แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่แปด เทศกาลธรรมดา

ลูกา 6:39-45
    พระเยซูเจ้ายังตรัสอุปมาให้เขาเหล่านั้นฟังอีกว่า คนตาบอดจะนำทางคนตาบอดได้หรือ ทั้งคู่จะตกลงไปในคูมิใช่หรือ ศิษย์ย่อมไม่อยู่เหนืออาจารย์ แต่ทุกคนที่ได้รับการฝึกฝนอย่างดีแล้ว ก็จะเป็นเหมือนอาจารย์ของตน ทำไมท่านจึงมองดูเศษฟางในดวงตาของพี่น้อง แต่ไม่สังเกตเห็นท่อนซุงในดวงตาของตนเลย ท่านจะกล่าวแก่พี่น้องได้อย่างไรว่า ‘พี่น้อง ปล่อยให้ฉันเขี่ยเศษฟางออกจากดวงตาของท่านเถิด’ ขณะที่ท่านไม่เห็นท่อนซุงในดวงตาของตนเอง ท่านคนหน้าซื่อใจคดเอ๋ย จงเอาท่อนซุงออกจากดวงตาของท่านก่อนเถิด ท่านจะเห็นชัด แล้วจึงค่อยไปเขี่ยเศษฟางออกจากดวงตาของพี่น้อง
    ต้นไม้ที่เกิดผลไม่ดีย่อมไม่ใช่ต้นไม้พันธุ์ดี หรือต้นไม้พันธุ์ไม่ดีย่อมไม่ให้ผลดีเช่นกัน เรารู้จักต้นไม้แต่ละต้นได้จากผลของต้นไม้นั้น เราย่อมไม่เก็บผลมะเดื่อเทศจากพงหนาม หรือเก็บผลองุ่นจากกอหนาม คนดีย่อมนำสิ่งที่ดีออกจากขุมทรัพย์ที่ดีในใจของตน ส่วนคนเลวย่อมนำสิ่งที่เลวออกมาจากขุมทรัพย์ที่เลวของตน เพราะปากย่อมกล่าวสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจออกมา”

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
สิ่งที่อยู่ในใจ

    วันนี้ เราได้ยินบทเรียนที่สามจากบทเทศน์บนที่ราบ ก่อนอื่น พระเยซูเจ้าทรงเตรียมใจทุกคนที่ฟังด้วยการตั้งคำถามว่าใครเป็นผู้ได้รับพระพรจากพระเจ้า คนรวยหรือคนจน จากนั้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พระองค์ทรงยกความรักอันปราศจากเงื่อนไขของพระบิดาให้เป็นแบบอย่างที่เราควรปฏิบัติตาม สารของพระองค์ในวันนี้ท้าทายความจริงแท้ภายในใจของเรา “เพราะปากย่อมกล่าวสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจออกมา”

    เมื่อหลายปีก่อน เคยมีคนเขียนบทความในหัวข้อว่า พระเยซูเจ้าทรงเคยแสดงอารมณ์ขันหรือไม่ และอารมณ์ขันสามารถเป็นส่วนหนึ่งของพิธีทางศาสนาได้หรือไม่ ตัวอย่างที่เกินความจริง ที่พระเยซูเจ้าทรงยกขึ้นมาเปรียบเทียบนี้ คงทำให้ผู้ฟังหัวเราะ ใครจะทำหน้าตายอยู่ได้เมื่อนึกถึงภาพของท่อนซุงทิ่มออกมาจากดวงตาของใครบางคน หรือภาพของผลมะเดื่อเทศที่งอกออกมาจากพงหนาม หรือผลองุ่นจากกอหนาม เราแทบจะได้ยินเสียงเย้าอย่างนิ่ม ๆ เมื่อพระองค์ตรัสคำว่า “ท่านคนหน้าซื่อใจคดเอ๋ย”

    การใช้อารมณ์ขันในการสั่งสอนอาจได้ผลมากกว่าการตำหนิอย่างเย็นชา และบทเรียนที่พระองค์ทรงสอนในกรณีนี้ก็เป็นบทเรียนที่สำคัญมาก เป็นคำท้าทายให้เราถามตนเองว่าอะไรซ่อนอยู่ในส่วนลึกสุดของหัวใจของเรา ในพระวรสารตอนนี้ พระเยซูเจ้าเพิ่งจะตรัสถึงการแสดงความรักที่ไม่ยอมให้ความเป็นศัตรู หรือเจตนาร้าย มาทำลายได้ บัดนี้ พระองค์ตรัสต่อไปว่าวิธีการที่เราตัดสินผู้อื่น และพูดถึงผู้อื่น จะเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับตัวเรา มากกว่าความจริงในตัวบุคคลที่เรากำลังพูดถึง

    บทอ่านที่หนึ่งที่ใช้ประกอบบทอ่านพระวรสารประจำวันนี้ก็เต็มไปด้วยปรีชาญาณ
        เมื่อร่อนตะแกรง สิ่งสกปรกจะเหลืออยู่ฉันใด
        ข้อบกพร่องของมนุษย์ก็ปรากฏให้เห็นจากคำพูดของเขาฉันนั้น
        เตาเผาทดสอบผลงานของช่างปั้นฉันใด
        มนุษย์ก็ถูกทดสอบในคำสนทนาของเขาฉันนั้น

    ถ้ามีสิ่งอื่นซ่อนอยู่ในหัวใจนอกจากความรัก ความขมขื่นจะแสดงตัวออกมาในคำสนทนา ความอิจฉาริษยาเป็นปฏิกิริยาด้านลบต่อโชคลาภของผู้อื่น ความอิจฉาริษยาเป็นเหมือนต้นไม้มีพิษที่เติบโตจากต้นกำเนิดที่ดี พลังด้านลบอื่น ๆ ที่อาจครอบครองหัวใจก็คือ ความแค้น อคติ ความทรงจำเกี่ยวกับความเจ็บปวดในอดีต ความเกลียดชัง และขาดความเมตตา

    สิ่งหนึ่งที่เราต้องพบแน่นอนท่ามกลางสิ่งสกปรกที่สะสมอยู่ในตะแกรงก็คือความมืดภายในตัวเรา หรือความรู้สึกที่เก็บกดไว้และฉายออกมาให้เห็นได้ภายนอก การฉายภาพเป็นวิธีขยายภาพในฟิล์มแผ่นเล็ก ให้ปรากฏเป็นภาพใหญ่บนจอภาพยนตร์ ท่อนซุงที่ข้าพเจ้าวิพากษ์วิจารณ์ในตัวผู้อื่น อาจเป็นภาพขยายของเศษฟางจากความมืดในตัวข้าพเจ้าเอง จำไว้เสมอว่า เมื่อเราชี้นิ้วกล่าวโทษผู้อื่น อีกสามนิ้วจะชี้กลับมาหาตัวเราเอง ... บ่อยครั้ง ระหว่างการประชุม หรือในการสนทนา เราต้องใช้ตะแกรงร่อนคำพูด เพื่อจะได้รู้ว่าผู้ที่กำลังพูดอยู่นั้นกำลังตำหนิใคร

    ความขมขื่นในใจเป็นความมืดบอดที่ทำให้เราล้มลุกคลุกคลานตามทาง เอ็ตตี้ ฮิลซัม ผู้ที่เรากล่าวถึงเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้ตั้งข้อสังเกตอย่างชาญฉลาดว่า ทุกอะตอมของความเกลียดชังที่เราเพิ่มลงไปให้โลกนี้ ทำให้โลกน่าอยู่น้อยลง บทเทศน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นทางเลือกหนึ่งที่เราจะใช้มองชีวิต ตามแผนการเดิมของพระเจ้า พระองค์ทรงต้องการให้มนุษย์ดำรงชีวิตตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า อุดมคติของพระเยซูเจ้าท้าทายเราให้ย้อนกลับมาสู่ความรักอันปราศจากเงื่อนไขของพระบิดา

    ใครเป็นผู้ครอบครองส่วนลึกสุดของหัวใจ ถ้าพระคริสตเจ้า และความรักของพระองค์ เป็นบ่อน้ำที่เราตักน้ำขึ้นมาได้ เมื่อนั้น การตัดสิน และคำสนทนาของเราจะเต็มไปด้วยแสงสว่างของพระองค์ “คนดีย่อมนำสิ่งดีออกจากขุมทรัพย์ที่ดีในใจของตน ส่วนคนเลวย่อมนำสิ่งที่เลวออกมาจากขุมทรัพย์ที่เลวของตน เพราะปากย่อมกล่าวสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจออกมา”

ข้อรำพึงที่สอง
เปโตรระลึกถึงเหตุการณ์

    ข้าพเจ้าขอพูดบางสิ่งบางอย่างในแง่ดีเกี่ยวกับตนเองบ้าง ใคร ๆ ก็รู้ว่าข้าพเจ้าเป็นคนอารมณ์ร้อน และข้าพเจ้าก็ยอมรับ แต่ข้าพเจ้าก็พูดได้ว่าข้าพเจ้าโกรธง่ายหายเร็ว และข้าพเจ้าไม่เคยเก็บความแค้นไว้ในใจเป็นเวลานาน
    พระเยซูเจ้าทรงรู้ดีว่าจะทำให้ข้าพเจ้าอารมณ์ดีได้อย่างไร พระองค์คงได้เห็นความหงุดหงิด และความโกรธที่สะสมอยู่ในตัวข้าพเจ้า หงุดหงิดเพราะข้าพเจ้าอยากจะออกไป และทำอะไรบางอย่างเพื่อพระองค์ อะไรก็ได้ที่จะพิสูจน์ว่าข้าพเจ้าเหมาะสมกับตำแหน่งอัครสาวกที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งนี้ แต่ความโกรธค่อย ๆ ผุดขึ้นมา ขณะที่ข้าพเจ้าฟังพระวาจาของพระองค์ที่สอนไม่ให้แก้แค้น ไม่ให้ใช้ความรุนแรง แต่ให้รักศัตรู พระองค์สอนอะไรที่ทำไม่ได้จริง และห่างไกลความเป็นจริงถึงเพียงนี้ได้อย่างไรกัน พระองค์กำลังอ่านใจข้าพเจ้าราวกับอ่านหนังสือ ข้าพเจ้าได้ยินพระองค์ตรัสว่า “คนตาบอดจะนำทางคนตาบอดได้หรือ”

    ข้าพเจ้ามองเห็นตนเองในประโยคนี้ ข้าพเจ้าเริ่มผ่อนคลายและถึงกับยิ้มกับตนเอง พระองค์เทศน์สอนต่อไปด้วยอารมณ์ขัน ทุกคนหัวเราะกับภาพบ้า ๆ ของคนที่มีท่อนซุงอยู่ในดวงตา เราทุกคนค่อนข้างเครียดกับคำสั่งสอนตามอุดมคติของพระองค์ เสียงหัวเราะช่วยผ่อนคลายบรรยากาศ พระองค์ตรัสเย้าว่า “ท่านคนหน้าซื่อใจคดเอ๋ย” เราจะได้ยินพระองค์ตรัสคำเดียวกันนี้ในภายหลัง แต่ตรัสด้วยน้ำเสียงดุดัน แต่ในเวลานี้พระองค์ตรัสอย่างอ่อนโยนด้วยความเข้าใจ และแทบจะเหมือนพูดเล่น มันแปลกมากใช่ไหมที่เราสามารถมองเห็นตนเองได้ในเรื่องเล่าสั้น ๆ ถ้ามีใครพยายามทำให้ท่านยอมรับความจริง ท่านจะโต้เถียงแก้ตัว แต่เมื่อบอกเล่าเป็นเรื่องอุปมา ... ท่านไม่สามารถโต้เถียงกับเรื่องเล่าได้ ข้าพเจ้าจำเป็นต้องฝึกตนเองให้มีความอดทน

    ข้าพเจ้ายังห่างไกลจากการเป็นศิษย์ที่ผ่านการฝึกฝนอย่างดีแล้ว กิ่งก้านของข้าพเจ้าจะไม่ออกผลจนกว่าข้าพเจ้าจะงอกรากที่สมบูรณ์ ข้าพเจ้าจดจำวันนั้นได้เสมอ นั่นเป็นวันแรกที่ข้าพเจ้าสัญญากับตนเองว่าข้าพเจ้าจะอดทนให้มากขึ้น ข้าพเจ้าจะคิดก่อนพูด ข้าพเจ้าจะรั้งรอสักครู่ก่อนจะกระโจนลงไปทำอะไร ข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าผิดสัญญาข้อนี้นับล้านครั้ง แต่ข้าพเจ้าก็รื้อฟั้นคำสัญญานี้ใหม่หนึ่งล้านกับอีกหนึ่งครั้งแล้ว และตราบใดที่ความตั้งใจจริงของท่านมีจำนวนมากกว่าความล้มเหลวหนึ่งครั้ง ท่านกำลังจะชนะ

    ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าหวนคิดถึงพระเยซูเจ้า ... รากของข้าพเจ้าอยู่ที่พระองค์ ... ข้าพเจ้าไม่ใช่กวี แต่ข้าพเจ้าก็เคยเขียนข้อความสั้น ๆ ที่บรรยายความอดทนของพระเยซูเจ้าจากความทรงจำของข้าพเจ้า พระคริสตเจ้าทรงรับทรมานเพื่อท่าน และประทานแบบฉบับไว้ให้ท่านดำเนินตามรอยพระบาท เมื่อเขาดูหมิ่นพระองค์ พระองค์ก็มิได้ทรงโต้ตอบ เมื่อทรงรับทรมาน พระองค์มิได้ทรงข่มขู่จะแก้แค้น แต่ทรงมอบพระองค์ไว้แด่พระผู้ทรงพิพากษาด้วยความเที่ยงธรรม พระองค์ทรงแบกบาปของเราไว้ในพระวรกายบนไม้กางเขน เพื่อเราจะได้ตายจากบาป และมีชีวิตอยู่เพื่อความชอบธรรม รอยแผลของพระองค์รักษาท่านให้หาย (1 ปต 2:21-24)

บทรำพึงที่ 2

    ใน “คำปราศรัย” ของพระเยซูเจ้านี้ ลูกาได้นำประโยคสั้น ๆ (logia หรือพระดำรัส) เกี่ยวกับทัศนคติของผู้เป็นศิษย์แท้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เราได้ยินคำบัญชาให้เรารักศัตรู ... หัวข้อสำหรับวันนี้คือทัศนคติของเราต่อพี่น้องชายหญิงในชุมชนของเรา

พระเยซูเจ้ายังตรัสอุปมาให้เขาเหล่านั้นฟังอีกว่า “คนตาบอดจะนำทางคนตาบอดได้หรือ ทั้งคู่จะตกลงไปในคูมิใช่หรือ”

    อุปมาเรื่องนี้สั้นมาก เหมือนกับสุภาษิต และพระองค์ตรัสในรูปของคำถาม ... พระเยซูเจ้าไม่ทรงให้คำตอบโดยตรง แต่ทรงกระตุ้นมโนธรรมของเราให้ใช้สมรรถภาพในการคิดด้วยเหตุผล...

    ในพระวรสารของมัทธิวที่บอกเล่าเหตุการณ์เดียวกันนี้ พระเยซูเจ้าตรัสเป็นคำเตือนให้ระวังชาวฟาริสี ผู้ชอบทำตัวเป็นผู้สั่งสอนประชาชน แต่กลับมืดบอดจนมองไม่เห็นเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า ผู้ตรัสในนามของพระเจ้า (มธ 15:14, ยน 9:40) แต่ในพระวรสารของลูกา พระองค์ตรัสข้อความนี้กับผู้นำกลุ่มคริสตชน ซึ่งในที่อื่น ๆ (ลก 22:26) ลูกา เรียกว่า hegoumenoi หรือ “ผู้นำ (guides)”

    คำว่า “คนนำทางตาบอด” ที่แสร้งทำเป็นนำทางผู้อื่นนี้ อาจหมายถึงเราได้ทุกคน เราแต่ละคนมีความรับผิดชอบในบางด้านที่จะต้องนำทางผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว ในโครงการหนึ่ง ในทีมงาน ในสมาคม หรือในเมืองหนึ่ง...

    ความรับผิดชอบของข้าพเจ้าคืออะไร ... ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบใคร...

    ใครต้องพึ่งพาอาศัยข้าพเจ้า ... ข้าพเจ้ามีความสามารถนำทางเขาได้หรือไม่ ... ข้าพเจ้ามองเห็นได้ชัดเจนว่าอะไรถูกต้องหรือไม่...

    พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าวิงวอนพระองค์โปรดประทานพระพรให้การนำทางของข้าพเจ้ากลายเป็นพระพรสำหรับทุกคนที่พระองค์ทรงมอบหมายให้ข้าพเจ้าดูแล ... โปรดทรงช่วยเหลือข้าพเจ้าให้นำทางเขาไม่ให้ตกหลุมพรางและกับดักระหว่างทาง ... โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าให้มองเห็นหนทางที่ถูกต้องด้วยเทอญ

ศิษย์ย่อมไม่อยู่เหนืออาจารย์ แต่ทุกคนที่ได้รับการฝึกฝนอย่างดีแล้วก็จะเป็นเหมือนอาจารย์ของตน

    นี่เป็นอุปมาอีกเรื่องหนึ่ง อุปมาเรื่องอาจารย์ และศิษย์ ก่อนที่เราจะมองเห็นอะไรได้ชัดเจน ก่อนจะเป็น “ผู้นำทาง” ที่เก่ง เราต้องได้รับการศึกษาอบรมจากอาจารย์ที่เก่ง

    ในแวดวงมหาวิทยาลัย นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันพูดถึงบุคคลที่เขาเรียกด้วยความเคารพอย่างยิ่งว่า “นาย (boss)” นี่คืออาจารย์ที่แนะนำเขาในการศึกษา และการทำวิทยานิพนธ์ และเป็นผู้ให้คำปรึกษาเมื่อเขาพบกับปัญหายาก ๆ

    แต่กระนั้น ทุกวันนี้ เราเห็นการปฏิเสธที่จะเคารพ และยอมรับ “อาจารย์” เราเห็นการยกย่องเชิดชู “วิธีการที่ไม่ชี้นำ” ทั้งในด้านการศึกษา และในการประกอบธุรกิจ วิธีที่กำลังนิยมกันคือการแบ่งปันความรู้ และการประชุมเชิงปฏิบัติการ วิธีที่ไม่นิยมคือการบรรยาย และการเทศน์สอนโดยผู้มีอำนาจสั่งสอน แม้ว่าเราต้องยอมรับว่าทัศนคตินี้มีคุณค่าเชิงบวก เพราะส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการแสวงหาความรู้ แต่แง่ลบของการไม่ยอมรับอาจารย์นี้ก็คือความจองหอง การปฏิเสธที่จะยอมรับความรู้ย่อมนำไปสู่การลดระดับความรู้ เพราะไม่มีความจริงหรือความรู้ใดที่เราไม่ได้ “รับมา” ในการเผยแสดงนี้ พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ศิษย์ย่อมไม่อยู่เหนืออาจารย์ ... แต่ศิษย์ต้องเรียนรู้จากอาจารย์” พระเยซูเจ้าทรงแนะนำพระองค์เองว่าเป็น “อาจารย์” ผู้ทรงรู้สิ่งที่เราไม่รู้...

    ความเชื่อเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ความเชื่อเป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่งมากกว่าเป็นความรู้ ... พระเยซูเจ้าทรงเสนอพระองค์เองเป็น “อาจารย์สอนวิชาชีวิต”...

    ข้าพเจ้ายอมรับพระองค์หรือเปล่า ... ข้าพเจ้าหิวกระหายอยากรู้ “ข้อมูลสำคัญ” ที่พระองค์ทรงเสนอแก่ข้าพเจ้าหรือเปล่า ... ข้าพเจ้าเป็นศิษย์แท้คนหนึ่งหรือเปล่า...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยข้าพเจ้ามิให้พอใจแต่เพียงความรู้เชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพระวรสารเท่านั้น และให้อยากเรียนรู้ว่าข้าพเจ้าจะดำเนินชีวิตร่วมกับพระองค์อย่างไรตลอดชีวิตของข้าพเจ้า...

ทำไมท่านจึงมองดูเศษฟางในดวงตาของพี่น้อง แต่ไม่สังเกตเห็นท่อนซุงในดวงตาของตนเลย ท่านจะกล่าวแก่พี่น้องได้อย่างไรว่า “พี่น้อง ปล่อยให้ฉันเขี่ยเศษฟางออกจากดวงตาของท่านเถิด” ขณะที่ท่านไม่เห็นท่อนซุงในดวงตาของตนเอง

    เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เราได้ยินพระเยซูเจ้าสอนเราไม่ให้ตัดสิน หรือกล่าวโทษผู้อื่น แต่เมื่อเราอยู่ในตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบ (และเราแต่ละคนก็มีความรับผิดบางอย่างแน่นอน) เราต้องตัดสิน และแก้ไขความผิดพลาดของผู้อื่น เราต้องช่วยเหลือผู้อื่น แม้ว่าเราอาจถึงกับต้องขัดแย้งกับเขา เมื่อเราพบเห็นสิ่งใดที่ผิด นี่คือหน้าที่ในการตักเตือนกันฉันพี่น้อง “ถ้าพี่น้องของท่านทำผิด จงไปตักเตือนเขาตามลำพัง” (มธ 18:15, ลก 17:3) เมื่อใดที่ความผิดนั้นเกี่ยวข้องกับหลักการ ศิษย์ของพระเยซูเจ้าไม่สามารถวางตัวเป็นกลางอยู่ได้...

    แต่พระเยซูเจ้าทรงเตือนเราให้ระวังการประจญที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุด เมื่อเราตักเตือนและต่อสู้กับความชั่วร้าย นั่นคือ เรามักมองเห็นความชั่วในตัวผู้อื่นว่าร้ายแรงกว่าความเป็นจริง ในขณะที่มองข้าม หรือลดความร้ายแรงของความชั่วในตัวเรา ภาพอุปมาของ “เศษฟาง” และ “ท่อนซุง” เป็นภาพที่ไม่อาจลืมได้ง่าย ๆ และการเปรียบเทียบที่ไม่น่าเป็นไปได้นี้ ทำให้คำสั่งสอนนี้ชัดเจน และเด็ดขาดมากขึ้น

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้เข้มงวดกับตัวเราก่อนเถิด...

    โปรดทรงช่วยเราให้มองเห็นด้านดีในตัวเพื่อนมนุษย์ มากกว่าเห็นด้านร้ายของเขา...

ท่านคนหน้าซื่อใจคดเอ๋ย จงเอาท่อนซุงออกจากดวงตาของท่านก่อนเถิด ท่านจะเห็นชัด แล้วจึงค่อยไปเขี่ยเศษฟางออกจากดวงตาของพี่น้อง

    พระเยซูเจ้าทรงตำหนิบุคคลที่ขยายความผิดของพี่น้อง พระองค์ทรงเรียกเขาว่า “คนหน้าซื่อใจคด” คำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกและแปลมาจากคำภาษาฮีบรู ว่า hanef แปลว่า “คนที่มีอคติในการวินิจฉัย คนที่ไม่สามารถมองเห็นความจริง และได้หันหลังให้พระเจ้า” ในพระวรสารของนักบุญลูกา พระเยซูเจ้าทรงใช้คำที่รุนแรงนี้อีกสองครั้งคือ “คนหน้าซื่อใจคดเอ๋ย ... ทำไมจึงไม่วินิจฉัยเวลาปัจจุบันนี้เล่า” (ลก 12:56) และ “เจ้าคนหน้าซื่อใจคด เจ้าแต่ละคนมิได้แก้โค หรือลาจากรางหญ้า พาไปกินน้ำในวันสับบาโตดอกหรือ” (ลก 13:15) คำนี้รุนแรงกว่าความหมายของคำที่ใช้ในภาษาอังกฤษ (hypocrite)

    อุปมาเรื่อง “เศษฟาง และท่อนซุง” ได้กลายเป็นสุภาษิตไปแล้ว เราคงอยากจะพูดว่า “จริงทีเดียว” แต่เรากำลังคิดถึงผู้อื่น ... แต่พระเยซูเจ้าทรงขอให้เราตั้งคำถามกับตนเองว่า เราต้องปฏิรูปตนเองเสียก่อนจึงจะ “เปลี่ยนแปลงสังคม” ได้ ... เราคงเห็นได้อีกครั้งหนึ่งว่าพระเยซูเจ้าไม่ทรงสนับสนุนให้ “เปลี่ยนโครงสร้าง” ซึ่งอาจไม่ทำให้อะไรเปลี่ยนไปเลย ถ้าหัวใจมนุษย์ยังไม่เปลี่ยน...

    พระศาสนจักรเองจำเป็นต้องปฏิรูปตนเองไม่มีวันหยุด ก่อนจะพยายามเปลี่ยนโลก และคริสตชนแต่ละคนต้องเปลี่ยนตนเองโดยสิ้นเชิงก่อนจะทำให้ผู้อื่นกลับใจ...

    ก่อนจะกล่าวโทษ และประณามใคร ก่อนจะเสียเวลาวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น ... พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนเราให้ร่วมกันค้นหาด้วยความถ่อมตน ว่าเราจะปรับปรุงตัวเราให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง เราควรเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน...

ต้นไม้ที่เกิดผลไม่ดี ย่อมไม่ใช่ต้นไม้พันธุ์ดี หรือต้นไม้พันธุ์ไม่ดี ย่อมไม่ให้ผลดีเช่นกัน เรารู้จักต้นไม้แต่ละต้นได้จากผลของต้นไม้นั้น เราย่อมไม่เก็บผลมะเดื่อเทศจากพงหนาม หรือเก็บผลองุ่นจากกอหนาม

    นี่เป็นอุปมาเรื่องที่สี่ ซึ่งเป็นภาพที่ชัดเจน พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้นิยมความจริง เราตัดสินได้ว่าบุคคลหนึ่งเป็นอย่างไรจากกิจการที่เขาทำ เหมือนรู้จักต้นไม้จากผลของมัน และไม่ใช่จากเจตนาดี หรือคำพูดที่น่าฟังของเขา ... มนุษย์สมัยใหม่นับถือกันที่ประสิทธิภาพ พระเยซูเจ้าก็เช่นกัน ... แต่พระองค์ทรงย้ำว่ากิจการภายนอกควรสอดคล้องกับกิจการภายใน...

    ดังนั้น เราจึงรู้ว่าใครเป็นศิษย์แท้ได้จากการกระทำของเขา เราเห็นได้อีกครั้งหนึ่งว่าการที่ใครบอกว่าตนเองเป็น “ผู้มีความเชื่อ แต่ไม่ปฏิบัติ” นั้นเป็นเพียงภาพลวงตา และเป็นการแก้ตัวแบบง่าย ๆ เรารู้ว่าต้นไม้ต้นหนึ่งพันธุ์ดีหรือเลวได้จากผลของมัน ... เราจะรู้ได้ว่าต้นไม้นั้นยังมีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว ... และจากการกระทำของบุคคลหนึ่ง เราจะรู้ได้ว่าเขาเชื่อ หรือไม่เชื่อ ... หวัง หรือไม่หวัง ... รัก หรือไม่รัก...

    พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกายังมีข้อความต่อจากนี้ แต่น่าเสียดายที่ข้อความนี้ไม่รวมอยู่ในบทอ่าน “คนดีย่อมนำสิ่งที่ดีออกจากขุมทรัพย์ที่ดีในใจของตน ส่วนคนเลวย่อมนำสิ่งที่เลวออกมาจากขุมทรัพย์ที่เลวของตน เพราะปากย่อมกล่าวสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจออกมา ทำไมท่านจึงเรียกเราว่า ‘ข้าแต่พระเจ้า ข้าแต่พระเจ้า และไม่ปฏิบัติตามที่เราบอกเล่า’ “...

    พระเจ้าข้า โปรดทรงช่วยเราให้ปฏิบัติสิ่งที่เราเชื่อ ... ขอให้พฤติกรรมของข้าพเจ้าเป็นภาพสะท้อนที่แท้จริงของความเชื่อมั่นในฐานะคริสตชนของข้าพเจ้า