แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่หนึ่ง เทศกาลเตรียมรับเสด็จ


ลูกา 21:25-28, 34-36
    จะมีเครื่องหมายในดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวต่าง ๆ ชนชาติต่าง ๆ บนแผ่นดินจะทนทุกข์ทรมาน ฉงนสนเท่ห์ต่อเสียงกึกก้องของทะเลที่ปั่นป่วน มนุษย์จะสลบไปเพราะความกลัว และหวั่นใจถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในโลก เพราะสิ่งต่าง ๆ ในท้องฟ้าจะสั่นสะเทือน หลังจากนั้นประชาชนทั้งหลายจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาในก้อนเมฆ ทรงพระอานุภาพและพระสิริรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่ เมื่อเหตุการณ์ทั้งปวงนี้เริ่มเกิดขึ้น ท่านทั้งหลายจงยืนตรง เงยหน้าขึ้นเถิด เพราะในไม่ช้า ท่านจะได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระแล้ว
    จงระวังไว้ให้ดี อย่าปล่อยใจของท่านให้หมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานรื่นเริง ความเมามาย และความกังวลถึงชีวิตนี้ มิฉะนั้น วันนั้นจะมาถึงท่านอย่างฉับพลัน เหมือนบ่วงแร้ว เพราะวันนั้นจะลงมาเหนือทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดิน ท่านทั้งหลายจงตื่นเฝ้าอธิษฐานภาวนาอยู่ตลอดเวลาเถิด เพื่อท่านจะมีกำลังหนีพ้นเหตุการณ์ทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นนี้ไปยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์บุตรแห่งมนุษย์ได้

บทรำพึงที่ 1
การเสด็จมาของพระคริสตเจ้า
    เทศกาลนี้เป็นช่วงเวลาของการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า นี่คือเวลาที่เราย้อนรำลึกถึง
วันพระคริสตสมภพครั้งแรก และเตรียมตัวสำหรับการเสด็จมาของพระองค์เป็นครั้งที่สองเมื่อสิ้นสุดกาลเวลา ขณะที่เทศกาลเตรียมรับเสด็จเคลื่อนเข้าใกล้วันพระคริสตสมภพ พิธีกรรมจะชักนำเราให้คิดถึงบุคคลต่าง ๆ เช่น  ประกาศกอิสยาห์ ยอห์นผู้ทำพิธีล้าง พระนางมารีย์ และโยเซฟ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใน
แผนเตรียมการของพระเจ้า จุดสำคัญของสัปดาห์แรกของเทศกาลเตรียมรับเสด็จไม่ใช่วันพระคริสตสมภพ แต่เป็นการเสด็จมาเป็นครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้าเมื่อสิ้นพิภพ
    อาจดูแปลกที่เราเริ่มต้นปีด้วยการคิดคำนึงถึงจุดจบของชีวิต แต่นี่ก็เหมือนกับการตรวจดูแผนที่เพื่อหาจุดหมายปลายทางของเราก่อนจะออกเดินทาง
    พระวรสารประจำวันนี้มีลักษณะเหมือนกับข้อเขียนประเภทวิวรณ์ ซึ่งหมายถึงการเปิดเผยความลับของพระเจ้า เราไม่รู้
แน่ชัดว่าจักรวาล และชีวิตบนโลกนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และเรา
ไม่รู้ด้วยว่าชีวิตบนโลกนี้จะจบลงหรือไม่ หรือจบลงอย่างไร เมื่อเผชิญกับความคิดอันเร้นลับของพระเจ้า ผู้นิพนธ์พระวรสาร
จึงใช้จินตนาการวาดภาพการทำลายล้างทางวัตถุ และ
ความน่าสะพรึงกลัวที่เกิดขึ้นพร้อมกันโดยรอบ บทอ่านกล่าวถึงเครื่องหมายในดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวต่าง ๆ และความกลัวของประชาชนจนทำอะไรไม่ถูก บางทีคนที่เคยมีชีวิตระหว่างช่วงสงคราม หรือบุคคลที่เคยเป็นเหยื่อการละเมิดด้วยความรุนแรงจะเข้าใจความรู้สึกเหล่านี้ เป็นไปได้ที่ลูกากำลังคิดถึงเรื่องที่ประชาชนกล่าวขวัญถึงเกี่ยวกับการทำลาย
กรุงเยรูซาเล็ม และความพินาศของเมืองปอมเปอี ภายหลังการระเบิดของภูเขาไฟวิสุเวียส
    สิ่งสำคัญที่สุดในข่าวดีของลูกา คือ สารของเขามองโลกในแง่ดี ความเจ็บปวดหวาดกลัวถูกแทนที่ด้วยความหวัง และ
สิริรุ่งโรจน์ สำหรับผู้มีความเชื่อในศาสนาคริสต์ พระวรสาร
ไม่เน้นเรื่องชีวิตทางกายภาพซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลง แต่เน้นเรื่องชีวิตใหม่ที่กำลังจะเริ่มขึ้น ต่างจากภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายวิทยาศาสตร์ ที่พยายามสร้างความตื่นเต้นโดยเสนอภาพการทำลายล้างอย่างรุนแรง และความหวาดกลัวของประชาชนเมื่อเผชิญหน้ากับอำนาจของมนุษย์ต่างดาว
    การคิดถึงวันสิ้นพิภพอย่างที่เราทราบไม่จำเป็นต้องทำให้เราหวาดกลัว หรือหดหู่ใจ แต่ควรทำให้เราตระหนักถึงความเป็นจริง ถ้าเราคิดว่าจะมีมนุษย์คนใดที่สามารถมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้ตลอดกาล เราก็กำลังหลอกตนเอง
    ความเชื่อแบบคริสตชนทำให้เราคาดหมายว่าจุดจบบนโลกนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในที่อื่น เมื่อพระคริสตเจ้าทรงอยู่ข้างเรา
ใครจะต่อต้านเราได้ เราติดต่อพูดคุยกับพระองค์ทุกวัน และภาวนาขอให้เรามีความเข้มแข็งจนสามารถรักษาความเชื่อของเราให้ตลอดรอดฝั่ง พระองค์ประทานความมั่นใจแก่เราเพื่อรอคอยวันที่เราจะได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ เราควรรู้สึกตื่นเต้น และรอคอยด้วยความพิศวงใจมากขึ้นว่าสักวันหนึ่งเรา
จะได้เห็นพระอานุภาพ และพระสิริรุ่งโรจน์ขององค์
พระผู้เป็นเจ้า
    จงใช้เวลาไตร่ตรองข้อความที่เสนอความหวังอันยิ่งใหญ่เหล่านี้
    จงยืนตรง เงยหน้าขึ้นเถิด
    ในไม่ช้า ท่านจะได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระแล้ว
    จงยืนขึ้นด้วยความมั่นใจเบื้องหน้าบุตรแห่งมนุษย์
    ข้าแต่พระเยซูเจ้า เราวิงวอนขอความเชื่อ ซึ่งจะคงอยู่ และเจริญเติบโต
    เราวิงวอนขอความหวังที่ยืนหยัดมั่นคงอยู่ได้ แม้ภายใต้ความทุกข์ยาก และการทดลอง

    เราวิงวอนขอความรักซึ่งจะขับไล่ความกลัวทั้งปวง
    เชิญเสด็จมาเถิด ข้าแต่พระเยซูเจ้า
 

 

บทรำพึงที่ 2
การตื่นเฝ้าเตรียมรับเสด็จ
    “จงตื่นเฝ้าอธิษฐานภาวนาอยู่ตลอดเวลาเถิด” การอธิษฐานภาวนาตลอดเวลาหมายความว่าอะไร หมายถึงการสวดภาวนาตลอด 24 ชั่วโมงหรือ ถ้าการภาวนาที่ดีที่สุดคือการภาวนาตลอดเวลา เราก็ควรเข้าใจว่าการภาวนานั้นเป็นการทำงานของพระเจ้ามากกว่าของเรา การภาวนาไม่ได้เป็นเพียงการริเริ่มของเราในการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าออกมาเป็นคำพูด ไม่ว่าจะเป็นการวิงวอนขอ การขอบพระคุณ การสรรเสริญพระเจ้า การภาวนาเป็นผลมาจากการริเริ่มของพระเจ้ามากกว่า และหน้าที่ของเราคือตอบสนองพระองค์ รอคอยพระองค์ด้วย
ตาที่เฝ้าดูและหูที่คอยฟัง เมื่อเราทำเช่นนั้น เรากำลังภาวนาด้วยจิตมากกว่าด้วยคำพูด อันที่จริง การภาวนาด้วยคำพูดอาจกลายเป็นศัตรูของจิตภาวนาได้ ถ้าเราพูดมากเกินไปและไม่ยอมฟัง หรือถ้าการภาวนาทำให้เรารู้สึกพึงพอใจเหมือนกับว่าเราได้ทำงานสำเร็จ จนเราไม่เคยเข้าถึงระดับลึก คือ ความกระหาย
หาพระเจ้า
    การเตรียมรับเสด็จเน้นการภาวนาที่เป็นเสมือนการรอคอยพระเจ้าอย่างตื่นตัว พระเจ้าผู้เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ และจะเสด็จมาอีกครั้งหนึ่งในฐานะองค์ตุลาการผู้ปลดปล่อยนี้ เสด็จ
มาหาเราในชีวิตประจำวันของเราในหลาย ๆ ทาง วิญญาณที่ภาวนาด้วยจิตจะรอคอยการเสด็จมาของพระองค์เสมอ
อาจกล่าวได้ว่าทั้งชีวิตของเราก็คือการเตรียมรับเสด็จ การ
เฉลิมฉลองเทศกาลนี้ชี้ให้เราเห็นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นอยู่ตลอดเวลา นั่นคือ พระเจ้ากำลังเสด็จมาหาเรา ดังนั้น เทศกาลเตรียมรับเสด็จจึงเป็นการตื่นเฝ้ารอคอยพระเจ้า และรอคอยอยู่กับพระเจ้าในเวลาเดียวกัน
    เรารอคอยอยู่กับพระเจ้า ถ้าเราดำรงชีวิตด้วยความคิด
ที่ใส่ใจ และหัวใจที่สำรวมจิตภาวนา การสำรวมจิตเป็นศิลปะแห่งการมองเห็น และได้ยินเครื่องหมาย และเสียงแห่งความรักของพระเจ้าที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในชีวิตของเรา บุคคลที่มีความรู้สึกไวเช่นนี้คือนักบุญ ดังคำของ ที. เอส. เอลเลียต ที่ว่า “แต่การเข้าใจจุดที่ตัดขวางระหว่างสิ่งที่อยู่เหนือกาลเวลาและเวลา เป็นงานของนักบุญ” (The Dry Salvages)
    สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ย่อมมีแต่ “ช่วงเวลาที่เราไม่ได้
ใส่ใจ” ถ้าจะใช้ภาพลักษณ์สมัยใหม่มาอธิบาย ก็อาจเปรียบได้ว่า พระเจ้าเปรียบเสมือนสถานีวิทยุขนาดใหญ่ที่กระจายเสียงมายังเราโดยใช้หลายคลื่น ไม่ว่าท่านอยู่ที่ใด ขณะที่ท่านกำลัง
อ่านข้อความเหล่านี้ ในอากาศมีคลื่นเสียงมากมายที่กระจายออกมาจากสถานีวิทยุ แต่โชคดีที่เสียงนี้มีความถี่สูงเกินกว่าประสาทหูของเราจะได้ยินโดยไม่ใช้เครื่องช่วยฟัง แต่ถ้าท่านเปิดเครื่องรับวิทยุและหมุนหน้าปัทม์ ท่านจะได้ยินเสียงต่าง ๆ เต็มไปหมด
    สถานีของพระเจ้ากระจายเสียงทุกวันโดยใช้ความยาวคลื่นต่าง ๆ เช่น ผ่านทางประสบการณ์ชีวิตของเรา ผ่านพระคัมภีร์ ธรรมชาติ บุคคลที่เราพบ สิ่งที่เราได้ยิน สัญลักษณ์ที่เราชื่นชอบ และอื่น ๆ แต่เราก็อาจเลือกวิถีชีวิตที่เราแทบจะไม่เปิดเครื่องรับของเรา น้อยครั้งที่เราพยายามปรับเครื่องรับของเราให้ตรงกับความถี่ของคลื่นที่พระเจ้านิรันดรเสด็จมาพบกับเราในวัน และเวลาของเรา
    ถ้าเราฟังสถานีอื่น ๆ ยกเว้นสถานีของพระเจ้า การภาวนาจะไม่มีวันเริ่มต้นขึ้นเลยสำหรับเรา อย่างน้อยที่สุด เราควร
หาพื้นที่ว่างในวันเวลาของเรา และในความคิดจิตใจของเราสำหรับพระเจ้า จากนั้น เราต้องเรียนรู้ว่าคลื่นใดที่เรารับฟัง
พระเจ้าได้ชัดเจนที่สุด เราคงสำรวมจิตได้ยาก ถ้าเราปล่อยให้เครื่องรับของเราเสียหาย ถ้าปุ่มหมุนหาสถานีของเราหมดความรู้สึกไวและกลายเป็นด้านชา เพราะใจของเรา “หมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานรื่นเริง ความเมามาย และความกังวลถึงชีวิตนี้” ความพึงพอใจในกามารมณ์เหล่านี้จะปิดบังเหวลึกในใจของเรา ที่ซึ่งพระเจ้าเท่านั้นสามารถเติมเต็มได้ ประสบการณ์ของนักบุญออกุสตินสอนท่านว่า หัวใจมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ
พระเจ้า และจะไม่มีวันสงบจนกว่าจะได้พักผ่อนในพระองค์
    วันอาทิตย์แรกของเทศกาลเตรียมรับเสด็จเชิญชวนเราให้สนใจกับการเสด็จกลับมาหาเราของพระเจ้า และการกลับไปหาพระเจ้าของเรา เราเกิดมาจากพระหัตถ์ที่สรรค์สร้างของพระเจ้า เราจึงรอคอยท่ามกลางความหวังว่าพระองค์จะเสด็จมาในฐานะตุลาการที่จะปลดปล่อยโลกให้เป็นอิสระ เมื่อการเดินทางของเราเริ่มต้นจากพระองค์ และจะจบลงที่พระองค์ จึงมีเหตุผลอย่างยิ่งที่ชีวิตของเราระหว่างจุดเริ่มต้นและจุดจบ ก็ควรเป็นชีวิตที่ใส่ใจในพระองค์ ด้วยการสำรวมจิต เทศกาลเตรียมรับเสด็จคือการ
ตื่นเฝ้ารอคอยองค์พระผู้เป็นเจ้าในขณะที่เรารอคอยอยู่กับพระองค์

 

บทรำพึงที่ 3
    วันนี้ เราเริ่มต้นปีพิธีกรรมใหม่ หลังจากอ่านพระวรสารตาม
คำบอกเล่าของนักบุญมาระโกในปีที่ผ่านมา บัดนี้ นักบุญลูกาจะเป็นผู้เผยธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้าแก่เรา
    เรามองไปข้างหน้าตั้งแต่วันอาทิตย์ที่หนึ่งแล้ว เทศกาลเตรียมรับเสด็จเป็นเวลาสำหรับ “การเสด็จมา” ของพระคริสตเจ้า พระองค์เสด็จมายังเมืองเบธเลเฮม ในวันพระคริสตสมภพ ... พระองค์เสด็จมาในแต่ละเหตุการณ์ และในศีลศักดิ์สิทธิ์แต่ละประการ ... พระองค์จะเสด็จมาเมื่อถึงวาระสุดท้าย...
พระเยซูเจ้าตรัสแก่ศิษย์ของพระองค์เกี่ยวกับ “การเสด็จมา” ของพระองค์ว่า “จะมีเครื่องหมายในดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวต่าง ๆ ชนชาติต่าง ๆ บนแผ่นดินจะทนทุกข์ทรมาน
ฉงนสนเท่ห์ต่อเสียงกึกก้องของทะเลที่ปั่นป่วน”
    ข้อความนี้เขียนขึ้นในรูปแบบ “วิวรณ์ (apocalyptic style)”
นี่คือสำนวนวรรณกรรมที่ปรากฏขึ้นในอิสราเอลเมื่อสองพันปีก่อนพระเยซูเจ้าทรงบังเกิด และยังใช้กันต่อมาอีกหนึ่งศตวรรษหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนแล้ว รูปแบบการเขียนพระคัมภีร์นี้เกิดขึ้นภายหลังยุคของประกาศก ความหวัง
ทั้งปวงของบรรดาประกาศกยังไม่กลายเป็นจริง แทนที่ชนชาติอิสราเอลจะเป็นอิสระได้ปกครองตนเอง กลับต้องยอมเป็นส่วนเล็ก ๆ ของอาณาจักรยิ่งใหญ่ อาณาจักรแล้วอาณาจักรเล่า
ราวกับว่าประวัติศาสตร์หลบหนีจากอำนาจปกครองของพระเจ้า
    สำหรับผู้มีความเชื่อ สถานการณ์นี้เป็นเรื่องสะดุด และเป็นการทดสอบความเชื่อ ดังนั้น เป้าหมายแรกของขบวนการวิวรณ์ จึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดความหวังครั้งใหม่ โดยประกาศสารของประกาศก แม้แต่ในเวลาที่พวกเขาล้มเหลว และประกาศให้
ดังยิ่งขึ้นอีกว่า “พระเจ้าทรงเป็นเจ้าแห่งประวัติศาสตร์ พระองค์จะทรงเป็นผู้ชี้ขาด” ไม่มีใครรู้ว่าชัยชนะของพระเจ้าเหนือความชั่วจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ดังนั้น สารนี้ซึ่งบรรยายด้วยภาษาประเพณีนิยม โดยมีภาพลักษณ์อันยิ่งใหญ่และงดงามของจักรวาลเป็นภาพประกอบ
    ธรรมประเพณีบอกว่า “พื้นที่” สำคัญทั้งสามปั่นป่วน คือ ท้องฟ้า แผ่นดิน และทะเล ความสับสนอลหม่านครอบคลุมจักรวาล – เพื่อ “สร้าง” จักรวาลใหม่ ข้อความนี้อาจเปรียบเทียบได้กับ อิสยาห์ 13:9-10 และ 34:3-4 ซึ่งใช้ภาพลักษณ์ของภัยพิบัติเดียวกันนี้บรรยายการล่มสลายของบาบิโลน นี่คือข้อพิสูจน์ว่าเราต้องไม่ถือว่าภาพลักษณ์เหล่านี้มีความหมายตรงตามตัวอักษร สำนวนว่า “ดวงดาวจะตกจากท้องฟ้า” หรือ “ดวงอาทิตย์จะ
มืดไป” เพียงต้องการบอกความจริงว่าพระเจ้าทรงเป็นนายเหนือสรรพสิ่ง เราไม่ควรลืมว่าประชาชนส่วนใหญ่ในตะวันออกกลางยุคโบราณถือว่าดวงดาวเป็นสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติที่ปกครองโลก และกำหนดโชคชะตาของมนุษย์จากเบื้องบน เราไม่ควรลืมว่าคนทุกยุคสมัยใช้ประโยชน์อย่างไรจากการผูกดวงและโหราศาสตร์ ถ้าชนชาติต่าง ๆ นับถือเทพบนท้องฟ้าเหล่านี้
ชาวอิสราเอลก็ประกาศในบทวิวรณ์ ของเขาว่า วันหนึ่งเทพเจ้าเหล่านี้จะอันตรธานไปอย่างน่าสะพรึงกลัว ดวงดาวและ
ดวงอาทิตย์จะตกจากฟ้า – ไม่มีเทพเจ้าอื่นใด นอกจากพระเจ้า
    ลูกาเองก็ไม่ลังเลที่จะใช้ภาษาวิวรณ์นี้ เขาบันทึกว่าได้เกิด
สุริยคราสเมื่อพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน (ลก 23:44) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ย้ำว่า อาศัยเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่กลโกธานี้ การทำงานของพระเจ้าในประวัติศาสตร์มนุษยชาติได้สำเร็จไป พระเยซูเจ้าเสด็จมาในก้อนเมฆ โลกโบราณผ่านพ้นไปแล้ว
โลกใหม่กำลังเกิดขึ้น ในตอนเช้าของวันปัสกา ดวงอาทิตย์
ดวงใหม่นี้จะส่องแสงแห่งชัยชนะ และสิริรุ่งโรจน์ของกางเขนอย่างสว่างไสว
ความทุกข์ของชนชาติต่าง ๆ ... มนุษย์จะสลบไปเพราะความกลัว และหวั่นใจถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในโลก เพราะสิ่งต่างๆ ในท้องฟ้าจะสั่นสะเทือน
    ลูกาบรรยายปฏิกิริยาของมนุษย์ต่อเหตุการณ์หรือเครื่องหมายเหล่านี้ มากกว่าที่มาระโกบรรยายในเรื่องเดียวกัน (ซึ่งเราได้ยินเมื่อสองสัปดาห์ก่อน) นี่คือเรื่องราวของมนุษย์มากกว่าเรื่องความวิปริตของวัตถุธาตุ มนุษย์ในยุคปัจจุบัน และยุคโบราณไม่อยากสนใจ “เวลา” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความ
ไม่มั่นคง เราเกลียด “เหตุการณ์ที่เราไม่คาดหมาย และคาดไม่ถึง” สิ่งที่เราไม่รู้จักย่อมน่ากลัวเสมอ ดังนั้น จึงมีการอนุรักษ์ และ
การยึดมั่นในธรรมประเพณีดั้งเดิมด้วยทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้เกิด “เหตุการณ์” ใด ๆ ขึ้นได้
    แต่พระคัมภีร์สอนเราหลายครั้งว่า “เหตุการณ์” เป็น “การแสดงพระองค์ของพระเจ้า” อย่างแท้จริง พระเจ้าเสด็จมา
พระเจ้าทรงเข้าแทรกแซงช่วยเหลือผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การทำลายล้างกรุงเยรูซาเล็มและพระวิหาร (ซึ่ง
อันที่จริง เป็นหัวข้อที่พระเยซูเจ้าตรัสไว้ในพระวรสารตอนนี้) เป็นเหตุการณ์ที่น่ากลัว แต่กระนั้น ก็เป็น “เครื่องหมาย” ว่า
พระเยซูเจ้า “กำลังจะเสด็จมาในก้อนเมฆ” เทียบได้กับการบอกว่า วันนี้จะมีใครบางคนประกาศปฏิวัติและทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะทำลายวาติกันหรืออาสนวิหารอันยิ่งใหญ่ทีเดียวทุกวันนี้มีประกาศกแห่งหายนะที่ประกาศเสมอว่าจะเกิดภัยพิบัติเช่นนี้ หรือร้ายแรงกว่านี้ เช่น ภัยนิวเคลียร์ ประชากรล้นโลก มลภาวะ
ที่แผ่ขยายอย่างรวดเร็ว เป็นต้น หลายลัทธิในยุคของเราแสวงหาประโยชน์จากความกลัวตามธรรมชาติของมนุษย์ พระเยซูเจ้าทรงเป็นเพียงหนึ่งในประกาศกแห่งหายนะเหล่านั้น ที่ใช้ความกลัวดึงดูดให้มีผู้ติดตามพระองค์เท่านั้นหรือ ...
หลังจากนั้น ประชาชนทั้งหลายจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาใน
ก้อนเมฆ ทรงพระอานุภาพ และพระสิริรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่
    แทนที่จะทรงแสวงหาประโยชน์จากความกลัว พระเยซูเจ้าทรงขจัดความกลัว เหตุการณ์ร้ายแรงเหล่านี้ไม่ใช่ “วาระสุดท้ายของทุกสิ่ง” แต่เป็นจุดเริ่มต้นของอีกโลกหนึ่ง เป็นคำประกาศเรื่องการพบกัน พระองค์ทรงเสนอสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความกลัวของมนุษย์ เพราะทรงเสนอภาพอันสดใสของบุตรแห่งมนุษย์
ผู้ส่องแสงด้วยพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า...
    เรารู้ว่าพระเยซูเจ้าทรงอ้าง “วิวรณ์ของดาเนียล”
(ดนล 7:13-14) แต่ทรงเปลี่ยนให้แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง
พระอาณาจักรของพระเจ้าที่ดาเนียลคาดหมาย จะต้องมีชัยชนะเหนือศัตรูของอิสราเอล โดยได้รับความช่วยเหลืออันรุนแรง และอย่างอัศจรรย์จากพระเจ้าในประวัติศาสตร์ บุตรแห่งมนุษย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “ประชากรผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าสูงสุด”
จะเสด็จมา “ในก้อนเมฆ” พระเยซูเจ้าทรงบอกว่าพระองค์คือบุตรแห่งมนุษย์ผู้นี้ แต่เมื่อมองครั้งแรก พระองค์ไม่ดูเหมือนเทพจากท้องฟ้าเลย พระองค์ทรงมีสภาพเดียวกับมนุษย์ปกติบนโลกนี้ แต่เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระองค์จึงเสด็จเข้าสู่
“โลกใหม่” แห่งพระสิริรุ่งโรจน์และพระอานุภาพ ในฐานะพระเจ้า
ผู้ทรงกลับคืนชีพ นี่คือพระสิริรุ่งโรจน์ที่พระองค์ทรงทำนาย
ไว้ระหว่างที่ทรงถูกพิพากษาโดยสภาซันเฮดริน (ลก 22/69) แทนที่จะนำประวัติศาสตร์ไปสู่จุดจบ เหตุการณ์หายนะแห่งการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นแท้จริงของประวัติศาสตร์ใหม่ ...
    ข้อความพระวรสารนี้เตือนเราว่า เทศกาลเตรียมรับเสด็จเป็นเวลาของ “จุดเริ่มต้นใหม่”
เมื่อเหตุการณ์ทั้งปวงนี้เริ่มเกิดขึ้น ท่านทั้งหลายจงยืนตัวตรง เงยหน้าขึ้นเถิด ...
    ดังนั้น วิวรณ์จึงเป็นสารแห่งความหวัง เราได้เห็น
ข้อเปรียบเทียบสิ่งที่แตกต่างกันสองประการ คือ เหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นภัยพิบัติ เปรียบเทียบกับการเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า และความตื่นกลัวของผู้ไม่มีความเชื่อ เปรียบเทียบกับผู้มีความเชื่อที่ยืนเชิดหน้า “มนุษย์จะตายเพราะความกลัว – แต่ท่านจะเงยหน้าขึ้น” ... ความแตกต่างนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีกในข้อความที่เป็นส่วนหนึ่งของบทนี้ ซึ่งเป็นอุปมาเรื่องต้นมะเดื่อที่บอกให้รู้ว่า “ฤดูร้อนใกล้เข้ามาแล้ว”
(ลก 21:29-30)
เพราะในไม่ช้าท่านจะได้รับการปลดปล่อย (ไถ่กู้) เป็นอิสระแล้ว
    ถูกแล้ว เหตุการณ์ที่หลายคนมองว่าเป็น “ความพินาศ”
(“จุดจบ” ของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขน “จุดจบ” ของกรุงเยรูซาเล็ม “จุดจบ” ของมนุษย์แต่ละคนเมื่อเขาตาย “จุดจบ” ของอารยธรรม “จุดจบ” ของโลก ... แท้จริงแล้ว “จุดจบ” ของทุกสิ่งที่ตายได้) สำหรับพระเยซูเจ้า และผู้มีความเชื่อทั้งหลายที่วางใจในพระวาจาของพระองค์ กลับเป็นจุดเริ่มต้นของความรอดพ้น
    สัจธรรมของความเชื่อ คือ ธรรมล้ำลึกปัสกา ... ความตายกลายเป็นชีวิต
    ในพระวรสารทั้งสี่ฉบับ คำว่า “การไถ่กู้” ซึ่งนักบุญเปาโล
ใช้บ่อยมาก (1คร 1:30; รม 3:24, 8:23; คส 1:14) ปรากฏเพียงครั้งเดียวในข้อความนี้ เรารู้ว่าลูกาเป็นศิษย์คนหนึ่งของเปาโล ... คำภาษากรีกว่า apolutrosis ถูกแปลออกมาเป็นภาษาละติน และภาษาอังกฤษว่า redemtio และ redemption ซึ่งไม่ตรงกับความหมายนัก และควรแปลว่า “ความช่วยเหลือ (rescue)” มากกว่า เพราะเป็นความหมายปกติของคำภาษากรีก
    ดังนั้น เทศกาลเตรียมรับเสด็จจึงเป็นเวลาที่ความช่วยเหลือใกล้จะมาถึงเราแล้ว ... “ในไม่ช้า ท่านจะได้รับความช่วยเหลือแล้ว จงยืนตรง เงยหน้าขึ้นเถิด”
จงระวังไว้ให้ดี อย่าปล่อยใจของท่านให้หมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานรื่นเริง ความเมามายและความกังวลถึงชีวิตนี้ มิฉะนั้น
วันนั้นจะมาถึงท่านอย่างฉับพลัน
    หลังจากคำเชิญให้มีความหวังและความวางใจ ก็ตาม
มาด้วยคำเตือนให้ระวังตัวเสมอ เราไม่ควรปล่อยให้ “การเสด็จมา” ของพระเยซูเจ้าเกิดขึ้นกับเราโดยไม่ได้เตรียมตัว โดยเฉพาะการเสด็จมาเป็นครั้งสุดท้ายของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่า เป็นไปได้ที่ใจของเราจะ “หมกมุ่น” อยู่กับความวิตกกังวล และการดำเนินชีวิต และความห่วงใยมากเกินไปกับทรัพย์ทางโลกที่ไม่ยั่งยืน
    “ประชาชนทั้งหลาย ท่านตัวหนัก ท่านกินอาหารมากไป
จนอ้วน ท่านถูกครอบงำจากทรัพย์มากเกินไป ความมั่นคงมากมายเป็นโซ่ล่ามท่านไว้ ท่านสนใจกับเรื่องฟุ้งเฟ้อไร้สาระ
มากเกินไป ความคิด และหัวใจของท่าน รกรุงรังด้วยเรื่องโง่เขลามากมาย ท่านตัวหนักเกินไป จงทำตัวของท่านให้เบา จงสมัครใจ และพร้อมเสมอที่จะเริ่มต้นใหม่” (ชาลส์ซิงเกอร์)
    นี่คือโครงการอันเหมาะสมสำหรับเทศกาลเตรียมรับเสด็จ เป็นเวลาที่ควรทำตัวให้ “เบาขึ้น” เป็นเวลาที่ “หัวใจเบาสบาย
มากขึ้น” จงปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระจากความกังวล
มากเกินไปว่าท่านจะดื่มอะไร จะกินอะไร
    ดูเหมือนว่าข้อความนี้เขียนขึ้นสำหรับยุคสมัยของเรา และ
อารยธรรมนักบริโภคที่กินจนเกินขนาดของเรา ...
เหมือนบ่วงแร้ว เพราะวันนั้นจะลงมาเหนือทุกคนที่อาศัยอยู่
บนแผ่นดิน ท่านทั้งหลายจงตื่นเฝ้าอธิษฐานภาวนาอยู่ตลอดเวลาเถิด เพื่อท่านจะมีกำลังหนีพ้นเหตุการณ์ทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นนี้ ไปยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์บุตรแห่งมนุษย์ได้
    ข้าพเจ้าต้องไม่ปล่อยให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นโดยข้าพเจ้า
ไม่รู้ตัว เหมือนบ่วงแร้วที่ดักจับสัตว์ป่า ข้าพเจ้าต้องตื่นตัว และเฝ้าระวังเสมอ
    การไม่รู้ว่า “การเสด็จมา” นี้จะเกิดขึ้นเมื่อใด ไม่ควรเป็นเหตุให้เรานิ่งนอนใจอย่างเกียจคร้าน แต่ควรทำให้เรา “ยืนตรง” ตลอดเวลาในข้อความนี้ พระเยซูเจ้าทรงสอนเราว่าทุกวันเป็น
วันแห่งการเสด็จมาของพระองค์
    เมื่อมองในแง่นี้ การภาวนาไม่ใช่วิธีหลบหนีปัญหา หรือความเกียจคร้าน แต่เป็น “การตื่นเฝ้า” “ยามเอ๋ย ท่านเห็นรุ่งอรุณมาถึงหรือไม่ ท่านเห็นพระคริสตเจ้าเสด็จมาหรือไม่ ท่านกำลังมองหาเครื่องหมายที่ประกาศตัวพระองค์หรือเปล่า”
    จงตื่นขึ้นเถิด ...
    การรับศีลมหาสนิทแต่ละครั้งเป็นการรอคอยวันนั้น “จนกว่าพระองค์จะเสด็จมาอีกครั้งหนึ่ง”
    เชิญเสด็จมาเถิด พระเยซูเจ้าข้า
    เทศกาลเตรียมรับเสด็จเป็นเทศกาลแห่งการคาดหวังอย่างจริงใจ และด้วยความหวัง ...