วันอาทิตย์สุดท้าย เทศกาลธรรมดา
สมโภชพระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล

ลูกา 23:35-43
    ประชาชนยืนดูอยู่ที่นั่น ส่วนบรรดาผู้นำเยาะเย้ยพระองค์ว่า “เขาช่วยคนอื่นให้รอดพ้นได้ ก็ให้เขาช่วยตนเองซิ ถ้าเขาเป็นพระคริสต์ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร” แม้แต่บรรดาทหารก็เยาะเย้ยพระองค์ด้วย เขานำเหล้าองุ่นเปรี้ยวเข้ามาถวาย พลางกล่าวว่า “ถ้าท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิว ก็จงช่วยตนเองให้รอดพ้นซิ” มีคำเขียนไว้เหนือพระองค์ว่า “ผู้นี้คือกษัตริย์ของชาวยิว”
    ผู้ร้ายคนหนึ่งที่ถูกตรึงบนไม้กางเขน พูดดูหมิ่นพระองค์ว่า “แกเป็นพระคริสต์ไม่ใช่หรือ จงช่วยตนเอง และช่วยเราให้รอดพ้นด้วยซิ” แต่อีกคนหนึ่งดุเขา กล่าวว่า “แกไม่เกรงกลัวพระเจ้าหรือที่มารับโทษเดียวกัน สำหรับพวกเราก็ยุติธรรมแล้ว เพราะเรารับโทษสมกับการกระทำของเรา แต่ท่านผู้นี้มิได้ทำผิดเลย” แล้วเขาทูลว่า “ข้าแต่พระเยซู โปรดระลึกถึงข้าพเจ้าด้วยเมื่อพระองค์จะเสด็จสู่พระอาณาจักรของพระองค์” พระองค์ตรัสตอบเขาว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า วันนี้ ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์”

บทรำพึงที่ 1

ข้อรำพึงที่หนึ่ง
กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล

    เมื่อถึงจุดจบของการเดินทางของพระองค์ เขาเขียนข้อความเหนือพระเศียรของพระองค์ว่า “เยซูชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของชาวยิว” นี่เป็นเล่ห์กลทางการเมืองอันชาญฉลาด เป็นวิธีกลบเสียงท้าทายของพระองค์ นี่ไง เยซูชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของชาวยิว!

    มีใครบ้างที่เชื่อข้อกล่าวหานี้ มีคนที่สติสมประกอบคนใดบ้างที่คิดจริง ๆ ว่าพระองค์ทรงเป็นภัยคุกคามต่อซีซาร์ หรือต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่แท้จริงแล้ว พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ เพียงแต่ไม่ใช่กษัตริย์ตามความคิดของชาวโลกเท่านั้น

    พระเยซูเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ผู้ปฏิบัติตนต่างจากกษัตริย์บนโลกนี้ พระองค์ไม่ประทับนั่งบนบัลลังก์ที่ยกสูงเพื่อแสดงถึงอำนาจของพระองค์ แต่ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน ทรงอ่อนแอเกินกว่าจะช่วยพระองค์เองให้รอดพ้นจากความตาย พระองค์ไม่ทรงสวมมงกุฎเพชรเพื่อแสดงชัยชนะและความมั่งคั่ง แต่ทรงสวมมงกุฎหนาม พระองค์ทรงอยู่ในสภาพที่น่ากลัว ปราศจากทั้งความงามและพระเดชานุภาพ ทรงถูกมนุษย์ดูหมิ่นและปฏิเสธ พระองค์ไม่มีกองทัพจะคอยปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์ และไม่มีคนรับใช้คอยปรนนิบัติ แต่พระองค์เสด็จมาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และพลีชีวิตของพระองค์เป็นค่าไถ่ให้คนจำนวนมาก กษัตริย์ของโลกแยกตัวออกจากสามัญชน และไม่มีใครคาดหมายให้กษัตริย์คลุกคลีกับประชาชนเสมือนเป็นคนฐานะเท่าเทียมกัน แต่พระเยซูเจ้าเสด็จมาหาประชาชนของพระองค์ ทรงดำรงชีพท่ามกลางเขา และบัดนี้ พระองค์กำลังจะสิ้นพระชนม์โดยถูกตรึงกางเขนอยู่ตรงกลางระหว่างคนที่ต่ำต้อยที่สุด คืออาชญากรที่ถูกประหารชีวิต

    งานไถ่กู้ของพระองค์เป็นงานช่วยเหลือคนนับล้าน แต่ขณะนี้ พระองค์ทรงต้องการช่วยเหลือคน ๆ หนึ่งโดยเฉพาะ คนนั้นคือผู้ร้ายที่กลับใจ และได้รับคำสัญญาว่าเขาจะได้เข้าสู่สวรรค์ในวันนั้น

    กษัตริย์ของโลกนี้แสดงความรักในอำนาจ แต่ความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้าตั้งอยู่บนอำนาจอันยิ่งใหญ่ของความรัก และเอกลักษณ์ของพระอาณาจักรของพระองค์ คือ ความยุติธรรม สันติสุข และความยินดีในพระจิตเจ้า

    เราจำเป็นต้องคิดในแง่มุมของพระเจ้า เพื่อจะเข้าใจว่าบุคคลที่ถูกเย้ยหยันว่าเป็นกษัตริย์ของชาวยิวนั้น แท้จริงแล้วเป็นกษัตริย์แห่งสากลจักรวาล ความอ่อนแอที่เรามองเห็นในตัวของชายที่กำลังจะสิ้นใจนี้ แท้จริงแล้วคืออำนาจของพระเจ้าที่ให้ชีวิตใหม่แก่โลก ความเขลาของชายจากชนบทคนหนึ่งที่ถูกทำร้ายโดยชาวเมืองที่สมคบกันนั้น แท้จริงแล้วคือปรีชาญาณของพระเจ้า ซึ่งมองข้ามการคบคิดวางแผนในวันนั้นด้วยสายตาที่มองเห็นนิรันดรกาล

    การถวายเกียรติแด่พระเยซูเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นกษัตริย์ ไม่ได้หมายถึงการโบกธงและโห่ร้องเรียกพระนามของพระองค์ แต่หมายถึงการตั้งใจว่าจะส่งเสริมให้โลกนี้เป็นโลกแห่งความยุติธรรมสำหรับมนุษย์ทุกคน เป็นโลกที่ปราศจากการครอบงำจากอำนาจและความรุนแรง เป็นโลกที่กระจายทรัพยากรให้มนุษย์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เป็นโลกที่มนุษย์ทุกคนมีโอกาสเติบโตทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ในสังคมที่ยุติธรรมเช่นนี้เท่านั้นที่เราสามารถเขียนคำขวัญได้ว่า “ที่นี่ยอมรับการปกครองของพระเจ้า”

    ผลแรกของความยุติธรรมคือบรรยากาศของความปรองดอง ซึ่งช่วยให้สันติภาพเจริญงอกงามได้ สันติระหว่างประชาชน สันติกับสภาพแวดล้อม สันติภายในชีวิต และสันติกับพระเจ้า

    เมื่อสันติสุขเจริญงอกงาม มนุษย์จะมีใบหน้าสดใสด้วยความยินดี และความยินดีก็เป็นนิมิตหมายของสวรรค์

    เมื่อถึงจุดจบของการเดินทางของพระองค์ เขาเขียนข้อความเหนือพระเศียรของพระองค์ว่า “เยซูชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของชาวยิว”

    เราได้รับเรียกให้ทำให้เส้นทางชีวิตของเรา เป็นการจารึกคำว่า “ความยุติธรรม สันติสุข และความยินดี” ไปทั่วทุกสถานที่ในโลก เมื่อเราทำได้เช่นนั้น เราจึงสามารถพูดได้อย่างจริงใจว่า “เยซูชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล”


ข้อรำพึงที่สอง
บทภาวนาของพระอาณาจักร

    เราจะไตร่ตรองบทภาวนาข้าแต่พระบิดา เพราะเป็นบทภาวนาแห่งพระอาณาจักร พระเยซูเจ้าเสด็จมาสถาปนาพระอาณาจักร หรือพระราชัยของพระเจ้าบนโลกนี้ เพื่อจุดประสงค์นี้ พระองค์ทรงสั่งสอนประชาชน ขับไล่ปีศาจ และรักษาโรคทั้งในวิญญาณและร่างกายให้ประชาชน เมื่อบรรดาศิษย์ขอให้พระองค์สอนบทภาวนาแก่เขา ซึ่งจะเป็นเอกลักษณ์ของเขา พระองค์ทรงสอนให้เขาสวดบทข้าแต่พระบิดา มิใช่เพื่อให้เราสวดเหมือนท่องขึ้นใจ แต่ให้เป็นต้นแบบว่าบทภาวนาของเราควรบ่งบอกอะไรบ้าง

    เราได้ไตร่ตรองบทภาวนานี้เมื่อวันอาทิตย์ที่สิบเจ็ด แต่บัดนี้ เราจะไตร่ตรองในรูปแบบที่เป็นบทภาวนาของพระอาณาจักร

    สองคำที่เป็นกุญแจสำคัญในบทภาวนานี้คือคำว่า “พระบิดา” และ “พระอาณาจักร” ตำแหน่ง “พระบิดา” เป็นคำที่แสดงออกได้ชัดเจนกว่าคำอื่นใดถึงความสัมพันธ์ของพระเจ้ากับเรา ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นผ่านพระเยซูคริสตเจ้า ในส่วนของพระเจ้า ความสัมพันธ์นี้เกิดขึ้นจากความรักของพระองค์ ซึ่งเนรมิตสร้างเรา ทรงต้องการเรา และเลี้ยงดูเรา ในส่วนของเรา เรายอมรับด้วยความกตัญญูรู้คุณว่าพระเจ้าทรงทำอะไรบ้างเพื่อเรา และดำเนินชีวิตต่อไปด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่าพระองค์จะทรงรัก และดูแลเราต่อไป

    พระเจ้าทรงใกล้ชิดเราเหมือนบิดา ทรงสนิทกับเราเหมือนเลือดและยีนส์ที่เป็นชีวิตของเรา ซึ่งเราได้รับมาจากบิดามารดาของเราในโลกนี้ แต่กระนั้น พระเจ้าก็ทรงเป็นธรรมล้ำลึกที่เหนือความรู้ความเข้าใจของเรา ทรงไร้ขอบเขต และทรงอยู่เหนือธรรมชาติ ดังนั้น เราจึงภาวนาว่า “ข้าแต่พระบิดา ... พระองค์สถิตในสวรรค์” พระเจ้าทรงอยู่ใกล้เราเพราะทรงเป็นบิดาของเรา แต่ทรงอยู่ห่างไกลถึงสวรรค์ เราต้องยกจิตใจของเราขึ้นเหนือสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตนี้ หัวใจของเราจะต้องพองโตในพระสิริรุ่งโรจน์แห่งพระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ... “พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ”

    คำสำคัญคำที่สองคือ “พระอาณาจักร” ถ้าคำว่า “พระบิดา” แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าและพระเยซูเจ้า “พระอาณาจักร” ก็แสดงถึงการทำงานของพระเยซูเจ้า เมื่อพระองค์ทรงเริ่มต้นพันธกิจของพระองค์ พระองค์ทรงประกาศว่าพระองค์เสด็จมาเพื่อสถาปนาพระราชัย หรือพระอาณาจักรของพระเจ้าบนโลกนี้ เพื่อจุดประสงค์นี้ พระองค์จึงทรงสั่งสอนพระชาชน ทรงขับไล่ปีศาจ และทรงรักษาโรคทางร่างกายและวิญญาณให้ประชาชน ศิษย์ของพระองค์จะต้องเป็นประชากรของพระอาณาจักร แทนที่จะเป็นสาวกของค่านิยมทางโลก

    เช่นเดียวกับที่พระเจ้าทรงอยู่ทั้งใกล้และไกล พระอาณาจักรก็อยู่ที่นี่ตั้งแต่เวลานี้แล้ว แต่จะสมบูรณ์ครบครันในอนาคตอันไกล พระเยซูเจ้าทรงสถาปนาพระอาณาจักรเหมือนกับทรงปลูกเมล็ดพืช และด้วยอำนาจของพระจิตเจ้า เมล็ดพืชนี้ก็มีชีวิต และเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่เรายังไม่เห็นพระอาณาจักรนี้เติบโตอย่างสมบูรณ์เพราะความน่าชังของบาปที่เราเห็นอยู่ทุกวัน วิญญาณของเราจึงทอดถอนใจเป็นคำภาวนาว่า “มาเถิด ... พระอาณาจักรจงมาถึง”

    สื่อมวลชนชอบเสนอข่าวที่น่าตื่นเต้น และให้ความสนใจกับความชั่ว เรื่องดีงามที่เกิดขึ้นจะได้รับการเผยแพร่น้อยมาก มีคนจำนวนมากเกินไปที่ไม่รู้ว่ามีสิ่งดีงามอยู่มากมายรอบตัวเรา คนเหล่านี้ไม่ได้สัมผัสกับลมหายใจของพระจิตเจ้า และไม่เห็นร่องรอยของการเจริญเติบโต

    ประชากรของพระอาณาจักรย่อมปลาบปลื้มกับทุกสิ่งที่เขาพบเห็นในพระอาณาจักรอยู่ทุกวัน แต่กระนั้น เขาก็รับรู้ด้วยความเสียใจว่ามีความชั่วอยู่มากมายในโลก พวกเขาต้องการและกระหายจะให้เมล็ดพันธุ์แห่งความดีงอกงามขึ้นโดยเร็ว ... เขาอยากให้ความสมบูรณ์ของความยุติธรรม สันติสุข และความยินดี เร่งเดินทางมายังโลกของเราจากอนาคตอันไกล บทภาวนาของเขาจึงเป็นเสียงทอดถอนใจ และคำเชิญว่า “เชิญเสด็จมา พระเยซูเจ้าข้า ... เชิญเสด็จมา ข้าแต่พระจิต ผู้ทรงบันดาลการเจริญเติบโต ... เชิญเสด็จมาเถิด ขอให้พระอาณาจักรของพระองค์มาถึงเถิด”

    ข้อความที่เหลือของบทข้าแต่พระบิดาเป็นการขยายความของคำภาวนานี้ “พระประสงค์จงสำเร็จไป” เป็นคำวิงวอนให้พระอาณาจักรนี้มาถึงในใจของเรา ความยุติธรรมทางสังคม สันติสุข และความดีจะต้องเกิดขึ้นก่อนในหัวใจ และในวิญญาณของมนุษย์ สันติภาพของโลกต้องเริ่มต้นด้วยสันติสุขในวิญญาณ ความยุติธรรมทางสังคมต้องเริ่มต้นจากการเป็นทุกข์กลับใจของมนุษย์แต่ละคน การกลับใจของโลกต้องเริ่มต้นขึ้นในชีวิตของข้าพเจ้าเอง

    หลังจากนั้น เราจึงระบุความฝันอันยิ่งใหญ่สองประการที่เป็นความหวังของโลก คือ ขออาหารสำหรับทุกคนในวันนี้ และการให้อภัยอย่างสมบูรณ์

    เราภาวนาด้วยความวางใจอย่างสิ้นเชิงในพระบิดาผู้ทรงสอดส่องดูแลเรา และทรงทราบดีอยู่แล้วว่าอะไรจำเป็นสำหรับเรา คำวิงวอนของเราต้องไม่ใช่การแสวงหาประโยชน์ให้ตนเอง แต่ต้องแสดงให้เห็นความห่วงใยด้วยความรักของเราต่อประชากรทุกคนของพระเจ้า งานเลี้ยงของพระเมสสิยาห์เป็นหนึ่งในภาพลักษณ์ของสวรรค์ที่พระวรสารมักยกเป็นตัวอย่าง ในบทภาวนาของเรา เราแสดงความปรารถนาอันแรงกล้าว่าขอให้ความบริบูรณ์แห่งสวรรค์รีบกลับมายังโลกของเรา และขอให้มนุษย์ทุกคนในวันนี้มีอาหาร และทรัพยากรไว้ใช้สอยอย่างเพียงพอ

    เราภาวนาให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีต ซึ่งทำให้มนุษย์แตกแยกกัน และดึงหัวใจของเราให้แยกออกจากกัน ขอให้มนุษย์สมานรอยร้าวด้วยการคืนดีกันอย่างสมบูรณ์ กุญแจของการสมานแผลนี้คือการให้อภัย การให้อภัยคือความรักของพระเจ้าผู้พร้อมจะประทานทุกสิ่งทุกอย่างแก่เราต่อไป แม้ว่าเราเคยปฏิเสธพระองค์มาก่อนก็ตาม ขอให้เราเลียนแบบการให้อภัยของพระเจ้า และความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ เพื่อจะให้อภัยทุกคนที่เคยทำร้ายเรา

    คำวิงวอนประการสุดท้ายเป็นการวิงวอนขอให้เราพากเพียรเดินตามวิถีทางของพระอาณาจักร ปีศาจจะต้องประจญ และวางอุปสรรคไว้ตามทางนี้แน่นอน เรายอมรับอย่างเจียมตนว่าเราต้องการความคุ้มครองของพระเจ้าให้ทรงนำทางเรา และช่วยเราให้รอดพ้นเสมอ

    พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ของเรา พระอาณาจักรที่พระองค์สถาปนาขึ้นนี้เป็นชีวิตของเรา เราดำเนินชีวิตท่ามกลางการต่อสู้กับความบกพร่องมากมายของเรา เราหวังว่าจะได้เห็นสวนสวรรค์ที่พระเยซูเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้แก่ผู้ร้ายกลับใจคนนี้ การเดินทางจาริกแสวงบุญไปสู่ความครบครันแห่งสวรรค์ มาขมวดรวมอยู่ในคำภาวนาเดียวกันว่า “ข้าแต่พระบิดา ขอให้พระอาณาจักรของพระองค์จงมาถึง”

บทรำพึงที่ 2

    การสมโภชพระเยซูเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล เป็นการฉลองที่เริ่มจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เพราะเราจัดฉลองเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1925 ทุกยุคสมัยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพิธีกรรม อันที่จริง การเฉลิมฉลองความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้าก็คือวันสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ แต่ในวันอาทิตย์สัปดาห์สุดท้ายของปีพิธีกรรมนี้ เราเพ่งพินิจ “พระอาณาจักรของพระเจ้า” ซึ่งก่อตั้งเป็นรูปเป็นร่างขึ้นทีละน้อยมาตั้งแต่ศตวรรษแรก ๆ และจะกลายเป็นความจริงอย่างสมบูรณ์เมื่อถึงกาลอวสาน...

    ในการเฉลิมฉลองพระคริสตเจ้ากษัตริย์ของเรา พระศาสนจักรเชิญชวนเราให้เพ่งพินิจจุดเริ่มต้นของพระอาณาจักรนี้ บัลลังก์ของพระเยซูเจ้าคือไม้กางเขน ... มงกุฎของพระองค์คือหนามที่ถูกถักร้อยเข้าด้วยกัน ซึ่งทิ่มแทงพระเศียรจนพระโลหิตไหลลงมาอาบพระพักตร์ ... คำรับรองที่มอบหมายอำนาจให้พระองค์คือแผ่นไม้ที่ตอกติดกางเขนเหนือพระเศียร และเป็นข้อกล่าวหาที่ทำให้พระองค์ทรงถูกประหารชีวิต “ผู้นี้คือกษัตริย์ของชาวยิว” ... พยานสองคน – หรือข้าราชบริพารสองคนของพระองค์ – คือ อาชญากรสองคนที่ถูกประหารชีวิตพร้อมพระองค์...

    นี่คือความขัดแย้งในตัวเองของพระวรสาร ... พระเยซูเจ้านี่หรือคือกษัตริย์ ... ถูกต้อง ... แต่ไม่ใช่กษัตริย์อย่างที่เข้าใจกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่สนับสนุนพระองค์ และต้องการยกพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ หรือศัตรูผู้กระหายเลือดของพระองค์ ... แต่พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ กษัตริย์แห่งความรัก ตามแผนการของพระเจ้า...

เมื่อมาถึงสถานที่ที่เรียกว่าเนินหัวกะโหลก บรรดาทหารตรึงพระองค์ที่นั่นพร้อมกับผู้ร้ายสองคน คนหนึ่งอยู่ข้างขวา และอีกคนหนึ่งอยู่ข้างซ้าย พระเยซูเจ้าตรัสว่า “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” ทหารนำเสื้อผ้าของพระองค์ไปจับสลากแบ่งกัน ประชาชนยืนดูอยู่ที่นั่น

    นี่คือจุดสูงสุดของพระวรสาร หลังจากผ่าน “ภูเขาแห่งบทเทศน์เรื่องความสุขแท้” ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงประกาศคำสั่งสอนของพระองค์เป็นครั้งแรก ... หลังจาก “ภูเขาทาบอร์” ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ และทรงได้รับการรับรองว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้ที่เราได้เลือกสรร จงฟังท่านเถิด” ... นี่คือ “ยอดภูเขา” ที่สามของพระวรสาร ... เนินเขาลูกนี้ตั้งอยู่ใกล้กรุงเยรูซาเล็ม ใกล้ประตูเอเฟรม ในเหมืองหินโบราณ ช่างสลักหินเหลือหินส่วนที่แข็งเกินไปทิ้งไว้เป็นก้อนสูงประมาณ 5 เมตร ทุกคนเรียกหินก้อนนี้ว่ากลโกธา (แปลว่าหัวกะโหลก) ตามรูปร่างของมัน มีตำนานโบราณเล่าว่านี่คือกะโหลกของอาดัม ที่ฝังอยู่ที่นั่นตลอดนิรันดร ... ดังนั้น จุดสูงสุดของพระวรสารจึงเกิดขึ้นในสถานที่อันแห้งแล้ง และน่ากลัว เนินหินเล็ก ๆ นี้สูงกว่าพื้นที่โดยรอบมากพอจะถูกใช้เป็นตะแลงแกงประหารนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ ข้างถนนที่มีคนสัญจรไปมาตลอดเวลา ดังนั้น ทุกคนจึงมองเห็นอาชญากรที่ถูกประหารได้ง่าย และเป็นวิธีหนึ่งในการป้องปรามอาชญากรรม...

    อันที่จริง มีฝูงชนอยู่ที่นั่น ... พวกเขามองดู ... พวกเขาต้องการเห็น...
    คำที่ลูกาใช้ในประโยคนี้มีนัยสำคัญ ลูกาไม่ใช้คำภาษากรีกที่แปลว่า “ฝูงชน” แต่ใช้คำว่า laos (ซึ่งเป็นที่มาของศัพท์ภาษาอังกฤษว่า laity หรือฆราวาส) แปลว่า “ประชาชน (the people)” และเป็นคำที่มักใช้เรียก “ประชากรของพระเจ้า” ... เขาใช้คำเดียวกันนี้บรรยายว่า “ประชาชนทุกคนกำลังตั้งใจฟังพระองค์” เมื่อพระเยซูเจ้าทรงสั่งสอนในพระวิหาร (ลก 19:47, 48) ในขณะที่ “บรรดาหัวหน้าสมณะ ธรรมาจารย์ และหัวหน้าประชาชนหาวิธีกำจัดพระองค์” (ลก 19:47) ... ลูกาชี้ให้เห็นบ่อยครั้งว่า “ประชาชน” เข้าข้างพระเยซูเจ้า ต่างจากบรรดาผู้นำ (ลก 20:1, 20:45, 21:38)...

    “ประชาชนยืนดูอยู่ที่นั่น” ราวกับตกตะลึงกับสถานการณ์ที่พลิกผัน ... ความเงียบของฝูงชนทำให้รู้สึกประทับใจได้บ้างไหม ... ชาวอิสราเองผู้มีน้ำใจดีเหล่านี้พูดอะไรไม่ออก พวกเขาคาดหมายว่าพระเมสสิยาห์จะเป็นกษัตริย์องค์หนึ่ง เป็นกษัตริย์ดาวิดองค์ใหม่ ในประวัติศาสตร์ของชนชาติของเขา มีช่วงเวลาไม่นานนักที่เขามีกษัตริย์ปกครอง และมีกษัตริย์เพียงไม่กี่องค์ที่มีความสามารถเหมือนดาวิด และซาโลมอน แต่ช่วงเวลาเหล่านั้นเป็นยุคอันยิ่งใหญ่ของชนชาติอิสราเอล ชาวยิวรอคอยพระเมสสิยาห์มานานหลายศตวรรษ เขาคาดหวังให้พระองค์เป็นกษัตริย์ที่จะเอาชนะศัตรูของพวกเขา และเป็น “ผู้ปฏิบัติงานแทนพระเจ้า” อย่างแท้จริง พวกเขาคิดว่าพระเยซูเจ้าจะทรงสถาปนาอาณาจักรอิสราเอลขึ้นมาใหม่ ... เขาพยายามยกพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่พระองค์กลับหลบหนีไป (ยน 6:15; ลก 19:38)...

    และบัดนี้ พระเยซูเจ้าอยู่ที่นี่แล้ว ... ทรงถูกประหารชีวิตที่นี่

    “ประชาชนยืนดูอยู่ที่นั่น”...

ผู้นำเยาะเย้ยพระองค์ว่า “เขาช่วยคนอื่นให้รอดพ้นได้ ก็ให้เขาช่วยตนเองซิ ถ้าเขาเป็นพระคริสต์ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร”

    ต่างจากประชาชนทั่วไปที่ยืนดูอยู่เงียบ ๆ ด้วยความสงสัยและเจ็บปวด และคงผิดหวังด้วย ... “ผู้นำ” กลับหัวเราะเยาะและท้าทาย ... เขาท้าทายให้พระเยซูเจ้าทรงแสดง “อำนาจกษัตริย์ของพระเมสสิยาห์ของพระองค์...

    “ผู้ได้รับเจิมจากพระเจ้า” เป็นตำแหน่งที่มอบให้แก่กษัตริย์ของอิสราเอล กษัตริย์จะได้รับการ “เสกให้ศักดิ์สิทธิ์” ด้วยน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งทำให้พระองค์เป็น “พระคริสต์” (จากคำว่า Christos ในภาษากรีก ซึ่งแปลมาจากคำว่า Messiah ในภาษาฮีบรู) ... ถ้าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระคริสตเจ้า ถ้าพระองค์ทรงเป็น “ผู้ได้รับเลือกสรร” (เป็นคำที่ยืมมาจากอิสยาห์ 42:1) ถ้าพระองค์ทรงเป็นพระผู้ไถ่กู้โลก ... ก็ให้พระองค์ช่วยตนเองก่อนซิ...

    คำประชดของผู้ที่เย้ยหยัน สะท้อนเสียงล่อลวงของปีศาจในถิ่นทุรกันดาร เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นชีวิตสาธารณะของพระองค์ (ลก 4:3) ... เช่นเดียวกับคำตำหนิจากชาวเมืองนาซาเร็ธ “หมอเอ๋ย จงรักษาตนเองก่อนเถิด” (ลก 4:23)...

    ในปัจจุบัน ผู้ที่ยั่วยุพระเจ้าไม่ได้กล่าวยั่วยุออกมาดัง ๆ แต่เขาตั้งคำถาม – และเป็นความเข้าใจที่ผิด – ที่ไม่เคยต่างจากเดิม “ขอให้พระเจ้าแสดงตัวออกมาซิ” ให้เราเห็นพระองค์ ถ้าพระองค์มีตัวตนอยู่จริง ให้พระองค์แสดงตัวให้เราเห็นซิ” ... และคำตอบของพระเจ้ายังคงเหมือนกับคำตอบของพระเยซูเจ้า ... พระองค์ทรงเงียบ ... พระองค์ไม่ทรงแทรกแซงกิจการในระดับโลก ซึ่งพระองค์ทรงปล่อยให้เป็นอิสระโดยสิ้นเชิง ... พระองค์ไม่ทรงชี้แจงเหตุผลเพื่อปกป้องตนเอง ... พระองค์ทรงยอมให้มนุษย์กล่าวหาว่าพระองค์อ่อนแอ และถึงกับไม่ยอมรับว่าพระเจ้ามีจริง ... พระเยซูเจ้าทรงกระทำเช่นเดียวกับพระเจ้า พระองค์ไม่ทรงยอมแพ้ต่อการประจญให้ “กระทำการเพื่อประโยชน์ของพระองค์เอง” ... ให้ทรงใช้อำนาจของพระองค์เพื่อประโยชน์ของพระองค์เอง...

แม้แต่บรรดาทหารก็เยาะเย้ยพระองค์ด้วย เขานำเหล้าองุ่นเปรี้ยวเข้ามาถวายพลางกล่าวว่า “ถ้าท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิว ก็จงช่วยตนเองให้รอดพ้นซิ”

    ทหารโรมัน ซึ่งเป็นคนต่างชาติในกองทัพที่ยึดครองดินแดนของชาวยิว ใช้คำว่า “กษัตริย์” ที่เขาเห็นว่าเขียนไว้เหนือพระเศียรของพระเยซูเจ้า ... นี่คือคำเย้ยหยันระดับสูงสุด เขาเรียกนักโทษประหารที่ถูกตรึงบนไม้กางเขน และกำลังจะสิ้นใจอยู่นี้ว่า “กษัตริย์”...

มีคำเขียนไว้เหนือพระองค์ว่า “ผู้นี้คือกษัตริย์ของชาวยิว”

    ในพิธีแต่งตั้งกษัตริย์ ต้องมีสมณะผู้กระทำการในพระนามของพระเจ้าเป็นผู้มอบตำแหน่งให้แก่กษัตริย์ ดังที่เราเห็นจากบทสดุดี 110 ว่า “ศักดิ์ศรีของกษัตริย์เป็นของท่านตั้งแต่วันที่ท่านเกิดมา บนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ท่านเป็นกษัตริย์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ตั้งแต่รุ่งอรุณของวันแรกที่ท่านเกิดมา”

    ที่นี่ เหนือบัลลังก์แห่งไม้กางเขน ข้อความนี้ใช้แทนคำรับรองที่สอดคล้องกับพระสุรเสียงของพระบิดา ผู้ทรงรับรองพระบุตรของพระองค์เหนือแม่น้ำจอร์แดน ในวันที่พระองค์ทรงรับพิธีล้างว่า “ท่านเป็นบุตรที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา” (ลก 3:22)

    ในพระวรสารของลูกา ข้อความบนไม้กางเขนนี้ไม่ได้เป็นคำประณาม เป็นความจริงที่พระเยซูเจ้าทรงแนะนำพระองค์เองว่าทรงเป็นกษัตริย์ แต่ทรงเป็นกษัตริย์ที่ “อาณาจักรของเรามิได้มาจากโลกนี้” (ยน 18:36) ระหว่างที่ทรงเทศน์สอนประชาชน พระองค์ทรงระวังมาก และทรงหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ใดอาจตีความว่าพันธกิจของพระองค์เป็นกิจการทางการเมือง แต่กระนั้น พระอาณาจักรของพระองค์ก็ถูกสร้างขึ้น “บนโลกนี้” แต่ไม่เป็นคู่แข่งของ “อาณาจักรทางโลก หรือระบบการเมือง” ไม้กางเขนนี้ บัลลังก์นี้ และตำแหน่งนี้ทำลายความหวังทั้งปวงของชาวอิสราเอลที่อยากมีพระเมสสิยาห์เป็นกษัตริย์ปกครองชาติอิสราเอล

ผู้ร้ายคนหนึ่งที่ถูกตรึงบนไม้กางเขนพูดดูหมิ่นพระองค์ว่า “แกเป็นพระคริสต์ไม่ใช่หรือ จงช่วยตนเอง และช่วยเราให้รอดพ้นด้วยซิ”

    คำบอกเล่าของลูกาค่อย ๆ เพิ่มความรุนแรง และความเครียดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ประชาชน “ยืนดู” ผู้นำ “เยาะเย้ย” ทหารก็ “เยาะเย้ย” บัดนี้ ผู้ร้ายคนนี้ถึงกับ “ดูหมิ่น” พระองค์...
    ธรรมบัญญัติของโมเสสกำหนดให้ต้องมี “พยานสองคน” เพื่อให้การกระทำใด ๆ มีผลตามกฎหมาย ดังนั้น พยานในเหตุการณ์ที่พระคริสตเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ จึงเป็นสองบุคคลสำคัญในพันธสัญญาเดิม คือ โมเสส และเอลียาห์ (ลก 9:28-36) พยานที่ยืนยันการกลับคืนพระชนมชีพ คือ ศิษย์สองคนที่กำลังเดินทางไปยังเอมมาอุส (ลก 24:18) หลังจากที่พยานลึกลับสองคนปรากฏตัวที่พระคูหาที่ว่างเปล่า (ลก 24:4) ... บัดนี้ พยานสองคนที่ยืนยันถึงการก้าวขึ้นสู่บัลลังก์บนเนินกลโกธานี้ คือ อาชญากรสองคน!

    กษัตริย์อย่างพระเยซูเจ้าทรงถูกเย้ยหยันจนถึงวาระสุดท้าย!

    พระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ถูกทำร้ายอย่างสาหัส จนประชาชนลังเลใจที่จะแสดงตนเป็นพวกเดียวกับพระองค์ ทรงถูกเย้ยหยัน ถูกเปลื้องพระภูษา มีแต่คราบของน้ำลายที่เขาถ่มใส่ และบาดแผลที่อาบด้วยพระโลหิตทั่วพระกาย ขนาบข้างด้วยโจรสองคน...

แต่อีกคนหนึ่งดุเขา กล่าวว่า “แกไม่เกรงกลัวพระเจ้าหรือที่มารับโทษเดียวกัน สำหรับพวกเราก็ยุติธรรมแล้ว เพราะเรารับโทษสมกับการกระทำของเรา แต่ท่านผู้นี้มิได้ทำผิดเลย”

    ท่ามกลางเสียงเย้ยหยันจากทุกคน มีเสียงเบา ๆ เสียงหนึ่งที่กล้าพูด พระนางมารีย์ ผู้ยืนอยู่ที่เชิงกางเขน คงได้ยิน และบอกเล่าแก่ลูกา ซึ่งเป็นผู้นิพนธ์คนเดียวที่บอกเล่าเรื่องนี้ และลูกา ซึ่งเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารที่ประกาศความเมตตาของพระเจ้าและเห็นใจคนยากจน คงรู้สึกปลาบปลื้มเป็นพิเศษเมื่อได้ยินเรื่องนี้...

    การจูบครั้งสุดท้ายด้วยความเชื่อและความรัก เป็นความเชื่อและความรักของผู้ร้ายคนหนึ่งที่สำนึกผิด...

    พระอาณาจักรของพระคริสตเจ้า ... พระอาณาจักรของพระเจ้า ... เปิดประตูต้อนรับ “ผู้กลับใจ” เท่านั้น การใช้อำนาจกษัตริย์ของพระคริสตเจ้าเหนือมนุษย์ทั้งปวง ซึ่งรวมถึงศัตรูของพระองค์ด้วย คือการเสนอการให้อภัยแก่พวกเขา (ลก 23:24, 43) และเป็นการให้อภัยอย่างปราศจากข้อจำกัด ... เพื่อจะเข้าสู่พระอาณาจักร การเป็น “ผู้ชอบธรรม” ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก แต่คนบาปสามารถเข้าประตูนี้ได้โดยมีเงื่อนไขหนึ่งข้อ กล่าวคือ เขาต้องยอมรับการให้อภัยที่พระเจ้าทรงเสนอแก่เขาอยู่เสมอ...

    คนบาปคนแรกที่ได้สัมผัสกับการคืนดีที่พระเจ้าทรงเสนอแก่คนทั้งโลกก็คือ “โจร” คนหนึ่งที่สามารถยอมรับความผิดของตนเอง และในเวลาเดียวกันเขาก็ประกาศความบริสุทธิ์ของพระเยซูเจ้า...

แล้วเขาทูลว่า “ข้าแต่พระเยซู โปรดระลึกถึงข้าพเจ้าด้วย เมื่อพระองค์จะเสด็จสู่พระอาณาจักรของพระองค์” พระองค์ตรัสตอบเขาว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า วันนี้ ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์”

    พระเยซูเจ้าทรงเป็น “อาดัมคนใหม่” อย่างแท้จริง พระองค์ทรงช่วยให้มนุษยชาติกลับคืนสู่สวนสวรรค์ที่สูญเสียไป “การรับโทษเดียวกัน” กับพระเยซูเจ้า คือ การตายนี้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการอยู่ “กับพระเยซูเจ้า”...