วันอาทิตย์ที่หก เทศกาลปัสกา


ยอห์น 14:23-29
    พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “ผู้ใดรักเราผู้นั้นจะปฏิบัติตามวาจาของเรา พระบิดาของเราจะทรงรักเขา พระบิดาจะเสด็จพร้อมกับเรา
มาหาเขา จะทรงพำนักอยู่กับเขา ผู้ที่ไม่รักเรา ก็ไม่ปฏิบัติตามวาจาของเรา วาจาที่ท่านได้ยินนี้ ไม่ใช่วาจาของเรา แต่เป็นของพระบิดา
ผู้ทรงส่งเรามา เราบอกสิ่งเหล่านี้ให้ท่านฟัง ขณะที่เรายังอยู่กับท่าน แต่พระผู้ช่วยเหลือ คือพระจิตเจ้า ที่พระบิดาจะทรงส่งมาในนามของเรานั้น จะทรงสอนท่านทุกสิ่ง และจะทรงให้ท่านระลึกถึงทุกสิ่งที่เราเคยบอกท่าน เรามอบสันติสุขไว้ให้ท่านทั้งหลาย เราให้สันติสุขของเรากับท่าน เราให้สันติสุขกับท่านไม่เหมือนที่โลกให้ ใจของท่านอย่าหวั่นไหว หรือมีความกลัวเลย ท่านได้ยินที่เราบอกกับท่านแล้วว่า เรากำลังจะไป และเราจะกลับมาหาท่านทั้งหลาย ถ้าท่านรักเรา ท่านคงยินดีที่เรากำลังไปเฝ้าพระบิดา เพราะพระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าเรา และบัดนี้เราได้บอกท่านทั้งหลายก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น เพื่อว่าเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ท่านจะเชื่อ”


บทรำพึงที่ 1
เราให้สันติสุขของเรากับท่าน
    บรรดาศิษย์กำลังมึนงงและสับสน เมื่อพระเยซูเจ้าทรงบอกพวกเขาว่าพระองค์จะต้องจากเขาไปในไม่ช้า ความรักทำให้ยากที่จะปล่อยให้คนที่เรารักจากเราไป พระเยซูเจ้าอธิบายว่าเขาจำเป็นต้องยอมสูญเสียการประทับอยู่ทางกายภาพของพระองค์ เพื่อให้พระองค์สามารถประทานของขวัญที่ยิ่งใหญ่กว่าแก่เขาได้ พระองค์ทรงสัญญาจะประทานพระพรอันพิเศษสุดแก่เขาจากพระบิดา พระจิตเจ้า และพระบุตร
    พระพรของพระบิดา คือ การสัมผัสกับความรักของพระองค์ภายในวิญญาณ เป็นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดสนิทสนมกับ
พระผู้สร้างสรรพสิ่ง
    พระพรของพระจิตเจ้า คือ แสงสว่างแห่งความเชื่อ เพื่อให้เข้าใจคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้า
    พระพรของพระบุตร คือ Shalom ซึ่งไม่ใช่สันติสุขอย่างที่ได้รับจากโลก แต่เป็นความเข้มแข็งภายในของพระองค์เองที่ช่วยให้พระองค์สามารถเผชิญหน้ากับความรู้สึกขัดแย้งจากการจากไป และความเจ็บปวดจากกางเขน
    หลักปรัชญาที่แพร่หลายทั้งในโลกตะวันตก และตะวันออก เสนอสิ่งที่เลียนแบบสันติสุข ซึ่งก็มีประโยชน์ในแง่หนึ่ง แต่ไม่ใช่สันติสุขแท้
    โลกตะวันตกที่นิยมแสวงหาความสุข เสนอสันติสุขที่เหมือนกับการบรรเทาความหงุดหงิด เสนอให้กินยาระงับความปวด ให้หลบหนีความเบื่อไปหาความบันเทิง ให้ปลดปล่อยพลังงานที่สะสมอยู่ในตัวออกมา ให้ปลอบประสาทด้วยดนตรีเบา ๆ ให้คลายเครียดด้วยสุรา หรือยาระงับประสาท วิธีเหล่านี้เสนอทางหนี แต่ไม่ทำให้เกิดความเข้มแข็งภายในที่แท้จริง การหนีปัญหาอาจทำให้คลายความเจ็บปวดได้ชั่วครู่ชั่วยาม แต่ไม่อาจรักษาบาดแผลได้
    โลกตะวันออกเสนอให้เดินทางเข้าสู่ความสงบภายใน เหมือนกับเรือดำน้ำที่ดำลึกลงไปในทะเล เพื่อหลบหนีพายุที่กำลังพัดกระหน่ำบนผิวน้ำแห่งชีวิต โลกตะวันออกสอนว่าต้นเหตุของความเจ็บปวด และความทุกข์ คือ ความปรารถนา (กิเลส) ดังนั้น วิธีรักษาความเจ็บปวดจึงต้องทำด้วยการควบคุมกิเลสของเรา มีการค้นคว้าเทคนิคต่าง ๆ ในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกวิธีหายใจ และกล่าวคำง่าย ๆ ซ้ำ ๆ กันในใจ เพื่อใช้เป็นวิธีควบคุมตนเอง
    เราสามารถใช้ยาระงับความเจ็บปวดของโลกตะวันตกได้อย่างถูกกฎหมาย และได้ประโยชน์จากการแสวงหาความสงบภายใน สิ่งสูงสุดที่ศิษย์ของพระคริสตเจ้าต้องแสวงหา คือสันติสุขในความรักที่พระเจ้าประทานให้แก่วิญญาณ สันติสุขของ
พระเยซูเจ้า ที่พระองค์ประทานแก่ศิษย์ของพระองค์ จะเจริญเติบโตจากความใกล้ชิดกับพระเจ้า ผู้ทรงพำนักอยู่ในตัวเรา
    คำว่าใกล้ชิดสนิทสนม (intimacy) มาจากรากศัพท์ภาษา
ละตินว่ากลัว (fear) ความใกล้ชิดหมายถึงความสัมพันธ์ที่สามารถเผชิญหน้ากับความเสี่ยงและความกลัว ความเจ็บปวดและความทุกข์ยากต่างๆ ที่ความสัมพันธ์นั้นจะนำมาให้ ความใกล้ชิดสนิทสนมเกิดจากความไว้วางใจอันแรงกล้าระหว่างสองฝ่ายที่ช่วยให้ทั้งสองร่วมกันเผชิญหน้าทั้งยามสุขและยามทุกข์ ไม่ว่าจะรวยหรือจน ไม่ว่าจะเจ็บป่วยหรือสุขภาพดี
    เพราะความใกล้ชิดสนิทสนมกับพระบิดา พระเยซูเจ้าจึงสามารถตรัสเรื่องของสันติสุขในคืนที่พระองค์กำลังเผชิญกับความวิตก ความผิดหวัง และความกลัว บ่อเกิดของความไว้ใจของพระองค์คือพระองค์ทรงทราบว่าพระองค์กำลังปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา “อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า แต่ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” สันติสุขที่พระองค์ตรัสถึงนี้ไม่ใช้การหลบหนีความเป็นจริงอันเจ็บปวด แต่เป็นความเข้มแข็งที่จะเผชิญหน้ากับกางเขน
    ทั้งชีวิตของพระองค์คือการสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับ
พระประสงค์ของพระบิดา แม้จะมีบางส่วนที่ส่งเสียงครวญครางท่ามกลางพายุแห่งความมืดมนและความทุกข์ทรมาน แต่บ้านของพระองค์ยังตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคงแข็งแรง พระประสงค์ของพระบิดาเป็นที่ตั้งของฐานรากของพระองค์ ความเข้มแข็งภายใน และสันติสุขของพระองค์ กวีดังเต กล่าวว่า ความยินดีของบุคคลที่อยู่ในสวรรค์เกิดจากการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า คนเหล่านี้บอกเขาว่า “สันติสุขของเราอยู่ในพระประสงค์ของพระองค์”
    ผู้นิพนธ์พระวรสาร ผู้บันทึกคำสัญญาของพระเยซูเจ้าว่าจะประทานสันติสุขนี้ รู้ดีว่าบรรดาศิษย์จะต้องดำเนินชีวิตอยู่กับความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน และการเบียดเบียนจนถึงตายอย่างไรเพื่อรักษาความเชื่อของพวกเขา และเช่นเดียวกับ
พระอาจารย์ของเขา คนเหล่านี้จะพบสันติสุขในความเป็นหนึ่งเดียวอันสนิทสนมกับพระบิดา ... กับพระเจ้า ผู้เสด็จมาพำนักอยู่ในหัวใจของเขา
    “ใจของท่านอย่าหวั่นไหว หรือมีความกลัวเลย” บางส่วนในชีวิตอาจเจ็บปวด และน่ากลัวในบางครั้ง แต่ชีวิตโดยรวมยังมั่นคง เพราะพระเจ้าทรงพำนักอยู่ในหัวใจ
    “พระเจ้าประทับอยู่ภายใน หัวใจย่อมไม่หวั่นไหว” (สดด 45)


บทรำพึงที่ 2
ปล่อยวาง
    ภายในห้องหนึ่งในย่านคนจนของนครนิวยอร์ก ในคืนหนึ่งของเดือนสิงหาคมที่อากาศอบอ้าว ชายชราคนหนึ่งนอนหายใจระรวยใกล้สิ้นใจ แม้แต่เครื่องปรับอากาศที่ส่งเสียงครางเบา ๆ ก็ช่วยอะไรไม่ได้
    คนที่เฝ้าอยู่รอบเตียงคนหนึ่งได้พันสายประคำรอบนิ้วมือข้างขวาของเขา มืออีกข้างหนึ่งของเขากำกล่องเงินเล็ก ๆ แนบไว้กับหัวใจของเขา
    คนในครอบครัวของเขารู้ว่าสิ่งมีค่าในกล่องนั้นคือดินหนึ่งกำมือจากเกาะเล็ก ๆ ทางตะวันตก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา เป็นเกาะที่หาพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ได้ยาก มีแต่ก้อนหินที่พายุฝนจากมหาสมุทรแอตแลนติกชะล้างจนเกลี้ยงเกลา เขาเก็บดินกำมือนี้ขึ้นมาในคืนหนึ่งก่อนวันที่เขาจะเดินทางออกจากเกาะเมื่อ 60 ปีก่อน ตอนแรกเขาใส่ดินนี้ไว้ในถุงกระดาษสีน้ำตายที่ยับยู่ยี่ และเปลี่ยนมาใส่ในโถแก้วในเวลาต่อมา จากนั้นเขาได้นำดินมาเก็บไว้ในกล่องเงินเล็ก ๆ ใบนี้ในที่สุด กล่องเงินนี้เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย
ชิ้นเดียวในชีวิตที่เขาซื้อหามาได้ เขาเอาชีวิตรอดอยู่ได้ในเมืองนี้ เขาเลี้ยงดูครอบครัวจนบุตรเติบโต แต่ไม่เคยหาเงินได้มากพอจะเดินทางกลับไปบ้านเกิด เมื่อเวลาผ่านไปแต่ละปี ดินกำมือนั้นก็ยิ่งมีค่า เพราะมันนำเขากลับไปยังสวนอีเดนในความทรงจำ ...
ไปหาลมที่มีกลิ่นเกลือที่พัดอย่างอิสระ เสียงพูดในภาษาพื้นเมือง เสียงร้องของนกนางนวลที่บินร่อนกลางอากาศ ในช่วงท้ายของชีวิต ครอบครัวของเขาเสนอจะจ่ายค่าเดินทางให้ แต่เขากลัวที่จะกลับไป กลัวว่าความฝันของเขาจะสลาย
    เขาค่อย ๆ ล่องลอยออกไปไกลจากเสียงสวดภาวนา
เบา ๆ ... เหมือนกับอยู่ในเรือที่แล่นไปตามทางน้ำใต้ดิน
รอบข้างมีแต่ความมืด แต่เรือกำลังแล่นไปหาสถานที่หนึ่งที่สว่าง และเขาเห็นว่ามีประตูขนาดใหญ่ แต่ประตูอยู่สูงเกินกว่าเขาจะเอื้อมถึง ชายที่เฝ้าประตูเดินออกมา และยื่นมือจะฉุดเขาขึ้นไป แต่เขามัวแต่กำดินนั้นไว้ในมือ เรือกระชากไปข้างหน้า และแล่นต่อไปตามกระแสน้ำ
    เขามาถึงประตูอีกบานหนึ่ง ครั้งนี้ มีกลุ่มคนที่ดูคล้ายกับบิดามารดาและเพื่อนบ้านในวัยเด็กของเขาปรากฏตัวให้เห็น และร้องเรียกเขา
    เขาเอื้อมมือไปหาคนเหล่านั้น แล้วก็หยุดเพื่อตรวจดูว่ากล่องเงินยังอยู่เรียบร้อยดีหรือเปล่า แต่แล้ว เขาก็จับมือคนเหล่านั้นไม่ทัน ขณะที่กระแสน้ำพัดเรือห่างออกไป
    มาถึงประตูที่สาม ... ที่นี่มีเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่ง เขาตกใจที่เห็นว่าเด็กอาจได้รับอันตรายจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวเบื้องล่าง ดูเหมือนว่าเขากระโดดเข้าไปสู่อ้อมแขนของเด็กน้อย เขาขึ้นมายืนบนฝั่งได้ ภายในประตู เขาพบเกาะหนึ่งที่เหมือนกับเกาะบ้านเกิดของเขามาก แต่สวยงามกว่าหลายเท่า เมื่อคนทั้งหลายที่เฝ้าอยู่รอบเตียงเห็นกล่องเงินหลุดจากมือของเขา และดินแห้ง ๆ ตกลงบนพื้นห้อง ทุกคนรู้ว่าชายชราไปถึงบ้านของเขาแล้ว
    การปล่อยให้พระเยซูเจ้าจากไป เป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดมากสำหรับอัครสาวก จนเขาไม่เข้าใจว่าพระองค์กำลังตรัสอะไร เขาต้องการยึดเหนี่ยวอยู่กับการพบเห็นพระองค์ สัมผัสตัวพระองค์ได้ทุกวัน “ถ้าท่านรักเรา ท่านคงยินดีที่เรากำลังไปเฝ้าพระบิดา” ความรักแท้ที่ไม่เห็นแก่ตัวย่อมรู้ว่าเมื่อใดควรปล่อยมือ ความวางใจในพระเจ้าโดยสิ้นเชิงเรียกร้องให้เรายอมเสี่ยง และปล่อยดินกำมือสุดท้ายให้หลุดไปจากมือของเรา
ฟรานซิส ทอมสัน เขียนถึงความกลัวที่จะยอมจำนนต่อสุนัข
ล่าเนื้อแห่งสวรรค์ว่า “เพราะแม้ข้าพเจ้าจะรู้จักความรักของ
ผู้ที่ติดตามข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าก็ยังกลัวมาก ว่าเมื่อได้พระองค์มาแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่เหลือสิ่งอื่นใดอีก” ดินในกำมือของเราอาจมีหลายรูปแบบ เช่น
    -    ความภาคภูมิใจในเกียรติยศ และความสำเร็จของเรา
    -    การยืนกรานเรียกร้องสิทธิของเราอย่างดื้อรั้น
    -    ความสงสารตนเอง โดยอ้างว่าความสนุกสนานของเราที่เป็นบาป เป็นการชดเชยความทุกข์ยากของเรา
    -    ความโกรธที่เก็บกดไว้ โดยไม่ยอมลืมความเจ็บปวดในอดีต
    ด้วยความเข้าใจอันเฉียบคม นักบุญฟรังซิส บอกว่าความโกรธเป็นบาปที่ผิดต่อความยากจน เพราะความทรงจำเกี่ยวกับความเจ็บปวดเป็นเหมือนกระเป๋าเงินที่ความเห็นแก่ตัวไม่ยอมวาง “เรากำลังจะไป และเราจะกลับมาหาท่านทั้งหลาย” ก่อนที่พระองค์จะเสด็จมาหาเราได้ เราต้องปล่อยดินในกำมือของเรา มือที่ว่างเปล่าจะเผยให้เห็นหัวใจที่เปิดกว้างที่กำลังรอคอยพระองค์

บทรำพึงที่ 3
    เรายังรำพึงตาม “คำปราศรัยอำลา” ของพระเยซูเจ้า ที่ประทานให้ในคืนวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ ข้อความที่เราอ่านในวันนี้เป็นคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น ว่าเป็นคำตอบของ
พระเยซูเจ้าต่อคำถามของยูดา ว่า “พระเจ้าข้า ทำไมพระองค์ทรงต้องการแสดงพระองค์แก่พวกเรา แต่ไม่แสดงพระองค์แก่โลก” ... วรรณกรรมของชาวยิวในยุคของพระเยซูเจ้าแสดงว่าคนร่วมสมัยกับพระองค์คาดหมายว่าพระเมสสิยาห์จะเป็นผู้นำทางการเมือง
ผู้ทรงอำนาจ ผู้จะเอาชนะศัตรูของพระองค์ และบังคับให้
ผู้ต่อต้านพระองค์ก้มลงคำนับพระองค์ ... นี่คือความคาดหวังของ
อัครสาวกด้วยเช่นกัน ...
    เราคาดหวังเช่นนี้ด้วยหรือเปล่า ...
ผู้ใดรักเรา ผู้นั้นจะปฏิบัติตามวาจาของเรา พระบิดาของเราจะทรงรักเขา พระบิดาจะเสด็จพร้อมกับเรา มาหาเขา จะทรงพำนักอยู่กับเขา ผู้ที่ไม่รักเราก็ไม่ปฏิบัติตามวาจาของเรา
    พระเจ้าทรงตัดสินพระทัยจะแสดงพระองค์ด้วยวิธีนี้เพียงวิธีเดียว คือ พระองค์จะเสด็จมาพำนักในหัวใจของผู้ที่ยินดีต้อนรับพระองค์ และเชื่อในพระองค์ หรืออีกนัยหนึ่ง มีแต่ผู้ที่รักพระองค์เท่านั้นที่จะรับรู้ได้ถึงการประทับอยู่ของพระองค์ ... ความรักไม่บีบบังคับ ไม่กดขี่...
    ในความรักประสามนุษย์ของเรา ถ้าเป็นความรักแท้ เราจะสัมผัสได้ถึงความใกล้ชิดของผู้ที่เรารัก แม้ว่าบุคคลนั้นไม่ได้อยู่กับเราทางกายภาพ เพราะบางครั้ง เราอาจพบว่าเรากำลังพูดในใจกับคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน บุตร คู่หมั้น คู่สมรส...
    “การอยู่ของผู้ที่ไม่อยู่” เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นได้กับผู้ที่รักกันเท่านั้น...
    แม้แต่ในวันนี้ เราก็ยังโอดครวญว่าพระเจ้า “ไม่อยู่” ว่า
พระเจ้า “ทรงเงียบ” ผู้มีความเชื่อจะได้ยินคำท้าทายจากพวก
อเทวนิยมเสมอว่า “พระเจ้าของท่านอยู่ที่ไหน” (สดด 42:4) แต่ในปัจจุบัน คำถามนี้เป็นการแสดงการปฏิเสธพระศาสนจักร และชีวิตชุมชนของพระศาสนจักร พระเยซูเจ้าทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดีที่น่ายึดถือเป็นแบบอย่าง ... ไม่มีใครตำหนิพระองค์ แต่เขาเมินเฉยต่อพระองค์ราวกับว่าพระองค์ไม่มีตัวตน โดยแก้ตัวง่าย ๆ ว่า “ฉันเป็นคริสตชนที่ไม่ปฏิบัติศาสนกิจ”...
    แต่นี่คือเส้นแบ่งเขตระหว่าง “ศิษย์แท้ของพระเยซูเจ้า” และมนุษย์อื่น ๆ ... แม้ว่าคนเหล่านั้นรู้สึกว่าเข้าใจความทุกข์ยากของชายชาวนาซาเรธที่ชื่อเยซู ... พระเยซูเจ้าทรงกล้าหาญพอจะยืนยันว่า พระองค์ไม่ได้เป็นเพียงบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในอดีต หรือเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับมนุษย์ และคำสั่งสอนของพระองค์อาจช่วยเราให้นำไปไตร่ตรองได้เท่านั้น ... แต่พระองค์ทรงกล้ายืนยันว่าพระองค์ยังมีชีวิตอยู่ในวันนี้ พระองค์ยังทำงาน และประทับอยู่กับมนุษย์ในวันนี้ ... อาศัยการกลับคืนชีพของพระองค์ พระองค์ทรงเข้าสู่โลกของพระเจ้า และทำให้พระองค์ทรงกลายเป็นคนร่วมสมัยของมนุษย์ทุกคน
    “พระคริสตเจ้าของคุณอยู่ที่ไหน” ... “เราไม่เคยพบเห็น
พระเยซูของคุณ” ... พระเยซูเจ้าทรงตอบคำถามเหล่านี้เองว่า...
ผู้ใดรักเรา เราจะมาพำนักอยู่กับเขา
    พระคริสตเจ้าทรงยืนยันว่า นับจากเวลานั้นเป็นต้นไป พระองค์จะประทับอยู่ในโลกนี้ผ่านทางบุคคลที่รักพระองค์ ... ผ่านทางผู้มีความเชื่อแท้ ผู้ที่พระองค์ทรงพำนักอยู่ในตัวเขา...
    เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้ พระองค์กำลังจะสิ้นพระชนม์ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา และพระองค์ทรงทราบความจริงข้อนี้ดี พระองค์ได้ประกาศแล้วว่าพระองค์ทรงเป็นพระวิหารใหม่ที่จะสร้างขึ้นใหม่ภายในสามวัน (ยน 2:19-22) ...ในพระวิหารใหม่นี้ ชาวยิวจะสัมผัสกับการประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระเจ้า ... แต่บัดนี้ พระเยซูเจ้าตรัสมากกว่านั้นอีก พระองค์ทรงกล้าระบุว่า นับจากเวลาที่พระองค์ออกจากโลกนี้ไป คริสตชนผู้มีความเชื่อจะสัมผัสได้ถึงการประทับอยู่อย่างเหนือคำบรรยายนี้ (ในลักษณะที่มองไม่เห็นด้วยตา)
ผู้ใดรักเรา ผู้นั้นจะปฏิบัติตามวาจาของเรา ... วาจาที่ท่านได้ยินนี้ไม่ใช่วาจาของเรา แต่เป็นของพระบิดาผู้ทรงส่งเรามา
    บุคคลที่มีความรักต่อกันอย่างแท้จริง ย่อมรับฟังกัน สนทนากัน มีคำพูด และมีการสื่อสารกัน ... ไม่มีอะไรทำลายความรักได้มากกว่า “การไม่ฟัง” หรือ “การไม่พูด”
    พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยแก่เราด้วยพระวาจาเหล่านี้ ว่าอะไรเป็นหัวใจสำหรับชีวิตคริสตชนแท้ สิ่งนั้นคือการรำพึงภาวนาตามพระวาจาของพระองค์ ซึ่งเป็นเสมือนศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการประทับอยู่ของพระองค์ ... นี่คือความจริง พระเยซูเจ้าไม่ได้ประทับอยู่กับเราในลักษณะที่มีร่างกายที่เราจับต้องได้ แต่ผู้ที่รักพระองค์จะมีความคิดและพระวาจาของพระองค์อยู่กับเขาเสมอ ขอให้เราสังเกตว่าพระเยซูเจ้าไม่ได้ตรัสถึงพระวาจาที่เราสัมผัสรับรู้ด้วยสติปัญญาเท่านั้น แต่หมายถึงพระวาจาที่เราเชื่อฟัง และนำไปปฏิบัติ พระวาจาซึ่งถ้าเรานำไปปฏิบัติในชีวิต จะทำให้เรารับรู้ได้ว่าผู้ที่ตรัสพระวาจานั้นประทับอยู่กับเรา ... การประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนชีพ และยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ในวันนี้ ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในชีวิตของศิษย์แท้ของพระองค์
    ในทำนองเดียวกับที่พระเยซูชาวนาซาเรธ ทรงเป็น “การประทับอยู่” และพระวาจาของพระบิดา (“วาจาที่ท่านได้ยินนี้ไม่ใช่วาจาของเรา”) คริสตชน – และพระศาสนจักร – ก็จะเป็นการประทับอยู่เดียวกันนี้ให้ชาวโลกมองเห็นด้วย ... นี่เป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ
เราบอกสิ่งเหล่านี้ให้ท่านฟัง ขณะที่เรายังอยู่กับท่าน แต่พระผู้ช่วยเหลือคือพระจิตเจ้า ที่พระบิดาจะทรงส่งมาในนามของเรานั้น จะทรงสอนท่านทุกสิ่ง และจะทรงให้ท่านระลึกถึงทุกสิ่งที่เราเคยบอกท่าน
    พระวาจาของพระเยซูเจ้าไม่ใช่ “สิ่งหนึ่ง” แต่เป็น “ใครคนหนึ่ง” เมื่อพระเยซูเจ้าทรงจากไป “อีกพระบุคคลหนึ่ง” จะเสด็จมา และรับช่วงหน้าที่เป็นพระวาจาของพระบิดาต่อจากพระองค์ เป็นเสมือนครูจากสวรรค์ เป็นครูสอนแนวทางชีวิตภายใน ที่พระบิดาทรงส่งมาในพระนามของพระเยซูเจ้า
    พระจิตเจ้าไม่ทรงเพิ่มเติมสิ่งที่พระเยซูเจ้าเคยสั่งสอน เช่นเดียวกับที่พระเยซูเจ้าไม่เพิ่มเติมสิ่งใดให้กับพระวาจาของพระบิดา ทั้งสามพระบุคคลนี้เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มี “พระเจ้าสามองค์” ... แต่มี “พระเจ้าองค์เดียว” อิสราเอลบอกเช่นนี้ และอิสลามจะย้ำเช่นนี้ ... แม้จะมีความแตกต่างด้านภาษา แต่ศาสนาคริสต์ก็ไม่แย้งแก่นแท้ของความเชื่อนี้ พระบิดาทรงเป็นพระเจ้าที่เรามองไม่เห็น พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้าผู้เคยประทับอยู่บนโลกนี้ เคยตรัส และเคยทำงานเพื่อช่วยมนุษย์ให้รอดพ้น
พระจิตเจ้าทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงสืบทอดการประทับอยู่
พระวาจา และกิจการของพระเยซูเจ้าและพระบิดาให้ดำเนินต่อไปในจิตวิญญาณของมนุษย์
พระจิตเจ้าที่พระบิดาจะทรงส่งมาในนามของเรา
    เราใช้ตาแห่งหัวใจของเราเพ่งพินิจภาพวาดพระตรีเอกภาพของรูเบลฟ ที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์เทรเทียคอฟใน
กรุงมอสโคว์ มีคนจำนวนมากจากทั่วโลกเดินทางมาชม ภาพนี้แสดงให้เห็นสามบุคคลที่มีปีกที่สนิทสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดรอบโต๊ะ ทั้งสามเป็นหนึ่งเดียวกัน ภายในวงกลมอันสมบูรณ์ที่ประกอบขึ้นจากรูปร่างของทั้งสามบุคคล
    พระบิดา “ผู้ทรงอยู่เหนือทุกสิ่ง” ประทับอยู่ข้างหลังโต๊ะ ทรงเพ่งมองพระบุตรสุดที่รักของพระองค์ ผู้ประทับอยู่เบื้องขวาของพระองค์ และทรงถ่ายทอดทุกสิ่งทุกอย่างให้พระบุตร ... พระบุตร ในเสื้อคลุมสีแดงสด (ซึ่งโปร่งใสจนทำให้มองเห็นสีฟ้าที่แสดงพระเทวภาพของพระบิดาได้) ทรงเพ่งมองที่พระจิตเจ้า และทรงถ่ายทอดทุกสิ่งทุกอย่างให้พระองค์ ... แต่น่าอัศจรรย์จริง ๆ ที่ธรรมล้ำลึกของการถ่ายทอดความรักของพระตรีเอกภาพไม่ได้หยุดอยู่ที่พระจิตเจ้า เพราะในองค์พระจิต วงกลมนี้เปิดออก และพระจิตเจ้าทรงมองมายังโลก และทรงชี้นิ้วลงมาที่โลก และถ่ายทอดทุกสิ่งทุกอย่างให้แก่โลก ...
    พระตรีเอกภาพคือความใกล้ชิดสนิทสนมนิรันดร ที่เกิดจากความรักระหว่างสามพระบุคคล ผู้ทรงเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียวกัน พระบิดาทรงดำรงอยู่ในพระบุตร และพระบุตรทรงดำรงอยู่ในพระบิดา ในพระจิตองค์เดียวกัน ... และพระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อนำศิษย์ของพระองค์เข้ามาสู่ “ครอบครัว” นี้ ผ่านทางพระจิตเจ้า
พระจิตเจ้าจะทรงสอนท่านทุกสิ่ง และจะทรงให้ท่านระลึกถึงทุกสิ่งที่เราเคยบอกท่าน
    พระเยซูเจ้าทรงบอกว่า พระจิตทรงเป็นผู้ที่จะถ่ายทอดทั้งชีวิตของพระเจ้าให้แก่มนุษยชาติ โดยทรงดลบันดาลให้มนุษย์ค่อย ๆ เข้าใจพระวาจาของพระเจ้า – พระวาจาซึ่งหมายถึงองค์พระเยซูเจ้าเอง ... พระวาจาของพระบิดา ... พระจิตเจ้าทรง
สั่งสอน ... พระจิตเจ้าทรงกระตุ้นความทรงจำ...
    แม้ว่าศิษย์ของพระเยซูเจ้าใช้ชีวิตอยู่กับพระองค์นานเป็นเดือนเป็นปี แต่พวกเขาก็ไม่ได้เชื่อในพระองค์อย่างจริงจัง แม้กระทั่งในคืนก่อนที่พระองค์จะจากเขาไป ยอห์นยอมรับว่าเขาเข้าใจคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าเพียงในภายหลัง (ยน 2:17,
22, 13:6, 19) อาจกล่าวได้ว่า เมื่อพระเยซูเจ้าทรงออกจากโลกนี้ ยังไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ ไม่มีอะไรที่แก้ไขให้ถูกต้องได้ตลอดไป พระจิตเจ้าจะทรงช่วยพระศาสนจักรให้เข้าใจทีละน้อยในสาระของความเชื่อที่พระองค์ทรงเผยแสดง
    บางคนตกใจ และบอกว่าพระศาสนจักร “เปลี่ยนไป” แต่เห็นได้ชัดว่าในความคิดของพระเยซูเจ้า พระศาสนจักรยังต้องเปลี่ยนแปลงอีกมาก – ภายใต้การชี้นำของพระจิตเจ้า “พระจิตจะทรงสอนท่านทุกสิ่ง และจะทรงให้ท่านระลึกถึงทุกสิ่ง ...”
พระวาจาส่วนใหญ่ของพระเยซูเจ้าได้เผยสาระสำคัญออกมาหลังจากที่พระศาสนจักรได้เก็บรักษาพระวาจาเหล่านั้นไว้ในความทรงจำเป็นเวลานาน และได้รำพึงไตร่ตรองมานานหลายศตวรรษ ข้อความเชื่อของเราเกิดขึ้น และระบุออกมาเป็นถ้อยคำที่ชัดเจน หลังจากได้ผ่านกระบวนการไตร่ตรองจนสมบูรณ์
ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และกระบวนการนี้ยังดำเนินต่อเนื่องไป...
    เราเชื่อจริงหรือว่าพระจิตเจ้าทรงประทับอยู่ และทรงทำงานในพระศาสนจักร...
    ทำไมพระจิตเจ้าจึงจะหยุดทำงานตั้งแต่เมื่อศตวรรษที่ห้า หรือในศตวรรษที่ 15 หรือในสภาสังคายนาที่นิเซีย หรือในสภาสังคายนาที่เทรนท์ ... เราเห็นได้ชัดว่าพระจิตเจ้ายังทรงทำงานอยู่จนถึงทุกวันนี้ พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราจะอยู่กับท่านจนถึง
สิ้นพิภพ” ... ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่พระศาสนจักรยังต้องเข้าใจ ค้นพบ และนำไปปฏิบัติในชีวิตจริง...
    เป็นความจริงที่พระศาสนจักรต้องพัฒนาขึ้นตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ และเป็นความจริงมากยิ่งกว่า ที่เราทุกคนก็ต้องพัฒนาขึ้นด้วย พระจิตเจ้าทรงมีหลายสิ่งหลายอย่างให้ข้าพเจ้ายังต้องค้นพบ ... ในตัวข้าพเจ้ามีพลังอันน่ากลัวที่ทำให้ข้าพเจ้าหลงลืม ... ดังนั้น เมื่อข้าพเจ้าได้รับความสว่างเกี่ยวกับพระวาจาใดจากพระวรสาร ข้าพเจ้าควรนำพระวาจานั้นไปปฏิบัติทันที ... ข้าพเจ้าต้อง “ซื่อสัตย์” ต่อสารนี้โดยได้รับการดลใจจาก
พระจิตเจ้า เพื่อว่าข้าพเจ้าจะเข้าถึงธรรมล้ำลึกของพระเจ้า และเกี่ยวกับมนุษย์ในระดับลึกมากขึ้น
เรามอบสันติสุขไว้ให้ท่านทั้งหลาย เราให้สันติสุขของเรากับท่าน เราให้สันติสุขกับท่านไม่เหมือนที่โลกให้ ใจของท่านอย่าหวั่นไหว หรือ
มีความกลัวเลย ท่านได้ยินที่เราบอกกับท่านแล้วว่า เรากำลังจะไป และเราจะกลับมาหาท่านทั้งหลาย
    สันติสุข หรือ Shalom เป็นคำทักทายตามปกติของชนชาติอิสราเอล
    แต่ข้อความนี้เป็นคำทักทายของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพในวันปัสกา สันติสุขนี้มาจากการประทับอยู่ของพระผู้ทรง
“ไม่อยู่” แต่ทรง “กลับมา” เสมอสำหรับผู้ที่รักพระองค์ นี่คือสันติสุขที่โลกไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะโลกก็มองไม่เห็นการประทับอยู่ที่บันดาลความบรรเทาใจนี้ด้วยเช่นกัน...
ถ้าท่านรักเรา ท่านคงยินดีที่เรากำลังไปเฝ้าพระบิดา เพราะพระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าเรา และบัดนี้ เราได้บอกท่านทั้งหลายก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น เพื่อว่าเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ท่านจะเชื่อ
    ระหว่างที่พระเยซูเจ้าทรงปฏิบัติพันธกิจบนโลกนี้ พระองค์ประทับอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของพื้นที่และเวลา ซึ่งเป็นข้อจำกัดของ ”สภาพมนุษย์” ของเรา พระเยซูเจ้าทรงยอมรับสภาพนี้ว่า “ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราด้อยกว่าพระบิดา” ... เราต้องเข้าใจประโยคนี้ในแง่มุมที่ถูกต้อง และไม่ถือว่าเป็นข้อความที่ขัดแย้งกับประโยคอื่น ๆ ที่ยืนยันความเท่าเทียมกันระหว่างพระเยซูเจ้า และพระบิดาของพระองค์ ในคืนนั้น พวกอัครสาวกเองก็ไม่เข้าใจอะไรเลย...
    เชิญเสด็จมา พระจิตเจ้าข้า