แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

การสอนคำสอนเด็กทารกและเด็กๆ (อ้างถึง GCD (1971) 78-81; CT 36-37)
คำอรรถาธิบายที่สำคัญเรื่องวัยทารกและวัยเด็ก (GCD (1971) 78-79; ChL 47)
177    โดยอาศัยการพิจารณาด้วยความเชื่อและเหตุผล พบว่ากลุ่มเด็กที่อยู่ระหว่าง 2 วัยนี้  ได้ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยคือ กลุ่มวัยเด็กเล็ก (early infancy) หรือวัยก่อนเข้าเรียน (pre-school age)  และวัยเด็ก (childhood)  มีพระพรแห่งการเริ่มต้นชีวิตซึ่งก็คือ “ความเป็นไปได้ทั้งหลายที่มีคุณค่าในตัวเขา  เพื่อการพัฒนาพระศาสนจักรและการสร้างสังคมที่มีความร่มเย็นมากขึ้น” (อ้างถึง ChL 47)  ในฐานะที่เป็นบุตรของพระเป็นเจ้า โดยพระพรแห่งศีลล้างบาป เขาจึงได้รับการประกาศให้เป็นสมาชิกที่มีสิทธิพิเศษในพระอาณาจักรของพระเป็นเจ้า (มก 10:14)  ด้วยหลายสาเหตุในปัจจุบันที่ทำให้เด็กต้องการความเคารพและการช่วยเหลือทั้งในการเติบโตเป็นมนุษย์และการเติบโตทางจิตวิญญาณอย่างเต็มที่มากกว่าในอดีต  สิ่งนี้ก็เป็นจริงสำหรับการสอนคำสอนด้วย  เพราะการสอนคำสอนจะต้องเป็นประโยชน์แก่เด็กคริสตชนเสมอ  บรรดาผู้ที่ให้ชีวิตแก่เด็กและได้เพิ่มพูนคุณค่าแก่เขาด้วยพระพรแห่งศีลล้างบาป มีหน้าที่บำรุงเลี้ยงพระพรนี้ด้วย

ลักษณะการสอนคำสอนที่เหมาะกับเด็กทารกและเด็กๆ (อ้างถึง GCD (1971) 78-79; CT 37)
178    การสอนคำสอนเด็กๆ จำต้องเชื่อมโยงกับสถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆในชีวิตของพวกเขา  มันเป็นงานของเจ้าหน้าที่ทางการศึกษาที่มีอยู่หลากหลายแต่ช่วยกันทำให้สมบูรณ์   ดังนั้นจึงควรมีการกล่าวถึงบางกรณีที่มีความเกี่ยวข้องกันโดยทั่วไป คือ
    - วัยเด็กทารกและวัยเด็ก ต่างได้รับความเข้าใจอย่างถูกตรงตามลักษณะเฉพาะของแต่ละวัยว่า เป็นเวลาแห่งกระบวนการเบื้องต้นของการเข้าสู่สังคม  พร้อมกันนั้นก็เป็นเวลาแห่งการศึกษาความเป็นมนุษย์และคริสตชนภายในครอบครัว  ในโรงเรียนและในพระศาสนจักร   เราจะต้องเข้าใจว่าช่วงเวลาเหล่านี้เป็นชั่วขณะที่ชี้ชัดถึงขั้นต่างๆของความเชื่อที่จะตามมา
    - โดยปกติช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่การเริ่มต้นชีวิตคริสตชนซึ่งได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการด้วยศีลล้างบาปนั้นครบสมบูรณ์  เป็นไปตามกระบวนการสืบทอดความเชื่อคาทอลิกอันเป็นที่ยอมรับ   และการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆในขั้นต่อมาก็เป็นโอกาสที่จะมีการฝึกอบรมเด็กขั้นพื้นฐานในความเชื่อเป็นครั้งแรก  และทำให้การนำเด็กเข้าสู่ชีวิตของพระศาสนจักรเป็นจริงได้ (อ้างถึง CT 37)
    - กระบวนการสอนคำสอนในวัยเด็กทารกมีค่ายิ่งนักในทางการศึกษา  เนื่องจากมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาทรัพยากรโดยการให้พื้นฐานทางมนุษย์วิทยา  เพื่อการดำเนินชีวิตตามความเชื่อ  ความรู้สึกวางใจ ความรู้สึกมีอิสรภาพ ความสำนึกแห่งการมอบถวายตัวเอง  ความสำนึกในเรื่องการวิงวอน และการร่วมมืออย่างเบิกบาน  ลักษณะที่สำคัญของการฝึกอบรมเด็กๆก็คือ  การฝึกให้สวดภาวนา และการอธิบายพระคัมภีร์  (อ้างถึง AAS 66 (1974) pp. 30-46)
    - ในที่สุด ต้องทุ่มเทความสนใจไปที่ความสำคัญของแหล่งการศึกษาอันจำเป็นแก่ชีวิต 2 แหล่งคือ ครอบครัวและโรงเรียน ด้วยความสำนึกที่ชัดเจนว่าไม่มีสิ่งใดจะมาแทนที่การสอนคำสอนในครอบครัวได้  โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดีและเหมาะแก่การรับฟังการสอนคำสอน เรื่องแบบอย่างของผู้ใหญ่ทั้งหลาย  และเรื่องความรู้เกี่ยวกับชีวิตและการปฏิบัติตามความเชื่ออย่างชัดเจนอันเป็นหลักของการสอนคำสอนในครอบครัว

179    สำหรับเด็ก การเริ่มเข้าโรงเรียนหมายถึง การเข้าสู่สังคมที่กว้างกว่าครอบครัว อันเป็นโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพต่างๆทางด้านสติปัญญา อารมณ์ และพฤติกรรมให้มากขึ้น  บ่อยครั้งที่การสอนเรื่องศาสนาโดยเฉพาะเป็นเรื่องของทางโรงเรียน  เหตุทั้งหมดนี้เองเรียกร้องให้การสอนคำสอน และครูคำสอนทั้งหลายต้องร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับผู้ปกครองและครูคำสอนทั้งหลายในโรงเรียนในขณะที่มีโอกาสอันเหมาะสม (อ้างถึง GCD(1971) 79) ผู้อภิบาลทั้งหลายควรจำไว้ว่าในการช่วยผู้ปกครองและครูให้กระทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมได้อย่างดี ก็เท่ากับเป็นการสร้างพระศาสนจักร  ยิ่งกว่านั้นคือ เป็นโอกาสดีเลิศสำหรับการสอนคำสอนผู้ใหญ่ (อ้างถึง GCD(1971) 78,79)

เด็กทารกและเด็กๆที่ไม่ได้รับการสนับสนุนทางด้านศาสนาในครอบครัว หรือผู้ที่ไม่ได้เข้าโรงเรียน (อ้างถึง GCD(1971) 80-81, CT 42)
180    โดยแท้จริงแล้วมีเด็กๆ ที่เสียเปรียบอย่างร้ายแรงอยู่มากมายคือ เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนด้านศาสนาอย่างพอเพียงในครอบครัว  อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่มีครอบครัวที่แท้จริง  หรือเพราะพวกเขาไม่ได้เข้าโรงเรียน  หรือเพราะพวกเขาเป็นเหยื่อของสภาพสังคมที่มีความผิดปกติของรูปแบบพฤติกรรมทางสังคม  หรือปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ  เด็กจำนวนมากไม่ได้รับแม้ศีลล้างบาป บางคนได้ผ่านกระบวนการเพื่อการเริ่มต้นชีวิตคริสตชนอย่างสมบูรณ์  ปัญหาเหล่านี้อยู่ในความรับผิดชอบของชุมชนคริสตชนซึ่งต้องพยายามแก้ไข  โดยให้การช่วยเหลือตามที่ควรเป็นด้วยความสามารถและใจเมตตา  โดยหาทางจัดเสวนากันระหว่างครอบครัวต่างๆ โดยการเสนอรูปแบบต่างๆทางการศึกษาที่เหมาะสม  และโดยการจัดการสอนคำสอนที่เหมาะกับความเป็นไปได้ต่างๆที่ชัดเจนและความต้องการมากมายของเด็กๆ เหล่านี้