แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ยี่สิบเก้า เทศกาลธรรมดา

ลูกา 18:1-8
    พระเยซูเจ้าทรงเล่าเรื่องอุปมาเรื่องหนึ่งแก่บรรดาศิษย์ เพื่อสอนว่าจำเป็นต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย พระองค์ตรัสว่า “ผู้พิพากษาคนหนึ่งอยู่ในเมืองหนึ่ง เขาไม่ยำเกรงพระเจ้าและไม่เกรงใจมนุษย์ผู้ใด หญิงม่ายคนหนึ่งอยู่ในเมืองนั้นด้วย นางมาพบเขาครั้งแล้วครั้งเล่า พูดว่า “กรุณาให้ความยุติธรรมแก่ดิฉันสู้กับคู่ความเถิด” ผู้พิพากษาผู้นั้นไม่ยอมทำตามที่นางขอร้อง จนเวลาผ่านไประยะหนึ่ง จึงคิดว่า “แม้ว่าฉันไม่ยำเกรงพระเจ้าและไม่เกรงใจมนุษย์ผู้ใด แต่เพราะหญิงม่ายผู้นี้มาทำให้ฉันรำคาญ ฉันจึงจะให้นางได้รับความยุติธรรม เพื่อมิให้นางรบเร้าฉันอยู่ตลอดเวลา”
    องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “จงฟังคำที่ผู้พิพากษาอธรรมคนนั้นพูดซิ แล้วพระเจ้าจะไม่ประทานความยุติธรรมแก่ผู้เลือกสรรที่ร้องหาพระองค์ทั้งวันทั้งคืนดอกหรือ พระองค์จะไม่ทรงช่วยเขาทันทีหรือ เราบอกท่านทั้งหลายว่าพระองค์จะประทานความยุติธรรมแก่เขาโดยเร็ว แต่เมื่อบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาจะทรงพบความเชื่อในโลกนี้หรือ”

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
การภาวนาโดยไม่ท้อถอย

    หัวข้อหลักของบทอ่านในวันนี้ต้องการบอกว่าการภาวนาไม่ได้เป็นเพียงการวิ่งเร็วในระยะสั้น ๆ แต่ต้องใช้ความอดทนและความพากเพียร เห็นได้จากเรื่องของโมเสสในบทอ่านที่หนึ่ง ตราบใดที่เขายังยกมือค้างไว้ได้ กองทัพของเขาก็ได้รับชัยชนะในการต่อสู้ แต่ทันทีที่แขนของเขาตก กองทัพศัตรูก็เริ่มเป็นฝ่ายรุก

    อุปมาเรื่องหญิงม่ายผู้รบเร้านี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่บอกว่า เราจะได้รับความเมตตากรุณาจากพระเจ้ามากกว่าจากมนุษย์ทั่วไป ถ้าผู้พิพากษาที่ไร้ความยุติธรรมและใจดำ ยังทนการรบเร้าของหญิงม่ายผู้นี้ไม่ได้ พระเจ้าผู้ทรงเต็มเปี่ยมด้วยความรักและความเอื้ออาทร ย่อมต้องสดับฟังและสงสารผู้ที่ร้องหาพระองค์ ปัจจัยหนึ่งที่อาจเป็นอุปสรรคคือเรามีความพากเพียรมากน้อยเพียงไร ดังนั้น พระองค์จึงทรงตั้งคำถามตบท้ายว่า “แต่เมื่อบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมา จะทรงพบความเชื่อในโลกนี้หรือ” บางที ลูกาอาจต้องการให้เรื่องนี้เตือนใจกลุ่มคริสตชนในยุคของเขา เพราะบางคนกำลังละทิ้งความเชื่อเมื่อถูกเบียดเบียนข่มเหงจากผู้พิพากษาที่ขาดความยุติธรรม

    การรอคอยอย่างอดทนไม่ใช่คุณธรรมที่ปฏิบัติได้ง่าย สำหรับคนในสังคมเทคโนโลยีที่ทำให้เราคาดหวังจะได้รับคำตอบอย่างทันใจ เราคุ้นเคยกับกาแฟหรือซุปสำเร็จรูป น้ำที่ไหลออกจากก๊อกน้ำ ความร้อนและแสงสว่างที่เพียงกดสวิทช์ก็เปิดได้ทันที ดนตรีที่มีให้เลือกตามรสนิยม หรือยาที่บรรเทาความเจ็บปวดได้อย่างรวดเร็ว

    เรารู้สึกประทับใจกับความอดทนโดยไม่บ่นของประชาชนในโลกที่สาม คนเหล่านี้ไม่คุ้นเคยกับการได้รับคำตอบในทันทีทันใด และการมีอาหารให้ซื้อหาได้ตามความต้องการเสมอ
    พระเจ้าทรงปล่อยให้เราลิ้มรสความล่าช้าก่อนที่คำวิงวอนของเราจะได้รับการตอบสนอง และทำให้เราได้รับความยุติธรรม ความล่าช้านี้จะต้องมีเหตุผลซึ่งเกิดจากความรักและความเอาใจใส่ของพระเจ้า เมื่อเราสังเกตแบบแผนการเจริญเติบโตในธรรมชาติ และในความสัมพันธ์ต่าง ๆ เราอาจคาดเดาได้ไม่ยาก ว่าเหตุผลของพระองค์คืออะไร

    การเจริญเติบโตเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา พระเยซูเจ้าทรงเล่าอุปมาหลายเรื่องเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของสิ่งต่าง ๆ พืชที่จะมีอายุยืนมักโตช้า ต้นโอ๊คซึ่งอายุยืนนับร้อยปีต้องใช้เวลาถึงสองปีเต็มก่อนที่ต้นอ่อนจะงอกออกมาจากผลของมัน ช่างก่อสร้างที่สร้างหอประชุมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเมืองออกซ์ฟอร์ด ใช้ไม้โอ๊คเป็นคานค้ำหลังคา เขาจึงปลูกต้นโอ๊คไว้ใกล้ ๆ เพราะคาดหมายว่าคานนี้จะทนทานนานถึงหกศตวรรษ และเมื่อต้นไม้โตเต็มที่ก็จะมีไม้ให้ใช้เปลี่ยนคานได้ พืชที่งอกจากพื้นดินเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากปลูก จะอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือน ธรรมชาติสอนเราให้รู้จักรอคอย เพราะการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนต้องใช้เวลาเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง

    ประสบการณ์ชีวิตของเราแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ต่าง ๆ จะมั่นคงยั่งยืนได้ถ้าเคยผ่านการทดสอบจากความยากลำบาก คนกลุ่มหนึ่งที่เคยผ่านความทุกข์ยากมาด้วยกัน จะมีความสัมพันธ์ที่ลึกกว่ากลุ่มคนที่รู้จักกันเพียงผิวเผิน

    เราต้องไม่คิดว่าความพากเพียรในการภาวนาเป็นความพยายามจะเปลี่ยนใจพระเจ้า ราวกับว่าพระองค์ไม่ทรงต้องการให้เราได้รับสิ่งดี ๆ อยู่แล้ว แต่เราเองต่างหากที่ต้องเปลี่ยนโดยมีความเชื่อที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว และมีความสัมพันธ์อันลึกล้ำมากขึ้นกับพระเจ้า

    การรอคอยพระเจ้าทำให้มีเวลาที่จำเป็นเพื่อเราจะรู้จักพึ่งพาพระองค์มากขึ้น เราได้รับเรียกให้เติบโตขึ้นอย่างสงบและอดทน เพื่อดับความวิตกกังวลซึ่งจะทำให้จิตใจของเราวุ่นวาย ขณะที่ความเชื่อของเราเจริญเติบโตและเพิ่มความลุ่มลึก ความวางใจอย่างไม่ท้อถอยในพระเจ้าจะเข้ามาแทนที่ความวิตกกังวลของเราที่ร้องบอกพระเจ้าว่า “ขอให้ความประสงค์ของข้าพเจ้าสำเร็จไป ... โดยเร็วที่สุดเท่าที่พระองค์จะประทานให้ได้”

    องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนเราให้สวดภาวนาว่า “พระประสงค์จงสำเร็จไป” ซึ่งไม่ใช่ประโยคที่บ่งบอกว่าเราปลงตกแล้วอย่างหดหู่ แต่บ่งบอกว่าเรากำลังมอบทุกสิ่งทุกอย่างด้วยใจสงบและมั่นใจให้พระเจ้าทรงดูแล เพราะเราวางใจว่าพระประสงค์ของพระเจ้าย่อมดีที่สุดสำหรับเรา

    เมื่อเราไปเยี่ยมสักการสถานใดที่มีผู้วิงวอนขอและได้รับพระหรรษทานมากมายนั้น คำตอบที่น่าประทับใจมากที่สุดสำหรับคำภาวนาคือความรู้สึกยอมรับด้วยความยินดีลึก ๆ ในใจ ว่าความรักของพระเจ้าอยู่ใกล้เรามาก แม้ว่าการรักษาโรคยังอยู่ห่างไกลก็ตาม

    ความสงบนี้มีอยู่ในพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ตรัสแก่ เดมจูเลียนแห่งนอริช ผู้บำเพ็ญฌานในศตวรรษที่ 14 ว่า “เราจะทำให้ทุกสิ่งเป็นไปด้วยดี เราต้องทำให้ทุกสิ่งเป็นไปด้วยดี เราอาจทำให้ทุกสิ่งเป็นไปด้วยดี และเราสามารถทำให้ทุกสิ่งเป็นไปด้วยดี และเจ้าจะเห็นด้วยตนเองว่าทุกสิ่งจะต้องเป็นไปด้วยดี” (A Shewing of God’s Love, XV)

    ความพากเพียรในการภาวนา คือ ความมั่นใจที่จะรอคอยตั้งแต่วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์จนกระทั่งถึงวันอาทิตย์ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างถูกจัดการให้เป็นไปด้วยดี ไม่ว่าการรอคอยนั้นจะยาวนานเท่าไรก็ตาม วันที่คั่นกลางอยู่คือวันสับบาโต วันแห่งการพักผ่อนและความสงบ ระยะเวลาอาจดูเหมือนยาวนานสำหรับเรา แต่สำหรับพระเจ้า หนึ่งพันปีก็ไม่ต่างจากหนึ่งวัน ความพากเพียรในการภาวนานำเราให้รู้จักคิดอย่างที่พระเจ้าทรงคิด

ข้อรำพึงที่สอง
ขอทานเบื้องหน้าพระเจ้า

    แขนที่หนักอึ้งของโมเสสถูกยกชูขึ้นสู่ท้องฟ้า โดยมีก้อนหินและเพื่อน ๆ ของเขาช่วยค้ำยันไว้ โมเสสเป็นภาพของบุคคลที่รู้จากประสบการณ์ว่าเขาต้องพึ่งพระเจ้าและผู้อื่นมากเพียงไร เขาได้อธิษฐานภาวนาเป็นเวลานาน เพราะบัดนี้ เขาไม่หลอกตนเองว่าเขาพึ่งตนเองได้ และเขาได้ยอมรับสภาพที่ต้องพึ่งพระเจ้าแล้ว โมเสสรู้ว่าเขาเป็นเพียงขอทานคนหนึ่ง

    การภาวนาด้วยความเชื่อแบบเด็ก ๆ จะต้องการคำตอบแบบเร่งด่วน จะต่อรองกับพระเจ้าเพื่อพยายามโน้มน้าวให้พระองค์มองสถานการณ์จากมุมมองของเรา ดังนั้นจึงมักทำให้เราขาดความเชื่อมั่น

    การภาวนาด้วยความเชื่อแบบวัยรุ่น จะเหมือนกับการหลอกล่อเพื่อนที่มีฐานะเท่าเทียมกัน เนื่องจากความเชื่อของวัยรุ่นมีข้อจำกัด คือมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธสิ่งที่เขาไม่เคยประสบ หรือพิสูจน์ด้วยตนเอง การภาวนาแบบนี้จึงไม่ยอมรับสิ่งที่เป็นธรรมล้ำลึก และไม่อดทนกับความล่าช้าของพระเจ้า แต่เมื่อความเชื่อของเราเจริญเติบโตขึ้นเต็มที่ เราจะตระหนักว่าความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าไม่ใช่ความสัมพันธ์ของบุคคลที่ฐานะเท่าเทียมกัน เราต้องเรียนรู้ว่าเรายังอยู่ห่างจากพระเจ้า แม้ว่าพระเจ้าประทับอยู่ใกล้เรามากจนเกินจินตนาการ แต่ก็อาจกล่าวว่าพระองค์ประทับอยู่ห่างไกลสุดประมาณ พระเจ้าทรงเป็นมากกว่าเพื่อนข้างบ้านที่เราสามารถเรียกใช้ทุกครั้งที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือต้องการเพื่อน เราจะรู้ตัวมากขึ้นทีละน้อยว่าเราไม่เท่าเทียมกับพระเจ้า เมื่อเราเริ่มมองเห็นความบกพร่องในตัวเรามากขึ้น ความรู้นี้ช่วยลบภาพลวงตาในชีวิต ... ภาพลวงตาที่ทำให้เราคิดว่าเราไม่ต้องพึ่งใคร เรายังต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น เราเป็นขอทานเบื้องหน้าพระเจ้า หญิงม่ายผู้รบเร้าคนนี้รู้ตัวว่านางเป็นเพียงขอทานคนหนึ่ง และนี่คือจุดแข็งของนาง

    ขอทานในโลกตะวันออกจะรบเร้าไม่เลิก เพราะเขามีพื้นฐานความเชื่อว่าเขามีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครอง และมีสิทธิ์ได้รับการแบ่งปันในพระพรต่าง ๆ ที่พระเจ้าประทานแก่โลก ผู้จัดการผลประโยชน์ที่เจ้าเล่ห์ในอุปมาอีกเรื่องหนึ่งกระทำการโดยทุจริตเพราะเขาอายที่จะขอ เขาอายที่จะใช้สิทธิ์ของเขาที่จะขอ การรู้ตัวว่าเราต้องพึ่งพาอาศัยพระเจ้ามากเพียงไรไม่ใช่เหตุผลให้เรารู้สึกละอายใจ แต่ควรทำให้เรารู้สึกโล่งใจ เพราะภาระหนักจากการต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเราเอง บัดนี้ได้หลุดพ้นจากบ่าของเราแล้ว เราควรโล่งใจที่รู้ว่าเราสามารถพึ่งพระเจ้าได้ ... และรู้ว่าเราต้องพึ่งพระองค์!

    จำเรื่องของซีโมน เปโตร ได้หรือไม่ ในวันที่เขาจับปลาได้เป็นจำนวนมากนั้น เขาได้ค้นพบพระอานุภาพของพระเยซูเจ้า และรับรู้ว่าตัวเขาอยู่ห่างพระองค์มากเพียงไร เขาพูดว่า “โปรดไปจากข้าพเจ้าเสียเถิด พระเจ้าข้า เพราะข้าพเจ้าเป็นคนบาป” (ลก 5:8) จำเปาโลได้หรือไม่ เขาเป็นคนที่มุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว และเฉลียวฉลาด แต่รู้สึกอับอายที่ไม่สามารถต่อกรกับความอ่อนแอในตัวเองที่เขาเรียกว่า “หนามทิ่มแทงเนื้อหนังของข้าพเจ้า” เปาโลวิงวอนพระเจ้าให้เขาหลุดพ้นจากความอ่อนแอนี้ และด้วยการยอมรับความอ่อนแอของเขา เปาโลจึงพบว่าตนเองมีที่ว่างให้พระเจ้าทรงแสดงพระอานุภาพของพระองค์ในตัวเขาได้ “พระหรรษทานของเราเพียงพอสำหรับท่าน เพราะพระอานุภาพแสดงออกเต็มที่เมื่อมนุษย์มีความอ่อนแอ” (2 คร 12:9) จำนายร้อยที่รู้ตัวว่าเขาไม่สมควรต้อนรับพระเยซูเจ้าเข้ามาในบ้านของเขาได้หรือไม่ อาศัยความตระหนักในบาปของตน ในความอ่อนแอ และสภาพอันไม่เหมาะสมของตน สามบุคคลนี้จึงก้าวหน้าในความเชื่อ เราอาจได้รับคำตอบจากการภาวนา เมื่อเราตระหนักถึงความห่างไกลระหว่างเรากับพระเจ้า ความอ่อนแอและการพึ่งพาตนเองไม่ได้ และความไม่สมควรของตัวเรา เมื่อนั้น เราจะปลื้มปิติกับความจริงที่ว่าเราเป็นขอทานคนหนึ่งเบื้องหน้าพระองค์

บทรำพึงที่ 2

พระเยซูเจ้าทรงเล่าเรื่องอุปมาเรื่องหนึ่งแก่บรรดาศิษย์ เพื่อสอนว่าจำเป็นต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย

    เหตุการณ์นี้แสดงว่าเราไม่ใช่คนกลุ่มแรกที่รู้สึกว่าการภาวนาทำได้ยาก ศิษย์กลุ่มแรกก็รู้สึก “ท้อถอย” เหมือนกัน และพระเยซูเจ้าทรงจำเป็นต้องให้กำลังใจพวกเขา

    เราอาจเริ่มต้นภาวนาด้วยใจกว้าง และตัดสินใจว่าจะอุทิศเวลาช่วงหนึ่งทุกวันให้แก่การภาวนา เราอาจถึงกับซื้อรูปพระ และติดตั้งไว้ในที่พิเศษในบ้านของเราเพื่อเตือนใจให้เราสวดภาวนา เราพยายามอย่างจริงใจที่จะภาวนาได้หลายวัน หรืออาจเป็นหลายสัปดาห์ แต่ก็ไม่เกิดอะไรขึ้นเลย เราได้พบแต่ความเงียบของพระเจ้า ... มีสิ่งต่าง ๆ คอยรบกวนสมาธิระหว่างการรำพึงภาวนาของเรา แล้วเราก็หยุดภาวนา...

    พระเจ้าข้า พระองค์ทรงบอกเราว่า “ท่านต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย” ... เรายินดีอย่างยิ่งที่รู้ว่าพระองค์ทรงเข้าใจความยากลำบากของเรา...

    เรามีเหตุผลมากมายที่จะไม่สวดภาวนา ศตวรรษที่ 20 เป็นยุคที่มนุษย์เรียกร้องผลลัพธ์และผลิตผลในทันทีทันใด วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ทำให้เราเชื่อว่ามนุษย์สามารถทำได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ... และทำได้ในทันทีทันใดด้วย ... เราเร่ง และรีบ กระแสบริโภคนิยม และความปรารถนาผลกำไรมาก ๆ กระตุ้นเราให้เร่งรีบจนไม่มีเวลาจะหยุด ... ยกเว้นเมื่อเกิดหัวใจวาย “คุณก็รู้ ฉันต้องทั้งเรียน ทั้งทำงาน มีหน้าที่ต่าง ๆ ต้องทำ และต้องการเวลาพักผ่อนด้วย ... ฉันไม่มีเวลาเหลือสำหรับสวดภาวนา” ... “เวลาเช้าวันอาทิตย์เป็นเวลาเดียวที่ฉันสามารถพักผ่อนได้ คุณคงเข้าใจว่าทำไมฉันจึงไม่ไปฟังมิสซา”...

    “ท่านต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย”

    นอกจากนี้ การภาวนายังเปล่าประโยชน์ด้วย “คุณเห็นได้ว่าพระเจ้าไม่ทรงฟังคำภาวนาของเรา ทั่วโลกยังมีแต่ความอยุติธรรม ... เราต้องต่อสู้กับมันอย่างเป็นรูปธรรม ดีกว่าเสียเวลาวิงวอนขอให้พระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึง ... เพราะดูเหมือนว่าพระอาณาจักรนี้ไม่มีทางมาถึงได้ ...”
    เราต้องภาวนา “อยู่เสมอ และอย่างต่อเนื่อง”

    เราต้องภาวนา “โดยไม่ท้อถอย ... ต้องภาวนาต่อไปด้วยความกล้าหาญ และพากเพียร”...

    คำพูดเหล่านี้ออกมาจากปลายปากกาของนักบุญเปาโลเสมอ และเปาโลก็เป็นอาจารย์ของลูกา (2 ทส 1:11, คส 1:3, ฟม 4, รม 1:10, 2 ธส 3:13, 2 คร 4:1-16, กท 6:4, อฟ 3:13)

“ผู้พิพากษาคนหนึ่งอยู่ในเมืองหนึ่ง เขาไม่ยำเกรงพระเจ้า และไม่เกรงใจมนุษย์ผู้ใด หญิงม่ายคนหนึ่งอยู่ในเมืองนั้นด้วย นางมาพบเขาครั้งแล้วครั้งเล่า พูดว่า “กรุณาให้ความยุติธรรมแก่ดิฉันสู้กับคู่ความเถิด” ผู้พิพากษาผู้นั้นไม่ยอมทำตามที่นางขอร้อง จนเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ...”

    นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระเยซูเจ้าทรงเลือกตัวอย่างที่เลวที่สุดเท่าที่จะหามาได้ เพื่อให้เราเข้าใจดีขึ้นว่าพระองค์ทรงต้องการสอนอะไร ในยุคที่พระเยซูเจ้าทรงดำรงชีพอยู่ในปาเลสไตน์ เมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งจะมีผู้พิพากษาทำหน้าที่เพียงคนเดียวโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงคอยควบคุม ... ดังนั้น เขาจึงยืดเวลาคดีความได้ตามใจชอบ และผู้พิพากษาคนนี้ไม่ยำเกรงทั้งพระเจ้า และปีศาจ และยังเหยียดหยามมนุษย์ทุกคนด้วย...

    เมื่อเปรียบเทียบกัน “หญิงม่าย” คือตัวอย่างของคนจนที่ไม่มีทั้งอำนาจและผู้เลี้ยงดู แต่กลับต้องมาต่อสู้คดีกับคนรวย ... หญิงม่ายเป็นหญิงที่ไร้ที่พึ่งด้านกฎหมาย ไม่มีสามีคอยปกป้องคุ้มครอง...

เวลาผ่านไประยะหนึ่ง เขาจึงคิดว่า “แม้ว่าฉันไม่ยำเกรงพระเจ้า และไม่เกรงใจมนุษย์ผู้ใด แต่เพราะหญิงม่ายผู้นี้มาทำให้ฉันรำคาญ ฉันจึงจะให้นางได้รับความยุติธรรม เพื่อมิให้นางรบเร้าฉันอยู่ตลอดเวลา”

    ถ้อยคำเพียงไม่กี่คำนี้เผยแสดงภาพของชายที่เห็นแก่ตัวและเหยียดหยามผู้อื่นนี้ได้อย่างชัดเจน ถ้าเขาให้ความยุติธรรม และทำความดีบางอย่าง ก็อย่าเข้าใจผิดว่าเขาทำไปเพราะเป็นคนดี เพียงแต่ว่าผลประโยชน์ของผู้อื่นบังเอิญตรงกับผลประโยชน์ของเขา ... ในทุกกรณี เขาจะกระทำการเพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น ... พระเยซูเจ้าทรงวาดภาพให้ชายคนนี้เลวที่สุด เพื่อให้เราเข้าใจเหตุผลของพระองค์ เพราะทุกคนย่อมเห็นได้ว่าคนเลวคนนี้จะรับฟังหญิงที่เขาเหยียดหยามเพราะสาเหตุเดียวคือ นางทำให้เขารำคาญ...

องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “จงฟังคำที่ผู้พิพากษาอธรรมคนนั้นพูดซิ แล้วพระเจ้าจะไม่ประทานความยุติธรรมแก่ผู้เลือกสรรที่ร้องหาพระองค์ทั้งวันทั้งคืนดอกหรือ”

    อุปมาเรื่องนี้เป็นเรื่องของบุคคลที่อยู่ในสภาพตรงกันข้ามกัน และบทเรียนในเรื่องนี้ก็ตรงกันข้ามกับตัวอย่างที่ยกมา
    ผู้พิพากษาอธรรม และไม่มีความยุติธรรม
    ไร้มโนธรรม และหาความดีไม่ได้
    เขาปฏิเสธเป็นเวลานานที่จะ “ให้ความยุติธรรม”
    ในที่สุด เพราะความเห็นแก่ตัว เขาจึงยอมให้ความยุติธรรมแก่หญิงม่ายผู้ยากจน ผู้ที่ไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับเขา ... เพียงเพื่อให้นางหยุดทำให้เขารำคาญใจ...

    ดังนั้น จึงไม่มีข้อสงสัยเลยว่าพระเจ้า
    ผู้ทรงความดี และความอ่อนโยนอย่างไร้ขอบเขต
    จะประทานความยุติธรรมโดยเร็ว
    ให้แก่ผู้เลือกสรรที่พระองค์ทรงรัก และผู้ที่เรียกหาพระองค์...

    ถ้ามนุษย์ที่มีจิตใจมุ่งร้ายและไร้ยางอายคนหนึ่งยังรับฟังคำวิงวอนในที่สุด พระเจ้าผู้ทรงใส่พระทัยในทุกข์สุขของเรา จะไม่รับฟังคำวิงวอนของคนยากไร้มากยิ่งกว่าหรือ...

พระองค์จะไม่ประทานความยุติธรรมแก่ผู้เลือกสรรของพระองค์หรือ

    พระเยซูเจ้าทรงย้ำคำว่า “ให้ความยุติธรรม” หลายครั้งภายในไม่กี่บรรทัด ... โดยอาชีพ ผู้พิพากษามีหน้าที่ให้ความยุติธรรม – และความยุติธรรมก็เป็นหนึ่งในคุณค่าสูงสุดของมนุษย์ที่เชื่อมโยงกับ “สิทธิมนุษยชน” ที่เรารู้จักกันดี “มนุษย์ทุกคนเกิดมาโดยมีเสรีภาพ และมีศักดิ์ศรี และมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ทุกคนเท่าเทียมกันตามกฎหมาย คดีของทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและเปิดเผย โดยศาลที่เป็นเอกเทศและปราศจากอคติ” (Universal Declaration of the Rights of Man: December 10, 1948)

    ความเชื่อคริสตชนของเรากำหนดให้เรามีหน้าที่ต้องปกป้องและส่งเสริมความยุติธรรม คำภาวนาของเราจะเป็นคำภาวนาแท้ได้เพียงเมื่อเราแสวงหาความยุติธรรม และถ้าเรา “ไม่ให้ความยุติธรรม” ... พระเยซูเจ้าทรงรับรองว่าพระเจ้าจะประทานให้เอง...

พระองค์จะไม่ทรงช่วยเขาทันทีหรือ เราบอกท่านทั้งหลายว่า พระองค์จะประทานความยุติธรรมแก่เขาโดยเร็ว

    พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนเรื่องนี้ขณะที่พระองค์กำลัง “เดินทางขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม” ในเวลาที่พระองค์ทรงทราบดีว่าพระองค์กำลังเดินเข้าไปสู่การตัดสินอย่างอยุติธรรมโดยผู้พิพากษาอธรรม ... ลูกากล้าอ้างพระวาจาของพระเยซูเจ้าว่า “พระองค์จะประทานความยุติธรรมแก่ผู้เลือกสรรของพระองค์ ... พระเจ้าทรงสดับฟังคำวิงวอนของเขาทันทีโดยไม่รอช้า”

    เมื่อเราตัดพ้อว่าพระเจ้าไม่ทรงสดับฟังคำวิงวอนของเรา เมื่อเราพูดว่าความอยุติธรรมยังครองโลกต่อไป ... พระองค์ทรงเชิญชวนให้เราชำระความคิดของเราเกี่ยวกับชัยชนะของความยุติธรรมหรือเปล่า พระอานุภาพ และชัยชนะของพระเจ้าจะปรากฏให้เห็นด้วยวิธีการที่ต่างจากที่เราคาดหมาย เรามักพอใจแนวความคิดที่มองการณ์สั้น ๆ ประสามนุษย์ มากกว่าแนวความคิดของพระเจ้า บ่อยครั้งที่คำภาวนาของเราเหมือนกับคำขาดที่เรายื่นให้พระเจ้า ให้พระองค์เชื่อฟังเรา พระเจ้าไม่ใช่เครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ ที่เราหย่อนเหรียญลงไปในช่องแล้วกดปุ่ม เราก็จะได้ช็อกโกแลตมาอย่างที่เราต้องการ เพราะนั่นคือพระเจ้าจอมปลอม!
    เมื่อเรารู้สึกว่าพระเจ้าไม่ทรงได้ยินคำภาวนาของเรา เราได้รับเชิญให้เข้าสู่ความสนิทสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้า ... ผู้ที่พระเจ้าทรงสดับฟังคำภาวนาของพระองค์ ... แต่ในอีกแง่หนึ่ง ... “โปรดทรงนำถ้วยนี้ไปจากข้าพเจ้าเถิด” ... ถ้วยแห่งความเจ็บปวดทรมานไม่ได้จากพระองค์ไปไกล แต่ผ่านทางความตาย พระเยซูเจ้าทรงเสด็จเข้าสู่ความยินดีแห่งการกลับคืนชีพ

    แต่กระนั้น ประสบการณ์ก็สอนเราว่าสิ่งที่เราขอจากพระเจ้าอาจไม่ใช่สิ่งดีที่สุดสำหรับเราเสมอไป เราไม่มีทางล่วงรู้ความคิดของพระเจ้า เราจะเป็นอย่างไรถ้าความปรารถนาแบบเด็ก ๆ ของเราทุกประการกลายเป็นความจริง...

    เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เหมือนพืชทุกประเภท เราจำเป็นต้องผ่านฤดูกาลต่าง ๆ ต้องได้รับแสงแดดและน้ำฝนสลับกันไป ต้องผ่านฤดูหนาวและฤดูร้อน และแม้แต่ลมพายุ เพื่อจะเจริญเติบโตจากเมล็ดพันธุ์ไปสู่ช่วงออกดอกและออกผล เมล็ดพันธุ์จะเป็นอย่างไรถ้ามันไม่ยอมผ่านการทดสอบใด ๆ ระหว่างการเจริญเติบโต และเรียกร้องให้เก็บเกี่ยวมันหลังจากถูกหว่านได้เพียงวันเดียว...

    พระเยซูเจ้าทรงรู้จักพระบิดา และพระองค์ทรงบอกเราให้มีความมั่นใจ “เราบอกท่านทั้งหลายว่าพระเจ้าจะประทานความยุติธรรมแก่ผู้เลือกสรรที่ร้องหาพระองค์ทั้งวันทั้งคืน”...

แต่เมื่อบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมา จะทรงพบความเชื่อในโลกนี้หรือ

    แทนที่จะพบกับผู้มีความเชื่อที่วิงวอนต่อความดีของพระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงพบกับผู้ไม่มีความเชื่อที่ไม่ภาวนา ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน ประโยคนี้แสดงความปวดร้าว ... จะมีวันหนึ่งหรือ ที่มนุษย์จะไม่ถามอีกต่อไปว่าพระเจ้าสดับฟังคำภาวนาของเขาหรือไม่ และที่เขาไม่ถามก็เพราะเขาไม่ภาวนาอีกต่อไปแล้ว...

    ความปวดร้าวของพระเยซูเจ้า ... ความปวดร้าวของพระเจ้า ... ผู้ไม่สามารถทำให้ประชากรเลือกสรรของพระองค์เชื่อในพระองค์ได้ แม้แต่ขณะที่พระองค์กำลังใกล้จะสิ้นพระชนม์ ... นี่คือธรรมล้ำลึกของเสรีภาพของมนุษย์ – มนุษย์สามารถปฏิเสธที่จะเชื่อ และภาวนาได้

    เรารับรู้ได้ในทันใดว่าพระเยซูเจ้าทรงมีความรู้สึกเป็นทุกข์ พระองค์ทรงกังวลมากที่มนุษย์ไม่ยอมรับพันธกิจและคำสั่งสอนของพระองค์

    แม้แต่ผู้ได้รับเลือกสรรก็ถูกคุกคามจากการละทิ้งความเชื่อ ทางเลือกที่เราเลือกเมื่อรับศีลล้างบาปไม่ใช่กรมธรรม์ประกันภัย การอยู่ร่วมกันในชุมชนพระศาสนจักรเพียงไม่กี่ปีไม่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าเราจะไม่กลายเป็นผู้ไม่มีความเชื่อ ... เรามั่นใจได้ว่าพระเจ้าจะไม่ทอดทิ้งเรา – แต่เราจะไม่ทอดทิ้งพระองค์หรือ ... เราต้องตอบคำถามที่น่ากลัว ... “ฉันจะยังมีความเชื่ออยู่หรือเปล่าในวันพรุ่งนี้ และในวันที่ฉันตาย ในวันที่พระเยซูเจ้าจะเสด็จมาหาฉัน” ... หรือว่าฉันจะเป็นคริสตชนแต่ชื่อ และไม่ปฏิบัติหน้าที่ของฉัน

    หลังจากทรงย้ำกับเราหลายครั้งว่าพระเจ้าทรงพระทัยดี และสดับฟังคำวิงวอนของเราเสมอ พระเยซูเจ้าทรงเผยว่าความผิดหวังของเราเกิดจากอะไร กล่าวคือ เราขาดความเชื่อ ... พระองค์ตรัสเตือนเช่นนี้หลายครั้งหลายหนในพระวรสาร (ลก 4:18, 26, 7:9, 21, 23, 50, 8:5, 15, 9:41, 10:21, 24, 11:29, 32 เป็นต้น)

    ในปัจจุบัน เราพูดกันบ่อย ๆ เรื่อง “วิกฤติความเชื่อ” พระเยซูเจ้าตรัสถึงเรื่องนี้มาก่อนแล้ว ... การประจญให้ละทิ้งความเชื่อ หรือการประจญให้เราไม่ดำเนินชีวิตตามความเชื่อ ไม่ใช่การประจญใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคของเราเท่านั้น

    ข้าพเจ้าจะทำอะไรตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อบำรุงเลี้ยงความเชื่อของข้าพเจ้า ... บำรุงเลี้ยงคำมั่นสัญญาที่ข้าพเจ้าให้ไว้ต่อพระเยซูเจ้า...

    ข้าพเจ้าสวดภาวนาหรือเปล่า...