ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์กับการฝึกอบรมครูคำสอน
242    ครูคำสอนยังได้รับความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ และความเป็นจริงในการดำเนินชีวิตของเขาผ่านทางศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ซึ่งมีการพัฒนาอย่างมากในยุคของเรา “ในงานด้านการอภิบาล ควรจะต้องใช้ความรู้ทั้งด้านหลักการทางเทววิทยาและความรู้ทางฝ่ายโลกที่ได้รับการค้นพบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาต่างๆของจิตวิทยา (psychology) และสังคมวิทยา (sociology)   เพราะแนวทางนี้จะทำให้สัตบุรุษได้รับการนำพาไปสู่การดำเนินชีวิตตามความเชื่ออย่างมีวุฒิภาวะมากยิ่งขึ้น” (GS 62b)

    ครูคำสอนจำเป็นต้องได้สัมผัสกับองค์ประกอบต่างๆ อันเป็นพื้นฐานทางจิตวิทยาบ้าง เช่น พลังขับเคลื่อนต่างๆ ทางด้านจิตวิทยาที่ผลักดันให้มนุษย์ปรารถนาที่จะทำบางอย่าง  การสร้างบุคลิกภาพ  ความต้องการและสิ่งที่คาดหวังต่างๆ ในส่วนลึกสุดของหัวใจมนุษย์  จิตวิทยาที่สนับสนุนความคิดหรือวิธีการใหม่ๆ และระยะต่างๆ ในวัฏจักรชีวิตของมนุษย์  จิตวิทยาที่เกี่ยวกับศาสนา และประสบการณ์ต่างๆ ที่เปิดใจมนุษย์สู่พระธรรมล้ำลึกของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (the sacred)
    สังคมศาสตร์ (social sciences) ให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมซึ่งมนุษย์อาศัยอยู่และมีอิทธิพลต่อมนุษย์อย่างชัดเจน   ดังนั้น ในการฝึกอบรมครูคำสอนทั้งหลายจึงจำเป็นต้องมี “การวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ด้านศาสนา  เช่นเดียวกับสภาพการณ์ด้านสังคมวิทยา  วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ  จนถึงขั้นที่ว่าข้อเท็จจริงต่างๆ (ข้อมูลต่างๆ) เกี่ยวกับชีวิตหมู่คณะเหล่านี้สามารถส่งผลให้เกิดความสำเร็จในการประกาศพระวรสาร” (GCD (1971) 100)  นอกเหนือจากศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้แล้ว  สภาสังคายนาวาติกันที่ 2  ยังได้เสนอแนะอย่างชัดเจนว่า ศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์น่าจะถูกนำมาใช้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในการฝึกอบรมครู คำสอน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสตร์ต่างๆ ทางด้านการศึกษาและการสื่อสารมวลชน

หลักการต่างๆ ที่สามารถผลักดันให้เกิดการใช้ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในการฝึกอบรมครูคำสอน
243    หลักการต่างๆ มีดังต่อไปนี้
    ก) การเคารพในความเป็นอิสระของวิชาความรู้ หมายความว่า “พระศาสนจักร...ขอยืนยันว่า วัฒนธรรมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาความรู้   มีความเป็นอิสระแก่ตนเองอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม” (GS 59)
    ข) ความสามารถในการเข้าใจในเรื่องจุดประสงค์พิเศษหรือหลักสูตรในวิชาจิตวิทยา  สังคมวิทยาและวิชาครูซึ่งมีความแตกต่างกันตามแนวพระวรสาร  อันได้แก่ คุณค่าและข้อจำกัดทั้งหลายในวิชาเหล่านั้น
    ค) การศึกษาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์  -ในการฝึกอบรมครูคำสอน- เป็นสิ่งที่เราทำเพื่อจะได้เกิดประโยชน์อื่นๆ (ความสามารถที่จะถ่ายทอดข่าวดีของพระวรสาร (GCD (1971) 111) -ผู้แปล) ความรู้อันเกิดจากการเรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ในด้านการดำรงอยู่  จิตวิทยา  วัฒนธรรมและสังคมของมนุษย์จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อได้มีการพิจารณาตามความเชื่อที่มนุษย์ต้องได้รับการอบรม (อ้างถึง GCD(1971) 112) 
    ง) ในการฝึกอบรมครูคำสอน เทววิทยาและศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ควรจะได้เพิ่มพูนคุณค่าให้แก่กัน  ฉะนั้น จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้วิชาเหล่านี้กลายเป็นเพียงแบบแผนสำหรับการเรียนรู้วิธีสอนเรื่องความเชื่อ ที่ต่างหากจากหลักเกณฑ์ทางเทววิทยาที่เกิดมาจากวิธีสอนของพระเป็นเจ้า  ในขณะที่วิชาเหล่านี้เป็นวิธีการฝึกอบรมอันเป็นเรื่องพื้นฐานและจำเป็นเพื่อให้มนุษย์สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเอง      และยังเป็นงานของการประกาศพระวรสารที่เป็นยิ่งกว่าการงานของมนุษย์ (ข้อความเดิมอันเป็นหลักสำหรับการใช้ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในการฝึกอบรมครูคำสอน  ยังคงเป็นสิ่งที่สภาสังคายนาวาติกันที่ 2 แนะนำไว้ใน GS ข้อ 62 ว่า “ขอให้สัตบุรุษอยู่อย่างใกล้ชิดกับมนุษย์ในสมัยของตน  ขอให้พยายามเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงวิธีคิดและความรู้สึกของเขาซึ่งแสดงออกมาทางวัฒนธรรมของเขา  ขอให้สัตบุรุษเอาความรู้กับทฤษฎีใหม่ๆ และความเข้าใจในเรื่องที่ค้นพบใหม่สุดรวมเข้าด้วยกันกับศีลธรรมและความนึกคิดแบบคริสตชน  เพื่อให้การปฏิบัติทางศาสนาและพฤติกรรมทางศีลธรรมของเขาเป็นแนวเดียวกันกับความรู้สึกจากประสบการณ์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งด้านเทคโนโลยี  ด้วยวิธีการนี้เขาจะสามารถประเมินและตีความหมายทุกสิ่งได้ด้วยความสำนึกถึงคุณค่าต่างๆ แบบคริสตชนอย่างแท้จริง”)