แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

พระวาจาของพระเป็นเจ้าเป็นแหล่งที่มาของการสอนคำสอน
94    แหล่งที่มาของถ้อยคำที่ใช้ในการสอนคำสอนนั้นก็คือ พระวาจาของพระเป็นเจ้า
    “การสอนคำสอนจะดึงเอาเนื้อหาในการสอนมาจากแหล่งข้อมูลอันมีชีวิตแห่งพระวาจาของพระเป็นเจ้าซึ่งถูกถ่ายทอดในกระบวนการสืบทอดความเชื่อคาทอลิก2 และพระคัมภีร์  ทั้งนี้ก็เพราะกระบวนการสืบทอดความเชื่อคาทอลิกอันมีความศักดิ์สิทธิ์    และพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ประกอบกันเป็นคลังศักดิ์สิทธิ์หนึ่งเดียวที่บรรจุพระวาจาของพระเป็นเจ้า  ซึ่งพระเป็นเจ้าทรงมอบให้พระศาสนจักรรับผิดชอบ” (CT 27)

    “คลังแห่งความเชื่อ” แหล่งนี้ (อ้างถึง DV 10 a e b, อ้างถึง 1ทธ 6:20 , 2ทธ 1:14)  เปรียบเสมือนทรัพย์สมบัติของเจ้าบ้าน ซึ่งถูกมอบไว้ให้แก่พระศาสนจักรอันเป็นครอบครัวของพระเป็นเจ้า  และพระศาสนจักรก็นำทั้งของใหม่และของเก่าออกมาจากคลังนี้อยู่เนืองนิตย์ (อ้างถึง มธ 13:52) บุตรทุกคนของพระเป็นเจ้า ซึ่งได้รับชีวิตจากพระจิตเจ้า  รับการบำรุงเลี้ยงโดยอาศัยทรัพย์สมบัติของพระวจนาตถ์นี้  พวกเขาทราบว่าพระวจนาตถ์นั้นคือองค์พระเยซูคริสต์  พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์  และพระสุรเสียงของพระองค์ยังคงดังก้องอยู่ในพระศาสนจักรและในโลกทางพระจิตเจ้า  พระวาจาพระเป็นเจ้าซึ่งได้ “ถ่อมพระองค์” ลงมาอย่างศักดิ์สิทธิ์และน่าชื่นชม (DV 13) ถูกนำมายังเราและมาถึงเราโดยทาง “กิจการและคำพูด” ของมนุษย์  “เท่ากับว่าพระวาจาของพระบิดานิรันดรนั่นเอง  ได้ทรงรับเอาเนื้อหนังที่อ่อนแอของมนุษย์  จึงทรงกลายเป็นเหมือนมนุษย์” (DV 13)  และด้วยเหตุที่มิได้หยุดเป็นพระวาจาของพระเป็นเจ้าจึงต้องถูกแสดงออกในรูปของคำพูดมนุษย์  แม้จะอยู่ใกล้ชิดกับเรา แต่ยังคงถูกปกปิดไว้ในสภาพที่ “ไม่ยอมให้พระเทวภาพของพระองค์เปิดเผยออกมา” (kenotic)  ดังนั้น พระศาสนจักรซึ่งมีพระจิตเจ้าทรงนำจึงต้องแปลความหมายพระวาจาอย่างต่อเนื่อง  พระศาสนจักรรำพึงพระวาจาด้วยจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งในความเชื่อ  “ฟังพระวาจาด้วยใจศรัทธา  เก็บรักษาพระวาจาไว้ด้วยความเคารพ  และอธิบายพระวาจาด้วยความซื่อสัตย์”  (DV 10)