบต้นกำเนิดของการสอนของคริสตชนในพระศาสนจักรยุคแรก การสอนมีจุดมุ่งหมายที่ผู้ใหญ่ มิใช่เน้นความรู้ แต่เป็นการอบรมคริสตชนให้เจริญชีวิตในชุมชน    โดยเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสตเจ้า  พระวรสารจึงเติบโตมาจากเนื้อหาการสอนคำสอนแบบปากเปล่า และจึงมาสรุปเป็นลายลักษณ์อักษร
  • พระวรสารเป็นพยานด้านเอกสารที่ช่วยเราให้เข้าใจเหตุการณ์ในชีวิตและการสอนของพระเยซูเจ้า ทำให้เราทราบสิ่งที่พระเป็นเจ้าปรารถนาให้เรารู้โดยอาศัยพระบุตรสุดที่รักของพระองค์ พระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา คำว่า พระวรสาร แปลว่า ข่าวดี
  • พระวรสารทั้ง 4 ช่วยเราให้รู้จัก “ข่าวดี” เดียวกัน แม้มี 4 เล่ม แต่ก็เป็นข่าวสารเดียวที่พระคริสตเจ้ามาบังเกิดในโลกเพื่อเรา  ชีวิตและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ทำให้พระสัญญาแห่งความรอดพ้นต่อชาวอิสราเอลสำเร็จสมบูรณ์    และพระคริสตเจ้าตั้งชาติอิสราเอลใหม่ในพระศาสนจักร

 

  • วิธีการเสนอข่าวสารแห่งความรอด ต้องสนใจลักษณะเฉพาะและนิสัยของผู้สอน และสภาพแวดล้อมของการเทศน์สอน ฉะนั้น จึงต้องอ้างถึงการสอนคำสอนของนักบุญเปโตร นักบุญเปาโล ฯลฯ ข่าวสารหลักเหมือนกัน พระศาสนจักรยุคแรกพัฒนาการสอนคำสอน  ถือว่าเป็นหน้าที่เฉพาะของพระสังฆราช และตามปกติพระสังฆราชสอนในเวลาประกอบพิธีกรรม

1.3  ความสัมพันธ์กับพิธีกรรม

  • ปลายศตวรรษที่หนึ่ง เราพบว่าบทสัญลักษณ์ของอัครสาวก (The Creed)  พัฒนามาจากข่าวสารยุคแรก บรรดาคริสตชนมาพบกันวันอาทิตย์ในศตวรรษที่ 2 พิธีกรรมเริ่มต้นด้วยการอ่านพระคัมภีร์ เพื่อใช้สอนใจ ต่อด้วยการอธิบาย อย่างที่เรียกว่าการเทศน์ พระสังฆราชมอบหน้าที่ให้พระสงฆ์และสังฆานุกรไปสอนประชาชนที่ต่างๆ     จนประมาณศตวรรษที่ 4 การสอนคำสอนแก่พี่น้องคริสตชนจึงอยู่ที่พิธีกรรมวันอาทิตย์
  • ดังนั้น ตั้งแต่เริ่มคริสตศักราช การสอนคำสอนจึงเน้นข่าวดีที่พระเป็นเจ้าเรียกมนุษย์ให้มีส่วนในชีวิตพระองค์ โดยอาศัยพระคริสตเจ้า    โดยเอาข่าวสารมาจากพระคัมภีร์ และใช้โอกาสที่สัตบุรุษมาร่วมพิธีกรรม เป็นการสอนคำสอน
  • การสอนคำสอนจึงเป็นทั้งอาศัยพระคัมภีร์และพิธีกรรม เป็นเวลาหลายศตวรรษที่คริสตชนไปร่วมพิธีมิสซา    จึงเป็นโอกาสเดียวที่สอนชุมชนคริสตชนอย่างเป็นทางการ  การสอนในระบบโรงเรียน บทเรียน คอร์สศาสนาที่นอกเหนือจากพิธีกรรมที่วัด ไม่เป็นที่นิยมจนถึงศตวรรษที่ 17

1.4 การเตรียมรับศีลล้างบาป

  • เหตุการณ์สำคัญมากในประวัติศาสตร์การสอนคำสอนเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 3 คือการอบรมผู้สนใจมาเรียนคำสอนเพื่อเป็นคริสตชน (Catechumenate) ในช่วงเวลานี้เน้นการดำเนินชีวิต ตามความรู้ข้อคำสอนที่เรียนมา ให้ปรับปรุงชีวิตด้านศีลธรรมเป็นจุดหมายหลัก เพราะผู้สนใจเหล่านั้นเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งกำลังเตรียมรับชีวิตใหม่ เตรียมรับพระหรรษทานแห่งศีลล้างบาป นอกจากนี้ คริสตชนสำรอง (Catechumen) ที่กำลังรับการอบรม ต้องร่วมพิธีบูชามิสซา และมีการอบรมเรื่องอื่นๆ บางครั้งก่อนและหลังพิธีด้วย       มหาพรต เป็นช่วงเวลาพิเศษสำหรับการอบรมเข้ม เขาจะได้รับความรู้ข้อความเชื่อเพิ่มขึ้นเป็นขั้นตอน และในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ มีการอธิบายบทข้าพเจ้าเชื่ออย่างสมบูรณ์และมอบบทนี้แก่คริสตชนสำรอง รวมทั้ง “บทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” ด้วยเช่นกัน หลังจากที่ได้รับการอบรมเป็นเวลาสามปีติดต่อกัน ในคืนวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์นั้น คริสตชนสำรองต้องท่องขึ้นใจบทข้าพเจ้าเชื่อและบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลายให้ได้     เราพบตัวอย่างยอดเยี่ยมของการสอนคำสอนในศตวรรษที่ 4   ในเอกสารที่มีชื่อเสียงของ นักบุญออกุสติน (ค.ศ. 354-430) ชื่อ De catechizandis rudibus  (การสอนคำสอนชาวบ้าน) ซึ่งเป็นการตอบปัญหาด้านคำสอน ที่สังฆานุกร เดโอกราซีอัส  แห่งเมืองคาร์เทจ  ได้ถาม   นักบุญออกุสติน ได้สรุปวิธีการสอนและเนื้อหาคำสอน โดยมีโครงร่างกล่าวถึงพระเป็นเจ้าทรงรักมนุษย์ และมนุษย์ตอบด้วยความเชื่อและความรัก มีการใช้เรื่องเล่าในพระคัมภีร์ มิใช่แบบไม่ประสานต่อเนื่อง แต่ต้องช่วยให้คริสตชนสำรองมีความรู้สึกเกี่ยวกับพระคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งประวัติศาสตร์ โดยอาศัยพระวาจาทรงชีวิต (พระคัมภีร์) คริสตชนสำรองจะพบกับพระเป็นเจ้า     การก้าวกระโดด การเน้นในการสอนคำสอนอยู่ในระหว่างยุคกลาง หลังจากศตวรรษที่ 5     การอบรมด้านศาสนาหลังจากรับศีลล้างบาปแล้วกลายเป็นสิ่งจำเป็น ตามด้วยการกลับใจของชนพื้นเมือง (barbarians) และเริ่มมีการโปรดศีลล้างบาปเด็กทารก การอบรมจึงต้องพัฒนาเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าใจและเห็นคุณค่าความจริงด้านศาสนา ช่วงเวลาการอบรมก่อนรับศีลล้างบาปที่เคยเป็นรูปแบบทางการ (สำหรับอบรมก่อนรับศีลล้างบาป) จึงค่อย ๆ หายไป

1.5  ครอบครัวและสังคม

  • ช่วงยุคกลางตอนต้น เป็นระยะที่น่าสนใจในวิธีการสอนคำสอน เพราะสภาพแวดล้อมแบบชาวคริสต์มีบทบาทสำคัญในการอบรมคริสตชน เป็นช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่โครงสร้างสังคมทั้งหมดเป็นแบบชาวคริสต์และด้านพิธีกรรมด้วยเช่นกัน ระหว่างเริ่มยุคกลาง ประชาชนเจริญชีวิต ความเชื่อแบบชาวคริสต์ทั้งด้านพิธีกรรมและด้านสังคม     ในช่วงนี้ ครอบครัวยังคงมีบทบาทเด่นในฐานะผู้อบรม มีโรงเรียนสำหรับเยาวชนชายที่เตรียมบวชเป็นพระสงฆ์  มีการอบรมด้านศาสนาสำหรับเด็ก  โดยผู้ปกครองในครอบครัว รวมทั้งการอบรมชีวิตด้านสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชีวิตพิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น ขณะที่การสอนคำสอนเป็นทางการไม่ค่อยมีจัดให้พระศาสนจักรขึ้นกับสภาพแวดล้อมแบบชาวคริสต์ และบ้าน กลายเป็นสถานที่ให้การอบรมขั้นพื้นฐาน