วันอาทิตย์ที่หก เทศกาลธรรมดา

ลูกา 6:17, 20-26
    พระเยซูเจ้าเสด็จลงมาจากภูเขาพร้อมกับบรรดาศิษย์ และทรงหยุดอยู่ ณ ที่ราบแห่งหนึ่ง ที่นั่นมีศิษย์กลุ่มใหญ่และประชาชนจำนวนมากจากทั่วแคว้นยูเดีย จากกรุงเยรูซาเล็ม จากเมืองไทระ และจากเมืองไซดอนซึ่งอยู่ริมทะเล มาฟังพระองค์ และรับการรักษาให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บของตน
    พระองค์ทรงทอดพระเนตรบรรดาศิษย์ ตรัสว่า
    ท่านทั้งหลายที่ยากจนย่อมเป็นสุข เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของท่าน
    ท่านที่หิวในเวลานี้ย่อมเป็นสุข เพราะท่านจะอิ่ม
    ท่านที่ร้องไห้ในเวลานี้ย่อมเป็นสุข เพราะท่านจะหัวเราะ
    ท่านทั้งหลายเป็นสุข เมื่อคนทั้งหลายเกลียดชังท่าน ผลักไสท่าน ดูหมิ่นท่าน รังเกียจนามของท่านประหนึ่งนามชั่วร้าย เพราะท่านเป็นศิษย์ของบุตรแห่งมนุษย์ จงชื่นชมในวันนั้นเถิด จงโลดเต้นยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านนั้นยิ่งใหญ่นักในสวรรค์ บรรดาบรรพบุรุษของเขาเหล่านั้นเคยกระทำเช่นนี้กับบรรดาประกาศกมาแล้ว
    วิบัติจงเกิดกับท่านที่ร่ำรวย เพราะท่านได้รับความเบิกบานใจแล้ว
    วิบัติจงเกิดกับท่านที่อิ่มเวลานี้ เพราะท่านจะหิว
    วิบัติจงเกิดกับท่านที่หัวเราะเวลานี้ เพราะท่านจะเป็นทุกข์และร้องไห้
    วิบัติจงเกิดกับท่าน เมื่อทุกคนกล่าวยกย่องท่าน เพราะบรรดาบรรพบุรุษของเขาเหล่านั้นเคยกระทำเช่นนี้กับบรรดาประกาศกเทียมมาแล้ว

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
พระพรจากพระเจ้า

    พระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นเทศน์สอนอุดมคติของพระราชัยของพระเจ้าในหัวใจมนุษย์ พระองค์ทรงเริ่มต้นด้วยการท้าทายสมมุติฐานหลายข้อที่สนับสนุนคุณค่าทางศาสนา และหลักศีลธรรมของศาสนาเดิม

    มัทธิวเล่าเรื่องบทเทศน์อันยิ่งใหญ่นี้ โดยบรรยายให้เห็นภาพของพระเยซูเจ้าว่าทรงเป็นอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ในพันธสัญญาใหม่ ดังนั้น เขาจึงบอกเล่าว่าพระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนบนภูเขา ประทับยืนอย่างทรงอำนาจเหนือประชาชนทั่วไป ส่วนลูกาต้องการเสนอภาพของพระเยซูเจ้าในลักษณะที่อ่อนน้อมถ่อมตนกว่านั้น พระวรสารของลูกาจึงบอกว่าพระเยซูเจ้าเสด็จลงมาจากภูเขา และทรงหยุดอยู่ ณ ที่ราบแห่งหนึ่ง พระองค์ทรงกำลังทำให้ผู้ฟังทุกคนยืนอยู่ในระดับเดียวกัน

    ประชาชนมาหาพระองค์ ให้พระองค์รักษาโรค ความเจ็บป่วยทำลายสันติสุขในใจ เมื่อเรามีความคิดเห็นที่สอดคล้องกลมเกลียวกับพระเจ้าในทุกสิ่งทุกอย่าง จิตใจของเราจะมีสันติสุข เมื่อใดที่ความกลมเกลียวนี้ถูกทำลาย สันติสุขก็สลายไปด้วย และโรคภัยไข้เจ็บก็จะตามมา

    เมื่อพระองค์ทรงเริ่มต้นเปิดเผยวิสัยทัศน์ของชีวิตที่สนิทสนมกลมเกลียวกับพระราชัยของพระเจ้า ก่อนอื่น พระองค์ทรงท้าทายแนวความคิดของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับความหมายของการได้รับพร หรือความสุขจากพระเจ้า พระวาจาของพระเยซูเจ้าปฏิวัติแนวความคิด เพราะพระองค์ทรงพลิกกลับความหมายของคำว่า “เป็นสุข” หรือได้รับพระพร ซึ่งเป็นความหมายที่ประชาชนยอมรับมาแต่เดิม พระคัมภีร์ New Jerusalem ได้กลับมาใช้คำว่า “ได้รับพระพร (blessed)” แทนคำว่า “เป็นสุข (happy)” การได้รับพระพรหมายถึงสถานะที่ได้รับความกรุณาอันเปี่ยมด้วยความรักจากพระเจ้า ในขณะที่ความสุขแสดงถึงสถานะทางอารมณ์ ซึ่งอาจไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าเลยก็ได้

    ชาวยิวที่พระเยซูเจ้าเทศน์สอนคิดว่าเครื่องหมายที่แสดงว่าบุคคลหนึ่งได้รับพระพรจากพระเจ้าคือความเจริญรุ่งเรือง อำนาจ เกียรติคุณ และความนิยมชมชอบจากผู้อื่น นี่คือจุดเด่นในวิถีชีวิตของบุคคลที่เลือกนั่งแถวหน้าในศาลาธรรม หรือที่ประชุม เคยมีผู้เขียนภาพการ์ตูนล้อว่าในยุคพันธสัญญาเดิม ถ้าคุณได้รับพระพร คุณจะรู้ตัว เพื่อนบ้านของคุณก็รู้ และผู้จัดการธนาคารของคุณก็รู้ ชาวยิวคงตกใจเมื่อได้ยินพระเยซูเจ้าตรัสถึงสถานะที่ได้รับพระพรในสายตาของพระเจ้า พระองค์ทรงหมายถึงคนยากจน คนไร้อำนาจ คนที่ทุกข์ระทมใจ หรือคนที่เป็นเหยื่อของความอยุติธรรม

    ชาวยิวสืบทอดความคิดเกี่ยวกับพระพรของพระเจ้ามาตั้งแต่ยุคโบราณ ก่อนที่เขาจะมีความเชื่อในชีวิตหลังความตาย เมื่อเขาไม่มีความรู้เกี่ยวกับรางวัล หรือการลงโทษนิรันดร เขาจึงเข้าใจว่าพระพรของพระเจ้าควรปรากฏให้เห็นตั้งแต่ในชีวิตนี้ จึงจะถือว่าพระเจ้ามีความยุติธรรม

    สถานะของการเป็นส่วนหนึ่งของพระอาณาจักร หรือพระราชัยของพระเจ้าที่กล่าวถึงในบุญลาภ หรือความสุขแท้นี้ ใช้คำกริยาปัจจุบันกาล ... พระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของท่าน ... ส่วนบุญลาภที่บรรเทาใจล้วนใช้คำกริยาในรูปของอนาคตกาล พระเยซูเจ้าไม่ทรงสัญญาความเจริญรุ่งเรือง และความสำเร็จในชีวิตนี้ ซึ่งตรงกันข้ามกับคำอ้างของหลาย ๆ คนที่เรียกตนเองว่านักเทศน์ผู้ประกาศพระวรสาร

    เพื่อมิให้มองข้ามพระพรที่คนยากจนได้รับ เมื่อได้ยินคำอธิบายความหมายของบุญลาภอย่างผิด ๆ พระเยซูเจ้าทรงเตือนคนทั้งหลายที่กำลังเบิกบานใจอยู่กับความเจริญรุ่งเรืองทางโลก ว่าพวกเขาเสี่ยงที่จะให้ความสนใจแต่ตนเอง จนไม่มีที่ว่างเหลือให้พระเจ้า วิบัติจงเกิดกับท่านที่ร่ำรวยในเวลานี้ เพราะท่านไม่คิดว่าท่านต้องพึ่งพาพระเจ้า วิบัติจงเกิดกับท่านที่ชีวิตมีแต่เสียงหัวเราะ วิบัติจงเกิดกับท่านที่ชอบพูดถึงความยิ่งใหญ่ของตนเอง วิบัติจงเกิดกับท่านผู้ติดใจกับความนิยมอันฉาบฉวย เพราะจิตใจของท่านห่างไกลจากคุณค่าแท้ของชีวิต ประกาศกที่ท่านติดตามอยู่นั้นเป็นประกาศกเทียม

    ในวันอาทิตย์ที่ 26 ของปีนี้ เราจะได้ยินอุปมาเรื่องเศรษฐีและลาซารัส เราจะพบคำเตือนทั้งสี่ข้อของพระเยซูเจ้าได้ในตัวของเศรษฐีผู้นี้ ในขณะที่ความทุกข์ยากของลาซารัส ทำให้เขาเป็นตัวแทนบุคคลที่บุญลาภกล่าวถึง เขาสิ้นไร้ และเศร้าหมองในชีวิตนี้ แต่เขาเป็นผู้ที่จะได้รับความบรรเทาใจทั้งปวงในชีวิตหน้า นัยสำคัญของเรื่องอุปมานี้คือชื่อลาซารัส ซึ่งแปลว่าพระเจ้าทรงมีความสงสาร

    ผู้ที่ยากจน หิวโหย ทุกข์ระทมใจ และไม่ได้รับความยุติธรรม จะได้รับพระพรจากพระเจ้าเป็นพิเศษ แต่ผู้ที่แสวงหาความร่ำรวย และความสุขสำราญในชีวิตนี้ย่อมไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะยอมรับพระพรอันประเสริฐสุดของพระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงปรับพื้นที่ให้มนุษย์ทุกคนอยู่ในระดับเดียวกัน

ข้อรำพึงที่สอง
หาพื้นที่ว่างสำหรับพระเจ้า

ศิษย์        :    ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าใคร่ครวญคำเทศน์สอนของท่านแล้ว โดยเฉพาะเกี่ยวกับบุญลาภ ข้าพเจ้าชื่นชมอุดมคติของท่านมาก แต่ท่านไม่คิดหรือว่า ในกรณีนี้ คำสั่งสอนของท่านยากเกินกว่าสามัญสำนึกจะรับได้

อาจารย์    :    ท่านหมายความว่าอะไร

ศิษย์        :    ก็เรื่องที่อาจารย์พูดถึงคนยากจน ผู้หิวโหย คนทุกข์ระทมใจ และเหยื่อความอยุติธรรม ท่านคงไม่ได้หมายความอย่างนั้นจริง ๆ เมื่อท่านบอกว่าพวกเขาได้รับพระพร ... อย่าบอกนะว่าคนพวกนี้ตื่นขึ้นมาทุกเช้าอย่างมีความสุขกับสภาพของตนเอง ข้าพเจ้าต้องขอโทษที่พูดเหมือนไม่เคารพอาจารย์ แต่ข้าพเจ้าไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของท่าน

อาจารย์    :    เราไม่โกรธท่านหรอก ท่านลองมองในทางกลับกันซิ ชนชาติที่ร่ำรวยทั้งหลายนั้น ท่านคิดว่าเขาพอใจกับชีวิตแล้วหรือ เขามีความสุขแล้วหรือ เขาพบกับความหมายของชีวิตที่ทำให้ชีวิตของเขามีเป้าหมายหรือเปล่า เขากำลังฝังจิตใจอยู่ในสิ่งบันเทิงใจ และกลัวที่จะตอบคำถามที่ลึกซึ้งหรือเปล่า หรือคิดว่าไม่มีใครควบคุมโลกนี้ได้อีกต่อไปแล้ว ถ้าเราพูดเช่นนี้ก็เหมือนกับเราไม่เชื่อในพระอานุภาพของพระบิดาของเรา

ศิษย์        :    ถูกแล้ว ข้าพเจ้าเห็นด้วยว่าเงินทอง สุรายาเมา และแสงสี สร้างปัญหาในชีวิตมากกว่าให้ความสุข แต่อาจารย์ก็บอกว่าคนยากจน และคนที่ถูกกดขี่เป็นคนที่ได้รับพระพร ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าท่านพยายามบอกอะไร

อาจารย์    :    เราจะเปรียบเทียบอย่างนี้ก็แล้วกัน ท่านลองนึกถึงภาพงานเลี้ยงที่มีอาหารอร่อยมากมาย ถ้าคนที่มานั่งที่โต๊ะอาหารเป็นคนที่กำลังหิว เขาคนนั้นเป็นคนโชคดี จริงไหม แต่น่าสงสารคนที่อิ่มแล้วเพราะเขากินอาหารขยะมาก่อน

ศิษย์        :    ชัดเจนดี อาจารย์ ท่านเปรียบเทียบได้เก่งมาก ดังนั้น อาหารขยะเหล่านั้นก็คือวัตถุนิยม และกามารมณ์ และเรื่องที่ตื่นเต้นเร้าใจ “พระองค์ทรงส่งเศรษฐีให้กลับไปมือเปล่า” ข้าพเจ้าเข้าใจส่วนนี้ได้ แต่ยังไม่เข้าใจว่าพระองค์ประทานสิ่งดีทั้งหลายแก่ผู้อดอยากอย่างไร พระองค์ประทานให้เมื่อเราตายไปแล้วเท่านั้นหรือ ข้าพเจ้าเบื่อหน่ายที่ได้ยินคำเทศน์สอนศาสนาเหมือนเป็นความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ที่เราจะได้รับเมื่อเราตายไปแล้ว เหมือนกับไม่ยอมรับว่ามนุษย์เรามีปัญหาในชีวิต
อาจารย์    :    รางวัลในสวรรค์เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เราหมายถึงความสุขบนโลกนี้ และเวลานี้ด้วย

ศิษย์        :    นั่นแหละที่ข้าพเจ้ากำลังอยากรู้ พวกเขามีความสุขได้อย่างไรในเวลานี้ เราจะพูดได้อย่างไรว่าความยากจน ความหิว หรือความอยุติธรรมเหล่านั้นเป็นพระพร

อาจารย์    :    ก็เมื่อมนุษย์หาพื้นที่ว่างให้พระเจ้าเข้ามาอยู่ในหัวใจของเขาได้ไงเล่า พระบิดาของเราต้องการแบ่งปันชีวิต และความรักของพระองค์กับพวกท่านทุกคน แต่ท่านคิดถึงแต่เรื่องของตนเองจนไม่มีพื้นที่เหลือในใจอีกแล้ว เมื่อมือของท่านมีแต่สิ่งไร้สาระเต็มกำมือ พระองค์จึงต้องเคาะที่ข้อนิ้วของท่าน เพื่อให้ท่านแบมือออก

ศิษย์        :    ข้าพเจ้าคิดว่าข้าพเจ้าเริ่มเข้าใจแล้วว่าอาจารย์กำลังพยายามบอกอะไร

อาจารย์    :    คนยากจนเป็นคนที่รู้ว่าตัวตนแท้จริงของเขาเป็นอย่างไร พวกเขาเรียนรู้ที่จะหิวกระหาย และอยากได้ และมีความหวัง สภาพเช่นนี้แหละที่เปิดทางให้พระเจ้าเข้ามาในหัวใจของเขา คนที่กำลังเสียใจ และผิดหวัง กำลังเรียนรู้ว่าวิญญาณจะอิ่มได้เมื่อได้เสพคุณค่านิรันดรเท่านั้น คนที่รู้ว่าการจากไปนั้นเจ็บปวดอย่างไร รู้ว่าการปล่อยวางทำได้ยากอย่างไร และการตายหมายถึงอะไร คนเหล่านี้เรียนรู้ว่าทุกทางออกก็เป็นทางเข้าด้วย และทุกความตายเป็นประตูที่เปิดเข้าสู่ชีวิตใหม่ คนที่เคยสัมผัสกับความมืดย่อมเรียนรู้ว่าชีวิตมีอะไรมากกว่าประสบการณ์ตื้น ๆ ที่ไม่ยั่งยืน ท่านก็รู้ว่าท่านต้องอยู่ท่ามกลางความมืดก่อน ท่านจึงจะเงยหน้าขึ้นเพ่งมองดวงดาวที่อยู่ไกล ๆ

ศิษย์        :    มันเหมือนกับฟองน้ำใช่ไหม เมื่อมันเปียกน้ำจนชุ่มแล้ว มันก็ดูดซับน้ำอีกไม่ได้ ดังนั้น พระเจ้าจึงต้องบีบฟองน้ำของเรา ก่อนที่เราจะดูดซับความยิ่งใหญ่ของพระองค์ไว้ได้

อาจารย์    :    เปรียบเทียบได้ดี ครั้งนี้ท่านเป็นฝ่ายยกเรื่องอุปมาที่เหมาะสม แต่เราคิดว่าท่านคงไม่มีวันบรรลุถึงปรีชาญาณนี้ได้ เว้นแต่ว่า ท่านได้ลิ้มรสความยากจนของคำถามของท่านก่อน นี่เป็นข้อพิสูจน์ของเราว่าคนยากจน คนหิวโหย และคนที่ว่างเปล่านั้นเป็นผู้ได้รับพระพรอย่างแท้จริง

ศิษย์        :    ขอบพระคุณ ท่านอาจารย์ บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นแล้วว่าการทำตัวให้ว่างเปล่าเพื่อพระเจ้า เป็นก้าวแรกที่นำไปสู่ความสุขแท้

บทรำพึงที่ 2

    วันนี้ เรารำพึงภาวนาตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา เรื่องความสุขแท้ เรารู้จัก “ความสุขแท้ตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว” มากกว่า ซึ่งเป็นบทอ่านสำหรับวันฉลองนักบุญทั้งหลาย แต่เมื่อเรามีพระวาจา “หนึ่งเดียว” ของพระเจ้าที่สื่อสารแก่เราผ่านธรรมประเพณี “สอง” สายที่ต่างกัน เหมือนกับได้ยินจากสองลำโพง วันนี้เราจึงจะฟังฉบับของลูกาโดยเฉพาะ

    -    ความสุขแท้ตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (5:1) หรือบทเทศน์บนภูเขา ... มีอยู่เก้า หรือแปดข้อ ขึ้นอยู่กับวิธีนับ ... และสอนเรื่อง “ความยากจนฝ่ายจิต” เรื่องความหิวกระหายความชอบธรรม และการกลับใจภายใน ...

    -    ความสุขแท้ตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (6:20) หรือบทเทศน์บนที่ราบ ... ประกอบด้วยความสุขแท้สี่ข้อ และคำสาปแช่งสี่ข้อ และเป็นการพูดกับ “ผู้ยากจนจริง ๆ” คือ ผู้ที่ท้องหิว และร่ำไห้จริง ๆ

พระเยซูเจ้าเสด็จลงมาจากภูเขาพร้อมกับบรรดาศิษย์ และทรงหยุดอยู่ ณ ที่ราบแห่งหนึ่ง ... ที่นั่นมีศิษย์กลุ่มใหญ่ และประชาชนจำนวนมากจากทั่วแคว้นยูเดีย จากกรุงเยรูซาเล็ม จากเมืองไทระ และจากเมืองไซดอน ซึ่งอยู่ริมทะเล

    เช่นเดียวกับโมเสส (อพย 19:21) ก่อนจะประทานคำสั่งสอนแก่เรา พระเยซูเจ้าเสด็จลงมาจากภูเขา ที่ซึ่งพระองค์ทรงพบกับพระเจ้า ลูกาบอกเราว่าพระเยซูเจ้า “ทรงอธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าตลอดทั้งคืน” (ลก 6:12) พระเจ้าอาจทรงมีมุมมองที่ต่างจากเรา เราจึงต้องรู้พระประสงค์ของพระองค์ และด้วยการอธิษฐานภาวนาพระเยซูเจ้าทรงรับเอาทรรศนะของพระเจ้ามาเป็นของพระองค์เอง การภาวนาของพระองค์เป็นการสนทนากับพระบิดาสวรรค์

    บ่อยครั้งที่เรามนุษย์คิดว่า ความสุขหมายถึงการมีโชคลาภ สุขภาพดี เงินทอง หรือความสำเร็จ ... แต่เราได้ยินจากพระโอษฐ์ของพระเยซูเจ้าเองว่า อันที่จริง ความสุขเป็นเรื่องของทางเลือกส่วนบุคคล ข้าพเจ้าสามารถมีความสุขได้แม้ว่าข้าพเจ้ายากจน หิวโหย หรือถูกดูหมิ่น ... เป็นความจริงที่ขัดแย้งกันอย่างประหลาดจริง ๆ ...

    ขอให้เรารับฟังพระเยซูเจ้ากันเถิด...

พระองค์ทอดพระเนตรบรรดาศิษย์ ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายที่ยากจนย่อมเป็นสุข”

    “เป็นสุข” (blessed) มาจากศัพท์ภาษากรีกว่า Makarioi ซึ่งแปลมาจากภาษาฮีบรู ว่า asherei เป็นคำแรกในบทสดุดี 1 และใช้บ่อย ๆ ในพระคัมภีร์ ... คำนี้เป็นพหูพจน์ แสดงออกถึงความยินดีอย่างล้นเหลือ ซึ่งเราอาจแปลได้ว่า “ร่าเริง ยินดี”

    เมื่อพระเยซูเจ้าทรงประกาศความร่าเริงยินดี และความสุข ให้แก่ผู้ยากไร้ในโลกนี้ พระองค์ทรงตอบสนองความคาดหวังอย่างไร้ขอบเขตของเรา ชายและหญิงที่ชุมนุมกันอยู่เบื้องหน้าพระองค์ในวันนั้นเป็นคนป่วยจริง ๆ เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ คนยากจน และหลายคน “ถูกปีศาจรบกวน” (ลก 6:18)

    มนุษย์นี้ช่างประหลาดนัก! มนุษย์เสพสิ่งบันเทิงใจ และความสุขสบายทางกายได้อย่างไม่รู้จักอิ่ม และไม่สามารถทนรับความยากแค้น และความเจ็บปวดทางกายได้ แต่กระนั้น เขายังมีความปรารถนาแรงกล้าในสิ่งที่ไร้ขอบเขต และสิ่งอันสัมบูรณ์ ... เขาแสวงหาความสุขไม่รู้จักหยุด ทำไมมนุษย์จึงแสวงหาเช่นนี้ ถ้ามิใช่เพราะเขาต้องการสิ่งดีอันประเสริฐสุด

ท่านทั้งหลายที่ยากจนย่อมเป็นสุข ... ท่านที่หิวโหยในเวลานี้ ... ท่านที่ร้องไห้ในเวลานี้ ...

    ดูเหมือนว่ามัทธิวต้องการให้ข้อความนี้เป็นคำสั่งสอนฝ่ายจิต โดยเขียนว่า “ผู้มีใจยากจน” ข้อความนี้หมายถึงความยากจนโดยสมัครใจหรือ ... เขาหมายถึงการจงใจฝึกตนเองให้ตัดใจจากสิ่งฟุ่มเฟือยและทรัพย์ทางวัตถุ และพยายามดำรงชีพโดยมีทรัพย์ทางวัตถุให้น้อยที่สุดอย่างนั้นหรือ...

    แต่ลูกาดูเหมือนจะพูดถึงคนที่ยากจนจริง ๆ หิวจริง ๆ ... คนที่กำลังทนทุกข์ทรมาน

    คำว่า “ในเวลานี้” มีนัยสำคัญมาก ตามคำบอกเล่าของลูกา สถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ... ท่านที่ร้องไห้ในเวลานี้ ท่านจะหัวเราะ...

    เราสามารถอภิปรายได้ไม่มีวันจบสิ้นว่าแท้จริงแล้วพระเยซูเจ้าตรัสอะไร ... ว่าเป็นฉบับของมัทธิว หรือของลูกา ที่ใกล้เคียงกับพระวาจาจริง ๆ ของพระองค์ ... บางที พระเยซูเจ้าอาจประกาศข้อความทั้งสองฉบับในวันเดียวกัน หรือในโอกาสต่างกันก็เป็นได้

    ถ้าเราพิจารณาพระวรสารแบบองค์รวม ดูเหมือนว่าฉบับของลูกาจะถ่ายทอดสารของพระเยซูเจ้าอย่างชัดเจนกว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระเมสสิยาห์ของคนยากจน” พระองค์ทรงเลือกเกิดเป็นคนจน พระองค์ทรงดำเนินชีวิตอย่างคนจน พระองค์ไม่มี “แม้แต่ก้อนหินจะรองศีรษะ” พระเยซูเจ้าทรงดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่มีบ้านของตนเองให้อยู่อาศัยและพักผ่อน พระองค์จึงสามารถเป็นปากเสียงของคนยากจน และขัดสนได้

พระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของท่าน ... ท่านจะอิ่ม ... ท่านจะหัวเราะ

    มนุษย์เราจะยากจน และเป็นสุขในเวลาเดียวกันได้อย่างไร เพราะพระเยซูเจ้าตรัสว่าพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของเขา นักบุญเปาโลจะอธิบายว่าพระอาณาจักรของพระเจ้า “ไม่ใช่เรื่องการกินการดื่ม แต่เป็นความชอบธรรม สันติ และความชื่นชมยินดีในพระจิตเจ้า” (รม 14:17) คนจนวางใจในพระเจ้าเพียงผู้เดียว ในบทอ่านวันนี้ ประกาศกเยเรมีย์สอนความจริงข้อเดียวกันนี้ แต่ใช้ถ้อยคำต่างกันว่า “วิบัติจงเกิดแก่มนุษย์ ... ผู้หันหัวใจไปจากพระเจ้า ... มนุษย์ผู้วางใจในพระเจ้าย่อมเป็นสุข” (ยรม 17:5-8)

    อันตรายยิ่งใหญ่จากความร่ำรวย คือ มันหลอกให้มนุษย์คิดว่าเขาสามารถตอบสนองความอยากนานัปการของเขาได้แล้ว เขาจะคิดทีละน้อยว่าเขาสามารถวางใจในทรัพย์สินของเขาได้ แทนที่จะวางใจในพระเจ้าผู้ทรงสร้างทรัพย์สินเหล่านี้ขึ้นมาให้เขาใช้ประโยชน์ นักบุญเปาโลเตือนทิโมธีเกี่ยวกับความร่ำรวยว่า “คนที่อยากรวยก็ตกเป็นเหยื่อของการทดลอง ติดกับดัก และตกลงไปในตัณหาชั่วร้ายโง่เขลามากมาย ซึ่งทำให้มนุษย์จมลงสู่ความพินาศย่อยยับ ความรักเงินตราเป็นรากเหง้าของความชั่วร้ายทุกประการ” (1 ทธ 6:9-10)

    ตรงกันข้ามกับคนยากจนที่ไม่อาจหวังพึ่งทรัพย์ทางวัตถุได้ เขาจึงหันไปพึ่งพระเจ้าเสมอ และดำเนินชีวิตโดยพึ่งพาอาศัยพระสรรพานุภาพของพระเจ้า

ท่านทั้งหลายเป็นสุข เมื่อคนทั้งหลายเกลียดชังท่าน ผลักไสท่าน ดูหมิ่นท่าน รังเกียจนามของท่านประหนึ่งนามชั่วร้าย เพราะท่านเป็นศิษย์ของบุตรแห่งมนุษย์

    ใครคือบุคคลสำคัญในข้อความนี้ ใครคือ “บุตรแห่งมนุษย์” คนนี้ ... ซึ่งคนยากจนสามารถอ้างความสัมพันธ์ได้ ... เยซูชาวนาซาเร็ธผู้นี้ช่างกล้าจริง ๆ ทั้งที่เป็นคนจน และยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในเวลานั้น...

    เช่นเดียวกับข้อความอื่น ๆ ในพระวรสาร ประโยคนี้แสดงว่าความยากจนไม่ได้เป็นหลักประกัน “ความสุขของพระเจ้า” โดยอัตโนมัติ เพื่อจะไขว่คว้าความสุขที่พระเจ้าทรงสัญญานี้มาครอง เราต้องเข้าใจและยอมรับการทดลอง ความขัดแย้งและการต่อต้าน เหมือนกับที่พระเยซูเจ้า บุตรแห่งมนุษย์ เคยทำ การดำเนินชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้าคือต้นเหตุแท้ของความชื่นชมยินดี...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงเปลี่ยนการทดลองของข้าพเจ้าให้กลายเป็น “ความร่าเริงเบิกบาน” กับพระองค์เถิด...

จงชื่นชมในวันนั้นเถิด จงโลดเต้นยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านนั้นยิ่งใหญ่นักในสวรรค์ บรรดาบรรพบุรุษของเขาเหล่านั้นเคยกระทำเช่นนี้กับบรรดาประกาศกมาแล้ว

    พระเยซูเจ้าไม่ทรงอธิบายปัญหาของความชั่วร้าย และไม่ทรงอธิบายเหตุผลของความทุกข์ทรมาน พระวรสารกล่าวบ่อยครั้งว่าพระองค์ทรงต่อสู้กับความเจ็บปวด พระองค์ทรงรักษาโรค บรรเทาใจ และให้อภัย แต่ในกรณีนี้ พระองค์ทรงรับรองด้วยความมั่นใจอันสงบ แต่แรงกล้า ว่าความยินดีอันเร้นลับจะเผยตัวออกมาจากความทุกข์ทรมาน “การเต้นรำด้วยความยินดี” ใครมีหู ก็จงฟังเถิด...

    เราสังเกตเห็นความเฉียบแหลมของความคิดนี้ นั่นคือ ความยินดีที่พระองค์ทรงสัญญานี้จะเบ่งบานเต็มที่เพียงในสวรรค์ แต่ความยินดีอาจเริ่มต้นขึ้นได้ ตั้งแต่วันที่เราทนรับความทุกข์ทรมานแล้ว

    ความเชื่อคือการคาดหวังในสวรรค์ การคาดหวังในชีวิตนิรันดร...

วิบัติจงเกิดกับท่านที่ร่ำรวย เพราะท่านได้รับความเบิกบานใจแล้ว

    ในที่นี้ ลูการะบุสี่ประโยคที่พระเยซูเจ้าตรัส ซึ่งขนานกับความสุขแท้สี่ข้อ ดังนั้น บางครั้งจึงถูกเรียกว่า “คำสาปแช่ง” ... แต่เราจะคิดได้อย่างไรว่ามีคำสาปแช่งอยู่ในหัวใจของพระผู้เสด็จมาช่วยเราให้รอด และไม่ใช่เพื่อลงโทษ ... ในพระคัมภีร์ภาษากรีก เราไม่พบคำสาปแช่ง หรือการประณาม ... เพียงแต่เป็นการตั้งข้อสังเกตอย่างเศร้าใจว่า “การเป็นคนรวยช่างน่าสงสารจริง”
    ถูกแล้ว พระเยซูเจ้าทรงแสดงความสงสารคนรวย น่าสงสารที่หัวใจของเขาไม่ยอมรับคุณค่าแท้จริง! น่าเศร้าใจเมื่อมนุษย์วางใจในสิ่งที่เน่าเปื่อยได้...

    จงระวังตัวไว้เถิด คำเตือนนี้ไม่ได้เตือนผู้อื่น “ข้าพเจ้า” คือ คนรวยนี้ที่พร้อมเสมอที่จะลืมสิ่งจำเป็นในชีวิต

วิบัติจงเกิดกับท่านที่อิ่มเวลานี้ เพราะท่านจะหิว
วิบัติจงเกิดกับท่านที่หัวเราะเวลานี้ เพราะท่านจะเป็นทุกข์ และร้องไห้

    พระเยซูเจ้าทรงประกาศข้อความที่แสดงสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามกัน พระคัมภีร์ภาษากรีกเสนอภาพที่ชัดเจนยิ่งกว่า “วิบัติจงเกิดแก่ท่านที่กินจนเกินกระเพาะ”

วิบัติจงเกิดกับท่านเมื่อทุกคนกล่าวยกย่องท่าน เพราะบรรดาบรรพบุรุษของเขาเหล่านั้น เคยกระทำเช่นนั้นกับบรรดาประกาศกเทียมมาแล้ว

    กระบวนการคิดของพระเยซูเจ้าเหมือนกับความคิดที่แสดงออกในพระคัมภีร์ หรือของชาวฮีบรู คือ สัมบูรณ์ และระบุสองทางเลือก “ถ้าไม่เป็นเช่นนี้ ... ก็เป็นเช่นนั้น ...” การใช้คำที่มีความหมายตรงกันข้ามเช่นนี้แสดงให้เห็นการต่อสู้กันระหว่างพระเจ้าและเงินทองโดยไม่มีทางประนีประนอม “ท่านทั้งหลายจะปรนนิบัติรับใช้พระเจ้า และเงินทองพร้อมกันไม่ได้” (ลก 16:13) พระนางมารีย์ขับร้องบทเพลงสรรเสริญพระเจ้าว่า “พระองค์ทรงคว่ำผู้ทรงอำนาจจากบัลลังก์ ... ทรงส่งเศรษฐีให้กลับไปมือเปล่า ... ทรงยกย่องผู้ต่ำต้อยให้สูงขึ้น และประทานสิ่งดีทั้งหลายแก่ผู้อดอยาก”...

    เรายังจะยอมปล่อยตนเองให้หลงใหลภาพลวงตาอีกหรือ ... หรือว่าเราจะติดตามพระเยซูเจ้า “แม้ทรงร่ำรวย พระองค์ก็ยังทรงยอมกลายเป็นคนยากจน” (2 คร 8:9)...

    ข้าแต่พระเยซูเจ้า พระองค์คือ “คนยากจน” – ในพระองค์คือพระสิริรุ่งโรจน์นิรันดร...