วันอาทิตย์ที่สอง เทศกาลปัสกา


ยอห์น 20:19-31
    ค่ำวันนั้นซึ่งเป็นวันต้นสัปดาห์ ประตูห้องที่บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกันปิดอยู่ เพราะกลัวชาวยิว พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามา ทรงยืนอยู่ตรงกลาง ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงให้บรรดาศิษย์ดูพระหัตถ์และด้านข้างพระวรกาย เมื่อเขาเหล่านั้นเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็มีความยินดี พระองค์ตรัสกับเขาอีกว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น”
    ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลาย ตรัสว่า”จงรับพระจิตเจ้าเถิด ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใดบาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย”
    โทมัส ซึ่งเรียกกันว่า “ฝาแฝด” เป็นคนหนึ่งในบรรดาอัครสาวกสิบสองคน ไม่ได้อยู่กับอัครสาวกคนอื่น ๆ เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมา ศิษย์คนอื่นบอกเขาว่า “พวกเราเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว” แต่เขาตอบว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์ และไม่ได้เอามือคลำที่ด้านข้างพระวรกายของพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อเป็นอันขาด”
    แปดวันต่อมา บรรดาศิษย์อยู่ด้วยกันในบ้านนั้นอีก โทมัสก็อยู่กับเขาด้วย ทั้ง ๆ ที่ประตูปิดอยู่พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามา ทรงยืนอยู่ตรงกลาง ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” แล้วตรัสกับโมทัสว่า “จงเอานิ้วมาที่นี่ และดูมือของเราเถิด จงเอามือมาที่นี่ คลำที่สีข้างของเรา อย่าสงสัยอีกต่อไป แต่จงเชื่อเถิด” โทมัสทูลพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ท่านเชื่อเพราะได้เห็นเรา ผู้ที่เชื่อแม้ไม่ได้เห็น ก็เป็นสุข”
    พระเยซูเจ้ายังทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์อื่นอีกหลายประการให้บรรดาศิษย์เห็น แต่ไม่ได้บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้ เรื่องราวเหล่านี้ถูกบันทึกไว้เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่าพระเยซูเจ้าเป็น
พระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า และเมื่อมีความเชื่อนี้แล้วท่านทั้งหลายก็จะมีชีวิตเดชะพระนามของพระองค์

 

บทรำพึงที่ 1
การประทับอยู่ในรูปแบบใหม่ของพระเยซูเจ้า
    เราจะพบองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพได้ที่ใด บทอ่าน
พระวรสารวันนี้เริ่มต้นท่ามกลางความมืด เมื่อไม่มีพระเยซูเจ้าประทับอยู่กับบรรดาอัครสาวก เขาปิดประตู และความกลัวทำให้อัครสาวกหมดกำลังจะทำอะไร
    แต่สภาพนี้เปลี่ยนไป เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาหาเขาในลักษณะใหม่ พระองค์ทรงทักทายด้วยการมอบสันติสุข และความกลัวก็เปลี่ยนเป็นความยินดี พระองค์ทรงให้เขาดูพระหัตถ์ และสีข้าง เพื่อยืนยันว่าพระองค์เป็นใคร
    จากนั้น พระองค์ประทานพระพรสองประการจากพระเจ้าแก่เขา พระองค์ทรงบัญชาเขาให้สานต่อพันธกิจที่พระองค์ทรงได้รับมอบหมายมาจากพระบิดา กล่าวคือ พันธกิจในการเอาชนะบาป และให้อภัย “พระบิดาทางส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น”
    พระพรประการที่สอง คือ พระองค์เป่าลมประทานพระจิตเจ้าแก่พวกเขา นับแต่นี้ไป ชุมชนศิษย์พระคริสต์จึงได้เข้าร่วมในพันธกิจของพระเยซูเจ้า และได้รับพละกำลังจากพระจิตเจ้า
ผู้ทรงดลใจพระเยซูเจ้าในการปฏิบัติพันธกิจของพระองค์  แม้พระเยซูเจ้าไม่ประทับอยู่กับเขาในรูปลักษณ์มนุษย์ที่มีเนื้อหนัง แต่การประทับอยู่ในลักษณะใหม่นี้เรียกร้องให้เขามาร่วมปฏิบัติพันธกิจ และร่วมรับพระจิตของพระองค์
    วันนั้น โทมัสไม่อยู่ที่นั่น เราทราบจากเหตุการณ์อื่น ๆ ใน
พระวรสาร ว่าเขาเป็นคนที่ระวังตัวมาก โทมัสเป็นคนที่จงรักภักดีอย่างยิ่ง บางทีเขาอาจจงรักภักดีมากเกินไป เพราะเขาปฏิเสธอย่างดื้อรั้นที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลง เขาไม่ยอมเชื่อเรื่องที่อัครสาวกคนอื่นเล่าให้ฟัง เขายังคงแสวงหาพระเยซูเจ้าในรูปแบบเดิม เขาต้องการให้พระองค์ประทับอยู่ทางกายภาพให้เขาเห็นพระองค์ และสัมผัสพระองค์ได้ โทมัสไม่เข้าใจว่าเมื่อ
พระเยซูเจ้าทรงอยู่ในร่างกายมนุษย์ พระองค์ต้องอยู่เพียงในพื้นที่เล็ก ๆ บัดนี้ องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพทรงแบ่งพันธกิจ และอำนาจของพระองค์ให้แก่กลุ่มคนที่มีความเชื่อ และส่งพวกเขาออกไปในทุกสถานที่และทุกยุคสมัย พร้อมกับอำนาจให้อภัยของพระองค์ เพื่อรักษาโรคของวิญญาณ จิตใจ และร่างกาย
    โทมัสได้รับคำเชิญชวนจากพระเยซูเจ้าให้เชื่อ และเขาตอบสนองด้วยการแสดงความเชื่อในระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีใครเอ่ยออกมาในพระวรสาร “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า”
    จากนั้น องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรทุกคนที่เชื่อ แม้ว่าไม่ได้เห็นหลักฐานที่จับต้องได้
    บัดนี้ ยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสาร พร้อมจะจบพระวรสารของเขาแล้ว เขาบอกเราว่าวัตถุประสงค์ที่เขาเขียนพระวรสารฉบับนี้ก็เพื่อบันทึกเรื่องราวอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ เครื่องหมายเป็นสิ่งชี้ทางให้เราก้าวไปข้างหน้า พระเยซูเจ้าทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์เพื่อชักนำมนุษย์ให้มองให้ไกลกว่าเหตุการณ์ทางกายภาพ และมองไปให้ถึงความหมายฝ่ายจิตของเครื่องหมายนั้น ๆ ความหมายฝ่ายจิตอันสูงส่งคือพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า ใครก็ตามที่มีความเชื่อเช่นนี้แล้วก็จะมีส่วนในชีวิตของพระเยซูเจ้า
    ดังนั้น เราจะพบองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพได้ที่ไหน ไม่ใช่ในคูหาแห่งความตาย ไม่ใช่ข้างหลังประตูแห่งชีวิตที่ปิดล็อกไว้เพราะความกลัว ไม่ใช่ในการประทับอยู่ทางกายภาพ
ที่มองเห็นได้และจับต้องได้ แต่จำกัดขอบเขตอยู่ในบริเวณเล็ก ๆ
    ในยุคใหม่ภายหลังการกลับคืนชีพ เราจะพบองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ในพันธกิจของพระศาสนจักร ซึ่งได้รับอำนาจจาก
พระจิตของพระเจ้าให้ประกาศเรื่องพระอาณาจักร ให้ขับไล่ปีศาจ และรักษาเยียวยาผู้ที่ชอกช้ำใจ บทอ่านที่หนึ่งของวันนี้ (กจ 5:11-16) เป็นภาพของกลุ่มคริสตชนที่เต็มเปี่ยมด้วย
พระจิตของพระเจ้า
    นอกจากนี้ ท่ามกลางความสงบเงียบของการภาวนาเป็นส่วนตัว ผู้มีความเชื่อจะค้นพบว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่ในหัวใจของเขา ผู้มีความเชื่อจึง “มีชีวิต เดชะพระนามของพระองค์”
    การพูดว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าได้กลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย” เป็นเพียงคำบอกเล่าเหตุการณ์หนึ่งในอดีต แต่เราจะแสดงความเชื่อได้มากกว่าถ้าจะพูดว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกลับคืนชีพแล้ว” ซึ่งไม่ได้บอกเล่าเหตุการณ์ในอดีต แต่กล่าวถึงการประทับอยู่อย่างมีชีวิตในปัจจุบัน
    องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ ประทับอยู่ในพันธกิจของพระศาสนจักร และองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงดำรงชีวิตอยู่ในส่วนลึกที่สุดของหัวใจของทุกคนที่มีชีวิตในพระนามของพระองค์

 

บทรำพึงที่ 2
สัมผัสบาดแผล
    โทมัสไม่ใช่บุคคลประเภทที่ชอบแสวงหาเครื่องหมายที่แสดงความรุ่งเรือง เขาแสวงหาแต่บาดแผล ความคลางแคลงใจของเขาได้รับการรักษาด้วยบาดแผลของพระเยซูเจ้า ในความคิดของยอห์น ไม้กางเขนของพระเยซูเจ้าผู้เต็มไปด้วยบาดแผล ไม่อาจแยกออกจากการกลับคืนชีพของพระองค์เข้าสู่พระสิริรุ่งโรจน์ ในภาพของพระเยซูเจ้าผู้ทรงได้รับการยกขึ้นจากโลก บางคน เช่นเปาโล ได้รับการเยี่ยมเยือนจากพระเยซูเจ้า ผู้ทรงกลับคืนชีพในพระสิริรุ่งโรจน์ จนดวงตามนุษย์ไม่อาจทนมองได้ คนอื่น ๆ เช่นโทมัส ได้พบพระคริสตเจ้าจากการสัมผัสบาดแผลของพระองค์ บางคน เช่นคุณแม่เทเรซา ได้ค้นพบพันธกิจของพระคริสตเจ้าในบาดแผลของคนยากจน ยอห์น วาเนียร์ ค้นพบพันธกิจในบาดแผลของคนพิการ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง และเฮลเดอร์ คามารา ค้นพบพันธกิจในบาดแผลของบุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติ และได้รับความอยุติธรรม นักบุญฟรังซิส แห่งอัสซีซี ชนะการต่อสู้กับนิสัยสำอางของเขาได้ เมื่อเขาสวมกอดคนโรคเรื้อนคนหนึ่งอย่างอบอุ่น นั่นเป็นวันที่เขาเชื่อฟังพระคริสตเจ้าอย่างจริงจัง และเริ่มค้นพบพันธกิจของตนเอง
    หลายปีต่อมา เขาบันทึกความรู้สึกในวันนั้นในพินัยกรรมของเขาว่า “สิ่งที่เมื่อก่อนดูเหมือนว่าขมขื่น เปลี่ยนเป็นความหวานชื่นของวิญญาณและร่างกาย” ฟรังซิสคนใหม่เกิดขึ้นมาจากบาดแผลของคนโรคเรื้อน ... เพราะเมื่อเขาสวมกอดคนโรคเรื้อนเสมือนน้องชายคนหนึ่ง เขาก็สวมกอดตนเองซึ่งมีบาดแผล และเมื่อเขาทำเช่นนี้ ชีวิตของเขาจึงสวมกอดพันธกิจจาก
พระคริสตเจ้า ก้าวแรกของชีวิตจิตเป็นการชำระตนเองให้หลุดพ้นจากความสำอาง ความเพ้อฝัน และความกลัวของเขา เราเข้าใจได้ดีว่า ฟรังซิสคงคิดว่าการสัมผัสตัวคนโรคเรื้อนเป็นสิ่งที่น่าคลื่นเหียนและขมขื่น ฟรังซิส ทอมสัน ถอยหนีด้วยความกลัว เมื่อเขาเห็นว่าองค์ศิลปินสวรรค์ต้องเผาไม้ให้กลายเป็นถ่าน ก่อนที่พระองค์จะใช้มันวาดภาพได้ “พระองค์ต้องเผาไม้ให้กลายเป็นถ่านก่อนหรือ พระองค์จึงจะใช้มันวาดภาพได้”
    เราสวมกอดคนโรคเรื้อนในตัวเรา เมื่อเรายอมรับข้อบกพร่องของเราในการสารภาพบาปอย่างถ่อมตน และในที่นั่น เราจะพบพระคริสตเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความเมตตา เราสวมกอดคนโรคเรื้อนในตัวพี่น้องชายหญิงของเรา เมื่อเรายอมรับความยากจนและความเจ็บปวดของเขา และเมื่อเรายอมรับเขาได้ทั้งที่เขามีข้อบกพร่องที่ทำให้เรารำคาญใจ และเมื่อเรายอมรับเขา เขาจะมอบกระแสเรียกของพระคริสตเจ้าให้แก่เรา เมื่อเราให้ เราจะได้รับ เช่นในพันธกิจของคุณพ่อดาเมียน ท่ามกลางคนโรคเรื้อนที่เกาะโมโลไก เมื่อเขาสามารถพูดว่า “พวกเราคนโรคเรื้อน” นั่นเอง พันธกิจของเขาจึงเริ่มประสบผลสำเร็จ พระเจ้าทรงร้องขอให้เราน้อมรับธรรมล้ำลึกต่าง ๆ ที่เราไม่เข้าใจ น้อมรับความมืดที่ปกคลุมทัศนวิสัยของเรา ทะเลทรายอันแห้งแล้งที่เราต้องข้ามไป และกางเขนต่าง ๆ ที่ถ่วงทับเรา ในบาดแผลในชีวิตนี้เองที่เราจะพบกับพระคริสตเจ้าผู้เต็มไปด้วยบาดแผล ความเชื่อของเราจะตื่นขึ้นเมื่อเราจำได้ว่าพระผู้เต็มไปด้วยบาดแผลนี้คือองค์พระผู้เป็นเจ้า ในพระสิริรุ่งโรจน์ เมื่อโทมัสเห็นบาดแผลของพระคริสตเจ้า เขาไม่ได้ถอยหนีเพราะคลื่นเหียน หรือปฏิเสธเครื่องหมายที่แสดงความอ่อนแอ แต่เขาถูกดึงดูดให้ประกาศความเชื่ออย่างยิ่งใหญ่ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า" การแสวงหาบุรุษผู้เต็มไปด้วยบาดแผลนำเขามาพบพระคริสตเจ้าในพระสิริรุ่งโรจน์ การยอมรับพระเทวภาพของพระคริสตเจ้าด้วยความเชื่อนี้เป็นจุดสูงสุดของพระวรสารของนักบุญยอห์น แต่ขอให้สังเกตว่าการยอมรับนี้เชื่อมโยงอย่างเร้นลับอย่างไรกับการสัมผัสบาดแผลของพระเยซูเจ้า นี่เป็นการยืนยันถ้อยคำของอิสยาห์อย่างน่าอัศจรรย์ใจว่า “อาศัยบาดแผลของพระองค์ เขาได้รับการรักษา” (54:5)


บทรำพึงที่ 3
ค่ำวันนั้น ซึ่งเป็นวันต้นสัปดาห์ ... บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกัน ...
แปดวันต่อมา บรรดาศิษย์อยู่ด้วยกันในบ้านนั้นอีก ...
    บทอ่านจากพระวรสารวันนี้บอกเล่าเรื่อง “การแสดงพระองค์” สองครั้งของพระเยซูเจ้าหลังจากทรงกลับคืนชีพ แต่ละครั้งห่างกันแปดวัน เรามักให้ความสนใจกับการแสดงพระองค์ครั้งที่สองมากกว่า นี่คือการแสดงพระองค์เพื่อโทมัส โดยเฉพาะ เพราะบ่อยครั้งที่เราคิดว่าโทมัสก็เหมือนกับเรา แต่มีประโยชน์อะไรที่จะหาคนที่เหมือนกับเรา - “ใครบางคนที่ขี้สงสัย” ใครบางคนที่ไม่ยอมเชื่อง่าย ๆ - เพื่อทำให้เรารู้สึกว่ามีคนอื่น ๆ ที่
ขาดความเชื่อเหมือนกัน
    แต่ “การสมรู้ร่วมคิด” ของเรากับโทมัส ไม่ควรขัดขวางมิให้เราอ่านข้อความให้ครบทั้งบทอ่าน
    สิ่งแรกที่เราสังเกตเห็น คือ พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์ว่าพระองค์ยังมีชีวิตอยู่ใน “วันต้นสัปดาห์” คือวันอาทิตย์ (เป็นเรื่องบังเอิญหรือ) เรารู้ว่าคริสตชนรุ่นแรกไม่ได้มาชุมนุมกันทุกวัน พวกเขามีกิจวัตรต้องทำ และไม่สามารถมาชุมนุมกันได้เสมอ ... แต่พระเยซูผู้ทรงกลับคืนชีพ เสด็จมาระหว่างที่พวกเขามาชุมนุมกันในวันอาทิตย์ ... คงจะผิดประเด็นถ้าจะมองว่าความเชื่อเป็นเรื่องส่วนบุคคล เพราะบรรดาศิษย์ได้พบ และได้สัมผัสกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ ระหว่างการพบกันของชุมชน พวกเขามารวมตัวกัน เป็นหนึ่งเดียวกันใน “พระศาสนจักร” ประตูห้องที่บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกันปิดอยู่เพราะกลัวชาวยิว พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามา ทรงยืนอยู่ตรงกลาง
    ช่วงเวลาที่ยอห์นเขียนข้อความเหล่านี้ยังเป็นช่วงเวลาแห่งความหวาดกลัว และการเบียดเบียน ศิษย์ของพระเยซูเจ้าจะมาชุมนุมกันวันหนึ่งในบ้านหลังหนึ่ง และอีกวันหนึ่งเขาจะพบกันในที่อื่น พวกเขายินดีต้อนรับกันและกัน ... เขาคิดว่าตนเองเป็นผู้
ละทิ้งศาสนาและพวกพ้องของตน ... พวกเขาหวาดกลัว ... เขาปิดประตูขังตนเอง ... แต่ทุกวันอาทิตย์ พวกเขาจะมารื้อฟื้นเหตุการณ์ในวันอาทิตย์แรกนั้น และบรรยากาศในห้องชั้นบน พระคริสตเจ้าเสด็จมาอยู่ท่ามกลางศิษย์ของพระองค์อย่างเร้นลับไม่ว่าเขาจะอยู่ที่เอเฟซัส ในโครินธ์ ในกรุงเยรูซาเล็ม ในกรุงโรม ...
    ถูกแล้ว ทุกวันอาทิตย์คือปัสกา ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงกลับคืนชีพ พระองค์ประทับอยู่ในใจกลางชีวิตของเรา และพระองค์ทรงเป็นผู้ประทานชีวิตแก่เรา เราเชื่อทั้งที่เราไม่เห็นพระองค์
    พระเจ้าข้า ในวันนี้ เราเองก็อยากปิดประตูของเราเพราะความกลัว ... เมื่อพระจิตทรงพัดมา ขอให้กำแพงคุกของเราทะลายลง และเสียงเพลงแห่งความยินดีดังขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเถิด ขอให้เราเปิดประตูต้อนรับพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพเถิด
    ก่อนจะรำพึงไตร่ตรองบทอ่านนี้ต่อไป ขอให้เราถามตนเองว่า พระคริสตเจ้าทรงต้องการปลดปล่อยเราให้พ้นจากสถานการณ์ใดที่น่ากลัว และอันตราย เพื่อให้เราลุกขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่ง ... ให้เราลุกขึ้นจากบาปนี้ ปัญหาสุขภาพนี้ การ
บีบบังคับอันเจ็บปวด และสิ้นหวัง ปัญหาในครอบครัว หรือในอาชีพของเรา ...
    “ห้องที่พวกเขากำลังชุมนุมกันนั้นปิดอยู่”
พระองค์ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” ตรัสดังนี้แล้วพระองค์ทรงให้บรรดาศิษย์ดูพระหัตถ์ และด้านข้างพระวรกาย เมื่อเขาเหล่านั้นเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าก็มีความยินดี พระองค์ตรัสกับเขาอีกว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด”
    ความยินดีแห่งปัสกา อันเป็นความยินดีแท้ของคริสตชนนั้น ไม่ใช่ความยินดีที่เกิดขึ้นเองอย่างง่าย ๆ ไม่เหมือนกับความยินดีที่เรารู้สึกได้เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น เมื่อเราสุขภาพดี เมื่อเรารู้สึกเป็นหนุ่มเป็นสาว กระชุ่มกระชวย เมื่อโครงการของเราประสบความสำเร็จ     เมื่อเราเข้ากันได้ดีกับคนในครอบครัว และมิตรสหาย ... ความยินดีแห่งการกลับคืนชีพเป็นความยินดีที่เกิดขึ้น “ภายหลัง” หลังจากความกลัว นี่คือความยินดีที่เต็มไปด้วยสันติสุข ซึ่งเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่สิ้นหวัง (ความตายของบุรุษคนหนึ่งที่ถูกตรึงกางเขน) จนกระทั่งไม่มีสิ่งใดสามารถทำลายความยินดีนั้นได้หลังจากนั้น นี่คือความยินดี และสันติสุข อันเป็นผลมาจากความเชื่อในพระเยซูเจ้า...
    เช่นเดียวกับในวันนั้น ทุกครั้งที่เรามาชุมนุมกันใน
วันอาทิตย์ พระเยซูเจ้าทรงอวยพรให้เรามีสันติสุขผ่านปากของพระสงฆ์ “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลาย” ... สภาสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 นำธรรมประเพณีโบราณกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง คือ จูบแห่งสันติ คริสตชนได้รับเชิญให้มอบสันติสุขให้แก่กันและกันในพระนามของพระคริสตเจ้า ด้วยการจับมือกัน กอดกัน กล่าวทักทายกัน ยิ้มให้กันพร้อมกับกล่าวว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่าน” หรือ “สันติสุขของพระคริสตเจ้า”
    นี่ไม่ใช่กิริยาที่กระทำกันเป็นกิจวัตร แต่มีความหมายว่าเราต้องการ “เป็นพระคริสต์” สำหรับเพื่อนมนุษย์ของเรา... “ที่ใดที่สองหรือสามคนมาชุมนุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นท่ามกลางเขา” ...
พระบิดาส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น”
    ถูกแล้ว พระเยซูเจ้าทรงย้ำกับเราว่า ไม่ว่าข้าพเจ้าจะเป็นบุคคลที่ยากไร้เพียงไร ข้าพเจ้าก็เป็น “พระเยซูเจ้าที่ถูกส่งไปหาพี่น้องชายหญิงของข้าพเจ้า” เหมือนกับพระเยซูเจ้าทรงถูกพระบิดาส่งมา...
    ขอให้เราอย่าอ่านข้อความนี้แบบฉาบฉวย ขอให้เราอย่ารีบร้อนไปหา “โทมัสผู้ขี้ระแวง” แต่ขอให้เราไตร่ตรอง และภาวนาตามพระวาจาของพระเยซูเจ้า ขอให้เราเล็งเห็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงมอบหมายแก่เรา นั่นคือพันธกิจที่พระเยซูเจ้าทรงมอบหมายให้แก่พระศาสนจักร ดังนั้น จึงเท่ากับทรงมอบหมายพันธกิจนี้แก่ข้าพเจ้าด้วย แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพันธกิจก็ตาม
    ข้าพเจ้าถูกส่งมาโดยพระเยซูเจ้า ... เหมือนกับที่พระเยซูเจ้าถูกพระบิดาส่งมา ข้าพเจ้าต้องค้นหาความหมายของคำสองคำนี้ ซึ่งแปลไม่ตรงตามความหมายภาษากรีก และละติน คำว่า mission (ซึ่งเราแปลว่าพันธกิจ) หมายถึงการส่งไป (sending) และมาจากศัพท์ภาษาละตินว่า missio ส่วนคำว่า apostle (ซึ่งเราแปลว่าอัครสาวก) หมายถึงถูกส่งไป (sent) และมาจากศัพท์ภาษากรีกว่า apostolos…
    เมื่อข้าพเจ้าพบผู้ใดในสถานที่ทำงาน หรือในภาพแวดล้อมใด ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ที่นั่นในนามของข้าพเจ้า เพื่อผลประโยชน์ของข้าพเจ้าเอง เพราะข้าพเจ้าถูกส่งไปที่นั่นโดยพระเยซูเจ้าเพื่อให้ทำงานในพระนามของพระองค์ และตามแผนการของพระองค์ เหมือนกับที่พระบิดาทรงส่งพระเยซูเจ้ามาฉันนั้น
    ข้าพเจ้ามีสารจากพระเยซูเจ้าที่ข้าพเจ้าต้องบอกแก่ท่าน พระองค์เองเป็นผู้ประทานสารที่ข้าพเจ้ากำลังจะบอกท่านอยู่นี้ ... พระองค์ทรงมีชีวิต ข้าพเจ้าเป็นพระโอษฐ์ของพระองค์ ข้าพเจ้าเป็นพระกายของพระองค์ที่อยู่ข้างกายท่าน เพื่อเผยให้ท่านเห็นความรักของพระบิดา...ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลาย ตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด”
    พระพรแห่งพระจิตเจ้า ... การสร้างสรรค์ครั้งใหม่ ... พระจิตของพระเยซูเจ้าที่ประทานแก่ศิษย์ของพระองค์
    พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ และ “เสด็จขึ้นไปเฝ้าพระบิดา” และคริสตชนทั้งหลายต้องทำงานแทนพระองค์ พวกเขาต้องนำ "ลมที่ให้ชีวิต” นี้ติดตัวไป นี่คือพระจิตของพระองค์ คริสตชนต้องสานต่อภารกิจของพระองค์ นักบุญเปาโลจะเขียนว่า “ท่านเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า ... ท่านเป็นวิหารของพระจิตเจ้า” และพระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เราเห็นว่าพระองค์ทรงกระทำกิริยาเดียวกับพระเจ้า พระผู้สร้างในหนังสือปฐมกาล 2:7 “เชิญเสด็จมา พระจิตเจ้า พระผู้สร้าง”
    ตามความคิดของยอห์น เปนเตกอสเตเกิดขึ้นเมื่อตอนค่ำของวันปัสกา ซึ่งเป็นงานที่พระเยซูเจ้าทรงจำเป็นต้องกระทำหลังจากทรงชนะความตายแล้ว งานนี้คือการประทานพระจิตเจ้า ผู้ทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้ากลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย (รม 8:11) ในบทแสดงความเชื่อของเรา เรายืนยันเกี่ยวกับพระจิตเจ้าว่า “พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า พระองค์ประทานชีวิต” พระจิตผู้ที่พระเยซูเจ้าประทานแก่มนุษย์ในค่ำวันปัสกานั้น เป็นองค์เดียวกันที่ทรงปรากฏพระองค์ในทันทีทันใดต่อหน้าสาธารณชนในวันเปนเตกอสเต เป็นพระจิตองค์เดียวกันที่ทรงปฏิบัติงานชิ้นสำคัญที่สุด เมื่อทรงช่วงชิงพระเยซูเจ้าจากอำนาจของความตาย และเปิดเผยว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า โดยอาศัยการกลับคืนชีพ “โดยทางพระจิตเจ้าผู้บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระบุตรผู้ทรงอำนาจของพระเจ้า โดยการกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย” (รม 1:4) ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย
    “การให้อภัย” และ “การไม่อภัย” ... “การผูก” และ “การปลดปล่อย” นี่คือรูปแบบไวยากรณ์ของภาษาอาราเมอิก คือเขียนคำสองคำที่มีความหมายตรงกันข้ามไว้ใกล้กัน เพื่อเน้นคำที่มีความหมายเชิงบวกให้หนักแน่นมากขึ้น ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าประทานพระจิตของพระองค์ พระองค์ได้ประทานอำนาจในการ “ปลดปล่อยมนุษย์จากความชั่วที่อยู่ในตัวเขา” ให้แก่ศิษย์ของพระองค์ด้วย นับแต่นั้นมา ศิษย์ทั้งหลายจึงเป็นผู้นำ “ความเมตตาของพระเจ้า” คือพระเยซูเจ้าเอง ไปมอบให้แก่มนุษย์ทั้งหลาย คริสตชนได้รับมอบหมายพันธกิจเดียวกันกับพันธกิจที่พระเยซูเจ้าทรงประกาศไว้ตั้งแต่ทรงเริ่มต้นเทศนาสั่งสอนในศาลาธรรมที่นาซาเร็ธ ว่า “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ... ประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ ... ประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า” (ลก 4:18, 19)
    ข้าพเจ้าเป็นผู้นำพระจิตเจ้าไปมอบให้แก่ผู้อื่นหรือเปล่า พระจิตเจ้าผู้ประทานชีวิต และให้อิสรภาพ ... พระจิตเจ้าผู้ทรงรัก และให้อภัยในพระนามของพระเยซูเจ้า ...
    การให้อภัยเป็นพระหรรษทานแห่งปัสกา โทมัส คนหนึ่งในบรรดาอัครสาวกสิบสองคน ไม่ได้อยู่กับอัครสาวกคนอื่น ๆ เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมา ... เขาบอกว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เห็น ... ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อเป็นอันขาด”
    โทมัส เป็นศิษย์ผู้มาทีหลัง เขามาถึงภายหลังงานเลี้ยงฉลองการกลับมารวมตัวกันครั้งใหม่
    โทมัสในพระวรสาร เป็นคนที่เชื่อในสามัญสำนึกของตนเองเท่านั้น ... โทมัสเป็นผู้นิยมความจริงที่สงสัยพระวาจาของ
พระเยซูเจ้า “พระเจ้าข้า พวกเราไม่ทราบว่าพระองค์จะเสด็จไปที่ใด” (ยน 14:5) เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสถึงการกลับคืนชีพของลาซารัส โทมัส กลับคิดถึงความตายของเขา (ยน 11:15-16)

แปดวันต่อมา ... พระเยซูเจ้าเสด็จมาอีกครั้งหนึ่ง ... “จงเอานิ้วมาที่นี่ และดูมือของเราเถิด ... อย่าสงสัยอีกต่อไป”
    พระเยซูเจ้าทรงปล่อยให้โทมัสคิดว่าเขาคิดถูกอยู่นานถึงหนึ่งสัปดาห์ หลังจากนั้น พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่เขา ข้าพเจ้านึกภาพในใจว่าพระองค์เสด็จมาพร้อมกับรอยยิ้ม และตรัสกับโทมัสในทำนองว่า “เพื่อนผู้น่าสงสารเอ๋ย ท่านคิดว่าเราตายไปแล้ว และไม่อยู่ที่นี่ เมื่อท่านแสดงความไม่เชื่อกับเพื่อน ๆ ของท่าน ... แต่เราอยู่ที่นี่ตั้งแต่เวลานั้นแล้ว เราฟังคำสนทนาของท่านอยู่ แม้ว่าท่านมองไม่เห็นเรา ... แต่เราไม่ ‘แสดง’ ตัวเราให้ท่านเห็นในเวลานั้น”
    พระเจ้าทรงอดทนอย่างยิ่ง ...  พระองค์ทรงรอเวลาได้เสมอ...
โทมัสทูลพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และ
พระเจ้าของข้าพเจ้า”
    นี่คือเสียงร้องแสดงความเชื่อของชายคนหนึ่ง ซึ่งบัดนี้ไม่จำเป็นต้อง “สัมผัส” บัดนี้ เขาเข้าใจแล้วว่า แม้พระเยซูเจ้าไม่แสดงพระองค์ให้เขาเห็น แต่พระองค์ประทับอยู่ที่นั่น พระองค์ประทับอยู่แม้แต่ในเวลาที่ โทมัส แสดงว่าเขาไม่เชื่อ


ท่านเชื่อเพราะได้เห็นเรา ผู้ที่เชื่อแม้ไม่ได้เห็น ก็เป็นสุข
    นี่คือบุญลาภอีกประการหนึ่ง – เป็นบุญลาภประการสุดท้าย...
    ความเป็นจริงอันสูงส่งที่สุดของพระเจ้า ไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตา...
    ความเชื่อเท่านั้นทำให้เรามองเห็นความจริงเหล่านี้ และ
นี่คือความสุขแท้...