chaiya1

วันอาทิตย์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า


ข่าวดี    ลูกา 21:25-28; 34-36
    (25)‘จะมีเครื่องหมายในดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาวต่าง ๆ ชนชาติต่าง ๆ บนแผ่นดินจะทนทุกข์ทรมาน ฉงนสนเท่ห์ต่อเสียงกึกก้องของทะเลที่ปั่นป่วน  (26)มนุษย์จะสลบไปเพราะความกลัว และหวั่นใจถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในโลก เพราะสิ่งต่างๆ ในท้องฟ้าจะสั่นสะเทือน  (27)หลังจากนั้นประชาชนทั้งหลายจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาในก้อนเมฆ ทรงพระอานุภาพและพระสิริรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่  (28)เมื่อเหตุการณ์ทั้งปวงนี้เริ่มเกิดขึ้น ท่านทั้งหลายจงยืนตรง เงยหน้าขึ้นเถิด เพราะในไม่ช้าท่านจะได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระแล้ว’
    (34)‘จงระวังไว้ให้ดี อย่าปล่อยใจของท่านให้หมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานรื่นเริง  ความเมามายและความกังวลถึงชีวิตนี้ มิฉะนั้น วันนั้นจะมาถึงท่านอย่างฉับพลัน  (35)เหมือนบ่วงแร้ว เพราะวันนั้นจะลงมาเหนือทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดิน  (36)ท่านทั้งหลายจงตื่นเฝ้าอธิษฐานภาวนาอยู่ตลอดเวลาเถิด เพื่อท่านจะมีกำลังหนีพ้นเหตุการณ์ทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นนี้ไปยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์บุตรแห่งมนุษย์ได้’



    พระวรสารโดยนักบุญลูกาบทที่ 21 มีความคล้ายคลึงกับพระวรสารโดยนักบุญมาระโกบทที่ 13 มาก นั่นคือ “เข้าใจยาก”  ทั้งนี้เป็นเพราะว่าลูกานำความคิดที่แตกต่างกันถึง 4 เรื่องมารวมไว้ในบทเดียวกันจนเกี่ยวพันกันเสมือนเป็นเรื่องเดียวกัน
    ความคิดทั้งสี่เรื่องได้แก่
    1.    วันของพระเจ้า  ชาวยิวแบ่งเวลาออกเป็น 2 ยุคคือ
        ยุคปัจจุบัน  เป็นยุคที่เต็มไปด้วยบาปและความชั่วร้าย  ไม่มีทางใดจะเยียวยาให้ดีขึ้นได้  ต้องทำลายให้สิ้นซากสถานเดียว
        ยุคใหม่  เป็นยุคทองของพระเจ้าและชาวยิว  พระเจ้าจะครองราชย์ชั่วนิรันดรเหนืออาณาจักรใหม่ที่เปี่ยมด้วยความยุติธรรมและสันติ  ส่วนชาวยิวจะเป็นใหญ่เหนือชนชาติอื่น

        แต่ก่อนจะถึงยุคใหม่ จำเป็นต้องผ่าน “วันของพระเจ้า” เสียก่อน !!!
        “วันของพระเจ้า” เป็นวันแห่งความน่าสะพรึงกลัวสุดประมาณดังที่ประกาศกอิสยาห์ทำนายไว้ว่า “ดูเถิด วันของพระเจ้าจะมา ดุร้ายด้วยความพิโรธและความโกรธอันเกรี้ยวกราด ที่จะกระทำให้แผ่นดินโลกเป็นที่ร้างเปล่า และเพื่อจะทำลายคนบาปของโลกเสียจากโลก” (อสย 13:9; เทียบ ยอล 2:1-2; อมส 5:18-20; ศฟย 1:14-18)
        “วันของพระเจ้า” จะมาถึงอย่างฉับพลันโดยไม่ทันรู้ตัว ดังที่นักบุญเปาโลเตือนไว้ว่า “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาถึงเหมือนขโมยที่มาตอนกลางคืน” (1 ธส 5:2)
        “วันของพระเจ้า” เป็นวันที่ท้องฟ้าจะมืดมิด สั่นสะเทือน และโลกจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ “ดวงดาวแห่งฟ้าสวรรค์และหมู่ดาวในนั้นจะไม่ทอแสงของมัน ดวงอาทิตย์ก็จะมืดเมื่อเวลาขึ้น และดวงจันทร์จะไม่ส่องแสงของมัน....เพราะฉะนั้น เราจะกระทำให้ฟ้าสวรรค์สั่นสะเทือน และแผ่นดินโลกจะสะท้านพลัดจากที่ของมัน โดยพระพิโรธของพระเจ้าจอมโยธา ในวันแห่งความโกรธอันเกรี้ยวกราดของพระองค์” (อสย 13:10-13)
        “วันของพระเจ้า” จึงเป็นหนึ่งในความคิดพื้นฐานของศาสนายิว  ชาวยิวทุกคนในสมัยของพระเยซูเจ้าต่างรู้จักภาพเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวที่จะเกิดขึ้นในวันนี้เป็นอย่างดี
         ลูกาบทที่ 21 ข้อ 9, 11 และโดยเฉพาะข้อ 25 และ 26 ซึ่งเป็นข้อความเริ่มต้นของพระวรสารวันนี้ คือตัวอย่างภาพเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นใน “วันของพระเจ้า”
    2.    คำทำนายถึงความพินาศของกรุงเยรูซาเล็ม  หลังจากถูกกองทัพโรมันล้อมอยู่นานจนประชาชนพากันอดอยากหิวโหยถึงขั้นต้องกินเนื้อพวกเดียวกันเองเป็นอาหารประทังชีวิต   ที่สุดในปี ค.ศ. 70 กรุงเยรูซาเล็มก็ถูกทำลายพินาศย่อยยับจนเกือบจะเรียกได้ว่าไม่มีหินก้อนใดเลยที่ไม่ถูกทำลาย
         โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ชาวยิว บันทึกไว้ว่ามีผู้เสียชีวิตมากอย่างเหลือเชื่อประมาณ 1,100,000 คน  อีกประมาณ 97,000 คนถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย  พระวิหารศักดิ์สิทธิ์ถูกเผาไฟและปล่อยทิ้งร้างว่างเปล่า  ถือเป็นการสิ้นสุดของชนชาติยิว
        ลูกาบทที่ 21 ข้อ 5, 6, และ 20-24 คือคำทำนายถึงเหตุการณ์ที่บัดนี้ได้เกิดขึ้นแล้วจริง
    3.    การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสตเจ้า  ดังที่ทรงสัญญาว่า “ประชาชนทั้งหลายจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาในก้อนเมฆ ทรงพระอานุภาพและพระสิริรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่” (ข้อ 27)
         นี่คือความคิดหลักของพระวรสารในวันนี้ !
         เป็นความคิดที่พระศาสนจักรตั้งแต่เริ่มแรกได้เฝ้าคอยด้วยใจจดจ่อ จนคริสตชนบางคนถึงกับไม่เป็นอันทำมาหากิน
        แต่เนื่องจากกำหนดเวลาและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ “ไม่มีใครรู้เลย ทั้งบรรดาทูตสวรรค์ และแม้แต่พระบุตร นอกจากพระบิดาเพียงพระองค์เดียว” (มก 13:32)
        ภาพเหตุการณ์ใน “วันของพระเจ้า” ที่แสนจะน่ากลัวจึงถูกนำมาใช้อธิบายสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อพระเยซูเจ้าจะเสด็จกลับมาอีกครั้ง  ดังปรากฏในลูกาบทที่ 21 ข้อ 7, 8, 9 และอีกส่วนหนึ่งของพระวรสารในวันนี้คือข้อ 27-28
    4.    การเบียดเบียนที่จะเกิดขึ้น  พระเยซูเจ้าทรงทำนายถึงความทุกข์ทรมานที่ คริสตชนจะต้องแบกรับเพื่อเป็นพยานยืนยันถึงพระองค์ในข้อที่ 12-19
    ความคิดที่แตกต่างกันทั้ง 4 เรื่องนี้ มิได้บันทึกแยกออกจากกันอย่างชัดเจน แต่ถูกนำมารวมไว้ที่เดียวกันจนแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้
    นี่คือสาเหตุที่ทำให้พระวรสารวันนี้ฟังดูน่ากลัวและ “เข้าใจยาก”
    กระนั้นก็ตาม เป้าหมายของพระวรสารวันนี้ถือว่าชัดเจน...
    ลัทธิปรัชญาแบบ Stoics สอนว่า ทุกสามพันปีโลกจะถูกเผาผลาญด้วยไฟบรรลัยกัลป์ แล้วถือกำเนิดขึ้นใหม่พร้อมกับประวัติศาสตร์หน้าใหม่
เท่ากับว่าประวัติศาสตร์หมุนเป็นวงกลมซ้ำซากทุกสามพันปีโดยไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหน  มนุษย์ทุกคนต่างย่ำอยู่กับกงล้อแห่งกาลเวลาที่หมุนอยู่กับที่อย่างไร้จุดจบและปราศจากเป้าหมาย
    แต่พระวรสารวันนี้สอนว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติกำลังมุ่งไปสู่เป้าหมายที่แน่นอน นั่นคือ “การเสด็จกลับมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสตเจ้า” (ข้อ 27)
หมายความว่า โลกจะมีวันสิ้นสุด  พระเยซูคริสตเจ้าจะเสด็จมาพิพากษาทั้งผู้เป็นและผู้ตาย และพระองค์จะเป็นเจ้านายเหนือสรรพสิ่ง
    ส่วนเรื่องวันและเวลาที่พระองค์จะเสด็จกลับมานั้น เราไม่จำเป็นต้องรู้ และไม่จำเป็นต้องถกเถียงหรือคาดเดาให้เสียเวลาเปล่า ๆ  เพราะแม้แต่พระเยซูเจ้าเองก็ไม่ทรงทราบ และทรงปล่อยให้เป็นเอกสิทธิ์ของพระบิดาที่จะดำเนินการตามน้ำพระทัยของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว
สู้เราใช้เวลาเตรียมพร้อมต้อนรับพระองค์ไม่ดีกว่าหรือ ?
    เพราะเมื่อเวลานั้นมาถึง เราเหลือเพียง 2 สถานภาพให้เลือกคือ…“เหมาะสม” หรือ “ไม่เหมาะสม” ที่จะปรากฏตนต่อเบื้องพระพักตร์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า
    หากเป็นผู้ที่เหมาะสม “ท่านทั้งหลายจงยืนตรง เงยหน้าขึ้นเถิด เพราะในไม่ช้าท่านจะได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระแล้ว” (ข้อ 28)
    ส่วนผู้ที่ไม่เหมาะสม “ปล่อยใจให้หมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานรื่นเริง  ความเมามายและความกังวลถึงชีวิตนี้  วันนั้นจะมาถึงท่านอย่างฉับพลันเหมือนบ่วงแร้ว” (ข้อ 34-35)
    การเตรียมตัวให้พร้อมและเหมาะสมที่จะอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าเช่นนี้ ถือว่า “น่าลุ้นที่สุด”
    และทำให้การดำเนินชีวิตเยี่ยงคริสตชนน่าตื่นเต้นเร้าใจที่สุด !!!

    พระวรสารวันนี้ นอกเหนือจากต้องการเตือนใจเราให้ “เตรียมพร้อม” ต้อนรับเทศกาลพระคริสตสมภพซึ่งเป็นการระลึกถึงการบังเกิดมาของพระเยซูเจ้า พระผู้ไถ่ของชาวเราแล้ว
    ยังกระตุ้นเตือนใจเราทุกคนให้ “เตรียมพร้อม” ต้อนรับการเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่งของพระเยซูคริสตเจ้า ผู้พิพากษาของชาวเรา อีกด้วย
เราต้องเตรียมพร้อมด้วยการ “อธิษฐานภาวนาอยู่ตลอดเวลา” (ข้อ 36) และทำหน้าที่ของเราแต่ละวันให้ดีที่สุด  เพื่อว่าเมื่อพระองค์เสด็จกลับมา เราจะสามารถ “ยืนตรง  เงยหน้าขึ้น  เพราะได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระแล้ว” (ข้อ 28)

นับจากวินาทีนี้เป็นต้นไป ชะตากรรมของเราเป็นสิ่งที่น่าลุ้นมากที่สุด !!!