แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ยี่สิบเอ็ด เทศกาลธรรมดา

ลูกา 13:22-30
    พระเยซูเจ้าเสด็จผ่านเมืองและหมู่บ้าน ทรงสั่งสอนประชาชนและทรงเดินทางมุ่งไปกรุงเยรูซาเล็ม คนคนหนึ่งทูลถามพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า มีคนน้อยคนใช่ไหมที่รอดพ้นได้” พระองค์ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “จงพยายามเข้าทางประตูแคบ เพราะเราบอกท่านทั้งหลายว่า หลายคนพยายามจะเข้าไป แต่จะเข้าไม่ได้
    เมื่อเจ้าของบ้านจะลุกขึ้นเพื่อปิดประตู ท่านจะยืนอยู่ข้างนอกเคาะประตู พูดว่า ‘พระเจ้าข้า เปิดประตูให้พวกเราด้วย’ แต่เขาจะตอบว่า ‘เราไม่รู้ว่าพวกเจ้ามาจากที่ใด’ แล้วท่านก็จะพูดว่า ‘พวกเราได้กินได้ดื่มอยู่กับท่าน ท่านได้สอนในลานสาธารณะของเรา’ แต่เจ้าของบ้านจะตอบว่า ‘เราไม่รู้ว่าพวกเจ้ามาจากที่ใด ไปให้พ้นจากเราเถิด เจ้าทั้งหลายที่กระทำการชั่วช้า’
    เวลานั้น ท่านทั้งหลายจะร่ำไห้คร่ำครวญและขบฟันด้วยความขุ่นเคือง เมื่อแลเห็นอับราฮัม อิสอัคและยาโคบ กับบรรดาประกาศกในพระอาณาจักรของพระเจ้า แต่ท่านทั้งหลายกลับถูกไล่ออกไปข้างนอก จะมีคนจากทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ทิศเหนือและทิศใต้ มานั่งร่วมโต๊ะในพระอาณาจักรของพระเจ้า
    ดังนั้น พวกที่เป็นกลุ่มสุดท้ายจะกลับกลายเป็นกลุ่มแรก และพวกที่เป็นกลุ่มแรกจะกลับกลายเป็นกลุ่มสุดท้าย”

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
ประตูแคบ

    พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าพระองค์กำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางใดในชีวิตของพระองค์ กรุงเยรูซาเล็มคือจุดหมายปลายทางของพระองค์ แต่พระองค์ไม่ได้ครุ่นคิดถึงแต่เรื่องนี้จนไม่สนใจสถานที่อื่น ๆ ระหว่างการเดินทาง พระองค์ทรงหาเวลาไปเยี่ยมเยือนเมืองและหมู่บ้านต่าง ๆ ด้วย พระองค์ทรงมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน แต่ทรงมุ่งหน้าไปสู่จุดหมายนี้อย่างไม่กระวนกระวายเพราะถูกบีบคั้น แต่ด้วยความอ่อนโยน เพราะทรงเต็มใจเลือกทำเช่นนี้

    พระองค์ตรัสถึงความรอดพ้นว่าเหมือนกับการพยายามเข้าทางประตูแคบ ภาพลักษณ์ของประตูแคบแสดงว่าผู้ที่ผ่านเข้าไปได้จำเป็นต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน และมีความมุ่งมั่นที่จะเข้าไปทางประตูนี้ หมายความว่าเราต้องรับผิดชอบในการเลือกทิศทางชีวิตของเรา แทนที่จะปล่อยตัวล่องลอยไปตามกระแสสังคม การถูกเรียกว่าเป็นคนความคิดแคบดูเหมือนไม่ใช่คำชม เพราะชวนให้คิดถึงคนดื้อรั้นที่ไม่เคยมองเห็นอะไรดี ๆ นอกจากอคติของตนเอง แต่การมีวิสัยทัศน์แคบ ๆ ก็มีส่วนดี เหมือนกับนักแม่นปืนที่รวบรวมสมาธิเพ่งมองที่เป้าโดยปิดตาข้างหนึ่ง และหรี่ตาอีกข้างหนึ่งเพื่อจำกัดขอบเขตการมองเห็นให้แคบลง คนโบราณฉลาดไม่น้อยเลยที่เข้าใจว่าบาปก็คือการพลาดเป้าหมายของชีวิต อาจกล่าวได้ว่าบาปเป็นผลของการที่เราไม่มีความคิดที่แคบพอ เกี่ยวกับเป้าหมายของเรา

    เราอยู่ในยุคที่ชื่นชมบุคคลที่มีความคิดเปิดกว้าง และเป็นยุคที่มนุษย์รู้สึกว่ายากมากที่จะผูกมัดตนเองกับสิ่งใดในชีวิต หรือพูดคำว่า “ตลอดกาล” มีประสบการณ์และทางเลือกมากมาย จนเราต้องการเก็บโอกาสที่จะเลือกไว้กับตัวเราตลอดไป ปัญหาของการผูกมัดตนเองก็คือ เราจำต้องปิดประตูใส่ทางเลือกอื่น ๆ

    ดังนั้น การมีความคิดเปิดกว้างจึงมีจุดอ่อน เพราะทำให้เราสูญเสียพลังงานซึ่งกระจัดกระจายไปหลายทิศทางมากเกินไป นิสัยสำมาเลเทเมาเป็นผลที่หลบเลี่ยงไม่ได้จากการขาดจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน และการผูกมัดตนเอง

    ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ในยุคของมนุษย์ที่ความคิดเปิดกว้างนี้ เราได้ยินเรื่องความเบื่อหน่าย เฉื่อยชา และความหดหู่อยู่เสมอ ต้นเหตุหนึ่งมาจากมนุษย์ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนในชีวิต เมื่อใดที่เรามีจุดมุ่งหมาย เราจะมีพลังอย่างเหลือเฟือ เราจะเห็นว่าคนที่รู้ทิศทางชีวิตของตนจะมีดวงตาเป็นประกาย และเดินอย่างกระฉับกระเฉง

    แต่การรู้จุดมุ่งหมายในแต่ละวันก็อาจไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องเข้าใจความหมายของชีวิตหลังจากเราข้ามสะพานแห่งความตาย คนปัจจุบันยอมรับมากขึ้นว่าคำถามลึกซึ้งที่ผุดขึ้นมาในความคิดของคนในวัยกลางคนมักเกี่ยวข้องกับความหมายของการเดินทางของชีวิต กล่าวคือ เขามองชีวิตจากมุมของศาสนา

    การเดินทางตามทิศทางที่เลือก หมายความว่าเราต้องดำเนินชีวิตอย่างมีวินัย
    -    เราต้องรู้ว่าอะไรสำคัญกว่า
    -    เราต้องรู้ว่าเราจะได้รับความช่วยเหลือจากที่ใดได้ระหว่างทาง
    -    เราต้องมองเห็น และหลีกเลี่ยงจุดอันตราย
    -    เราต้องปลดสัมภาระที่ไม่จำเป็นออกจากตัว
    -    เราต้องกำจัดสิ่งที่ทำให้เสียพลังงาน และทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์

    แต่ชีวิตที่มีวินัยไม่จำเป็นต้องเข้มงวดจนไม่มีเวลาผ่อนคลาย และลดความเร็ว ความเข้มงวดเกินไปทำให้การเดินทางมุ่งหน้าสู่ประตูของพระเจ้าเป็นการเดินทางที่ไม่น่าอภิรมย์ และวิธีนั้นไม่น่าจะถูกต้อง ศาสนาที่ขาดความยินดีเป็นเครื่องหมายของทิฐิ ซึ่งรู้จักความเกลียดมากกว่าความรัก

    วิถีทางของพระเยซูเจ้าเป็นต้นแบบให้เราได้ พระองค์ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ และทรงออกเดินทางไปยังกรุงเยรูซาเล็ม แต่พระองค์ทรงผ่อนคลายมากพอ และมีเวลาให้กับเมืองและหมู่บ้านตามเส้นทาง ศิษย์พระคริสต์ต้องเพ่งสายตาไปที่ประตูแคบ แต่เมื่อเขากำหนดทิศทางได้แล้ว เขาสามารถมุ่งหน้าไปในทิศทางนั้นได้อย่างผ่อนคลาย และมีความสุขกับการเดินทางไปยังประตูของพระเจ้า

 
ข้อรำพึงที่สอง
ภาพของสวรรค์

    ถ้าเราไปถึงประตูแคบนั้นแล้ว อะไรรอเราอยู่ข้างใน สวรรค์เป็นอย่างไร นรกมีอยู่จริงหรือไม่ ถ้ามีจริง นรกเป็นอย่างไร

    คนส่วนใหญ่ที่ฟังพระเยซูเจ้ามีความเชื่อเหมือนกันในชีวิตหลังความตาย เมื่อผู้ชอบธรรมจะได้รับรางวัล และคนชั่วจะได้รับโทษ พระเยซูเจ้าตรัสกับคนเหล่านี้ถึงชีวิตหลังความตายโดยทรงบรรยายด้วยภาพที่เขาคุ้นเคย

    พระวรสารตอนนี้เสนอสามภาพ คือ งานเลี้ยงฉลอง การพบกับบรรพบุรุษ และใบหน้าที่แสดงความประหลาดใจ

    (1)    งานเลี้ยงฉลอง ... ไม่น่าแปลกใจ เพราะพระวรสารของลูกามักกล่าวถึงการกินการดื่ม การสังสรรค์กับพระเยซูเจ้าก็ถูกบรรยายโดยใช้ภาพของการกินและดื่มร่วมกับพระองค์ สวรรค์ในจินตนาการเหมือนกับงานเลี้ยงฉลองอันยิ่งใหญ่ ผู้ที่ไม่สามารถเข้าประตูได้จะรู้สึกเสียใจและผิดหวังอย่างรุนแรง มีการร้องไห้คร่ำครวญ และขบฟันด้วยความขุ่นเคืองตนเอง เมื่อเขายอมรับได้ในที่สุดว่าเขาต้องรับผิดชอบบาปของเขา และจะโทษใครไม่ได้ ส่วนคนที่ผ่านเข้าประตูได้จะชื่นชมกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เขานึกได้เมื่อพูดถึงงานเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมโต๊ะที่พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน การพักผ่อนหย่อนใจ ความพึงพอใจ และบรรยากาศเฉลิมฉลอง

    (2)    ชาวยิวมีใจผูกพันกับบรรพบุรุษของตนมาก พระเยซูเจ้าทรงเสนอภาพของความยินดีจากการได้พบกับบรรพบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ร่วมความเชื่อ คือ อับราฮัม อิสอัค ยาโคบ และประกาศกทั้งหลาย ภาพนี้เสนอความหวังว่าเราจะพบกับสมาชิกครอบครัวและมิตรสหายที่ตายจากไป รวมทั้งบรรพบุรุษผู้ถ่ายทอดชีวิต และความเชื่อให้เรามาตลอดหลายศตวรรษ

    (3)    เมื่อพระเจ้าทรงเลือกทีมงานของพระองค์ เราได้รับการเตือนแล้วว่าอาจมีบางคนไม่ได้รับเลือก พระเจ้าเท่านั้นสามารถอ่านใจและแรงจูงใจที่ลึกสุด พระองค์เท่านั้นสามารถวินิจฉัยอย่างถูกต้องที่สุดว่าเราตอบสนองอย่างไรต่อพระหรรษทานที่พระองค์ประทานให้ และสถานการณ์ยากลำบากที่เราต้องเอาชนะให้ได้ หลายคนที่ดูเหมือนเป็นคนแรกในการแสดงความศรัทธา และการเป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักร อาจไปอยู่หลังแถวเมื่อความรักเมตตาแท้ถูกเปิดเผย และความรักเมตตานี้คือคำถามเดียวในการทดสอบครั้งสุดท้ายนี้ ในขณะที่หลายคนที่ดูเหมือนว่าต่ำกว่ามาตรฐานภายนอก อาจพบว่ามีหัวใจประเสริฐดั่งทองคำ

    ดังที่นักบุญออกุสตินกล่าวไว้ว่า มีหลายคนในวัดที่จะไม่อยู่ในพระอาณาจักร และหลายคนในพระอาณาจักรไม่เป็นสมาชิกของพระศาสนจักร ขอให้เราคอยดูรัศมีเหนือศีรษะของคนที่ไม่แสดงตัวว่าศรัทธาในชีวิตนี้ และคอยดูคนศรัทธาที่กระดากอายเพราะถูกเปิดเผยว่าเป็นคนลวงโลก

 
บทรำพึงที่ 2

    บทอ่านพระวรสารของนักบุญลูกาในวันนี้ มาจากหลายข้อความที่นำมาปะติดปะต่อให้เป็นเรื่องเดียวกัน
    -    “ประตูแคบ” (ข้อ 24) มาจากบทเทศน์บนภูเขา (มธ 7:13)
    -    “พระเจ้าข้า เปิดประตูให้พวกเราด้วย” (ข้อ 25) เป็นบทสรุปของอุปมาเรื่องหญิงฉลาดและหญิงโง่ (มธ 25:11)
    -    “เราไม่รู้ว่าพวกเจ้ามาจากที่ใด” (ข้อ 27) เป็นส่วนหนึ่งของคำสั่งสอนเรื่องการภาวนา (มธ 7:22)
    -    “จะมีคนจากทิศตะวันออกและทิศตะวันตก” (ข้อ 29) เป็นบทสรุปของเรื่องการรักษาโรคให้ผู้รับใช้ของนายร้อยชาวโรมัน (มธ 8:11)
    -    “พวกที่เป็นกลุ่มสุดท้ายจะกลับกลายเป็นกลุ่มแรก” (ข้อ 30) เป็นข้อความเดียวกับ มธ 19:30 และ 20:16...

    ลูกานำพระวาจาต่าง ๆ ที่พระเยซูเจ้าตรัสในหลายโอกาสมาจัดเรียงใหม่เป็นกลุ่ม นี่คือคำตอบเรื่องจำนวนผู้ที่รอดพ้น พระเยซูเจ้าทรงยืนยันความจริงสองข้อที่ดูเหมือนขัดแย้งกัน คือ ประตูเข้าสวรรค์นั้น “แคบ” และคนต่างชาติพากันมาร่วมงานเลี้ยงของพระเมสสิยาห์ ในขณะที่ผู้ได้รับเชิญเป็นกลุ่มแรกกลับถูกไล่ออกไปข้างนอก...

พระเยซูเจ้าเสด็จผ่านเมือง และหมู่บ้าน ทรงสั่งสอนประชาชน และทรงเดินทางมุ่งไปกรุงเยรูซาเล็ม

    ลูกาย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า พระเยซูเจ้าทรงกำลังเดินทางไปยังนครศักดิ์สิทธิ์ และเรารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่นั่น ... พระเยซูเจ้าทรงเดินทาง พระองค์ไม่ได้ “ตั้งรกราก” พระองค์เดินทางต่อไป ลูกาผู้เป็นเพื่อนร่วมทางของเปาโล ใช้คำนี้ถึง 80 ครั้ง เปาโลก็เป็นนักเดินทาง ชีวิตของคริสตชนก็เป็นการเดินทาง เป็นการเดินไปข้างหน้า

    ส่วนข้าพเจ้าเล่า ... ข้าพเจ้าตั้งรกรากอยู่กับที่ ไม่ขยับเขยื้อนไปไหนหรือเปล่า...

    ข้าพเจ้าอยากให้พระศาสนจักร “ตั้งรกราก” ไม่ขยับเขยื้อนด้วยหรือเปล่า...

    วิวัฒนาการของประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของพระเจ้า “เวลา” เป็นสิ่งสร้างอย่างหนึ่งของพระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงเข้ามาอยู่ในกาลเวลา – พระองค์ไม่ทรงหยุดเวลา “เราอยู่กับท่านวันนี้ จนถึงวันสิ้นพิภพ”

คนคนหนึ่งทูลถามพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า มีคนน้อยคนใช่ไหมที่รอดพ้นได้”

    นี่คือคำถามที่หลายคนอยากถาม เป็นคำถามของมนุษย์ทุกคนที่มีใจห่วงใยบุคคลที่เรารัก เราจะมีความสุขในสวรรค์ได้อย่างไร ถ้าคนที่เรารักไม่อยู่ในสวรรค์ด้วย ... นี่คือคำถามที่สมควรถามอย่างยิ่ง “จงอย่ามาร่วมงานเลี้ยงฉลองของพระอาณาจักรเพียงลำพัง จงไป และประกาศข่าวดีตามทางของท่าน คำสัญญานั้นคือปังที่มอบให้เพื่อนำมาแบ่งปัน” ... มนุษย์คนใดที่ไม่ปรารถนาให้มนุษย์ทุกคนได้รับความรอดพ้น มนุษย์คนนั้นย่อมไม่อาจได้รับความรอดพ้น เพราะเขาไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติข้อสำคัญของพระอาณาจักรของพระเจ้า คือ ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ... “พระเจ้าพระผู้ไถ่ของเรามีพระประสงค์ให้ทุกคนได้รับความรอดพ้น” (1 ทธ 2:4)

พระองค์ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “จงพยายามเข้าทางประตูแคบ เพราะเราบอกท่านทั้งหลายว่าหลายคนพยายามจะเข้าไป แต่จะเข้าไม่ได้”

    นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระเยซูเจ้าไม่ตอบคำถามโดยตรง พระองค์ไม่ทรงบอกว่าผู้ได้รับเลือกสรรจะมี “มาก” หรือ “น้อย"”... ดูเหมือนพระองค์ไม่ทรงแสดงความสนใจในคำถามทางทฤษฏีนี้เลย เพราะพระองค์ทรงเชิญชวนผู้ฟังพระองค์ให้คิดถึงความรับผิดชอบของพวกเขา “แทนที่จะอภิปรายปัญหาด้วยสติปัญญา จงเลือกวิถีทางที่เป็นรูปธรรม ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร ... สิ่งสำคัญคือ – ต้องเข้าไปให้ได้”...

    ความอยากรู้จำนวนของผู้ได้รับเลือกสรร แสดงให้เห็นการแสวงหาความมั่นคง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก ถ้าทุกคนมั่นใจว่าเขาจะเข้าสวรรค์ได้ เขาจะพยายามไปทำไม และถ้ามีน้อยคนที่เข้าสวรรค์ได้จริง เราจะยอมเสียสละหลายสิ่งหลายอย่างไปทำไม ... ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงไม่ทรงให้คำตอบที่ชัดเจน แต่ทรงเสนอให้แต่ละคนตัดสินใจเลือกทางเดินของตนเอง และทรงเตือนเขาว่านี่เป็น “เรื่องใหญ่” ... พระเยซูเจ้าไม่ทรงต้องการ “รับรอง” ให้เรามั่นใจ แต่ทรงต้องการให้เรา “รับผิดชอบ” ดังนั้น พระองค์จึงทรงยกภาพลักษณ์ที่คุ้นเคยสำหรับผู้อ่านพระคัมภีร์ นั่นคืออาณาจักรสวรรค์เปรียบเสมือนห้องโถงจัดงานเลี้ยง แต่ทรงเสริมว่ามีคนจำนวนมากวิ่งมาที่ประตู เพราะประตูนี้ “แคบ” คำภาษากรีกที่แปลว่า “พยายาม (striving)” นี้เป็นคำที่รุนแรง คือ agonizeste ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ต่อสู้เพื่อจะเข้าไป” คำภาษาอังกฤษว่า agony (การเข้าตรีทูต) ก็มาจากรากศัพท์เดียวกัน การเข้าตรีทูตของเราเป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้ายในชีวิตของเรา เพื่อจะเสนอความรอดพ้นให้แก่มนุษย์ทุกคน พระเยซูเจ้าทรง “ต่อสู้” ในสวนเกทเสมนี และบนเนินกลโกธา พระองค์ไม่ทรงแนะนำให้เราทำสิ่งที่พระองค์ทรงทำมาก่อน พระองค์ประกาศไว้ในพระวรสารตอนหนึ่งว่า “ผู้ที่ใช้ความอดทนและความพยายามเท่านั้น จึงจะเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ได้” (มธ 11:12)

    ข้าพเจ้า “ต่อสู้” เพื่อจะเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์หรือเปล่า ... ด้วยนิสัยและสถานภาพในชีวิต ข้าพเจ้าต้องต่อสู้ในด้านใดโดยเฉพาะ เพื่อจะเอาชนะสภาพและข้อจำกัดซึ่งเป็นตัวถ่วงในชีวิตของข้าพเจ้า

    นักบุญเปาโลบรรยายวิถีชีวิตของคริสตชน โดยใช้คำเดียวกันนี้ (agon = ต่อสู้) “ข้าพเจ้ายินดีที่ได้รับความทุกข์ทรมาน ... เพื่อจะได้ประกาศพระวาจาของพระเจ้าแก่ท่านอย่างสมบูรณ์ ... ข้าพเจ้าจึงตรากตรำทำงาน และต่อสู้ด้วยพลังที่มาจากพระองค์” (คส 1:24-29 เทียบ 1 คร 9:25, คส 4:12, 1 ทธ 4:10) “ข้าพเจ้าต่อสู้มาอย่างดีแล้ว ข้าพเจ้าวิ่งมาถึงเส้นชัยแล้ว ข้าพเจ้ารักษาความเชื่อไว้แล้ว” (2 ทธ 4:7) เราจะคิดได้อย่างไรว่าเราสามารถเข้าสวรรค์ได้โดยไม่ใช้ความพยายามราวกับว่า “วิ่งโดยสวมสเก็ต” เปล่าเลย ชีวิตคริสตชนไม่ใช่เก้าอี้โยก แม้จะเป็นของขวัญที่พระเจ้าประทานให้เปล่า ๆ และถึงกับเสนอให้แก่คนบาปด้วย แต่เราต้องยอมรับของขวัญชิ้นนี้ ทำให้เป็นของเรา และทำให้ตัวเรามีคุณค่าสมจะได้รับด้วย...

เมื่อเจ้าของบ้านจะลุกขึ้นเพื่อปิดประตู ท่านจะยืนอยู่ข้างนอกเคาะประตู พูดว่า “พระเจ้าข้า เปิดประตูให้พวกเราด้วย” แต่เขาจะตอบว่า “เราไม่รู้ว่าพวกเจ้ามาจากที่ใด ... ไปให้พ้นจากเราเถิด เจ้าทั้งหลายที่กระทำการชั่วช้า”

    ชาวอิสราเอล รู้คุณค่าของพันธสัญญา จึงยอมรับไม่ได้ง่าย ๆ ว่าชนชาติอื่นก็อาจเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าได้ด้วย รับบีแมร์ เขียนไว้ว่า “บุคคลหนึ่งจะเป็นบุตรในโลกที่จะมาถึงได้นั้น เขาต้องอาศัยบนแผ่นดินของอิสราเอล ต้องพูดภาษาศักดิ์สิทธิ์ (ฮีบรู) และสวดภาวนา Shama Isarel ทั้งเช้าและค่ำ” ... ตรงกันข้ามกับพระเยซูเจ้า ผู้ไม่ให้ความสำคัญต่อเอกสิทธิ์ของอิสราเอล คนกลุ่มแรกที่พระองค์ทรงเตือนคือคนทั้งหลายที่ “ได้กินได้ดื่ม” กับพระองค์ และคนที่ “ได้ฟังพระองค์สั่งสอน” ซึ่งบัดนี้หมายถึงเราผู้ร่วมโต๊ะแห่งศีลมหาสนิท หนึ่งชั่วโมงที่เราอยู่กับพระเยซูเจ้าในวันอาทิตย์ ไม่สามารถชดเชยเวลาอื่น ๆ ตลอดสัปดาห์ที่เรา “กระทำการชั่วช้า” และอยู่ห่างไกลพระองค์...

เวลานั้น ท่านทั้งหลายจะร่ำไห้คร่ำครวญ และขบฟันด้วยความขุ่นเคือง เมื่อแลเห็นอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ กับบรรดาประกาศกในพระอาณาจักรของพระเจ้า แต่ท่านทั้งหลายกลับถูกไล่ออกไปข้างนอก จะมีคนจากทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ทิศเหนือและทิศใต้ มานั่งร่วมโต๊ะในพระอาณาจักรของพระเจ้า ดังนั้น พวกที่เป็นกลุ่มสุดท้ายจะกลับกลายเป็นกลุ่มแรก และพวกที่เป็นกลุ่มแรกจะกลับกลายเป็นกลุ่มสุดท้าย”

    พระวาจานี้อาจทำให้เราคิดถึงชายและหญิงผู้มีความตั้งใจดี แต่หลังจากได้พยายามต่อสู้เพื่อเข้าสวรรค์แล้ว กลับถูกตัดสิทธิ์ตามคำตัดสินอย่างเผด็จการของเจ้านายผู้ปราศจากความสงสาร นี่คือภาพเสียดสีล้อเลียนพระเจ้า! พระเจ้าไม่ได้ปราศจากความสงสาร หรือไม่ยุติธรรม ... อันที่จริง ทุกคนที่ไม่สามารถเข้าไปร่วมงานเลี้ยงฉลองนี้ต้องโทษตนเองเท่านั้น เพราะแม้แต่ “คนต่างชาติต่างศาสนา” (“กลุ่มสุดท้ายจะกลายเป็นกลุ่มแรก”) จะมาจากทั่วทุกมุมโลก แม้ว่าเป็นความจริงที่ประตูนี้แคบ เพราะเดิมพันสูงยิ่ง คือชีวิตนิรันดร แต่พระเจ้าทรงเตรียมการไว้อย่างดี ให้ประตูนี้เปิดรับทุกคนได้ ชะตากรรมอันน่าเศร้าของอิสราเอลควรปลุกเราให้ตื่นจากหลับใหล เพราะพวกเขาเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับเชิญ แต่กลับถูกชายหญิงจากทั่วโลกเบียดแซงหน้าไป เราไม่สามารถเข้าสวรรค์เพราะโชคดี หรือเข้าสวรรค์โดยไม่รู้ตัว แต่เราต้อง “มีความต้องการ” เข้าสวรรค์ เราต้องต่อสู้เพื่อจะเข้าสวรรค์ เราต้องตัดสินใจอยู่ข้างพระเยซูเจ้า ... ไม่ว่าเราจะเป็นสมาชิกของคนกลุ่มใด เชื้อชาติใด หรือครอบครัวใด หรือเราได้ปฏิบัติศาสนกิจบางอย่างเป็นประจำ สิ่งเหล่านั้นไม่ควรหลอกเราให้มั่นใจผิด ๆ ได้ สิ่งเดียวที่เป็นหลักประกันคือการอุทิศทั้งตัวตนของเราให้แก่การติดตามพระเยซูเจ้า ... ตลอดทุกนาทีของชีวิต

    และที่สำคัญ ขอให้เราอย่าตัดสินผู้อื่นเลย ... เรารู้ความจริงสองข้อ คือ

–    ในส่วนของพระเจ้า พระองค์ทรงกระทำทุกสิ่งทุกอย่างแล้วเพื่อความรอดพ้นของมนุษย์ทุกคน

-    ในส่วนของมนุษย์ มนุษย์มีเสรีภาพที่จะปฏิเสธของขวัญจากพระเจ้า และเพื่อจะใช้เสรีภาพนี้ในทางที่ถูก เราต้องต่อสู้ ... ขณะที่อยู่บนโลกนี้ เราไม่รู้ว่าเสรีภาพของพี่น้องของเราจะสิ้นสุดลงเมื่อไร การพบกับพระเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งหมายถึงนาทีแห่งความตายนั้น จะต้องเป็นนาทีสุดท้ายที่สำคัญที่สุด ... ทุกคนที่เข้าใจว่าเดิมพันครั้งนี้ยิ่งใหญ่เพียงใด ย่อมอดใดไม่ได้ที่จะเป็น “ผู้ไถ่กู้” ร่วมกับพระเจ้าในหมู่มนุษย์ “จงอย่ามาร่วมงานเลี้ยงฉลองของพระอาณาจักรตามลำพัง จงไปและประกาศข่าวดีตามทางของท่าน คำสัญญานั้นคือปังที่มอบให้เพื่อนำมาแบ่งปัน” ... พระเจ้าทรงกระตุ้นเตือนท่านให้เข้ามาอยู่ในบ้านหนึ่งเดียวกันนี้ และทรงเรียกท่านมาอยู่ร่วมกันในความรัก...

    ข้าแต่พระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นความหวังของมนุษย์ โปรดทรงดลบันดาลให้เราเป็นพยานยืนยันความรอดพ้นที่พระองค์ประทานให้เทอญ...