วันอาทิตย์ที่ยี่สิบแปด เทศกาลธรรมดา

ลูกา 17:11-19
    ขณะที่พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังกรุงเยรูซาเล็มนั้น พระองค์เสด็จผ่านแคว้นสะมาเรียและกาลิลี เมื่อเสด็จเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง คนโรคเรื้อนสิบคนเข้ามาเฝ้าพระองค์ ยืนอยู่ห่างพระองค์ ร้องตะโกนว่า “พระเยซู พระอาจารย์ โปรดสงสารพวกเราเถิด” พระองค์ทอดพระเนตรเห็นจึงตรัสกับเขาว่า “จงไปแสดงตนแก่บรรดาสมณะเถิด” ขณะที่เขากำลังไป เขาก็หายจากโรค คนหนึ่งในสิบคนนี้ เมื่อพบว่าตนหายจากโรคแล้ว ก็กลับมาพลางร้องตะโกนสรรเสริญพระเจ้า ซบหน้าลงแทบพระบาท ขอบพระคุณพระองค์ เขาผู้นี้เป็นชาวสะมาเรีย พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “ทั้งสิบคนหายจากโรคมิใช่หรือ อีกเก้าคนอยู่ที่ใดเล่า ไม่มีใครกลับมาถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า นอกจากคนต่างชาติคนนี้หรือ” แล้วพระองค์ตรัสกับเขาว่า “จงลุกขึ้น ไปเถิด ความเชื่อของท่านทำให้ท่านรอดพ้นแล้ว”

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
ความกตัญญู

    ลูกาเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารที่ให้ความสำคัญกับการภาวนามาก วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่สองในสี่สัปดาห์ที่พระวรสารกล่าวถึงบางแง่มุมของการภาวนา เรื่องของคนโรคเรื้อนสิบคนสอนบทเรียนอันมีค่าเกี่ยวกับการวิงวอนขอ และการขอบพระคุณพระเจ้า

    “พระเยซู พระอาจารย์ โปรดสงสารพวกเราเถิด” คนโรคเรื้อนที่วิงวอนขอความช่วยเหลือเหล่านี้ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดราวกับว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงทราบความทุกข์ร้อนของเขา พวกเขาเพียงแต่เปิดเผยว่าพวกเขาต้องการความสงสารจากพระองค์ จุดประสงค์ของการวิงวอนไม่ใช่เพื่อบอกสิ่งที่พระเจ้าไม่ทรงทราบเกี่ยวกับสถานการณ์ของเรา การวิงวอนเป็นวิธีการหนึ่งที่เรายอมรับความยากไร้ของเรา และทำให้เรารู้สึกได้ลึกซึ้งมากขึ้นว่าเราต้องพึ่งพระเจ้า ลูกา บรรยายภาพให้เราเห็นขบวนการซ้อนของพระพรจากการภาวนาในตัวคนโรคเรื้อนที่กลับมาขอบพระคุณ ขบวนการแรกคือพระพรที่พระเจ้าประทานลงมาให้เรา เมื่อชายคนนี้กำลังเดินไป เขาก็พบว่าตนเองหายจากโรคแล้ว ข้อความนี้แสดงให้เห็นความปิติยินดีจากการค้นพบความรักของพระเจ้าที่มีอำนาจเยียวยารักษาซึ่งหลั่งลงมา

    ขบวนการที่สองของพระพรคือการกลับไปหาพระเจ้า ลูกาบอกเราว่าชายคนนี้หันกลับมาระหว่างทาง พลางร้องตะโกนสรรเสริญพระเจ้า และเมื่อเขามาหาพระเยซูเจ้า เขาหมอบลงแทบพระบาทเพื่อขอบพระคุณพระองค์

    มีความแตกต่างหรือไม่ระหว่างการสรรเสริญ และการขอบคุณ บางครั้ง เราเห็นเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งที่ได้รับของขวัญรีบวิ่งไปหาผู้ให้ทันที และตอบแทนเขาด้วยการกอดและจูบ เขาชื่นชมยินดีในตัวผู้ให้มากกว่าในของขวัญ แต่เด็กที่โตกว่า บางทีอาจเป็นเพราะเขาบังคับตนเองได้มากกว่า และไม่แสดงออกตามสัญชาตญาณเหมือนเด็กเล็ก จึงมักขอบคุณพอเป็นพิธี จากนั้นก็สนใจแต่การเปิดห่อของขวัญ การสรรเสริญเป็นการตอบสนองต่อผู้ให้ของขวัญ ในขณะที่การขอบคุณเป็นการตอบสนองต่อของขวัญมากกว่า

    ข้าพเจ้าคิดว่าลูกาบรรยายเหตุการณ์ที่ชายโรคเรื้อนรู้ตัวว่าเขาหายจากโรคไว้ดีมาก การเดินไปตามถนน หมายถึงการเดินทางในชีวิตของเรา ชายคนนี้พบว่าตนเองหายจากโรค การพบเห็นพระพรต่าง ๆ ที่พระเจ้าประทานให้ในชีวิตของเราคือกุญแจที่กระตุ้นให้เราสรรเสริญพระองค์ ถ้าชายคนนี้ไม่เคยเป็นโรคเรื้อน เขาคงไม่รู้คุณค่าของสภาพที่ไร้โรคภัยไข้เจ็บ และเมื่อเขาเป็นชาวสะมาเรีย ซึ่งถือว่าเป็นคนต่างชาติ คงทำให้ความยินดีและความกตัญญูของเขาเพิ่มขึ้นอีก ความคุ้นเคยมักทำให้เราเห็นคุณค่าน้อยลง พรสวรรค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเราน่าจะเป็นพรสวรรค์ที่เรายังมองไม่เห็น เพราะเราคิดว่าเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะคนทั้งหลายที่เราพบเห็นทุกวัน จนเรามองข้ามความสำคัญของเขา คนที่เคยป่วยหนักจนแทบเอาชีวิตไม่รอดจะบอกเราว่าบัดนี้เขาเห็นคุณค่าของอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นทุกวัน เมื่อเขาตื่นนอน และสามารถลุกขึ้นจากเตียงได้

    บางคนพบว่าการบันทึกเรื่องราวในชีวิตประจำวันช่วยได้มาก ข้าพเจ้าขอเสนอว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่เราควรบันทึกคือพระพรต่าง ๆ ที่เราได้รับจากพระเจ้าในชีวิต การมองเห็นและยอมรับว่าสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราเป็นพระพรจากพระเจ้า จะเป็นแหล่งกำเนิดของความสว่างและพลังงานในชีวิต ที่ดียิ่งกว่าการทบทวนและการวิเคราะห์ความรู้สึกและเหตุจูงใจ นอกจากนี้ ข้าพเจ้าขอเสนอว่าก่อนไปรับศีลอภัยบาป เราควรระลึกถึงพระพรต่าง ๆ ที่เราได้รับจากพระเจ้าในชีวิต ก่อนจะไปสารภาพความบกพร่องต่าง ๆ ของเรา วิธีนี้จะช่วยให้เราสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับการสารภาพบาป

    ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราพิศวงใจ และกตัญญูรู้คุณ คือ ความตระหนักว่าเราไม่ได้ทำอะไรที่เหมาะสมจะได้รับพระพรนั้น ๆ เลย คำว่ากตัญญู (gratitude) มาจากศัพท์ภาษาละติน (gratis) ที่แปลว่าของขวัญที่ได้มาเปล่า ๆ หนึ่งในบรรดาผลอันยิ่งใหญ่ของคุณธรรมแห่งการมีใจยากจน ก็คือสำนึกในคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้มาเปล่า ๆ ไม่มีใครแสดงออกถึงผลของคุณธรรมข้อนี้ได้ชัดเจนกว่านักบุญฟรังซิส แห่งอัสซีซี ชายผู้ยากจนและต่ำต้อย ซึ่งบางครั้งเขาชื่นชมยินดีกับสิ่งสร้างต่าง ๆ ของพระเจ้าจนแทบมึนเมา ผู้เขียนประวัติของเขามักย้ำว่า ยิ่งเขาชื่นชมยินดีกับความงามของโลกมากเท่าไร เขาก็ยิ่งกระหายที่จะกลับไปหาพระเจ้าผู้ทรงเป็นต้นกำเนิดของความงามเหล่านั้นมากเท่านั้น ในผลงานศิลปะทุกชิ้นในธรรมชาติ เขาเห็นองค์ศิลปิน และคำภาวนาของเขาเต็มไปด้วยคำสรรเสริญพระเจ้า

    ขบวนการไหลกลับไปหาต้นกำเนิดของพระพรเหล่านี้ดึงจิตใจของเราไปหาพระตรีเอกภาพ พระบุตรทรงเป็นพระวจนาตถ์ ผู้ทรงแสดงให้เห็นความบริบูรณ์ของพระบิดาเสมอ พระองค์ “ทรงเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่เรามองไม่เห็น” (คส 1:15) “ทรงเป็นรังสีแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า ทรงเป็นภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์ขององค์พระเจ้า” (ฮบ 1:3) พระบุตรทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา และทรงสะท้อนพระสิริรุ่งโรจน์นั้นกลับไปหาพระบิดา อันเป็นการสรรเสริญพระองค์อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

    ทุกคนที่เข้าร่วมในพิธีบูชาขอบพระคุณได้รับเอกสิทธิ์อันน่ายำเกรงให้มีส่วนร่วมในการบูชาพระเจ้าเช่นนี้  อาศัยการเสด็จมารับธรรมชาติมนุษย์ พระบุตรทรงโอบอุ้มทุกคนที่ยอมรับพระองค์ด้วยความเชื่อ  และอาศัยการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระองค์ พระองค์ทรงยกทุกคนขึ้นด้วยการสรรเสริญพระบิดาอย่างสมบูรณ์ไม่มีที่ติ ความหมายของพิธีบูชาขอบพระคุณก็คือการถวายการสรรเสริญและขอบพระคุณแด่พระเจ้า ผ่านทางพระเยซูเจ้า พร้อมกับพระองค์ และในพระองค์ และหลังจากเราได้ถวายการสรรเสริญในบทภาวนาก่อนรับศีลมหาสนิทแล้ว เราจะได้รับพระหรรษทานยิ่งขึ้นไปอีกด้วยการรับองค์พระผู้เป็นเจ้าให้มาเป็นปังแห่งชีวิตของเรา สมดังวลีที่ว่า “พระหรรษทานเพื่อตอบแทนพระหรรษทาน”

    “อีกเก้าคนอยู่ที่ใดเล่า” ขอให้เราอย่าชี้มือไปที่ผู้อื่น แต่ให้พิจารณาชีวิตของเราเองสำหรับพรสวรรค์อื่นอีกเก้าประการที่พระเจ้าประทานให้แก่เรา แต่เรายังไม่ค้นพบ ... ขอให้ลองจับปากกา และเขียนรายการพระคุณอีกเก้าประการที่ท่านยังไม่เห็นคุณค่าเพียงพอดูเถิด

    การค้นพบ และการกลับไป ทำให้เรามีหัวใจที่เปี่ยมด้วยความกตัญญูรู้คุณ และความกตัญญูรู้คุณก็เป็นหัวใจของการภาวนา

ข้อรำพึงที่สอง
อีกเก้าคน

    “อีกเก้าคนอยู่ที่ใดเล่า” น้ำเสียงของพระเยซูเจ้าดูจะผิดหวังอยู่ไม่น้อย บางทีทั้งเก้าคนนี้อาจกำลังสรรเสริญพระเจ้าตามแบบฉบับของตนเองอยู่ก็ได้ แต่เขาก็ควรขอบพระคุณพระเยซูเจ้าด้วย เพราะพระองค์ทรงเป็นคนกลางที่รักษาโรคให้เขา บางทีเขาอาจมีข้อแก้ตัวที่มีเหตุผลก็เป็นได้ เรื่องนี้เปิดโอกาสให้เราลองวาดมโนภาพได้ว่าเขาไปทำอะไรที่ใดบ้าง

    อาวี และเบน เป็นชาวยิว และเขาปฏิบัติตามคำสั่งของพระเยซูเจ้าให้ไปแสดงตนแก่บรรดาสมณะ เขาจำเป็นต้องได้รับการรับรองว่าปราศจากมลทินก่อนจะกลับคืนสู่สังคมได้ และหนทางจากชายแดนแคว้นสะมาเรียและกาลิลี ไปถึงกรุงเยรูซาเล็ม ก็ยาวไกล นอกจากนี้ เมื่อเขาสะอาดปราศจากมลทินแล้ว เขาก็ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับพวกสะมาเรียเหล่านั้นอีก เขาควรลืมสิ่งที่เขาทำไปเพราะสถานการณ์บีบบังคับจะดีกว่า ดังนั้น เมื่อเขาต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางศาสนา เขาจึงไม่กลับไปหาพระเยซูเจ้า

    โคลปัส ก็เป็นชาวยิว แต่เขารู้สึกว่ายังไม่จำเป็นต้องรีบไปแสดงตัวกับสมณะ สิ่งแรกที่เขาควรทำคือไปหาครอบครัวที่เขาต้องตัดใจแยกตัวออกไป เขาเดินทางไปอยู่ในแคว้นสะมาเรีย ที่ซึ่งไม่มีใครรู้จัก เพื่อไม่ให้ครอบครัวของเขาต้องอับอาย ทุกวันที่อยู่ห่างจากครอบครัวเป็นวันที่ยาวนานมาก เขาจึงรีบเดินทางกลับบ้าน

    ส่วนเดมัส เขาแทบคลั่งเพราะความตื่นเต้น เขาวิ่งไปกระโดดไป ลงนอนกลิ้งเกลือกบนพื้นดิน และร้องตะโกนเหมือนคนบ้า เขาไม่สนใจว่าใครจะคิดอย่างไร บัดนี้เขาไม่มีมลทินแล้ว

    แต่เอลิมมีปัญหา เอลิมเป็นคนที่มีปัญหาบางอย่างเสมอ เขาไม่ได้เต็มใจนัก เมื่อเขาเข้าร่วมกับคนอื่น ๆ ตะโกนเรียกท่านประกาศก บัดนี้ เขาเห็นแล้วว่าตนเองหายจากโรค แต่เขาก็ยังคิดว่าเป็นจินตนาการของเขาเอง และมันจะหายไปในไม่ช้า ยิ่งเขาเห็นเดมัสกระโดดโลดเต้น เอลิมก็ยิ่งไม่มั่นใจ ชะตาชีวิตต้องเล่นตลกกับเขาอีกครั้งหนึ่งเป็นแน่ เขาจึงเดินจากไปตามลำพังพร้อมกับคิดในใจว่า พรุ่งนี้เขาก็คงกลับมาเป็นโรคเดิมอีก

    อีกสองคนคือเฟเบล และเกเรด ถามกันและกันว่าทั้งหมดนี้เป็นความฝันหรือเปล่า เขาต้องการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง เขาจึงเดินทางไปยังเมืองที่ใกล้ที่สุด เขาเดินทางอย่างระมัดระวัง และกลัวตลอดเวลาว่าจะได้ยินเสียงร้องที่เขากลัวมากว่า “มีมลทิน มีมลทิน” แต่ไม่มีเสียงร้องเช่นนี้ให้ได้ยิน แต่เขาก็รู้สึกว่าทุกสายตาหันมามองเขา มองทะลุท่าทีที่ดูเหมือนไม่ทุกข์ร้อนของเขา แต่ก็ไม่ได้ยินเสียงร้องใด ๆ ทั้งสองมีความกล้ามากขึ้น เขาเดินเข้าไปในตลาดที่มีคนพลุกพล่าน เขาถูกเบียด ถูกผลัก – มันเป็นความรู้สึกที่ดีอะไรเช่นนี้ เขารู้สึกเจ็บเมื่อมีใครบางคนเหยียบเท้าของเขาซึ่งกลับมีความรู้สึกอีกครั้งหนึ่ง คนเหล่านี้รู้หรือไม่ว่าความเจ็บปวดสามารถหอมหวานเช่นนี้ได้ เขาจับต้องความแข็งกระด้างของเครื่องใช้ และลูบคลำความอ่อนนุ่มของผ้า และรู้สึกถึงน้ำหนักของสิ่งต่าง ๆ ไม่มีเสียงตะโกนเตือนภัย มีแต่เสียงของพ่อค้าที่ถามว่า “ชอบไหมครับท่าน” ใช่ซิ เขาชอบมาก

    และมีเฮโนค และอิตาม ที่บอกว่าเขาต้องกลับไปหาพระเยซูเจ้าแน่นอน ... แต่ยังไม่ใช่เวลานี้ เขาต้องเลี้ยงฉลองกันก่อน ใครจะตำหนิเขาได้ เขาถูกห้ามไม่ให้เข้าพักในโรงแรมใด ๆ มานานหลายปี เขาอยากลิ้มรสเครื่องดื่มซึ่งสำหรับเขาเป็นเหมือนภาพลวงตากลางทะเลทรายมานานหลายปี ขอดื่มอะไรสักหน่อยเถิดแล้วเขาจะไป ท่านประกาศกต้องเข้าใจแน่

    พระเยซูเจ้าทรงเข้าใจดี แต่พระองค์ก็อดเศร้าพระทัยไม่ได้ และทรงผิดหวังด้วย ข้อแก้ตัวเหล่านั้นดูเหมือนมีเหตุผล แต่ข้อแก้ตัวก็ฟังดูมีเหตุผลด้วยกันทั้งนั้น คนหนึ่งในสิบคนกลับมาหาพระองค์ เพียงร้อยละสิบ จำนวนคนที่กลับมาขอบพระคุณพระองค์มีเพียงเท่านี้จริงหรือ

    การแสดงความกตัญญู และแสดงว่าเราเห็นคุณค่าของพระพรจากพระเจ้า ย่อมไม่สูญเปล่าแน่นอน มาร์ค ทเวน บอกว่าคำชมเพียงคำเดียวทำให้เราอิ่มไปหนึ่งเดือน บางคนอาจต้องดำรงชีวิตโดยไม่ได้ยินคำขอบคุณนานกว่านี้ แม้จะมีบางคนที่คำชมอาจทำให้เขาเหลิง แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ความงามกำลังร่วงโรยไปเพราะไม่เคยได้ยินคำชมเชย “อีกเก้าคนอยู่ที่ใดเล่า”

บทรำพึงที่ 2

ขณะที่พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังกรุงเยรูซาเล็มนั้น...

    ลูกาเตือนเราอีกครั้งหนึ่งว่าอะไรรอพระเยซูเจ้าอยู่ข้างหน้า นี่คือสัปดาห์ท้าย ๆ ในชีวิตของพระองค์บนโลกนี้...

    ก่อนอื่น ข้าพเจ้าต้องใช้เวลาไตร่ตรองถ้อยคำเหล่านี้ พระเยซูเจ้ากำลังเดินทางไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ข้าพเจ้าพยายามวาดภาพในจินตนาการ และพยายามคิดว่าพระเยซูเจ้าทรงกำลังคิดถึงอะไร ขณะที่พระองค์ทรงเดินอยู่บนถนนที่นำไปสู่กรุงเยรูซาเล็ม จุดหมายของการเดินทางครั้งสุดท้ายของพระองค์...

พระองค์เสด็จผ่านแคว้นสะมาเรีย และกาลิลี

    ลูกาเน้นย้ำความจริงว่าพระเยซูเจ้าทรงเลือกเดินทางผ่านแคว้นสะมาเรีย พระองค์ไม่ทรงเหยียดเชื้อชาติเหมือนคนร่วมสมัย พระองค์ไม่ทรงลังเลใจที่จะเดินทางผ่านแคว้นนี้ ซึ่งเป็นอาณาเขตต้องห้ามสำหรับประชาชนในกรุงเยรูซาเล็ม “ชาวยิวไม่ติดต่อกับชาวสะมาเรีย” (ยน 4:9)

    เมื่ออาณาจักรเหนือล่มสลาย และหลังจากชาวอิสราเอลถูกเนรเทศในปีที่ 721 ก่อนคริสตกาล ชาวอัสสิเรีย ซึ่งเป็นผู้ชนะ ได้นำทาสมาจากแคว้นอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยคนต่างชาติต่างศาสนา ... ผู้นำทางศาสนาในกรุงเยรูซาเล็ม จึงถือว่าชาวสะมาเรียเป็นคนนอกรีต...

    ความใจกว้างของพระเยซูเจ้าควรท้าทายเรา ... เรายังมีความรังเกียจคนบางกลุ่ม บางเชื้อชาติ หรือบางชนชั้นอยู่หรือเปล่า...

    ความสนใจที่ลูกาแสดงต่อสะมาเรียมีนัยสำคัญ ในแคว้นนี้ “พันธกิจเผยแผ่พระวรสาร” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกนอกแคว้นยูเดีย และเป็นปฐมบทที่นำไปสู่การแผ่ขยายอย่างกว้างขวางของพระศาสนจักร เข้าไปในดินแดนของคนที่ไม่ใช่ชาวยิว...

    คริสตชนวันนี้ไม่ควรเดินตามทางใดนอกจากทางที่พระเยซูเจ้าทรงเดินนำเราไปก่อน...

    ข้าพเจ้าหลีกเลี่ยง “แคว้นสะมาเรีย” แห่งยุคปัจจุบันหรือเปล่า...

เมื่อเสด็จเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง คนโรคเรื้อนสิบคนเข้ามาเฝ้าพระองค์...

    ในแคว้นที่ถูกสาปแห่งนี้ ... มีบุคคลที่ถูกสาปแช่งมากที่สุดมาหาพระองค์ ... ข้าพเจ้าต้องพยายามวาดภาพเหตุการณ์นี้ในใจด้วย ตามความคิดในพระคัมภีร์ (ลนต 13, 14) โรคผิวหนังที่น่ารังเกียจทุกชนิดถูกเรียกว่า “โรคเรื้อน” ซึ่งอาจไม่ใช่โรคเรื้อนอย่างที่ทางแพทย์วินิจฉัยกันในปัจจุบัน

    นอกจากนี้ พระคัมภีร์มองว่าโรคเรื้อนเป็นการลงโทษของพระเจ้า เป็นภาพลักษณ์ของ “บาป” ที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นบุคคลอัปลักษณ์...

    แต่พระเยซูเจ้าไม่ทรงกลัว พระองค์คือความรักอันอ่อนโยนของพระเจ้า ผู้เสด็จมาหาผู้ยากไร้ที่สุด ... ผู้ถูกทอดทิ้ง ... แม้แต่ทุกวันนี้ บาปของข้าพเจ้า แม้แต่บาปที่หนักที่สุด ... ก็ไม่ทำให้พระองค์ทรงรังเกียจข้าพเจ้า...

    พระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อจุดประสงค์นี้ ... เพื่อช่วยมนุษย์ให้รอดพ้น ... เพื่อรักษาโรค...

เขายืนอยู่ห่างพระองค์ ร้องตะโกนว่า...

    ในจินตนาการ ข้าพเจ้าได้ยินเสียงร้องตะโกนออกมาจากปากของชาย 10 คน...

    นี่คือธรรมเนียมของเขา และเป็นหน้าที่ของเขาด้วย เขาต้องตะโกนบอกทันทีที่เห็นใครเข้ามาใกล้ กฎของโมเสส ค่อนข้างโหดร้ายในประเด็นนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้แพร่กระจาย ... “ผู้ใดเป็นโรคผิวหนังติดต่อได้ ต้องสวมเสื้อผ้าขาด ไม่โพกศีรษะ และปิดหน้าส่วนล่าง ร้องตะโกนว่า ‘มีมลทิน มีมลทิน’ ”(ลนต 13:45) ... ไม่ต้องบอกก็รู้ได้ว่าพวกเขาเป็น “บุคคลต้องห้าม” เขาถูกห้ามอยู่ร่วมกับประชาชนทั่วไป และห้ามเข้าไปในสถานที่ประกอบศาสนกิจ...

    คนเหล่านี้เป็นผู้ยากไร้ที่สุดในบรรดาผู้ยากไร้ทั้งหลาย...

“พระเยซู พระอาจารย์ โปรดสงสารพวกเราเถิด”

    พวกเขาเรียกพระนามของพระองค์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยครั้งมากในพระวรสาร

    ในภาษาอาราเมอิก คำว่า Jeshouah แปลว่า “พระเจ้าทรงช่วย”...

    ด้วยเหตุนี้ คริสตชนจารีตตะวันออกจึงมีบทภาวนาชื่อว่า “บทภาวนาต่อพระเยซูเจ้า” ซึ่งเรียกขานพระนาม และวิงวอนขอว่า “พระเยซูเจ้าข้า โปรดทรงเมตตาเทอญ ... พระเยซูเจ้าข้า โปรดทรงเมตตาเทอญ ... พระเยซูเจ้าข้า โปรดทรงเมตตาเทอญ...”

    เราก็สวดภาวนาเช่นนี้บ่อยครั้งระหว่างพิธีมิสซาว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงเมตตาเทอญ”...

พระองค์ทอดพระเนตรเห็น จึงตรัสกับเขาว่า “จงไปแสดงตนแก่บรรดาสมณะเถิด”

    นี่เป็นกฎอีกข้อหนึ่งเช่นกัน (ลนต 14:2) สมณะเท่านั้นมีสิทธิรับรองว่าบุคคลหนึ่งหายจากโรคเรื้อนแล้ว ดังนั้น คนโรคเรื้อนทั้ง 10 คน จึงเข้าใจได้ว่าคำสั่งของพระเยซูเจ้าเป็นคำสัญญาว่าพวกเขาจะหายจากโรค

    แต่เราอาจสะดุดใจที่ดูเหมือนพระเยซูเจ้าทรงไม่มีความปรานี แทนที่จะทรงรักษาเขาให้หายในทันทีทันใด พระองค์กลับทรงขอให้บุคคลน่าสงสารเหล่านี้เดินกลับไป เราเห็นพวกเขาเดินจากไปทั้งที่ยังเป็นโรคเรื้อน...

    เหตุการณ์เกิดขึ้นเสมือนว่าพระเยซูเจ้าทรงต้องการทดสอบความเชื่อของพวกเขา ซึ่งทำให้เรานึกถึงประกาศกเอลีชา ที่ทดสอบความเชื่อของนาอามาน ชาวซีเรีย เมื่อเอลีชาขอให้เขาทำบางสิ่งบางอย่าง ... แต่กลับทำให้ชาวซีเรียผู้นี้โกรธ...

    บ่อยครั้ง ความเชื่อก็เป็นบททดสอบสำหรับเราเช่นกัน เป็นเหมือนการเดินทางในเวลากลางคืนโดยที่เรามองไม่เห็น และไม่เข้าใจอะไรเลย เราต้องมีความมั่นใจ และวางใจในพระวาจาของพระเยซูเจ้า ... เราวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า และพระองค์ทรงสัญญาจะประทานแก่เรา ... สักวันหนึ่ง ... และเราต้องเดินต่อไปตามทางของเรา โดยมีแต่คำสัญญาของพระองค์เท่านั้น...

ขณะที่เขากำลังไป เขาก็หายจากโรค

    นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่อัศจรรย์เกิดขึ้นอย่างลับ ๆ ห่างไกลจากพระเยซูเจ้า องค์ประกอบที่น่าตื่นตาตื่นใจของเหตุการณ์ ... ซึ่งพวกเรานิยมชมชอบกันเหลือเกิน ... กลับถูกปิดบังไว้...

    เราได้เห็นความหมายเชิงศาสนาของการรักษาโรคครั้งนี้ ... คำวิงวอนของชายที่ป่วยเหล่านี้เป็นคำภาวนาในรูปแบบของพิธีกรรม “โปรดสงสารพวกเราเถิด” และพระเยซูเจ้าทรงบอกให้เขาไป “แสดงตนแก่บรรดาสมณะ” ... พระวรสารเชิญชวนให้อ่าน “เครื่องหมาย” ในการรักษาที่มีลักษณะพิเศษนี้...

    พระเยซูเจ้าทรงสามารถรักษาข้าพเจ้าได้เหมือนกัน พระองค์สามารถช่วยข้าพเจ้าให้รอดพ้นได้เหมือนกัน ... ขอให้เราอย่าวิงวอนขอพระองค์แต่พระพรทางวัตถุเลย...

    “อาศัยพระกายและพระโลหิตของพระองค์ ข้าแต่พระเยซู พระคริสตเจ้า โปรดทรงรักษาหัวใจของมนุษย์ทุกวันนี้เทอญ”

คนหนึ่งในสิบคนนี้ เมื่อพบว่าตนหายจากโรคแล้ว ก็กลับมาพลางร้องตะโกนสรรเสริญพระเจ้า ซบหน้าลงแทบพระบาทขอบพระคุณพระองค์

    “การสรรเสริญพระเจ้า” ... ร้องตะโกนสรรเสริญ และถวายเกียติแด่พระเจ้า ... เขาซบหน้าลง เขาหมอบลงบนพื้น ... ตามปกติชาวยิวจะยืนอธิษฐานภาวนา แต่บางครั้ง เมื่อชาวยิวรู้สึกยำเกรงเพราะเขาอยู่เบื้องหน้าพระเจ้า หรือกำลังเป็นทุกข์ใจ เขาจะหมอบลงกับพื้น ... เป็นเครื่องหมายว่าเขายอมจำนนโดยสิ้นเชิง ... หรือกำลังเป็นทุกข์มาก

    ในพระคัมภีร์ มนุษย์จะหมอบลงกับพื้นเบื้องหน้าพระเจ้าเท่านั้น ในกรณีนี้ คนโรคเรื้อน “ซบหน้าลงแทบพระบาท” พระเยซูเจ้าทรงมีส่วนร่วมในพระสิริรุ่งโรจน์ และพระอานุภาพอันไร้ขอบเขตของพระเจ้า นี่คือธรรมล้ำลึกที่ซ่อนอยู่ภายใต้ธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์

    “ขอบพระคุณพระองค์” หรือภาษากรีกเรียกว่า euchariston...

    แม้แต่ภาษากรีกสมัยใหม่ก็ยังใช้คำว่า eucharisto เมื่อพูดว่าขอบคุณ คงน่าเสียดายถ้าเราลืมความหมายแท้จริงของถ้อยคำที่เราใช้ในพิธีกรรม ... มีใครบ้างในพวกเราที่คิดว่า เมื่อเราบอกว่า “ฉันจะไปพิธีมิสซา” อันที่จริงเรากำลังพูดว่า “ฉันกำลังจะไปขอบพระคุณพระเจ้า” ... เหนืออื่นใด พิธีบูชามิสซาเป็นพิธีกรรมที่พระศาสนจักร “ขอบพระคุณ” พระเยซูเจ้าอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อพระองค์ “เสด็จจากโลกนี้ไปเฝ้าพระบิดา” “พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ... ทรงหยิบถ้วยเหล้าองุ่น ... ทรงขอบพระคุณ ตรัสว่า “นี่คือกายของเรา ... นี่เป็นโลหิตของเรา ... ที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลาย” อาหารทุกมื้อของชาวยิว โดยเฉพาะงานเลี้ยงปัสกา ต้องเริ่มต้นด้วย berakha คือการขอบพระคุณ หรือถวายพร พระเยซูเจ้าทรงได้รับการอบรมมาให้มีความศรัทธาต่อพระเจ้าเหมือนชนชาติเดียวกับพระองค์ พระองค์ทรงขอบพระคุณพระเจ้าเสมอสำหรับความรักอันอ่อนโยนของพระองค์ สำหรับความดีของพระองค์ที่ได้ทรงสร้างโลกอันกว้างใหญ่และสวยงามนี้ และทำให้เราได้รับสิ่งดี ๆ มากมาย (โดยเฉพาะอาหารที่จำเป็นเพื่อให้เราดำรงชีพอยู่ได้ กล่าวคือ ขนมปังและเหล้าองุ่น อาหารและเครื่องดื่ม) ซึ่งปลดปล่อยเรา และช่วยให้เรารอดพ้น...

    เราต้องยอมรับว่าเราไม่รู้ว่าเราควรขอบพระคุณพระเจ้าอย่างไร  เรากล่าวคำว่า “ขอบคุณ” อย่างสุภาพในหลากหลายโอกาสด้วยความเคยชินและแทบไม่รู้ตัว ทั้งที่โต๊ะอาหาร ในร้านค้า และบนถนนหนทาง ... โดยไม่สร้างความสัมพันธ์ใด ๆ กับบุคคลที่เราพบเลย ... ตามปกติ เมื่อเรากล่าวคำว่า “ขอบคุณ” เราควรมองตาบุคคลที่ทำให้เรามีความสุข...

    คนโรคเรื้อนที่น่าสงสารนี้อยู่ห่างไกลจากพระเยซูเจ้าเมื่อเขาได้รับพระพรอันยิ่งใหญ่ คือการรักษาโรคของเขา ด้วยความรู้สึกพิศวงนี้ เขาต้องการเห็นพระพักตร์ของพระเยซูเจ้าอีกครั้งหนึ่ง เขาเดินกลับมาหาพระองค์ ... เพื่อมาพูดว่า “ขอบคุณ” กับพระองค์! ข้าพเจ้าพยายามจินตนาการว่าเขาแสดงท่าทางอย่างไร น้ำเสียงของเขาเป็นอย่างไร และความปิติยินดีบนใบหน้าของเขา...

เขาผู้นี้เป็นชาวสะมาเรีย

    ถูกแล้ว เขาเป็นคนต่างถิ่น เป็นคนนอกรีต เป็นคนที่ถูกเหยียดหยามที่สุดในบรรดาคนโรคเรื้อนทั้งสิบคน ... แต่เขาเป็นคนเดียวที่แสดงกิริยาที่เป็นธรรมชาติที่สุดสำหรับมนุษย์

พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “ทั้งสิบคนหายจากโรคมิใช่หรือ อีกเก้าคนอยู่ที่ใดเล่า ไม่มีใครกลับมาถวายพระเกียรติแด่พระเจ้านอกจากคนต่างชาติคนนี้หรือ”

    อัศจรรย์ครั้งนี้ถือว่าเป็นความล้มเหลวสำหรับพระเยซูเจ้า ... เพราะไม่ได้บังเกิดผลอย่างที่พระองค์ทรงมีสิทธิ์จะคาดหวัง เพราะสำหรับชายเก้าในสิบคน อัศจรรย์ครั้งนี้ไม่นำไปสู่ความเชื่อ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่สำคัญสำหรับพระเยซูเจ้า ... และทำให้พระองค์ทรงเศร้าพระทัยมาก...

    สิ่งที่ทำให้คริสตชนแตกต่างจากผู้มีความเชื่ออื่น ๆ อย่างแท้จริง ไม่ได้อยู่ที่เขาภาวนา หรือเขาวิงวอนขอพระพร และคำวิงวอนของเขาได้รับการตอบสนอง ... แต่อยู่ที่เขา “ขอบพระคุณพระเจ้า” ผ่านพระเยซูคริสตเจ้า เราต้องผ่านความเชื่อขั้นแรกซึ่งได้แต่เรียกร้อง ... ไปสู่ความเชื่อในขั้นที่ผลิบาน ซึ่งทำให้เราหันไปหาและเผชิญหน้ากับพระเจ้าอย่างแท้จริง ... เพื่อขอบพระคุณ และสรรเสริญพระองค์