วันอาทิตย์ที่ห้า เทศกาลปัสกา


ยอห์น 13:31-35
    เมื่อยูดาสออกไปแล้ว พระเยซูเจ้าตรัสว่า “บัดนี้ บุตรแห่งมนุษย์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ และพระเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในบุตรแห่งมนุษย์ด้วย ถ้าพระเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในบุตรแห่งมนุษย์ พระเจ้าจะทรงให้บุตรแห่งมนุษย์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในพระองค์ด้วย และจะทรงให้บุตรแห่งมนุษย์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในทันที ลูกทั้งหลายเอ๋ย เราจะอยู่กับท่านอีกไม่นาน เราให้บทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลาย ให้ท่านรักกัน เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด ทุกคนจะรู้ว่าท่านเป็นศิษย์ของเรา”

 

บทรำพึงที่ 1
บทบัญญัติใหม่
    เราจะพบองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพได้ที่ใด พิธีกรรมทุกวันอาทิตย์ระหว่างเทศกาลปัสกานี้ชักนำให้เราคิดถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งมีองค์พระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่ และทรงกำลังทำงานอยู่ท่ามกลางเรา ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราไตร่ตรองการประทับอยู่ของพระองค์ในพันธกิจแห่งการอภัยบาปของพระศาสนจักร ในความเชื่อของผู้ที่ไม่ได้เห็นแต่ก็ยังเชื่อ ในพันธกิจทั่วโลกของพระศาสนจักร ในพิธีบิปัง ในความรับผิดชอบงานอภิบาลของเปโตร และในพระสุรเสียงขององค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่เราติดตาม
    คำตอบสำหรับวันนี้ คือ เราจะพบองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ในชุมชน ถ้าสมาชิกของชุมชนนั้นรักกันด้วยความรักของพระองค์
    ยูดาส ลุกออกไปจากโต๊ะอาหารที่มิตรสหายของเขากำลังร่วมในพิธีบิปังกับพระเยซูเจ้า ยอห์น แสดงให้เห็นความน่ากลัวของการตัดสินใจของยูดาส โดยบอกว่า ขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน เมื่อยูดาสละทิ้งแสงสว่างส่องโลก เขากำลังเลือกความมืด กลางคืนเป็นสัญลักษณ์ของจุดเริ่มต้นของกระบวนการ ซึ่งจะดำเนินไปจนถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า แต่พระเยซูเจ้าทรงก้าวเข้าสู่ความมืดของความตายเพียงเพื่อจะเอาชนะมัน ดังนั้น การจากไปของพระเยซูเจ้าแท้จริงแล้วเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาอย่างรุ่งเรืองของพระองค์
    ความเศร้าจะเข้าท่วมหัวใจของบรรดาศิษย์ เมื่อพวกเขาเริ่มตระหนักว่าพระเยซูเจ้าจะไม่อยู่กับเขาในรูปของมนุษย์ธรรมดาอีกต่อไป พระองค์ปลอบใจพวกเขาด้วยถ้อยคำที่ให้กำลังใจ ทรงบอกเขาว่าพระองค์จะประทับอยู่กับเขาในลักษณะใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม หลังจากพระองค์ทรงกลับคืนชีพแล้ว เมื่อพระองค์กลับไปสู่พระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา พระองค์จะยกมนุษย์ทั้งหลายขึ้นด้วย พระองค์ทรงสัญญาว่าพวกเขาจะมีชีวิตในระดับที่สูงกว่าเดิม ชีวิตใหม่นี้จะอยู่ภายใต้บทบัญญัติใหม่ “ให้ท่านรักกัน เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด”
    ทำไมจึงบอกว่านี่เป็นบทบัญญัติใหม่ พระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมก็สอนให้เรารักเพื่อนมนุษย์เหมือนกันไม่ใช่หรือ ... ความใหม่ที่อยู่ในพระวาจาของพระเยซูเจ้าคือมาตรฐานของความรัก ... “เรารักท่านอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้น” ... ความรักที่ยอมสละได้ทุกสิ่งแม้กระทั่งยอมรับความตาย ความรักที่ไม่
ละเว้นใครเลย ความรักของพระเยซูเจ้าไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่แต่ในแวดวงเพื่อนบ้านหรือมิตรสหายใกล้ชิด ความรักของพระองค์รวมถึงศัตรู และผู้ที่อาจเคยแสดงความ อยุติธรรมต่อเราด้วย ความรักของพระองค์ไม่หมดไปเพียงเพราะผู้อื่นทำความผิด แต่เป็นเหมือนแม่น้ำที่ไม่ยอมให้ยาพิษของผู้อื่นมาปนเปื้อนได้ ความใหม่อีกประการหนึ่งก็คือ ต้นกำเนิดของความรักนี้คือ
พระจิตเจ้า ผู้ในไม่ช้าจะเสด็จมาประทับในหัวใจของศิษย์ทั้งหลาย
    ในฐานะคริสตชนที่รับศีลล้างบาปแล้ว เราได้รับเรียกให้เป็นอวัยวะที่ทำงานในพระกายของพระคริสตเจ้าบนโลกนี้ วิถีชีวิตของคริสตชนยุคแรกเป็นพยานยืนยันอย่างทรงพลังว่าองค์
พระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่กับพวกเขา “ดูพวกคริสตชนเหล่านี้เขารักกันซิ”
    บทอ่านที่หนึ่งในพิธีกรรมวันนี้ กล่าวถึงนิมิตของยอห์น ที่เห็นนครเยรูซาเล็มใหม่ลงมาจากพระเจ้า งดงามราวกับเจ้าสาวที่แต่งตัวรอเจ้าบ่าว “นี่คือที่พำนักของพระเจ้าในหมู่มนุษย์ พระองค์จะทรงพำนักอยู่ในหมู่เขา เขาจะเป็นประชากรของพระองค์ และพระองค์จะทรงเป็นพระเจ้าของเขา ทรงเป็น
‘พระเจ้าสถิตกับเขา’ ... ดูซิ เราทำทุกสิ่งขึ้นใหม่” (วว 21:1-5)
    แม้ว่าคำพรรณนานิมิตเหล่านี้หมายถึงชีวิตบนสวรรค์ภายหลังความตาย แต่เราเห็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่นี้ได้ในพระศาสนจักร ที่ซึ่งคนทั้งหลายผู้เต็มเปี่ยมด้วยพระจิตเจ้าได้ทำให้ความรักของพระเยซูเจ้าปรากฏแก่สายตา และสัมผัสได้
พระเจ้าสถิตอยู่กับคนเหล่านี้อย่างแท้จริง
    ในจดหมายฉบับที่หนึ่ง ยอห์นขยายความคิดของเขาว่า “พระเจ้าทรงเป็นความรัก ผู้ใดดำรงอยู่ในความรัก ย่อมดำรงอยู่ในพระเจ้า” (1 ยน 4:16)
    เราจะพบองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ที่ใด คำตอบที่เราได้ยินจากบทอ่านวันนี้ คือ เราจะเห็น และรู้สึกถึงการประทับอยู่ของพระองค์ได้ ถ้าเราเป็นศิษย์ผู้ปฏิบัติตามแบบฉบับความรักอันสมบูรณ์ของพระองค์ พระศาสนจักรคือเจ้าสาวผู้งดงามของ
พระคริสตเจ้า เจ้าสาวที่พระองค์ทรงรัก และเป็นผู้ให้กำเนิดความรักในทุกสถานที่ทั่วโลก ผ่านทางบุตรจำนวนมากของพระศาสนจักร
    ข้าแต่พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ ขอให้พระจิตของพระองค์รุกเข้ามาในหัวใจของเรา และยกเราขึ้นพ้นข้อจำกัดอันเกิดจากบาปของเรา ขอให้ความรักของพระองค์เป็นพลังให้กิจกรรมทั้งปวงของเรา เพื่อเราจะเป็นกระจกสะท้อนความงามแห่งพระพักตร์ของพระองค์ และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา

 

บทรำพึงที่ 2
เป็นภาพสะท้อนพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์
    สิ่งสร้างทั้งปวงมีเครื่องหมายของพระผู้สร้างประทับอยู่ในตัว และสามารถนำเราไปพบกับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า นักบุญเปาโลเขียนในจดหมายถึงชาวโรมว่า “ตั้งแต่เมื่อทรงสร้างโลก คุณลักษณะที่ไม่อาจแลเห็นได้ของพระเจ้า คือพระอานุภาพนิรันดร และเทวภาพของพระองค์ ปรากฏอย่างชัดเจนแก่ปัญญามนุษย์ในสิ่งที่ทรงสร้าง” (รม 1:20)
    ในตอนเช้าของวันหนึ่งในเดือนเมษายนเช่นนี้ ข้าพเจ้าเห็น
พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าสะท้อนอยู่ในใบหญ้าชุ่มน้ำค้าง และในสีสันของสวนดอกไม้ ทั้งสีเหลืองของดอกแดฟโฟดิล และ
สีแดงของดอกทิวลิบ สีม่วงและสีเขียวของพืชพรรณต่าง ๆ ดอกไม้แต่ละดอกเป็นการแสดงออกของพระสิริรุ่งโรจน์ของ
พระเจ้า ถัดจากสวนดอกไม้ แม่น้ำบาโรว์ไหลเอื่อยผ่านพื้นที่ราบของเรา กลับคืนสู่มหาสมุทร
    โคฮีเลธ  นักปราชญ์ในอดีต กล่าวถึงน้ำที่เดินทางกลับคืนสู่มหาสมุทร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของมันว่า “แม่น้ำทั้งหลายไหลออกสู่ทะเล แต่ทะเลก็ไม่เคยเต็ม แต่กระนั้น แม่น้ำทั้งหลายก็ยังไหลไปสู่จุดหมายปลายทางของมัน” (ปญจ 1:7) น้ำที่มาจากกลางมหาสมุทรต้องเดินทางกลับสู่มหาสมุทรฉันใด สิ่งสร้างทั้งปวงก็ต้องกลับไปหาพระผู้สร้างของมันฉันนั้น
    สีสันที่น่าตื่นตาตื่นใจ ความละเอียดลออของลวดลาย และความซับซ้อนของกลิ่นหอมแต่ละอย่างเกิดขึ้นจากความคิดของพระผู้สร้างทั้งสิ้น
    สิ่งสร้างเหล่านี้รุ่งโรจน์งดงามเพราะมาจากพระเจ้า ผู้ทรงเป็นพระสิริรุ่งโรจน์ ผู้ที่มองดูสิ่งสร้างจะยิ่งเห็นความงามใหม่ๆ เมื่อสิ่งสร้างนั้นชี้ให้มองไปที่พระเจ้าผู้ทรงสร้างมันขึ้นมา
    สิ่งสร้างทั้งปวงจึงมีเครื่องหมายของพระผู้สร้างประทับอยู่ในตัว เหมือนกับรอยพระบาทของพระเจ้าที่ประกาศว่าพระองค์เคยเสด็จผ่านที่นั่นแล้ว
    แต่มนุษยชาติที่ได้รับการไถ่กู้แล้วจะต้องเป็นมากกว่ารอย
พระบาทของพระเจ้า เราได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในชีวิตของพระบุตร นักบุญเปาโลขับร้องสรรเสริญแผนการที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้เพื่อเราว่า “ขอถวายพระพรแด่พระเจ้า พระบิดาของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ... ทรงเลือกสรรเราในพระคริสตเจ้าแล้ว ... พระเจ้าทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วที่จะให้เราเป็นบุตรบุญธรรม ... เพื่อสรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์แห่ง
พระหรรษทานของพระองค์” (อฟ 1:3-6) เราได้รับเรียกให้เป็นเหมือนพระองค์ผู้ทรงเป็น “ภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่ตามองไม่เห็น” และเป็น “รูปจำลองอันสมบูรณ์ของพระธรรมชาติของพระองค์” ภาพลักษณ์ในที่นี้หมายถึงการเป็นกระจกสะท้อนความงามและพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า แผนการที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้สำหรับยุคปัจจุบันก็คือ ให้สะท้อนพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์บนโลก ผ่านทางการดำเนินชีวิตของบุคคลที่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งความรักของพระคริสตเจ้า ในขณะที่สิ่งสร้างทั้งปวงเป็นรอยพระบาทบนเส้นทางที่พระเจ้าเสด็จผ่านไปในโลก “บุตรน้อย ๆ” ทั้งหลายผู้เป็นบุตรบุญธรรมของพระเจ้า ก็ได้รับเรียกให้เป็นกระจกเงาที่มีชีวิตของพระเจ้า ด้วยการเลียนแบบความรักของพระเยซูคริสตเจ้า
    นักบุญยอห์นเขียนไว้ว่า “ไม่มีผู้ใดเคยเห็นพระเจ้า แต่ถ้าเรารักกัน พระเจ้าย่อมทรงดำรงอยู่ในเรา และความรักของพระองค์ในเราก็จะสมบูรณ์” (1 ยน 4:12) ความสงสาร และความรักเอาใจใส่ของพระเจ้า จะแผ่ไปยังมนุษย์ทั้งหลายผ่านทางหัวใจมนุษย์
ผู้อุทิศตนเดินตามทางของพระคริสตเจ้า
    “พระเจ้าทรงเป็นความรัก ผู้ใดดำรงอยู่ในความรัก ย่อมดำรงอยู่ในพระเจ้า และพระเจ้าย่อมทรงดำรงอยู่ในเขา”
(1 ยน 4:16) บทบัญญัติใหม่ หรือกระแสเรียกของคนทั้งหลายในชีวิตใหม่หลังปัสกา คือทำให้ความรักของพระเจ้าสมบูรณ์ “ไม่มีผู้ใดเคยเห็นพระเจ้า แต่ถ้าเรารักกัน พระเจ้าย่อมทรงดำรงอยู่ในเรา และความรักของพระองค์ในเราก็จะสมบูรณ์” (1 ยน 4:12)
    กระแสไฟจะหมดพลัง ถ้าวงจรถูกตัดขาดฉันใด พลังจากความรักของพระเจ้าย่อมถูกตัดขาดจากคนทั้งหลาย เมื่อเราไม่รักเขาฉันนั้น วงจรจะสมบูรณ์ และพลังงานไหลผ่านได้ เมื่อเรานำความรักของพระองค์ไปมอบให้กันและกัน
    พระเยซูคริสตเจ้าไม่ได้ทรงพระดำเนินบนถนนหนทางของเราในวันนี้ในร่างกายมนุษย์ แต่พลังของความรัก และ
พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ สามารถเป็นที่รู้จักได้ “อาศัยความรักที่ท่านมีต่อกันและกันนี้”

 

บทรำพึงที่ 3
เมื่อยูดาส ออกไปแล้ว พระเยซูเจ้าตรัสว่า ...
    เรารู้สึกได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงรู้สึกโล่งพระทัย บัดนี้ พระองค์สามารถเปิดเผยความลับบางอย่างได้แล้ว – ราวกับว่าเมื่อ
ผู้ทรยศอยู่ที่นั่น พระองค์ทรงอึดอัด...
    เมื่อเราครุ่นคิดถึงความรู้สึกโดดเดี่ยวของเรา ปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรา หรือมีความรู้สึกติดขัดในใจที่ทำให้เราไม่กล้าพูดในสิ่งที่ควรพูด ... ขอให้เราคิดถึงพระเยซูเจ้า
ผู้เคยมีประสบการณ์กับสถานการณ์ลำบากใจคล้ายกันระหว่างที่ทรงดำเนินชีวิตอย่างมนุษย์คนหนึ่งบนโลกนี้
    เมื่อเราเป็นทุกข์จากความขัดแย้งกับบุคคลใดหรือคนกลุ่มใด จากการต่อต้านและความเข้าใจผิด ขอให้เราระลึกว่า
พระเยซูเจ้าก็ทรงเคยผ่านความทุกข์เช่นนั้นมาก่อน ... คืนนั้น ผู้ที่อยู่กับพระองค์ตกอยู่ในบรรยากาศที่น่าเศร้าใจ คนหนึ่งในพวกเขาได้ออกจากที่นั่น เพื่อทำการทรยศต่อพวกเขา นี่คือสุดยอดของความไม่รัก (non-love) เป็นการละทิ้งมิตรสหาย ละทิ้งคนที่เคยใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเพื่อนฝูงมานานเป็นเดือนเป็นปี...
    พระเยซูเจ้าทรงเข้าใจความยากลำบากของเรา พระองค์ทรงเคยผ่านสิ่งเหล่านี้มาแล้ว
บัดนี้ บุตรแห่งมนุษย์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ และพระเจ้าทรงได้รับ
พระสิริรุ่งโรจน์ในบุตรแห่งมนุษย์ด้วย ถ้าพระเจ้าทรงได้รับ
พระสิริรุ่งโรจน์ในบุตรแห่งมนุษย์ พระเจ้าจะทรงให้บุตรแห่งมนุษย์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในพระองค์ด้วย และจะทรงให้บุตรแห่งมนุษย์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ในทันที
    พระเยซูเจ้าทรงมีพระทัยนิ่งสงบอย่างยิ่ง ท่ามกลางสถานการณ์อันน่าตื่นเต้นนี้ พระองค์ทรงสงบใจได้อย่างที่มนุษย์ไม่อาจทำได้ ... พระเจ้าข้า โปรดประทานสันติสุขนี้แก่เราด้วยเทอญ ...
    สันติสุขของพระเยซูเจ้าแสดงออกมาด้วยประโยคที่เริ่มต้นด้วย “บัดนี้” และจบลงด้วย “ทันที” คำกริยาที่ต้นประโยคเป็นปัจจุบันกาล และคำกริยาที่ท้ายประโยคเป็นอนาคตกาล รูปแบบประโยคเช่นนี้เผยให้เห็นทัศนคติของจิตใจ กล่าวคือ ตั้งแต่บัดนี้แล้ว (ขณะที่พระทรมานเริ่มต้น และเริ่มต้นด้วยการออกไปของ
ยูดาส) พระเยซูเจ้าทรงคิดถึงการเสร็จสมบูรณ์ของกระบวนการนี้ ซึ่งจะเกิดขึ้น “ทันที หรือในไม่ช้า” และนั่นคือการกลับคืนชีพ ...
    ความหวังทำให้เรารอคอยเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น “ข้าพเจ้าคิดว่าความทุกข์ทรมานในปัจจุบันเปรียบไม่ได้เลยกับ
พระสิริรุ่งโรจน์ที่จะทรงบันดาลให้ปรากฏแก่เรา” (รม 8:18) ... เช่นเดียวกับพระเยซูเจ้า ข้าพเจ้าลิ้มรสความสุขนิรันดรได้ตั้งแต่บัดนี้แล้ว ท่ามกลางความทุกข์ทรมานในปัจจุบันของข้าพเจ้า ความสุขนิรันดรซึ่งจะกลายเป็นความจริงได้ในอนาคตเท่านั้น “ทันที” ...
บัดนี้ บุตรแห่งมนุษย์ได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ ... และพระเจ้าทรงได้รับ
พระสิริรุ่งโรจน์ในบุตรแห่งมนุษย์ด้วย ...
    เราจะไตร่ตรองมากขึ้นกับข้อเผยแสดงที่น่าประหลาดใจนี้ ซึ่งทำให้เราเข้าถึงชีวิตภายในของพระเยซูเจ้า
    กระบวนการพระทรมานได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อผู้ทรยศออกไปจากห้อง ในความคิดของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงได้รับ
พระสิริรุ่งโรจน์แล้ว นี่คือความจริงข้อหนึ่ง ...
    เรารู้สึกว่ายากจะเชื่อว่าไม้กางเขนกลายเป็นพระสิริรุ่งโรจน์สำหรับพระเยซูเจ้าแล้ว เรามักอยากจะร้องไห้คร่ำครวญด้วยความสงสารพระองค์ในวันพฤหัสบดี และวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
จนเราลืมความชื่นชมยินดีของวันอาทิตย์ปัสกาเสียสนิท แต่
พระผู้ทรงถูกตรึงกางเขนทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์แล้ว และทรงถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระเจ้าแล้ว เมื่อใดเราจึงจะเลิกคิดว่ากางเขนเป็นสิ่งที่น่ากลัว ซึ่งเราต้องระงับยับยั้งถ้าทำได้
พระเยซูเจ้าทรงมองว่า กางเขนของพระองค์คือพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่า...” (ยน 15:13) ถูกแล้ว ผู้มีความรักแท้ย่อมรู้ได้จากประสบการณ์ ว่าความรักย่อมนำไปสู่การเสียสละเพื่อความสุขของผู้ที่เขารัก ... ใครที่รักแต่ตัวเอง ไม่มีวันเข้าใจได้ ...
    ท่านอยากรู้หรือไม่ว่าท่านรักใครบางคนหรือเปล่า ขอให้ถามตัวท่านว่าท่านสามารถเสียสละตนเองด้วยความรักเพื่อบุคคลนั้นได้หรือไม่ ... แต่จงระวัง เสียงเจ้าเล่ห์ของโลกสมัยใหม่จะกระซิบที่ข้างหูของท่าน ว่าท่านคิดผิดที่จะเสียสละตนเอง ... ว่าท่านกำลังเป็นเหยื่อ ว่าท่านไม่มีบุคลิกภาพ และบอกว่าท่านควรคิดถึงตนเองให้มากกว่านี้อีกสักหน่อย ...
ลูกทั้งหลายเอ๋ย เราจะอยู่กับท่านอีกไม่นาน
    ถ้อยคำเหล่านี้แสดงความรักอันอ่อนโยนเหมือนมารดา นี่เป็นครั้งเดียวตลอดพระวรสารทั้งฉบับที่พระเยซูเจ้าทรงใช้วลีว่า “ลูกทั้งหลายเอ๋ย”...
    พระเยซูเจ้ากำลังจะจากไป พระองค์ทรงทราบ และทรงบอกให้พวกเขารู้
    น่าเสียดายที่บทอ่านนี้ตัดประโยคต่อไปนี้ ซึ่งกล่าวว่า “ท่านจะแสวงหาเรา แต่เราบอกท่านบัดนี้ เหมือนกับที่เราเคยบอกชาวยิวว่า ที่ที่เราไปนั้นท่านไปไม่ได้” ชาวโลกร่วมสมัยกังวลเมื่อ
ดูเหมือนว่าพระเจ้าไม่ประทับอยู่กับเขา พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าคืนที่พระองค์ทรงอยู่กับมิตรสหายของพระองค์นั้น เป็นคืนสุดท้ายของพระองค์ บัดนี้ พระองค์จะต้องทิ้งเขาไว้ตามลำพัง โดยที่พระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ในลักษณะของมนุษย์ที่เขาจับต้องและมองเห็นได้ เวลานั้นจะเป็นเวลาที่ “ไม่มีพระองค์” แต่พระองค์มีบางสิ่งบางอย่างจะบอกเรา ขอให้เราตั้งใจฟัง ...
เราให้บทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลาย ให้ท่านรักกัน
    พระเยซูเจ้าทรงจากไป แต่พระองค์ทรงประกาศว่าพระองค์จะประทับอยู่กับเขาในรูปแบบใหม่ “ผู้ใดรักเรา ผู้นั้นจะปฏิบัติตามวาจาของเรา พระบิดาของเราจะทรงรักเขา พระบิดาจะเสด็จมาพร้อมกับเรา มาหาเขา จะทรงพำนักอยู่กับเขา” (ยน 14:23) ยอห์นจะแสดงความคิดเห็นว่า “ถ้าเรารักกัน พระเจ้าย่อมทรงดำรงอยู่ในเรา” (1 ยน 4:12)
    ถูกแล้ว ความรักแท้ก็คือ “การประทับอยู่อย่างแท้จริง” ของ
พระเจ้า “ที่ใดมีสองหรือสามคนชุมนุมกันในนามของเรา เราอยู่ที่นั่นในหมู่พวกเขา” (มธ 18:20) พระเยซูเจ้าจะประทับอยู่ท่ามกลางคนที่ร่วมใจกันภาวนา
    “ท่านทำสิ่งใด (ให้อาหาร ให้เสื้อผ้า ไปเยี่ยมเยียน รักษาพยาบาล) ต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:31-46) พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในมนุษย์ทุกคนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือจากข้าพเจ้า และผู้ที่ข้าพเจ้ารับใช้...
    ถ้าคำพูดนี้เป็นความจริง ... ก็เป็นความจริงที่ “การตายของ
พระเจ้า” – หรือการไม่มีพระเจ้าประทับอยู่ในโลกสมัยใหม่ของเรา – หมายถึงการตายของความรัก เมื่อมนุษย์ไม่มีความรักต่อกันแล้ว ... นี่เป็นข้อควรระวังอีกข้อหนึ่ง เสียงเจ้าเล่ห์ของโลกสมัยใหม่พยายามชักนำให้เราหลงทาง เสียงนี้ดังไม่หยุดจากทุกคลื่น ในทุกคำโฆษณา คนทั่วไปพูดถึง และขับร้องถึงแต่ความรัก แต่เป็นความรักประเภทใดกันแน่ ความรักแบบโรแมนติก (Eros) หรือความรักด้วยความเคารพ (Agape) ... เป็นความรักตนเอง หรือความรักต่อผู้อื่น
    คำว่ารัก (love) ในภาษาอังกฤษ เป็นหนึ่งในคำที่กำกวมที่สุด และลวงให้เข้าใจผิดได้มากที่สุด เมื่อท่านพูดว่า “ฉันรักหมากฝรั่ง (I love chewing gum)” ท่านรักสิ่งที่ท่านกำลังทำลายเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเองหรือ และเมื่อท่านรักใครบางคน ท่านรักบุคคลนั้นในลักษณะเดียวกันหรือ คือรักเพื่อตนเอง หรือรักเพื่อตัวเขา ภาษากรีกกำกวมน้อยกว่า เพราะใช้สองคำเพื่อบ่งบอกความเป็นจริงที่ตรงกันข้าม
    -    Eros หมายถึงความรักตนเอง ... ความรักที่มองเห็นผู้อื่นเป็นเหยื่อ จนถึงกับทำลายเขาได้...
    -    Agape หมายถึงความรักผู้อื่นอย่างไม่เห็นแก่ตัว ... ความรักที่พร้อมจะสละความสุขของตนเองเพื่อความสุขของผู้อื่น...
    Ad Gentes (ข้อ 12) ของสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 บอกเราว่า ความรักแท้หมายถึง “ความรักเมตตาแบบคริสตชน ซึ่งมีต่อมนุษย์ทุกคน โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ สถานะทางสังคม หรือศาสนา ไม่แสวงหากำไร หรือความกตัญญู”
เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด
    ข้อความนี้เปิดโปงความคิดผิด ๆ เกี่ยวกับความรักใน
บทเพลงที่เราชอบขับร้องกันนัก
    เราต้องรักกันเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าทรงรักเรา นั่นหมายถึงความพร้อมที่จะก้มตัวลงล้างเท้าให้พี่น้องชายหญิงของเราเสมือนว่าเราเป็นทาสผู้ต่ำต้อย (ยน 13:14) ซึ่งพระองค์เพิ่งจะกระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ... หมายถึง “ยอมสละชีวิตเพื่อผู้ที่เรารัก” (ยน 10:11,15:13) ซึ่งพระเยซูเจ้าจะทรงกระทำในวันรุ่งขึ้นบนไม้กางเขน ...
    พระเยซูเจ้าตรัสแก่นักบุญแองเจลา แห่งโฟลินโญ ว่า “ความรักที่เรามีต่อเจ้าไม่ใช่เรื่องล้อเล่น” ... ความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อเรา เป็นเหตุให้พระองค์ทรงยอมสละพระองค์เองอย่างสิ้นเชิง...
    ก่อนจะรักผู้อื่นในสภาพที่เขาเป็นอยู่นั้น เราต้องเลิกคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง เราต้องยอมเสียสละ ... สำหรับพระเจ้า ความรักเช่นนี้นำพระเยซูเจ้าไปสู่ไม้กางเขน พระเจ้าทรงรักมนุษย์ จนถึงกับทรงรักเขาในสภาพของสัตว์โลกผู้รู้จักผิดพลาด ทรงยอมให้เขามีเสรีภาพที่จะปฏิเสธพระองค์ เป็นศัตรูกับพระองค์ และตัดสินประหารชีวิตพระองค์
    สำหรับพระเยซูเจ้า ความรักไม่ใช่คำพูดเลื่อนลอยและซ้ำซาก มนุษย์ทุกวันนี้ดูเหมือนจะพูดถึงความรักกันทุกคน แต่กระนั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่าบทบัญญัติของพระองค์เป็นบทบัญญัติ “ใหม่”
    ถูกแล้ว การรักให้เหมือนกับพระเยซูเจ้าทรงรัก ควรเป็นการรักอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน นี่คือหลักจริยธรรมใหม่ ซึ่งเราไม่มีวันรู้ว่าจะนำเราไปที่ใด ...
ถ้าท่านมีความรักต่อกัน ทุกคนจะรู้ว่าท่านเป็นศิษย์ของเรา
    ภายในสามบรรทัด พระเยซูเจ้าตรัสเป็นครั้งที่สามว่า “ให้รักกัน” การตอกย้ำเช่นนี้มีนัยสำคัญ พระเยซูเจ้าทรงเสนอ “เหตุ
จูงใจ” สามประการที่ส่งเสริมกันและกัน เพราะ
    -    นี่คือ “บทบัญญัติ” ของพระเยซูเจ้า - “เราให้บทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลาย”
    -    นี่คือ “ตัวอย่าง” ของพระเยซูเจ้า - “เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด”
    -    นี่คือ “เครื่องหมาย” ของพระเยซูเจ้า - “ทุกคนจะรู้ว่าท่านเป็นศิษย์ของเรา”
    ด้วยถ้อยคำเหล่านี้ พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนศิษย์ของพระองค์ให้เชื่อในความเป็นจริงของพันธกิจของพระองค์ ในเวลาที่พระองค์กำลังจะจากโลกนี้ไป ... ความรักฉันพี่น้องคือ “สถาบัน” แท้ซึ่งช่วยให้พระคริสตเจ้าประทับอยู่กับเราตลอดไปจนถึง “ยุคสุดท้าย” ที่เริ่มต้นขึ้นด้วยความตายบนไม้กางเขนของพระองค์...
    ยอห์นไม่บอกเล่าเหตุการณ์ตั้งศีลมหาสนิท อย่างที่เราคาดหมายว่าเขาน่าจะทำ แต่เขาบอกเล่าเรื่องการล้างเท้าให้บรรดาศิษย์ และการประทาน “บทบัญญัติใหม่” ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ราวกับว่า ในความคิดของยอห์น การแสดงความรักเป็นอนุสรณ์ และเครื่องหมายอันแท้จริง และสามารถบ่งบอกถึงการประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระคริสตเจ้าได้อย่างมีประสิทธิผลเท่าเทียมกับศีลมหาสนิท ยอห์นเสริมถ้อยคำของ
ผู้นิพนธ์คนอื่นให้สมบูรณ์ โดยให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระมากกว่าพิธีกรรม ตามคำบอกเล่าของมัทธิว มาระโก และลูกา พระเยซูเจ้าตรัสว่า “นี่คือกายของเราที่มอบให้ และโลหิตของเราที่หลั่งออกมา” และตามคำบอกเล่าของยอห์น พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราล้างเท้าให้ท่าน จงรักกันและกัน เหมือนกับที่เรารักท่าน” แต่นี้คือการประทับอยู่เดียวกัน และแท้จริงเหมือนกัน
    ความคิดนี้ควรเพียงพอจะท้าทายคริสตชนที่ร่วมพิธีบูชามิสซา เครื่องหมายที่ทำให้เรารู้ว่าใครเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าไม่ใช่เพียงการไปวัดฟังมิสซา แต่เครื่องหมายแท้จริงคือ “ถ้าท่านมีความรักต่อกัน ทุกคนจะรู้ว่าท่านเป็นศิษย์ของเรา”...
    คนต่างศาสนาจะสังเกตเห็นเครื่องหมายนี้หรือไม่ ... เราจะสงวนเครื่องหมายนี้ไว้แสดงออกเฉพาะเวลาที่คริสตชนมาชุมนุมกันภายในกำแพงทั้งสี่ด้านของวัดอย่างนั้นหรือ...
    พระเยซูเจ้าตรัสอย่างแน่นอนถึงเครื่องหมายที่เราต้องแสดงออกในชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องหมายหนึ่งเดียวที่มนุษย์ทุกคนมองเห็นได้ง่าย การเป็นพยานของคริสตชนจะปรากฏให้เห็นได้ง่าย ถ้าเราเข้าร่วมในภารกิจอันยิ่งใหญ่ทั้งปวงของโลกสมัยใหม่ กล่าวคือ ภารกิจส่งเสริมความยุติธรรม สันติภาพ บรรเทาความอดอยาก และส่งเสริมศักดิ์ศรีของมนุษย์
ศีลมหาสนิทส่งเรากลับออกไปยังถนนในบ้านเมืองของเรา ไปยังสำนักงาน และที่ทำงานของเรา ไปยังโรงเรียน และมหาวิทยาลัยของเรา ไปยังทุกสถานที่แห่ง “การรับใช้”...