วันอาทิตย์ที่ยี่สิบเจ็ด เทศกาลธรรมดา

ลูกา 17:5-10
    บรรดาอัครสาวกทูลองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า “โปรดเพิ่มความเชื่อให้พวกเราเถิด” องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงตรัสว่า “ถ้าท่านมีความเชื่อเท่าเมล็ดมัสตาร์ด และพูดกับต้นหม่อนต้นนี้ว่า ‘จงถอนรากแล้วไปขึ้นอยู่ในทะเลเถิด’ ต้นหม่อนต้นนั้นก็จะเชื่อฟังท่าน”
    “ท่านผู้ใดที่มีคนรับใช้ออกไปไถนา หรือไปเลี้ยงแกะ เมื่อคนรับใช้กลับจากทุ่งนา ผู้นั้นจะพูดกับคนรับใช้หรือว่า ‘เร็วเข้า มานั่งโต๊ะเถิด’ แต่จะพูดมิใช่หรือว่า ‘จงเตรียมอาหารมาให้ฉันเถิด จงคาดสะเอวคอยรับใช้ฉันขณะที่ฉันกินและดื่ม หลังจากนั้น เจ้าจึงกินและดื่ม’ นายย่อมไม่ขอบใจผู้รับใช้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งมิใช่หรือ ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เมื่อท่านได้ทำตามคำสั่งทุกประการแล้ว จงพูดว่า ‘ฉันเป็นผู้รับใช้ที่ไร้ประโยชน์ เพราะฉันทำตามหน้าที่ที่ต้องทำเท่านั้น’”

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
ความซื่อสัตย์

    ในวันอาทิตย์นี้ และอีกสามสัปดาห์ต่อจากนี้ไป พระวรสารจะกล่าวถึงความเชื่อ และการแสดงความเชื่อออกมาในการภาวนา เบื้องหลังของบทอ่านวันนี้คือคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าให้เราให้อภัยผู้อื่นครั้งแล้วครั้งเล่า ตราบใดที่เขากลับมาหาเราและพูดว่า “ฉันเสียใจ” เห็นได้ชัดว่าเป็นคำสั่งสอนที่ปฏิบัติตามได้ยาก บรรดาอัครสาวกจึงขอพระเยซูเจ้าว่า “โปรดเพิ่มความเชื่อให้พวกเราเถิด” ทั้งหมดนี้เป็นการนำเราไปสู่ความเข้าใจว่า สิ่งสำคัญไม่ใช่ความเชื่อเพราะได้เห็นเครื่องหมายที่น่าตื่นเต้น แต่เป็นความเชื่อที่ต้องบำรุงเลี้ยงให้มีอยู่ต่อไปขณะที่เราปฏิบัติหน้าที่อันน่าเบื่อหน่าย ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เราเรียกความพากเพียรในความเชื่อเช่นนั้นว่าความซื่อสัตย์

   เมล็ดมัสตาร์ดมีขนาดเล็กมากจนสามารถเป่าให้ปลิวได้ แต่ในที่อื่นของพระวรสาร เราอ่านพบว่าเมล็ดมัสตาร์ดสามารถเติบโตขึ้นเป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ และเป็นที่อยู่อาศัยของนกได้ พระวรสารตอนนี้ต้องการให้เรารู้จักให้อภัยอย่างต่อเนื่อง ความเชื่อเท่านั้นสามารถช่วยเราให้ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในความสัมพันธ์ของมนุษย์ ความเชื่อเพียงเล็กน้อยจะเติบโตขึ้นเหมือนเมล็ดพืชเล็ก ๆ ถ้าเราพยายามให้อภัยบุคคลที่ทำผิดต่อเรา การให้อภัยจะถอนรากของแนวโน้มด้านลบ การปลูกต้นไม้ในทะเลเป็นภาพลักษณ์ของสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และในบริบทนี้หมายถึงการถอนรากอุปสรรคที่ขัดขวางการให้อภัย แต่ประโยคนี้ไม่ได้ต้องการให้เราทำสิ่งที่อันตรายโดยอ้างความเชื่อ

    ความท้าทายในชีวิตจะสร้างบรรยากาศให้ความเชื่อเติบโตและเข้มแข็ง สิ่งสำคัญคือความเชื่อที่เพียรพยายาม เราจะมีความเชื่อที่เข้มแข้งได้เมื่อเราเผชิญหน้ากับความท้าทาย เหมือนกับนักกีฬาที่เพิ่มศักยภาพให้ตนเองโดยขยายความอดทนของเขา เมื่อเราเพียรพยายามต่อสู้กับอุปสรรค หรือความท้าทาย เราจะได้ชื่อว่าเป็นคนซื่อสัตย์
    แบบฉบับของความซื่อสัตย์ คือ ผู้รับใช้ที่ถ่อมตนและรู้จักหน้าที่ของตน อุปมาเรื่องนี้ทำให้เห็นภาพของการทำงานอันเป็นกิจวัตรที่น่าเบื่อหน่าย ผู้รับใช้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนโดยไม่คาดหวังว่าจะได้รับรางวัล หรือคำชมเชย นอกจากการเลี้ยงดูตามปกติ ผู้รับใช้คนนี้ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่

    การเป็นคนซื่อสัตย์หมายถึงการเพียรพยายามเดินไปตามทางของเราต่อไป โดยเฉพาะในเวลาที่ทำเช่นนั้นได้ยาก และไม่มีใครแสดงท่าทีว่าชื่นชมการทำงานของเรา บทอ่านที่หนึ่งจากหนังสือประกาศกฮะบากุกเชื่อมโยงกับคำสั่งสอนให้เพียรพยายามในความเชื่อ เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ระหว่างช่วงเวลาที่ประชาชนถูกกดขี่ พบกับความอยุติธรรม ความโหดเหี้ยม และความรุนแรง ท่านประกาศกประกาศเรื่องนิมิต หรือสารที่ได้รับจากพระเจ้าท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ แต่เขาเตือนผู้อ่านให้อดทนและเพียรพยายาม “แม้นิมิตนี้จะล่าช้าไปบ้าง ก็จงคอยสักระยะหนึ่ง นิมิตนี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนโดยไม่ชักช้า  ดูซิ ผู้มีจิตใจไม่ซื่อตรงก็จะล้มลง แต่ผู้ชอบธรรมจะมีชีวิตเพราะความซื่อสัตย์”

    “พระพรของพระเจ้าไม่ใช่พระจิตแห่งความขลาด แต่เป็นพระจิตแห่งพลัง และความรัก และการควบคุมตนเอง” (บทอ่านที่สอง) ภายใต้พระอานุภาพของพระจิตเจ้า สิ่งที่มนุษย์ดูเหมือนจะทำไม่ได้จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ภายใต้แสงสว่างแห่งพระอานุภาพและความรักของพระเจ้า อุปสรรคที่ขัดขวางการให้อภัยจะถูกถอนราก ความแข็งกระด้างของหัวใจที่ดูเหมือนไม่มีอะไรแทงทะลุได้ จะละลายภายใต้ความอบอุ่นจากความรักของพระเจ้า ถ้าเราเพียรพยายามต่อไปและมอบปัญหาต่าง ๆ ไว้กับพระหรรษทานของพระเจ้า เพียรพยายามในการสวดภาวนาขอให้พระประสงค์ของพระเจ้า – มิใช่ความประสงค์ของเรา - สำเร็จไป พระประสงค์ของพระเจ้าจะนำไปสู่ความรัก และฟื้นฟูชีวิตเสมอ

ข้อรำพึงที่สอง
โต๊ะที่ว่างเปล่า

    ในบรรดาโต๊ะอาหารที่ลูกากล่าวถึงในพระวรสาร ไม่มีโต๊ะใดที่ว่างเปล่าเท่ากับโต๊ะนี้ เกษตรกรในเรื่องอุปมานี้เป็นชาวนาเล็ก ๆ คนหนึ่งที่มีผู้รับใช้เพียงคนเดียวที่ต้องทำงานทั้งในทุ่งนาและรับใช้ที่โต๊ะอาหาร เราหวังว่าเมื่อเขากลับจากไถนา และก่อนจะมารับใช้ที่โต๊ะอาหาร เขาคงหาเวลาล้างมือก่อน เรื่องนี้ไม่แสดงถึงความอบอุ่น หรือเอาใจใส่ของแม่บ้าน มีแต่ความว่างเปล่าไร้ชีวิตชีวาของบ้านชายโสด บ้านหลังนี้คงดูสดใสขึ้นถ้าจะทาสีใหม่และติดม่าน อาหารไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เพียงช่วยให้อิ่มท้องเท่านั่น ไม่มีการพูดคุย นอกจากการเติมอาหารเข้าไปในท้องที่ว่างเปล่า แต่ละฝ่ายรู้ฐานะของตน และไม่ละเมิดขอบเขต ผู้เป็นนายไม่แสดงว่าสำนึกในบุญคุณของผู้รับใช้ และผู้รับใช้ก็ไม่คาดหวังคำขอบใจจากนาย ทั้งสองทำหน้าที่ของตน อีกวันหนึ่งผ่านไป และชีวิตก็ดำเนินต่อไป ไม่มีเรื่องตื่นเต้น มีแต่เหตุการณ์ปกติที่น่าเบื่อ

    โต๊ะอาหารของลูกาเป็นภาพวาดของชีวิต โต๊ะตัวหนึ่งมีเนื้อรสอร่อยตั้งอยู่ที่ใจกลางงานเลี้ยงฉลองการคืนดีของคนในครอบครัว อีกโต๊ะหนึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางคนจองหองทั้งหลายที่แย่งกันนั่งในที่ที่มีเกียรติ เราเห็นโต๊ะที่มีคนมาชุมนุมผ่อนคลายอารมณ์ในวันสับบาโต เพราะพระผู้สร้างโลกทรงพักผ่อนจากการทำงานในวันที่เจ็ด

    และมีอีกภาพหนึ่งที่มีหญิงคนบาปนั่งคุกเข่าร้องไห้ด้วยความกตัญญูรู้คุณ ในขณะที่สายตาอันเย็นชาของบุคคลที่นั่งที่หัวโต๊ะมองนางอย่างเหยียดหยาม บางครั้ง คำสนทนาอันเฉียบคมช่วยให้อาหารบนโต๊ะมีรสชาติมากขึ้น บางครั้ง ก็มีบรรยากาศที่เคร่งขรึมขณะที่ใครคนหนึ่งนั่งฟัง เหมือนกับมารีย์แห่งเบธานี นี่คือโต๊ะอาหารที่ใช้ประโยชน์ได้จริง โดยปราศจากสิ่งเติมแต่งด้วยการเฉลิมฉลอง หรือความสนุกสนานเพื่อช่วยผ่อนคลาย หรือเติมแต่งด้วยคำสนทนา

    ชีวิตภาวนานำเรามานั่งที่โต๊ะอาหารทุกตัวของนักบุญลูกา เราอาจสวดภาวนาเป็นเวลานานที่โต๊ะอันน่าเบื่อหน่ายปราศจากสิ่งเติมแต่งนี้ เราปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนเคย แต่ไม่มีความตื่นเต้น ไม่มีความสว่างภายใน และไม่ได้รับคำตอบ เราสวดบทสดุดีบทเดิม พูดตามคำพูดเดิมในพิธีมิสซา และสวดสายประคำเหมือนเดิม หน้าที่ที่จำเป็นที่สุดของชีวิตเป็นหน้าที่ที่เราต้องปฏิบัติอย่างซ้ำซาก ไม่ว่าจะเป็นการหายใจ การกินอาหาร ซักล้าง นอนหลับ ทำงาน ... และสวดภาวนา

    บนโต๊ะอาหารที่ปราศจากสิ่งแต่งเติมนี้ เราเรียนรู้ที่จะมองเห็นแสงสว่างในความซ้ำซากจำเจ ในการปฏิบัติศาสนกิจเป็นกิจวัตร และในใบหน้าเดิม ๆ และอาชีพเดิม การทำสิ่งที่เป็นกิจวัตรไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อหน่าย แต่สามารถนำไปสู่ความสงบ และทำให้เข้าใจพระเจ้าได้ลึกซึ้งมากขึ้นในสิ่งธรรมดาสามัญ การอยู่กับคนกลุ่มเดิมไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความเย็นชา แต่ควรท้าทายข้าพเจ้าให้ยอมรับผู้อื่นได้ทั้งจุดแข็ง และจุดอ่อนของเขา เมื่อพบทางตันในการภาวนา หรือมาถึงคืนมืดในวิญญาณ ไม่ได้หมายความว่านั่นเป็นความตายของการภาวนาในตัวข้าพเจ้า แต่ควรเป็นความตายต่อตนเองในการภาวนา ในบทอ่านที่หนึ่งของวันนี้ ประกาศกฮาบากุก แนะนำว่า “แม้นิมิตนี้จะล่าช้าไปบ้าง ก็จงคอยสักระยะหนึ่ง นิมิตนี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนโดยไม่ชักช้า  ดูซิ ผู้มีจิตใจไม่ซื่อตรงก็จะล้มลง แต่ผู้ชอบธรรมจะมีชีวิตเพราะความซื่อสัตย์”

    ความซื่อสัตย์โดยปราศจากสิ่งเติมแต่งนี้ไม่มีอะไรหรูหรา เราเพียรพยายามต่อไปอย่างเงียบ ๆ และซื่อสัตย์ เพราะเรารู้ด้วยความมั่นใจว่าพระเจ้าทรงซื่อสัตย์ และนั่นก็เพียงพอแล้ว พระเจ้าทรงเอื้อมพระหัตถ์มาหาข้าพเจ้าทั้ง 365 วันในแต่ละปีด้วยความรักอันซื่อสัตย์ไม่ผันแปรของพระองค์ อย่างน้อยที่สุด ข้าพเจ้าก็ควรตอบสนองพระเจ้าด้วยการภาวนาทั้ง 365 วันในแต่ละปี “ฉันเป็นผู้รับใช้ที่ไร้ประโยชน์ เพราะฉันทำตามหน้าที่ที่ต้องทำเท่านั้น”

บทรำพึงที่ 2

บรรดาอัครสาวกทูลองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า ...

    นักบุญลูกายังกำลังบอกเล่าเรื่องการเดินทางครั้งสุดท้ายที่สำคัญที่สุดของพระเยซูเจ้าไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ลูกาเรียกพระองค์อย่างสง่าเช่นนี้เพื่อเปิดตัวคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าต่อไปนี้ หลังจากตรัสกับชาวฟาริสี (ลก 16:1-31) และกับบรรดาศิษย์ (ลก 17:1-4) บัดนี้ พระเยซูเจ้าหันมาตรัสกับอัครสาวก พระวรสารฉบับอื่นเรียกศิษย์ 12 คนนี้ว่าอัครสาวกเพียงครั้งเดียว แต่ลูกาใช้คำนี้ถึง 6 ครั้งในพระวรสารของเขา และ 28 ครั้งในหนังสือกิจการอัครสาวก สำหรับเขา มีแต่ 12 คนนี้เท่านั้นที่มีสิทธิใช้ชื่อนี้ เพราะเขาเป็นพยานอย่างเป็นทางการถึงข่าวดีของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพจนถึงสุดปลายแผ่นดิน Apostloi ในภาษากรีกแปลว่า “ถูกส่งไป”...

    การเป็นอัครสาวกในชีวิตประจำวันเป็นพันธกิจที่ต้องรับผิดชอบมาก ไม่มีใครสามารถมอบบทบาทนี้ให้กับตนเองได้ ในพระศาสนจักรของคริสตชนรุ่นแรก ผู้มีความเชื่อรับรู้ได้ถึงเอกสิทธิ์ที่ไม่อาจมอบหมายให้ใครได้ของอัครสาวก 12 คน เพราะพวกเขาได้รับมอบหมายพันธกิจมาจากพระเยซูเจ้าโดยตรง และพระองค์ทรงส่งเขาออกไปด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงเลือกเขา และทรงส่งเขาไป – พวกเขาเป็นพยานของพระองค์ พวกเขาได้ยินคำสั่งสอนของพระองค์ และสามารถถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นได้อย่างที่เขาได้ยินมาจากพระองค์ ... เขาได้เห็นกิริยาท่าทางของพระองค์ และสามารถทำแบบเดียวกันได้ - กิริยาเหล่านั้นจะยังคงเป็นของพระองค์ต่อไป ... ที่สำคัญที่สุด คือ พวกเขาเคยเห็นว่าพระองค์ทรงมีชีวิตหลังจากทรงกลับคืนชีพแล้ว และห้ามตนเองไม่ได้ที่จะป่าวประกาศข่าวดีนี้จนถึงสุดปลายแผ่นดิน (กจ 1:21-22, 1:8)...

    พระศาสนจักรในปัจจุบันขอให้คริสตชนทุกคนเป็น “อัครสาวก” แต่คุณสมบัติของอัครสาวกแท้ยังคงเหมือนเดิม คือ “ฉันก็ถูกส่งไป” โดยพระเยซูเจ้าเอง ให้ไปเป็นพยานยืนยันถึงตัวตนของพระองค์ ความคิดของพระองค์ พระวาจาของพระองค์ กิริยาของพระองค์ ความรอดพ้นที่พระองค์ประทานให้ ความรักของพระองค์...

บรรดาอัครสาวกทูลองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า “โปรดเพิ่มความเชื่อให้พวกเราเถิด”

    มัทธิว และมาระโก เรียกพระเยซูเจ้าว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” เพียงหนึ่งครั้งระหว่างที่พระองค์ยังมีชีวิต แต่ลูกาใช้คำนี้เรียกพระองค์ถึง 19 ครั้งในพระวรสารของเขา คำนี้ไม่ใช่คำที่จะใช้เมื่อไรก็ได้ เพราะหมายถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพเสมอไป

    นอกจากนี้ คำทูลขอของอัครสาวกก็พิเศษเช่นกัน ครั้งนี้เป็นครั้งเดียวที่เราเห็นเพื่อน ๆ ของพระเยซูเจ้าทูลขอพระองค์เสมือนว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า ... ด้วยความคาดหวังบางอย่าง พวกเขาเรียกพระคริสตเจ้าแห่งปัสกาผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์ ผู้ที่เขาค้นพบภายหลังว่าทรงมีความผูกพันลึกล้ำกับพระเจ้า เราควรระลึกว่าพระเยซูเจ้าทรงกำลังขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม เหตุการณ์สุดท้ายใกล้จะเกิดขึ้นแล้ว...

“โปรดเพิ่มความเชื่อให้พวกเราเถิด”

    การเป็นอัครสาวกไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของมนุษย์เท่านั้น การเป็นพยานถึงการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้าไม่ได้เป็นผลมาจากหลักฐานที่มีเหตุมีผล ซึ่งบังคับให้เขาต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งในประวัติศาสตร์

    ความเชื่อเท่านั้นที่เปิดความคิด และหัวใจมนุษย์ให้ยอมรับความเป็นจริงของพระเจ้า ซึ่งอยู่เหนือความเข้าใจของมนุษย์ เหนือเหตุผล และเหนือกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์

    และความเชื่อเป็นพระพรของพระเจ้า “โปรดเพิ่มความเชื่อให้พวกเราเถิด”

    ใครบ้าง นอกจากพระเจ้า สามารถเปลี่ยนแปลงอัครสาวก หลังจากเขาวิ่งหนีและปฏิเสธพระองค์อย่างน่าละอายแล้ว จะมีใครนอกจากพระเจ้าที่เปลี่ยนพวกเขาให้กลายเป็น “พยานผู้กล้าหาญ” จนถึงกับยอมพลีชีวิตเป็นมรณสักขี ... เปล่าเลย ความเชื่อไม่ใช่หลักฐาน ไม่ใช่การชนะใจมนุษย์ ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างสติปัญญาและอำเภอใจ แต่เป็นการยอมรับพระพร การยอมรับพระหรรษทานประการหนึ่งอย่างถ่อมตน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ไม่ต้องทำอะไรเลย การยอมรับด้วยความยินดีเป็นทัศนคติที่ต้องออกแรง ... ท่านไม่ใช่แสงสว่าง แต่ถ้าท่านปิดม่านหน้าต่าง แสงอาทิตย์ก็ไม่สามารถส่องเข้ามาในบ้านของท่านได้ ... ความเชื่อก็เหมือนกับแสงอาทิตย์ เป็นพระพรที่พระเจ้าเสนอให้มนุษย์ทุกคนไม่มีวันหยุด ... แต่มนุษย์ต้องเปิดใจยอมรับ

    ความเชื่อ หรือ “พระพร” ซึ่งพระเจ้าประทานให้เปล่า ๆ นี้ ต้องมีผู้ร้องขอ การภาวนาเป็นเสมือนหน้าต่าง ... เราต้องเปิดตัวเรายอมรับพระพรจากพระเจ้า...

    “ข้าแต่พระเจ้า โปรดประทานความเชื่อแก่ข้าพเจ้าเถิด ... พระเจ้าข้า โปรดเพิ่มความเชื่อให้ข้าพเจ้าเถิด”...

องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงตรัสว่า “ถ้าท่านมีความเชื่อเท่าเมล็ดมัสตาร์ด และพูดกับต้นหม่อนต้นนี้ว่า ‘จงถอนรากแล้วไปขึ้นอยู่ในทะเลเถิด’ ต้นหม่อนต้นนั้นก็จะเชื่อฟังท่าน”

    นี่คือภาพลักษณ์ของชาวปาเลสไตน์ที่ลืมได้ยาก และเหมาะสมกับวิธีสอนด้วยข้อความที่ขัดแย้งในตัว ... เมล็ดมัสตาร์ดเป็นเมล็ดที่เล็กกว่าเมล็ดทั้งปวง” (มก 4:31) ส่วนต้นหม่อนเป็นต้นไม้ที่รับบีชาวยิวบอกว่าถอนรากได้ยากที่สุด เห็นได้ว่าพระเยซูเจ้าไม่ได้ทรงเชิญชวนเราให้ร้องขอเครื่องหมายอัศจรรย์ เพราะพระองค์เองไม่เคยถอนรากต้นหม่อน และนำไปปลูกในทะเล และหลายครั้ง พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะทำอัศจรรย์ที่ผู้อื่นร้องขอ แต่อาศัยภาพลักษณ์นี้ พระองค์ทรงบอกเราว่าความเชื่อเปิดใจเราให้รับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ... ให้เราเปิดใจรับพระเจ้า

    ความเชื่อเพียงน้อยนิดมีพลังมากกว่าความพยายามทั้งหมดของมนุษย์ เพราะความเชื่อเป็นการเข้าร่วมในพลังสร้างสรรค์ของพระเจ้าเอง อันที่จริงหลังจากวันปัสกานั้น ความเชื่อของบรรดาอัครสาวกมีประสิทธิภาพมากมายเกินกว่าความสามารถประสามนุษย์ของเขา พวกเขาเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีอิทธิพล ไม่มีอำนาจ ไม่มีเงิน ไม่มีองค์กร ไม่มีหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์มาสนับสนุน ไม่มีความช่วยเหลือจากมนุษย์คนใดเลย แต่พวกเขาสามารถเปลี่ยนทิศทางของประวัติศาสตร์ได้ ความจริงในประวัติศาสตร์ และคำสั่งสอนของพระเยซูเจ้าในวันนี้ เชิญชวนเราให้ปฏิเสธ “เครื่องมือของอำนาจ” และไม่ต้องพึ่งพาอาศัย “วิธีการ” ที่ยุ่งยากซับซ้อน และการวางแผนอย่างดีในการแพร่ธรรม แต่ให้พึ่งพาความเชื่อของเราเท่านั้น และเราจะเปิดใจรับความเชื่อนี้ได้ผ่านการภาวนา...

    “ดูซิ หญิงพรหมจารีมีบุตร มนุษย์คนหนึ่งเกิดมาจากพระเจ้า สวรรค์อยู่ท่ามกลางพวกเรา ประชาชนไม่อยู่ตามลำพังอีกต่อไป ... เพียงมีความเชื่อเล็กน้อย และท่านจะเห็นต้นไม้ขึ้นอยู่ในทะเล ขอทานกลายเป็นกษัตริย์ ผู้มีอำนาจถูกโค่น และสมบัติถูกนำมาแบ่งปันกัน ... ดูซิ น้ำเปลี่ยนเป็นเหล้าองุ่น เหล้าองุ่นเปลี่ยนเป็นโลหิต ขนมปังทวีจำนวน ประชาชนไม่หิวอีกต่อไป ... เพียงมีความเชื่อเล็กน้อย และท่านจะเห็นต้นไม้ขึ้นอยู่ในทะเล ทะเลทรายปกคลุมด้วยดอกไม้ พืชพันธุ์งอกงาม และเก็บเกี่ยวได้ในฤดูหนาว ยุ้งฉางเต็มจนล้นด้วยเมล็ดข้าว”...

    เพียงมีความเชื่อเล็กน้อย เล็กเท่าเมล็ดมัสตาร์ด และเราจะเห็นผู้ที่สิ้นหวังกลับมีความหวังอีกครั้งหนึ่ง เห็นคนบาปลุกขึ้น เห็นทางตันเปิดออก เห็นสงครามยุติ และความรักเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง ... ถูกแล้ว เราจะเห็นต้นไม้ในทะเล และภูเขาเคลื่อนที่ ภูเขาแห่งความกลัว ความเห็นแก่ตัว ความขลาด ... วิกฤติในโลก วิกฤติในพระศาสนจักร วิกฤติในครอบครัว วิกฤติในโรงเรียน วิกฤติทางเศรษฐกิจ ... เพียงมีความเชื่อเล็กน้อย...
    ความตายได้รับชัยชนะ ไม้กางเขนว่างเปล่า ... แต่คูหาฝังพระศพก็ว่างเปล่า และเปิดอยู่ ... และพระองค์ทรงมีชีวิต ประทับยืนอยู่ที่อีกฟากหนึ่งของทะเล ... และ “ต้นไม้ก็โลดเต้นด้วยความยินดี” (สดุดี 95)

“ท่านผู้ใดที่มีคนรับใช้ออกไปไถนา หรือไปเลี้ยงแกะ เมื่อคนรับใช้กลับจากทุ่งนา ผู้นั้นจะพูดกับคนรับใช้หรือว่า ‘เร็วเข้า มานั่งโต๊ะเถิด’ แต่จะพูดมิใช่หรือว่า ‘จงเตรียมอาหารมาให้ฉันเถิด จงคาดสะเอวคอยรับใช้ฉัน ขณะที่ฉันกินและดื่ม หลังจากนั้น เจ้าจึงกินและดื่ม’”

    เราคงรู้สึกสะดุดใจกับความหยาบกระด้างเช่นนี้ ในยุคของพระเยซูเจ้า สภาพของทาสในปาเลสไตน์คงไม่รุนแรงเท่ากับในโลกกรีก-โรมัน แต่ก็เป็นสภาพที่ทาสต้องพึ่งพาอาศัยนายของตนอย่างสิ้นเชิง จนเราไม่อยากเชื่อว่ามีสถานการณ์เช่นนี้อยู่ทั่วไป ทาสเป็นสมบัติของนาย ที่ไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง หรือกล่าวคำขอบคุณทาส...

    เราไม่อาจยกเอาคำพูดของพระเยซูเจ้าเป็นเหตุผลสนับสนุนทัศนคติต่อต้านสังคมซึ่งเรายังพบเห็นบ่อย ๆ อยู่ทุกวันนี้ เราพบหลายข้อความในพระวรสารที่เรียกร้องให้เรารักกัน แบ่งปัน และเคารพผู้อื่น...

นายย่อมไม่ขอบใจผู้รับใช้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งมิใช่หรือ

    แน่นอน พระเจ้าข้า นายควรขอบใจ และพระองค์ก็ทรงทราบดี

    แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่ขัดแย้งในตัวเอง และไม่น่าจะทนได้นี้ พระองค์คงต้องการสอนความจริงสำคัญบางอย่างแก่เรา

ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เมื่อท่านได้ทำตามคำสั่งทุกประการแล้ว...

    นี่คือเป้าหมายของคำสั่งสอนของพระองค์ พระองค์ไม่ได้สอนบทเรียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสังคม แต่เป็นความสัมพันธ์กับพระเจ้า

    พระเยซูเจ้าทรงหันไปหาพระเจ้าตลอดเวลา พระองค์ทรงทำลายความทะเยอทะยานอันโง่เขลาของเรา พระองค์ทรงทำให้ทุกคนเข้าใจฐานะของตนเอง ไม่มีประโยชน์ที่เราจะหลอกตัวเอง พระเจ้าทรงเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพเจ้าเป็นแต่ความเปล่าเบื้องหน้าพระองค์

    วันนี้ เราต้องตั้งใจฟังความจริงอันชัดเจนนี้ พระเจ้าทรงเป็น “นาย” ... เป็นภาพลักษณ์ที่เข้มงวด แต่จริงแท้ ซึ่งเราไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกับภาพลักษณ์อื่น ๆ เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสถึงพระเจ้าว่าเป็น “พระบิดา” เป็น “คู่ชีวิต” แม้แต่เป็น “ผู้รับใช้” ... “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า นายจะคาดสะเอวพาผู้รับใช้เหล่านั้นไปนั่งโต๊ะและจะรับใช้เขาด้วย” (ลก 12:37) เราต้องยอมรับภาพลักษณ์ที่ดูเหมือนขัดแย้งกันในตัวเหล่านี้...

    พระเจ้าข้า ข้าพเจ้ายอมรับที่จะอยู่ต่อหน้าพระองค์เหมือนคนรับใช้ผู้ต่ำต้อยคนหนึ่งที่ตั้งใจทำงานทุกอย่างที่พระองค์จะทรงสั่งข้าพเจ้า ... เหมือนพระนางมารีย์ เหมือนนักบุญหลายท่าน ข้าพเจ้าจะทำตัวเป็น “คนรับใช้” ที่รับใช้พระเจ้าก่อนอื่นทั้งหมด ... “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า” อย่างที่พระนางมารีย์ เคยตรัสไว้...

จงพูดว่า “ฉันเป็นผู้รับใช้ที่ไร้ประโยชน์ เพราะฉันทำตามหน้าที่ที่ต้องทำเท่านั้น”

    ก่อนจะทรงขอให้เราทำเช่นนี้ พระเยซูเจ้าทรงปฏิบัติเป็นตัวอย่างมาแล้ว “แม้ว่าพระองค์ทรงมีธรรมชาติพระเจ้า พระองค์ก็มิได้ทรงถือว่าศักดิ์ศรีเสมอพระเจ้านั้นเป็นสมบัติที่จะต้องหวงแหน แต่ทรงสละพระองค์จนหมดสิ้น ทรงรับสภาพดุจทาส ... ทรงถ่อมพระองค์จนถึงกับทรงยอมรับแม้ความตาย เป็นความตายบนไม้กางเขน” (ฟป 2:5)...

    ชาวฟาริสีเชื่อว่าตนเองสมควรได้สวรรค์เป็นรางวัล เพราะความดีที่เขาทำ แต่พระเจ้าทรงคิดต่างจากเรา พระองค์ไม่ต้องตอบแทนเรา และไม่มีใครมีอำนาจเหนือพระองค์ ... ถ้าเราเชื่อว่าเรามีอำนาจใด ๆ เหนือพระเจ้า เรากำลังบูชาตัวเราเอง...

    ทัศนคติเดียวที่ถูกต้องเบื้องหน้าพระเจ้า คือ การรับใช้พระองค์โดยไม่คำนึงถึงผลตอบแทน โดยไม่คิดถึงผลประโยชน์ การเป็นผู้รับใช้เหมือนพระเยซูเจ้าไม่ใช่ความอัปยศ การรับใช้คือการครองราชย์ ... เราควรทำสิ่งที่เราควรทำ และปล่อยให้ผลลัพธ์อยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า...