ภาระหน้าที่พื้นฐานอื่นของการสอนคำสอน : การนำเข้าเป็นสมาชิกและการศึกษาเพื่อชีวิตชุมชนและงานธรรมทูต
86    การสอนคำสอนเตรียมคริสตชนให้ดำเนินชีวิตในชุมชน  และให้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักร  สภาสังคายนาวาติกันที่ 2   ชี้ถึงความจำเป็นของผู้อภิบาล “ที่จะต้องสร้างชุมชนคริสตชนที่แท้จริง”  (PO 6d)   และสำหรับผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชน  “ให้เรียนรู้เพื่อที่จะร่วมมืออย่างแข็งขันในการสร้างพระศาสนจักร  และในงานประกาศพระวรสาร” (AG 14d)
- การศึกษาเพื่อชีวิตชุมชน (Education for Community Life)

    ก) ชีวิตชุมชนคริสตชนนั้นไม่สามารถเกิดเองได้โดยธรรมชาติ เราจำเป็นต้องศึกษาชีวิตชุมชนคริสตชนอย่างละเอียดถี่ถ้วน  ในการฝึกดำเนินชีวิตเพื่อสร้างชุมชนคริสตชนนี้  เราต้องศึกษาคำสอนของพระคริสต์ในเรื่องชีวิตชุมชนซึ่งได้ถูกบอกเล่าไว้ในพระวรสารนักบุญมัทธิว   ช่วงเวลานี้ยังเรียกร้องเจตคติต่างๆ ที่ควรได้รับการพร่ำสอนในการสอนคำสอน  ได้แก่ จิตใจแห่งความเรียบง่ายและความถ่อมตัว  ( “ถ้าท่านไม่กลับเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ...” มธ 18:3)  ความห่วงใยพี่น้องแม้จำนวนน้อยที่สุด ( “ผู้ใดเป็นเหตุให้คนธรรมดาๆ ที่มีความเชื่อในเราทำบาป...” มธ 18:6)  ความเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อผู้ที่ถูกทำให้เหินห่างแยกตัวไป ( “ค้นหาแกะตัวที่หลงไป...” มธ 18:12)   การตักเตือนกันฉันพี่น้อง ( “จงไปตักเตือนเขาตามลำพัง...” มธ 18:15)   การอธิษฐานภาวนาร่วมกัน ( “ถ้าท่านสองคนในโลกนี้  พร้อมใจกันอ้อนวอนขอสิ่งหนึ่งสิ่งใด...” มธ 18:19)  การให้อภัยกันและกัน ( “แต่ต้องยกโทษให้เจ็ดคูณเจ็ดสิบครั้ง” มธ 18:22) ความรักฉันพี่น้องรวมเอาเจตคติทั้งหมดนี้ไว้ด้วยกัน ( “ให้ท่านรักกัน  เรารักท่านอย่างไร  ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด...”  ยน 13:34)
    ข) ในการพัฒนาจิตสำนึกเรื่องชุมชนนี้  การสอนคำสอนต้องตระหนักเป็นพิเศษถึงเรื่องคริสตสัมพันธ์  และส่งเสริมท่าทีแห่งการเป็นพี่น้องกันในบรรดาสมาชิกของคริสตจักรนิกายอื่นๆ และชุมชนต่างๆ ของพระศาสนจักร   ดังนั้น เพื่อให้การสอนคำสอนดำเนินไปจนบรรลุเป้าหมายนี้  การสอนคำสอนควรจะอธิบายคำสอนทั้งหมดของพระศาสนจักรได้อย่างละเอียดและชัดเจน  และหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยความหรือสำนวนต่างๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดการผิดหลงได้  นั่นหมายความถึง “ความรู้เกี่ยวกับนิกายอื่นๆ ตามความเหมาะสม” (อ้างถึง GCD (1971) 27) โดยที่ความรู้นั้นมีองค์ประกอบของความเชื่อร่วมกัน  คือ “พระวาจาของพระเป็นเจ้าที่มีเขียนไว้  ชีวิตแห่งพระหรรษทาน  ความเชื่อ  ความหวังและความรัก  และพระพรภายในอื่นๆ ของพระจิต” (UR 3b)   การสอนคำสอนจะต้องมีส่วนของคริสตสัมพันธ์ในระดับหนึ่งซึ่งจะช่วยกระตุ้นและบำรุงหล่อเลี้ยง  “ความปรารถนาเอกภาพอย่างแท้จริง” (CT 32, อ้างถึง CCC 821, CT 34)  มิใช่การโอนอ่อนให้กับความเชื่อหรือความเข้าใจที่ผิด เพื่อให้เกิดสันติระหว่างพระศาสนจักรกับคริสตชนกลุ่มอื่นๆ (irenicism) อย่างง่ายๆ  แต่เป็นแบบที่มีเอกภาพสมบูรณ์  ในเวลาที่พระเป็นเจ้าเองทรงปรารถนา  และอาศัยเครื่องช่วยตามพระประสงค์นั้นก็น่าที่จะเกิดเอกภาพที่แท้จริงได้
- การนำเข้าสู่งานธรรมทูต (Missionary initiation)
    ก) การสอนคำสอนยังเปิดกว้างออกไปสู่งานธรรมทูต (อ้างถึง CT 24b, GCD (1971) 28) เป้าหมายนี้  ทำให้การสอนคำสอนพยายามหาทางจัดให้มีบรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าไปแสดงตนเป็นคริสตชนในสังคมผ่านทางการดำเนินชีวิตด้านการงานอาชีพ  วัฒนธรรมและสังคม  การสอนคำสอนยังช่วยเตรียมตัวพวกเขาให้ยื่นมือไปประสานงานกับหน่วยงานบริการต่างๆ  ของพระศาสนจักร  ตามกระแสเรียกเฉพาะของพวกเขา  ภาระหน้าที่แห่งการประกาศพระวรสารสำหรับคริสตชนนี้เริ่มจากการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แห่งการเริ่มต้นชีวิต คริสตชน  และในลักษณะกระแสเรียกทางโลกของพวกเขา (อ้างถึง LG 31b, ChL 15, CCC 898-900)  เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ทุกวิธีการสอนคำสอน  ควรจะเป็นไปเพื่อส่งเสริมกระแสเรียกเป็นพระสงฆ์  และรูปแบบต่างๆ ของการอุทิศตัวให้กับพระเป็นเจ้าในชีวิตนักบวช  และชีวิตธรรมทูต  และให้กับกระแสเรียกธรรมทูตที่พิเศษซึ่งถูกปลุกให้ตื่น    ทัศนคติต่างๆ ในการประกาศพระวรสารที่พระเยซูเจ้าทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์  เวลาส่งพวกเขาออกไปกระทำพันธกิจนั้นละเอียดลออ  และเป็นสิ่งที่การสอนคำสอนต้องทำให้เข้มแข็งขึ้น  คือ จงออกแสวงหาแกะที่หายไป  ประกาศและรักษาพยาบาลไปด้วยพร้อมๆกัน  ทำตัวยากจนไม่ต้องมีเงินหรือย่าม  จงรู้จักยอมรับการปฏิเสธและการเบียดเบียน  จงวางใจในพระบิดาเจ้า  และการช่วยเหลือของพระจิตเจ้า  ไม่หวังรางวัลใดๆ เลย นอกจากความชื่นชมยินดีในการทำงานเพื่อพระอาณาจักรของพระเป็นเจ้า (อ้างถึง  มธ 10:5-42 ; ลก 10: 1-20)
    ข) ในการศึกษาเพื่อจิตสำนึกเรื่องงานธรรมทูตนี้  การสอน คำสอนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเสวนากับศาสนาต่างๆ ด้วย หากการสอนคำสอนจะช่วยให้คริสตชนสามารถสื่อสัมพันธ์กับมนุษย์ชายหญิงทั้งหลายของศาสนาอื่นๆ ได้อย่างเข้าใจกัน (อ้างถึง EN 53; RM 55-57)  การสอนคำสอนแสดงให้เห็นว่าการเชื่อมโยงระหว่างพระศาสนจักรกับศาสนาอื่นๆ เป็นจุดกำเนิดร่วมกันและจุดจบแห่งเชื้อชาติของมนุษย์   เช่นเดียวกับเป็น  “เมล็ดพันธุ์แห่งพระวาจาจำนวนมากที่พระเป็นเจ้าทรงหว่านไว้ในศาสนาเหล่านี้”  การสอนคำสอนยังช่วยประนีประนอม และในเวลาเดียวกันก็ช่วยจำแนกระหว่าง “การประกาศเรื่องพระคริสต์”  และ “การเสวนาเพื่อศาสนสัมพันธ์” (interreligious  dialogue) ทั้งสองอย่างนี้แม้จะเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น  แต่เราไม่ควรเข้าใจสับสนหรือถือว่าเหมือนกัน (อ้างถึง RM 55b)  อันที่จริง “ในการเสวนาจำเป็นต้องมีการประกาศพระวรสาร” (RM 55a)