chaiya1

สมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์


ข่าวดี      มัทธิว 2:1-12
(1)ในรัชสมัยกษัตริย์เฮโรด พระเยซูเจ้าประสูติที่เมืองเบธเลเฮมในแคว้นยูเดีย โหราจารย์บางท่านจากทิศตะวันออกเดินทางมายังกรุงเยรูซาเล็ม  (2)สืบถามว่า “กษัตริย์ชาวยิวที่เพิ่งประสูติอยู่ที่ใด พวกเราได้เห็นดาวประจำพระองค์ขึ้น จึงพร้อมใจกันมาเพื่อนมัสการพระองค์” (3)เมื่อกษัตริย์เฮโรดทรงทราบข่าวนี้ พระองค์ทรงวุ่นวายพระทัย ชาวกรุงเยรูซาเล็มทุกคนต่างก็วุ่นวายใจไปด้วย  (4)พระองค์ทรงเรียกประชุมบรรดาหัวหน้าสมณะและธรรมาจารย์ ตรัสถามเขาว่า “พระคริสต์จะประสูติที่ใด” (5)เขาจึงทูลตอบว่า “ในเมืองเบธเลเฮม แคว้นยูเดีย เพราะประกาศกเขียนไว้ว่า (6)เมืองเบธเลเฮม ดินแดนยูดาห์ เจ้ามิใช่เล็กที่สุดในบรรดาหัวเมืองแห่งยูดาห์ เพราะผู้นำคนหนึ่งจะออกมาจากเจ้า ซึ่งจะเป็นผู้นำอิสราเอล ประชากรของเรา”
(7)ดังนั้น กษัตริย์เฮโรดทรงเรียกบรรดาโหราจารย์มาเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ ทรงซักถามถึงวันเวลาที่ดาวปรากฏ  (8)แล้วทรงใช้บรรดาโหราจารย์ไปที่เมืองเบธเลเฮม ทรงกำชับว่า “จงไปสืบถามเรื่องพระกุมารอย่างละเอียด และเมื่อพบพระกุมารแล้ว จงกลับมาบอกให้เรารู้ เราจะได้ไปนมัสการพระองค์ด้วย”  (9)เมื่อบรรดาโหราจารย์ได้ฟังพระดำรัสแล้วก็ออกเดินทาง ดาวที่เขาเห็นทางทิศตะวันออกปรากฏอีกครั้งหนึ่งนำทางให้ และมาหยุดนิ่งอยู่เหนือสถานที่ประทับของพระกุมาร  (10)เมื่อเห็นดาวอีกครั้งหนึ่งบรรดาโหราจารย์มีความยินดียิ่งนัก  (11)เขาเข้าไปในบ้าน พบพระกุมารกับพระนางมารีย์พระมารดา จึงคุกเข่าลงนมัสการพระองค์ แล้วเปิดหีบสมบัตินำทองคำ กำยาน และมดยอบออกมาถวายพระองค์  (12)แต่พระเจ้าทรงเตือนเขาในความฝันมิให้กลับไปหากษัตริย์เฮโรด เขาจึงกลับไปบ้านเมืองของตนโดยทางอื่น



สถานที่ประสูติ    
“พระเยซูเจ้าประสูติที่เมืองเบธเลเฮมในแคว้นยูเดีย” (มธ 2:1)
“เบธเลเฮม” แปลว่า “บ้านแห่งขนมปัง”  เดิมชื่อเอฟราธาห์ อยู่ห่างจากกรุงเยรูซาเล็มไปทางทิศใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร  เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เป็นที่ฝังศพของนางราเคลภรรยาของยาโคบ (ปฐก 48:7) เป็นที่อาศัยของนางรูธหลังแต่งงานกับโบอาซและได้ให้กำเนิดโอเบด ผู้เป็นบิดาของเจสซี ซึ่งเป็นบิดาของดาวิด (นรธ 1:22)
เหนืออื่นใด เบธเลเฮมเป็นเมืองของกษัตริย์ดาวิด (1 ซมอ 16:1; 17:12; 20:6) ซึ่งพระเจ้าทรงสัญญาจะส่ง “พระผู้ช่วยให้รอด” มาจากเชื้อสายและจากเมืองของพระองค์ ดังที่ประกาศกมีคาห์ทำนายไว้ว่า “เมืองเบธเลเฮม ดินแดนยูดาห์ เจ้ามิใช่เล็กที่สุดในบรรดาหัวเมืองแห่งยูดาห์ เพราะผู้นำคนหนึ่งจะออกมาจากเจ้า ซึ่งจะเป็นผู้นำอิสราเอล ประชากรของเรา” (มคา 5:2)
นักบุญจัสติน ปิตาจารย์ผู้เกิดใกล้เบธเลเฮมราวปี 100 บันทึกไว้ว่าชาวเมืองเบธเลเฮมนิยมเจาะภูเขาเป็นที่พักอาศัย และมักเจาะหินใต้บ้านให้กลวงเป็นถ้ำเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์  เป็นไปได้มากว่าพระเยซูเจ้าประสูติในถ้ำหินสำหรับเลี้ยงสัตว์นี้ (Justin Martyr: Dialogue with Trypho, 78, 304)

โหราจารย์
    เฮโรโดตัส นักประวัติศาสตร์กล่าวถึง “โหราจารย์” ไว้ว่าเดิมทีเป็นชาวมีเดียนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเปอร์เซีย เคยก่อการกบฏแต่ล้มเหลวจึงเลิกสนใจอำนาจบ้านเมืองแล้วหันมาทำหน้าที่ “สงฆ์” ในเปอร์เซีย ดุจเดียวกับตระกูลเลวีซึ่งทำหน้าที่ “สงฆ์” ในอิสราเอล
     พวกเขาพลิกบทบาทจากนักรบมาเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์และผู้รู้  ทำหน้าที่ถวายเครื่องบูชา สอน และให้คำแนะนำแก่กษัตริย์เปอร์เซีย
    สมัยก่อน โหราศาสตร์มีบทบาทต่อมนุษย์สูงยิ่ง  พวกเขาเชื่อว่าดาวทุกดวงต่างเคลื่อนไปตามวงโคจรของมันโดยไม่เปลี่ยนแปลง หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดปรากฏการณ์พิเศษขึ้นย่อมหมายความว่า “พระเจ้าทรงฝืนระเบียบธรรมชาติเพื่อจะบอกบางสิ่งแก่มนุษย์เป็นพิเศษ”
    เราอาจแปลกใจที่โหราจารย์เดินตามดาวจากแดนไกลเพื่อมานมัสการกษัตริย์ถึงกรุงเยรูซาเล็ม แต่นี่เป็นเรื่องปกติของคนสมัยก่อน จึงไม่ควรด่วนสรุปว่าเหตุการณ์นี้เป็นเพียงตำนานเรื่องหนึ่ง ที่สำคัญ มีหลักฐานระบุว่ากระแสเฝ้าคอยการเสด็จมาของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แพร่หลายทั่วไปในช่วงเวลาเดียวกันกับที่พระเยซูเจ้าประสูติ !
    แม้แต่นักประวัติศาสตร์โรมันอย่างเช่นซูเอโตนีอุสยังเขียนไว้ว่า “มีความเชื่อเก่าแก่แพร่สะพัดไปทั่วตะวันออกว่าจะมีคนจากยูดาห์มาปกครองโลก” (Suetonius: Life of Vespasian, 4:5)
    ตาชีตุสยืนยันเช่นกันว่า “มีความเชื่อมั่นว่า ช่วงเวลานี้ ตะวันออกจะมีอำนาจยิ่งใหญ่ ผู้ปกครองจากยูดาห์จะครอบครองอาณาจักรทั่วโลก” (Tacitus: Histories, 5:13)
    ส่วนชาวยิวนั้นเชื่ออยู่แล้วว่า “ช่วงเวลานี้ จะมีผู้ปกครองโลกออกมาจากประเทศของตน” (Josephus: Wars of the Jews, 6:5, 4)

เฮโรด
    เป็นลูกครึ่งระหว่างยิวและอีดูเมียน  เคยร่วมมือกับโรมระหว่างสงครามกลางเมืองในปาเลสไตน์จนได้รับความไว้วางใจแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการเมื่อ 47 ปี ก.ค.ศ. ต่อมาอีก 7 ปีได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์จนสิ้นพระชนม์ในปีที่ 4 ก.ค.ศ. รวมระยะเวลาที่ทรงครองราชย์นาน 36 ปี
    เฮโรดได้รับการขนานนามว่า “มหาราช” ซึ่งสมควรอย่างยิ่ง เพราะพระองค์ทรงทำให้บ้านเมืองมีระเบียบและเกิดความสงบสุขอย่างแท้จริง  ทรงเป็นนักก่อสร้างผู้เก่งกาจ พระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มก็เป็นผลงานของพระองค์  ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มีน้ำพระทัยกว้างขวาง ยามประชาชนเดือดร้อนก็ทรงลดภาษีให้ และเมื่อประชาชนอดอยากแร้นแค้นใกล้อดตายเพราะความกันดารแห้งแล้งอย่างหนักเมื่อ 25 ปี ก.ค.ศ. ทรงสั่งให้หลอมจานทองคำเพื่อนำไปซื้อข้าวโพดเลี้ยงพสกนิกรของพระองค์
    แต่ข้อเสียของเฮโรดคือทรง “ระแวงสงสัย” ว่าจะถูกแย่งชิงบัลลังก์อย่างไม่มีเหตุผล  ยิ่งเมื่อพระชนมายุมากขึ้นความระแวงสงสัยก็ยิ่งทวีมากขึ้นจนกลายเป็น “คนแก่น่ากลัว” ไปในที่สุด  ทรงกำจัดทุกคนที่สงสัยว่าจะเป็นคู่แข่งชิงอำนาจจากพระองค์ ไม่เว้นแม้แต่มารีอัมเนภรรยาและอเล็กซานดรามารดาของพระนาง อันตีปาแตร์โอรสหัวปี รวมถึงโอรสอีก 2 องค์คืออเล็กซานเดอร์และอริสโตบูลุสก็ไม่รอดพ้นจากการประหาร จนจักรพรรดิออกัสตัสแห่งกรุงโรมเอ่ยว่า “เป็นหมู (hus – ฮูส) ของเฮโรดยังปลอดภัยกว่าเป็นบุตร (huios – ฮุยออส) ของเฮโรด”
     เมื่อพระชนมายุ 70 พรรษา ทรงเกรงว่าจะไม่มีผู้ใดร้องไห้เป็นทุกข์เมื่อสิ้นพระชนม์ จึงทรงสั่งให้จับกุมและกักขังผู้มีชื่อเสียงของเยรูซาเล็มไว้จำนวนหนึ่งด้วยข้อหาที่กุขึ้นมาเอง พร้อมทั้งกำชับให้ประหารทุกคนทันทีที่สิ้นพระชนม์เพื่อให้ประชาชนเป็นทุกข์และร้องไห้ !
    เราคงคาดเดาความรู้สึกของเฮโรดได้ไม่ยากเมื่อโหราจารย์ถามว่า “กษัตริย์ชาวยิวที่เพิ่งประสูติอยู่ที่ใด” ?! (มธ 2:2)

บรรดาหัวหน้าสมณะและธรรมาจารย์
ที่ประชุมบรรดาหัวหน้าสมณะประกอบด้วยมหาสมณะที่เกษียณแล้วทุกคน และผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกของตระกูลชั้นสูงเพียงไม่กี่ตระกูลให้เป็นหัวหน้าสมณะแบบผูกขาด
ส่วนธรรมาจารย์คือผู้เชี่ยวชาญด้านพระคัมภีร์และกฎหมาย

----------------------------

ทันทีที่พระเยซูเจ้าประสูติ ปฏิกิริยาของมนุษย์แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอย่างเห็นได้ชัด    
1.    เกลียดและเป็นศัตรู  
         เฮโรดกลัวว่าพระกุมารจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิต ตำแหน่ง อำนาจ และอิทธิพลของพระองค์ จึงพยายามหาช่องทางกำจัดพระกุมารให้พ้นไปจากชีวิตของพระองค์
        เช่นเดียวกับเฮโรด ยังมีคริสตชนอีกมากที่พร้อมกำจัดพระเยซูเจ้าออกไปจากชีวิต เพราะเห็นว่าพระองค์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของตนจนไม่อาจทำอะไรตามใจชอบได้อีกต่อไป
        แต่อย่าลืมว่าคนที่ทำอะไรตามใจชอบนั้นหาได้มีคุณค่าหรือประโยชน์อันใดไม่  เขาเป็นเพียง “ทาส” อารมณ์ของตนเองเท่านั้น !
     ส่วนคริสตชนแท้ต้องเป็นคนที่ดำเนินชีวิตเหมือนพระคริสตเจ้า และพร้อมอุทิศตนเพื่อพระอาณาจักรของพระองค์
     ดังนั้น สิ่งที่เราพึงวอนขอก่อนอื่นใดหมดคือ “พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดิน เหมือนในสวรรค์” (มธ 6:10)
     2.    เฉย ๆ
         บรรดาหัวหน้าสมณะและธรรมาจารย์มัวสลวนอยู่กับการประกอบพิธีกรรมในพระวิหาร และถกเถียงกันเรื่องกฎหมายจนไม่เห็นพระเยซูเจ้าอยู่ในสายตา
        ทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่าพระองค์ประสูติในเมืองเบธเลเฮมแคว้นยูเดีย แต่พวกเขากลับ “เฉย”
          พระองค์จะประสูติที่ไหนหรือเมื่อใด ไม่มีความหมายอะไรทั้งนั้น !
        ทุกวันนี้ คริสตชนจำนวนไม่น้อยยังประพฤติตนเช่นเดียวกับหัวหน้าสมณะและธรรมาจารย์ นั่นคือสลวนอยู่กับธุรกิจของตนจนพระเยซูเจ้าไม่มีความหมายอะไรเลย
         พวกเขาลืมไปว่า “สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือองค์พระเยซูเจ้า”  ไม่ใช่กิจการ หรือพิธีการ หรือโครงการอื่นใดทั้งสิ้น !
        ขอให้คำถามของประกาศกเยเรมีย์ดังก้องอยู่ในจิตใจของเราเสมอ “ดูก่อน ท่านทั้งหลายที่เดินผ่านไป ท่านไม่เกิดความรู้สึกอะไรบ้างหรือ” (พคค 1:12)
    3.    ชื่นชมยินดีและนมัสการ
     “เมื่อเห็นดาวอีกครั้งหนึ่งบรรดาโหราจารย์มีความยินดียิ่งนัก  พวกเขาเข้าไปในบ้าน พบพระกุมารกับพระนางมารีย์พระมารดา จึงคุกเข่าลงนมัสการพระองค์ แล้วเปิดหีบสมบัตินำทองคำ กำยาน และมดยอบออกมาถวายพระองค์” (มธ 2:10-11)
     พวกเขา นำสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตมาถวายแทบพระบาทของพระเยซูเจ้าเพื่อนมัสการพระองค์
    แน่นอนว่า หากเราตระหนักถึงความรักของพระเจ้าที่ทรงแสดงออกในองค์พระเยซูเจ้าแล้ว สิ่งเดียวที่ทุกคนสามารถทำได้คือ “รักและนมัสการพระองค์ด้วยสิ้นสุดจิตใจ” เท่านั้น !

     เนื่องจากมีของขวัญ 3 อย่าง ตำนานจึงถือว่ามีโหราจารย์ 3 องค์ได้แก่ เมลกีออร์ผู้ถวายทองคำ  คาสเปอร์ผู้ถวายกำยาน  และบัลธาซาร์ผู้ถวายมดยอบ
     ของขวัญทั้ง 3 สิ่งยังบ่งบอกถึงชีวิตและภารกิจของพระกุมารในอนาคตอีกด้วย
    1.    ทองคำ
         ทองคำเป็นราชาแห่งโลหะ (King of metals) จึงเหมาะสำหรับกษัตริย์
    ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงบังเกิดมา “เพื่อเป็นกษัตริย์” เพียงแต่ทรงปกครองด้วยความรักไม่ใช่ด้วยกำลัง และทรงครองจิตใจมนุษย์ไม่ใช่จากพระราชวังแต่จากไม้กางเขน !!         
    2.    กำยาน
        กำยานเป็นสิ่งที่พระสงฆ์ใช้ในพิธีกรรม คำ priest (พระสงฆ์) มาจากภาษาลาติน pontifex (ปอนตีเฟ็กซ์) หมายถึง “ผู้สร้างสะพาน”
         นั่นคือ พระเยซูเจ้าทรงบังเกิดมา “เพื่อเป็นพระสงฆ์”  หน้าที่ของพระองค์คือเปิดหนทางสู่พระเจ้า และสร้างสะพานเชื่อมระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์
         หากปราศจากพระองค์ หนทางสู่พระเจ้าย่อมมืดมนและถูกตัดขาด !
    3.    มดยอบ
        มดยอบใช้สำหรับชโลมศพ !
         วันนี้พระกุมารประสูติมาเพื่อเรา วันหน้าพระองค์ยังจะสิ้นพระชนม์เพื่อเราอีก
         พระองค์ทรงบังเกิดมาเพื่อมอบทั้งชีวิตและความตายของพระองค์แก่เรา  พระองค์ทรงเป็น “พระผู้ไถ่” สำหรับชาวเราโดยแท้

    จากของขวัญที่โหราจารย์นำมาถวาย เรารู้และมั่นใจได้ว่า พระเยซูเจ้าประสูติมาเพื่อเป็นกษัตริย์ เป็นมหาสมณะสูงสุด และเป็นพระผู้ไถ่ของชาวเราทุกคน
    เราจะเป็นเฮโรด มหาสมณะ หรือโหราจารย์ ก็เลือกเอา !