วันอาทิตย์ที่สาม เทศกาลมหาพรต

 

ลูกา 13:1-9
    ในเวลานั้น คนบางคนเข้ามาทูลพระเยซูเจ้าถึงเรื่องชาวกาลิลี ซึ่งถูกปีลาตสั่งประหารชีวิตในขณะที่เขากำลังถวายเครื่องบูชา พระองค์จึงตรัสตอบเขาว่า “ท่านคิดว่าชาวกาลิลีเหล่านี้เป็นคนบาปมากกว่าชาวกาลิลีทุกคนหรือ จึงต้องถูกฆ่าเช่นนี้ มิได้ เราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่กลับใจเปลี่ยนชีวิต ทุกท่านจะพินาศไปเช่นกัน แล้วคนสิบแปดคนที่ถูกหอสิโลอัมพังทับเสียชีวิตเล่า ท่านคิดว่าคนเหล่านั้นมีความผิดมากกว่าคนอื่นทุกคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มหรือ มิได้ เราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่กลับใจเปลี่ยนชีวิต ทุกท่านจะพินาศไปเช่นเดียวกัน”
    พระเยซูเจ้าตรัสเป็นอุปมาเรื่องนี้ว่า “ชายผู้หนึ่งปลูกต้นมะเดื่อเทศต้นหนึ่งในสวนองุ่นของตน เขามองหาผลที่ต้นนั้นแต่ไม่พบ จึงพูดแก่คนสวนว่า ‘ดูซิ สามปีแล้วที่ฉันมองหาผลจากมะเดื่อเทศต้นนี้ แต่ไม่พบ จงโค่นมันเสียเถิด เสียที่เปล่าๆ‘ แต่คนสวนตอบว่า ‘นายครับ ปล่อยมันไว้ปีนี้อีกสักปีหนึ่งเถิด ผมจะพรวนดินรอบต้น
ใส่ปุ๋ย ดูซิว่าปีหน้ามันจะออกผลหรือไม่ ถ้าไม่ออกผล ท่านจะโค่น
ทิ้งเสียก็ได้‘“

บทรำพึงที่ 1
การกลับใจ และความเมตตา
    เทศกาลมหาพรตยังดำเนินต่อไปพร้อมกับเชิญชวนให้เรากลับใจ ปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น และเตือนว่าการดำเนินชีวิตในบาปก็คือการเดินบนทางที่นำไปสู่ความพินาศ แต่พระเยซูเจ้าทรงเล่าเรื่องอุปมาที่ให้กำลังใจอย่างอ่อนโยน โดยทรงเปรียบเทียบชีวิตที่ตกในบาปว่าเหมือนกับต้นไม้ที่ไม่ออกผล ซึ่งยังได้รับโอกาสอีกครั้งหนึ่งให้ปรับปรุงตนเอง
    พระองค์ทรงสั่งสอนเช่นนี้หลังจากเกิดเหตุการณ์น่าเศร้า ซึ่งทำให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ บางคนมั่นใจมากว่าความตายของคนเหล่านี้ ซึ่งเกิดขึ้นจากน้ำมือของปิลาต หรือจากเหตุการณ์หอคอยถล่ม แสดงว่าพวกเขาเป็นคนบาปที่พระเจ้าทรงลงโทษ แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังมีบุคคลที่ชอบพิพากษาผู้อื่นเช่นนี้
    พระเยซูเจ้าทรงตำหนิเขา และเตือนว่าเขาควรสำรวจ
มโนธรรมของตนเองมากกว่า “ถ้าท่านไม่กลับใจเปลี่ยนชีวิต
ทุกท่านจะพินาศไปเช่นเดียวกัน” เมื่อเราชี้นิ้วตำหนิผู้อื่น
อีกสามนิ้วจะชี้กลับมาที่ตัวเรา
    พระเจ้าผู้ที่พระเยซูเจ้าทรงเป็นตัวแทนนี้ไม่ได้สนใจแต่การลงโทษ เป็นความจริงที่บาปมีบทลงโทษในตัวเองในหลายๆ ทาง พฤติกรรมที่เป็นบาปทำให้เราเหินห่างจากพระเจ้า ดังนั้น จึงทำลายสันติสุขและความยินดี ที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่เปี่ยมด้วยความรักระหว่างเรากับพระเจ้า ในระดับสังคม บาปทำลายความปรองดองในความสัมพันธ์ของมนุษย์ ทำให้เกิดความโกรธ ความขมขื่น ความเจ็บปวด อคติ และความรู้สึกด้านลบอื่น ๆ อีกมากมาย
    บาปเป็นการกระทำที่มีผลด้านลบ จนพระเจ้าไม่จำเป็นต้องลงโทษบุคคลที่ทำบาป เพราะบาปมีเมล็ดพันธุ์ของการทำลายตนเองและความทุกข์ฝังอยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว แม้แต่บทลงโทษขั้นสุดท้าย หมายถึงการตกนรก ก็ยังเป็นโทษที่คนบาปมอบให้แก่ตนเอง “ทุกคนที่ทำความชั่วย่อมเกลียดความสว่าง และไม่เข้าใกล้ความสว่าง เกรงว่าการกระทำของตนจะปรากฏชัดแจ้ง”
(ยน 3:20) คนที่ใจกระด้างเพราะความชั่วจนไม่ยอมรับความรักของพระเจ้าจะหันหลังให้แสงสว่างตลอดกาล แสงสว่างนำชีวิตมาสู่ดวงตาที่สุขภาพดี แต่ทำให้ดวงตาที่บาดเจ็บรู้สึกแสบตา แสงสว่างของพระเจ้าดึงดูดวิญญาณที่มีคุณธรรมไปสู่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม แต่สร้างความเจ็บปวดให้แก่วิญญาณที่กำลังป่วยเพราะบาป
    พระเยซูเจ้าทรงแสดงความเมตตาสงสาร เมื่อพระองค์ตรัสเป็นอุปมาที่ให้กำลังใจ หลังจากทรงเตือนประชาชนให้กลับใจ คนสวนในเรื่องอุปมาต้องการให้โอกาสต้นไม้ที่ไม่ออกผลอีกครั้งหนึ่ง คนที่ชอบพิพากษาผู้อื่นย่อมต้องการให้โค่นมันทิ้ง กำจัดมันเสียให้จบเรื่อง ไม่มีความเมตตากรุณา มันได้รับโอกาสแล้ว แต่ไม่ยอมฉวยโอกาสนั้น
    อุปมาเรื่องนี้เผยว่าพระเจ้าทรงพร้อมจะให้โอกาสอีกครั้งหนึ่งเสมอ การพรวนดินแสดงถึงความอัปยศและความเจ็บปวด ซึ่งเป็นด้านหนึ่งของการกลับใจ ส่วนปุ๋ยหมายถึงความช่วยเหลือที่เราจะได้รับเมื่อกระบวนการกลับใจเริ่มต้นขึ้นแล้ว
    พระเจ้าไม่ทรงคิดแก้แค้น และไม่ทรงสะสมบทลงโทษ เราไม่ควรคิดว่าความทุกข์ทรมาน หรืออุบัติเหตุน่าเศร้าต่าง ๆ เป็นการลงโทษจากสวรรค์ พระเจ้าทรงเปี่ยมด้วยความเมตตา พระองค์จึงต้องการเห็นคนบาปกลับมาหาพระองค์มากกว่า และเหมือนกับคนสวนที่อดทน พระองค์จะทรงช่วยเหลือผู้ที่เป็นทุกข์กลับใจ พระวรสารแสดงให้เห็นความสมดุลอย่างสมบูรณ์ ระหว่างการเรียกร้องความยุติธรรม และการวิงวอนขอความเมตตา ... ระหว่างคำเตือน และคำให้กำลังใจ บทสดุดีกล่าวไว้อย่างไพเราะว่า
    ความเมตตา และความซื่อสัตย์มาบรรจบกัน
    ความยุติธรรม และสันติภาพสวมกอดกัน
    ความซื่อสัตย์จะผุดขึ้นมาจากแผ่นดิน
    และความยุติธรรมมองลงมาจากสวรรค์

 

บทรำพึงที่ 2
ความอดทนของพระคริสตเจ้า
    พระเยซูเจ้าตรัสเป็นอุปมาหลายเรื่องเกี่ยวกับการทำสวน การทำนา และสิ่งต่าง ๆ ที่เจริญงอกงาม ประชาชนในอดีตเป็นคนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน คนเหล่านี้หากินจากธรรมชาติ ฝูงสัตว์ของเขากินหญ้าแล้วก็ย้ายไปที่อื่น โดยไม่คืนสิ่งใดให้แก่แผ่นดิน คนเหล่านี้เชื่อในพระเจ้าผู้ประทานทุกสิ่งทุกอย่างแก่เขา ในยุคของพระเยซูเจ้า ประชาชนตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง และเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการเลี้ยงสัตว์ไปสู่การปลูกพืชและเกษตรกรรม มนุษย์เรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตโดยร่วมมือกับธรรมชาติ ซึ่งหมายความว่ามนุษย์ต้องถ่อมตนและอดทน พระเยซูเจ้าทรงเห็นวิธีการอันอดทนของพระเจ้าได้จากทุ่งนา และสวนเบื้องหน้าพระองค์ ชาวนาเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์แล้วก็รอ ตลอดคืนและวันขณะที่เขานอนหลับ และเมื่อเขาตื่น เมล็ดพันธุ์นั้นกำลังงอกและเจริญเติบโต ชาวนาจะรอคอย สงสัย และหวังว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยดี ชาวนาคนหนึ่งประสบปัญหารุนแรงเมื่อวัชพืชเติบโตขึ้นมาพร้อมต้นข้าวสาลี แต่เขาก็รอจนถึงเวลาเก็บเกี่ยวเพื่อไม่ให้กระทบต่อรากของต้นข้าว ความอดทนของพระเจ้าเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุนี้ พระเจ้าจึงโปรดให้ดวงอาทิตย์ส่องสว่าง และฝนตกลงเหนือทั้งคนดีและคนเลว ทั้งคนสุจริตและคนทุจริตอย่างเท่าเทียมกัน เรื่องของต้นมะเดื่อเทศที่ได้รับโอกาสอีกครั้งหนึ่งหลังจากได้รับการดูแลอย่างดีมาแล้วถึงสามปี เป็นภาพของการอภิบาลของพระเยซูเจ้า “จงคิดเถิดว่าความอดกลั้นขององค์
พระผู้เป็นเจ้า คือความรอดพ้นของเรา” (2ปต 3:15) ความคิดผิด ๆ เกี่ยวกับความครบครัน สามารถล่อให้เราติดกับอยู่กับความกังวล และความกลัวโดยไม่จำเป็น
    บางคนกลัวการสารภาพบาป เพราะรู้ว่าหลังจากสารภาพบาปแล้วเขาก็ต้องทำบาปอีกแน่นอน แต่ใครบอกหรือว่าความผิดพลาดทุกอย่างจะได้รับการเยียวยาจนหายดีอย่างฉับพลัน ว่าวัชพืชจะถูกถอนออกจากต้นข้าวในทันทีทันใด วิธีการของ
พระเยซูเจ้า คือ ปล่อยให้เจริญเติบโตอย่างอดทน
    การบูชาความสมบูรณ์แบบทำให้บางคนไม่สามารถให้อภัยตนเองได้ ดูเหมือนคนเหล่านี้จะคิดว่าเขาต้องทำให้พระเจ้าประทับใจกับความสำเร็จและความสมบูรณ์ไร้ที่ติ ก่อนที่เขาจะมีค่าพอให้พระองค์รักเขา แต่ความรักเป็นสิ่งที่ให้เปล่าไม่ใช่หรือ
ผู้ที่ได้รับความรักไม่จำเป็นต้องมีค่าคู่ควรแก่ความรักนั้น หรือ
ทำสิ่งใดให้สมควรได้รับความรัก
    เราทุกคนต้องเรียนรู้จากการเจริญเติบโตของสิ่งต่าง ๆ
พืชที่งอกจากเมล็ดอย่างรวดเร็วมักอายุสั้น เมล็ดของต้นไม้เนื้อแข็งอาจใช้เวลาถึงสองปีกว่าจะงอกขึ้นจากดิน แต่ต้นไม้โตช้าเหล่านี้สามารถเติบโตเป็นไม้ใหญ่ และอายุยืนนับร้อยปี
    การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนมักเป็นกระบวนการที่ช้า และค่อยเป็นค่อยไป
    ภาพของสวนและทุ่งนาแสดงให้เราเห็นความอดทนของพระเจ้า และนี่คือความคิดที่ช่วยให้เรารอดพ้นได้
    ข้อความต่อไปนี้จะช่วยเราเวลารำพึงภาวนา :
    “พระเจ้าทรงเปี่ยมด้วยความสงสาร และความรัก
    ทรงกริ้วช้า และทรงเมตตาเหลือล้น” (สดด 102:8)

 

บทรำพึงที่ 3
ในเวลานั้น คนบางคนเข้ามาทูลพระเยซูเจ้า ถึงเรื่องชาวกาลิลี ซึ่งถูกปิลาตสั่งประหารชีวิตในขณะที่เขากำลังถวายเครื่องบูชา
    ช่วงเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงอยู่บนโลกนี้ไม่ใช่ช่วงเวลาที่สงบสุข การเผชิญหน้ากันในสมัยนั้นรุนแรงกว่าในยุคของเรา เหตุการณ์ที่มีคนมารายงานพระเยซูเจ้าไม่ใช่เหตุการณ์ที่แปลก เป็นไปได้ที่มีกลุ่มคนรักชาติที่พยายามก่อการกบฏต่อกองทัพโรมันที่ยึดครองดินแดน ระหว่างประกอบพิธีกรรม ซึ่งเป็นเวลาที่เขากำลังวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าด้วยการถวายเครื่องบูชา คนเหล่านี้ถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับคำสั่งจาก
ปิลาต เราคงนึกภาพได้ว่าชาวยิวที่จริงใจจะประณามการปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดนี้ทันที
    เห็นได้ชัดว่าคนที่บอกเล่าเหตุการณ์นี้ต้องการให้
พระเยซูเจ้าเลือกข้าง พระองค์จะประณามปิลาต และเจ้าหน้าที่ของเขา หรือจะประณามนักก่อความวุ่นวายอย่างไม่รับผิดชอบเหล่านี้ ผู้ปลุกระดมให้ประชาชนต่อสู้แม้เมื่อไม่มีความหวัง
    เราประทับใจเมื่อเห็นได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงปฏิเสธอีกครั้งหนึ่งที่จะเลือกข้างในระดับการเมือง และทางโลก แต่ทรงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ในระดับศาสนา พระองค์ไม่ทรงเลือกข้าง แต่ตรัสถึงบาป ถึงการกลับใจ ถึงสาเหตุ และการแก้ไขความชั่วร้ายในโลกนี้
    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ไตร่ตรองเหตุการณ์ในชีวิตของเราด้วยความเชื่อในระดับสูงสุดเถิด
พระองค์จึงตรัสตอบเขาว่า “ท่านคิดว่าชาวกาลิลีเหล่านี้เป็นคนบาปมากกว่าชาวกาลิลีทุกคนหรือ จึงต้องถูกฆ่าเช่นนี้ มิได้”
    พระเยซูเจ้าทรงพยายามขจัดอคติ และยกหัวข้อที่ประชาชนชอบถกเถียงกัน ประชาชนมักมองว่าความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับผู้ใดเป็นการลงโทษ แม้แต่ทุกวันนี้ เราก็ยังตัดสินเช่นเดียวกันนี้ เช่นเมื่อเราพูดว่า “ไม่ยุติธรรมเลย เขาไม่ควรตายตั้งแต่ยังหนุ่มเช่นนี้” หรือ “เขาทำอะไรผิดต่อพระเจ้าหรือ พระองค์จึงทรงส่งความทุกข์ยากนี้มาให้เขา”
    พระเยซูเจ้าทรงคิดว่าไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา และบาปของเรา พระองค์จะประกาศในภายหลังว่า “มิใช่ชายคนนี้ หรือบิดามารดาของเขาทำบาป”
(ยน 9:2-3) การมองหาตัวคนผิดเป็นวิธีที่ง่ายเกินไปที่จะทำให้เราสบายใจ โดยถือว่าเราอยู่ข้างคนที่ชอบธรรม ความรับผิดชอบเป็นของ “ผู้อื่น” เสมอ หรือเป็นของผู้มีอำนาจหน้าที่ หรือระบบ หรือสังคม
ถ้าท่านไม่กลับใจเปลี่ยนชีวิต ทุกท่านจะพินาศไปเช่นกัน
    คนที่นำข่าวนี้มาบอก ต้องการให้พิพากษาปิลาต หรือเหยื่อของเขา แต่พวกเขาเองกลับถูกพิจารณาคดี “ท่านคิดว่าชาวกาลิลีเหล่านี้เป็นคนบาปมากกว่าชาวกาลิลีทุกคนหรือ” นี่ไม่ใช่การถกเถียงกันเรื่องของผู้อื่น พระเยซูเจ้าทรงส่งเขากลับไปพิจารณาตนเอง “ท่านเองต้องกลับใจ ท่านพร้อมจะประณามการกระทำอันรุนแรงของปิลาต แต่ดูซิว่าท่านเองมีส่วนร่วมในความรุนแรงเดียวกันนี้อย่างไร”
    เนื่องจากประวัติศาสตร์พิสูจน์ให้เห็นแล้วหลายครั้ง เราต้องกล้าพูดเหมือนกับพระเยซูเจ้าว่าการเปลี่ยนโครงสร้างเท่านั้นยังไม่พอ (ความอยุติธรรม และความรุนแรง มีอยู่ภายใต้ทุกรัฐบาล) แต่หัวใจมนุษย์ในโครงสร้างนั้นต่างหากที่ต้องเปลี่ยนแปลง ต้องกลับใจเพื่อให้โครงสร้างนั้น ๆ ดีขึ้น
    พระเจ้าข้า ลึก ๆ ในใจข้าพเจ้าทราบว่านี่คือความจริง ข้าพเจ้าทำอะไรไม่ได้มากนักที่จะต่อสู้กับความรุนแรงที่กำลังกดขี่ประเทศนั้นประเทศนี้ หรือโน้มน้าวกระแสความคิดที่เราพบเห็นมากมายในสภาพแวดล้อมทางสังคม ในโรงเรียน ในอาชีพ หรือในพระศาสนจักรของเรา แต่พื้นที่เดียวที่ข้าพเจ้ามีอำนาจอย่างแท้จริง คือการพยายามทำให้ตัวข้าพเจ้าเองกลับใจให้ได้
    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าไม่ให้หลีกหนีความรับผิดชอบนี้ มิใช่หาทางออกด้วยการกล่าวหาผู้อื่น
แล้วคนสิบแปดคนที่ถูกหอสิโลอัมพังทับเสียชีวิตเล่า ท่านคิดว่าคนเหล่านั้นมีความผิดมากกว่าคนอื่นทุกคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม หรือ มิได้
    บัดนี้ พระเยซูเจ้าทรงกล่าวถึง “ข่าวสำคัญในยุคนั้น” อีกข่าวหนึ่ง อาคารหลังหนึ่งที่ก่อสร้างที่ชานเมืองได้ถล่มลงมา ทำให้หลายครอบครัวเสียชีวิต แม้แต่ทุกวันนี้ เมื่ออุบัติเหตุเช่นนี้เกิดขึ้น เรามักมองหาคนผิด เช่น สถาปนิกไร้ความสามารถ หรือต้องการหากำไรจนมองข้ามความปลอดภัย ... หรือเหยื่อไม่รอบคอบ เหยื่อถูกลงโทษจากชะตากรรมบางอย่าง – เว้นแต่เขาจะโยนความผิดให้พระเจ้า “ถ้าพระเจ้ามีจริง ภัยพิบัติเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น”
    พระเยซูเจ้าทรงย้อนกลับมายืนยันความจริงข้อเดิมว่า
พระเจ้าไม่ได้ส่งความทุกข์ทรมานมาให้มนุษย์ และความทุกข์ทรมานไม่ใช่การลงโทษ เหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นกับเราบ่อยครั้งเป็นเพียงผลตามธรรมชาติของกฎธรรมชาติ เช่น แรงโน้มถ่วง ความอ่อนแอ ความผิดพลาดที่เลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น แทนที่จะสาปแช่งพระเจ้า เราควรจัดการกับสาเหตุที่เราควบคุมได้มากกว่า
    พระเยซูเจ้าทรงต่อสู้กับสิ่งชั่วร้าย พระองค์ทรงขอให้เราต่อสู้เช่นเดียวกัน แต่ก่อนอื่น เราต้องต่อสู้กับความชั่วในตัวของเรา
ถ้าท่านไม่กลับใจเปลี่ยนชีวิต ทุกท่านจะพินาศไปเช่นกัน
    เช่นเดียวกับประกาศกทั้งหลายในพระคัมภีร์ พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้เทศน์สอนศาสนา มิใช่อาจารย์สอนจริยธรรม พระองค์ไม่ทรงสอนบทเรียนทางสังคมด้วยซ้ำไป พระวาจาของพระองค์เป็นคำขู่ และน่ากลัว “ท่านทุกคนจะพินาศ ถ้าท่านไม่กลับตัวกลับใจ”
    พระเยซูเจ้าทรงกำลังคิดในลักษณะเดียวกับความคิดที่พระองค์เพิ่งจะประณามหรือ (ความทุกข์ทรมาน = การลงโทษ) เปล่าเลย เห็นได้ชัดว่าพระองค์ไม่ได้กำลังตรัสเรื่องความตายฝ่ายกาย ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้ประท้วงที่ถูกสังหารหมู่ หรือผู้ที่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุหอคอยถล่ม
    พระเยซูเจ้าไม่ได้เป็นบ้า หรือไร้เดียงสา พระองค์ทรงทราบดีว่าแม้แต่บุคคลชอบธรรมก็ต้องตาย พระองค์เองกำลังเดินทางไปยังกรุงเยรูซาเล็ม และในที่นั้น พระองค์จะทรงถูกประหารโดยปิลาตคนเดียวกันนี้ แต่พระองค์ทรงเจตนาแยกตัวจากปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางจริยธรรม หรือปัญหาสังคมของมนุษย์ พระเยซูเจ้าทรงเผยแสดงความจริงทางศาสนาแก่เรา พระองค์ทรงยืนยันว่ามีความตายอีกประเภทหนึ่ง ความพินาศอีกประเภทหนึ่ง และความตายประเภทนี้เป็นความตายนิรันดร ไม่มีใคร
นึกถึง “ความตายอีกประเภทหนึ่ง” นั้น แต่พระเยซูเจ้าตรัสถึงเสมอ “ถ้าท่านไม่เปลี่ยนวิถีชีวิต ทุกท่านจะต้องตาย” ไม่ใช่ความตายฝ่ายกาย ซึ่งเราเห็นอยู่ทุกวันรอบตัวเรา แต่เป็นความตายอันเร้นลับที่เกิดขึ้นเพราะบาป
    นี่คือการเผยแสดงอย่างแท้จริง และสำหรับเรา เป็นเรื่องของความเชื่อ พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่ามนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป และมนุษย์ทุกคนได้รับโอกาสให้กลับใจเปลี่ยนชีวิต
    ถูกแล้ว พระเยซูเจ้าทรงส่งเราแต่ละคนกลับไปพิจารณา
มโนธรรมของเราเอง ปิลาตนั้นควรพิจารณาตนเองแน่นอน ...
ชาวกาลิลีด้วย ... และสถาปนิก หรือช่างก่อสร้างผู้ประมาท ... และคนอื่น ๆ ทุกคนที่คิดว่าตนเองจะไม่ถูกพิพากษา รวมทั้งตัวข้าพเจ้าเอง แม้ว่าในขณะนี้ ข้าพเจ้าอาจกำลังพยายามหลบหนีจากภัยคุกคามที่พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยแก่ข้าพเจ้า ... กำลังพยายามหลีกเลี่ยงการยอมรับว่าข้าพเจ้าเองจำเป็นต้องกลับใจเช่นกัน เมื่อใดหนอ เราจึงจะตื่นขึ้นจากภาวะขาดจิตสำนึกอย่างน่าเศร้าเช่นนี้

    ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์บอกว่าลูกาใช้ถ้อยคำที่รุนแรง
“ทุกท่านจะพินาศ” แต่ขอให้สังเกตว่าคำขู่ของพระเยซูเจ้ามีเงื่อนไข คือ กระตุ้นให้เราสำรวจตนเองและกลับใจ พระเจ้าไม่ทรงลงโทษมนุษย์ แต่มนุษย์ต่างหากที่ลงโทษตนเองให้ตายตลอดนิรันดร “ถ้าท่านไม่กลับใจเปลี่ยนชีวิต”
    คำขู่ของพระเยซูเจ้าเป็นคำเตือนด้วยความรักอันเปี่ยมด้วยความเมตตาของพระเจ้า ผู้ไม่อาจทนดูมนุษย์เดินไปหาความพินาศ พระเจ้าทรงเสียพระทัยเมื่อทรงเห็นมนุษย์พินาศ เราขอย้ำว่าพระเยซูเจ้าประทานคำสั่งสอนทางศาสนาแก่เรา คือคำสั่งสอนเรื่องพระเจ้า ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าพระองค์ไม่ทรงสนใจใยดีกับปัญหาของมนุษย์ แต่ทรงวางพระองค์ในระดับการเผยแสดง กล่าวคือ ทรงประณามสิ่งที่ชั่วร้ายอย่างแท้จริงสำหรับมนุษย์ พระองค์ทรงเตือนเราว่าพระเจ้าไม่สามารถอยู่ร่วมกับบาปได้ การอยู่ในบาปคือการตัดสินให้ตนเองถูกประหาร ซึ่งน่ากลัวกว่าความตายจากคมดาบของทหารของปิลาต หรือจากก้อนหินที่ถล่มลงมาจากหอคอยในกรุงเยรูซาเล็ม
    เราจะฟังพระองค์ไหม เราจะเชื่อพระองค์ไหม
    ข้าแต่พระเยซูเจ้า ผู้ที่พระบิดาทรงส่งลงมารักษาเยียวยา และช่วยมนุษย์ทุกคนให้รอดพ้น โปรดทรงเมตตาเราเทอญ

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้กลับใจระหว่างเทศกาล
มหาพรตนี้ด้วยเทอญ
พระเยซูเจ้าตรัสเป็นอุปมาเรื่องนี้ว่า “ชายผู้หนึ่งปลูกต้นมะเดื่อเทศต้นหนึ่งในสวนองุ่นของตน เขามามองหาผลที่ต้นนั้นแต่ไม่พบ จึงพูดแก่คนสวนว่า ‘ดูซิ สามปีแล้วที่ฉันมองหาผลจากมะเดื่อเทศต้นนี้ แต่ไม่พบ จงโค่นมันเสียเถิด เสียที่เปล่า ๆ’ “
    เรายังรำพึงตามหัวข้อเดิม คือ การพิพากษา การกระทำของมนุษย์ไม่อาจเป็นกลาง แต่เป็นการกระทำที่ดีหรือเลว การกระทำเหล่านี้คือ “ผล” คนสมัยใหม่พยายามทำให้เราเชื่อว่าไม่มีอะไรเป็นบาปอีกต่อไป เราไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำของเราต่อหน้าพระเจ้า ไม่มีการกระทำใดที่ต้องห้าม ไม่มีความผิด ... มนุษย์ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ
    ตรงกันข้าม พระเยซูเจ้าตรัสว่า “จงโค่นต้นไม้ที่ไม่มีผล
ทิ้งเสีย” พระเยซูเจ้าทรงประณามไม่เพียงผลที่เน่าเสีย แต่ทรงประณามต้นไม้ที่ไม่มีผลด้วย
แต่คนสวนตอบว่า “นายครับ ปล่อยมันไว้ปีนี้อีกสักปีหนึ่งเถิด ผมจะพรวนดินรอบต้น ใส่ปุ๋ย ดูซิว่าปีหน้ามันจะออกผลหรือไม่ ถ้าไม่ออกผล ท่านจะโค่นทิ้งเสียก็ได้”
    คนสวนผู้รัก “สวนองุ่น” ของเขามากนี้ แท้จริงแล้วคือ
พระเยซูเจ้าผู้ที่เรารัก พระองค์ไม่ได้เสด็จมาเรียกผู้ชอบธรรม แต่ทรงมาเรียกคนบาป พระองค์ทรงเล่าอุปมาหลายเรื่องใน
พระวรสารเกี่ยวกับความเมตตาของพระเจ้า โดยเฉพาะใน
พระวรสารของนักบุญลูกา (ลก 15) ดังนั้น คำขู่ที่ออกจาก
พระโอษฐ์ของพระเจ้าจึงมีจุดประสงค์เดียวคือปลุกเราให้ตื่น
    พระเจ้าทรงรักคนบาป พระเจ้าทรงรักข้าพเจ้า
    ความเมตตา และการเรียกร้องให้ทำสิ่งที่ยากเป็นของคู่กัน ความรักก็เรียกร้องสิ่งที่ยาก
    เราไม่ควรมองข้าม หรือละเว้นประโยคสุดท้าย “ถ้าไม่ออกผล ท่านจะโค่นทิ้งเสียก็ได้”
    มหาพรตเป็นเวลาสำหรับรับฟังข้อความที่เด็ดขาดรุนแรงในพระวรสารอย่างแท้จริง