แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ลักษณะตามประวัติศาสตร์ของพระธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับความรอด
107    การยืนยันความเชื่อของบรรดาสานุศิษย์ของพระเยซูคริสตเจ้าปรากฏขึ้นมาจากพระศาสนจักรที่กำลังจาริกแสวงบุญ ซึ่งได้ถูกส่งไปเผยแผ่ธรรม   การยืนยันนี้ยังมิใช่การประกาศอย่างปลื้มปิติยินดีในตอนจบของการเดินทาง  แต่เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับ “ช่วงเวลาของพระศาสนจักร” (CCC 1076)  ดังนั้น “แผนการแห่งความรอด” จึงมีลักษณะตามประวัติศาสตร์  เนื่องจากแผนการนี้ได้ถูกกระทำจนสำเร็จผลแล้วตามกาลเวลา  “ในอดีตมันได้เริ่มต้นแล้วก้าวหน้าไปจนกระทั่งถึงความบริบูรณ์ในพระคริสตเจ้า  ในปัจจุบันมันได้แผ่ขยายพลังและรอคอยการทำให้สมบูรณ์ในอนาคต” (GCD (1971) 44) 

ด้วยเหตุนี้เอง พระศาสนจักรจึงเริ่มต้นด้วยความสำนึกรู้ที่มีอยู่ซึ่งพระศาสนจักรได้มาด้วยความพยายามเข้าใจในสารแห่งการช่วยให้รอด  มี “ความทรงจำ” เกี่ยวกับเหตุการณ์การช่วยให้รอดมากมายในอดีตอย่างแม่นยำ  และทำให้เหตุการณ์เหล่านั้นเป็นที่รู้จักในการถ่ายทอดสารแห่ง คริสตชน  หลังจากที่ได้พิจารณาเหตุการณ์แห่งการช่วยให้รอดที่มีอยู่มากมายแล้ว พระศาสนจักรจึงตีความเหตุการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันอันจะเป็นประวัติศาสตร์ของมนุษย์ โดยที่พระจิตของพระเป็นเจ้ายังทรงเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของโลกนี้ใหม่อย่างต่อเนื่อง  และพระศาสนจักรยังรอคอยการเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความเชื่อ   ในการสอนคำสอนของบรรดาปิตาจารย์ การเล่า (narratio) ถึงเหตุการณ์ที่เกิดจากการทำอัศจรรย์ของพระเป็นเจ้า  และรอคอย (expectatio) การกลับมาขององค์พระคริสตเจ้ามักจะรวมเอาการเปิดเผยพระธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับความรอดนี้เสมอ  (บรรดาปิตาจารย์ทั้งหลาย ผู้ซึ่งใช้การเล่าเรื่องการช่วยให้รอดมาเป็นหลักของเนื้อหาสาระของการสอนคำสอนปรารถนาที่จะปลูกฝังคริสตศาสนาไว้ในเวลาอันควร  โดยแสดงให้เห็นว่ามันคือประวัติศาสตร์แห่งการช่วยให้รอด  มิได้เป็นเพียงปรัชญาที่เกี่ยวกับศาสนาเท่านั้น  พวกท่านยังปรารถนาที่จะเน้นย้ำว่า องค์พระคริสตเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์นี้)

108    ลักษณะตามประวัติศาสตร์ของสารแห่งคริสตชนต้องการ ให้การสอนคำสอนบรรลุจุดประสงค์ในเรื่องต่อไปนี้
    - การนำเสนอประวัติศาสตร์แห่งการช่วยให้รอดโดยวิธีการสอนคำสอนแบบอิงพระคัมภีร์นั้นก็เพื่อให้มนุษย์รู้จัก “กิจการและพระวาจาทั้งหลาย” ซึ่งพระเป็นเจ้าได้ทรงใช้เปิดเผยพระองค์เองแก่มนุษย์  โดยอาศัยขั้นตอนที่สำคัญต่างๆ ในพันธสัญญาเดิมซึ่งพระองค์ทรงใช้เตรียมการเดินทางของพระวรสาร (CCC 54-64)  ชีวิตของพระเยซู พระบุตรของพระเป็นเจ้า  บังเกิดจากพระนางพรหมจารีมารีย์  ทรงทำให้การเปิดเผยของพระเป็นเจ้าสำเร็จสมบูรณ์ด้วยการกระทำและการสั่งสอนของพระองค์ (อ้างถึง DV 4)  ประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรที่ถ่ายทอดการเปิดเผยของพระเป็นเจ้า  ประวัติศาสตร์แห่งการช่วยให้รอดที่ถูกศึกษาด้วยมุมมองแห่งความเชื่อก็คือ  ส่วนสำคัญของเนื้อหาสาระของการสอนคำสอน
    - ในการอธิบายถึงข้อความเชื่อและเนื้อหาสาระศีลธรรมของคริสตชนโดยวิธีการสอนคำสอนเรื่องข้อความเชื่อ สารแห่งพระวรสารน่าจะช่วยให้เข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์แห่งการช่วยให้รอดใน   “ยุคปัจจุบัน” ได้ง่ายและชัดเจนขึ้น  อันที่จริง “ด้วยวิธีการนี้ศาสนบริการด้านพระวาจาจะไม่เพียงทำหน้าที่รื้อฟื้นการเปิดเผยถึงสิ่งที่น่าพิศวงของพระเป็นเจ้าซึ่งเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เท่านั้น...แต่ในเวลาเดียวกันยังทำหน้าที่ตีความหมายให้แก่ชีวิตมนุษย์ในสมัยของเรานี้  ให้แก่เครื่องหมายต่างๆ แห่งกาลเวลา  และให้แก่สิ่งต่างๆ ในโลกนี้   โดยอาศัยการพิจารณาเรื่องการเปิดเผยของพระเป็นเจ้านี้แล้ว  เพราะว่าแผนการของพระเป็นเจ้าดำเนินไปภายใต้เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้  เพื่อนำความรอดมาสู่มวลมนุษย์”  (GCD (1971) 11)
    - การสอนคำสอนควรจัดเรื่องศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ให้อยู่ภายในเรื่องประวัติศาสตร์แห่งการช่วยให้รอด  โดยอาศัยการสอนคำสอนช่วงหลังรับศีลล้างบาป ซึ่ง “...ทำหน้าที่รื้อฟื้นเหตุการณ์สำคัญยิ่งต่างๆ ของประวัติการช่วยให้รอด ในพิธีกรรมของพระศาสนจักรยุคปัจจุบัน”  (CCC 1095  อ้างถึง CCC 1075, 1116, อ้างถึง CCC 129-130, 1093-1094)  การอ้างถึงประวัติการช่วยให้รอดในยุคปัจจุบันนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งในการสอนคำสอน  แล้วยังจะช่วยให้บรรดาผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนและผู้เรียนคำสอน “ได้เปิดใจตัวพวกเขาเองเพื่อความเข้าใจด้านจิตวิญญาณนี้ในแผนการแห่งความรอด...” (CCC 1095, 1075)
    -  “กิจการและพระวาจาทั้งหลาย”  ในเรื่องการเปิดเผยของพระเป็นเจ้าก็ชี้ให้เห็นถึง “พระธรรมล้ำลึกที่แฝงอยู่ใน 2 ส่วนนี้ (ซึ่งเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง)” (DV 2)   การสอนคำสอนช่วยให้เราผ่านเครื่องหมายไปสู่พระธรรมล้ำลึก  โดยที่การสอนคำสอนนำไปสู่การค้นพบพระธรรมล้ำลึกในเรื่องพระบุตรของพระเป็นเจ้าที่อยู่เบื้องหลังความเป็นมนุษย์ของพระองค์   เบื้องหลังประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรนี้การสอนคำสอนเปิดเผยพระธรรมล้ำลึกในเรื่องการเป็น “ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความรอด” ของพระศาสนจักร เบื้องหลัง “เครื่องหมายต่างๆ แห่งกาลเวลา” การสอนคำสอนพบร่องรอยของการประทับอยู่และแผนการของพระเป็นเจ้า  ดังนั้น การสอนคำสอนจะแสดงให้เห็นว่าความรู้ซึ่งเป็นแบบฉบับของความเชื่อ “เป็นความรู้ที่ผ่านมาทางเครื่องหมายต่างๆ” (อ้างถึง GCD(1971) 72 อ้างถึง CCC 39-43)