การสอนคำสอนและวัฒนธรรมยุคปัจจุบัน (อ้างถึง EN 20, 63; CT 53; RM 52-54; CCC 172-175)
202    “เราอาจพูดเกี่ยวกับการสอนคำสอนเช่นเดียวกับการประกาศพระวรสารได้ในลักษณะทั่วไปว่า  เป็นกระบวนการที่ถูกเรียกร้องให้นำพลังแห่งพระวรสารเข้าสู่แก่นแท้ของวัฒนธรรมและสังคมของมนุษยชาติ (CT 53) หลักเกณฑ์ต่างๆที่ควบคุมการประยุกต์พระวรสารและการนำความเชื่อเข้าสู่วัฒนธรรมโดยการสอนคำสอนได้มีการกล่าวถึงแล้ว (อ้างถึง ภาคที่ 2  บทที่ 1)  ซึ่งเป็นสิ่งที่พอเพียงสำหรับการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า การบรรยายในเชิงอบรมคริสตศาสนธรรม (catechetical  discourse)  นั้นมี “กฎแห่งความเชื่อ” ซึ่งได้รับการอธิบายอย่างกระจ่างโดยพระอาจารยานุภาพของพระศาสนจักร ทั้งยังได้รับการตรวจสอบความถูกต้องโดยเทววิทยา  เป็นเหมือนเครื่องนำทางที่สูงส่งและจำเป็นในการบรรยาย   เราต้องจำไว้เสมอว่าประวัติศาสตร์แห่งการสอนคำสอน  โดยเฉพาะในยุคปิตาจารย์ได้รับการกล่าวขานถึงจากหลายแนวคิดว่าเป็นประวัติศาสตร์แห่งการนำความเชื่อเข้าสู่วัฒนธรรม ที่ควรมีการศึกษาและไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน  แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นประวัติศาสตร์ปลายเปิด (open-ended history) ที่ยังต้องการช่วงเวลาแห่งการทำความเข้าใจพระวรสารอย่างต่อเนื่อง  ในบทนี้จะอธิบายแนวทางการสอนความเชื่อบางแบบที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ประกาศพระวรสารนี้เท่าที่จำเป็น  ทั้งแบบที่ไม่มีความยุ่งยากใดๆเลยและแบบที่มีความเสี่ยงต่อการประนีประนอมในความเชื่อที่ขัดแย้ง (syncretism) และความเข้าใจผิดในแบบอื่นๆ  เรื่องแนวทางการสอนนี้ อันที่จริงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในปัจจุบัน  เพราะยังมีความต้องการการไตร่ตรองถึงความรู้อันได้มาจากการสอนคำสอนกันโดยทั่วไปและเป็นระบบยิ่งขึ้น