แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่สิบเจ็ดเทศกาลธรรมดา

ลูกา 11:1-13
    วันหนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง เมื่อทรงอธิษฐานจบแล้ว ศิษย์คนหนึ่งทูลพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า โปรดสอนเราให้อธิษฐานภาวนาเหมือนกับที่ยอห์นสอนศิษย์ของเขาเถิด” พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “เมื่อท่านทั้งหลายอธิษฐานภาวนา จงพูดว่า
    ข้าแต่พระบิดา พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ
    พระอาณาจักรจงมาถึง
    โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายทุกวัน
    โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย
    เหมือนข้าพเจ้าทั้งหลายให้อภัยแก่ผู้อื่น
    โปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายไม่ให้แพ้การประจญ”
    พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์อีกว่า “สมมุติว่าท่านคนหนึ่งมีเพื่อนและไปพบเพื่อนนั้นตอนเที่ยงคืน กล่าวว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ให้ฉันขอยืมขนมปังสักสามก้อนเถิด เพราะเพื่อนของฉันเพิ่งเดินทางมาถึงบ้านของฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้เขากิน’ สมมุติว่า เพื่อนคนนั้นตอบจากในบ้านว่า ‘อย่ารบกวนฉันเลย ประตูปิดแล้ว ลูก ๆ กับฉันก็เข้านอนแล้ว ฉันลุกขึ้นให้สิ่งใดท่านไม่ได้หรอก’ เราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าคนนั้นไม่ลุกขึ้นให้ขนมปังเพราะเป็นเพื่อนกัน เขาก็จะลุกขึ้นมาให้สิ่งที่เพื่อนต้องการเพราะถูกรบเร้า
    เราบอกท่านทั้งหลายว่า จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ จงแสวงหาเถิด แล้วท่านจะพบ จงเคาะประตูเถิด แล้วเขาจะเปิดประตูรับท่าน เพราะคนที่ขอย่อมได้รับ คนที่แสวงหาย่อมพบ คนที่เคาะประตูย่อมมีผู้เปิดประตูให้ ท่านที่เป็นพ่อ ถ้าลูกขอปลา จะให้งูแทนปลาหรือ ถ้าลูกขอไข่ จะให้แมงป่องหรือ แม้แต่ท่านทั้งหลายที่เป็นคนชั่วยังรู้จักให้ของดี ๆ แก่ลูก แล้วพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะไม่ประทานพระจิตเจ้าแต่ผู้ที่ทูลขอพระองค์มากกว่านั้นหรือ”

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
จงภาวนาอย่างนี้

    ศิษย์พระคริสต์ต้องแสดงออกด้วยเมตตากิจเหมือนชาวสะมาเรียใจดี และต้องตั้งใจฟังองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างลึกซึ้ง เหมือนมารีย์แห่งเบธานี ขาข้างที่สามของเก้าอี้สามขาคือการอธิษฐานภาวนา การเรียกหาพระเจ้า และเคาะประตูร้องขอความช่วยเหลือในสิ่งจำเป็นของโลกนี้

    บรรดาศิษย์ประทับใจมากกับการอธิษฐานภาวนาเป็นกิจวัตรของพระเยซูเจ้า เป็นธรรมเนียมที่ศิษย์จะขอให้อาจารย์สอนศาสนาให้สอนวิธีภาวนา เพื่อแสดงความเข้าใจในพระเจ้าที่พวกเขาเพิ่งได้รับมาใหม่ ๆ บทเรียนที่พระเยซูเจ้าทรงสอนเป็นช่วงเวลาอันมีค่า เพราะเราได้มองเห็นพลวัตของความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และพระบิดา เราได้รับการเผยแสดงในพันธสัญญาใหม่ว่าพระเจ้าทรงเป็นบิดาของเรา นักบุญเปาโลเขียนไว้ว่าพระจิตเจ้าทรงทำงานในตัวผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้ว เพื่อนำเราไปสู่การรู้จักพระเจ้า ว่าทรงเป็น “อับบา” หรือบิดา

    บทข้าแต่พระบิดาไม่ใช่บทภาวนาที่เราท่องจากความจำ แต่ควรเป็นการแสดงออกของห้วงเวลาต่าง ๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระบิดา นี่คือบทภาวนาประจำตัวของเราในฐานะศิษย์ของพระคริสตเจ้า

    ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย – อาศัยการประทานพระจิตเจ้า เราจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นบุตรบุญธรรมของพระเจ้า และมีโอกาสเดินทางร่วมกับพระเยซูคริสตเจ้าเพื่อกลับไปหาพระบิดา เราได้รับการยกขึ้นสู่ความเคลื่อนไหวภายในของพระตรีเอกภาพ ในพระเยซูคริสตเจ้า คำภาวนาของเราได้เข้าร่วมในการเดินทางของพระวจนาตถ์ กลับไปหาผู้ให้กำเนิดพระองค์แรก คือพระบิดา ในพระวรสารมีบทภาวนาของพระเยซูเจ้าประมาณ 20 บท และทุกบทเริ่มต้นด้วยการเรียกพระเจ้าว่าพระบิดา ซึ่งเป็นชื่อที่แสดงถึงความสัมพันธ์ ความใกล้ชิด ความสนิทสนม และความไว้วางใจ แต่ความใกล้ชิดนี้ต้องประกอบด้วยการยอมรับความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า พระเจ้าทรงใกล้ชิดเราเหมือนบิดาก็จริง แต่ทรงห่างไกลเราเหมือนฟ้าสวรรค์ ดังนั้น การภาวนาจึงนำเราไปสู่ความสนิทสนม และยกเราให้สูงขึ้นในเวลาเดียวกัน

    พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ – เราไม่สามารถเพิ่มเติมสิ่งใดให้แก่พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า แต่ความปรารถนาจะสรรเสริญพระเจ้าก็เป็นพระพรอย่างหนึ่ง นี่คือคำวิงวอนขอให้พระเจ้าทวีความเชื่อของเรา ขอให้เราได้สัมผัสกับความศักดิ์สิทธิ์ และพระเดชานุภาพของพระเจ้า เมื่อนั้น จิตใจของเราจะถูกยกชูขึ้นด้วยการสรรเสริญ และนมัสการพระองค์ เรายกจิตใจและความคิดขึ้นหาพระเจ้า พระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าแสดงทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่เหนือกว่าและสูงกว่า การเอ่ยพระนามของพระเจ้าหลาย ๆ ครั้งอย่างถ่อมตนเป็นการภาวนาสรรเสริญ และนมัสการพระองค์ได้วิธีหนึ่ง การเอ่ยพระนามพระเจ้าหลายครั้งด้วยความรักเป็นการแสดงออกถึงความอบอุ่น และความรู้สึกอ่อนโยน ที่เราได้รู้จักความรักที่พระบิดาทรงมีต่อเรา ผู้เป็นบุตรของพระองค์

    พระอาณาจักรจงมาถึง – ตรงกันข้ามกับคำวิงวอนข้อแรกที่เป็นความเคลื่อนไหวขึ้นสู่เบื้องบน บัดนี้ เราขอให้พระอาณาจักรของพระเจ้าลงมายังโลกของเรา พระอาณาจักร หรือพระราชัยของพระเจ้าบนโลกนี้ เป็นประเด็นหลักของการเทศน์สอนของพระเยซูเจ้า พระองค์เสด็จมาขับไล่อาณาจักรของซาตาน บาป และความเห็นแก่ตัว พระวรสารสหทรรศน์บรรยายภาพของพระเยซูว่าทรงเทศน์สอนข่าวดีเรื่องพระอาณาจักร และเผยแสดงอำนาจของพระเจ้าในโลกนี้ ด้วยการรักษาโรคให้ประชาชน พระองค์ทรงสถาปนาพระราชัยของพระเจ้าขึ้น แต่ในเรื่องอุปมาหลายเรื่อง พระองค์ตรัสถึงอุปสรรคที่ขัดขวางการเจริญเติบโตในวิญญาณ เช่น ดินที่แข็ง ความแห้งแล้ง วัชพืชที่บีบรัดไม่ให้เจริญเติบโต และในอุปมาเรื่องปลาดีที่อยู่รวมกับปลาเน่า การเจริญเติบโตของพระอาณาจักรยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วน โลกของเรายังไม่ดำเนินชีวิตตามอุดมคติของบทเทศน์บนภูเขา ดังนั้น คำภาวนาของเราจึงเป็นการแสดงความปรารถนาอันร้อนรนให้พระจิตเจ้าเสด็จมาเพื่อเปลี่ยนหัวใจหินของเรา เพื่อเติมเต็มโลกของเราด้วยความรักของพระเจ้า นี่คือคำวิงวอนขอพระเจ้าให้ทรงเสริมความหวังของเราให้เข้มแข็ง

    บทภาวนาฉบับของมัทธิวเพิ่มเติมข้อความว่า “พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์” หลังจากยกจิตใจของเราขึ้นด้วยการสรรเสริญ และปรารถนาให้พระเจ้าเสด็จมาในโลกของเราแล้ว บัดนี้ ความเคลื่อนไหวของการภาวนาจะเคลื่อนเข้าไปภายใน เข้าสู่ใจกลางของหัวใจ ... รอบนอกของชีวิตเรามีกิจกรรมมากมาย ทั้งเรื่องงาน ครอบครัว บุคคลที่เราติดต่อในสังคม และอื่น ๆ บัดนี้ เราวิงวอนขอให้พระประสงค์ของพระเจ้าเป็นศูนย์กลางอันมั่นคงของกิจกรรมเหล่านี้ทั้งหมด นี่คือคำวิงวอนขอการเพิ่มพูนของความรัก ขอให้ความรักต่อพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นพลังนำทางทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากระทำ

    คำภาวนาเหล่านี้เป็นความเคลื่อนไหวของความปรารถนาที่ยกถวายด้วยการนมัสการ ความปรารถนาจะเห็นพระราชัยของพระเจ้าลงมายังโลกนี้ และความรู้สึกโหยหาพระประสงค์ของพระเจ้าในจุดศูนย์กลางของความปรารถนาทั้งปวง คำวิงวอนต่อจากนี้ จะบอกถึงสิ่งจำเป็นสำหรับเราทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

    คำวิงวอนสำหรับวันนี้คือ “โปรดประทาน” เราต้องพึ่งพาพระเจ้าให้ทรงเลี้ยงดูเรา เราจึงเป็นคนยากไร้ขัดสนเมื่ออยู่เบื้องหน้าพระองค์ เรามาหาพระองค์ด้วยมือที่ว่างเปล่า และเอ่ยถึงความขัดสนทั้งหมดของเราโดยใช้คำพูดเดียวคือ “อาหาร” พระบิดาสวรรค์ของเราทรงทราบอยู่แล้วว่าเราต้องการอะไร การภาวนาไม่ใช่การบอกข้อมูลเพิ่มเติมให้แก่พระเจ้าว่าใครต้องการอะไร แต่เป็นเราเองที่เปลี่ยนไป เมื่อเราค้นพบความถ่อมตนที่จะขอ และความเชื่อลึก ๆ ที่จะเพียรพยายามต่อไป

    คำภาวนาเพื่ออดีตของเราจะเป็นการขออภัยเป็นส่วนใหญ่ - ข้าแต่พระบิดา โปรดทรงอภัยบาปทั้งปวงในอดีตของเราเถิด - และขอให้เราได้รับการอภัยจากพระองค์ เพื่อเราจะมีความต้องการส่งต่อการให้อภัยของพระองค์ให้แก่ผู้ที่เคยทำร้ายเรา เหมือนกับหญิงคนนั้น ผู้รักมาก เพราะนางได้รับการอภัยมาก

    ทิศทางต่อไปคือมองที่อนาคตของเรา อนาคตเป็นต้นเหตุให้คนจำนวนมากวิตกกังวล แต่ศิษย์ของพระคริสตเจ้าต้องภาวนาด้วยความวางใจว่า “ข้าแต่พระบิดา โปรดทรงนำทางเราให้ผ่านการทดลอง และวิกฤติการณ์ต่าง ๆ อย่างปลอดภัย โปรดทรงจูงมือเรา นำเราฟันฝ่าอันตรายทั้งปวง และเหนืออื่นใด โปรดทรงช่วยเราให้พ้นภัยจากปีศาจ”

    เคยมีคนถามนักบุญเทเรเซาแห่งอาวีลา ว่าถ้าเขาต้องการเพ่งพิศภาวนา เขาควรสวดอย่างไร เธอตอบว่า “สวดบทข้าแต่พระบิดา และใช้เวลาสวดบทนี้สักหนึ่งชั่วโมง” บทภาวนานี้แสดงให้เห็นความเคลื่อนไหวในทิศทางต่าง ๆ ของศิษย์พระคริสต์ไปหาพระเจ้า และไปหาโลก และเป็นบทภาวนาที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของเรา ซึ่งรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้า และเป็นบุตรของพระบิดา

ข้อรำพึงที่สอง
จงขอ ... จงแสวงหา ... จงเคาะประตู

    ผู้เชี่ยวชาญในศิลปะด้านใดย่อมสามารถทำให้ศิลปะด้านนั้นดูเหมือนง่าย เช่นเดียวกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการอธิษฐานภาวนา พระองค์ทรงใช้คำพูดธรรมดาสามัญของมนุษย์ พระองค์ทรงทำให้พระบิดามีหน้าตาเหมือนมนุษย์ พระองค์ทรงบรรยายความลุ่มลึกของความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์พระคริสต์กับพระบิดา ด้วยการบอกเล่าเรื่องของความเอื้อเฟื้อ และความรักเอาใจใส่ของบิดามารดาอย่างที่เราคุ้นเคย เราสามารถเข้าใจอานุภาพของความจงรักภักดีในมิตรภาพของมนุษย์ หรือประสิทธิผลของการรบเร้า หรือความเอาใจใส่ และความคุ้มครอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความรักของบิดาหรือมารดา พระองค์ทรงบอกว่าพระเจ้าก็ทรงรู้สึกเช่นนี้กับเรา และทรงเพิ่มน้ำหนักด้วยคำว่า “จะไม่ประทาน...มากกว่านั้นหรือ” เราไม่ได้รับทุกสิ่งทุกอย่างที่เราวิงวอนขอแน่นอน คน 10 คนที่ภาวนาขอให้ได้รับเลือกให้ทำงานในตำแหน่งเดียวกัน ย่อมไม่ได้งานนั้นทุกคน ถ้าเราอธิษฐานภาวนาขอให้หายจากโรคได้ทุกครั้ง ก็คงไม่มีใครเคยตาย

    แต่พระเจ้าผู้ทรงเป็นบิดาผู้รักบุตร จะทรงสดับฟังทุกคำภาวนา

    จุดประสงค์ของการภาวนามิใช่เพราะพระเจ้าจะไม่ประทานสิ่งที่เราต้องการ ยกเว้นเราจะเกลี้ยกล่อมพระองค์ หรือบีบบังคับพระองค์ด้วยการภาวนา บ่อยครั้งที่ภูเขาที่เราต้องเคลื่อนย้ายด้วยการภาวนาด้วยความเชื่อ ก็คืออุปสรรคในตัวเราเอง ความอัปยศจากการต้องร้องขอบางสิ่งบางอย่าง จะทลายความต้องการพึ่งพาตนเองมากเกินไปของเรา

    การวิงวอนขอหลายครั้งหลายหน อาจบังคับให้เราพิจารณาว่าจุดมุ่งหมายของเรานั้นเห็นแก่ตัวเกินไปหรือเปล่า ระหว่างทางที่เราวิงวอนขอ พระเจ้าจะทรงทดสอบความเห็นแก่ตัวของความเชื่อของเรา ว่าเรากำลังใช้ศาสนามารับใช้ตัวเรา ... หรือรับใช้พระเจ้า เมื่อข้าพเจ้าภาวนาว่า “พระประสงค์จงสำเร็จไป” บางครั้งประโยคนี้ซ่อนประโยคว่า “ขอให้ความประสงค์ของข้าพเจ้าสำเร็จไป” หรือเปล่า

    เมื่อเราต้องเพียรพยายามในการวิงวอนขอ นั่นอาจมีประโยชน์สำหรับตัวเราเอง เรามักไม่เห็นคุณค่าสิ่งที่เราได้มาโดยง่าย และเรามักทะนุถนอมสิ่งที่เราต้องทำงานหนักเพื่อให้ได้มา คำตอบที่เราได้รับหลังจากสวดภาวนาเป็นเวลานานจะเป็นสิ่งที่เราเห็นคุณค่ามากกว่าแน่นอน เราต่างหากเป็นฝ่ายที่เปลี่ยนไป ... และยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้ามากขึ้น ด้วยการเพียรพยายามวิงวอนขอ แสวงหา และเคาะประตู

    นักประพันธ์ชาวรัสเซียชื่อ โดสทอฟสกี้ ประทับใจมากที่มีคนจำนวนมากที่เชื่อว่าโลกนี้ยังหมุนรอบตัวอยู่ได้ทุกวันทุกคืน ฤดูกาลผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตามปกติ น้ำขึ้นและน้ำลงตามปกติได้ ก็เพราะในทุกนาทีมีใครบางคนในที่ใดที่หนึ่งกำลังยืนอธิษฐานภาวนาอยู่เบื้องหน้าพระเจ้า การเสนอวิงวอนมีความหมายตามตัวอักษรว่าการยืนคั่นกลางระหว่างความต้องการของโลก และพระเจ้า เหมือนกับอับราฮัมยืนเบื้องหน้าพระเจ้า และต่อรองเพื่อประชาชนในเมืองโสดม

    ไม่มีคำอธิษฐานภาวนาใดที่พระเจ้าไม่สดับฟัง หรือไม่ตอบสนอง ข้าพเจ้าอาจไม่ได้รับคำตอบอย่างที่ใจข้าพเจ้าต้องการเสมอไป แต่ข้าพเจ้ามั่นใจได้ว่าพระเจ้าทรงรู้ว่าใครที่จำเป็นต้องได้รับการตอบสนองมากที่สุด และคำภาวนาของข้าพเจ้ากำลังช่วยเหลือใครบางคนในบางสถานที่ ดังนั้น โลกจึงยังหมุนรอบตัวเองต่อไป ฤดูกาลผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนต่อไป ชีวิตยังดำเนินต่อไป เพราะตลอดเวลา ในที่แห่งหนึ่ง มีใครบางคนกำลังอธิษฐานภาวนา และบางครั้ง ใครคนนั้นคือข้าพเจ้าเอง

 
บทรำพึงที่ 2

วันหนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง เมื่อทรงอธิษฐานจบแล้ว ศิษย์คนหนึ่งทูลพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า โปรดสอนเราให้อธิษฐานภาวนา เหมือนกับที่ยอห์นสอนศิษย์ของเขาเถิด”

    บรรดาศิษย์รออยู่ใกล้พระองค์ เขาไม่ต้องการรบกวนพระองค์ แต่เฝ้ามองพระองค์ขณะที่ทรงอธิษฐานภาวนา...

    เราไม่มีโอกาสได้เห็นพระเยซูเจ้าภาวนา แต่เราสามารถใช้จินตนาการของเราเพ่งพินิจการภาวนาของพระองค์ได้ พระเยซูเจ้าทรงภาวนาบ่อย ๆ และเป็นเวลานาน ๆ พระองค์ทรงเป็น “อาจารย์สอนการภาวนา” ไม่เพียงด้วยการประทานคำแนะนำ แต่ด้วยการภาวนาเป็นแบบอย่าง

    ในปัจจุบันมีประชาชนกลับมาให้ความสนใจกับการอธิษฐานภาวนาอีกครั้งหนึ่ง แต่คนในยุคของเราไม่ว่าชายหรือหญิง รู้สึกว่าการภาวนาทำได้ยาก เราได้รับอิทธิพลจากเสียงวิจารณ์ของ “ความคิดสมัยใหม่” ที่พยายามบอกเราว่าการภาวนาเป็นการยอมรับโชคชะตาอย่างเกียจคร้าน ... อย่าขอให้พระเจ้าทำงานแทนคุณ แต่จงพับแขนเสื้อและลงมือทำงานเอง ... การภาวนาเป็นเครื่องมือของคนโบราณที่ไม่รู้เรื่องกฎธรรมชาติ ... การภาวนาสร้างความบาดหมาง ... จงเป็นมนุษย์เต็มร้อยเถิด ไม่มีพระเจ้า ไม่มีนาย ... เลิกเชื่อถือโชคลางได้แล้ว...

    “พระเยซูเจ้าข้า โปรดสอนเราอธิษฐานภาวนาเถิด” โปรดทรงสอนเราว่าการภาวนาของคริสตชนไม่ใช่การภาวนาทั่วๆ ไป แต่เป็นการสนทนาระหว่างบุตร และพระบิดาสวรรค์ผู้ทรงรักเรามาก

    เราต้องทำให้การอธิษฐานภาวนาของเรามีเจตนาที่บริสุทธิ์ ... เราต้องเรียนรู้ที่จะภาวนา...

พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “เมื่อท่านทั้งหลายอธิษฐานภาวนา จงพูดว่า ข้าแต่พระบิดา...

    ชาวยิวเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดา” มาก่อนแล้ว เช่นเดียวกับคนในศาสนาอื่น ๆ อีกมาก (ฮชย 11:13; ยรม 3:19; อสย 23:16; ปชญ 5:5 เป็นต้น)

    แต่พระเยซูเจ้าทรงนำคำใหม่มาใช้ โดยทรงกล้าเรียกพระเจ้าว่า “อับบา” หรือ “พ่อจ๋า” เป็นคำที่สนิทสนม และไม่เคยมีใครใช้มาก่อน เมื่อบรรดาศิษย์ได้เห็นประสบการณ์ของพระเยซูเจ้า พวกเขากล้าประกาศว่าพระองค์ทรงเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” ในลักษณะที่ไม่เหมือนใคร เมื่อเราสวดบทภาวนาที่พระเยซูเจ้าทรงสอนเรา เสมือนว่าเป็นคำพูดของเราเอง เรากล้าคิดเหมือนพระองค์ว่า “เราได้รับความรักจากพระบิดาด้วยความรักเดียวกันกับที่พระบิดาทรงรักพระบุตรพระองค์เดียวของพระองค์” (เทียบ ยน 17:22)...

พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ...

    ในพระคัมภีร์ “ชื่อ” คือการแสดงตัวตนของบุคคลนั้น ... “ความศักดิ์สิทธิ์” เป็นสิ่งที่ทำให้พระเจ้าทรงต่างจากเรา เพราะความสูงส่งของความรัก และพระอานุภาพของพระองค์...

    ก่อนจะบอกสิ่งที่เราต้องการเบื้องหน้าพระเจ้า เราต้องภาวนาขอให้แผนการของพระบิดาสวรรค์สำเร็จไปก่อน ... นี่คือคำภาวนาด้วยความเต็มใจ และไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งไม่ใช่เวทย์มนตร์คาถา และไม่สร้างศัตรู...

    “พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ” อาจแปลได้ว่า โปรดทรงแสดงพระสรรพานุภาพของพระองค์ ซึ่งในเวลาเดียวกัน ก็เป็นความดีงามทั้งปวง และความเป็นบิดา ... โปรดแสดงให้เราเห็นว่าพระองค์ทรงเป็นบิดา ทรงเป็น “บิดา” อย่างไร้ขอบเขตและสมบูรณ์ ทรงเป็นบิดาที่ต่างจากเรามนุษย์ และทรงเป็นบิดามากว่าเราอย่างไร้ขอบเขต ถ้าเราเทความรักอันน่าพิศวงของบิดาทุกคนและมารดาทุกคนในโลก ลงในหัวใจดวงหนึ่ง ความรักทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของความรักของพระบิดาองค์นี้ “ผู้ทรงเป็นที่มาของครอบครัวทั้งหลาย” (อฟ 3:15)

พระอาณาจักรจงมาถึง...

    คำวิงวอนข้อที่สองนี้แทบจะเหมือนกับข้อแรก เรากำลังวิงวอนให้พระเจ้าทรงครองราชย์ ขอให้พระเจ้าทรงปลุกความรักขึ้นในหัวใจสิ่งสร้างทั้งปวงของพระองค์ เพราะพระเจ้าทรงเป็นความรัก (1 ยน 4:7-12) ... ขอให้ความรักเป็นกษัตริย์ ... ขอให้ความรักครองราชย์เถิด...

    พันธสัญญาเดิมกล่าวถึง “พระอาณาจักรของพระเจ้า” อยู่เสมอ (1 พศด 16:30-33; ทบต 13:1; สดด 22:28, 29, 68:33-36, 98:10, 3:19; อสย 11:1-9, 33:17-24, 52:7-12; ดนล 8:23) ... ในความคิดของชาวอิสราเอล กษัตริย์บนโลกนี้เป็นเพียง “ผู้แทน” อำนาจกษัตริย์ที่แท้เป็นของพระเจ้าพระองค์เดียว และด้วยการปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระเจ้า ชาวอิสราเอลทำให้พระเจ้าทรงครองราชย์อย่างแท้จริง...

    ในสมัยของพระเยซูเจ้า ไม่มีกษัตริย์ปกครองในกรุงเยรูซาเล็มมานานแล้ว ต่างจากยุคของดาวิดและซาโลมอน เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยการยึดครองแผ่นดินโดยกองทัพต่างชาติ ประชาชนจึงรอคอยพระเมสสิยาห์ ดังที่เขาแสดงออกในคำภาวนาของชาวยิวว่า “ขอให้พระนามของพระองค์ได้รับการสักการะในโลก ซึ่งพระนามนี้ได้เนรมิตสร้างขึ้นตามพระประสงค์ ขอให้พระนามนี้แสดงอำนาจกษัตริย์ของพระองค์ และทำให้การไถ่กู้ (การปลดปล่อย) บังเกิดขึ้น ขอให้พระเมสสิยาห์เสด็จมาใกล้”

    พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าพระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว และอยู่ที่นี่แล้ว และกำลังทำงาน ไม่ใช่ในลักษณะที่โดดเด่นสะดุดตา … แต่เหมือนเมล็ดพันธุ์ที่ถูกปลูกไว้อย่างซ่อนเร้นในหัวใจมนุษย์ (มธ 3:2, 4:17, 10:7, 13:24, 31, 36, 50)...

    ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่าเราไม่สามารถใช้ถ้อยคำเหล่านี้อธิษฐานภาวนา เว้นแต่ว่าเราเองได้พยายามสนับสนุนให้พระอาณาจักรเจริญเติบโต ด้วยความเชื่อมั่นในอวสานกาล ว่าในวันนั้นแผนการแห่งความรักของพระบิดาจะสำเร็จและบรรลุผล...

    เราต้องสังเกตว่า ลูกาไม่ได้บันทึกบทภาวนา “ข้าแต่พระบิดา” อย่างที่เราใช้สวดกันในพระศาสนจักร ซึ่งเป็นฉบับที่นำมาจากพระวรสารของมัทธิว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะลูกาได้ตัดข้อความให้สั้นลง โดยละเว้นคำวิงวอนสองข้อ (“พระประสงค์จงสำเร็จไป” ... “โปรดช่วยเราให้พ้นจากความชั่วร้าย”)

โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายทุกวัน...

    เมื่อเรายอมรับแผนการของพระบิดามาเป็นแผนการของเราเองแล้ว บัดนี้ เราสามารถบอกสิ่งที่เป็นความปรารถนาของเราได้ พระเยซูเจ้าทรงเสนอไว้สามข้อ คือ อาหาร ... การให้อภัย ... อิสรภาพจากความชั่ว...

    พระวรสารของมัทธิวกล่าวว่า “โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้” แต่กลุ่มคริสตชนของลูกา คงยากจนมาก เขาจึงปรับเปลี่ยนคำพูดเล็กน้อยกลายเป็น “โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายทุกวัน” บทภาวนานี้มักน้อยที่สุด และท้าทายความคิดแบบคนรวยของเราอย่างแยบยล...

    พระเยซูเจ้าตรัสย้ำหลายครั้งว่าเราไม่ควรกังวลเกินไปเกี่ยวกับวันพรุ่งนี้ (ลก 12:23-32; มธ 6:34) ตั้งแต่ครั้งอพยพเมื่อชาวยิวอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ประชากรของพระเจ้าก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บมานนาเผื่อไว้บริโภคหลายวัน (อพย 16:4) คำภาษากรีก epiousios แปลได้ว่า “ประจำวัน (daily)” (แต่อาจแปลว่า “สิ่งจำเป็น (needful)” ได้ด้วย) และเป็นคำที่ใช้ในข้อความนี้แห่งเดียวในคัมภีร์ทั้งเล่ม และอ้างอิงคำภาษาฮีบรูที่ไม่นิยมใช้กัน ซึ่งเราพบในสุภาษิต 30:8 ว่า “โปรดอย่างทรงประทานทรัพย์สิน หรือความร่ำรวยแก่ข้าพเจ้า แต่โปรดทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้าด้วยอาหารที่จำเป็นสำหรับข้าพเจ้า”...

    เป็นบทภาวนาที่สวดภาวนาได้ยาก ในขณะที่เรามีฐานะร่ำรวย...

    แต่เป็นบทภาวนาที่เหมาะสมสำหรับคนทั้งหลายทั่วโลกที่หาเช้ากินค่ำ...

    คำว่า “เรา หรือข้าพเจ้าทั้งหลาย” ซึ่งเราเอ่ยตามพระเยซูเจ้า ทำให้เราต้องคิดถึงมนุษย์ชายหญิงทุกคนที่ขาดแคลนแม้แต่อาหารประจำวัน ... ข้าพเจ้าไม่มีสิทธิสวดบท “ข้าแต่พระบิดา” เพื่อตนเองเท่านั้น ... โปรดประทานอาหารแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ... และถ้าข้าพเจ้าสวดอย่างจริงใจ ข้าพเจ้าย่อมรู้สึกว่าจำเป็นต้องแบ่งปันอาหารของข้าพเจ้าให้แก่คนทั้งหลายที่หิวโหย...

โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย เหมือนข้าพเจ้าทั้งหลายให้อภัยแก่ผู้อื่น...

    เมื่อเปรียบเทียบกับฉบับของมัทธิว ลูกาใช้คำว่า “บาป” แทนคำว่า “หนี้” อันที่จริง บาปเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่ขัดขวางทั้งพระอาณาจักรของพระเจ้า และการแบ่งปันอาหารฉันพี่น้อง เราต้องให้อภัย “ผู้อื่น” ทุกคน ถ้าเราต้องการได้รับอภัยจากพระเจ้า...

    การได้รับอภัยนี้จำเป็นมากสำหรับคริสตชน เนื่องจากพระเยซูเจ้าทรงกล่าวถึงหลายครั้ง (ลก 23:34, 6:36; มธ 11:19, 26:28, 6:14, 18:23-25; มก 11:25; ยก 2:13) จากถ้อยคำเหล่านี้ ความยินดีที่พระเจ้าทรงรู้สึกได้เมื่อพระองค์ทรงให้อภัยคนบาปจะกลายเป็นมาตรฐานวัดพฤติกรรมของคริสตชน ... เด็กหญิงเล็ก ๆ คนหนึ่งบอกครูคำสอนของเธอว่า “คริสตชนคือคนที่รู้จักให้อภัย”...

    ก่อนจะรำพึงภาวนาต่อไป ข้าพเจ้าหยุดพักครู่หนึ่ง และไตร่ตรองว่า ... ข้าพเจ้าได้ให้อภัยอย่างหมดหัวใจ “ทุกคนที่เป็นหนี้ข้าพเจ้า” หรือเปล่า

    นับแต่นี้ไป ขอให้เราอย่าได้พูดอีกเลยว่าบทภาวนานี้เป็นคาถาที่เห็นแก่ตัว หรือการยอมจำนนต่อชะตากรรม หากแต่เป็นคำมั่นสัญญาอันยิ่งใหญ่ เรียกร้องมาก และแทบเกินกำลังมนุษย์จะปฏิบัติได้...

โปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายไม่ให้แพ้การประจญ

    ผู้อธิบายความหมายของพระคัมภีร์หลายคนคิดว่าการประจญในที่นี้ พระเยซูเจ้าทรงหมายถึง “การประจญครั้งใหญ่” คือการประจญให้สูญเสียความเชื่อและให้ละทิ้งพระเยซูเจ้า การทดลองครั้งใหญ่นี้ทำให้พระเยซูเจ้าเองทรงเอ่ยออกมาว่า “เมื่อบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมา จะทรงพบความเชื่อในโลกนี้หรือ” (ลก 18:8) ลูกาบันทึกไว้ถึงสองครั้ง เมื่อเขาบอกเล่าเรื่องพระทรมานในสวนเกทเสมนี (ลก 22:40, 46) ว่าพระเยซูเจ้าทรงแนะนำให้เพื่อน ๆ ของพระองค์ “อธิษฐานภาวนา เพี่อจะไม่ถูกทดลอง”

    ถูกแล้ว การประจญครั้งใหญ่คือการประจญให้เราละทิ้งพระเยซูเจ้า แต่การประจญทุกครั้งของเรา ความผิดพลาดบกพร่องแม้แต่เล็กน้อยของเรา ก็ทำให้เราละทิ้งพระเยซูเจ้าทีละน้อย ... ในอุปมาเรื่องผู้หว่าน พระเยซูเจ้าทรงเตือนเราว่า บางคนมีความเชื่อเพียงชั่วระยะหนึ่ง แต่เมื่อถึงเวลาถูกทดลองเขาก็ปฏิเสธพระองค์ (ลก 8:13) ถูกแล้ว เราต้องต่อสู้กับความชั่วร้ายทุกวันเพื่อช่วงชิงอิสรภาพของเรากลับคืนมา ... และเราต้องวิงวอนพระเจ้าอย่างถ่อมตนขอพระหรรษทานที่จะช่วยเราไม่ให้ตกเป็นทาส ถูกตีตรวน และบาดหมางกับพระองค์...

พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์อีกว่า “สมมุติว่าท่านคนหนึ่งมีเพื่อนและไปพบเพื่อนนั้นตอนเที่ยงคืน กล่าวว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ให้ฉันขอยืมขนมปังสักสามก้อนเถิด เพราะเพื่อนของฉันเพิ่งเดินทางมาถึงบ้านของฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้เขากิน’ สมมุติว่า เพื่อนคนนั้นตอบจากในบ้านว่า ‘อย่ารบกวนฉันเลย ประตูปิดแล้ว ลูก ๆ กับฉันก็เข้านอนแล้ว ฉันลุกขึ้นให้สิ่งใดท่านไม่ได้หรอก’ เราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าคนนั้นไม่ลุกขึ้นให้ขนมปังเพราะเป็นเพื่อนกัน เขาก็จะลุกขึ้นมาให้สิ่งที่เพื่อนต้องการเพราะถูกรบเร้า เราบอกท่านทั้งหลายว่า จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ จงแสวงหาเถิด แล้วท่านจะพบ จงเคาะประตูเถิด แล้วเขาจะเปิดประตูรับท่าน เพราะคนที่ขอย่อมได้รับ คนที่แสวงหาย่อมพบ คนที่เคาะประตูย่อมมีผู้เปิดประตูให้ ท่านที่เป็นพ่อ ถ้าลูกขอปลา จะให้งูแทนปลาหรือ ถ้าลูกขอไข่ จะให้แมงป่องหรือ แม้แต่ท่านทั้งหลายที่เป็นคนชั่วยังรู้จักให้ของดี ๆ แก่ลูก แล้วพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะไม่ประทานพระจิตเจ้าแต่ผู้ที่ทูลขอพระองค์มากกว่านั้นหรือ”

    สมบัติล้ำค่าเพียงหนึ่งเดียวที่เราต้องวิงวอนขอจากพระเจ้า คือ พระจิตของพระองค์...